21 ต.ค. 2566 | 12:14 น.
- รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ เป็นผลงานที่ส่งอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมของไทยอย่างมากตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงปัจจุบัน
- ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง นักรบมนตรา เป็นอีกหนึ่งสื่อร่วมสมัยที่แปรรูปเรื่องรามเกียรติ์มาใช้ในเนื้อหาด้วย
- การแปรรูปเรื่องราวในรามเกียรติ์มาสู่อีกบริบทสะท้อนรสนิยมของคนแต่ละยุคสมัยได้
อโยธยา (อยุธยา): อัตลักษณ์เมืองพระรามกับรากฐานอาณาจักรสยาม
ความสำคัญของรามายณะหรือรามเกียรติ์ต่อสังคมไทยเห็นได้หลายอย่างหลายประการด้วยกัน ในมิติทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม เราทราบจาก ‘จดหมายเหตุลาลูแบร์’ และ ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง’ ว่า สมัยอยุธยามีการละเล่นโขนทั้งในและนอกราชสำนัก โขนเป็นหนึ่งในมหรสพที่ขาดเสียมิได้ของ ‘มนุษย์อยุธยา’ ควบคู่กับการละเล่นงิ้ว ยี่เก (ลิเก) และการแสดงผาดโผน เช่น ไต่ลวด เป็นต้น
‘โขน’ เป็นรูปแบบหลักที่เล่นและเล่าเรื่องรามายณะ ในการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม ‘ยุคบ้านเมืองดี’ การละเล่นโขนตลอดจนการแต่งบทประพันธ์รามเกียรติ์ขึ้นใหม่ทั้งในสมัยธนบุรีและสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น ก็โดยอาศัยการอ้างอิงจาก ‘โขนกรุงเก่า’ สมัยธนบุรีมีการแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์บางตอน คาดว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เช่นเดียวกันเมื่อมีการสถาปนากรุงเทพฯ และตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็มีการชำระวรรณคดีและรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 2 ต่างก็ทรงแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์เอาไว้ประดับเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองใหม่เช่นกัน
ที่สำคัญ หากนับย้อนกลับไปจนถึงก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เรายังจะพบว่า ‘อยุธยา’ พัฒนามาจาก ‘อโยธยา’ ซึ่งคือ ‘เมืองของพระราม’ ตามเนื้อเรื่องรามายณะนั่นเอง ขนบการเรียกชื่อสมมติบ้านเมืองในย่านอุษาคเนย์ด้วยชื่อเดียวกับในวรรณคดีของทางอินเดีย เป็นขนบที่มีมานมนานกาเล จนเราไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าเริ่มมีครั้งแรกจริง ๆ เมื่อไหร่ ก่อนมีอโยธยา-เมืองพระราม เคยมีทวารวดี-เมืองพระกฤษณะ ซึ่งเมืองหนึ่งที่ตั้งตามขนบนี้ก็เช่นเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่เพิ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีนี้
อย่างที่ทราบกันว่า ศรีเทพนั้นไม่ใช่เมืองเดียวในวัฒนธรรมทวารวดี ยังมีเมืองอื่น ๆ อีกเช่น เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, เมืองนครปฐมโบราณ จ.นครปฐม, เมืองคูบัว จ.ราชบุรี, เมืองอู่ตะเภา จ.สระบุรี, เมืองโบราณที่ทุ่งเศรษฐี จ.เพชรบุรี, เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, เมืองดงละคร จ.นครนายก, เมืองพระรถ จ.ชลบุรี เป็นต้น ศูนย์กลางของเมืองพระกฤษณะในอุษาคเนย์นี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ไม่รู้แน่ว่าเป็นที่ใด ในขณะที่เมืองพระรามนั้นเรารู้แน่ว่าคือ ‘อโยธยา’ (อยุธยา) ไม่ผิดแน่
ความเป็นเมืองพระรามของอโยธยา (อยุธยา) ยังแสดงออกผ่านการมีชื่อร่วมที่สอดคล้องกัน พระนามกษัตริย์ผู้สถาปนากรุง เช่น ‘สมเด็จพระรามาธิบดี’ ก็คือพระนามที่สื่อถึงพระราม (รามาธิบดี=พระราม+อธิบดี) วัดที่สร้างขึ้นในที่กระทำพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีชื่อเรียกว่า ‘วัดพระราม’ ต่อมาความสำคัญของวัดพระรามที่มีปรางค์สูงเด่นตระหง่านอยู่นั้นก็มีผลให้เกิดการเรียกบึงน้ำบริเวณรอบ ๆ นั้นว่า ‘บึงพระราม’ ขึ้นอีกชื่อหนึ่งควบคู่กับ ‘บังชีขัน’ (ตามกฎมณเฑียรบาล) และ ‘หนองโสน’ (ชื่อในตำนานนิทานท้องถิ่น)
ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ยังมีพระราชโอรสองค์โตทรงพระนามว่า ‘สมเด็จพระราเมศวร’ ก็ทายาทพระราม ครองเมืองลูกหลวงชื่อ ‘ลพบุรี’ ก็คือ ‘เมืองของพระลพ’ โอรสพระราม ลามไปถึงชื่อบ้านนามเมืองที่สัมพันธ์กันหรืออ้างอิงเนื้อเรื่องในวรรณคดีรามายณะ แพร่หลายในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นเขาสมอคอน จ.ลพบุรี เขาสรรพยา จ.ชัยนาท เมืองขีดขินหรือเสนาราชนคร (เมืองลิงของพาลีและสุครีพ) ใน จ.สระบุรี กบินทร์บุรีและแควหนุมาน จ.ปราจีนบุรี เขาปางสีดาและเขาทะลุหรือเขาทศกัณฐ์ ที่ภายหลังเพี้ยนเป็น ‘เขาฉกรรจ์’ ในเขตจ.สระแก้ว เป็นต้น
รวมถึงขนบการมีบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ‘พระราชพงศาวดาร’ นั้นก็มาจาก ‘วงศ+อวตาร’ และแม้กระทั่งมุมมองของผู้คนและปราชญ์สามัญชนต่อลิงในชุมชนเมืองลพบุรี ในฐานะ ‘ลูกหลานหนุมาน’ ก่อนจะมาเป็น ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ’ ในรุ่นปัจจุบัน
‘อโยธยา’ นั้นเป็นรากฐานของศูนย์กลางราชอาณาจักรสยามอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนอกจากจะพัฒนามาสู่ ‘อยุธยา’ แล้ว ยังเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองพบได้ตามท้องถิ่นแถบภาคกลางและภาคตะวันออก ความสำคัญของการที่มีชื่อสัมพันธ์สอดคล้องกันจากแถบบริเวณชัยนาท ลพบุรี อยุธยา สระบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว เป็นสิ่งสะท้อนอยู่โดยนัยถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเขมร เพราะแถบปราจีนบุรี-สระแก้วนั้นอยู่ในเส้นทางคมนาคมโบราณระหว่างอโยธยากับเขมรพระนคร
จาก ‘อโยธยา’ (เมืองพระราม) มาเป็น ‘อยุทธยา’ (เมืองที่รบไม่แพ้) ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร
แนวอธิบายแบบเก่าที่สืบมาตั้งแต่ครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์), มานิต วัลลิโภดม, จิตร ภูมิศักดิ์ จะเชื่อว่า เส้นแบ่งแยกระหว่างอโยธยากับอยุธยานั้นอยู่ที่ พ.ศ.1893 อยุธยาเกิดใหม่ในที่เก่าจากการสถาปนากรุงในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก่อนหน้านั้นร่นไปราว 2 ศตวรรษ เป็นยุคสมัยที่เรียกว่า ‘อโยธยา’
แต่แท้ที่จริงแล้ว ‘อโยธยา’ กับ ‘อยุธยา’ เป็นคำเดียวกัน สระโอเพี้ยนเป็นสระอุ คำว่า ‘อโยธยา’ ที่อินเดีย ก็เพี้ยนเป็น ‘อุธ’ (Outh หมายถึง ‘เมืองอุธ’ ที่อินเดีย) เช่นกัน ทั้งนี้คำว่า ‘อยุธยา’ เริ่มแพร่หลายขึ้นจริง ๆ และความหมายยังเพี้ยนไปเป็น ‘อยุทธยา’ (เมืองที่ไม่แพ้) ก็เพิ่งจะในสมัยสมเด็จพระนเรศวร
แน่นอนว่าในแง่หลักฐานทางเอกสารลายลักษณ์อักษณ์แล้ว คำว่า ‘อยุทธยา’ ปรากฏในเอกสารที่ราชสำนักสมเด็จพระเอกาทศรถส่งไปยังฮอลันดา แต่การปรากฏคำนี้ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ไม่น่าจะใช่ครั้งแรกจริง ๆ คนในรุ่นรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถใช้สืบเนื่องมาจากรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมากกว่า เพราะรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องนี้ คือการชนะพม่า ประกาศเป็น ‘เอกราช’ (คนละความหมายกับเอกราชของชาติ) ไม่เป็น ‘ประเทศราช’ ขึ้นกับพม่า ตัดขาดจากพันธะผูกพันธ์ที่มีสืบเนื่องมาจากผลของสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ.2112
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ยุทธหัตถีในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร จะยังคงเป็นปริศนาให้ถกเถียงกันอยู่มากว่าเคยเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ขึ้นจริง อาวุธที่ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรใช้สังหารพระมหาอุปราชามังสามเกียด คืออะไรกัน ง้าว ดาบยาว หรือปืนไฟโปรตุเกส แต่ผลของเหตุการณ์สงครามครั้งนั้น เอกสารหลายฉบับกล่าวไว้ตรงกันในแง่ที่ว่าฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรได้รับชัยชนะ เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่ทำให้คำว่า ‘อยุทธยา’ มีความหมายและสำคัญขึ้นมา
