‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ ซามูไรผู้ยอมเป็นพันธมิตรกับคู่แค้น สู่การล้มโชกุน-ปฏิรูปเมจิ

‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ ซามูไรผู้ยอมเป็นพันธมิตรกับคู่แค้น สู่การล้มโชกุน-ปฏิรูปเมจิ

‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ ซามูไรจากเกาะทางใต้ ที่เป็นเสมือนดินแดนบ้านนอก ยอมผนึกเป็นพันธมิตรกับคู่แค้น นำมาสู่การโค่นล้มโชกุน-ปฏิรูปเมจิ พลิกโฉมหน้าญี่ปุ่น

  • ‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ ซามูไรที่มีบทบาทในการเจรจา ส่งผลให้เกิดพันธมิตรระหว่างฝักฝ่ายที่เคยเป็นคู่แค้นมาก่อน จนนำไปสู่การโค่นล้มโชกุน และปฏิรูปเมจิ 
  • ด้วยภูมิหลังของตระกูล และแคว้นกำเนิด ทำให้เรียวมะ ถูกจัดว่าเป็นซามูไรชั้นต่ำ ความกดดันนี้ยิ่งสุมความไม่พอใจให้คนรุ่นเดียวกับเขาท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง พวกเขาหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย

สำหรับชาวตะวันตก หนังฮอลลีวูดอย่าง The Last Samurai อาจจะเป็นภาพจำที่ดีต่อการจบสิ้นของยุคซามูไรของญี่ปุ่น แต่สำหรับคนญี่ปุ่นหรือผู้มีประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจะจินตนาการถึงภาพแบบอื่น

การปิดฉากสังคมศักดินาญี่ปุ่นที่มีโชกุนเป็นศูนย์กลางอำนาจ มีหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่ชาติตะวันตกแผ่ขยายแสนยานุภาพทางการทหารและภูมิปัญญาเข้ามา รวมไปถึงปัญหาภายในของเจ้าศักดินาในแคว้นต่าง ๆ ของญี่ปุ่น

ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นช่วงที่ก่อกำเนิดของบุคคลสำคัญทางการเมืองจำนวนมากที่สร้างรากฐานให้การเมืองยุคใหม่ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘ยุคปฏิรูปเมจิ’ (ที่ชาวไทยจำนวนหนึ่งมักเปรียบเทียบกับสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ความเป็นจริงมีความแตกต่างกันอย่างแทบจะเทียบกันไม่ได้เลย) บางคนเป็นซามูไรในตระกูลสูง หลายคนมาจากซามูไรชั้นต่ำ หรือบางคนไม่ได้อยู่ในชนชั้นซามูไรก็มี หนึ่งในนั้นก็คือ ซากาโมโตะ เรียวมะ ซามูไรบ้านนอกจากเกาะทางใต้ของญี่ปุ่น

1. อัศดงคตของระบอบโชกุนญี่ปุ่น

หลังจากที่ตระกูลโทกูงาวะสามารถรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ให้เป็นเอกภาพได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา แม้ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว จักรพรรดิอยู่จุดสูงสุดที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เกียวโต ตอนกลางของญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริง อำนาจอยู่ในมือโชกุนตระกูลโทกูงาวะที่สร้างปราสาทศูนย์กลางอยู่ที่เอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ตำแหน่งอยู่ทางทิศตะวันออกของญี่ปุ่น

ภายใต้การคุมอำนาจของโชกุนบนเกาะแห่งนี้จะมีเจ้าแคว้นหรือไดเมียวที่มีปราสาท แคว้นและกำลังทหารของตนเองที่มีระบบควบคุมผู้คนอย่างเข้มงวด การเดินทางออกจากแคว้นต้องได้รับอนุญาต การลักลอบออกจากแคว้นถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

รัฐบาลโทกูงาวะปกครองแคว้นต่าง ๆ หลังจากยึดอำนาจได้จากชัยชนะในสงครามเซกิงาฮาระ ปี 1600 ระหว่างฝ่ายที่อยู่กับโทกูงาวะ อิเอยาสึ และฝ่ายที่สนับสนุนผู้มีอำนาจเดิมที่เป็นเชื้อสายโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ฝ่ายที่เข้าร่วมกับโทกูงาวะจึงเป็นแคว้นที่ได้รับความไว้วางใจกว่า

แคว้นต่าง ๆ จะมีไดเมียวที่เป็นเจ้าแคว้นปกครอง รัฐบาลโทกูงาวะยังได้สร้างระบบซันกิน-โกไต ที่บีบให้ไดเมียวมีพันธะที่จะต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อแสดงความจงรักภักดี ส่งเมียและทายาทไปเป็นตัวประกันที่เมืองเอโดะ ซึ่งไดเมียวก็จะสร้างเขตบ้านพักของเจ้าแควันในเอโดะ นี่เป็นกลไกที่ทำให้ไดเมียวสูญเสียทรัพยากรไปด้วย ว่ากันว่าการเดินทางของไดเมียวเช่นนั้น ต้องใช้เงินมากถึง 70-80% ของรายได้ [1] ระบบนี้จึงทำให้รัฐบาลกลางเข้มแข็ง และแคว้นต่าง ๆ รวมถึงซามูไรที่คำนึงถึงเกียรติยศของตนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่เนือง ๆ

