‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ ชายผู้อยู่บนแบงก์หมื่นเยนของญี่ปุ่น เขาคือใคร ทำไมได้รับเกียรตินี้?

‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ ชายผู้อยู่บนแบงก์หมื่นเยนของญี่ปุ่น เขาคือใคร ทำไมได้รับเกียรตินี้?

จากเด็กชายที่เกิดในครอบครัวซามูไรยากจน แต่ด้วยความที่ ‘หัวดี’ และ ‘มีหัวก้าวหน้า’ ทำให้ ‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ กลายเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น จนได้รับการยกย่องนำภาพมาตีพิมพ์บนธนบัตรหมื่นเยน

  • ‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ คือ ชายที่มีภาพบนธนบัตรหมื่นเยนของญปีุ่น
  • เขาเกิดเมื่อปี 1835 ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ใรครอบครัวซามูไรยากจน
  • ด้วยความหัวดี และรักความก้าวหน้า ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลง และสร้างประวัติศาสตร์สำคัญต่อประเทศญี่ปุ่น

 

คุณต้องสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติมากแค่ไหนถึงจะสามารถไปปรากฏบนธนบัตรที่ผู้คนใช้กัน? ซึ่ง ‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ (Fukuzawa Yukichi) คือบุคคลที่ปรากฏอยู่บนธนบัตรหมื่นเยนของญี่ปุ่น แล้วเขาเป็นใคร ทำไมญี่ปุ่นถึงยกย่องนำภาพของเขามาประทับบนธนบัตรมูลค่ามากที่สุดของประเทศ ?

อนึ่ง ‘บุคคลสำคัญ’ ในบริบทสังคมญี่ปุ่นจะนำคนที่สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติในด้านต่าง ๆ มาประทับอยู่บนธนบัตร

สุภาพบุรุษเมจิ

ฟุคุซาวะ ยูคิจิ เกิดเมื่อปี 1835 ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายยุคสมัยเอโดะ (Edo period) ซึ่งแดนอาทิตย์อุทัยอยู่ระหว่างการดำเนินนโยบายปิดประเทศ และกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบโชกุนมาสู่ยุคสมัยใหม่

ครอบครัวของเขายากจนแร้นแค้น พ่อเป็นซามูไรหางแถวที่ยากจนและหาที่ยืนทางสังคมได้ยากในยุคที่สถานะซามูไรกำลังจะหมดอำนาจ และได้เสียชีวิตเมื่อฟุคุซาวะ ยูคิจิ อายุได้เพียง 1 ขวบกว่าๆ 

ดังนั้น ชีวิตวัยเด็กของเขาจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก เขากับครอบครัวต้องทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินประทังชีวิต และตัวของฟุคุซาวะ ยูคิจิเองเริ่มได้รับการศึกษาเมื่ออายุปาเข้าไป 14 ปี!

อย่างไรก็ตาม ความเป็นคน ‘หัวดี’ เป็นสิ่งที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เด็ก แม้จะเริ่มตามหลังคนอื่นไปหลายปี แต่พบว่าเขากลับเรียนได้ผลลัพธ์ดี ‘ทุกวิชา’ ดังที่เราจะได้เห็นจากนี้กันอีกว่า การเรียนรู้ของเขาช่างรวดเร็วและลึกซึ้งแค่ไหนเมื่อโตขึ้น 

และแล้วในปี 1853 ซึ่งเป็นปีที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เพราะเป็นปีที่เรือรบของ ‘นายพลแมทธิว เพอร์รี่’ (Matthew Pery) จากสหรัฐอเมริกาได้มาเยือนถึงอ่าวโยโกฮาม่า และแสดงแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือชั้นกว่าอย่างเทียบไม่ติด

อาจจะทั้งความกลัวและความหลงใหลในเทคโนโลยีนี้ ทำให้ฟุคุซาวะ ยูคิจิ ในวัย 18 ปี เริ่มสนใจสิ่งที่เป็น ‘ตะวันตก’ เข้าให้แล้ว

ภาษาดัตช์ช่วยเปิดโลก

ในปี 1854 เขาออกเดินทางไปเมืองนางาซากิ เพื่อศึกษาศาสตร์ทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝรั่งตะวันตก ซึ่งในตอนนั้นมีความเหนือชั้นกว่าญี่ปุ่นมาก และปีต่อมา เขาเดินทางไปโอซาก้าเพื่อศึกษา ‘ภาษาดัตช์’ กุญแจดอกใหญ่ที่พาเขาสู่ ‘คลังความรู้’ มหาศาลในยุคนั้น 

เพราะหนังสือและองค์ความรู้ดี ๆ จากตะวันตกมักมาอยู่ในภาษาดัตช์ เนื่องจากชาวดัตช์เป็นชาวตะวันตกเพียงไม่กี่ชาติที่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่น

