28 พ.ย. 2566 | 20:22 น.
- หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีไทยลำดับที่ 8 ซึ่งเป็นนายกฯ เพียงหนึ่งเดียวของไทยที่เป็น นายทหารเรือ
- ด้วยลักษณะที่ถูกมองว่าเป็นคนเปี่ยมไปด้วยวาทศิลป์ ทำให้ได้รับฉายาว่า ‘นายกฯ ลิ้นทอง’ หรือบ้างก็ว่า ‘สาลิกาลิ้นทอง’
- หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 วันก่อการมีหน้าที่ ตรวจและสังเกตการณ์ตามสถานีตำรวจ และกองพันทหาร...และได้ไปตามบ้านบุคคลที่สำคัญต่าง ๆ
พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นามสกุลเดิม ธารีสวัสดิ์ ชาตะเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 ตำบลรอบกรุง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายอู๋ มารดาชื่อนางเงิน พี่น้อง 5 คน ครอบครัวประกอบอาชีพพ่อค้า ปฐมวัยศึกษาจากโรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดแล้วจึงเข้าพระนครมาเรียนต่อแผนกคุรุศาสตร์แห่งจุฬาลงกรมหาวิทยาลัยและโรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาสจนจบชั้นมัธยม ได้ฝึกหัดเป็นครู แต่ไม่ถูกอัธยาศัยจึงสมัครสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนนายเรือพรรคนาวินเมื่อ พ.ศ.2463
ระหว่างเรียนสามารถสอบไล่ได้ที่ 1 ทุกครั้ง รับยศเป็นนายเรือตรีเมื่อ พ.ศ.2466 เรือโทเมื่อ พ.ศ.2469 และเรือเอกเมื่อ พ.ศ.2472 ระหว่างนี้ได้ติดตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อเสด็จประพาสประเทศชวา โดยเรือรบหลวงพระร่วงระหว่างวันที่ 25 ก.ค.-15 ต.ค.2472 แล้วเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จกลับจากการเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาที่เกาะสีชัง เมื่อ พ.ศ.2474
ปีเดียวกันนี้ได้เป็นนายธง (ทหารคนสนิท) ของเสนาธิการทหารเรือ พลเรือเอกพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ระหว่างนี้มีความสนิทสนมกับน้องชายผู้บังคับบัญชาท่านนี้ คือ ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) นักเรียนนายเรือทุนจบจากประเทศเดนมาร์ก ทั้งคู่ร่วมชักชวนกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
โดยท่านแรกมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายทหารเรือ นอกเหนือจากกลุ่มทหารเรือ ระหว่างรับราชการทหารเรือ ร.อ.ถวัลย์ ยังหาเวลาไปศึกษากฎหมายจนสอบได้เนติบัณฑิต จึงได้ทำความรู้จักกับลูกศิษย์คนสำคัญของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่เข้าร่วมก่อการอีกจำนวนหนึ่ง เช่น นายดิเรก ชัยนาม นายสงวน ตุลารักษ์ และนายซิม วีระไวทยะ
นายเรือเอกถวัลย์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์’ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2475 ถึงแม้ว่าต่อมาจะกราบถวายบังคมลาออกจาบรรดาศักดิ์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2484 อย่างไรด็ตาม ผู้คนยังคุ้นเคยกับการเรียกชื่อ ‘หลวงธำรงฯ’ เสมอ ชีวประวัติชิ้นนี้จึงขอใช้ฉายานี้ตลอดการนำเสนอ
หน้าที่ของหลวงธำรงฯ เมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คือ ‘ตรวจและสังเกตการณ์ตามสถานีตำรวจ และกองพันทหาร...และได้ไปตามบ้านบุคคลที่สำคัญต่างๆ’ โดยเฉพาะได้ร่วมกับขบวนของพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) หนึ่งใน 4 ทหารเสือคณะราษฎรในการนำกำลังพลเข้าควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่วังบางขุนพรหม
ครั้นสามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสำเร็จ หลวงธำรงฯ ได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จนกระทั่งเมื่อเกิดการรัฐประหารซ้ำในปีถัดมาเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ด้วยความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมาย จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งควบหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2476 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่บทบาทด้านการเมืองมากกว่ากองทัพเรือนับจากนั้น
