23 ต.ค. 2566 | 14:08 น.
- ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงที่ศิลปะชนิดนี้เริ่มก่อตัวช่วงปลายศตวรรษที่ 19
- รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวิจารณ์เรื่องศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ เมื่อเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ 2 ค.ศ. 1907
- ส่วนหนึ่งของพระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ 5 มีว่า “...คำที่ว่าอาต(อาร์ต)นั้น กลายเปนไม่มีอาตในนั้นสักนิดเดียว จะว่าเหมือนก็ไม่เหมือน จะว่างามก็ไม่งาม”
ปลายศตวรรษที่ 19 ‘โกลด โมเนต์’ (Claude Monet) จิตรกรชาวฝรั่งเศส คือผู้จุดประกายความงามของศิลปะแนวใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ ‘อิมเพรสชั่นนิสม์’ (Impressionism) จากนั้นไม่นาน ผลงานศิลปะแนวดังกล่าวค่อย ๆ เป็นที่กล่าวขานมากขึ้นในวงการศิลปะตะวันตก และได้กำเนิดศิลปินหน้าใหม่หลายต่อหลายคน ร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มขึ้นมากมาย
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของศิลปะแนวนี้ คือการสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นอารมณ์ ความรู้สึก ความประทับใจส่วนตัวของศิลปินต่อสิ่งรอบข้างอย่างฉับพลัน แล้วถ่ายทอดผ่านการสะบัดฝีแปรงอันเร่าร้อนให้เป็นเส้นสีอันเจิดจ้า หรือไม่ก็ฟุ้งฝ้าพร่าเลือน โดยไม่คำนึงถึงรายละเอียด Subject ที่เป็นจริง
อิมเพรสชั่นนิสม์ จึงเป็นงานที่ท้าทายศิลปะที่ยึดแบบแผนตามหลักสัจนิยม (Realism) ทำให้ในช่วงแรก ศิลปะแนวใหม่นี้ไม่เป็นที่ยอมรับ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสำนักศิลปะแห่งชาติของฝรั่งเศส (Salon) ซึ่งเป็นสำนักที่เปรียบดังตัวแทนศิลปะแนวสัจนิยม อันเป็นกระแสหลักในขณะนั้น
ดังเช่นงานของ ‘โมเนต์’ เอง ยังถูก ‘หลุยส์ เลอรอย’ (Louis Leroy) นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดังในยุคนั้น วิจารณ์ภาพ ‘Impression, Sunrise’ (1872) ว่า “ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความประทับใจแบบวูบวาบฉาบฉวย ภาพร่างลวก ๆ บนกระดาษติดฝาผนังยังดูเสร็จสมบูรณ์กว่าด้วยซ้ำ”
ไม่เพียงแค่นักวิจารณ์งานศิลปะ บรรดาชนชั้นสูงทางสังคมในยุโรปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็ล้วนดูถูกเหยียดหยามงานศิลปะแนวนี้กันอย่างถ้วนหน้า ส่วนจิตรกรผู้สร้างสรรค์งาน ล้วนมีชีวิตแร้นแค้น และถูกเย้ยหยันจากผู้คนในสังคม
ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ยุคเริ่มแรกจึงควบคู่กับการถูกวิจารณ์จากผู้สันทัดกรณีรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่พระมหากษัตริย์จากดินแดนอันไกลโพ้นอย่าง ‘ประเทศสยาม’ ที่ครั้งหนึ่ง ทรงมีโอกาสสัมผัสงานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ และได้ทรงวิจารณ์งานแนวนี้ไว้จนเป็นเสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม – กับบรรดาประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป
พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
การเสด็จประพาสทวีปยุโรป และพระราชนิยมในศิลปะของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามต้องเผชิญปัญหารอบด้านจากบรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรป สร้างความสั่นคลอนต่อความเป็นเอกราชของสยาม ช่วงเวลานั้น พระองค์ทรงดำเนินพระราชกุศโลบายหลายประการ เพื่อนำพาสยามให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ การเสด็จประพาสต่างประเทศ
