เผด็จการประชานิยมฉบับจอมพลสฤษดิ์ หลังฉาก ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ราคาสินค้า หลัง ‘ปฏิวัติ’ 2501

เผด็จการประชานิยมฉบับจอมพลสฤษดิ์ หลังฉาก ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ราคาสินค้า หลัง ‘ปฏิวัติ’ 2501

เผด็จการประชานิยม ฉบับจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเผด็จการก็มีนโยบายลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ราคาสินค้า หลัง ‘ปฏิวัติ’ 2501 แท้จริงแล้วมีจุดประสงค์ใดบ้าง? และใช่ว่าทุกนโยบายจะทำได้เสียหมดทุกเรื่อง

  • จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำซึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็นเผด็จการทหารในอดีตเคยมีนโยบายแนวประชานิยม
  • หลังการ ‘ปฏิวัติ 20 ตุลาฯ’ จอมพลสฤษดิ์ สร้างกระแสความนิยมทางการเมืองแบบ ‘เร่งด่วน’ ทั้งการปกครองด้วยความเด็ดขาดและรุนแรง ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นที่ใกล้เคียงกับนโยบายแนวประชานิยม

หากกล่าวถึงชื่อของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปัจจุบัน เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงนึกถึงภาพนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารยศจอมพล ผู้มีบุคลิกภาพอันน่าเกรงขามและใช้อำนาจการปกครองบ้านเมืองแบบ ‘เผด็จการ’ มากที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

อย่างไรก็ดี แม้จอมพลสฤษดิ์จะมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำเผด็จการจนยากที่จะปฏิเสธ แต่ทว่า ลักษณะผู้นำแบบจอมพลสฤษดิ์กลับยังคงเป็นที่คิดถึงและโหยหาของผู้คนบางกลุ่มในสังคมไทย และบ้างก็นำไปเป็น ‘แม่แบบ’ ผู้นำทางการเมืองไทยเปรียบเทียบกับผู้นำท่านอื่น ๆ ดังเช่น พลเอกประยุทธิ์ จันโอชา ก็เคยได้รับการเปรียบเทียบและได้รับฉายาว่าเป็น ‘สฤษดิ์น้อย’ (Little Sarit) [1]

ในทางประวัติศาสตร์การเมือง จุดเริ่มต้นภาพลักษณ์ผู้นำจอมเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำการ ‘ปฏิวัติ’ ยึดอำนาจตัวเองจากรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 [2] ซึ่งการปฏิวัติในครั้งนี้ แตกต่างออกไปจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ก่อนหน้า 

กล่าวคือ การรัฐประหารยึดอำนาจในครั้งแรกนั้น จอมพลสฤษดิ์ได้รับความชอบธรรมทางการเมืองเป็นอย่างมากจากแรงสนับสนุนของประชาชนที่ไม่พอใจการบริหารงานและการจัดการการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 

ขณะที่การยึดอำนาจในครั้งหลัง (20 ตุลาฯ) ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ง่อนแง่นของรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ปรากฏว่า หลังการรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพียง 1 ปี จอมพลสฤษดิ์ก็ตัดสินใจทำการ ‘ยึดอำนาจ’ อีกครั้ง และยกเลิกองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง และสมาชิกผู้แทนราษฎร ทำให้ภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ที่เคยเป็น ‘ขวัญใจประชาชน’ ผู้รักประชาธิปไตย ได้เปลี่ยนไปสู่การเป็น นายทหาร ‘จอมเผด็จการ’ [3]

การปฏิวัติ 20 ตุลาฯ นับว่ามีความสำคัญ เพราะแม้คณะปฏิวัติจะอ้างเหตุผลหลักในการปฏิวัติว่ามาจากภัยของ ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ [4] แต่คณะปฏิวัติก็จำเป็นต้องสร้างกระแสความนิยมและสร้างการยอมรับอำนาจคณะปฏิวัติให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องสำคัญกับ ‘ความชอบธรรมทางการเมือง’ ของจอมพลสฤษดิ์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองโดยมิได้มีที่มาและแรงสนับสนุนจากประชาชนตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย 

หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ จอมพลสฤษดิ์จึงสร้างกระแสความนิยมทางการเมืองแบบ ‘เร่งด่วน’ ด้วยสองแนวทางสำคัญ คือ

