07 มี.ค. 2566 | 16:37 น.
- ‘พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร’ เจ้านายสตรีที่บันทึกประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวง แต่อาจไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก
- บันทึก ‘นิพานวังน่า’ มีข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย ส่วนหนึ่งกลับขัดแย้งกับข้อมูลในพระราชพงศาวดาร
ภูมิหลัง ชาติกำเนิด และความเป็นมา
ในช่วงสมัยธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ งานอักษรศาสตร์เป็นงานสำคัญของกระบวนการฟื้นฟูบ้านเมืองนับแต่การเสียกรุงศรีอยุธยา ทั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต่างก็ทรงให้ความสำคัญกับงานด้านนี้มากดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ในช่วงระยะหัวเลี้ยวของการเปลี่ยนผ่านนั้นเอง มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาอย่างทัดเทียมบุรุษได้มีส่วนสำคัญต่องานด้านอักษรศาสตร์ นั่นหมายความว่าผู้หญิงมีบทบาทต่อการฟื้นฟูบ้านเมืองที่นำมาสู่การสถาปนาและหยั่งรากของกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางแห่งใหม่ของราชอาณาจักรสยาม
ในจำนวนนี้ที่มีผลงานโดดเด่นมีอยู่ 2 คน คนแรกคือ ‘พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี’ (เจ้าครอกวัดโพธิ์) อีกคนคือ ‘พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร’ (บางแห่งเขียนว่า ‘กำภูฉัตร’ หรือ ‘กัมโพชฉัตร’ หมายถึงองค์เดียวกัน)
พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี เป็นพระกนิษฐาต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ประสูติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ช่วงที่รัชกาลที่ 1 ยังทรงรับราชการเป็นปลัดยกระบัตรแขวงเมืองราชบุรี จึงจัดอยู่ในฐานะเจ้านายผู้ใหญ่และในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถือว่าทรงอยู่ ‘ฝ่ายวังหลวง’
สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองพระองค์ นอกจากความเป็นนักอักษรศาสตร์ของราชธานีในเวลานั้นแล้ว ทั้งสองยังต่างก็เป็น ‘นักประวัติศาสตร์หญิง’ คนสำคัญของยุคสมัยอีกด้วย กรมหลวงนรินทรเทวีนั้นทรงเป็นเจ้าของผลงาน ‘จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี’ ที่ได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ซ้ำหลายสิบครั้งในรอบร้อยปีเศษนับแต่ค้นพบต้นฉบับในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
ขณะที่พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร ซึ่งทรงพระเยาว์กว่ากรมหลวงนรินทรเทวี ก็เป็นเจ้าของผลงานบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเรื่อง ‘นิพานวังน่า’ ถึงแม้จะทรงเป็นเจ้านายสตรีที่เกิดจากพระมารดาเป็นชาวขะแมร์ แต่ความรู้ภาษาไทยก็จัดว่าอยู่ในขั้นแตกฉาน จนสามารถเขียนงานประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการแต่งเป็นโคลงกวีนิพนธ์ ‘นิพานวังน่า’ จัดเป็นผลงานบันทึกประวัติศาสตร์ที่แปลกแหวกแนวเพราะอยู่ในรูปแบบกวีนิพนธ์
เนื่องจากเป็นพระธิดาที่ประสูติในเศวตฉัตรสืบเชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรจึงเป็นที่โปรดปรานแก่พระราชบิดาคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นอย่างมาก นี่เองอาจเป็นเหตุให้ได้ทรงมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างดีเยี่ยมกว่าสตรีคนอื่น ๆ หรือแม้แต่เมื่อเทียบกับเจ้านายชายด้วยกัน และความรู้แขนงวิชาที่ทรงโปรดปรานนั้นคืออักษรศาสตร์
พระองค์เจ้ากำพุชฉัตรทรงเชี่ยวชาญเชิงกวีและนิพนธ์กลอนเบ็ดเตล็ด ทรงมีพระชันษายืนยาวมาจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ส่วนเจ้าจอมมารดานักองค์อี พระชนนี เป็นพระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี พระเจ้ากรุงกัมพูชา ที่ประสูติแต่นักนางแป้น (บางแห่งว่า ‘แม้น’) และมีพระภคินีต่างมารดาที่รับราชการเป็นฝ่ายในของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทด้วยกันคือ ‘เจ้าจอมมารดานักองค์เภา’ ส่วนนักนางแป้นที่เข้ามากรุงเทพฯ ด้วยกันนั้นก็ได้บวชเป็นชีที่วัดหลวงชี (ต่อมาคือ วัดบวรสถานสุทธาวาส) ด้วยความที่พระองค์มีพระชนนีเป็นราชนิกูลจากต่างแดน พระองค์จึงมักถูกเจ้านายด้วยกันบางพระองค์ติฉินว่า ‘อยู่ข้างจะเฟื่องฟู’ และดู ‘ท่านบอๆ’ (ดูใน พระราชวิจารณ์รัชกาลที่ 5)
เนื่องจากเป็นเจ้านายสตรีที่มีบทบาททำหน้าที่ใกล้ชิดกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงมีโอกาสรับรู้ความเป็นไปต่าง ๆ ของบ้านเมือง นับแต่การเปลี่ยนผ่านจากธนบุรีมาสู่รัตนโกสินทร์ การสงครามต่อต้านพม่าภายใต้พระเจ้าปดุงที่ยกทัพใหญ่มาใน ‘สงคราม 9 ทัพ’ การขยายอำนาจของกรุงเทพฯ ออกไปรอบทิศ ทั้งทิศเหนือไปยังล้านนา ทิศใต้ไปยังปัตตานี ทิศตะวันออกไปยังกัมพูชา และที่สำคัญอีกเรื่องซึ่งพระองค์กัมพุชฉัตรบันทึกไว้จนเกิดเป็นผลงานโดดเด่นก็คือเรื่องความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวง จนนำไปสู่การจับกุมและปราบปรามเจ้านายชายวังหน้าภายหลังจากที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต
การจะเข้าใจผลงานของพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าใจลักษณะความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวงตลอดช่วงนับตั้งแต่หลังการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเป็นต้นมา ซึ่งนั่นจะทำให้เราเข้าใจประเด็นเรื่องความขัดแย้งภายในของชนชั้นนำสยามยุคเปลี่ยนผ่านในช่วงนั้นได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ต้องเริ่มจากการที่ต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อนว่า สมัยนั้นรัฐสยามยังมิได้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงยังไม่มีคติพระมหากษัตริย์สูงสุดพระองค์เดียวกัน และสถานะของประมุขวังหน้าก็ถือเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง เป็นธรรมเนียมเก่าสืบมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา
โดยสมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นกษัตริย์วังหน้าพระองค์แรก สมัยธนบุรียังมิได้มีการแต่งตั้งกษัตริย์วังหน้า เมื่อสถาปนากรุงเทพฯ แล้วจึงได้มีการแต่งตั้งกษัตริย์วังหน้า โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นผู้รับตำแหน่งนี้ วังหน้าองค์สุดท้ายคือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่ง) ในสมัยรัชกาลที่ 5
จากสภาพข้างต้นทำให้การเมืองไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีประเด็นเรื่องความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างวังหน้ากับวังหลวงเป็นปกติ ซึ่งเรื่องนี้มิได้รอดพ้นสายตาของผู้หญิงนักบันทึกประวัติศาสตร์เช่นพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร
การมีเรื่องนี้ทำให้ผลงานของพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรได้นำเสนอเรื่องที่ไม่ปรากฏในบันทึกหลักฐานที่เป็นทางการอย่างพระราชพงศาวดารตามมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าความเปลี่ยนแปลงของวังหน้าหลังจากสิ้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทแล้วนั้น ส่งผลกระทบต่อพระองค์เจ้ารกัมพุชฉัตรและพระญาติวงศ์ของพระองค์อย่างมากด้วย
บันทึกของพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรจึงถือเป็นบันทึกของ ‘คนใน’ ที่ไม่เพียงเกิดทัน หากแต่ยังเป็นตัวละครหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นด้วย
วังหน้า vs. วังหลวง & ภูมิหลังความขัดแย้ง การปราบปราม และการช่วงชิงอำนาจ
ดังที่ทราบกันว่า รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นโดยอ้างอิงนโยบายการรื้อฟื้นราชอาณาจักรแบบอยุธยา เพราะอยุธยาถูกให้ความหมายในฐานะ ‘ยุคบ้านเมืองดี’ ในช่วงที่มีความไม่พอใจต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และสภาพของกรุงธนบุรีในช่วงปลาย ช่วงนั้นเองกลุ่มเจ้าพระยาจักรี-เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ปรากฏตัวขึ้นในฐานะกลุ่มที่รู้ขนบธรรมเนียมเก่ามีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับคหบดีตระกูลเก่าสมัยกรุงศรี เมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ก็ได้ทรงสถาปนากรุงใหม่อ้างอิงแผนผังและแบบขนบประเพณีต่าง ๆ ของกรุงเก่าอยุธยา
การณ์นี้ตำแหน่ง ‘กษัตริย์วังหน้า’ ที่เคยมีในสมัยอยุธยาแต่ไม่มีในสมัยธนบุรี ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่เช่นกัน โดยเจ้าพระยาสุรสีห์ได้เข้าพิธีบวรราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท [1] ในคราวเดียวกับที่เจ้าพระยาจักรีเข้าพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็น ‘กษัตริย์วังหลวง’ รัชกาลที่ 1 ทรงสร้าง
พระบรมมหาราชวังขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณที่ตั้งเดิมของชุมชนจีนแต้จิ๋ว โดยได้ให้ชาวจีนแต้จิ๋วกลุ่มนี้ย้ายไปอยู่ริมคลองวัดสามปลื้ม กรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้สร้างพระบวรราชวังขึ้นที่ย่านที่ประทับเดิมของพระองค์ แต่ได้ขยับขยายและปรับปรุงใหม่ อยู่ข้างทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ในทำเลที่ตั้งคล้ายคลึงกับพระราชวังจันทรเกษมที่ตำบลหัวรอของอยุธยา
ในส่วนของขอบเขตอำนาจของกษัตริย์วังหน้าเมื่อแรกสถาปนากรุงเทพฯ นั้น สมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพนฯ ผู้ชำระพระราชพงศาวดารซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัยเห็นเหตุบ้านการเมืองในช่วงนั้นได้ระบุไว้ใน ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี’ (แต่เนื้อความกล่าวมาจนถึงรัชกาลที่ 1) แห่งหนึ่งระบุว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง โดยดังโบราณจารีตราชประเพณีมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนมา” [2]
ถึงแม้จะกล่าวอ้างว่าการที่กษัตริย์วังหน้ามีอำนาจ “ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง” นั้น เป็นจารีตราชประเพณีเดิมอย่างไร เมื่อตรวจสอบจะพบว่าสมัยอยุธยา แม้ว่าเจ้านายสูงสุดของวังหน้าจะมีสถานะเป็นกษัตริย์หรือ ‘พระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 2’ แต่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยว่า ทรงมีอำนาจว่าราชกิจครึ่งหนึ่งด้วย ในทางทฤษฎีหรือในแง่ทางการแล้วยังคงถือกันว่ากษัตริย์วังหลวงมีอำนาจสูงสุด แต่ในทางปฏิบัติบางช่วงอาจมีขุนนางเสนาบดี เช่น ‘ออกญาจักรี’ ‘ออกญากลาโหม’ ‘ออกญาพระคลัง’ เป็นผู้มีอำนาจควบคุมดูแลและบริหารราชกิจแทนพระองค์
ตั้งแต่เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพฯ เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าวังหน้ากระตือรือร้นในการสร้างวัดวาอาราม บูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ต่าง ๆ มากมาย กรมพระราชวังบวรฯ ทรงให้ความสำคัญแก่งานช่างศิลปกรรมเป็นอันมาก รับช่างฝีมือเข้ามาสังกัดเป็นอันมาก พระบวรราชวังก็ทรงสร้างอย่างวิจิตรงดงาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในพระนิพนธ์เรื่อง ‘ตำนานวังหน้า’ ได้ทรงอ้างถึง ‘คำกล่าวกันมาแต่ก่อน’ ซึ่งสะท้อนมุมมองของชาววังต่อเหตุการณ์อดีตของวังหน้าว่า:
“กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชมนเทียรและสถานที่ต่างๆ ในพระราชวังบวรฯ ทรงทำโดยประณีตบรรจงทุกๆ อย่าง ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสิ้นพระชนมายุขัยสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชย์สมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวรฯ ตามแบบอย่างพระเจ้าบรมโกษฐ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง เป็นคำเล่ากันมาดังนี้” [3]