จึงเป็นที่มาของการเสด็จประพาสยุโรปถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1897 เป็นการเสด็จประพาสในภารกิจสำคัญทางการเมือง และครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1907 เป็นการเสด็จฯ ไปรักษาพระวรกายจากพระอาการประชวร และสานพระราชไมตรีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ สืบเนื่องจากภารกิจสำคัญของการเสด็จฯ ครั้งแรก
ด้วยความต้องการรู้เท่าทันความนึกคิดของบรรดามหาอำนาจในยุโรป ทำให้พระองค์ทรงศึกษาประเพณี วัฒนธรรมของคนยุโรปให้ลึกซึ้ง ทำให้ทรงซึมซับแนวความคิดหลายอย่าง รวมถึงพระราชนิยมในงานศิลปะตะวันตก
พระองค์ทรงโปรดปรานงานศิลปะเป็นอย่างยิ่ง การเสด็จประพาสทวีปยุโรปทั้ง 2 ครั้ง พระองค์เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งเท่าที่โอกาสจะอำนวย ในการเสด็จประพาสเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ทรงชื่นชมเมืองนี้มากเป็นพิเศษ เพราะทรงสนพระราชหฤทัยในงานศิลปะของชาวเมืองฟลอเรนซ์ ถึงขนาดทรงสั่งซื้องานศิลปะหลายชิ้น เพื่อนำไปตกแต่งภายในพระบรมมหาราชวัง หรือแม้กระทั่งทรงจ้าง มองสิเออร์ คาโรรัส ดุรัง (Carolus-Duran) ผู้บริหารสำนักศิลปะฝรั่งเศสในกรุงโรม ให้มาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์เอง ที่เมืองซานเรโม่ ในอิตาลี
นั่นแสดงว่า พระองค์มีพระราชนิยมในงานศิลปะแนวสัจนิยม (Realism) อันเป็นความนิยมในศิลปะกระแสหลัก ไม่ต่างกับบรรดาชนชั้นสูงในยุโรปในยุคนั้นด้วยนั่นเอง
มานไฮม์ (Mannheim), ประเทศเยอรมนี ปี 1907
และในการเสด็จประพาสครั้งที่ 2 นี้เอง ในขณะที่ทรงประทับ ณ เมืองบาเดนบาเดน ประเทศเยอรมนี พระองค์ได้มีโอกาสเสด็จฯ ไปยังเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ ‘มานไฮม์’ (Mannheim) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมืองกำลังจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 300 ปีของการก่อตั้งเมือง
ในวาระสำคัญนี้เอง เจ้าผู้ครองแคว้นที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า พระองค์มีพระราชนิยมงานศิลปะเป็นอย่างยิ่ง จึงยินดีที่จะกราบทูลเชิญเสด็จฯ มาทอดพระเนตรงาน International Art Expo Mannheim 1907 ณ ตึกหอศิลป์ประจำเมืองที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ เป็นงานนิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะสมัยใหม่แนวอิมเพรสชั่นนิสต์ จากศิลปินทั่วยุโรป
หลังจากที่ทรงอิ่มเอมกับงานศิลปะคลาสสิคอันงดงามตามพิพิธภัณฑ์แทบจะทั่วทุกแห่งที่เสด็จฯ ไปถึง มาครั้งนี้ที่มานน์ไฮม์ จึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรู้จักกับ ‘อิมเพรสชั่นนิสม์’
แต่ทว่า พระองค์กลับทรงวิจารณ์งานศิลปะที่จัดแสดงในงานนี้ไว้อย่างเผ็ดร้อน ผ่านบันทึกในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ความยาวถึง 3 หน้ากระดาษ ด้วยพระอารมณ์ที่แสดงถึงการไม่ทรงโปรดศิลปะประเภทนี้เอาเสียเลย
พระราชวิจารณ์งานศิลปะที่มานไฮม์
ปี ค.ศ. 1907 อันเป็นปีที่ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ เป็นที่รู้จักได้ราว 30 – 40 ปี เท่านั้น และดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ต้องเผชิญกับการถูกวิจารณ์อย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่ รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงบรรยายงานศิลปะที่จัดแสดงใน Exhibition ที่หอศิลป์เมืองมานไฮม์ ไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านความตอนหนึ่งว่า..
