30 เม.ย. 2565 | 15:00 น.
เพื่อให้ ‘ผู้คน’ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ เพื่อแทนที่ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างชนชั้น เพื่อ ‘พัฒนา’ งอกงามความเป็นอารยะให้เมืองแปลกหน้า ‘อิปโปลิต โรมานอฟ’ วิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวจอร์เจีย* จึงพยายามเค้นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในหัวออกมา เพื่อให้ ‘ช่องว่าง’ ในสังคมรัสเซียแคบลง โดยอาศัยพื้นฐานของวิศวกรรมศาสตร์ ช่วยเร่งกระบวนการนี้ให้ขยับใกล้ความจริงมากขึ้น *บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าเขาคือชาวรัสเซีย เนื่องจากจอร์เจียเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก่อนที่ในช่วงสงครามเย็นจะแยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐจอร์เจียอย่างในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงขอระบุว่าเขาคือชาวจอร์เจีย แทนที่จะเป็นชาวรัสเซีย เนื่องจากเขาเกิดและโตที่จอร์เจีย การประดิษฐ์สิ่งที่เหนือจินตนาการให้กลายเป็นจริงคงเป็นสิ่งที่ใครหลายคนอาจมองว่า ‘บ้า’ ไม่ก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ สิ่งที่เหล่าผู้กล้า กล้าแหวกกรอบที่จำกัดคำว่า ‘บ้า’ ออกมานั้นกำลังงอกเงย และทำให้ชีวิตเพื่อนร่วมโลกก้าวสู่ทิศทางที่ยิ่งกว่าเหนือจินตนาการ อิปโปลิตเองก็เช่นกัน เขาคือ ‘คนบ้า’ แห่งศตวรรษที่ 19 ที่ฐานะสูงศักดิ์ก็ไม่อาจช่วยลบคำจำกัดความนี้ออกไปจากชนชั้นที่เขาดำรงอยู่ การถูกมิตรสหายต่างชาติหัวเราะความคิดแปลกประหลาดที่พรั่งพรูออกมา กลายเป็นเรื่องปกติที่เขามักได้รับกลับมาเสมอ และคนบ้าคนนี้ กำลังสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ชาวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้ง ผ่านการป่าวประกาศ และเร่ออกหาเงินทุนสำหรับโครงการสุดยิ่งใหญ่ นั่นคือการสร้าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนอนาคตการคมนาคมในประเทศรัสเซียไปอย่างสิ้นเชิง รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของรัสเซีย อิปโปลิต วลาดิมีร์โรวิช โรมานอฟ (Ippolit Vladimirovich Romanov) เกิดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1864 เมืองทิฟลิส (ปัจจุบันคือ ทบิลิซี) ประเทศจอร์เจีย ในครอบครัวขุนนางเก่าแก่ แม้ข้อมูลต้นตระกูลของเขาจะเลือนราง จนทำให้ภูมิหลังของชายผู้นี้ไม่ปรากฏชัดในหน้าตำราเรียน แต่สิ่งที่เด่นชัดคือ เขาเป็นชายคนแรกที่บอกชาวรัสเซียว่าจะสร้าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ขึ้นในปี 1899 ขณะที่มีอายุ 35 ปี ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างดุเดือด ยุคของการใช้ความล้ำสมัยอย่างเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต และเริ่มมีความคิดที่จะใช้เครื่องจักรกลเข้ามาทำหน้าที่ในการผลิตแทนมนุษย์ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องที่นักประดิษฐ์หนุ่มคิดว่าเป็นไปไม่ได้แต่อย่างใด เพราะเขาเห็นอีกหลายต่อหลายประเทศที่เจริญแล้ว เช่น จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี สหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ ล้วนมีความพยายามในการสร้าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ขึ้นมาทั้งสิ้น เมื่อมองกลับมาที่รัสเซีย ประเทศที่อนุรักษนิยมขั้นสุด กลับมีข่าวลือแปลก ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้งานเจ็บป่วยและล้มตาย