หลังจากนั้นเป็นต้นมาคำว่า ‘อยุทธยา’ ก็เป็นคำหลักปรากฏในเอกสารทางการ แต่ไม่ได้หมายความว่าคำว่า ‘อโยธยา’ จะหายไป ในบรรดาเอกสารหลักฐานต่างชาติที่เข้ามามากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ รวมไปถึงเอกสารของเชลยศึกชาวโยเดียหลังกรุงแตก ก็ยังพบคำว่า ‘อโยธยา’ คำว่า ‘โยเดีย’ ที่พม่าใช้เรียกคนอยุธยาหลังเสียกรุงจนถึงมีชุมชนชาวโยเดียและเป็นชื่อชาติพันธุ์ชาวสยามในเมียนมาร์ปัจจุบัน ก็มีที่มาจากคำว่า ‘อโยธยา’ เช่นกัน
‘อโยธยา’ กับ ‘อยุทธยา’ ใช้คู่กันเรื่อยมาจนกระทั่งกรุงแตก ทั้งนี้ ไม่พบหลักฐานการใช้คำว่า ‘อยุทธยา’ ในช่วงก่อนพุทศตวรรษที่ 22 หรือก็คือช่วงก่อนหน้าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 การมี 2 คำเรียกคู่กันเป็นเรื่องปกติของชื่อบ้านนามเมืองในสยามและอุษาคเนย์มาแต่เดิมอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด อย่าง ‘กรุงเทพ’ ก็มีอีกชื่อคู่กันคือคำว่า ‘บางกอก’ บางกอกเป็นชื่อเก่าก่อนสถาปนาเป็นเมืองหลวง และยังใช้เรียกคู่กันมาจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะแม้มีชื่อใหม่แล้วผู้คนก็ยังนิยมเรียกชื่อเก่าสืบมา
‘ฉนวนอโยธยา’: วงศ์อินทร์ vs. วงศ์ราม & การเมืองแบบอโยธยาและครอบครัว/เครือญาติแบบฆ่ากันแย่งสมบัติ
จิตร ภูมิศักดิ์ ในงานเล่มชื่อ ‘สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา’ จิตร ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าก่อนหน้าที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จะทรงสถาปนากรุงเมื่อ พ.ศ.1893 นั้น มีเมืองเก่าที่เรียกว่า ‘อโยธยาศรีรามเทพนคร’ ตั้งอยู่ในบริเวณย่านเมืองอยุธยาอยู่แล้ว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ไม่ใช่พระเจ้าอู่ทองที่เสด็จอพยพผู้คนมาจากที่อื่น ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า และมานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีข้าราชการกรมศิลปากรซึ่งเคยทำงานอยู่ที่อยุธยา ที่ต่างพบร่องรอยเมืองเก่าอโยธยาอยู่ที่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก
แต่นอกจากนี้ในงานชิ้นดังกล่าว จิตร ยังได้อภิปรายถึงสภาพการเมืองและสังคมวัฒนธรรมของช่วงหลังการสถาปนากรุง พ.ศ.1893 อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้า คือการแย่งชิงอำนาจกันระหว่าง 2 สายตระกูลที่เรียกว่า ‘ราชวงศ์สุพรรณภูมิ’ กับ ‘ราชวงศ์อู่ทอง’ (ที่จริงควรเรียกราชวงศ์นี้ว่า ‘ราชวงศ์ลพบุรี’)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีฐานอำนาจและกำลังคนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ในขณะที่ฝ่ายราชวงศ์ลพบุรีมีฐานอยู่ทางแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำบางปะกง โดยที่เมืองอโยธยาอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย จึงตกอยู่ในท่ามกลางศึกแย่งชิงอำนาจผลัดกันขึ้นเป็นใหญ่ในระหว่างกษัตริย์จากทั้งสองราชวงศ์
ความขัดแย้งระหว่างสองราชวงศ์นี้ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในลัทธิศาสนาต่างกัน โลกปัจจุบันนั้นมี ‘ฉนวนกาซ่า’ คือพื้นที่ที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างโลกของชาวยิว (อิสรเอล) กับชาวอาหรับ (ปาเลสไตน์) อโยธยาก็เป็นเหมือน ‘ฉนวน’ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มคนที่นับถือพระอินทร์เป็นใหญ่คือราชวงศ์สุพรรณภูมิ กับกลุ่มคนที่นับถือพระรามเป็นใหญ่คือราชวงศ์ลพบุรี ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า รามายณะเป็นต้นทางความเชื่อของวงศ์หลังนี้มาก
ส่วนวงศ์อินทร์นั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ด้วยความที่เป็นนักอักษรศาสตร์ ได้ให้เห็นผลผ่านชื่อนามของกษัตริย์ที่สอดรับกับชื่อหัวเมืองสำคัญคือเมืองสรรค์บุรี ซึ่งเป็นเมืองอันดับสองของแคว้นสุพรรณ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘เมืองไตรตรึงษ์’ หมายถึงเมืองสวรรค์ของพระอินทร์ ตามมาด้วยการวิเคราะห์ขนบความนิยมการใช้พระนาม ‘อินทราชา’ ของกษัตริย์วงศ์สุพรรณ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าวงศ์สุพรรณจะนับถือแต่อินทร์แต่แถนแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่า กษัตริย์วงศ์สุพรรณภูมิพระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งก่อนขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ’ ทรงเคยดำรงพระยศเป็น ‘พระราเมศวร’ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามีของพระสุริโยทัย ก็มีพระโอรสพระองค์หนึ่งนามว่า ‘พระราเมศวร’ คู่กับ ‘พระมหินทร์’