และด้วยสถานะนี้เอง หลวงธำรงฯ จึงได้รับมอบหมายให้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะตัวแทนรัฐบาล นำโดย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ และนายดิเรก ชัยนาม เดินทางไปเจรจาเรื่องการสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7 เมื่อปลายปี พ.ศ.2477 ที่ประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นผู้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระองค์เจ้ามหิดลที่สวิสเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2478 ทูลเชิญเจ้าชายองค์น้อยเพื่อทรงรับเป็นยุวกษัตริย์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที 8 นับจากนั้น หลวงธำรงฯ ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ และได้ดูแลจัดการเลือกตั้งถึงสองครั้ง เมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 และ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481
เมื่อหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.) ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปลายปี พ.ศ.2481 หลวงธำรงฯ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตลอดสมัย ‘สร้างชาติ’ นี้ ระหว่าง พ.ศ.2481-พ.ศ.2487 ผลงานสำคัญระหว่างนี้คือ เมื่อ พ.ศ.2482 จัดสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีการิมท้องสนามหลวง แสดงถึงความเป็นเอกราชจากสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีกับต่างประเทศ (ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว) ต่อมา พ.ศ.2483 ออกพระราชบัญญัติบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นตัวแทนของประเทศไทยเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 วาระนี้หลวงธำรงฯ รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากตัวแทนรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย รวมทั้งกิ่งพระศรีมหาโพธิ์เพื่อนำกลับมาประดิษฐานยังวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน (เดิมตั้งใจจะใช้ชื่อวัดประชาธิปไตย) ครั้นเมื่อไทยเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา หลวงธำรงฯ ได้ร่วมเดินทางกับคณะ พ.อ.พระยาพหลฯ ไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2485
ล่วงถึงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2487 หลวงธำรงฯ ยุติบทบาทรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมภายหลัง จอมพล ป. จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการพ่ายแพ้การโหวตกฎหมายสำคัญสองฉบับ ระหว่างนี้หลวงธำรงฯ ถึงแม้จะไปประกอบธุรกิจส่วนตัวทางภาคใต้ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2
ครั้นเมื่อสงครามโลกยุติลงในปีถัดมาเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 เป็นระยะเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยที่สลับผลัดเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลากหลายท่าน นับแต่การลงจากอำนาจของนายควง อภัยวงศ์ คั่นด้วยนายกรัฐมนตรี 17 วันคือนายทวี บุณยเกตุ เพื่อรอให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับจากสหรัฐมาเป็นผู้นำประเทศร่วมเจรจาต่อรองกับสัมพันธมิตร จนเมื่อหมดวาระ-นายควง อภัยวงศ์ ก็หวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคำรบสองจากการเลือกตั้ง ก่อนจะถูกบริวารของปรีดีโค่นลงกลางสภา แล้วจึงตามติดด้วยนายปรีดีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2489
ระยะนี้ระบบการแข่งขันพรรคการเมืองเริ่มตั้งตัว เมื่อนักการเมืองแนวร่วมอาจารย์ปรีดีก่อตั้งพรรค ‘สหชีพ’ ที่มีนายเดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค มีฐานสมาชิกเป็นอดีตเสรีไทยและ สส.สายอีสาน กับพรรค ‘แนวรัฐธรรมนูญ’ ที่มีหลวงธำรงฯ เป็นหัวหน้าพรรค มีฐานสมาชิกเป็นเหล่าผู้ก่อการ 2475 ขณะที่นายควง ต้องลงจากตำแหน่งนายกด้วยความบาดหมางกับนายปรีดี จึงได้หันมาจับมือกับกลุ่มอนุรักษนิยมนำโดยสองพี่น้องตระกูลปราโมช คือ ม.ร.ว.เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นคานอำนาจ
เพียง 2 เดือนหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของปรีดี เมื่อมีนาคม พ.ศ.2489 ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม หลักการใหญ่คือการยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 แบบแต่งตั้งให้เหลือเพียงประเภท 1 คือเลือกตั้งทั้งหมด และเพิ่มพฤฒสภา แต่เป็นที่น่าสลดใจว่า ถัดมาอีกหนึ่งเดือนได้เกิดกรณีสวรรคตขึ้นเมื่อ 9 มิถุนายน ศกเดียวกันนี้ วิกฤติการณ์นี้สั่นคลอนสถานภาพรัฐบาลอย่างยิ่งยวด ผนวกซ้ำกับอีกสารพัดปัญหาหลังสงคราม ระหว่างใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ทั้งนายปรีดีและหลวงธำรงฯ ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น สส.ที่จังหวัดอยุธยาบ้านเกิดของทั้งคู่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ทั้งคู่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2489