อย่างไรก็ตาม การสถาปนากรมพระราชวังบวรฯ เป็นกษัตริย์วังหน้า ยังมีประเด็นให้มองได้มากกว่าเรื่องการรื้อฟื้นราชอาณาจักร เพราะกรมพระราชวังบวรฯ จัดว่าทรงเป็นผู้มีอำนาจบารมีอยู่มากมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2325 เป็นที่ทราบกันดีว่ากรมพระราชวังบวรฯ เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มาก่อนเจ้าพระยาจักรี ตั้งแต่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ยังอยู่ที่จันทบุรี
อีกทั้งตลอดสมัยธนบุรี กรมพระราชวังบวรฯ ก็ค่อนข้างรุ่งเรือง ถึงขนาดได้ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญลำดับสองในสมัยอยุธยา อีกทั้งเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในช่วงแรกสถาปนากรุงเทพฯ วังหน้าก็มีบทบาทมากในการทำสงครามต้านการรุกรานของกองทัพพม่าภายใต้พระเจ้าปดุง (สงคราม 9 ทัพ) การขยายอำนาจไปยังกัมพูชา ล้านนา และปัตตานี จนเป็นที่เห็นได้ชัดว่าวังหน้าแกล้วกล้าในการศึกสงครามมาก
ขณะเดียวกัน การรื้อฟื้นวังหน้าก็ทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างวังหน้ากับวังหลวง เจ้านายเชื้อพระวงศ์ตลอดจนเหล่าขุนนางข้าราชการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย วังหลวงแก้เกมโดยการนำเอาวังหลังมาเป็นพวก ซึ่งเป็นกุศโลบายดั้งเดิมตามแบบที่วังหลวงในสมัยอยุธยาก็เคยใช้มาก่อน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านายวังหลังในสมัยนั้นคือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) มีศักดิ์เป็นหลานและเคารพยำเกรงกรมพระราชวังบวรฯ อยู่มาก
ความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวงได้แสดงเค้ารอยปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2328-2329 ในระหว่างทำศึกกับพม่าที่เรียกกันภายหลังว่า ‘สงคราม 9 ทัพ’ นั้น ศึกใหญ่ที่กำหนดชะตาว่าฝ่ายใดจะแพ้-ชนะ อยู่ที่สมรภูมิตำบลลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรีเก่า (เมืองกาญจนบุรีในตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันเพิ่งย้ายมาสมัยรัชกาลที่ 3)
ระหว่างทำศึกนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่นอกจากการประหัตประหารชิงชัยกับพม่าแล้ว ยังปรากฏว่าทรงใช้อาญาสิทธิ์ในฐานะแม่ทัพใหญ่สั่งประหารแม่ทัพนายกองขุนนางฝ่ายวังหลวงฐานฝ่าฝืนคำสั่งและย่อหย่อนการศึกไปเสียหลายคน จนเรื่องทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงต้องทรงยกทัพไปสมทบประทับอยู่ในสมรภูมิด้วย [4]
ต่อมาใน พ.ศ.2339 ได้เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างวังหน้ากับวังหลวง ถึงขั้น ‘เกือบจะเกิดการยุทธสงครามแก่กัน’ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกเล่าเหตุการณ์สำคัญนี้เอาไว้ดังนี้: (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)
“เมื่อ ณ เดือน 11 เรือวังหลวงชื่อตองปลิว เรือวังหน้าชื่อมังกร จะแข่งขันเปรียบฝีพายแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจัดฝีพายสำรับอื่นที่แข็งแรงซ่อนไว้ เมื่อเวลาแข่งจะเอาคนสำรับใหม่ลง ข้าราชการฝ่ายวังหลวงแจ้งดังนั้นจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้ว ดำรัสว่าเล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ ให้เลิกการแข่งเรือตั้งแต่นั้นมา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็บาดหมางพระทัย ไม่ได้ลงมาเฝ้า
ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้ายขึ้น 11 ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลลงมาเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เงินที่พระราชทานขึ้นไปปีละ 1,000 ชั่งนั้นไม่พอแจกเบี้ยหวัดข้าราชการในวังหน้า จะขอรับพระราชทานเงินเติมอีกให้พอแจกจ่ายกัน จึงดำรัสว่า เงินเก็บมาได้แต่ส่วยสาอากร ก็พอใช้ทำนุบำรุงแผ่นดิน เหลือจึงได้เอาแจกเบี้ยหวัดก็ไม่ใคร่พอ ต้องเอาเงินกำไรตกแต่งสำเภามาเพิ่มเติมเข้าอีกจึงพอใช้ไปได้ปีหนึ่งๆ เงินคงคลังที่สะสมไว้ก็ยังไม่มี กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ได้ตามพระประสงค์ก็ขัดเคือง มิได้ลงมาเฝ้าเลย ฝ่ายพระยาเกษตร (บุญรอด) เห็นว่าเจ้านายทรงขัดเคืองกันก็กะเกณฑ์ข้าราชการ ให้เอาปืนขึ้นป้อมวังหน้าแล้วให้ตระเตรียมศาสตราวุธตั้งนอนกองระวังอยู่
ส่วนเจ้าพระยารัตนาพิพิธสืบรู้ว่าที่วังหน้าจัดเตรียมการเป็นสงครามไว้ไว้ใจแก่ราชการ ก็กราบทูลขอรักษาพระราชวังให้มั่นคงแข็งแรง เกณฑ์คนรักษาหน้าที่และเอาปืนขึ้นป้อมบ้าง ครั้งนั้นเกือบจะเกิดการยุทธสงครามแก่กัน” [5]
เหตุการณ์ครั้งนี้คลี่คลายลงเมื่อความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางของทั้งสองพระองค์คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ได้เข้ามามีบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งให้คืนดีกันดังเดิม
จากจุดนี้จึงได้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งนับแต่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นต้นมา อีกทั้งยังเห็นร่องรอยว่าวังหลวงอาศัยความเป็นเครือญาติในการควบคุมวังหน้า วิธีการที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองใช้โน้มน้าวพระทัยพระราชอนุชาคือ การตรัสเล่าย้อนระลึกถึงความหลังครั้งยังความทุกข์ยากด้วยกันมา ดังความในพระราชพงศาวดารดังนี้:
“ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางเธอทั้ง 2 พระองค์ ก็เสด็จไปในพระราชวังบวรฯ ทั้ง 2 พระองค์ ทรงพระกันแสงตรัสประเล้าประโลมไปถึงความเก่าๆ แต่ครั้งตกทุกข์ได้ยากมาจนได้ราชสมบัติขึ้น สมเด็จพระอนุชาธิราชก็มีพระทัยลดหย่อนอ่อนลงสิ้นความพระพิโรธ สมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 ก็เชิญเสด็จลงมาเฝ้าสมัครสมานแต่ในเวลาวันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับกรมพระราชวังบวรฯ ก็เป็นปกติกันต่อมา” [6]
