‘อีฟส์ แซงต์ โลรองต์’ ดีไซเนอร์ผู้ฟ้องนายจ้าง (ดิออร์) นำเงินมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง

‘อีฟส์ แซงต์ โลรองต์’ ดีไซเนอร์ผู้ฟ้องนายจ้าง (ดิออร์) นำเงินมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง

ชีวิตของ ‘อีฟส์ แซงต์ โลรองต์’ จากลูกคุณหนูที่ถูกล้อเลียนว่าเป็นเกย์ ตัดชุดแต่งตัวตุ๊กตากระดาษแก้เหงา กลายมาเป็นดีไซเนอร์ผู้รับช่วงต่อ ‘คริสเตียน ดิออร์’ แต่ต่อมาถูกไล่ออก จึงฟ้องดิออร์นำเงินมาเปิดแบรนด์ของตัวเอง

  • โลกใบน้อยของ แซงต์ โลรองต์ แวดล้อมไปด้วยเศษผ้าที่เขานำมาตัดเย็บเป็นชุดให้ตุ๊กตากระดาษ วันดีคืนดีเขาก็จัดแฟชั่นโชว์ชุดตุ๊กตากระดาษโดยมีน้องสาวสองคนได้รับเกียรติเป็นผู้ชมแถวหน้า 
  • หลังได้รับแจ้งข่าวร้ายว่า ตัวเองถูกปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้าดีไซเนอร์ของดิออร์ ความเครียดที่ประดังประเดทำให้เขาต้องกินยาระงับประสาทและรักษาอาการทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า 
  • ปิแอร์ แบร์เช เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ชาแนลอาจมอบเสรีภาพให้แก่ผู้หญิง แต่แซงต์ โลรองต์มอบอำนาจให้แก่พวกเธอ” 

YSL เป็นสามตัวอักษรที่มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ทั้งสามตัวอักษรนี้ มาจากชื่อของดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติเสื้อผ้าสตรี ‘อีฟส์ แซงต์ โลรองต์’ 

‘อีฟส์ อ็องเร โดนาต์ ดาฟ มาติเออร์ เเซงต์ โลรองต์’ เกิดเมื่อ 1 สิงหาคม 1936 ที่เมืองออรานของอัลจีเรีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เขาเติบโตมาในคฤหาสน์ริมชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน ในฐานะลูกชายเพียงคนเดียวของ ‘ชาร์ลส์ มาติเออร์ แซงต์ โลรองต์’ เจ้าของโรงภาพยนตร์และนายหน้าประกันภัย กับภรรยา ‘ลูเซียน อองเดรย์’ สาวสังคมที่รักการแต่งตัวเป็นชีวิตจิตใจ 

ด้วยความที่คลุกคลีกับแม่ที่รักสวยรักงาม แซงต์ โลรองต์ จึงสนใจแฟชั่นมาตั้งแต่เด็ก แม่ของเขาเล่าว่า ตอนอายุ 3 ขวบ เขาเคยร้องไห้งอแงเพราะไม่ชอบชุดที่เธอใส่ 

แม้ชีวิตของเขาจะดูสมบูรณ์แบบ เพราะได้อยู่ในคฤหาสน์ 3 ชั้นที่มีแสงแดดสาดส่องตลอดทั้งปี ทว่า แซงต์ โลรองต์ กลับมีชีวิตวัยเด็กที่ขมขื่น เขาถูกเพื่อนในโรงเรียนคาทอลิกล้อว่าเป็นคนรักร่วมเพศและถูกรังแกทุกวัน เด็กชายที่ขี้อายและโดดเดี่ยวจึงต้องสร้างโลกขึ้นมาอีกใบเพื่อหลีกหนีจากความเจ็บปวด


.

