ต้นกำเนิดเกม Tetris และการเดินทางจากสหภาพโซเวียต ถึงมือชาวโลก

ต้นกำเนิดเกม Tetris และการเดินทางจากสหภาพโซเวียต ถึงมือชาวโลก

เรื่องราวของ ‘อเล็กซี ปาจิตนอฟ’ บิดาผู้ให้กำเนิด Tetris และ ‘เฮงก์ โรเจอร์ส’ พนักงานขายวิดีโอเกม ผู้แนะนำ Tetris ให้โลกรู้จัก

จากข่าวที่ ‘วิลลิส กิ๊บสัน’ มนุษย์คนแรก สามารถเอาชนะวิดีโอเกม ‘Tetris’ ของ ‘Nintendo’ ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในรอบ 34  นับตั้งแต่ที่เปิดตัวเกมนี้มา

ผนวกกับมีภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของ ‘เฮงก์ โรเจอร์ส’ ผู้นำเกม Tetris จากสหภาพโซเวียต ออกมาเผยแพร่ให้กับชาวโลก

โดย เฮงก์ โรเจอร์ส ได้พบกับ ‘อเล็กซี ปาจิตนอฟ’ ผู้คิดค้นและสรรค์สร้าง เกม Tetris จนทำให้ Tetris กลายเป็นเกมฮิตของเหล่าเกมเมอร์ และสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ผลิตเกม

ใครจะเชื่อว่า เกมตัวต่อที่ดูเรียบง่าย รูปแบบและกลไกการเล่นไม่ซับซ้อน จะกลายเป็นที่รักของแฟนพันธุ์แท้วิดีโอเกมทั่วไป นับจากวันที่ปรากฏตัว จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

กลไกลการเล่น Tetris

Tetris เป็นเกมฝึกแก้ปัญหาผ่านจัดเรียงบล็อค 4 ชิ้นที่ทยอยหล่นลงมา เพื่อให้จัดเรียงเป็นแถว โดยจะมีการสุ่มบล็อค 7 แบบ โดยผู้เล่นสามารถขยับบล็อคไปทางซ้าย - ขวาได้ และหมุนรอบได้ครั้งละ 90 องศา อย่างอิสระ

Tetris เป็นการฝึก ‘คิดข้ามช็อต’ ผ่านการวางแผน เนื่องจากเราจะเห็นบล็อคที่ร่วงลงมาล่วงหน้า ทำให้เราสามารถคิดวางตำแหน่งให้เรียบร้อย เป้าหมายคือนำบล็อควางให้เต็มพื้นที่แนวนอน แถวที่เต็มจะถูกลบออกไป

โดยจะเล่นเกมไปเรื่อย ๆ ยิ่งต่อบล็อค และลบบล็อคได้มากเท่าไร Level ก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อ Level สูงขึ้น ความเร็วในการหล่นของบล็อคก็จะเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยเกมจะจบลงเมื่อไม่สามารถลบชั้นบล็อคได้ทัน ซึ่งบล็อคจะถมกันจนเต็มถึงด้านบนสุดของขอบจอภาพ

Tetris เป็นเกมยอดนิยมมากที่สุดเกมหนึ่ง สร้างยอดขายถล่มทลายกว่า 35 ล้านตลับ โดยมีการนำมาทำซ้ำหลายครั้งในหลาย Platform ทั้ง PC Console Famicom Game Boy เป็นต้น

อเล็กซี ปาจิตนอฟ บิดาผู้ให้กำเนิด Tetris

อเล็กซี ปาจิตนอฟ วิศวกรคอมพิวเตอร์ในแผนกคอมพิวเตอร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสหภาพโซเวียต

วัยเด็ก เขาหลงใหลเกมต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ทั้งเกมพัซเซิล เกมเทเบิลท็อป หรือบอร์ดเกม ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งบันเทิงไม่กี่อย่างของคนรัสเซีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘Pentomino’ เกมตัวต่อบล็อกไม้แบบเรขาคณิต ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบวิดีโอเกมของ อเล็กซี ปาจิตนอฟ ในเวลาต่อมา

Pentomino ตั้งชื่อตามเกม Pente ของกรีกที่แปลว่า 5 รวมกับคำว่า Domino โดยเกมจะมีบล็อคไม้ 12 ชิ้น เมื่อนับรวมรูปทรง Mirrored ก็จะมีถึง 18 รูปทรง

กฎพื้นฐานของ Pentomino ก็คือ ผู้เล่นต้องทำการเติมเต็มกล่องสี่เหลี่ยมมุมฉาก ด้วยบล็อคไม้ทั้ง 12 ชิ้น ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และวิธีแก้ปัญหาจของผู้เล่นแต่ละคน