น่าสังเกตว่าหลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ต่างก็สิ้นพระชนม์ไปเมื่อ พ.ศ.2342 เมื่อถึงเหตุการณ์กบฏวังหน้า พ.ศ.2346 ไม่มีเจ้านายหญิงชั้นผู้ใหญ่ที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยหรือขอพระราชอภัยโทษให้แก่ทั้งสองฝ่าย เหมือนดังในเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.2339 ความขัดแย้งจึงดำเนินไปจนถึงขั้นต้องแตกหักกันไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่สามารถประนีประนอมหรือ ‘ปรองดอง’ กันได้ ผลคือมีการจับกุมตัวพระราชโอรสองค์โตและองค์รองของฝ่ายวังหน้าไปปลงพระชนม์ในปีเดียวกันนั้น
‘นิพานวังน่า’ (นิพพานวังหน้า) ประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ในเพลงยาว
ในเพลงยาวเรื่อง ‘นิพานวังน่า’ (นิพพานวังหน้า) ข้อมูลที่พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรแสดงไว้นั้นแตกต่างตรงกันข้ามกับพระราชพงศาวดารอยู่หลายตอนด้วยกัน จนกล่าวได้ว่า ‘นิพานวังน่า’ นี้มีลักษณะเป็น ‘หนังคนละม้วน’ กับหลายเรื่องที่เชื่อกันตามพระราชพงศาวดาร เพราะเป็นบันทึกเล่าเหตุการณ์โดยคนในที่พบเห็นเหตุการณ์และต้องพบชะตากรรมความเปลี่ยนแปลง ต่างจากพระราชพงศาวดาร (ทั้งฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ที่ต่างก็เป็นคนนอกและผลิตซ้ำมุมมองของฝ่ายวังหลวง
ที่สำคัญเรื่อง ‘นิพานวังน่า’ ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์เขียนโดยผู้หญิงคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างเรื่องที่แสดงไว้ต่างกันนั้นก็เช่น โรคที่กรมพระราชวังบวรฯ ประชวรจนสวรรคตนั้น พระราชพงศาวดารทุกฉบับกล่าวตรงกันว่าทรงเป็น ‘โรคนิ่ว’ แต่ ‘นิพานวังน่า’ ระบุว่าเป็น ‘วัณโรค’ ดังที่มีกล่าวไว้ว่า “พระวรรณโรครึงรนไม่ทนทาน ทรมานนานเนิ่นก็เกินแรง” [7]
เมื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือด้วยหลักเกณฑ์ของระเบียบวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้ว ‘นิพานวังน่า’ เชื่อถือได้มากกว่าเพราะเป็นบันทึกของพระธิดาที่ถวายการดูแลเฝ้าพระอาการมาตั้งแต่ต้นจนสวรรคต ในขณะที่พระราชพงศาวดารเป็นบันทึกภายหลังของบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนร่วมหรืออยู่ในเหตุการณ์แต่อย่างใด
สำหรับเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.2339 ที่เกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างวังหน้ากับวังหลวงนั้น จาก ‘นิพานวังน่า’ วังหลวงเป็นฝ่ายเริ่มเอาปืนขึ้นป้อมก่อน โดยอ้างว่าเป็นการเตรียมงานพระราชพิธีตรุษสารท กรมพระราชวังบวรฯ ได้ให้พระสนมเอกคือ ‘นักองค์อี’ ซึ่งเป็นมารดาของพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรไปสืบถามจากชาวเขมรซึ่งเป็นพลปืนของฝ่ายวังหลวง จึงทราบข้อเท็จจริง ค่อยคลายพิโรธลง [8]
อย่างไรก็ตาม งานพระราชพิธีตรุษสารทนั้นตามประเพณีนิยมจัดกันในเดือนสี่ แต่เหตุการณ์นี้เมื่อ พ.ศ.2339 อยู่ในเดือนอ้าย นับเป็นเรื่องประหลาดที่จัดเตรียมงานล่วงหน้านานขนาดนั้น โดยยังมีงานพระราชพิธีอย่างอื่นที่ต้องจัดอีกในช่วงเดือนยี่ถึงเดือนสาม เรื่องนี้คงเป็นข้ออ้างของฝ่ายวังหลวงเท่านั้น
เกี่ยวกับเหตุการณ์กรณีพระองค์เจ้าลำดวนกับพระองค์เจ้าอินทปัตเมื่อ พ.ศ.2346 นั้น ก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายวังหน้าเห็นด้วยหรือมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยกันไปเสียทั้งหมดเหมือนดังที่บันทึกประวัติศาสตร์ของฝ่ายวังหลวงระบุเอาไว้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ก่อนสวรรคตเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มาเยี่ยมพระประชวร กรมพระราชวังบวรฯ ยังได้ฝากฝังให้รับราชการอยู่กับวังหลวงต่อไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยังทรงขอให้วังหลวงอนุญาตให้โอรสและธิดาของพระองค์ได้อยู่วังหน้าสืบไป ผู้แต่งคือพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรเองก็ยังประณามเจ้าพี่ทั้งสองต่าง ๆ นานา ลงท้ายก็ไปโทษว่าหรือจะเป็นด้วยพระบิดามาพาเอาเจ้าพี่ทั้งสองนั้นไปอยู่ด้วย ดังความเพลงยาวว่า:
“ ................................. ถึงสองเชษฐต้องคดีที่ข้อขำ
เขาว่าโทษลึกลับให้จับจำ ก็ค้างคำเทศนาเข้ามาฟัง
ต่างคะนึงสุดคเนสนเท่ห์จิตร ไม่ทราบกิจโอ้ไฉนอย่างไรมั่ง
ครั้นรู้แน่ว่ากระบถหมดทั้งวัง ชวนกันชังไม่มีภักดีปอง
ควรเคืองเบื้องบรมจักรพรรดิ ไม่คิดว่าฉัตรแก้วกั้นเกษสนอง
จะได้พึ่งเดชาฝ่าละออง ฉลองบาทบิตุเรศนิราไป
พระบิดาบัญชากำชับสั่ง คำหลังลืมพระคุณไม่คิดได้
...
ฤาชะรอยทูลกระหม่อมจะตรอมถึง นึกคะนึงนำสองโอรสา
ไปตามเสด็จเสวยศุขสวรรยา ประเสริฐกว่าน้องยังอยู่วังตรอม” [9]
แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรก็ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญเจ้าพี่ทั้งสองซึ่งต้องโทษกบฏในครั้งนั้นว่า แต่ก่อนนั้นทั้งสองเป็นขุนศึกคนสำคัญคู่บารมีกรมพระราชวังบวรฯ เคยทำศึกสงครามปราบปรามกอบกู้บ้านเมืองมีความดีความชอบแต่ก่อนมา มีสายสัมพันธ์อันดีกับล้านช้าง กัมพูชา และเจ้ากาวิละของเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักและแซ่ซร้องสรรเสริญกันในหมู่ชาวต่างชาติภาษาในกรุงรัตนโกสินทร์
“พระโอรสเทียมหน่อนารายณ์หมาย สังหารหายศึกเสร็จนิราศา
ทั้งสิบทิศเกรงพระฤทธิไม่รอรา ...
อันพระเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อนเกิน หมิ่นประเมินมิได้น้อมประนมคม
ครั้งพระลอก็ประหารชีวาวาตม์ นี่เกรงบาทเศียรพองสยองผม
..............................................