โลกใบน้อยของเขาแวดล้อมไปด้วยเศษผ้าที่เขานำมาตัดเย็บเป็นชุดให้ตุ๊กตากระดาษ วันดีคืนดีเขาก็จัดแฟชั่นโชว์ชุดตุ๊กตากระดาษโดยมีน้องสาวสองคนได้รับเกียรติเป็นผู้ชมแถวหน้า 

เขาพัฒนาทักษะแฟชั่นขึ้นทีละน้อย พอโตขึ้นมาหน่อยก็เปลี่ยนจากการตัดชุดให้ตุ๊กตากระดาษ มาเป็นการออกแบบและตัดชุดให้แม่กับน้องสาว 

เมื่อแม่เห็นถึงพรสวรรค์ของลูกชาย เธอแปลงร่างเป็นเจ๊ดัน จัดการให้ลูกชายได้พบกับเพื่อนของเธอซึ่งเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vogue ฝรั่งเศส นั่นคือ ‘มิเชล เดอ บรุนฮอฟ’ ในปี 1953

ประตูสู่อาชีพดีไซเนอร์ของ ‘แซงต์ โลรองต์’ 

เมื่อเดอ บรุนฮอฟ ได้เห็นสเก็ตช์ภาพแฟชั่นของแซงต์ โลรองต์ ก็เกิดความประทับใจในทันที เขาจึงแนะนำให้หนุ่มน้อยย้ายมาที่กรุงปารีส ซึ่งเวลานั้นได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว โดยมีดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง ‘คริสเตียน ดิออร์’ และ ‘อูแบร์ เดอ จีวองชี’ เป็นผู้ขับเคลื่อน

แซงต์ โลรองต์ ในวัย 17 ปี ได้ยินดังนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้านไปเก็บข้าวของแล้วย้ายมาอยู่ปารีส ก่อนจะสมัครเข้าเรียนที่ Chambre Syndicale de la Haute Couture เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานออกแบบ 

หลังจบการศึกษา เขาส่งผลงานไปประกวดในโครงการที่จัดโดย International Wool Secretariat และคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเดรสมาได้สำเร็จ ขณะที่ ‘คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์’ นักออกแบบชาวเยอรมัน ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘ราชาแห่งวงการแฟชั่น’ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘ชาแนล’ และ ‘เฟนดิ’ ชนะในประเภทเสื้อคลุม

ในปี 1957 เดอ บรุนฮอฟ ผู้เฝ้ามอง ‘เด็กมหัศจรรย์’ อย่างใกล้ชิด แนะนำแซงต์ โลรองต์ ให้กับ คริสเตียน ดิออร์ เพราะคิดแล้วว่าดีไซเนอร์หนุ่มคนนี้เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำงานกับแฟชั่นเฮาส์อย่างดิออร์ 

เช่นเดียวกัน เมื่อดิออร์ได้เห็นภาพสเก็ตช์ของ แซงต์ โลรองต์ เขาก็เกิดความประทับใจและตัดสินใจจ้างเด็กหนุ่มในทันที นับเป็นการเปิดประตูต้อนรับแซงต์ โลรองต์ สู่วงการแฟชั่นเป็นครั้งแรก

‘แซงต์ โลรองต์’ ภายใต้ปีกของ ‘คริสเตียน ดิออร์’

ช่วงปีแรก ๆ ที่แซงต์ โลรองต์ ทำงานในแฟชั่นเฮาส์ดิออร์ เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ต่างจากพนักงานทั่วไป เขาเริ่มจากงานส่วนล่างสุด ตั้งแต่การทำความสะอาดห้องทำงานและงานเย็บผ้า

แม้จะต้องทำงานอย่างหนัก แซงต์ โลรองต์ ยังพยายามส่งภาพสเก็ตช์ให้ดิออร์พิจารณาอยู่เสมอ ด้วยหวังว่าผลงานออกแบบของตัวเองจะถูกนำเข้าไปรวมในคอลเลกชันเสื้อผ้าชั้นสูงของดิออร์

หลายปีผ่านไป ดิออร์ยอมรับในฝีมือการออกแบบของแซงต์ โลรองต์ มากขึ้น ผลงานของเขาจึงได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชัน พร้อมกับที่ดิออร์พยายามฝึกฝนเขาอย่างเงียบ ๆ เพื่อให้งานของเขาออกมาสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น 