อเล็กซี ปาจิตนอฟ ชอบเล่น Pentomino มาก จนนำไปสู่ การลงมือเขียนโปรแกรมเพื่อสร้าง Pentomino เวอร์ชั่นคอมพิวเตอร์บนเครื่อง Mainframe รุ่น Electronika 60 คอมพิวเตอร์สัญชาติรัสเซีย

ด้วยทรัพยากรที่จำกัดของเครื่อง Electronika 60 ทำให้ อเล็กซี ปาจิตนอฟ ต้องปรับลดความซับซ้อนของเกม เพราะสมรรถนะของ Electronika 60 มิอาจรองรับทั้งจำนวน และขนาดบล็อคของ Pentomino

จึงลด Pente หรือ 5 ให้เหลือ 4 จึงกลายเป็น Tetromino ที่มาจากคำว่า Tetra ในภาษากรีกที่แปลว่า 4 กับคำว่า Domino จึงส่งผลให้เหลือชิ้นส่วนบล็อคเพียง 7 ชิ้น จากเดิม 12 ชิ้น

เวอร์ชั่นแรกของ Tetromino เป็นเกมขาว-ดำ เนื่องจาก Electronika 60 ไม่รองรับระบบกราฟิกใด ๆ เลย นอกจากนี้ อเล็กซี ปาจิตนอฟ ยังได้ประยุกต์ใช้ตัวอักษร และสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์มาประกอบเป็นกราฟิคแทนบล็อค Tetromino 

จาก Tetromino เวอร์ชั่นแรก อเล็กซี ปาจิตนอฟ ก้าวสู่การสรรค์สร้าง Tetris ที่เป็นการรวมของสองคำ ระหว่างคำว่า Tetra ในภาษากรีกที่แปลว่า 4 กับ Tennis กีฬาที่เขาโปรดปราน 

จาก Electronika 60 มีการแปลง Tetris ให้เล่นใน IBM Personal Computer ได้ ด้วยฝีมือของ ‘วาดิม เจราซิมอฟ’ เด็กฝึกงานวัย 16 ปี ซึ่งในปัจจุบันเขาเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ Google

อันที่จริงเรื่องราวของ Tetris ควรจะจบที่สหภาพโซเวียต เพราะทางการไม่อนุญาตให้มีการส่งสิ่งใดออกนอกประเทศอย่างเด็ดขาด และวิดีโอเกม Tetris ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ถ้าไม่ได้ เฮงก์ โรเจอร์ส จอมแสบ ถึงวันนี้โลกคงไม่มีใครรู้จัก Tetris อย่างแน่นอน

เฮงก์ โรเจอร์ส พนักงานขายวิดีโอเกม ผู้แนะนำ Tetris ให้โลกรู้จัก

เฮงก์ โรเจอร์ส ได้ค้นพบเกม Tetris ในปี ค.ศ. 1988 ที่งานเกมเอ็กซ์โปที่ลาสเวกัส เขารู้สึกทึ่งกับความเรียบง่าย และความคล้ายกับเกมโกะที่เขาเป็นเจ้าของ

เพราะ เฮงก์ โรเจอร์ส เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า เกมที่ดีไม่จำเป็นต้องมีตัวละครมากมาย หรือมีกลไกลึกลับซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tetris ที่มีความเป็น ‘เรขาคณิตบริสุทธิ์’

ทำให้ เมื่อ เฮงก์ โรเจอร์ส ได้พบกับ Tetris เขาก็รู้ทันทีว่า นี่คือเกมที่มีโอกาสตีตลาดโลกได้สูงมาก

Tetris ไม่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมใด ๆ เพราะมันเป็นแค่คณิตศาสตร์ ที่แม้จะเรียบง่าย จากความบริสุทธิ์ของรูปทรงเรขาคณิต ที่สามารถดึงดูดความสนใจของทุกคนไว้ได้อยู่หมัด

เฮงก์ โรเจอร์ส เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1953 ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พ่อของเขาเป็นวิศวกรไฟฟ้าชาวดัตช์ ส่วนคุณแม่เป็นชาวอินโดนีเซีย อาชีพครู

เฮงก์ โรเจอร์ส จึงเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อครอบครัวของเขาย้ายไปนิวยอร์กเมื่อ เฮงก์ โรเจอร์ส อายุเพียง 11 ขวบ ทำให้เขายิ่งได้สัมผัสกับวัฒนธรรม และโลกทัศน์ที่แตกต่างมากยิ่งขึ้นไปอีก

เฮงก์ โรเจอร์ส เข้าเรียนมัธยมปลายที่ Stuyvesant High School ในนิวยอร์ก ยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลาย ทำให้เขาหลงรักคอมพิวเตอร์ในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิดีโอเกม 