อย่างไรก็ดี ในเดือนเดียวกันนี้ นายปรีดี ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า
“การลาออกครั้งนี้เป็นด้วยเส้นประสาทไม่ดี การสนองคุณชาติก็ทำมาด้วยดีแล้ว แต่อย่างนี้ต้อง strain (เครียด) ประสาทอย่างเต็มที่ ใครเขาประสาทแข็งก็เชิญ สำหรับผมเกินทน...ผมยอมทุกอย่างแต่ไปไม่ไหว intrigue (ปัดแข้งปัดขา) มาแต่เช้ายันเย็น...เมื่อเป็นรัฐบุรุษอาวุโสก็ถูกหนังสือพิมพ์ด่าไม่น้อย ไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นการทำลายกันลงท้ายถึงขั้นปั้นเรื่องกันขึ้น”
ต่อมา รัฐสภามีมติเลือกหลวงธำรงฯ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2489 อีกทั้งยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สาเหตุสำคัญที่หลวงธำรงฯ ได้รับความไว้วางใจ เพราะด้วยบุคลิกภาพการเป็นนักประสาน นักเจรจาที่เข้าได้กับทุกฝ่าย นอกเหนือจากเป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นคือ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ สิ่งที่หลวงธำรงฯ เหนือกว่านายเดือนหัวหน้าพรรคสหชีพ คือ การเป็นผู้ร่วมก่อการ 2475 ในสายตาของผู้คนยามนั้นล้วนประเมินว่ารัฐนาวาของหลวงธำรงฯ มีปรีดีชักใบเรืออยู่เบื้องหลัง หรือหากจะนิยามด้วยถ้อยคำสมัยใหม่ก็คือ ‘นายกนอมินี’
ปัญหาหลักที่รุมเร้ารัฐบาลหลวงธำรงฯ คือ ภาวะเศรษฐกิจหลังสงคราม เงินเฟ้อ ข้าวของแพง โจรผู้ร้ายชุกชุมจากการเข้าถึงอาวุธตกค้างหลังสงคราม การจัดการกับกองทัพหลังสงครามที่ถูกมองว่าไม่ใยดีกับเหล่าทหารผ่านศึก และที่สำคัญยิ่งคือความคลุมเครือคดีสวรรคต ในแง่ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ถึงแม้รัฐบาลไทยต้องคืนดินแดนสี่จังหวัดให้กับฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2489 แต่ก็สามารถแลกมาด้วยการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2489 และกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสและรัสเซียได้เป็นผลสำเร็จ
รัฐบาลหลวงธำรงฯ พยายามสร้างการสื่อสารที่ดีกับประชาชนผ่าน ‘เพรสคอนเฟอร์เรนซ์’ (การแถลงต่อสื่อ – Press Conference) ยกเลิกระบบเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ สร้างควางจริงใจโปร่งใสด้วยการถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อเนื่อง 8 วัน 8 คืน ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม พ.ศ.2490
ทว่าทั้งหมดทั้งมวลยังไม่สามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของรัฐบาลหลวงธำรงฯ ซ้ำร้ายเมื่อเริ่มมีข่าวหนาหูว่าจะเกิดการรัฐประหาร หลวงธำรงฯ กลับแสดงความท้าทายด้วยประโยคที่ว่า “ผมนอนรอปฏิวัติที่บ้านทั้งวันอาทิตย์ ไม่ยักกะปฏิวัติ” เนื่องด้วยความมั่นใจในฐานกำลังทหารและตำรวจที่ค้ำจุนโดย พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส (หลวงอดุลเดชจรัส) และ พลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ (หลวงสังวรยุทธกิจ)
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดจุดจบของรัฐบาลหลวงธำรงฯ ก็มาถึงในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ด้วยการรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ คณะรัฐประหารนำกำลังเข้าจับกุมปรีดี ที่ทำเนียบท่าช้าง แต่ปรีดีสามารถลงเรือหลบหนีไปได้อย่างฉิวเฉียด เช่นเดียวกับหลวงธำรงฯ ที่ค่ำคืนนั้นยังอยู่ในงานรื่นเริง ณ สวนอำพร แต่เมื่อมีคนเขียนข้อความ ‘ปฏิวัติแล้ว’ บนนามบัตรยื่นให้ หลวงธำรงฯ จึงรีบปลีกตัวออกมาได้ทัน
หลังจากนั้น ทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้งที่กองบัญชาการทหารเรือที่วังเดิมฝั่งธนบุรี และโยกย้ายไปพักอาศัยอยู่ย่านชลบุรี-สัตหีบ ภายใต้การอารักขาของกองกำลังนาวิกโยธิน ต่อจากนั้นไม่นาน ปรีดีได้หลบหนีออกนอกประเทศไปยังประเทศจีนก่อน ส่วนหลวงธำรงฯ ยังคงกบดานอาศัยอยู่ภายในประเทศ กระทั่งในปีถัดมา เมื่อเกิดกรณีขบถเสนาธิการ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 ลามไปถึงต้นปีถัดมาเมื่อนายปรีดี พยายามกลับมาชิงอำนาจแต่พ่ายแพ้จนถูกเรียกว่ากบฏวังหลวง 26 มิถุนายน พ.ศ.2492 ระยะนี้เองหลวงธำรงฯ บันทึกไว้ว่า
“ข้าพเจ้าได้เดินทางไปพักผ่อนยังประเทศจีนผืนแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทยในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี...”