มีรายงานว่า แซงต์ โลรองต์เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เมอร์ซิเออร์ดิออร์ทำให้ผมตะลึง ผมพูดไม่ออกเวลาอยู่ต่อหน้าเขา เขาสอนพื้นฐานศิลปะให้กับผม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า ผมจะไม่มีวันลืมช่วงเวลาตลอดหลายปีที่ผมได้อยู่เคียงข้างเขา”

ภายใต้ปีกของดิออร์ ชื่อของหนุ่มน้อย ‘อีฟส์ อ็องเร โดนาต์ ดาฟ มาติเออร์ เเซงต์ โลรองต์’ เลื่องลือไปทั่วปารีส ในฐานะดาวรุ่งดวงใหม่ของวงการแฟชั่น 

ตอนนี้เองที่เขาตัดสินใจย่อชื่อของตัวเองให้สั้นลง เหลือเพียง ‘แซงต์ โลรองต์’ เพื่อให้คนจำง่ายขึ้น

กระทั่งอายุ 21 ปี ครอบครัวของแซงต์ โลรองต์ ต้องประหลาดใจอย่างหนัก เมื่ออยู่ ๆ ดิออร์ที่มีอายุ 52 ปี และยังดูแข็งแรงดี ออกปากขอให้แซงต์ โลรองต์ เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าดีไซเนอร์ของแฟชั่นเฮาส์ดิออร์

ราวกับเห็นอนาคต สุดท้ายดิออร์ก็จากไปในปีเดียวกันนั้นเอง ทำให้แซงต์ โลรองต์ ได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งรับหน้าที่ปกป้องอนาคตของแฟชั่นเฮาส์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ในเวลานั้น เขาได้รับการขนานนามว่า ‘เจ้าชายน้อยแห่งวงการแฟชั่น’ (The Little Prince of Fashion)

จุดแตกหักกับ ‘ดิออร์’ 

Ligne Trapéze ซึ่งเป็นคอลเลกชันแรกของแซงต์ โลรองต์ ในฐานะหัวหน้าดีไซเนอร์ประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่เพียงกอบกู้วิกฤตการเงินของดิออร์เท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าแฟชั่นของฝรั่งเศสได้อีกต่างหาก เรียกได้ว่าความสำเร็จของคอลเลกชัน Ligne Trapéze มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศส ชาวปารีเซียงถึงกับพากันยกย่องว่า “แซงต์ โลรองต์ ได้ช่วยชีวิตฝรั่งเศสเอาไว้”

แซงต์ โลรองต์ ยังแสดงความอัจฉริยะด้านการออกแบบด้วยการปรับคอลเลกชัน New Look of 1947 อันแสนโด่งดังของดิออร์ ให้ดูนุ่มนวลและมีทรวดทรงมากขึ้น กระทั่งดิออร์เริ่มเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกค้าที่มีชื่อเสียง หนึ่งในนั้นคือ ‘จักรพรรดินีฟาราห์แห่งอิหร่าน’ ซึ่งได้สั่งตัดชุดแต่งงานจากดีไซเนอร์ดาวรุ่งผู้นี้

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงปีแรก ๆ แต่คอลเลกชันในฤดูกาล 1960 ของแซงต์ โลรองต์ กลับถูกมองเป็นหายนะ ซึ่งนำมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของเขา 

ปีเดียวกันนั้นเอง แซงต์ โลรองต์ ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบกับกองทัพฝรั่งเศส ในสงครามประกาศอิสรภาพของอัลจีเรีย แต่เขาเป็นทหารได้เพียง 20 วันเท่านั้น เนื่องจากถูกรุมรังแกและเจอรับน้องอย่างหนักถึงกับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทหาร 

อาการของเขายิ่งย่ำแย่ลงไปอีก หลังได้รับแจ้งข่าวร้ายว่า ตัวเองถูกปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้าดีไซเนอร์ของดิออร์ และมีการแต่งตั้ง ‘มาร์ค โบฮัน’ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ความเครียดที่ประดังประเดทำให้เขาต้องกินยาระงับประสาทและถูกรักษาอาการทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ซึ่งในเวลาต่อมา แซงต์ โลรองต์ อ้างว่า ช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดในโรงพยาบาลนี้เองที่ทำให้เขาป่วยทางจิตและติดยาเสพติด)