ญี่ปุ่นเติบโตมาด้วยฐานวัฒนธรรมแบบศักดินาที่มีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างแรงกล้า ชนชั้นนักรบอย่างซามูไร คือชั้นบนสุด รองลงมาคือชาวนา เนื่องจากว่าเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงคนทั้งประเทศ มีเกียรติและมีบุญคุณ ถัดมาคือช่างฝีมือ ส่วนชนชั้นต่ำที่สุดคือพ่อค้า ตามแนวคิดขงจื่อถือว่า พ่อค้าเป็นอาชีพที่เอารัดเอาเปรียบผู้คนในสังคมซื้อขายในสิ่งที่ผู้อื่นผลิตขึ้นมา [2] นั่นหมายถึง ตามจารีตนี้ไปกันไม่ได้กับแนวคิดทุนนิยมที่พ่อค้าจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดความมั่งคั่ง

แต่เอาเข้าจริง เมื่อเงินมันหอมหวาน ก็ย่อมสร้างอำนาจให้เหล่าพ่อค้าได้ โชกุนได้ใช้พ่อค้าและผู้แทนการเงินที่ชื่อว่าวรรณะต่ำที่สุดนี้ดูแลผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ [3] ทั้งยังมีการจัดตั้งสมาคมพ่อค้าที่ผูกขาดทางการค้าซึ่งถูกกำกับโดยโชกุนและไดเมียวแคว้นต่าง ๆ [4]

ระบบซันกิน-โกไตได้ทำให้การเดินทางระหว่างแคว้นที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เอโดะคึกคักและกลายเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ ทำให้เกิด ‘ชนชั้นนายทุน’ ที่สามารถสั่งสมทุนได้อย่างมหาศาล ตรงกันข้ามกับซามูไร ชนชั้นนักรบที่ต้องสูญเสียทรัพยากรจากระบบดังกล่าว ว่ากันว่าไดเมียวจำต้องกู้เงินจากพ่อค้า และเมื่อไม่สามารถชำระทรัพย์สินได้ก็ต้องหาทางออกโดยการดองกันด้วยการแต่งงานกับญาติของตน ขายตำแหน่งซามูไร

ดังนั้น พ่อค้าจึงสามารถยกสถานะตนเองขึ้นมาเป็นซามูไรได้ [5] ตระกูลของซากาโมโตะ เรียวมะเองก็เป็นพ่อค้า และสถานภาพซามูไรของเขาครอบครัวก็มาจากการแยกสายตระกูลออกมาและยื่นขอตำแหน่งซามูไรในปี 1771 ในตำแหน่ง ‘โกชิ’ หรือซามูไรชนบท [6]

ในสมการแห่งอำนาจนี้ กษัตริย์เป็นแค่เพียงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองใด ๆ แต่ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ผู้คนในราชสำนักจะเป็นตัวแปรสำคัญในกระแสคลื่นลมทางการเมืองอันเชี่ยวกราก

ซากาโมโตะ เรียวมะ ในปี 1867 ไฟล์ public domain

2. เรือดำและกระแสราชาชาตินิยม กับ การเข้ากรุงของเรียวมะ

การเข้ามาของเรือดำของสหรัฐอเมริกาโดยแมทธิว เพอร์รี่ เมื่อปี 1853 ถือเป็นการเปิดศักราชของปัญหาและโอกาสของรัฐบาลโชกุน เดิมญี่ปุ่นนั้นปิดประเทศไม่ค้าขายกับชาวตะวันตกในยุคโทกูงาวะ (แต่ยอมให้ติดต่อกับดัทช์ในพื้นที่จำกัด) ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ญี่ปุ่นยังคงเติบโตบนฐานวัฒนธรรมอนุรักษนิยมแบบเดิม เมื่อเจอกับอำนาจตะวันตกแบบใหม่ทั้งการทหารและการทูตจึงทำให้รัฐบาลเสียศูนย์ นโยบายปิดประเทศแบบเดิมใช้ไม่ได้ การถูกบังคับให้ลงนามกับชาติตะวันตกนำมาซึ่งความอดสู รัฐบาลเจอทั้งศึกนอก และศึกใน เพราะบางแคว้นเริ่มเห็นโอกาสที่จะถอยออกจากการควบคุมที่เข้มงวดมาหลายร้อยปี

ขณะเดียวกันกระแสชาตินิยมในหมู่ซามูไรชนชั้นนักรบก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น แถมยังเป็น ‘ราชาชาตินิยม’ เมื่ออำนาจทางวัฒนธรรมที่กดขี่แต่ไร้สมรรถภาพอย่างรัฐบาลทหารโทกูงาวะเริ่มถูกตั้งคำถาม มรดกทางวัฒนธรรมการเมืองหนึ่งที่เหลืออยู่คือ องค์พระจักรพรรดิ ด้วยการไม่แปดเปื้อนทางการเมืองโดยตรงมาหลายร้อยปี ทำให้สถาบันนี้กลายเป็นความหวังใหม่ของคนรุ่นใหม่ได้นำไปสู่แนวคิดที่เรียกร้องให้รัฐบาลคืนพระราชอำนาจไปสู่จักรพรรดิในเวลาต่อมา

