28 พ.ย. 2566 | 11:36 น.
“เพื่อให้สามารถรับใช้ปิตุภูมิได้ดียิ่งขึ้น โบนาปาร์ต ต้องยินยอมรับตำแหน่งกษัตริย์แห่งการปฏิวัติ”
คือข้อความบนใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลฝรั่งเศสในปี 1803
‘กษัตริย์แห่งการปฏิวัติ’ คืออะไร ช่างน่าฉงนในสายตาคนปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เริ่มต้นด้วยการถล่มคุกบัสตีย์ในปี 1789 จนนำไปสู่การตัดคอพระเจ้าหลุยส์ในปี 1793 คือการล้มล้างระบอบกษัตริย์หรอกหรือ
นโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นอะไรกับการปฏิวัติฝรั่งเศส คำถามนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงใหญ่สุดข้อหนึ่งในหมู่นักประวัติศาสตร์
นโปเลียนเกิดบนเกาะคอร์ซิกา ในปี ค.ศ. 1769 เกาะแห่งนี้มีความสัมพันธ์ลุ่ม ๆ ดอน ๆ กับแผ่นดินอิตาลี นโปเลียน วัยหนุ่มมองว่า ตัวเองเป็นชาวคอร์ซิกัน มากกว่าชาวอิตาลี วีรบุรุษของเขาคือขบวนการกู้ชาติที่พยายามปลดปล่อยเกาะให้เป็นอิสระจากแผ่นดินใหญ่ อิตาลี ในเวลาต่อมา ยกคอร์ซิกาให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส
พ่อของนโปเลียนรู้ว่าสายลมพัดไปทางไหน เขาสวามิภักดิ์เจ้านายใหม่ เพื่อแลกตำแหน่งขุนนาง และด้วยเหตุนี้ลูก ๆ ของเขาจึงได้เข้าเรียนโรงเรียนการทหารในกรุงปารีส และนี่คือจุดเริ่มต้นที่พี่น้องโบนาปาร์ต ค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาในกองทัพฝรั่งเศส
ด้านหนึ่ง นโปเลียนคือนักฉวยโอกาสที่ทำให้การปฏิวัติสูญเปล่า คือผู้ล้มล้างประชาธิปไตย และนำระบอบกษัตริย์คืนสู่สาธารณรัฐ ในการรัฐประหารวันที่ 18 บรูว์แมร์ 1799 (ตามปฏิทินใหม่ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน)
ลูเชียน โบนาปาร์ต น้องชายของนโปเลียน ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสมาชิกที่เมืองนักบุญคลาวด์ เมืองชนบท อยู่ห่างจากปารีสสิบกิโลเมตร พี่น้องโบนาปาร์ต อาจกำลังคาดหวังว่า เมื่ออยู่ห่างไกลมวลชนและถูกรายล้อมด้วยค่ายทหาร เหล่าผู้แทนราษฎรจะโอนถ่ายอำนาจมาให้อย่างง่ายดายขึ้น
แต่สองพี่น้องคาดผิด ผู้แทนราษฎรมองออกว่า ข้อเสนอยกเลิกระบบรัฐสภา และให้ทั้งประเทศอยู่ภายใต้กงสุลสามคนที่มีอำนาจเท่า ๆ กัน (นโปเลียนเป็นหนึ่งในนั้น) คือบันไดขั้นแรกสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือสิ่งที่จะทำให้ช่วงเวลาสิบปี และเลือดมากมายที่หลั่งไหลไร้ความหมาย พวกเขาต้านทานจนถึงที่สุด นโปเลียน ไม่กล้าออกตัวแรง ทำได้เพียงละลักละล่ำว่า “เทพแห่งสงครามและชัยชนะอยู่เคียงข้างข้า”
ก่อนเดินออกไปจากห้อง ลูเชียน ชูมีดเล่มหนึ่ง สัญญาว่า ถ้านโปเลียน กลายเป็นทรราชเมื่อไหร่ เขาจะสังหารพี่ชายตัวเอง ทหารที่จงรักภักดีเข้ามาในห้องประชุม แล้วพาตัวสมาชิกฝ่ายตรงข้ามออกไปนอกห้อง โยคิม มูราต์ น้องเขยของนโปเลียน ประกาศว่า “ประชาชนเอ๋ย! พวกท่านหมดหน้าที่แล้ว” พอในที่ประชุมเหลือเพียงนักการเมืองที่สองพี่น้องตระเตรียมไว้ การลงคะแนนเสียงเริ่มต้นขึ้น และประสบความสำเร็จสมดังตั้งใจ