ในที่สุดเมื่อบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2492 หลวงธำรงฯ ได้โดยสารเครื่องบินกลับจากฮ่องกงมาลงที่สนามบินดอนเมือง หลวงธำรงฯ ถูกกักตัวสอบสวนที่วังปารุสกวันจนพ้นทุกข้อกล่าวหาในเดือนถัดมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน การเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของหลวงธำรงฯ นับว่าสวนทางกับปรีดี เพราะในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492 นั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ไปปรากฎกาย ณ เทียนอันเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการเฉลิมฉลองชัยชนะของรัฐบาลเหมาเจ๋อตง
หนึ่งปีหลังกลับเข้าประเทศที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงฯ ได้รับตำแหน่งวุฒิสมาชิกสั้นๆ ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2493-29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 กระทั่งจอมพล ป. พ้นอำนาจไปด้วยรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลวงธำรงฯ ได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานถึง 10 ปีในยุคเผด็จการทหาร สฤษดิ์-ถนอม-ประภาศ ระหว่างปี พ.ศ.2502-2511
เมื่อไล่เรียงอายุขัยของ 6 นายกรัฐมนตรีสมาชิกคณะราษฎร หลวงธำรงฯ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีชีวิตยืนยาวที่สุด ท่านเป็นคนไม่พูดมาก ก่อนหน้าวันที่ครบรอบงานระลึก 50 ปี ประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2525 มีคนไปขอให้พูดถึงเรื่องอดีตสมัยยังเรืองอำนาจ ท่านตอบว่า “อย่าเลย อย่าให้ผมพูด ให้ไปแล้วมันไม่สบายใจ” กระนั้นเมื่อถึงวันที่เพื่อนสมาชิกผู้ก่อการ 2475 อำลาจากโลกไปก่อนท่าน มักจะพบบันทึกคำไว้อาลัยจากหลวงธำรงฯ ภายในอนุสรณ์งานศพแทบจะทุกเล่ม
ในวันที่อัฐิท่านรัฐบุรุษอาวุโส ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถูกอัญเชิญกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2529 หลวงพ่อปัญญานันทะได้เล่าไว้ว่า
“เมื่อเวลาสัก 6 โมง 50 นาที ประชาชนผู้เคารพคิดถึงในความงาม ความดีของท่าน ก็ได้ไปต้อนรับกันอย่างแข็งแรง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่อายุตั้งแต่ 85-86 ก็อุตส่าห์ถ่อร่างมายืนรับกับเขาด้วย
คุณหลวงธำรงฯ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) เดินไม่ถนัด เข้ามาพอดี อาตมาเดินออกไปเห็นเข้าว่า โอ...คุณหลวงอุตส่าห์มา (คุณหลวงบอกว่า) ผมต้องมา เพราะว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กันมานาน อาตมาได้บอกว่ามีที่นั่ง ให้คุณหลวงนั่ง (คุณหลวงบอกว่า) ไม่ต้อง ผมยืน ท่านได้ยืนต้อนรับอยู่ จนกระทั่งอัฐิธาตุออกมาขึ้นรถ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดประดับประดาดอกไม้อย่างสวยงามเรียบร้อย”
ถัดจากนั้นอีก 2 ปีเศษ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 สิริอายุได้ 87 ปี
เรื่อง: นริศ จรัสจรรยาวงศ์
บรรณานุกรม:
สิริ เปรมจิตต์, ชีวิตและงาน ของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 25 มีนาคม พ.ศ.2532, (ธรรมสาร).
ส.เสือ (นามแฝง), เขาเปิดอภิปรายทั่วไปมาตั้งแต่สมัยนายก...ลิ้นทอง, ไทในสัปดาห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 65 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2500, น.20-21 และ น.37-38.
แหลมสน (นามแฝง), ธำรงหนี, พ.ศ.2492, (สำนักพิมพ์พนม).
สงบ สุริยินทร์, ประวัตินายกรัฐมนตรี, พ.ศ.2514, (ประจักษ์การพิมพ์).
บุณฑริกา บูรณะบุตร, บทบาททางการเมืองของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ.2475-2490) วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2534.
สละ ลิขิตกุล, ในหลวงอานนันท์, พ.ศ.2493, (โรงพิมพ์วิบูลกิจ).
สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง, พ.ศ.2529,(โรงพิมพ์อักษรสาส์น).