ซากาโมโตะ เรียวมะ (1836-1867) [7] เป็นน้องเล็กคนที่ 5 ของตระกูลซากาโมโตะ [8] ตามจารีตแล้วพี่ชายคนโตอย่างกอมเปอิ จะเป็นผู้สืบทอดตระกูลและกิจการ แม้จะมีตำแหน่งซามูไร ตระกูลนี้ก็ยังมีโรงผลิตสาเกที่มั่งคั่ง

ส่วนเรียวมะ ตามบันทึกแล้วมีความมุ่งมั่นที่จะไปทางซามูไรมากกว่า ว่ากันว่าตามขนบการเรียนแบบขงจื่อแล้ว เขาไม่เอาไหนในการเรียนเชิงบุ๋น ผิดกับเชิงบู๊ เขาฝึกวิชาดาบจนเชี่ยวชาญ ฝีมือดาบ บวกกับบ้านมีอันจะกิน ทำให้เรียวมะได้โอกาสไปเรียนยังสำนักดาบที่เอโดะในปี 1853 ปีเดียวกับที่เรือดำเข้ามา ทั้งยังถูกเกณฑ์ให้เป็นสมาชิกกองกำลังปกป้องชายฝั่ง เขาเขียนจดหมายหาพ่อเล่าว่า น่าจะเกิดสงครามในไม่ช้าและหวังจะตัดหัวชาวต่างชาติให้ได้ก่อนกลับโทสะ [9] แสดงให้เห็นว่าเขาได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศของเอโดะที่เป็นศูนย์กลางพายุของความเปลี่ยนแปลงแล้ว

เมื่อเทียบกับแคว้นที่เขาเกิดมาคือ โทสะ หรือเมืองโคจิในปัจจุบันบนเกาะชิโกกุ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น แคว้นนี้คือฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามเซกิงาฮาระ ทำให้เจ้าแควันถูกแทนที่ด้วยไดเมียวที่สนิทกับโทกูงาวะ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการแบ่งชั้นอย่างรุนแรงระหว่างซามูไรชั้นสูง และซามูไรชั้นต่ำ เรียวมะกับเพื่อนพ้องอยู่ในฝ่ายหลัง ความกดดันดังกล่าวในรุ่นของเรียวมะ สุมความไม่พอใจให้พวกเขาท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยน พวกเขาหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง การกระโจนเข้าสู่กระแสราชาชาตินิยมจึงเป็นเส้นทางที่ลัดตรง และง่ายกับซามูไรหนุ่มเลือดร้อนอย่างพวกเขา

 

3. ยุคสมัยของซามูไรหนุ่มหัวรุนแรง กับฐานอำนาจของแคว้น และจินตนาการใหม่ของชาติ

ความผันผวนทางการเมืองไม่ได้คุยกันด้วยดาบซามูไรหรือปืนเท่านั้น เกิดแนวความคิดทางการเมืองที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการ ‘สร้างพันธมิตรระหว่างโชกุนและองค์จักรพรรดิ’ (Kōbu gattai) ที่มีรัฐบาลโทกูงาวะเป็นศูนย์กลาง หรือ ‘เทิดทูนองค์จักรพรรดิ ขับไล่คนเถื่อนต่างชาติ’ (Sonnō jōi) ที่มีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลาง โดยชุดความคิดนี้ เหล่าผู้รักชาติจะใช้เป็นธงนำทางความคิด

เหล่าซามูไรรุ่นหนุ่มกระทงนี้เองที่ก่อความรุนแรงขึ้น หมุดหมายสำคัญก็คือ การลอบสังหารมหาเสนาบดี หรือไทโร นาม อิอิ นาโอสุเกะ เขาถูกเกลียดชังจากการจัดการผู้เห็นต่างจากแนวคิดของตน รวมไปถึงยังเป็นผู้ลงนามสนธิสัญญาแฮริส อิอิถูกลอบสังหารโดยซามูไรหนุ่มจากผู้รักชาติจากแคว้นมิโตะในปี 1860 บางคนเห็นว่านี่คือ การเริ่มต้นของยุคผู้รักชาติและกลายเป็นตัวอย่างของการแสดงออกของผู้รักชาติด้วยการสังเวยชีวิตฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนตะวันตก พบว่า ผู้รักชาติได้ก่อตัวอย่างมีนัยสำคัญในแคว้นตอนใต้อย่างโจชู ซัตสึมะ หรือโทสะ