หนึ่ง ใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองด้วยความเด็ดขาดรุนแรง เช่น การปราบปรามกลุ่มอันธพาลและผู้มีอิทธิพล ดำเนินการจัดระเบียบสังคม จัดการความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง ดำเนินการคุมเข้มพฤติกรรมของเยาชน และที่สำคัญคือ มีการลงโทษอย่างเด็ดขาดรุนแรงด้วยการสั่งประหารแบบ ‘ยิงเป้า’ จากกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเขตพระนคร

โดยจอมพลสฤษดิ์ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ใช้อำนาจปฏิวัติสั่งประหารชีวิตผู้ต้องสงสัยกรณีลอบวางเพลิงด้วยวิธีการ ‘ยิงเป้า’ และเปลี่ยนให้พื้นที่สาธารณะใกล้กับบริเวณจุดเกิดเหตุกลายเป็น ‘ลานประหารชั่วคราว’ [5] ซึ่งผลปรากฏว่า วิธีการ ‘ยิงเป้า’ ของจอมพลสฤษดิ์ เป็นวิธีการที่ถูกอกถูกใจประชาชนหลายคน จนเป็นที่รับรู้กันในหมู่ประชาชนว่า ‘บ้านไหนเป็นต้นเพลิงไฟไหม้ เจ้าของบ้านจะโดนยิงเป้า’ [6] ทำให้ประชาชนต่างระแวดระวังเหตุเพลิงไหม้ และเชื่อกันว่าวิธีการดังกล่าวของจอมพลสฤษดิ์สามารถหยุดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างชะงักงัน

สอง หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ จอมพลสฤษดิ์ได้ออกนโยบายเร่งด่วนทางเศรษฐกิจแบบระยะสั้น ซึ่งเรียกว่านโยบาย ‘การยกมาตรฐานการครองชีพ’ ด้วยการช่วยเหลือค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายของประชาชนผ่านวิธีการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าบริการสาธารณะจำนวนหลายรายการ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับนโยบาย ‘ประชานิยม’ ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสำรวจโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ของการยกมาตรฐานการครองชีพหลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ จะพบว่า คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์มีการออกกฎหมาย คำสั่ง และประกาศ ที่มีลักษณะนโยบายแบบ ‘ประชานิยม’ คล้ายคลึงกับนโยบายบนป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ เช่น การออกคำสั่งให้ลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าในย่านกรุงเทพฯ-ธนบุรี การออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ การลดอัตราค่าโทรศัพท์ ลดค่ารถไฟโดยสาร และลดค่าเล่าเรียน

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านภาษี ค่าธรรมเนียม และสวัสดิการของประชาชน คณะปฏิวัติมีการประกาศสั่งให้เทศบาลยกเลิกภาษีบางประเภท ค่าธรรมเนียมทะเบียน และค่าธรรมเนียมการบริการของราชการ และสำหรับครอบครัวที่ยากจนมีสิทธิใช้บริการฟรีในเรื่องยาและการรักษาสุขภาพต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลของรัฐ มีการให้เทศบาลแจกจ่ายตำราเรียนฟรีให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนตามโรงเรียนต่าง ๆ ภายในเขตเทศบาล จำนวน 30 แห่ง รวมทั้งยังมีการให้ความช่วยเหลือและเพิ่มสวัสดิการให้แก่ข้าราชการซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกระดับปฏิบัติงานของคณะปฏิวัติ เช่น กำหนดให้วันทำงานของข้าราชการพลเรือนให้เหลือเพียง 5 วัน และการจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์สำหรับข้าราชการพลเรือนระดับล่างได้กู้ยืม [7]

ขณะที่ในด้านการช่วยเหลือพ่อค้า แม่ค้า และประชาชน คณะปฏิวัติได้ออกคำสั่งและประกาศให้ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนหลายรายการ พร้อมทั้งให้มีการเปิดตลาดนัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก และที่สำคัญคือ มีการออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการและองค์กรต่าง ๆ นำสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนในราคาถูก เช่น ข้าวสาร อาหารทะเล มะพร้าว ไข่ไก่ น้ำตาล น้ำปลา เกลือ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น คำสั่งกองบัญชาการคณะปฏิวัติ ที่ 19/2501 ซึ่งได้ระบุว่า 

“เพื่อให้ประชาชนซื้อปลาทะเลบริโภคได้ในราคาถูกกว่าในปัจจุบันนี้ จึงให้กองทัพเรือจัดการดำเนินการจับปลาทู และปลาอื่น ๆ แล้วนำมาขายให้ประชาชนด้วยราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้ถือว่าเป็นภารกิจพิเศษที่จะต้องปฏิบัติจนกว่าจะได้รับคำสั่งเป็นอย่างอื่น ให้รายงานผลการปฏิบัติตามคำสั่งนี้มาให้ทราบทุกสัปดาห์”