“...ที่เป็นรูปเขียนอย่างเก่าอยู่ไม่เท่าใด นอกนั้นเปนอย่างโมเดอน ซึ่งเหลือที่จะเล่าว่ารูปอะไรเปนอย่างไร มันหนักขึ้นไปกว่าเมืองเวนิศ บางแผ่นน้ำยาเหมือนรูปหอยแครงหยอดเกาะๆ กันไปเป็นรูปพร่าๆ บางแห่งเหมือนเอาเส้นแมกาโรนีย้อมสีแดงสีเขียวสีเหลืองกองไว้ตามแต่จะนึกว่ารูปอะไร ยังมีอีกอย่างหนึ่งนั้นเปนดินสอดำเส้นเดียวลากเหมือนกันกับเด็กเด็กมันเขียนเล่นที่เมรุฤๅที่ศาลาวัด สับเยกต์ (Subject : ผู้เขียน) ที่จะเขียนนั้นคงจะหาให้น่าเกลียดที่สุดตามที่จะหาได้ ฤาแกล้งเขียนให้มันบ้าๆ เช่นกับถ้าจะเขียนรูปผู้หญิง คงจะหาที่หน้าเสยะฟันเขยินตาลึกท้องคลอด คล้ายๆ กับเขียนเปรตหลังโบสถ์ ถึงเขียนสีก็เลือกเอาสับเยกต์ที่เลวที่สุดไม่มีดี เปนการเก๋ สีก็ใช้ สีที่แปร๋ปร๋าเงาก็ไม่ต้องมี ระบายก็ไม่ต้องระบาย ป้ายลงไปเฉยๆ เส้นก็ไม่ต้องเดิน ดูๆ ก็เป็นที่ท้อใจ คำที่ว่าอาตนั้น กลายเปนไม่มีอาตในนั้นสักนิดเดียว จะว่าเหมือนก็ไม่เหมือน จะว่างามก็ไม่งาม ถ้าจะเขียนให้เหมือน ก็เลือกเอาเหมือนที่อย่างไม่มีดีที่สุด คือหมอกมัวมืดควันกระหลบ (ควันตลบ : ผู้เขียน) ถ้าจะแปร๋ก็พระอาทิตย์เปนสีทับทิม สีม่วง ต้นไม้สีม่วง พื้นแผ่นดินเปล่าๆ สีเขียว อะไรโสกกระโดกต่างๆ เช่นนี้.....” (เขียนตามอักขระเดิมในพระราชนิพนธ์)
แม้กับผลงานที่ผู้อำนวยการสถาบันชี้ไปที่ภาพ ๆ หนึ่ง แล้วกราบทูลว่าจิตรกรเจ้าของภาพนี้ตายแล้ว พระองค์กลับตรัสตอบว่า “ไม่สู้น่าเสียดาย”...!! จนผู้อำนวยการสถาบันท่านนั้นถึงกับออกท่าฉุน
นี่คือพระราชวิจารณ์งานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เป็นปริศนาที่น่าขบคิดว่า บรรดางานศิลปะที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงบรรยายไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านนั้น เป็นงานของศิลปินผู้ใด?