นั่นอาจเป็นความพยายามที่จะสลาย ‘ก๊กพระราม’ โดย ‘ก๊กพระอินทร์’ ก็เป็นได้ หรือในทางตรงกันข้ามเมื่อ ‘ก๊กพระอินทร์’ ชนะฝ่าย ‘ก๊กพระราม’ ได้ครองอโยธยา ก็ผันตัวเองไปเป็นพระรามเหมือนอย่างอีกวงศ์หนึ่งที่ครองมาก่อนหน้า เพื่อลดความตึงเครียดและการต่อต้านจากอีกฝ่ายลง
ในเนื้อเรื่องรามายณะ พระอินทร์อาจเป็นเทพระดับกลาง ๆ ที่พ่ายแพ้ให้กับโอรสของทศกัณฐ์ จนทศกัณฐ์ได้มีโอรสชื่อ ‘อินทรชิต’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ผู้พิชิตพระอินทร์’ แต่ในศึกชิงอโยธยาแห่งสยามประเทศที่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้น วงศ์ที่นับถือพระอินทร์เป็นฝ่ายชนะวงศ์นับถือพระรามแต่คนแพ้ คติความเชื่อไม่ได้แพ้ด้วย ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ฝ่ายผู้ชนะได้ละทิ้งคติของตนไปนับถือคติของฝ่ายพ่ายแพ้ พระอินทร์สลัดภาพเดิมไปเป็นพระราม อาจเพราะที่อินเดียเองนิกายฝ่ายนับถือพระอินทร์เป็นใหญ่ ก็ต้องถอยฉากให้แก่ฝ่ายนับถือพระศิวะ (ไศวนิกาย) และฝ่ายนับถือพระนารายณ์ (ไวษณพนิกาย)
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่าย (วงศ์สุพรรณกับวงศ์ลพบุรี) นั้นต่างก็เป็นเครือญาติและบางรัชกาลก็ถือเป็นครอบครัวเดียวกันด้วยซ้ำ เพราะมีการแต่งงานข้ามวงศ์กันอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ตอนหลังวงศ์สุพรรณไปแต่งงานกับวงศ์สุโขทัยทางเหนือมากกว่าแต่งกับวงศ์ลพบุรี เลยอาจจะเป็นเหตุปัจจัยให้วงศ์สุพรรณกับวงศ์สุโขทัยแน่นแฟ้นกลมเกลียวกันในการกำจัดศัตรูร่วมกันคือวงศ์ลพบุรี ก่อนที่ต่อมาวงศ์สุโขทัยจะหันไปยืมมือพม่ามาจัดการกับวงศ์สุพรรณ สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้หันไปเข้ากับพระเจ้าบุเรงนองในศึกคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ.2112
จาก ‘รามายณะ’ (อโยธยา/อยุธยา) ถึง ‘รามเกียรติ์’ (กรุงเทพฯ) & รามเกียรติ์กับต้นทางความเป็นไทย
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นดั่งเมืองพระอินทร์ ชื่อเมืองที่สื่อถึงและนัยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ซึ่งมีตำนานเล่าว่าเป็นพระพุทธรูปสร้างโดยพระอินทร์ ปราสาทสำคัญในพระบรมมหาราชวังก็สื่อถึงปราสาทไพชยนต์ของพระอินทร์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะทรงละเลยคติพระรามอวตาร ตามธรรมดาของชนชั้นนำสยาม สิ่งใดเป็นเครื่องอำนวยประโยชน์ก่อเกิดความชอบธรรมได้ ก็มักจะนำมาใช้อ้างอิงได้โดยง่าย
จิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ที่เล่าเรื่องรามเกียรติ์นั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในพระนิพนธ์เรื่อง ‘นิราศนครวัด’ ทรงเล่าถึงที่มาของการสร้างจิตรกรรมดังกล่าวนี้ว่าสืบเนื่องมาจากได้แบบอย่างมาจากระเบียงปราสาทนครวัดของกัมพูชา เพราะที่ระเบียงปราสาทนครวัดมีภาพประติมากรรมสลักรูปเล่าเรื่องรามายณะ ขณะที่วัดพระแก้วหันมาใช้รูปจิตรกรรมเล่าเรื่องแทน แต่เป็นคติเดียวกันในการที่มีรูปเล่าเรื่องรามายณะอยู่โดยรอบระเบียงของศาสนสถาน
ช่วงระยะแรกเริ่มสถาปนากรุงเทพฯ นี้เอง ได้เกิดการดัดแปลง ‘รามายณะ’ มาสู่ ‘รามเกียรติ์’ ตามแบบที่เรารู้จักกัน การชำระวรรณคดีด้วยเหตุผลเพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของกรุงเก่า ซึ่งสำหรับชนชั้นนำต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถือเป็น ‘ยุคบ้านเมืองดี’ และเป็นเหตุผลเบื้องหลังหนึ่งของการรัฐประหารโค่นพระเจ้าตากเมื่อพ.ศ. 2325 นำมาสู่การเกิดรามเกียรติ์ต้นฉบับที่ต่างไปจากเดิมสิ้นเชิง