บรรณาเนืองล้วนเครื่องสุวรรณมาศ มิได้ขาดต่างประเทศทุกภาษา
แขกลาวชาวปกันกัมพูชา ก็เข้ามาพึ่งโพธิสมภาร” [10]
ผลพวงของความขัดแย้งและการปราบปรามวังหน้าในเวลาต่อมา
แม้ว่าเหตุการณ์ลากปืนขึ้นป้อมเผชิญหน้ากันจนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างวังหน้ากับวังหลวงเมื่อพ.ศ.2339 จะผ่านไปกว่า 7 ปีแล้ว แต่จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวงก็ไม่ได้เหือดหายไป เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระประชวรหนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จะเสด็จไปเยี่ยมพระราชอนุชาก็กลับเป็นไปด้วยความยากลำบาก กล่าวคือ:
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรพระอาการหนัก จะเสด็จขึ้นไปทรงพยาบาลครั้นข้าราชการวังหลวงจะขึ้นไปล้อมวงตามธรรมเนียมเห็นกิริยาพวกข้าราชการวังหน้ากระด้างกระเดื่องจะเกิดวิวาทกันขึ้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2 ในเวลาต่อมา) ต้องเสด็จขึ้นไปพร้อมด้วยเจ้าพระยารัตนาพิพิธ และพระยายมราชเดินยึดไปสองข้างพระเสลี่ยง ไปทรงจัดวางการล้อมวงเอง จึ่งเป็นการเรียบร้อย” [11]
เหตุที่คนวังหน้าไม่เกรงใจฝ่ายวังหลวง แต่กลับมีท่าทีอ่อนน้อมและเกรงพระบารมีต่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ดังหลักฐานข้างต้นนี้ก็เพราะชาววังหน้าขณะนั้นต่างทราบกันดีว่า เมื่อสิ้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทแล้ว เจ้านายผู้ซึ่งอยู่ในเกณฑ์จะได้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์วังหน้าสืบต่อนั้นก็คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร นั่นเอง
‘นิพานวังน่า’ ของพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรบอกกลาย ๆ ว่าวังหน้ามิได้เป็นกบฏและกรมพระราชวังบวรฯ ก็ไม่ได้ให้ท้ายโอรสไปคิดกำเริบเสิบสาน ตรงข้าม ทรงบอกกล่าวกับเหล่าขุนนางวังหน้าให้ฝากตัวรับใช้วังหลวงโดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร สืบไป
แต่แน่นอนว่าเรื่องที่ทรงให้ท้ายโอรสเช่นนี้ย่อมจะเป็นความลับ แต่ในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงก็คงมีการพาดพิงถึงพระราชดำรัสที่กรมพระราชวังบวรฯ มีต่อโอรสในทางลับนั้นด้วย เมื่อทรงทราบดังนั้นก็:
“จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงน้อยพระทัยในสมเด็จพระอนุชาธิราช ว่าเพราะผู้ใหญ่พูดจาให้ท้ายเช่นนั้นเด็กจึงกำเริบ แต่แรกดำรัสว่าจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ แต่ครั้นคลายพระพิโรธลงก็โปรดให้ทำเมรุใหญ่ตามเยี่ยงอย่างพระเมรุพระมหาอุปราชครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ดำรัสให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชที่พระเมรุให้เป็นพุทธบูชาเสียก่อน ไม่ให้เสียพระวาจาที่ว่าจะไม่ทำพระเมรุกรมพระราชวังบวรฯ” [12]
แม้ว่าเรื่องการสาปแช่งของกรมพระราชวังบวรฯ จะเป็นเพียงเรื่องเล่าลือซุบซิบกันมาในหมู่ชาววัง ไม่มีหลักฐานชั้นต้นที่ยืนยันในเรื่องนี้ ภายหลังเรื่องนี้ถูกขยายความจนดูสมเหตุสมผลและเป็นจริงขึ้น เมื่อพ.ศ.2349 หลังกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตไปแล้ว 3 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกษัตริย์วังหน้า แต่ไม่ได้เสด็จมาประทับวังหน้า ทรงไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม (ฝั่งธนบุรี)
กล่าวกันว่าครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงดำรัสต่อพระเจ้าลูกยาเธอว่า “จะไปอยู่บ้านช่องเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นนักเป็นหนา” [13]
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าใน พ.ศ.2346 นั้นนอกจากเป็นปีสวรรคตของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทแล้ว ยังเป็นปีเดียวกับที่มีการจับกุมเจ้านายคนสำคัญของวังหน้าไปปลงพระชนม์ด้วย อีกทั้งระยะเวลายังห่างมาไม่นานแค่เพียง 3 ปีเอง คนฝ่ายวังหน้าอาจจะยังจดจำเหตุการณ์ได้ดีอยู่
ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่าการที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับอยู่ที่อื่น ไม่เสด็จมาประทับอยู่วังหน้า อาจจะมีเหตุผลด้านการถวายการรักษาความปลอดภัยส่วนพระองค์เองมากกว่าเรื่องคำสาปแช่งหรืออาถรรพ์วังหน้าใด ๆ
ไม่ว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะได้ทรงสาปแช่งไว้จริงหรือไม่ แต่มุขปาฐะก็ดำรงอยู่และขยายความกันอย่างพิสดารสืบต่อมา กระทั่งเกิดประเด็นว่าผู้ที่จะมาประทับอยู่วังหน้าได้นั้นจะต้องเป็นทายาทเกี่ยวดองกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไม่ทางก็ทางหนึ่ง จนมีคนคิดแก้ไขให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้านายวังหน้าจะต้องอภิเษกสมรสกับธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ 2 และกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ในรัชกาลที่ 3 ต่างก็เป็น ‘ราชบุตรเขย’ ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททั้งสิ้น
อีกทั้งหากเป็นเหตุผลเรื่องคำสาปแช่งดังที่ชาววังรุ่นหลังเล่าลือกันจริง ก็ไม่ยากที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรจะแก้ไขได้ อาจใช้วิธีจัดการอภิเษกเป็นราชบุตรเขยแบบกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์กับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ก็ได้ หรือหากไม่ใช่ราชบุตรเขยเหมือนอย่างสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังสามารถใช้วิธีให้พราหมณ์มาทำพิธีฝังอาถรรพ์ใหม่ได้
แต่เพราะความขัดแย้งทางการเมืองต่างหากที่ทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรต้องกลายเป็นกษัตริย์วังหน้าพระองค์เดียวที่ไม่ได้ประทับอยู่วังหน้าเหมือนอย่างองค์อื่น แม้ว่าพระองค์เจ้าลำดวนกับพระองค์เจ้าอินทปัตจะมิได้ก่อการสำเร็จ แต่มีผลทางอ้อมให้วังหน้ายังคงเป็นของคนวังหน้ามาอีกกว่า 2 รัชกาล ดังพระราชประสงค์ของพระราชบิดาของทั้งสองพระองค์
พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชนิพนธ์ที่ทรงมีพระราชวิจารณ์ต่อ ‘จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี’ ได้ทรงแสดงความเห็นพ้องด้วยกับพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรอยู่หลายตอน จนกระทั่งได้นำเอาข้อมูลของพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรมาโต้แย้งกรมหลวงนรินทรเทวีไว้อยู่ตอนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการสรุปและถอดความ ‘นิพานวังน่า’ จากร้อยกรองเป็นร้อยแก้วชิ้นแรก ๆ ดังความต่อไปนี้ :
“มีหนังสือซึ่งหอพระสมุดซื้อไว้เรียกว่า ‘หนังสือนิพานวังน่า’ ข้าพเจ้าเห็นตามข้อความในนั้น ว่าเปนของพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น 1 พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร...