เมื่อเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยไมอามี เขากลับพบความผิดหวังบางอย่าง ถึงขั้นลาออกจากมหาวิทยาลัย และออกเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว

การย้ายไปญี่ปุ่นถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของ เฮงก์ โรเจอร์ส เขาปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็ว และตัดสินใจหางานทำในญี่ปุ่นหลังจากเรียนจบ รวมถึงได้สมรสกับคุณอาเคมิ มีลูกด้วยกัน 4 คน 

ในปี ค.ศ. 1982 เฮงก์ โรเจอร์ส ได้ก่อตั้ง Bullet-Proof Software หรือ BPS ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาวิดีโอเกม เป็นเบื้องหลังสำคัญในตลาดวิดีโอเกมของญี่ปุ่น ในฐานะผู้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับธุรกิจวิดีโอเกมที่หลายคนไม่เคยรู้ 

หลังจากออกงานที่ลาสเวกัส เฮงก์ โรเจอร์ส ออกตามหาเจ้าของลิขสิทธิ์ Tetris จนได้พบกับ อเล็กซี ปาจิตนอฟ ทว่า สิทธิ์ในเกมยุคสหภาพโซเวียตไม่ใช่ของบุคคล แต่เป็นของรัฐ เฮงก์ โรเจอร์ส จึงต้องเจรจาโดยตรงกับ Elorg ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหภาพโซเวียตที่รับผิดชอบด้านสิทธิการส่งออกซอฟต์แวร์

การเจรจาผ่านพ้นไปด้วยดี ทำให้ BPS สามารถวางจำหน่าย Tetris บน Nintendo Entertainment System (NES) และ Game Boy ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ Game Boy ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดย Tetris คือเกมที่ขายดีที่สุดตลอดกาล

แต่อุปสรรคสำคัญก็คือ ความอุรุงตุงนังของลิขสิทธิ์ Tetris ที่เปลี่ยนมือไปมา หาข้อยุติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ แต่แม้จะสรุปความได้ ก็ต้องกินเวลานานนับ 10 ปี กว่าที่ลิขสิทธิ์ Tetris จะกลายเป็นของ อเล็กซี ปาจิตนอฟ และเฮงก์ โรเจอร์ส ในที่สุด

โดยในปี ค.ศ. 1991 อเล็กซี ปาจิตนอฟ ย้ายไปตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา ด้วยความช่วยเหลือจาก เฮงก์ โรเจอร์ส พวกเขาร่วมกันก่อตั้งบริษัท Tetris ในปี ค.ศ. 1996 ครอบครองสิทธิ์ใน Tetris และทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  

เปิดตัวไอ้หนุ่มผู้ทำลายสถิติ Tetris

วิลลิส กิ๊บสัน เด็กชายวัย 13 ปีจากรัฐโอคลาโฮมา ประเทศสหรัฐฯ กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถเอาชนะวิดีโอเกม Tetris ของ Nintendo ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปีนับตั้งแต่ที่เปิดตัวเกมนี้เป็นครั้งแรก

วิลลิส กิ๊บสัน ใช้ชื่อในการเล่นเกมว่า Blue Scuti ใช้เวลาเพียง 38 นาทีในการไปถึงระดับ 157 แล้วจากนั้นไปถึงจุดที่เรียกว่า Kill Screen ซึ่งหมายถึง “การสิ้นสุดเกม” คะแนนที่เขาได้คือ 999999

การเอาชนะ Tetris ถือเป็นเรื่องสะเทือนวงการวิดีโอเกมโลกมาก เพราะก่อนหน้านี้ มีความเชื่อกันว่า มีเพียง “ปัญญาประดิษฐ์” ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเท่านั้นที่สามารถเล่นจนถึงระดับ Kill Screen ได้ 

แม้ว่า Tetris จะเป็นเกมที่ไม่มีความซับซ้อน เพียงแค่จัดวางรูปทรงไปตามช่องเพื่อเคลียร์พื้นที่ และรับคะแนนไปเรื่อย ๆ พร้อมกับไม่ทำให้บล็อคทับถมกันจนเต็มหน้าจอ

แต่แม้ว่าจะง่ายเช่นนั้น แต่ Tetris ก็ถูกตั้งปรามาสมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 แล้วว่าไม่มีทางที่ใครจะเอาชนะ Tetris ได้

ทำให้สื่อบางสำนักไม่กล้าลงข่าว ที่ วิลลิส กิ๊บสัน น็อค Tetris ได้จริง โดยพากันใช้ถ้อยคำในเชิงสงวนท่าทีว่า “เชื่อได้ว่า” Tetris เอาชนะ Tetris ได้

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: Getty Images