ตัวละครสำคัญอีกหนึ่งคือทาเคชิ ซุยซัน (ต่อมาเปลี่ยนเป็นทาเคชิ ฮันเปตะ) ผู้นำซามูไรหนุ่มในโทสะ (ในหมู่ซามูไรชั้นต่ำ) ได้รับการสนับสนุนจากแคว้นให้เดินทางไปเอโดะเพื่อดูกิจการเกี่ยวกับสำนักดาบอย่างน้อย 2 ครั้ง ทาเคชิได้ทำความรู้จักกับซามูไรหัวรุนแรงจากแคว้นทางใต้อย่างโจชูที่มีนักคิดคนสำคัญอย่างโยชิดะ โชอิน เป็นต้นธารทางความคิด เขายังได้พบปะกับบุคคลสำคัญของแคว้นซัตสึมะ รวมไปถึงผู้จงรักภักดีในจากแคว้นอื่น ๆ ที่อยู่ในเอโดะ [10] ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ทาเคชิมั่นใจมากขึ้นและกลับแคว้นไปตั้งกลุ่มโทสะผู้จงรักภักดีในปี 1861 แน่นอนว่า คำว่า จงรักภักดี ย่อมหมายถึงภักดีต่อองค์จักรพรรดิ เรียวมะก็มีชื่ออยู่ในนั้น [11]

ทาเคชิยังทำให้กลุ่มโทสะผู้จงรักภักดีมีบทบาทในเอโดะร่วมกับซามูไรหนุ่มจากแคว้นโจชู มิโตะและซัตสึมะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเลือดรักชาติ ในที่สุด เขาและซามูไรหนุ่มในแคว้นดังกล่าวพยายามผลักดันแนวคิดการต่อต้านชาวตะวันตกและรวมพลังทางการเมืองเพื่อสนับสนุนราชสำนักไปยังเจ้าแควัน

ระหว่างนี้แคว้นต่าง ๆ เริ่มขยับเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านโชกุน โทสะกลับมีแนวทางที่จงรักภักดีกับโชกุนมากกว่าใคร ทำให้เหล่าผู้รักชาติในโทสะเริ่มไม่พอใจ จนถึงกับหนีออกจากแคว้นไปร่วมกับโจชู พึงเข้าใจว่า ในยุคดังกล่าวแคว้นต่าง ๆ มีระเบียบควบคุมคนอย่างชัดเจน ทุกคนที่ขึ้นทะเบียนในแคว้น หากจะเดินทางออกนอกแคว้นจะต้องได้รับการอนุญาตเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าผิดกฎหมายร้ายแรง ในที่สุดก็เป็นคราวของเรียวมะ เขาหนีออกจากแคว้นไปเมื่อเดือนเมษายน 1862 พร้อมกับเพื่อนที่ชื่อซาวามูระ [12] แต่นั่นก็ได้สร้างปัญหาใหญ่ให้กับตระกูลซากาโมโตะ และส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้จงรักภักดีในโทสะไม่น้อย

การต้องทำอะไรสักอย่างของทาเคชิ จึงลงเอยที่การลอบสังหารโยชิดะ โทโย เสนาบดีของแคว้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 1862 นาสึ ชินโง หนึ่งในผู้ลอบสังหารได้ตัดหัวโทโยไปประจานไว้ที่ลานประหารกลางเมือง พร้อมทั้งเขียนป้ายประณามความฉ้อฉล และหนีออกจากแคว้นไปอาศัยอยู่ที่โจชูในที่สุด [13]

ช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการลอบสังหารและตัดหัวประจานเหล่าผู้คนฝ่ายรัฐบาลในที่สาธารณะพร้อมทั้งประกาศ “สวรรค์ลงทัณฑ์” (เทนชู) โดยเหล่าซามูไรผู้รักชาติ คนเหล่านี้ได้สร้างบรรยากาศความน่าสะพรึงกลัวไปทั่วเมืองเกียวโต [14] บทบาทของซามูไรรุ่นใหม่ การใช้ความรุนแรงคือคำตอบ แต่ก็จะนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมแก่พวกเขาในเวลาต่อมา

 

4. การค้นพบโลกกว้างและการเติบใหญ่ของเรียวมะ และช่วงขาลงของผู้รักชาติ

ขณะที่เรียวมะที่หนีออกจากโทสะเพราะเห็นว่า แคว้นของตนไม่มีศักยภาพมากพอ จึงพยายามออกไปร่วมกับแคว้นที่มีความเป็นไปได้อื่น เดิมตั้งใจว่าจะร่วมกับแคว้นซัตสึมะ แต่ก็ต้องพลิกผันเนื่องจากแคว้นนี้เปลี่ยนท่าทีไปร่วมมือกับรัฐบาลกลาง

ช่วงนั้นเขาสับสนอย่างมาก เขาหวังว่าจะได้สังหารคนของรัฐบาลโชกุนที่สนับสนุนตะวันตกสักคน จนได้เป้าหมายคือ คัตสึ ไคชู แต่แทนที่เขาจะตัดหัวคัตสึ การได้พูดคุยและถูกหว่านล้อมทำให้เรียวมะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาประทับใจจนต้องขอให้คัตสึรับเป็นศิษย์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1862-1863 [15]

ภายใต้การทำงานกับคัตสึที่มีทั้งพรรคพวกในรัฐบาลจำนวนมาก ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตะวันตก และโครงการใหญ่อย่างโรงเรียนสอนการเดินเรือที่เฮียวโกะ (โกเบในปัจจุบัน) ทำให้ในช่วงไม่กี่ปี เรียวมะได้พัฒนาตัวเองจากซามูไรหนุ่มรักชาติที่รู้จักแต่สโลแกนถวายคืนพระราชอำนาจและขับไล่ชาวต่างชาติ มาเป็นผู้ที่เข้าใจความซับซ้อนของสถานการณ์และกลายเป็นมือประสานงาน ระดมทุน ระดมคนให้กับคัตสึในระดับที่ถือว่าเป็นมือขวาก็ว่าได้