จากนั้นเขาได้เข้าเรียน ณ โรงเรียนเอกชนในโอซาก้า ที่มีเจ้าของเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น โดยใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี และที่นี่เองได้เปิดโลกกว้างให้กับฟุคุซาวะ ยูคิจิ ทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี สรีรวิทยา แถมใช้เวลาแปลตำราดัตช์ต่าง ๆ อีกด้วย 

บุกโตเกียว

เมื่อถามว่า มหาวิทยาลัยแห่งแรกในญี่ปุ่น (ที่มีการเรียนการสอนตามมาตรฐานตะวันตก) คือมหาวิทยาลัยใด

คำตอบคือ มหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) และเป็นฟุคุซาวะ ยูคิจิเองที่เป็น ‘ผู้ก่อตั้ง’ ขึ้นมาในปี 1858 เมื่อครั้งที่เขามาเยือนโตเกียว (สมัยนั้นยังชื่อว่า เอโดะ) และมีโอกาสได้ร่วมสอนนักเรียนที่นี่ด้วย

ตอนแรกมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นเพียงโรงเรียนสอนภาษาดัตช์และองค์ความรู้แบบตะวันตกเท่านั้น ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น มหาวิทยาลัยเคโอ ในปี 1968 โดยเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับภาครัฐ มีระบบการเรียนการสอนที่ถอดแบบมาจากมาตรฐานโลกตะวันตก

และเมื่อเข้าสู่ยุคฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration) ของประเทศญี่ปุ่น คือระหว่างปี 1868 - 1889 มหาวิทยาลัยเคโอที่ฟุคุซาวะ ยูคิจิ ก่อตั้งถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนญี่ปุ่นสู่ความทันสมัยเทียบชั้นชาติตะวันตก 

เพราะก่อนที่คนญี่ปุ่นจะบินไปเรียนต่อที่เมืองนอก หลายคนมักจะเข้ารับการศึกษาปูพื้นฐานจากที่นี่ก่อนนั่นเอง โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยเคโอยังคงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับหัวกะทิของญี่ปุ่น ใครเข้าศึกษาที่นี่ได้ เมื่อเรียนจบออกไปมีโอกาสสูงที่จะได้งานในบริษัทใหญ่มากกว่าที่อื่นเลยก็ว่าได้ และนักธุรกิจญี่ปุ่นชั้นนำหลายคน ก็จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เช่นกัน

เยือนสหรัฐอเมริกา

หลังก่อตั้งสถาบันการศึกษาได้ 2 ปี ฟุคุซาวะ ยูคิจิเข้าร่วมเป็น ‘คณะทูตชุดแรก’ ในสมัยเมจิ เดินทางไกลไปซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาใช้เวลาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาเดือนกว่าก่อนกลับมาญี่ปุ่น 

ว่ากันว่านี่คือ ‘ภารกิจแรก’ ของฟุคุซาวะ ยูคิจิ ผู้มีเป้าหมายพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมตะวันตก ขณะนั้นต้องไม่ลืมว่าเขายังเป็นเด็กหนุ่มอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น แต่กลับมีเป้าหมายชัดเจนและมีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล 

และภายในไม่ถึง 2 ปี ได้ออกเดินทางตระเวนไปทั่วยุโรป

  • 44 วันในอังกฤษ
  • 42 วันในฝรั่งเศส
  • 40 วันในรัสเซีย
  • 35 วันในฮอลแลนด์
  • 20 วันในเยอรมนี
  • 20 วันในโปรตุเกส

การเดินทางไปทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป้าหมายของฟุคุซาวะ ยูคิจิ คือเพื่อศึกษา ‘ความเป็นอยู่’ โดยรวมของชาติที่ญี่ปุ่นมองว่าเป็น ‘ต้นแบบ’ ทั้งในแง่ของการเมืองการปกครอง การพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบกฎหมาย การศึกษา และสังคมวัฒนธรรมของผู้คน 

เขามีบทบาทหลักในการนำแนวคิดแบบตะวันตกมาสู่ญี่ปุ่นเพื่อ ‘โมเดิร์นไนซ์’ สร้างความเจริญทันสมัยให้ญี่ปุ่น และการได้ไปเห็นบ้านเมืองที่เจริญ ทำให้เขาตระหนักว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องรีบเร่งพัฒนาประเทศตามแบบชาติตะวันตกโดยเร็ว 

เปลี่ยนคนด้วยตัวอักษร

เฉกเช่นผู้มีโอกาสอันหยิบมือในยุคนั้นที่ได้ไปเห็น เมื่อเขากลับมาญี่ปุ่นในวัย 30 ปี จึงได้เขียนหนังสือชื่อว่า ‘เซอิโย จิโจ’ หรือ สภาพเงื่อนไขของตะวันตก (The Conditions of the West) 