สองปีหลังจากนั้น สิ่งที่เหล่าผู้แทนหวาดกลัวได้เกิดขึ้น นโปเลียนประกาศยุบกงสุลสามคน ให้เหลือเพียงเขาคนเดียว ครองอำนาจสูงสุดตลอดชีวิต และมีสิทธิแต่งตั้งรัชทายาทสืบทอดตำแหน่ง อย่างน้อยในทางทฤษฎี สมบูรณาญาสิทธิราชย์คืนสู่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว
แต่ถ้าถามชาวบ้านทั่วไปว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง พวกเขาอาจไม่รู้สึกผิดหวังหรือแตกต่างเลยก็ได้ การรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ คือการรัฐประหารครั้งที่สี่ในรอบสองปี ป่านนั้น คนฝรั่งเศสก็เริ่มคุ้นชินกับการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญทุก ๆ หกเดือนแล้ว
สิ่งใหม่จริง ๆ ที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน คือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง มิหนำซ้ำ มันยังคือเสถียรภาพที่ตั้งอยู่บนหลักการบางข้อของการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย นี่อาจเป็นสิ่งที่คนปัจจุบันมองต่างจากคนในอดีต
นโปเลียนคือผลิตผลของการปฏิวัติฝรั่งเศส “ข้าพเจ้าคือการปฏิวัติฝรั่งเศส และข้าพเจ้าจะสนับสนุนมัน” คือคำกล่าวของจักรพรรดิในปี 1804 แน่นอนในทางหนึ่ง มันคือคำพูดโฆษณาชวนเชื่อ โอ้อวดตัวเอง และซื้อใจประชาชน แต่ในอีกทางหนึ่ง แม้แต่ศัตรูของนโปเลียน กษัตริย์ และราชวงศ์ทั่วยุโรปเกรงกลัวเขา ไม่ใช่เพราะเขาคือขุนศึกผู้เก่งกล้า แต่เพราะเขาชื่อสัญลักษณ์ของการปฏิวัติอันน่าชิงชังที่ทำลายระบอบกษัตริย์
ความสำเร็จทางทหารของนโปเลียนมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสจริง ๆ การปฏิวัติทำให้เกิดสงครามรูปแบบใหม่ ในอดีต สงครามคือการละเล่นราคาแพงระหว่างผู้มีอำนาจที่จ่ายด้วยภาษี งบประมาณ เลือดและเนื้อของประชาชน ประชาชนสามารถเลือกจะหวาดกลัว พยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามก็ได้ หรือเลือกจะมองการสู้รบเป็นโอกาส ปล้นชิงฉกฉวยก็ได้
ภายหลังการปฏิวัติ ฝรั่งเศสกลายเป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งออสเตรีย ประเทศบ้านเกิดของราชินีมาเรีย อองโตเนต ผู้ถูกสังหารไปพร้อมกับพระเจ้าหลุยส์ สงครามระหว่างสองประเทศกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
กองทัพออสเตรีย มองสงครามเป็นเรื่องเกียรติยศ รบเพื่อแก้แค้นให้เจ้าหญิง ประชาชนจะรู้สึกร่วมหรือไม่รู้สึกร่วมก็ได้ แต่สำหรับชาวฝรั่งเศส สงครามหมายถึงความอยู่รอดของพวกเขา พลเมืองทุกคนในดินแดนกลายมาเป็นทรัพยากรทางการทหาร ผู้ชายพร้อมจับอาวุธ ผู้หญิงพร้อมเย็บปักถักร้อยเครื่องแบบ เด็ก ๆ มีหน้าที่ทำความสะอาดค่าย แม้แต่คนชรายังคอยพูดจาปลุกใจ ประชาชนไร้ประสบการณ์ลุกขึ้นมาจับอาวุธ อาจดูเป็นเรื่องน่าหัวร่อสำหรับขุนนางในศตวรรษที่ 18 แต่สำหรับนายพลผู้หลักแหลม พวกเขาสามารถเปลี่ยนคนเหล่านี้เป็นอาวุธได้