ในช่วงเดียวกัน ความวุ่นวายในเกียวโตจากมือสังหารผู้รักชาติ และการรวมตัวกันของกลุ่มโรนิน ในบริเวณดังกล่าวได้สร้างความไม่สบายใจและก่อความหวาดผวาไปทั่วทำให้ เจ้าแคว้นไอสึได้ตั้งกลุ่มชินเซนกุมิจากโรนินเพื่อใช้ปราบโรนินที่ผู้ก่อความรุนแรงในเกียวโตเมื่อเดือนกันยายน 1862 [16] เช่นเดียวกับกลุ่มปราบซามูไรผู้รักชาติอื่น ๆ อีกในเวลาใกล้เคียงกัน

ช่วงนี้ถือเป็นขาลงของฝ่ายผู้จงรักภักดีหัวรุนแรง ที่แคว้นโทสะ ทาเคชิและพวกพ้องก็ถูกจับกุมและสอบสวนกรณีฆาตกรรมเสนาบดีแคว้นคนเก่า ในปี 1863 กว่าที่ตัวเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกสั่งให้คว้านท้องก็ต้องรอจนถึงปี 1865 [17] ยังมีการปราบกบฏที่โรงแรมเทราดายะ เกียวโต เมื่อเดือนพฤษภาคม 1862 [18] โดยคำสั่งชนชั้นนำแคว้นซัตสึมะ สมาชิกในการชุมนุมดังกล่าวส่วนใหญ่ซามูไรจากแคว้นโจชู เหตุการณ์นี้แสดงถึงจุดยืนของซัตสึมะที่อยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้น

แคว้นซัตสึมะก็พยายามเล่นการเมืองเพื่อต่อรองอำนาจในแนวปฏิรูปจนมีบทบาททำให้รัฐบาลโชกุนปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง เช่น การนัดหมายให้โชกุนเดินทางมาเกียวโตเพื่อมาปรึกษางานราชการกับจักรพรรดิ และการยกเลิกการส่งตัวประกันไปอยู่เอโดะ [19]

อย่างไรก็ตาม แคว้นซัตสึมะกลับเจอปัญหาใหญ่เมื่อซามูไรได้สังหารชาวอังกฤษในข้อหาขวางขบวนเดินทางเจ้านายเมื่อเดือนกันยายน จนนำไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่ของแคว้นกับอังกฤษ และถูกโจมตีโดยอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม 1863 ขณะที่แคว้นโจชูเปิดฉากโจมตีเรือชาติตะวันตกในเดือนมิถุนายน 1863 ณ ช่องแคบชิโมโนเซกิ แต่ก็พ่ายแพ้ [20] แคว้นตอนใต้กำลังลุกเป็นไฟ

ซากาโมโตะ เรียวมะ (坂本竜馬, 1835 – 1867) ไฟล์ public domain

5. แคว้นซัตสึมะ-โจชู ความแค้นแบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ กับการฟื้นฟูและปรับปรุงอำนาจของรัฐบาลโชกุน

ทั้งโจชูและซัตสึมะล้วนก็รู้ว่า กองทัพของชาวตะวันตกนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน เดิมที่ทาเคชิคิดว่าจะสร้างพันธมิตรระหว่างโจชู ซัตสึมะ และโทสะนั้นถือว่าเป็นพันธมิตรแห่งความเป็นไปได้ แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่พลิกผันแล้ว ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น

ตามภูมิศาสตร์แล้ว การเดินทางของเจ้าแคว้นเพื่อไปแสดงความจงรักภักดีในระบบซันกิน-โกไต ของเมืองฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ไปยังเอโดะฝั่งตะวันออก จะผ่านเกียวโตที่อยู่ตรงกลางของเส้นทาง ในยุคที่อ้างการคืนพระราชอำนาจ เกียวโตจึงกลายเป็นที่มั่นของผู้รักชาติ กองทัพโจชูเคลื่อนไหวโดยส่งกำลังไปเพื่อคุ้มครองจักรพรรดิและพยายามสร้างความคุ้นเคยกับชนชั้นในราชสำนัก โจชูพยายามเสนอให้ราชสำนักทำสงครามต่อต้านตะวันตกตามแนวคิด ‘เทิดทูนองค์จักรพรรดิ ขับไล่คนเถื่อนต่างชาติ’