จะบอกแต่ใจความโดยย่อไว้ในที่นี้ว่า
ตั้งต้นกรมพระราชวังทรงพระประชวร เวลาแรกที่ตกใจกันนั้น ประทับทรงปิดทองพระ เห็นพระฉวีวรรณเศร้าหมอง จึงพากันอยู่ประจำรักษา
อีกตอนหนึ่งทรงอธิษฐาน ว่าถ้าจะหายประชวรให้เสวยพระสุธารสลงไปได้ ครั้นเมื่อเสวยพระสุธารสก็ทรงพระอาเจียน ทรงพระดำริเห็นว่าจะไม่รอด จึงรับสั่งว่าจะไม่เสวยพระโอสถต่อไป เพราะจะเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้พระชนม์ยืนยาวไปอีก ได้ความทุกขเวทนานาน จึงดำรัสสั่งเสียพระองค์เจ้าในกรม และนางข้างใน
ภายหลังเสด็จออกวัดมหาธาตุ ซึ่งพระมณฑปอันเพลิงไหม้ยังทำไม่แล้ว ขณะทรงพระประชวรพระยอดมีทุกขเวทนากล้า จึงชักพระแสงดาบออกจะแทงพระองค์เสีย พระโอรสชิงไว้ทูลเล้าโลม ได้พระสติระงับเสด็จกลับเข้าพระราชวัง ทอดพระเนตรพระวิมานมนเทียรด้วยความอาลัย แล้วเสด็จออกท้องพระโรง ตรัสบอกข้าราชการว่าจะเสด็จสวรรคต ให้อุตส่าห์ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในพระเชษฐาธิราชโดยความซื่อตรง
สมเด็จพระเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวร ทูลฝากพระโอรสและพระธิดา ขอให้ได้คงครองอยู่ในพระราชวังบวรสืบไป สมเด็จพระเชษฐาทรงรับคำเป็นมั่นคงแล้ว จึงรับสั่งเรียกกรมพระราชวังหลังมาสั่ง ให้ทำนุบำรุงน้องและหลาน
เมื่อกรมพระราชวังสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จไปประทับเบื้องพระเศียร ทรงพระกันแสงเศร้าโศก แล้วดำรัสปลอบเจ้านายที่เป็นธิดากรมพระราชวัง อันกำลังเศร้าโศกอยู่มาก จนพระองค์เจ้าเกสรเป็นลมแน่นิ่งไป แล้วเชิญพระศพออกตั้งที่ ให้หมายบอกโกนศีรษะทั่วทั้งพระราชอาณาเขต
ครั้นเมื่อพระบุพโพตก พระบุโพนั้นมีสีแดง ซึ่งผู้แต่งหนังสือ (คือพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร) เห็นว่าเป็นเนื้อหน่อพุทธางกูร ได้เชิญพระบุพโพไปพระราชทานเพลิงที่วัดชนะสงคราม
ในกาลวันหนึ่ง ผู้แต่งหนังสือออกไปมีเทศน์ เคาะพระโกศเชิญให้ทรงฟังธรรม ขณะนั้นพระโกศลั่น กำลังเทศนาค้างอยู่ มีผู้มาบอกว่าเชษฐาสองคน (คือพระองค์เจ้าลำดวนกับพระองค์เจ้าอินทปัต) เป็นโทษ เมื่อไถ่ถามได้ความว่าเป็นโทษกบฏก็ไม่มีใครปรานี แต่ถึงดังนั้นผู้แต่งหนังสือได้บ่นถึงเชษฐาสองคนนั้น ว่ามีอิทธิฤทธิ์อานุภาพเป็นที่ยำเกรงแก่ประเทศราช มีเจ้ากาวิละเป็นต้น ได้ทำการศึกมีชัยชนะ รำพันไปจนปลายลงถึงว่า หรือพระราชบิดาจะมาพาเอาไปเสียด้วย เพราะเห็นว่าดีกว่าอยู่
แต่นั้นไปพรรณนาคร่ำครวญ แล้วก็รื้อความยกย่องพระเกียรติยศและพระเดชานุภาพ พระปรีชากล้าหาญของกรมพระราชวังทวนไปทวนมา
เรื่องหนึ่งนั้น กรมพระราชวังเสด็จขึ้นไปทรงปฏิสังขรณ์วัดที่กรุงเก่า มีผู้ทิ้งหนังสือท้าทายขู่ว่าจะทำอันตราย ความทราบถึงวังหลวง รับสั่งให้ไปทูลห้าม กรมพระราชวังไม่ฟังเสด็จขึ้นไป ก็ไม่มีเหตุอันใด เห็นจะเป็นสร้างวัดสุวรรณดาราราม
ต่อนั้นไปกล่าวถึงความทุกข์ของตัวผู้แต่งหนังสือว่าเมื่อเกิดเคลือบแคลงกันขึ้นในระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ในหนังสือฉบับนี้พูดเป็นฝ่ายข้างวังหน้า ว่าวังหลวงเกณฑ์เขมรลากปืนขึ้นป้อมก่อนกรมพระราชวังจึงใช้นักองค์อี ให้ไปสืบความจากพวกเขมร ได้ความมากราบทูล ว่าปืนนั้นได้ลากขึ้นเมื่อพิธีตรุษ การที่ทรงขัดเคืองก็เบาบางลงแล้ว วังหลวงกำลังกริ้วเจ้าลำดวน เจ้าอินทปัต และขัดเคืองนักองค์อีอยู่ จึงให้ชำระพระยาเขมรผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นขุนนางอยู่ในองค์พระอุไทยราชา เคยนับถือนักองค์อีกลับเบิกความปรักปรำเอานักองค์อี ว่ายุยงกรมพระราชวัง จึงต้องรับพระราชอาญาจำทั้งตัวและบ่าวไพร่ ว่าจะประหารชีวิตเสีย ภายหลังรับสั่งให้ไปสืบถามวันทาเจ้าจอมซึ่งเป็นโทษอยู่ในเวลานั้น วันทาว่าไหนๆ ตัวก็จะตายให้การตามสัตย์จริง ดูเหมือนจะเป็นด้วยถ้อยคำวันทานั้นและคำอธิษฐานของท่าน นักองค์อีจึงไม่ต้องประหารชีวิต ภายหลังจึงทรงพระกรุณาให้พ้นโทษทั้งนายและบ่าว และพระราชทานเบี้ยหวัดด้วย
เมื่อสรรเสริญพระเกียรติยศไปแล้ว ก็เลี้ยวเข้าหาเมืองเขมร เลยเล่าถึงพงศาวดารเมืองเขมร ตั้งแต่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จนถึงต้องฤาษีสาป
ต่อนั้นไปกล่าวถึงงานพระเมรุ ว่าด้วยเชิญพระบรมศพออกและพระเบญจา จนถึงพระราชทานเพลิงลอย พระอังคาร เชิญอัฐิกลับ ผูแต่งรู้สึกเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ เพราะพลับพลาไม่มีงานพลับพลาประชันกับวังหลวงเช่นแต่ก่อน
ครั้นเมื่อเสร็จงานแล้ว ทรงสงสัยว่าพระอัฐิวังหน้าดำ ให้เอานางข้างในมาชำระไต่สวน ที่เห็นเป็นคนสัตย์ซื่อบริสุทธิ์อยู่ก็ให้รับราชการอยู่ในวังหลวง ที่เป็นที่รังเกียจก็พระราชทานไปให้แก่เจ้านาย
เมื่อคนไปจากวังเสียมากเช่นนั้น ความเปลี่ยวเปล่าเหงาง่วงก็มากขึ้น
กล่าวถึงทูตญวนเข้ามาสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ และเจ้านายผลัดกันจัดธูปเทียนขึ้นไปเฝ้าบูชา ที่พระที่นั่งพรหเมศร์ธาดาอันเป็นที่ไว้พระอัฐิ
กล่าวถึงได้พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งมีนิ้วพระหัตถ์ไม่บริบูรณ์มาแต่โบราณตามตำนานนั้น กรมพระราชวังมีบารมีมาก จึงสามารถต่อนิ้วนั้นสำเร็จได้
กล่าวถึงเวลาที่เสด็จออกทรงผนวช ยกเทียบเหมือนพระเวสสันดร วังหลวงเหมือนพระเจ้ากรุงสญชัย กล่าวถึงเรื่องขอชีวิตเจ้าเวียงจันทน์ (คือเจ้านันทเสน) ซึ่งต้องหาว่าเป็นกบฏ ความปรากฏอยู่ในจดหมายเรื่องทรงผนวช ซึ่งได้มีอยู่ในหนังสือนี้ ผู้แต่งเพ้อตัดว่ากุศลนั้นไม่ช่วย
บ่นถึงความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติไม่มีคนยำเกรง และบอกตำแหน่งของตัวว่า เมื่อยังเสด็จอยู่ทั้งสองพระองค์ นั่งต่างหากแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ นอกนั้นเจ้านายทั้งวังหลวงวังหน้านั่งเสมอกันปนกัน เสียดายว่ากรมพระราชวังไม่มีพระโอรสด้วยพระอัครชายาจะได้สืบวงศ์ต่อไป มีแต่พระสนมจึงได้ถอยยศศักดิ์ และแค้นพี่น้องกันเองว่า ไม่มีความสามัคคี พยายามปองร้ายกันเหมือนไม่ใช่ร่วมบิดาเดียวกัน