อันดับแรก เป็นการนำเสนอ ‘สไตล์การเขียน’ แบบตรงไปตรงมา ที่ทุกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และเข้าใจง่าย แตกต่างจากเดิมที่คนญี่ปุ่นมักมีวัฒนธรรมการใช้ภาษาที่ ‘อ้อมค้อม’ และมีความเป็นนามธรรมสูง 

ในหนังสือยังอธิบายรายละเอียดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและญี่ปุ่นควรนำมาประยุกต์ใช้อย่างไร เช่น การสร้างโรงเรียน ระบบโรงพยาบาล ระบบธนาคาร บริษัทประกันภัย อิทธิพลของหนังสือพิมพ์ มาตรฐานโรงงาน ระบบการเลือกตั้ง และการเก็บภาษีอากร เรียกว่าครอบคลุมแทบทั้งหมดต่อการ ‘วางรากฐานประเทศชาติ’

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1866 จำนวนมากถึง 150,000 เล่ม และขายดีในชั่วข้ามคืน

เมื่อหนังสืออยู่ในมือผู้คนและถูกอ่าน ฟุคุซาวะ ยูคิจิ กลายเป็นคนมีชื่อเสียงด้านความเชี่ยวชาญอารยธรรมตะวันตก และถูกยกย่องให้เป็น ‘นักปราชญ์’ แห่งยุคสมัย เขายังมีโปรโมตชุดความคิดที่แปลกใหม่ แต่นำพาทุกคนไปสู่ความศิวิไลซ์ทัดเทียมอารยประเทศได้ เช่น

  • “สวรรค์ไม่ได้สร้างมนุษย์คนหนึ่งให้ดีกว่าหรือเลวกว่ามนุษย์อีกคนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้”
  • “ทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศคือ ประชาชน”

กระบอกเสียงสังคม

ปี 1882 ฟุคุซาวะ ยูคิจิ ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ‘จิจิ ชิมโป’ (Jiji shimpō) หรือ ‘หนังสือพิมพ์รายวัน’ เพื่อเป็นกระบอกเสียงเข้าถึงคนหมู่มากในสังคม นำเสนอองค์ความรู้แบบตะวันตก สไตล์การนำเสนอและระบบบริหารสื่อที่ปูพื้นฐานสู่หนังสือพิมพ์ยุคใหม่มาถึงปัจจุบัน

ดูเหมือนว่าเป้าหมายของเขาคือการมี ‘อิทธิพลทางความคิด’ ต่อผู้คนส่วนมากในสังคม เพราะการที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ ทุกอย่างต้องเริ่มจากความคิดข้างในเสียก่อน สื่อพิมพ์แห่งนี้ที่เขาก่อตั้ง ยังเป็นพื้นที่ฝึกปรือฝีมือสำหรับนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และนักข่าว ‘หัวสมัยใหม่’ ที่ได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น

ฟุคุซาวะ ยูคิจิ ยังคงเขียนหนังสือออกมาอีกมากกว่า 100 เล่ม ส่วนมากเกี่ยวข้องกับสเกลใหญ่ระดับประเทศ เช่น กลไกระบบรัฐสภา การล้มเลิกระบบศักดินา การศึกษาขั้นพื้นฐาน การปฏิรูปภาษาที่ใช้ หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ ‘หัวก้าวหน้า’ มาก แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าศตวรรษแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกการโปรโมต ‘การดีเบตสาธารณะ’ (Public debate) ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมญี่ปุ่นตอนนั้น เขาคิดว่าการพัฒนาหรือเทคโนโลยีความก้าวหน้ามักมีต้นตอมาจากการถกเถียงทางความคิดจน ‘ตกผลึก’ ออกมาเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม เราจะสังเกตว่าสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของ ‘ประชาธิปไตย’ ในปัจจุบันที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการโต้เถียงกันอย่างสันติ

ฟุคุซาวะ ยูคิจิ จากไปในปี 1901 ในวัย 66 ปี (อายุขัยถือว่าเยอะแล้วในยุคนั้น) ‘คุณูปการ’ ของเขาช่างยิ่งใหญ่นัก ยิ่งใหญ่เสียจนรัฐบาลญี่ปุ่นยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และนำรูปเขาประทับบนธนบัตรหมื่นเยน ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีมูลค่ามากที่สุดของญี่ปุ่น นับเป็นเกียรติอันสูงส่งของชีวิต

ตัวเขาจากไปแล้ว…แต่รากฐานคุณูปการที่เขาสร้างไว้ยังคงอยู่

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง

.

keio

japantimes

britannica

nippon