แม้การดำเนินงานนโยบาย ‘การยกมาตรฐานการครองชีพ’ ของคณะปฏิวัติ จะฟังดูเป็นเรื่องราวของการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังที่จอมพลสฤษดิ์ กล่าวว่า

“ในด้านการครองชีพและความผาสุกของประชาชน ข้าพเจ้าได้พยายามคิดทุกวิถีทางโดยถือหลักปัจจัยสี่ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเท่าที่จะสามารถจะทำได้ พูดกันอย่างเข้าใจง่าย ๆ ก็คือเรื่อง ‘ท้อง’ ของประชาชน ซึ่งต้องคิดถึงทั้งในเวลานี้ และในกาลข้างหน้า ต้องมีแผนการ โครงการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว” [8]

แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า วิธีการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน ในช่วงหลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ ซึ่งเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นของคณะปฏิวัติ แท้จริงแล้วยังมีจุดประสงค์ก็เพื่อ ‘ซื้อใจ’ และ ‘สร้างความนิยม’ ในหมู่ประชาชน เนื่องจากคณะปฏิวัติมิได้มีอำนาจและที่มาจากการเลือกตั้งในวิถีระบอบประชาธิปไตย 

ดังนั้น แม้ในทางทฤษฎี จอมพลสฤษดิ์จะกล่าวอยู่เสมอว่าเรื่องการลดค่าครองชีพนั้นไม่มีใครทำได้ แต่ทว่าในความเป็นจริง ด้วยอำนาจสั่งการอันเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยระบบกลไกแบบรัฐราชการของไทย จอมพลสฤษดิ์สามารถสั่งการให้หน่วยงานราชการและองค์การของรัฐดำเนินการลดราคาสินค้าหรือบริการได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเป็นการเอาใจและสร้างความนิยมให้แก่คณะปฏิวัติที่กำลังแสวงหา ‘ความชอบธรรมทางการเมือง’ หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ ดังที่ จอมพลสฤษดิ์ ได้กล่าวว่า

“ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นแล้วยากที่จะลดลงไป ข้าพเจ้าก็พยายามลดค่าใช้จ่ายของประชาชนลงบ้าง ในระหว่างที่เป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติด้วยการร้องขอความเสียสละของเทศบาล องค์การของรัฐ ตลอดถึงบริษัทและร้านค้าให้ลดราคาเครื่องอุปโภคบริโภคลงเท่าที่จะทำได้ ได้มีการลดค่าแรงไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะกล่าวว่า ในฤดูร้อนที่ผ่านมาแล้วนี้ กรุงเทพฯ ไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำเหมือนอย่างปีที่แล้ว ๆ มา ได้ลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของเทศบาล ให้กระทรวงเศรษฐการขายข้าวสารราคาถูก ซึ่งต่อมาไม่ช้า บริษัทร้านต่าง ๆ ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในความเสียสละอันนี้ ได้ลดราคาปูนซีเมนต์ ถ่าน น้ำตาลทราย ค่ารถยนต์ประจำทาง ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าโดยสารเรือยนต์ ค่าเทียบเรือสาธารณะ ลดราคารำ จัดหาปลาทูและมะพร้าวมาขายให้ประชาชนในราคาถูก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะบรรยายให้หมดในที่นี้ได้ ขอนำมากล่าวไว้เพียงเป็นตัวอย่างพอสมควร และทั้งนี้เป็นกิจการที่ได้ทำไปในสมัยกองบัญชาการคณะปฏิวัติ” [9]

น่าสนใจว่า ในงานวิชาการอันเลื่องชื่อของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่ทำการศึกษาการเมืองไทยยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ มีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าโครงการหรือกิจกรรมของนโยบาย ‘การยกมาตรฐานการครองชีพ’ จะเป็นโครงการระยะสั้น และมีหลายโครงการ/กิจกรรม จะมิได้นำมาใช้จริง ๆ เลยก็ตาม แต่การประกาศไว้และโฆษณาการลดราคาสินค้า บริการ และค่าครองชีพต่างๆ ก็ได้สร้างบรรยากาศของความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั่ว ๆ ไปในหมู่ประชาชน [10]

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายและภาพการ์ตูนในหนังสือพิมพ์ไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์ พบว่า กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้นโยบาย ‘การยกมาตรฐานการครองชีพ’ ได้สร้างความตื่นตัวและพึงพอใจให้กับบรรดาพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการลดราคาและการจำหน่ายสินค้าราคาถูกของหน่วยงานภาครัฐ เช่น อาหารทะเล มะพร้าว น้ำปลา น้ำตาลทราย ฯลฯ (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านี้คือ ที่มาของ ‘ต้นแบบ’ ของโครงการ ‘ธงฟ้าราคาประหยัด’ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่?) 