การที่โจชูมีอิทธิพลอยู่ ไม่เป็นที่สบอารมณ์ต่อผู้นำแคว้นซัตสึมะ ทั้งนี้ โจชูทำท่าจะมีอิทธิพลต่อราชสำนักมากเกินไป จนในเดือนกันยายน 1863 แคว้นไอสึและซัตสึมะใช้กองทัพยึดอำนาจควบคุมพระราชวังที่เกียวโตคืนและขับไล่กองทัพโจชูจนต้องล่าถอยกำลังกลับไปยังแคว้นของตน [21] นอกจากนั้นกลุ่มคนที่รวมตัวกันสนับสนุนจักรพรรดิทั้งหลายก็ถูกกวาดล้างและสังหารในเวลาต่อมา ขณะนั้นชนชั้นนำในราชสำนักที่อยู่ฝ่ายโจชูก็ต้องลี้ภัยไปกับโจชูด้วย โจชูได้สั่งสมความแค้น ถึงขนาดว่าชาวโจชูโกรธเคืองชาวซัตสึมะมากกว่าพวกรัฐบาลโชกุนที่ควรจะเป็นศัตรูมากกว่าเสียอีก เห็นได้จากการโจมตีเรือของซัตสึมะในเดือนกุมภาพันธ์ 1864 หลังจากนั้นชาวโจชูยังเผาเรือสัตซึมะที่ท่าเรือเบ็บปุ [22] ขณะที่โจชูถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของราชสำนัก

ฝั่งโชกุนได้มีการปรับฐานอำนาจใหม่ให้กลับมามีฐานที่ระบบราชการแบบโทกูงาวะที่รวมศูนย์อำนาจมากขึ้น [23] คัตสึ ไคชูถูกปลดในปี 1964 โรงเรียนสอนการเดินเรือถูกยุบ เรียวมะที่เป็นซามูไรไร้สังกัดได้รับการฝากฝังให้ไปอยู่ที่แคว้นซัตสึมะ การย้ายฐานมาสู่ที่นี่ นำไปสู่โอกาสทางการเมืองใหม่ของเขาไปด้วย

 

7. พันธมิตรซัตสึมะ-โจชู โค่นระบอบโชกุน

ที่โจชู นากาโอกะ ชินตาโร ชาวโทสะอีกคนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ เขาเคยอยู่ในกลุ่มผู้จงรักภักดีโทสะเช่นเดียวกับเรียวมะ เมื่อทาเคชิถูกจับ เขาหนีเข้าไปยังโจชู ทั้งยังร่วมรบกับกองทัพโจชูที่ถูกโจมตีโดยกองทัพไอสึและซัตสึมะที่เกียวโต ถ้าเทียบกับเรียวมะที่มีอารมณ์ขันและเป็นคนสบาย ๆ แล้ว เขาเป็นคนที่จริงจังมากกว่า และมีแนวคิดต่อต้านตะวันตกอย่างชัดแจ้ง [24]

ในเวลาต่อมา แคว้นโจชูได้อยู่ในมือกลุ่มซามูไรหนุ่มผู้รักชาติที่มีความเชี่ยวชาญในการรบแผนใหม่ และตกเป็นเป้าการโจมตีของรัฐบาลโชกุนเพื่อแสดงอำนาจเชือดไก่ให้ลิงดูในเวลาต่อมา

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวพบว่า มีโอกาสที่น่าสนใจเกิดขึ้น ด้วยขุมพลังซามูไรรุ่นใหม่อย่างไซโกะ ทากาโมริ แห่งซัตสึมะ หรือทากาสึงิ ชินซากุ, คิโดะ โคอิน แห่งโจชู ทำให้การผนึกกำลังจาก 2 พันธมิตรเพื่อต่อกรกับรัฐบาลโชกุนมีความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับที่ทาเคชิเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับเรียวมะ

ปัญหาใหญ่ก็คือ การทลายกำแพงความแค้นและอคติระหว่างกันที่เคยมีมาอย่างไร ผู้เดินเกมประสานงานนี้คือ เรียวมะ กับ นากาโอกะ

เรียวมะใช้ทักษะการเดินเรือจัดตั้งบริษัทโดยใช้เรือของซัตสึมะขนส่งสินค้าเพื่อค้าขายที่นางาซากิ [25] งานแรกของพวกเขาคือ ช่วยเหลือส่งอาวุธให้กับโจชูเพราะว่าถูกรัฐบาลโชกุนปิดกั้นการซื้อขาย เรียวมะได้รับการรับรองจากไซโก ทากาโมริ ครั้งนั้นโจชูซื้อปืนไรเฟิลไป 7,000 กระบอก การช่วยเหลือโจชูตามมาในเดือนธันวาคม 1865 เมื่อซัตสึมะซื้อเรือกลไฟให้กับโจชู ตอมาเรียวมะได้จัดหาข้าวสารสำหรับกองทัพซัตสึมะจากโจชู เนื่องจากแถบนั้นปลูกข้าวได้น้อย [26]

นอกจากผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ เรียวมะและนาคาโอกะยังเห็นว่า ต้องดึงเอาชนชั้นสูงที่ลี้ภัยไปมาเป็นเกียรติและรับรองพันธมิตรที่เป็นไปได้ยากนี้ด้วย อย่าลืมว่าซัตสึมะได้พากองทัพมาขับไล่จนทำให้โจชูและชนชั้นสูงเหล่านี้ต้องออกไปจากเกียวโต ความยากก็คือ จะทำยังไงให้ทั้งสองแคว้นไว้วางใจกันมากพอ เพราะในซัตสึมะเอง ปีกผู้รักชาติอย่างไซโก ทากาโมริ ก็ต้องเอาชนะฝ่ายอนุรักษนิยมในแคว้นให้ได้เช่นกัน