‘รามเกียรติ์’ นั้นหมายถึง ‘เกียรติของพระราม’ แต่ในขณะเดียวกันจะเห็นว่าในเนื้อเรื่อง พระลักษณ์มีบทบาทคู่เคียงในสนามรบ เป็นภาพตัวแทนบทบาทของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กษัตริย์วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 และในขณะเดียวกันก็จะเห็นว่า ทหารเอกอย่างหนุมานก็ค่อนข้างมี ‘ซีน’ ที่โดดเด่นและโลดโผนในหลายตอนด้วยกัน รามเกียรติ์จึงเข้ากับรสนิยมของคนในสังคมการเมืองแบบไทย ๆ ที่เน้นบทบาททหารผู้พิทักษ์พระราชาได้เป็นอย่างดี
ควบคู่กับการชำระต้นฉบับเก่า ก็ได้เกิดรามายณะฉบับใหม่ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ในการพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เป็นบทละครบางตอน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้ทรงกล่าวเตือนไว้ด้วยว่า:
อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย
ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด ตั้งพระทัยสมโภชบูชา
ใครฟังอย่าได้ไหลหลง จงปลงอนิจจังสังขาร์
ซึ่งอักษรกลอนกล่าวลำดับมา โดยราชปรีดาก็บริบูรณ์
คำว่า ‘นิยายไสย’ นั้นก็ตรงกับ ‘ไสยศาสตร์’ ตรงข้ามกับหลักพุทธศาสนาที่ให้ ‘ปลงอนิจจังสังขาร์’ นั่นหมายถึงว่าเป็นการนำเอาเรื่องในอีกศาสนาหนึ่ง (ศาสนาพราหมณ์) มานำเสนอตามมุมมองของพุทธศาสนา ตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงตอนสุดท้ายนั้นจะเห็นการนำเสนอประเด็นเรื่องบุญ-กรรมที่กำหนดความเป็นไปของตัวละครแต่ละตัว ไม่เว้นแม้แต่พระราม จึงกล่าวได้ว่า รามเกียรติ์คือรามายณะตามมุมมองของพุทธไทยนั่นเอง
ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์: วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี & รามเกียรติ์ภาคสอง
หลายคนอาจจะคิดว่าโลกแบบรามเกียรติ์เป็นเรื่องล้าสมัย แต่วิธีคิดแบบแบ่งฝ่ายขาวกับดำ ยักษ์กับเทพ ดีกับชั่ว ยังพบอยู่แม้ในปัจจุบัน ไม่ต้องอะไรอื่นไกลหรอกครับในสังคมไทยไม่ว่าจะทหาร นักการเมือง แพทย์ ผู้พิพากษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ล้วนแต่ยังมีผู้มีอำนาจที่มีวิธีคิดแบบนี้ ทั้งอาจจะรู้ตัวและไม่รู้ตัว
เรื่องแบบนี้จำกัดเฉพาะอยู่ในในมุมไสย ๆ คือเป็น ‘นิยายไสย’ แบบที่คนเมื่อต้นรัตนโกสินทร์คิดและเชื่อไหม ตอบได้เลยว่าไม่ เพราะบางครั้งคนในวงการวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีก็ยังอยู่ในโลกทัศน์แบบรามเกียรติ์ หรือกระทำบางสิ่งอย่างที่มีผลเป็นการดึงให้ผู้อื่นเข้าไปอยู่ในโลกแบบรามเกียรติ์ไปโดยไม่รู้ตัวก็มี
อย่างข่าวคราวเหตุการณ์ใหญ่ของโลกวิทยาศาสตร์ที่คาดกันว่าจะนำความเปลี่ยนแปลงมหาศาลมาให้แก่สิ่งมีชีวิตทั่วโลก อย่างข่าวความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบวิธีการโคลนนิ่งได้สำเร็จ ในขณะที่คนอื่นอาจจะรู้สึกปลาบปลื้มยินดีไปกับความก้าวหน้าของมนุษยชาติ แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความเรื่อง ‘รามเกียรติ์ภาคสอง’ รวมเล่มอยู่ในงานชุด ‘ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์: ว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย’ นิธิแสดงความคิดเห็นต่อข่าวใหญ่ดังกล่าวนี้ว่า เหมือนกำลังถูกดึงเข้าไปสู่โลกแบบรามเกียรติ์
ทั้งนี้ เพราะเรื่องรามเกียรติ์นั้นพระเจ้าได้ไปเอาพวกลิงมากำจัดพวกยักษ์ แต่รามเกียรติ์ภาคสองในเชิงเปรียบเทียบ มนุษย์กำลังจะทำหน้าที่เหมือนพระเจ้าในรามเกียรติ์ อย่างการคัดเลือกสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต การโคลนนิ่งสัตว์ สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาเองได้โดยไม่รอกระบวนการตามธรรมชาติ ทำให้มนุษย์จะสามารถเลือกสิ่งมีชีวิตที่จะอยู่ร่วมกับตนได้ต่อไปและสิ่งมีชีวิตใดที่ถูกมองเป็นภัยก็จะสามารถกำจัดออกไปจากโลกได้โดยง่าย
รามเกียรติ์ภาคหนึ่งตามบทพระราชนิพนธ์ไม่ว่าจะเป็นฉบับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 หรือฉบับสุนทรภู่ พระเจ้าอย่างพระนารายณ์อวตารอาจจะทรงคัดเลือกสายพันธุ์ได้ถูก เพราะทรงมีญาณวิเศษ แต่มนุษย์เช่นเรา ๆ ท่าน ๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งมีชีวิตใดควรอยู่หรือควรถูกกำจัด จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าการคัดเลือกสายพันธุ์โดยมนุษย์จะไม่นำพาความผิดพลาดมาให้แก่โลก แม้แต่สัตว์ที่ดูจะอันตรายต่อมนุษย์ พวกมันก็อาจเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศที่มันอยู่อาศัย