และนโปเลียนคือตัวอย่างนายพลที่ว่า สงครามใหญ่ครั้งแรกของเขาคือการคุมกำลังทหารบุกเข้าไปในอิตาลีตอนเหนือ ดินแดนอาณานิคมของออสเตรีย ในปี 1796 เขาพยายามทำให้พลทหารเชื่อว่า พวกเขาอยู่ฝั่งเดียวกัน เพิ่มเงินเดือน เพิ่มเสบียงอาหาร เนื้อ ขนมปัง และบรั่นดี
เขาเรียกทหารชั้นผู้น้อยว่า ‘พี่น้องร่วมศึก’ อนุญาตให้คนอื่นใช้สรรพนาม ‘tu’ เรียกตัวเขา รวมไปถึงฉายา ‘ผู้พันจิ๋ว’ (นโปเลียนสูงประมาณเมตรเจ็ดสิบ ถือว่าสูงกว่าผู้ชายฝรั่งเศสโดยเฉลี่ยในยุคนั้น) เขาปราศรัยว่า
“ข้าพเจ้าไม่รู้จะแสดงความรู้สึกที่มีต่อพวกท่านทุกคนได้อย่างไร นอกจากข้าพเจ้าจดจำความรักที่พวกท่านแสดงออกต่อหน้าข้าพเจ้าทุกวัน…ปิตุภูมิกำลังคาดหวังบางสิ่งยิ่งใหญ่…เมื่อไหร่ที่พวกท่านได้กลับบ้านเกิด ขอให้กล่าวต่อลูกหลานอย่างภาคภูมิใจว่า ท่านอยู่ในกองทัพที่พิชิตอิตาลีได้”
สิ่งสำคัญพอ ๆ กับการยอยศทหาร คือการสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน นโปเลียนพาจิตรกรเข้ามาร่วมกองทัพ และเฉพาะสงครามอิตาลีรอบนี้รอบเดียว มีภาพวาดยอดขุนศึกอย่างน้อยสามสิบเจ็ดภาพได้ หนึ่งในนั้นคือภาพนโปเลียสะบัดธงฝรั่งเศส
นโปเลียนบุกเข้าไปในอิตาลีอีกครั้งในปี 1800 และหนนี้เองที่ศิลปินวาดภาพอันโด่งดังที่สุดของเขา ภาพนโปเลียนบนหลังม้าขาว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระหว่างช่วงปี 1800 ถึง 1804 ระบบเผด็จการของนโปเลียนไม่ได้เลวร้ายไปเสียทุกด้าน มรดกการปฏิวัติที่เขาสืบทอดมาคือ การเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิพิเศษของคนชั้นสูง ต่อความเฉื่อยชาไร้ประสิทธิภาพในนามของประเพณี ใครอยากได้ตำแหน่งในรัฐบาลก็ต้องพิสูจน์ด้วยความสามารถ (แม้ว่าในทางปฏิบัติ ชนชั้นสูงจะได้เปรียบ และเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการพัฒนาตัวเองมากกว่าก็ตาม)
เขายกเลิกอภิสิทธิไม่ต้องจ่ายภาษีของชนชั้นสูง และกำหนดให้ลูก ๆ ทุกคน มีสิทธิเข้าถึงมรดกของบิดามารดาได้อย่างทัดเทียมกัน ฝรั่งเศสของนโปเลียนไม่มีค่ายกักกัน และอย่างน้อยตลอดช่วงสี่ปี แทบไม่มีใครถูกลงโทษหนัก ๆ ถึงชีวิต เพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำ (ถึงแม้หนังสือพิมพ์กว่าร้อยฉบับจะถูกปิดเหลือแค่สิบกว่าฉบับก็ตาม) นโปเลียน ยังประสบความสำเร็จในการสร้างธนาคารกลางแห่งชาติช่วยพยุงค่าเงินได้อีกด้วย
ฝรั่งเศสของนโปเลียนยังห่างไกลจากดินแดนแห่งสิทธิ เสรีภาพ ที่สำคัญ เจ้าตัวรู้ว่าความนิยมมาจากชัยชนะในสงคราม ถ้าอยากรักษาอำนาจ ก็ต้องรบให้ชนะมากยิ่งขึ้น นี่เองคือสาเหตุที่ในปี 1803 เขาพยายามยกระดับตำแหน่งตัวเองจากกงสุลหนึ่งเดียว มาเป็น “กษัตริย์แห่งการปฏิวัติ’
นี่คือโหมโรงสู่สงครามที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งของทวีปยุโรป อีกเก้าปีหลังจากนี้ ในปี 1812 เขาจะเริ่มต้นยกกองทัพบุกประเทศรัสเซีย ประสบความพ่ายแพ้ครั้งมโหฬาร ถูกเนรเทศไปเกาะเอลบา หนีออกมาได้สำเร็จ และพ่ายแพ้อย่างใหญ่หลวงกว่าเดิมในสมรภูมิวอร์เตอลู ปี 1815
และนั่นเองคือจุดสิ้นสุดของ ‘กษัตริย์แห่งการปฏิวัติ’
เรื่อง: ภาณุ ตรัยเวช
ภาพ: ภาพเขียนนโปเลียน