ข้อความที่กล่าวรวบรวมทั้งหมด วนไปวนมาก็เป็นฝ่ายข้างแค้นและเสียใจต่างๆ แต่ถ้าพูดติเตียนเหน็บแนมแหลมออกมาแล้วก็กลบ กลับสรรเสริญวังหลวง และถวายพระพรต่างๆ ลงข้างท้ายก็กลายเป็นแช่งคน
ผู้แต่งได้พยายามทำโคลง ทำร่าย ทำกาพย์ ความอย่างเดียวกันวนไปวนมา แต่โคลงเห็นเป็นเกินกำลังยิ่งกว่าอย่างอื่นหมด เมื่อรวบรวมความที่ได้อ่านหนังสือนี้แล้ว เห็นว่าผู้แต่งหนังสือ เป็นผู้รักเกียรติรักยศ เชื่อฤทธิ์เดชานุภาพของกรมพระราชวัง ว่าดีกว่าวังหลวงทุกอย่าง เว้นไว้แต่เป็นน้อง จำต้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า วังหลวงก็ออกจะเกรงใจ ยอมยกย่องว่าเป็นหลักแผ่นดิน ถึงจะมีข้อขัดเคืองอย่างไร วังหลวงก็อดเอาเบาสู้ ความรักกันในระหว่างพี่น้องเป็นการบริบูรณ์มั่นคงดี ความมุ่งหมายที่จะป้องกันรักษาบ้านเมืองร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ข้าไททั้งสองฝ่ายต่างถือเป็นพวกเป็นเหล่า ข้อความทั้งปวงเป็นอย่างความคิดพวกวังหน้าแท้ ความคิดเช่นนี้มีตลอดมาทุกคราววังหน้าชั้นหลังๆ”
สำหรับกรณีความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวง ซึ่งเรื้อรังมาจนถึงสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ก่อนที่เจ้านายวังหน้าองค์สุดท้ายคือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (ยอร์ช วอชิงตัน หรือพระองค์เจ้ายอดยิ่ง) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเกิดพิพาทกับวังหลวงในรัชกาลที่ 5 นำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งอุปราชวังหน้า ให้มีตำแหน่ง ‘มกุฏราชกุมาร’ ขึ้นแทนที่เป็นรัชกาลแรกในเวลาต่อมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริถึงเหตุผลสำคัญที่นอกเหนือจากความขัดแย้งภายในแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับสาเหตุปัจจัยจากการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตก ดังเช่นที่พระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ 5 ที่ระบุไว้ในที่เดียวกันดังนี้:
“เมื่อรวบรวมความลงก็ไม่ผิดกับชาววังหน้าชั้นหลังๆ และไม่ปองร้ายกันถึงจะหักล้างกันลงข้างหนึ่ง เป็นแต่ประมูลอวดดีกันนินทากัน เตะตีนกัน ซึ่งนับว่าเป็นแบบอย่างอันไม่ให้ความเจริญแก่แผ่นดิน ซึ่งการสมาคมกับนานาประเทศใกล้ชิดกันเข้าเช่นปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าเป็นอยู่อย่างเดิมพลาดพลั้งจะมีอันตรายแก่แผ่นดินได้เป็นอันมาก” [15]
ประเด็นเรื่องเจ้านายเป็นพี่น้องรักใคร่กลมเกลียวกันดี แต่ข้าราชบริพารแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และต่างแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันนั้น ก็เป็นมุมมองที่ปรากฏในบันทึกเล่าของชนชั้นนำในช่วงรัชกาลที่ 1-3 อยู่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการมีตำแหน่งกษัตริย์วังหน้า ส่งผลให้ภายในพระนครมีผู้อำนาจเป็นพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ แม้ว่าโดยทางการหรือในทางทฤษฎีจะถือว่าวังหลวงมีอำนาจมากกว่า แต่ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่าวังหน้าก็มีบทบาทไม่น้อย ภายหลังความขัดแย้งนี้นำไปสู่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลาต่อมา
กล่าวโดยสรุป
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรจะจัดเป็นเจ้านายสตรีของกลุ่มการเมืองที่เห็นต่างและมีผลประโยชน์อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวังหลวง อีกทั้งยังมีบันทึกเขียนถึงความอยุติธรรมที่ฝ่ายวังหน้าได้รับหลังการสวรรคตของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรกับเจ้านายวังหน้าคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้ถูกคุกคามจากฝ่ายวังหลวง พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรยังทรงมีพระชนม์ยืนนานมาจนถึงสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 4
ผลงานบันทึกที่สะท้อนความเห็นต่างจากวังหลวง ก็ไม่ได้ถูกกำจัดหรือนำมาเผาทำลายทิ้งแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ได้รับความนิยมตีพิมพ์ซ้ำมากเท่างานนิพนธ์ของกรมหลวงนรินทรเทวี แต่ด้วยความที่มีมุมมองแบบสตรี ทำให้งานของทั้งสองกลายเป็นบันทึกหลักฐานชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ช่วยนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังสามารถใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบพระราชพงศาวดารได้เป็นอย่างดี ไม่มีบันทึกจากมุมมองแบบนี้หลายเรื่องก็คงสูญหายไปตามกาลเวลา
นี่คือคุณูปการของสตรีคนสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านช่วงหนึ่งของไทย และในแง่ประวัติศาสตร์นิพนธ์นี่คือผลงานของ ‘ผู้หญิง’ คนหนึ่งที่เขียนประวัติศาสตร์ให้กับ ‘พ่อ’ และ ‘พี่ชาย’ แม้ว่าทั้งพ่อและพี่ชายจะต่างก็สิ้นบุญบารมีไปแล้วก็ตาม
แม้แต่เรื่องชาติกำเนิด กรณีทั้งพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร นักองค์อี นักองค์เภา และเจ้านายสตรีฝ่ายเชื้อสายกัมพูชา ต่างก็เป็นอีกกรณีที่ยืนยันถึงความเป็นเครือญาติใกล้ชิดกันระหว่างชนชั้นนำสยามกับกัมพูชาในช่วงนับตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง เช่นเดียวกับที่มีชาวขะแมร์จำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์มาขุดคูคลอง สร้างวัด สร้างกำแพงป้อมปราการ จนเกิดเป็นกรุงเทพมหานครอย่างที่เรารู้จักกันภายหลังมานี้ นั่นเป็นยุคที่คนยังมิได้มีอคติเหยียดเชื้อชาติ (racism) กันรุนแรงเหมือนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ตรงข้าม การมีชนต่างด้าวท้าวต่างแดนเข้ามาอยู่อาศัยและเป็นเครือญาติ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นอำนาจและบุญบารมีของชนชั้นนำ ความแตกต่างระหว่างยุคสมัยนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เรายังต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมือที่จะนำไปสู่การครอบงำ แต่เป็นการตั้งคำถามและการให้แง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย และนั่นก็เป็นหนทางที่จะช่วยให้เราเป็นคนมีโลกทัศน์หูตากว้างไกล เข้าใจวิถีความเปลี่ยนแปลง รับความแตกต่างได้ และสามารถอยู่ร่วมโลกกับผู้อื่นได้ด้วยความสันติสุขต่อไป
