เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์แห่งบาห์เรน ผู้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในโลก เป็นเวลา 50 ปี

เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์แห่งบาห์เรน ผู้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในโลก เป็นเวลา 50 ปี

เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ แห่งบาห์เรน นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1970 กระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 2020

  • เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ รอดพ้นจากเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2011 ที่มีการประท้วงขับไล่พระองค์ลงจากตำแหน่งด้วยข้อหาคอร์รัปชัน
  • ชีค อิซา บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ พระเชษฐาของเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ หลังบาห์เรนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1971 ภายใต้การตกลงอย่างไม่เป็นทางการ ชีค อิซาทรงรับหน้าที่จัดการด้านการทูตและพิธีการ ขณะที่เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ทรงบริหารราชการและเศรษฐกิจ

พระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ของ เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ ปรากฏให้เห็นในทุกพื้นที่ของประเทศเล็ก ๆ อย่างบาห์เรน พระองค์ทรงมีเกาะส่วนตัวเพื่อใช้พบปะกับบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ พร้อมด้วยท่าจอดเรือและสวนที่เต็มไปด้วยนกยูงและเนื้อทรายเดินเตร่อยู่ทั่วบริเวณ

เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ซึ่งทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูราชวงศ์ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ปกครองประเทศด้วยสไตล์อันเก่าแก่ของผู้นำประเทศอ่าวอาหรับ ซึ่งได้ถูกท้าทายในการประท้วงเมื่อปี 2011 จากชาวนิกายชีอะห์ที่แสดงท่าทีต่อต้านพระองค์เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน

แม้พระราชอำนาจจะมีน้อยลงและเปราะบางมากขึ้นในระยะหลัง แต่พระองค์ทรงเป็นนักวางแผนตัวฉกาจที่สามารถดึงความสนใจเข้ามาสู่ราชอาณาจักรอย่างได้ผล ในขณะที่คนรุ่นใหม่แก่งแย่งกันเพื่อชิงอำนาจ

‘คริสติน สมิธ ดีวาน’ นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบัน Arab Gulf States ในวอชิงตัน มองว่า เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ทรงเป็นตัวแทนของขั้วอนุรักษนิยมในหลาย ๆ ด้าน ไม่เพียงแต่อายุและความอาวุโส พระองค์ยังทรงเป็นตัวแทนของความเข้าใจทางสังคมแบบเก่าอันมีรากฐานมาจากอภิสิทธิ์ของราชวงศ์ 

เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1935 ในราชวงศ์ที่ปกครองบาห์เรนมาตั้งแต่ปี 1783 พระองค์เป็นโอรสของ ชีค ซัลมาน บิน ฮาเหม็ด อัลเคาะลีฟะฮ์ ที่ปกครองบาห์เรนตั้งแต่ปี 1942 - 1961 จึงทรงเรียนรู้การปกครองจากพระบิดาตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 7 พรรษา ในระหว่างที่ประเทศเกาะแห่งนี้ยังคงเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ

ชีค อิซา บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ พระเชษฐาของเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ ขึ้นครองอำนาจในปี 1961 และได้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ เมื่อบาห์เรนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1971 ภายใต้การตกลงอย่างไม่เป็นทางการ ชีคอิซาทรงรับหน้าที่จัดการด้านการทูตและพิธีการ ในขณะที่เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ทรงบริหารราชการและเศรษฐกิจ

ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1970 เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์เคยเป็นประธานสภาแห่งรัฐบาห์เรน และประธานสภากลาโหมสูงสุดมาก่อน

หลายปีต่อมา บาห์เรนพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากความพยายามที่จะก้าวไปไกลกว่าการพึ่งพาน้ำมันสำรองที่นับวันมีแต่จะลดน้อยลง ในเวลานั้นกรุงมานามาของบาห์เรนทำหน้าที่ไม่ต่างจากนครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ท้ายที่สุดได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การบริหาร และการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค

การเปิดใช้สะพานข้ามทะเล King Fahd Causeway ในปี 1986 ทำให้ประเทศเกาะอย่างบาห์เรนสามารถเดินทางไปมาหาสู่ทางรถกับเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยและทรงอำนาจอย่างซาอุดีอาระเบียได้เป็นครั้งแรก ทั้งยังเป็นการเปิดประเทศต้อนรับชาวตะวันตกที่ต้องการเพลิดเพลินกับไนต์คลับและชายหาดที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยแอลกอฮอล์ของบาห์เรน

นอกจากซาอุดีอาระเบียแล้ว ในยุคของเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บาห์เรนยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นฐานที่ตั้งของกองเรือที่ห้าของกองทัพเรือสหรัฐฯ อีกด้วย

แต่ขณะเดียวกัน พระนามของเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ ได้เข้าไปพัวพันกับข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น คดีของผู้ผลิตอะลูมิเนียม Alcoa ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้นายหน้าในลอนดอนเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บาห์เรน ซึ่งท้ายที่สุด Alcoa ยินยอมจ่ายค่าปรับ 384 ล้านดอลลาร์ให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อยุติคดีในปี 2014

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมานามาเองก็แสดงความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ โดยมีการส่งข้อความผ่านโทรเลขว่า “เจ้าชายมีการเข้าถึงรายได้แบบไม่ลงบัญชี จากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เช่น  Bahrain Petroleum Co. และ aluminium Bahrain ซึ่งเป็นผู้ผลิตอะลูมิเนียมของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ‘โรนัลด์ อี. นอยมันน์’ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าชีคเคาะลีฟะฮ์ไม่ได้มีอิทธิพลเชิงลบทั้งหมด เพราะพระองค์ได้สร้างประเทศบาห์เรนให้ทันสมัยยิ่งขึ้น”

ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตเหล่านั้นได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวชีอะห์ที่จนถึงวันนี้ยังคงคร่ำครวญว่าถูกรัฐบาลเลือกปฏิบัติ 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ผู้ประท้วงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินขบวนอาหรับสปริงที่ผุดขึ้นทั่วตะวันออกกลาง ได้ออกมาชุมนุมตามท้องถนนและเข้ายึดวงเวียน Pearl Roundabout เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและออกมาทวงถามถึงอนาคตของประเทศ

ผู้ประท้วงบางคนเรียกร้องให้บาห์เรนจัดตั้งระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกหลายคนเรียกร้องให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่ปกครองประเทศมายาวนาน รวมถึงสมาชิกราชวงศ์นิกายซุนนีคนอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงองค์กษัตริย์ด้วย 

เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือนมีนาคม 2011 เมื่อผู้ประท้วงหลายพันคนปิดล้อมทำเนียบนายกรัฐมนตรี ขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็เรียกร้องให้เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ก้าวลงจากตำแหน่ง เนื่องจากข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต และการปราบปรามการชุมนุมที่ร้ายแรงก่อนหน้านี้ 

ผู้ประท้วงยังได้โบกธนบัตรหนึ่งดีนาร์ แสดงความไม่พอใจต่อข้อกล่าวหาที่ว่า เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ Financial Harbour ในราคาเพียงดีนาร์เดียว

‘โรเบิร์ต เกตส์’ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดี ‘บารัก โอบามา’ เขียนในบันทึกว่า เขาได้เรียกร้องให้กษัตริย์บาห์เรนในขณะนั้นบีบให้เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า “ประชาชนเกือบทุกคนไม่ชอบเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ โดยเฉพาะชาวชีอะห์”

เกตส์ระบุด้วยว่า มกุฎราชกุมารซัลมานตรัสว่า พระองค์พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หากได้รับการร้องขอ และในวันข้างหน้าจะต้องมีตัวแทนชาวชีอะห์ในรัฐบาลด้วย ทว่ามกุฎราชกุมารซึ่งเป็นเสียงแห่งเหตุผล กลับไม่มีอำนาจมากพอ

หลายปีก่อนหน้านั้น มกุฎราชกุมารทรงพยายามขัดขวางการควบคุมเศรษฐกิจของเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์  โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์กษัตริย์อย่างเห็นได้ชัด

แต่ไม่นาน เจ้าหน้าที่บาห์เรนก็เข้าบดขยี้การประท้วงด้วยการสนับสนุนจากกองทหารซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

นับตั้งแต่การจลาจลครั้งนั้น รัฐบาลได้จำกัดเสรีภาพสื่อ ยุบกลุ่มฝ่ายค้านทั้งหมด และพยายามปิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางออนไลน์ ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง นักข่าว และผู้นำฝ่ายค้าน ถูกจองจำ เช่นเดียวกับผู้ประท้วงจำนวนมาก

นักเคลื่อนไหวอ้างด้วยว่า ประชาชนหลายร้อยคนถูกถอดสัญชาติบาห์เรน และมีชาย 5 คนถูกประหารชีวิต หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการร้าย ในการพิจารณาคดีที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า เป็นการละเมิดกระบวนการอันชอบธรรมอย่างร้ายแรง

ด้านเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ ที่ได้รับการยกย่องจากบางคนว่าเป็น ‘สายแข็ง’ ตรัสถึงอาหรับสปริงว่า “เป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความตาย ความโกลาหล และการทำลายล้าง” พร้อมกับปฏิเสธข้อกล่าวหาขัดขวางความพยายามในการปฏิรูปการเมืองในบาห์เรน 

ยังคงมีความไม่สงบเกิดขึ้นบ้างในช่วงปีต่อ ๆ มา โดยเป็นการปะทะกันระหว่างชาวชีอะห์กับตำรวจปราบจลาจล และกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ ซึ่งรัฐบาลบาห์เรนกล่าวหาว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ก่อเหตุวางระเบิดจนทำให้กองกำลังความมั่นคงบาดเจ็บล้มตายหลายนาย

ในขณะที่สมาชิกสายแข็งคนอื่น ๆ ของราชวงศ์ผลักดันให้มีการเผชิญหน้ากับชาวชีอะห์ เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ยังทรงสามารถทำงานได้กับทั้งชาวซุนนีและชีอะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานผ่านความสัมพันธ์ของพระองค์กับชุมชนธุรกิจของบาห์เรน 

อิทธิพลของเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ค่อย ๆ ลดน้อยลง ในระหว่างที่พระองค์เผชิญปัญหาสุขภาพ พระองค์ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเดือนพฤศจิกายน 2015 แต่ต่อมาก็ออกจากโรงพยาบาล และเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อรับการนัดหมายทางการแพทย์

ต่อมา พระองค์ทรงเดินทางไปเยอรมนีเพื่อรับการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด และประทับอยู่ที่นั่นนานหลายเดือน ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปี 2020 ที่สหรัฐอเมริกา ขณะมีพระชนมายุ 84 พรรษา โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการสิ้นพระชนม์ แต่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าพระองค์มีอาการหัวใจวายอย่างน้อย 2 ครั้ง และเคยเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ 

สมเด็จพระราชาธิบดีฮาห์หมัด บิน อิซา อัลเคาะลีฟะฮ์ ทรงแต่งตั้งเจ้าชายซัลมาน บินฮะหมัด อัลเคาะลีฟะฮ์ มกุฎราชกุมาร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของบาห์เรน 

 

อ้างอิง:

scmp

omanobserver

bbc

man.vogue

statecraft