ดังนั้น แม้ในทางทฤษฎีปัจจุบัน นโยบายประชานิยมจะเป็นเรื่องว่าด้วยการกำหนดนโยบายจากพรรคการเมืองโดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกคะแนนเสียงความนิยมจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่า หากพิจารณาแนวคิดนโยบายประชานิยมในฐานะวาทกรรมทางการเมืองประเภทหนึ่ง ก็น่าสังเกตว่า จะพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหรือรัฐบาลคณะปฏิวัติ/รัฐประหาร ก็ล้วนแต่เคยออกนโยบายทางเศรษฐกิจในลักษณะแบบ ‘ประชานิยม’ เพื่อเป็นการเอาใจและสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนไม่มากก็น้อย ซึ่งแน่ละว่า แม้กระทั่งผู้นำที่มีภาพลักษณ์เป็น ‘จอมเผด็จการ’ ของไทย อย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคยมีนโยบายที่มีลักษณะแบบประชานิยมกับเขาบ้างเหมือนกัน



เรื่อง: อิทธิเดช พระเพ็ชร

ภาพ: แฟ้มภาพ Getty Images

เชิงอรรถ:

[1] ดูตัวอย่างข่าวเรื่องนี้ใน ‘นิตยสาร ‘ไทม์’ เปรียบ ‘ประยุทธ์’ เป็น ‘สฤษดิ์น้อย’,’ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 23 มิถุนายน 2561, https://www.Prachachat.net/politics/news-179131 . ; ‘‘ไทม์’ เปรียบ ประยุทธ์ เป็น ‘สฤษดิ์น้อย’ เปลือยใจ ‘ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนายก’,’ ข่าวสดออนไลน์, 22 มิถุนายน 2561.

[2] ผู้เขียนตระหนักดีว่า การยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ตามทฤษฎีคำนิยามทางรัฐศาสตร์ เป็นเพียงการรัฐประหารไม่ใช่การปฏิวัติ กระนั้น ที่บทความนี้ใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ เพราะเป็นคำที่จอมพลสฤษดิ์ตั้งใจใช้ และการเลือกใช้คำ ‘ปฏิวัติ’ ของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเชื่อว่ามาจากอิทธิพลของ หลวงวิจิตรวาทการ นั้น มีนัยมากกว่าการจะประเมินว่าเป็นการใช้คำผิดหรือถูกความหมายตามที่เข้าใจกันในปัจจุบัน เพราะคำว่า ‘ปฏิวัติ’ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ถูกใช้อย่างมีนัยสำคัญในฐานะวาทศิลป์ (rhetoric) กล่าวคือ เป็นกลวิธีการใช้คำเพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและสร้างความรู้สึกทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิเสธต่อระบบการเมืองและวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบตะวันตก และมุ่งหมายที่จะสร้างระบบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ขึ้นมา

[3] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, ‘ประติมากรรมน้ำแข็ง : จาก ‘ขวัญใจ’ สู่ ‘ตัวร้าย’ ภาพลักษณ์ทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ’, ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน, 2564), 61 – 79.

[4] ดู ‘ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4,’ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 81 (20 ตุลาคม 2501).

[5] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, ‘ ‘ยิงเป้า’ มาตรา 17 : หนังสือพิมพ์ไทยกับการกลายเป็นลิงของผู้อ่านในวัฒนธรรมเชือดไก่ให้ลิงดู’, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน, 2562), 160 – 162.

[6] ลิลลี่ คู, ‘จอมพล สฤษดิ์ คนโปรดของป๋า กับนโยบาย บ้านไหนต้นเพลิง บ้านนั้นโดนยิงเป้า’, วันที่ 16 มีนาคม 2561, https://thestandard.co/sarit-thanarat-fire-policy/.

[7] ดูเพิ่มเติมใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552), 227-228.

[8] จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, ‘คำปราศรัยในวันชาติ 24 มิถุนายน 2502’, ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2502-2504, คณะรัฐมนตรีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พระนคร, สำนักนายกรัฐมนตรี, 2506), 19.

[9] เรื่องเดียวกัน, 20.

[10] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552), 228.