มุมมองต่อวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์สมัยใหม่กลายเป็น ‘พระเจ้า’ แทนที่จะเป็น ‘สัตว์’ หรือเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมกันสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลก แบบที่นิธิ เสนอนั้นเป็นมุมมองเดียวกับที่ปัญญาชนนักคิดของโลกตะวันตกหลายคนเคยเสนอไว้เช่นกัน ตัวอย่างที่โดดเด่นนั้นมีอยู่ 2 ท่านคือ Paul Feyerabend และ Yuval Noah Harary แต่ทั้งสองอยู่ในโลกวัฒนธรรมที่ไม่มีวรรณกรรมอย่างรามเกียรติ์ จึงเปรียบเทียบบทบาทของวิทยาศาสตร์ต่อสังคมสมัยใหม่ในมุมวรรณกรรมเรื่องอื่น
Feyerabend ผู้เขียน ‘Science in a Free Society’ นั้นวิพากษ์มุมมองความเชื่อที่ว่าวิทยาศาสตร์กับระบบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่เอื้อหนุนไปด้วยกันได้ดี เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นอริกับคริสตจักรมาก่อน แต่ Feyerabend ซึ่งมีภูมิหลังอยู่ออสเตรียในช่วงที่นาซียึดครอง ไม่มองเช่นนั้น เพราะเบื้องหลังอำนาจของจอมเผด็จการอย่างฮิตเลอร์นั้นมีเหล่านักวิทยาศาสตร์และสุดยอดนักประดิษฐ์เกี่ยวข้อง Feyerabend จึงมองวิทยาศาสตร์ไม่ต่างจากเวทมนตร์คาถาของศาสตร์ลี้ลับในอดีต ซึ่งนำไปสู่การสร้างอำนาจเผด็จการของมนุษย์ผู้วิเศษ หรือทำให้มนุษย์บางคนบางกลุ่มกลายเป็นเทพเจ้าได้ ดังนั้น Feyerabend จึงมองว่าบัลลังก์ของวิทยาศาสตร์เป็นภัยร้ายต่อระบบประชาธิปไตย
ขณะที่ Harary ผู้เขียนเล่ม ‘Sapiens’ หนังสือขายดีมีฉบับแปลไปแล้วกว่า 55 ภาษาทั่วโลก (รวมทั้งมีฉบับภาษาไทยด้วย) ก็มองว่าวิทยาศาสตร์ทำให้สัตว์ที่เคยเป็นเพียงสปีซีส์หนึ่งกลายเป็น ‘พระเจ้า’ ในโลกสมัยใหม่ ทั้งนี้วิทยาศาสตร์ไม่ได้มีแต่เฉพาะในโลกตะวันตก แต่เพราะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 วิทยาศาสตร์ในอารยธรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย เปอร์เชีย อียิปต์ ออตโตมัน ต่างก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากเท่าในสังคมตะวันตก ซึ่งจะเห็นการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างการทหาร อุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์
มุมมองแบบ Feyerabend, Harary, รวมทั้งนิธิ (ในกรณีไทย) ช่วยให้เข้าใจบทบาทของนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ ที่มีต่อการเกิดระบอบเผด็จการอำนาจนิยม พูดง่าย ๆ ในภาษาแบบรามเกียรติ์ นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์เหล่านี้บทบาทก็ไม่ต่างจากพวกลิงในรามเกียรติ์เท่าไหร่เลย
จาก ‘Adipurush’ (อินเดีย) ถึง ‘นักรบมนตรา’ (ไทย)
รามายณะที่อินเดียเองก็ไม่ได้มีฉบับเดียว และยิ่งเมื่อถูกนำมาดัดแปลงในรูปภาพยนตร์หรือละครด้วยแล้ว ก็ยิ่งพบการปรับให้เข้ากับรสนิยมของคนในรุ่นหลังนี้มาก อย่างเรื่อง ‘Adipurush’ ฉากเริ่มต้นเปิดเรื่องมาก็บอกกับคนดูก่อนเลยว่า พระรามคือมนุษย์ คือวีรบุรุษของเผ่าอารยันในอดีตที่ถูกยกขึ้นเป็นเทพเจ้า เพราะวีรกรรมคือการโค่นราชาอสูรอย่างราวัณ (ทศกัณฐ์) พระรามเป็นมนุษย์ที่บำเพ็ญตบะและได้อาวุธของเทพเจ้า
ในขณะที่ทศกัณฐ์ก็เป็นมนุษย์ที่บำเพ็ญเพียรมามากเช่นกัน แม้มีสิบเศียรยี่สิบกรก็เหาะไม่ได้ ต้องอาศัยขี่สัตว์เลี้ยงเป็นเจ้าเวหาดึกดำบรรพ์ (Pterosaurs-ไดโนเสาร์ที่มีปีกบินได้) ไปลักพาตัวนางสีดา ทำให้รามายณะฉบับอินเดียดูเป็นเรื่องย้อนไปจนถึงยุคจูราสสิค
จุดสำคัญที่ Adipurush หรือรามเกียรติ์ฉบับอินเดียเวอร์ชั่นล่าสุดนำเสนอก็คือ ฉากหลังทางสังคมการเมืองของพระราม พระรามในเวอร์ชั่นนี้ไม่ใช่องค์อวตารของเทพเจ้า หากแต่ลำพังการเป็นราชาผู้สละบัลลังก์ของอโยธยา เพื่อรักษาสัจจะให้แก่บิดานั้น สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่พวกลิงได้ว่าถ้าพวกตนช่วยให้บุรุษผู้นี้ได้ชิงเมียคืน พวกตนย่อมจะได้สิทธิในการคงอยู่ต่อไปในท่ามกลางโลกที่มีอสูรฝ่ายหนึ่ง มนุษย์และเทพอีกฝ่ายหนึ่ง