โครงการรถยนต์ไฟฟ้าของเขาจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะข่าวลือที่ทรงพลังกว่าหลักวิทยาศาสตร์ ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจในสิ่งประดิษฐ์ที่เขาทุ่มสุดตัวเพื่อสร้างมันขึ้นมา ความคิดของอิปโปลิตไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่เป็นความคิดที่อยู่ผิดที่ผิดเวลามากกว่า ด้วยความพยายามอย่างสุดกำลังของเขา วันที่ 15 สิงหาคม 1899 ‘Cuckoo’ สิ่งประดิษฐ์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตการเดินทางก็เสร็จสิ้น เขานำรถ 2 แบบ 2 สไตล์ ออกไปทดสอบที่ถนนบริเวณพระราชวังพาฟลอฟส์ ท่ามกลางนักข่าวและประชาชนที่ยืนเบียดเสียดกันแน่นขนัด เพื่อรับชมสิ่งประดิษฐ์ตัวใหม่กันอย่างใจจดใจจ่อ โดยแบบแรกมีลักษณะคล้ายกับรถแท็กซี่อังกฤษ แต่คนขับจะยืนบังคับทิศทางรถอยู่ด้านหลัง ส่วนแบบที่ 2 จะเป็นลักษณะเปิดโล่ง ไม่มีหลังคา เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศของรัสเซียในช่วงหน้าร้อน ทั้ง 2 แบบสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2 ที่นั่ง ขณะที่ตัวรถมีน้ำหนักรวม 750 กิโลกรัม (แบตเตอรี่ 370 กิโลกรัม) รถยนต์ไฟฟ้าของเขา มีความโดดเด่นและแตกต่างจากรถนอกหลายจุด ตั้งแต่การชาร์จ 1 ครั้ง ที่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 60 กิโลเมตรด้วยความเร็วเฉลี่ย 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง และการออกแบบแบตเตอรี่ให้มีขนาดเล็กและบาง เพื่อให้ตัวรถไม่มีน้ำหนักมากจนเกินไป ส่วนวิธีการทำงานภาพรวมทั้งหมด ว่ากันว่าใช้หลักการทำงานเดียวกันกับในรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาในปัจจุบัน กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา รถยนต์ไฟฟ้าของเขาได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้พบเห็น แต่ความแปลกประหลาด พิสดารของเครื่องจักรตัวนี้ กลับทำให้ชาวบ้านหวาดผวา จนนำมาสู่การซุบซิบนินทาว่านี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่จะเข้ามาทำลายชีวิตมากกว่าช่วยพัฒนา อีกทั้งกฎหมายของรัสเซียในช่วงปี 1900 ยังไม่อนุญาตให้ติดตั้งแท่นชาร์จไฟฟ้าไว้ตามบ้านเรือนหรือพื้นที่สาธารณะ เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุอัคคีภัย ด้วยเหตุนี้ อิปโปลิตจึงต้องรื้อโครงการใหม่ เปลี่ยนเป็นโครงการที่จับต้องได้ และช่วยให้ชาวรัสเซียทุกชนชั้น สามารถใช้รถโดยสารสาธารณะร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะทางสังคม ต่อมาในเดือนมกราคม 1901 อิปโปลิตยื่นเรื่องต่อสภาดูมาแห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เสนอโครงการ ‘รสบัสไฟฟ้า’ ที่จะเปิดนำร่องที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นที่แรก โดยรถบัสของเขาสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 คน วิ่งได้ไกล 60 กิโลเมตรด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมทั้งขอให้ทางการจัด 10 เส้นทางในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ออกแบบมาเพื่อรถโดยสารไฟฟ้าของเขาโดยเฉพาะ หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก็ได้ข้อสรุปว่าสิ่งประดิษฐ์ของหนุ่มจอร์เจียรายนี้ปลอดภัย และเหมาะที่จะนำมาใช้บนถนนในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก “เมื่อข้าพเจ้าขับรถบนถนนที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน และลองเลี้ยวไปยังเส้นทางที่วางระบบรางสำหรับม้าลากจูง จากนั้นจึงขับไปยังบริเวณที่วางรางรถยนต์ไฟฟ้า ข้าพเจ้าไม่พบปัญหาใด ๆ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่มีสะดุด อีกทั้งยังไม่พบแรงสั่นสะเทือนระหว่างตัวรถและพื้นถนนอีกด้วย” ในที่สุดอิปโปลิตก็ได้รับอนุมัติจากสภาดูมา ให้นำรถบัสไฟฟ้าเข้ามาประจำการในเมืองได้ แต่การอนุมัติก็เป็นเพียงขั้นตอนแรกเริ่มที่จะก้าวเข้าสู่สังคมที่เขาใฝ่ฝัน เพราะรัฐบาลเพียงแค่ ‘อนุมัติ’ แต่ไม่ให้งบประมาณในการผลิต เขาจึงร้องขอเงินทุนจากเหล่านักธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์ แต่กลับไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่บรรดานักลงทุน หากมีรถบัสไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ครั้งละมาก ๆ ในคราวเดียว นายทุนน้อย-ใหญ่ก็ย่อมเสียผลประโยชน์ เนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีจะทำให้ธุรกิจรถม้าที่กำลังเฟื่องฟู ย่ำแย่ลงไปอีก นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ไม่มีใครสนใจร่วมทุนกับอิปโปลิต นอกจากไม่สนใจแล้ว ยังขัดขวางและเที่ยวป่าวประกาศว่ารถยนต์ไฟฟ้าของนักประดิษฐ์ต่างถิ่นอันตราย และส่งผลเสียต่อสุขภาพ ถึงจะไม่มีมูล แต่ข่าวลือย่อมแพร่กระจายได้เร็วกว่าความเป็นจริง เพราะเรื่องซุบซิบนินทาคือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน ย้ายประเทศ อิปโปลิตตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับชาวรัสเซียอีกกว่า 2 ล้านคน ในปี 1917 ช่วงเวลาที่ไฟแห่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง ไม่ต่างจากไฟที่ร้อนรุ่มอยู่ในใจของเขา จุดหมายปลายทางของเขาคือประเทศที่พร้อมสนับสนุนทุกความคิดเห็น โดยไม่มองว่าความฝันของเขาเป็นเรื่องไร้สาระ สุดท้ายเขาก็เลือกจะลงเอยที่ ‘นิวยอร์ก’ เมืองสุดแสนจะศิวิไลซ์ พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ และโอกาสอีกมากมายให้เขาไขว่คว้า ชีวิตในสหรัฐฯ ของเขาไม่ปรากฏชัด มีเพียงบันทึกคร่าว ๆ ว่าเขาได้ย้ายประเทศไปอยู่นิวยอร์ก และเสียชีวิตลงในปี 1944 ขณะอายุ 79 ปี ความมุ่งมั่นและสู้ชีวิตไม่ถอยของเขา ได้จารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย เพื่อเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนความทรงจำว่าครั้งหนึ่ง ประเทศหลังม่านเหล็ก ‘เกือบ’ จะมีรถยนต์ไฟฟ้าขับว่อนกันเต็มเมือง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็กลายเป็นเพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ เพราะโดนขัดขวางจากผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ร้อยปี การถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุน ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ภาพ: Public domain อ้างอิง: http://n-metro.ru/%D0%B8%D0%B7%D0%BE%D0%B1%D1%80%D0%B5%D1%82%D0%B0%D1%82%D0%B5%D0%BB%D1%8C-%D0%B8%D0%BF%D0%BF%D0%BE%D0%BB%D0%B8%D1%82-%D1%80%D0%BE%D0%BC%D0%B0%D0%BD%D0%BE%D0%B2/ https://feldgrau.info/engines/19321-ippolit-vladimirovich-romanov-izobretatel-pervogo-rossijskogo-elektromobilya https://plus.rbc.ru/news/5a27f6fd7a8aa9058878745c https://www.kolesa.ru/article/iz-rossii-v-sssr-tupikovaya-istoriya-otechestvennykh-elektromobiley https://www.rbth.com/history/334964-first-russian-electric-car-hippolyte-romanov