หลังออกจากโรงพยาบาลทหาร เขาเดินหน้าฟ้องร้องดิออร์ในข้อหาละเมิดสัญญา ตามคำแนะนำของ ‘ปิแอร์ แบร์เช’ คนรักของเขา ท้ายที่สุดเขาก็ชนะคดี ได้รับเงินส่วนแบ่งจากกำไร ทำให้เขามีทุนตั้งตัว

แบร์เชเสนอให้แซงต์ โลรองต์ เปิดแฟชั่นเฮาส์ของตัวเอง พวกเขาช่วยกันหานักลงทุนเพิ่มเติม กระทั่งได้เงินจากมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ‘เจ แม็ค โรบินสัน’ แฟชั่นเฮาส์ที่ชื่อว่า ‘อีฟส์ แซงต์ โลรองต์’ หรือ YSL จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1961

ภายใต้แบรนด์ YSL ดีไซเนอร์หนุ่มไฟแรงได้ทะยานขึ้นสู่อีกระดับ เขากลายเป็นผู้สร้างกระแสด้วยสไตล์อันทันสมัย เสื้อแจ็กเก็ตซาฟารีและกางเกงรัดรูป ซึ่งต่อมากลายเป็นซิกเนเจอร์ลุคของ YSL ล้วนเป็นที่ถูกตาต้องใจกลุ่ม ‘beatnik’ (Beat Generation) หรือคนหนุ่มสาวในยุค 50s จนถึงช่วงกลางยุค 60s 

แซงต์ โลรองต์ ยังเป็นผู้ทลายเส้นแบ่งระหว่าง ‘ประโยชน์ใช้สอย’ และ ‘ความสง่างาม’ เขาได้นำแฟชั่นแนวสตรีทมาสู่รันเวย์ ตอบสนองต่อแรงปรารถนาของผู้หญิงในทศวรรษ 1960 ที่อยากเผยตัวตนให้โลกได้เห็นมากขึ้น 

ปี 1966 YSL เปิด ‘Saint Laurent Rive Gauche’ บูติกหรู สำหรับขายเสื้อผ้าพร้อมใส่ ที่ผลิตขึ้นอย่างประณีต แต่ขายในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติวงการแฟชั่นอย่างแท้จริง และทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่สร้างไลน์เสื้อผ้าพร้อมใส่ ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมในหมู่แฟน ๆ ของแบรนด์ YSL จนถึงทุกวันนี้

อีกหนึ่งมรดกแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแซงต์ โลรองต์ คือชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิง ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ ‘Le Smoking Look’ ชุดกางเกงขายาวตรง ตัดให้รับกับรูปร่างเว้าโค้งของผู้หญิง ด้านในสวมเสื้อเชิ้ตผ้าออร์แกนซ่าสีขาว ผูกทักซิโด้ และทับด้วยเทเลอร์แจ็กเก็ต 

ชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงนั้นมีที่มาจากกิจกรรมหลังกินมื้อค่ำ โดยผู้หญิงจะแยกไปอีกห้อง ในระหว่างที่ผู้ชายสูบบุหรี่และคุยเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ Le Smoking

ช่วงที่ชุดทักซิโด้ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับชุดของผู้ชายนี้ปรากฏสู่สาธารณชนถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะหลาย ๆ คนมองว่า เป็นการฝืนระเบียบของธรรมชาติที่กำหนดเพศด้วยการแต่งกาย อีกทั้งยังมองว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสับสนทางเพศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชุดดังกล่าวกลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

‘อีฟส์ แซงต์ โลรองต์’ ดีไซเนอร์ผู้ฟ้องนายจ้าง (ดิออร์) นำเงินมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง

‘อีฟส์ แซงต์ โลรองต์’ ดีไซเนอร์ผู้ฟ้องนายจ้าง (ดิออร์) นำเงินมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง

จากผลงานที่ยึดครองและปฏิวัติวงการแฟชั่นเกือบสามทศวรรษ จึงไม่แปลกเลยที่แซงต์ โลรองต์ จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา สมกับที่แบร์เชเคยกล่าวเอาไว้ว่า 