พระรามในเวอร์ชั่นนี้นอกจากเป็นผู้บำเพ็ญศีล แต่งกายในชุดขาวราวกับนักบวช การพิชิตอาณาจักรยักษ์ลังกาทำให้เขาสามารถหวนคืนสู่บัลลังก์กรุงอโยธยาได้อย่างสง่าผ่าเผย ศึกระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์จึงเป็นศึกแห่งเกียรติยศ มากกว่าการแย่งชิงสตรีที่งดงามที่สุดในสามโลก พูดง่าย ๆ ก็คือทศกัณฐ์เป็นฝ่ายถูกหาเรื่องและเป็นทศกัณฐ์ที่รักพวกพ้องญาติพี่น้อง มากกว่าจะเป็นทศกัณฐ์ที่เป็นยักษ์อันธพาลเกเรเหมือนอย่างในต้นฉบับเดิม
การตีความทศกัณฐ์ในมุมแบบนี้ อันที่จริงคล้ายคลึงกับที่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในอดีตเช่น นายผี - อัศนี พลจันทน์ และจิตร ภูมิศักดิ์ เคยเสนอไว้เมื่อหลายปีก่อน จะเข้าใจทศกัณฐ์ได้ต้องเข้าใจชาติที่แล้วที่เขาเคยเป็นนนทุก ยักษ์ล้างเท้าเทวดาแล้วถูกเทวดารังแกต่าง ๆ นานา จึงแก้แค้นเหล่าเทพ และที่มาเกิดเป็นทศกัณฐ์ก็โดยคำท้าของพระนารายณ์เอง นนทุกถูกพระนารายณ์แปลงเป็นนางฟ้ามาร่ายรำยั่วให้ใช้นิ้วเพชรชี้ไปที่ตนเอง ก่อนตาย นนทุกต่อว่าต่อขานทำนองว่าเป็นเทพชั้นสูงแต่ไยไม่มาสู้ซึ่งหน้า พระนารายณ์จึงว่าชาติหน้าให้ไปเกิดเป็นยักษ์สิบเศียรยี่สิบกร พระองค์จะเป็นเพียงมนุษย์สองกรไปสู้ (มนุษย์สองกรก็จริงแต่ได้รับอาวุธของเทพเจ้า เป็นแคนดิเดตราชาอโยธยา และมีสมัครพรรคพวกเป็นลิงนครขีดขินซึ่งล้วนมากอิทธิฤทธิ์)
Adipurush ยังคงเน้นภาพลักษณ์พระรามเป็นพระเอก เป็นตัวนำในการเล่าเรื่อง ส่วนหนุมานเป็นนักบวชบำเพ็ญตบะจนมีฤทธิ์มาก ตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ฉบับอินเดียยังคงไว้
ในขณะที่ฉบับไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าบทบาทหนุมานนั้นเป็นตัวหลักในการเล่าเรื่องเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้วจะเห็นได้ว่าหนุมานถูกขุนแผนแสนสะท้านสิงร่างเอาของแทร่ หนุมานของไทยไม่เพียงไม่ใช่นักบวช ไม่ต้องบำเพ็ญศีลภาวนา แค่เกิดเป็นลูกพระพายก็โคตรจะมีภาษีได้เปรียบใคร ๆ เพราะฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่ตาย ลมพัดก็ฟื้น หากชาวอินเดียโบราณมารู้มาเห็นหนุมานของไทยก็อาจจะงงว่า ‘พระพายจะเก่งกว่าพระยม-เจ้าแห่งความตาย ไปได้ยังไงนะนาย อีนี่งงในงงจ้า’
ไม่เพียงเท่านั้น ที่บอกว่า หนุมานของไทยโดนขุนแผนสิงร่างนั้นก็จะเห็นได้จากหนุมานนี่เมียเยอะ ผู้หญิงในเรื่องนอกจากนางสีดา เมียเจ้านายแล้ว ที่เหลือตั้งแต่นางมณโฑ เมียทศกัณฐ์ เรื่อยไปยันปลาทอง (นางสุพรรณมัจฉา) หนุมานเป็นได้ ‘นัดยิ้ม’ หมดเลย (ฟาดเรียบของแทร่)
ไม่แปลกเลยที่หนุมานจะเป็นไอดอลของชายผู้มีอำนาจบารมีเช่นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งนอกจากเป็น ‘ทหารเอกของพระราชา’ แบบหนุมานแล้ว ยังมี ‘บ้านน้อยสีชมพู’ ที่มีเหล่าคุณหนู ๆ ไว้ปรนนิบัติพัดวี จะเข้าใจทหารไทยที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นไอดอลแล้ว ก็ต้องดูหนุมานนี่แหล่ะ ไม่ใช่อะไรอื่นเลย
นักประวัติศาสตร์แนวสตรีศึกษาหรือประวัติศาสตร์เพศสถานะ (History of gender) ต่างก็เคยเสนอกันมานักต่อนักแล้วว่า สังคมไทยอุษาคเนย์เดิม (รวมทั้งไทยด้วย) ยึดถือระบบชายเป็นใหญ่แบบผัวเดียวหลายเมีย การเจ้าชู้หลายเมียไม่เพียงไม่ถูกมองเป็นเรื่องบัดสี หากแต่ยังมองเป็นเครื่องอำนวยแก่อำนาจวาสนาสะท้อนความเป็นผู้มีบุญบารมี พระเอกในวรรณคดีเรื่อยมาจนบุคคลชายไทยแท้ๆ ในประวัติศาสตร์จึงมีเมียมากเป็นปกติ
หากมีสตรีท่านใดในยุคปัจจุบันย้อนยุคไปสมัยอยุธยาแบบออเจ้าการะเกด ไปพบรักและได้แต่งงานเป็นเมียพี่หมื่น ก็อาจจะเป็นเมียนางหนึ่งของพี่หมื่นเท่านั้น จะได้เป็นเมียหลักเมียหลวงหรือไม่ยังไม่รู้ เพราะหากได้เมียพระราชทานขึ้นมา ออเจ้าการะเกดก็จะต้องเป็นเมียรองทันทีทันใด ขุนนางชายกรุงศรีนิยมมีเมียมาก อย่างโกษาปานก็มีเมียตั้ง 22 คน ลูกน้องใกล้ชิดโกษาปานอย่างพี่หมื่นของเราก็อาจมีน้อยกว่าลูกพี่นิดหน่อยแค่ราว 4-20 นาง แบบนั้นแล้วถามว่า ‘ออเจ้าจะไหวเร้อ?’