การก้าวข้ามศักดิ์ศรีและเกียรติยศที่เคยถูกดูหมิ่นเป็นเรื่องใหญ่ของซามูไรผู้ถือเกียรติเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เดือนกุมภาพันธ์ 1866 คิโดะ โคอิน เดินทางไปที่สำนักงานของซัตสึมะที่เกียวโตเพื่อเจรจากับผู้นำซัตสึมะ เขาได้พบกับโคมัตสึ ทาเทวากิ, ไซโก คาทาโมริ และโอคุโบ โทชิมิจิ เป็นเวลา 10 กว่าวัน เรียวมะไม่ได้อยู่ด้วย เมื่อเขาไปถึงเกียวโตในเดือนมีนาคม ปรากฏว่า ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เลย คิโดะฟ้องว่า พวกไซโก ไม่มีใครอ้างถึงการเป็นพันธมิตรร่วมกับเขาเลย และเตรียมจะกลับโจชูแล้ว เรียวมะต้องพยายามเกลี้ยกล่อมทั้งสองฝ่ายจนนำไปสู่การตกลงกัน โดยมีเรียวมะเป็นพยาน

ข้อตกลงร่วมมีหลักการก็คือ การคืนสถานะของโจชูไปสู่ตำแหน่งที่ถูกที่ควรกับราชสำนัก และป้องกันแผนโจมตีโจชูโดยกองทัพโชกุน [27] จากนั้นคิโดะก็กลับโจชูด้วยเรือของซัตสึมะ แค่นี้การทำลายโจชูของฝ่ายโชกุนก็ไม่ง่ายดังเดิม แต่นี่ยังเป็นขั้นแรกของการทำลายระบอบโชกุนอยู่

หลังจากเจรจาจบลง เรียวมะกลายเป็นเหยื่อความรุนแรง เมื่อเขาพักที่โรงแรมเทราดายะ แล้วถูกโจมตีด้วยกองกำลังตำรวจของรัฐบาล ครั้งนี้เขารอดด้วยการเตือนภัยของหญิงสาวที่จะกลายเป็นเมียของเขาในเวลาต่อมา เขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกฟันที่มือและนิ้ว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1866 ราวสองทุ่มครึ่ง เรียวมะเอาตัวรอดด้วยการหนีมากับซามูไรจากโจชู ในเวลาต่อมาก็ได้รับการคุ้มครองจากไซโก และส่งไปยังแคว้นซัตสึมะเพื่อรักษาตัว [28]

เดือนกรกฎาคม 1866 กองทัพของโชกุนที่ยกมาโจมตีโจชูเพื่อทำสงครามสั่งสอนก็พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ด้วยความเข้มแข็งของกองทัพสมัยใหม่ของโจชู พันธมิตรที่เหนียวแน่นจากซัตสึมะ และกองทัพศักดินาล้าหลังของโชกุน ครั้งนั้นเรียวมะมีส่วนร่วมรบกับกองเรือบริเวณช่องแคบชิโมโนเซกิ สงครามจบลงพร้อมกับมรณกรรมของโชกุนอิเอโมจิด้วยอาการสุขภาพ เป็นโชกุนโยชิโนบุที่มาประกาศสงบศึก

ในระยะยาว การสู้กับระบอบเดิมนั้น จำเป็นต้องมีแคว้นที่สาม นั่นก็คือ โทสะแคว้นบ้านเกิดของเรียวมะนั่นเอง ภายในแคว้นได้เปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อจะหาที่ยืน ทำให้ซามูไรหนุ่มที่ได้รับความไว้วางใจอย่างโกโตะ โชจิโร่ มีบทบาทในการนำความเปลี่ยนแปลงร่วมกับการหารือกับอดีตเจ้าแคว้นแต่ยังทรงอิทธิพลอย่างยามาอูจิ โยโดะ เขาพบกันในปี 1867 เรียวมะได้ใช้ทักษะการเดินเรือและการเจรจาของเขาอีกครั้งเพื่อทำงานร่วมกับแคว้นโทสะเพื่อจะย้ายข้างการสนับสนุนโชกุนมาสู่ฝั่งผู้รักชาติ ขณะที่เรียวมะได้ก่อตั้งไคเอ็นไต หรือกองกำลังสนับสนุนทางทะเลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็ได้รับเงินทุนจากแคว้นโทสะเป็นทุน 15,000 เรียว [29] การร่วมมือนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในความยากลำบาก เพราะเกิดขึ้นบนความขัดแย้งระหว่างซามูไรชั้นสูงและซามูไรชั้นต่ำในโทสะ ที่แค้นเคืองซึ่งกันและกัน กรณีความตายของโทโย และทาเคชิ [30] เรียวมะกลายเป็นคนกลางที่ต้องประนีประนอมบนความยากลำบากอีกครั้ง