มานไฮม์ (Mannheim), ประเทศเยอรมนี ปี 2007
มานไฮม์ เมืองเล็ก ๆ ริมแม่น้ำเนคคาร์ ในแคว้นบาเดน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะวิทยาการมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
จากความทรงจำเมื่อครั้งได้มีโอกาสทำสารคดี ‘ร้อยปีไกลบ้าน ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง’ เมื่อฤดูร้อนปี ค.ศ.2007 ทำให้ได้มีโอกาสไปตามรอยเสด็จฯ ณ เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ ทั้งยังได้ข้อมูลว่า สถานที่จัดแสดงงานศิลปะเมื่อปี ค.ศ.1907 นั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ The Kunsthalle Mannheim Museum หรือหอศิลป์ประจำเมืองมานไฮม์
การตามรอยครั้งนั้น เจ้าหน้าที่หอศิลป์ได้นำหนังสือชื่อ International Art Expo Mannheim 1907 และภาพถ่ายห้องจัดแสดงงานในครั้งนั้นมาให้ชม เมื่อเปิดหน้าหนังสือก็ทำให้ทุกคนตื่นตะลึง เมื่อเห็นว่า งานศิลปะที่รัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตรในครั้งนั้น เป็นภาพวาดของศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ระดับโลกอย่าง วินเซนต์ แวนโก๊ะ, โอกุสต์ เรอนัวร์, โกลด โมเนต์, เอ็ดการ์ เดกาส์, พอล โกแกง, พาโบล ปิกัสโซ่, กุสตาฟ คลิมต์ เป็นต้น มาจัดแสดงที่งานนี้กันอย่างคับคั่ง
เมื่อนำพระราชวิจารณ์ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน มาพิจารณาเพื่อหาภาพที่สอดคล้องกับบทวิจารณ์นั้น พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นภาพของใคร เช่น
ที่พระองค์ทรงวิจารณ์ว่า “ยังมีอีกอย่างหนึ่งนั้นเปนดินสอดำเส้นเดียวลากเหมือนกันกับเด็กเด็กมันเขียนเล่นที่เมรุฤๅที่ศาลาวัด สับเยกต์ ที่จะเขียนนั้นคงจะหาให้น่าเกลียดที่สุดตามที่จะหาได้ ฤาแกล้งเขียนให้มันบ้าๆ..” ภาพนี้คงเป็นภาพสเกตช์ La Parisienne et figures exotiques ของ พาโบล ปิกัสโซ่ จิตรกรชาวสแปนิช ที่วาดในปี ค.ศ. 1906
ส่วนภาพที่กล่าวว่า “...เช่นกับถ้าจะเขียนรูปผู้หญิง คงจะหาที่หน้าเสยะฟันเขยินตาลึกท้องคลอด คล้ายๆ กับเขียนเปรตหลังโบสถ์ ถึงเขียนสีก็เลือกเอาสับเยกต์ที่เลวที่สุดไม่มีดี..” คงเป็นภาพ The Three Ages of Woman ของกุสตาฟ คลิมต์ วาดในปี ค.ศ.1905 (เขียนก่อนหน้า ภาพ The Kiss (1907) อันโด่งดังเพียง 2 ปี)
ภาพหนึ่งที่ทรงบรรยายว่า “บางแผ่นน้ำยาเหมือนรูปหอยแครงหยอดเกาะ ๆ กันไปเป็นรูปพร่าๆ” ดูแล้วก็คล้ายภาพที่ชื่อ ‘ราตรีประดับดาว’ (Starry Night) วาดในปี ค.ศ. 1889 ของวินเซนต์ แวนโก๊ะ จิตรกรชาวดัตช์ ซึ่งวาดทิวทัศน์ยามค่ำคืนจากมุมมองนอกหน้าต่างสถานบำบัด ในระหว่างที่แวนโก๊ะรักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาลจิตเวช เมือง Saint Remy ประเทศฝรั่งเศส แต่ภาพนี้แวนโก๊ะ วาดภาพนี้ตอนกลางวันจากความทรงจำที่เห็นในตอนกลางคืน
และข้อความที่ว่า “..บางแห่งเหมือนเอาเส้นแมกาโรนีย้อมสีแดงสีเขียวสีเหลืองกองไว้ตามแต่จะนึกว่ารูปอะไร..” น่าจะเป็นภาพ View of Collioure ของ อังเดร เดเรน จิตรกรชาวฝรั่งเศส วาดขึ้นเมื่อฤดูร้อนปี ค.ศ. 1905 ระหว่างทำงานที่ Collioure เมืองเล็กๆ ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในประเทศฝรั่งเศส
หลังการเสด็จฯ เมืองมานไฮม์ เมื่อพระองค์ได้ทรงพบกับจักรพรรดิไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ที่เมืองบรันชวิก (Braunschweig) ทรงเล่าเรื่องงานศิลปะนี้ให้จักรพรรดิเยอรมันฟัง ท่านไกเซอร์ก็วิจารณ์ในทางเดียวกันว่า “..มันเปนบ้า ที่แท้มันเขียนไม่เปน ครั้นมันจะเขียนมาตามฝีมือมัน ไม่มีใครเขาจะดูจะทัก แกล้งเขียนให้ระยำเช่นนั้นพอให้เขาได้ทัก แล้วมันก็ไปโยนทิ้งเสีย ขอให้พ่ออุ่นใจเถอะ มันไม่ไปได้กี่ปีดอก..”