‘นักรบมนตรา’ แม้จะดัดแปลงรามเกียรติ์มาสู่แอนิเมชั่น ฉากปล่อยแสงหวือหวาตระการตาอย่างไร ก็ยังคงเป็นรามเกียรติ์ตามแบบไทย ๆ ตรงที่เน้นบทบาทของหนุมานชาญสมรนี่แหละ สอดคล้องกับบริบททางสังคมการเมืองที่ให้ความสำคัญแก่บทบาททหารผู้พิทักษ์องค์สมมติเทพ ข้อที่ยกให้เป็นข้อแตกต่างระหว่างหนุมานใน ‘นักรบมนตรา’ กับหนุมาน ทหารเอกพระรามในรามเกียรติ์ฉบับต้นรัตนโกสินทร์ ก็คือหนุมานใน ‘นักรบมนตรา’ ไม่เจ้าชู้หลายเมีย เน้นแอนิเมชั่นเหาะเหินเดินอากาศ หาวเป็นดาวเดือน และปล่อยแสงไป
ตรงนี้ที่จริงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไปมีผลต่อภาพลักษณ์หนุมานได้ดีทีเดียว ไม่งั้นแทนที่จะเป็น ‘นักรบมนตรา’ หนุมานก็อาจชิงตำแหน่ง ‘ช่างแอร์ในตำนาน’ คือเป็นพระเอกหนังอีโรติกแทนที่จะเป็น ‘นักรบในตำนาน’ (อาจจะดีก็ได้)
ทั้งนี้มีผู้เสนอไว้นานแล้ว (ผู้เขียนเองก็จำไม่ได้ว่าใคร แต่คิดว่าน่าจะเป็นสุจิตต์ วงษ์เทศ) เพราะว่าพระรามมีซีนอยู่ในคติความเชื่อทางศาสนา กลายเป็นว่า ในฉบับอินเดีย พระรามได้กลายเป็นมนุษย์ไปแล้ว (ดังจะเห็นได้จากเรื่อง Adipurush) แต่ในฉบับของไทย พระรามยังคงเป็นองค์อวตาร และเป็นอะไรต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องเทพ ๆ ทั้งหมดทั้งมวล หนุมานจึงเหมาะจะรับบททางโลกย์ โลดโผนไปตามเรื่อง เพื่อเข้ากับรสนิยมของผู้คน
กล่าวโดยสรุป แม้ว่ารัชกาลที่ 1 จะเคยเตือนว่า รามเกียรติ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นนั้นเป็นเพียง ‘นิยายไสย’ แต่ที่จริง รามเกียรติ์ถูกใช้เป็นจารีตปฏิบัติและโลกทัศน์ของคนไทยเรื่อยมา จึงเป็นตรรกะในการอธิบายสังคมการเมืองและบุคลิกคนไทยได้ดีแม้กระทั่งปัจจุบัน ตัวเรื่องที่ถูกปรุงแต่งดัดแปลงอยู่ตลอดนั้นสะท้อนรสนิยมของคนในแต่ละยุคสมัย
เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: โปสเตอร์ภาพยนตร์ นักรบมนตรา/RiFF Studio
อ้างอิง:
Feyerabend, Paul K. Science in a Free Society. London: Lowe & Brydone, 1978.
กำพล จำปาพันธ์. ‘จาก ‘ลูกหลานหนุมาน’ ถึง ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ’ : ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ ‘ลิง’ ในชุมชนเมืองลพบุรี’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2563), หน้า 112-137.
กำพล จำปาพันธ์. ‘วินิจฉัยนาม ‘พระนครศรีอยุธยา’ มาจากไหน อย่างไร และทำไม’ วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา. ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (2555), หน้า 49-55.
กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.
กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2559.
จิตร ภูมิศักดิ์. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2547.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์: ว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2518.
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2544.
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2561.
พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องบ่อเกิดรามเกียรติ์. กรุงเทพฯ: รุ่งวัฒนา, 2513.
แฮรารี, ยูวัล โนอาห์ (Yuval Noah Harari). เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: a Brief History of Humankind). แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์, กรุงเทพฯ: ยิปซีกรุ๊ป, 2564.