“ชาแนลอาจมอบเสรีภาพให้แก่ผู้หญิง แต่แซงต์ โลรองต์มอบอำนาจให้แก่พวกเธอ” 


แม้ความสัมพันธ์ระหว่างแซงต์ โลรองต์ กับแบร์เช จะสิ้นสุดลงในปี 1976 แต่พวกเขายังคงเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและเพื่อนที่สนิทกันไปตลอดชีวิต แซงต์ โลรองต์จะไม่ประสบความสำเร็จเลยหากปราศจากแบร์เช ซึ่งไม่เพียงแต่มีหัวทางธุรกิจ แต่ยังเข้าใจในสิ่งที่ทำให้แซงต์ โลรองต์ สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ช่วงเวลาที่มืดมิดของ ‘แซงต์ โลรองต์’  

ในช่วงที่ชื่อเสียงของเขาขึ้นสู่จุดสูงสุด แซงต์ โลรองต์ ได้หลงเข้าสู่วังวนชีวิตกลางคืน มีคนเห็นเขาอยู่ในไนต์คลับชื่อดัง Studio 54 บ่อยครั้ง เขามักจะไปปาร์ตี้กับราชินีแห่งบรอดเวย์ ‘ไลซา มินเนลลิ’ และดีไซเนอร์แถวหน้าชาวอเมริกัน ‘รอย ฮาลสตัน’ คนในแวดวงแฟชั่นเริ่มบ่นเรื่องที่เขาติดโคเคนและเอาแต่ปาร์ตี้ จนส่งผลกระทบต่องาน 

บางครั้งตัวเขาเองก็พบว่าตัวเองหลุดออกจากจุดที่สง่างามในโลกแฟชั่นเนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม แซงต์ โลรองต์ ได้กลับเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง แล้วพยายามกลับมาสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ในช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 1990 

แม้คอลเลกชันเสื้อผ้าพร้อมใส่ของเขาจะไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว แต่เขายังคงมีลูกค้าที่เหนียวแน่น เช่น ซูเปอร์สตาร์ชาวฝรั่งเศสอย่าง ‘กาทรีน เดอเนิฟว์’ และ นางแบบชาวโซมาเลีย ‘อีมาน’

ปี 1983 แซงต์ โลรองต์ กลายเป็นดีไซเนอร์ที่ยังมีชีวิตอยู่คนแรกที่ Metropolitan Museum of Art หรือ The Met ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ให้เกียรติจัดนิทรรศการเดี่ยวให้

ต่อมาในปี 1993 YSL มีหนี้สินจำนวนมาก แซงต์ โลรองต์ จึงได้ขายหุ้นให้ ‘ซาโนฟี’ ซึ่งต่อมาได้เข้ามาบริหาร Yves Saint Laurent Perfumes และ Yves Saint Laurent Couture เต็มตัว 

การจับมือกันของทั้งสองฝ่าย ทำให้ซาโนฟีกลายเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่มีอิทธิพลมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากลอรีอัล และเอสเต้ ลอเดอร์

ปี 2002 แซงต์ โลรองต์ ตัดสินใจเกษียณตัวเอง และเลือกใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ ‘วิลล่า โอเอซิส’ คฤหาสน์ในโมร็อกโก ซึ่งปัจจุบันเป็นปลายทางยอดนิยมของเหล่าสาวก YSL

แบร์เชเคยให้สัมภาษณ์ถึงการเกษียณของแซงต์ โลรองต์ ว่า เป็นการเลือกช่วงเวลาได้เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะในเวลานั้นโลกแฟชั่นเป็นเรื่องของเงินและการตลาด ไม่ใช่เรื่องของความสามารถดังเช่นในอดีต

แซงต์ โลรองต์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมองในปี 2008 แม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เขาก็ได้ทิ้งมรดกที่ยังคงเขย่าโลกแฟชั่นให้ตื่นตัวเสมอ 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

vogue

scmp

the-talks

france.fr

museeyslparis

lifestyleasia

luxury-shops

catwalkyourself

therobinreport