ทัศนคติผ่านกาลเวลา
ในเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลยว่า งานศิลปะที่ไม่มีใครยอมรับในยุคก่อน กลับเป็นผลงานที่ถูกประมูลไปในราคาที่แพงระยับในอีก 1 ศตวรรษถัดมา ไม่มีใครรู้เลยว่า ภาพ ‘ดอกทานตะวัน’ ที่แวนโก๊ะขายในราคาเท่ากับข้าวเพียง 1 จาน จะกลายเป็นผลงานที่มีราคาสูงระดับหลักล้าน สถาบันศิลปะชื่อดังต่างแข่งขันกันประมูลภาพอิมเพรสชั่นนิสม์เหล่านี้ไปประดับบนข้างฝาของมิวเซียม โดยมีผู้คนนับล้าน ต่างเดินทางมาเชยชมผลงาน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกถากถางและวิจารณ์เสียเละเทะไม่มีชิ้นดี..
ในแง่มุมประวัติศาสตร์ เราไม่ควรที่จะกล่าวโทษรสนิยมของคนรุ่นก่อน เพราะทัศนคติในยุคหนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับผู้คนในยุคต่อมา เราควรยอมรับว่า ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์งานศิลปะตามมุมมองของตน ดังตัวอย่างที่รัชกาลที่ 5 ทรงวิจารณ์งานศิลปะที่ได้ทอดพระเนตรอย่างตรงไปตรงมาตามมุมมองในยุคสมัยของพระองค์ ทั้งยังเป็นการวิจารณ์งานศิลปะตะวันตกโดยชาวสยามเป็นครั้งแรก
บทสรุปจากการที่ได้ทรงทอดพระเนตรงานศิลปะที่มานไฮม์ จึงสะท้อนผ่านพระราชวิจารณ์ในตอนท้ายที่ทรงบรรยายว่า.. “อ้ายรูปเช่นนี้มันมีแต่เมื่อมาคราวก่อน 10 ปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้มากขึ้นกว่าก่อนสัก 10 เท่า นี่เกิดเล่นอะไรกันขึ้นเช่นนี้ มาอุ่นใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่เขียนกันมาก็ถึง 10 ปีแล้ว ปีหนึ่งก็มากๆ มันหายไปไหนหมด ไม่เห็นใครแขวนที่แห่งใดปะไนยตาเลยสักแผ่นเดียว น่าจะขายไม่ได้..”
นี่จึงเป็นคุณค่าในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ให้เราได้เรียนรู้ว่า รสนิยมต่าง ๆ ย่อมผันแปรได้ตามกาลเวลาที่แปรเปลี่ยนไป และคติใหม่ที่กล้าฉีกขนบความเชื่อเดิมต้องใช้เวลาฝ่าฟันอุปสรรคอย่างยาวนาน กว่าจะได้รับการยอมรับจากคนในอีกรุ่นหนึ่ง อันเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในกงล้อประวัติศาสตร์โลก
เรื่อง: อชิรวิชญ์ อันธพันธ์