ภาพ: (ซ้าย) พระบรมราชานุสาวรีย์ วังหน้า พระยาเสือ ที่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ ไฟล์จาก คมชัดลึก (ขวา) ภาพประกอบเนื้อหา ภาพวาดสตรีจากวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ไฟล์จาก Getty Images
เชิงอรรถ:
[1] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เคยอภิปรายไว้ที่หนึ่งว่า “ที่เรียกกันว่ากรมพระราชวังบวรคือเอานามวังมาเรียก” สะท้อนให้เห็นความสำคัญของวังหน้าที่มีต่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอยู่โดยนัยดู ความทรงจำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ. (กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, 2552), หน้า 10-11; เมื่อ พ.ศ.2425 สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโสมนัสวิหาร ได้รับเชิญจากพระราชวงศ์ให้แสดงเทศนาเกี่ยวกับประวัติพระราชวงศ์จักรี ก็ได้แสดงให้เห็นประเด็นนี้ไว้เช่นกันดู เทศนาพระราชประวัติและพระบวรราชประวัติ. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2557), หน้า 211-212.
[2] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์. (กรุงเทพฯ: โฆษิต, 2551), หน้า 152.
[3] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานวังหน้า. (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2553), หน้า 27-28; เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องเกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในส่วนที่ขัดแย้งกับวังหลวงนี้มักปรากฏในรูปมุขปาฐะ อาจจะเกี่ยวกับความพยายามกลบฝังไม่เรื่องปรากฏลายลักษณ์อักษร เมื่อมีบันทึกเล่าภายหลังก็จึงมักอ้างอิงคำบอกเล่าของชาววังรุ่นก่อน ไม่เว้นแม้แต่ในพระราชพงศาวดารก็มักอ้างอิงที่มาแบบนี้ ฉบับชำระในชั้นหลังก็ไม่ได้แก้ไขในส่วนนี้ พระราชพงศาวดารฉบับสำคัญอย่างเช่นฉบับพระราชหัตถเลขา ก็อ้างที่มาของข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า “มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปาก” ดู พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2535), หน้า 308.
[4] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1. (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2526), หน้า 69-70.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 151-152.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 152.
[7] นิพานวังน่า พระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2543), หน้า 18.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 37.
[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 34-35.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 35.
[11] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1, หน้า 178.
[12] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานวังหน้า, หน้า 36.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 38-39; ภายหลังเรื่องที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้อุปราชาภิเษกเป็นพระมหาอุปราชวังหน้าแต่ไม่ได้เสด็จไปประทับที่วังหน้านี้จะมีประกาศเป็นทางการว่า “ตามอย่างครั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต” (ดู ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 2 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2525), หน้า 82) จนเป็นที่มาของการสร้างความเชื่อว่ากรมขุนพรพินิต (พระเจ้าอุทุมพร) เมื่อครั้งเป็นเจ้านายวังหน้าในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนั้นทรงเสด็จไปประทับอยู่ที่วังสวนกระต่าย ไม่ได้ไปประทับวังหน้า เพราะกรมขุนอนุรักษ์มนตรี (พระเจ้าเอกทัศน์) ประทับอยู่วังหน้าแล้ว แต่หลักฐานจากจารึกวัดพรหมกัลยาราม (วัดใหม่ศรีโพธิ์) ทำขึ้นเมื่อพ.ศ.2296 (ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) ระบุว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จออกผนวชไปตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2296 ไม่ได้ประทับอยู่วังหน้าช้านานแล้ว เป็นช่วงเวลาก่อนที่กรมขุนพรพินิตจะได้รับอุปราชาภิเษกเป็นเจ้านายวังหน้าเมื่อ พ.ศ.2301 เป็นเวลากว่า 5 ปีเศษ แรกก็ทรงประทับอยู่ที่วังหน้าจันทรเกษม แต่ภายหลังเสด็จไปประทับวังสวนกระต่ายที่เดิมของพระองค์ก็เพราะได้เข้าเฝ้าถวายการดูแลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศที่กำลังประชวรใกล้สวรรคต ไม่เกี่ยวว่าทรงอุปราชาภิเษกแล้วไปประทับอยู่วังสวนกระต่ายไม่ได้อยู่วังหน้า แต่การเสด็จไปประทับวังสวนกระต่ายของกรมขุนพรพินิตถูกนำกลับมาเล่าใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การที่กรมหลวงอิศรสุนทรไม่ได้ประทับวังหน้าต้องไปประทับวังเดิม (ฝั่งธนบุรี) เบี่ยงเบนประเด็นออกไปจากการเมืองระหว่างวังหน้ากับวังหลวงในช่วงนั้นนั่นเอง
[14] จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2561), หน้า 227-230.
[15] เรื่องเดียวกัน, หน้า 230.