หมากเกมนี้ แคว้นโทสะจะเป็นผู้ที่เสนอให้โชกุนถวายคืนพระราชอำนาจ ก่อนที่จะถูกใช้กำลังทางทหารจากซัตสึมะและโจชูคุกคาม ที่น่าสนใจก็คือ แผนเพื่อคืนอำนาจดังกล่าวมีที่มาจากแผน 8 ประการของเรียวมะที่มีหลักการคือ อำนาจทางการเมืองทั้งหมดจะกลับไปสู่ราชสำนัก จักรพรรดิจะเป็นผู้ออกกฎหมาย, ให้มีทั้งสภาสูงและสภาล่าง, ผู้มีความสามารถทั้งเจ้า ชนชั้นสูงและประชาชนควรได้รับตำแหน่งเสนาบดี ตำแหน่งตามจารีตที่ไม่มีหน้าที่ควรถูกยุบทิ้ง, กิจการต่างประเทศควรมีระเบียบควบคุมที่ชัดเจน, กฎหมายและระเบียบแบบเดิมควรถูกปรับเปลี่ยนและแทนที่ด้วยกฎหมายที่จำเป็น, กองทัพเรือควรได้รับการสนับสนุนให้ขยายกิจการ, ราชองครักษ์ควรจัดตั้งเพื่อป้องกันเมืองหลวง และค่าของสินค้าและเงินควรถูกนำมาเทียบกันได้กับของต่างประเทศ ภาษาเช่นนี้จะไปปรากฏอยู่ในคำสาบานของกฎบัตรในปี 1868 [31] ถ้าโชกุนไม่รับหลักการนี้ กองกำลังโจชู ซัตสึมะ กระทั่งโทสะปีกที่ต้องการใช้กำลังทหารเป็นคำตอบก็รอที่จะเผด็จศึกรัฐบาลเช่นกัน

เอกสารที่โยโดะให้โชกุนพิจารณาที่มี 8 ประการก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากข้อเสนอที่เรียวมะเคยเขียน แต่มีการปรับปรุงใหม่ [32] ในที่สุดการตัดสินใจอันยากลำบากก็ได้คำตอบว่า โชกุนยอมถวายคืนพระราชอำนาจ และได้ถวายฎีกาต่อจักรพรรดิเมจิเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1868 [33] เอโดะได้เปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียวในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจงรักภักดีไม่ไว้ใจ เกรงโชกุนจะหวงแหนอำนาจอยู่ จึงได้ทำการรัฐประหารโดยกองกำลังซัตสึมะ โจชู และโทสะ พวกเขาประกาศ ‘ปฏิรูปเมจิ’ แต่กองทัพโชกุนไม่ยอม พวกเขายกทัพเข้าเกียวโต ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ไปจบลงในปี 1869 ผลคือฝ่ายโชกุนพ่ายแพ้ ปิดฉากอำนาจโทกูงาวะอย่างเป็นทางการ อำนาจรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพมากขึ้น ปี 1871 ยกเลิกระบบแคว้นเปลี่ยนเป็นระบบใหม่คือจังหวัด

น่าเสียดายที่เรียวมะ และนาคาโอกะ อยู่ไม่ถึงวันที่ปฏิรูปเมจิ พวกเขาถูกลอบสังหารยามค่ำคืนของวันที่ 10 ธันวาคม 1867 ณ โรงแรมโอมิยะ เมืองเกียวโต [34] ปิดฉากชีวิตอันโลดโผนก่อนจะถึงยุคสมัยที่พวกเขาใฝ่ฝัน

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องเล่าของจักรพรรดินีที่เชื่อว่า เรียวมะเป็นเทพผู้พิทักษ์ญี่ปุ่น ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะเอาชนะรัสเซียได้ที่ช่องแคบสึชิมะ เธอฝันเห็นเรียวมะ 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 เขาแนะนำตัวว่า “ฝ่าบาท, ข้าน้อยเกิดที่โทสะและมีนามว่าซากาโมโตะ เรียวมะ ขอถวายพระพรให้ฝ่าบาทได้อยู่อย่างสงบสุข ข้าน้อยขอเป็นผู้ดูแลกองทัพเรือของพระจักรพรรดิอย่างสุดความสามารถ” [35]

เรียวมะจึงไม่ได้เป็นแค่ฮีโร่ แต่ยังกลายเป็นเทพผู้พิทักษ์ชาติจากปากคำของคนสำคัญในราชสำนัก

อนึ่ง ความพยายามถวายคืนพระราชอำนาจเช่นนี้ ก็ทำให้สมดุลอำนาจการเมืองเปลี่ยนไป และทำให้จักรพรรดิเรืองอำนาจขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมไปกับการก้าวกระโดดไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมและการสร้างอาณานิคม ก่อนที่ระบบจักรพรรดิเช่นนี้จะพบกับจุดจบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการด้วยอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดในโลกสมัยนั้นอย่างระเบิดปรมาณูทั้งที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ เมืองท่าเรือสำคัญตอนใต้ โดยเฉพาะนางาซากิที่เคยเป็นพื้นที่ค้าขายสำคัญในยุคก่อนปฏิรูปเมจิ ที่เป็นฐานที่มั่นและคอนเนกชั่นของซากาโมโตะ เรียวมะ

 

เรื่อง: ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภาพ: ซากาโมโตะ เรียวมะ ไฟล์ public domain

เชิงอรรถ:

[1] ยุพา คลังสุวรรณ, "พ่อค้าเอโดะ", วารสารญี่ปุ่นศึกษา, 17 : 2 (2001) : 5  

[2] ยุพา คลังสุวรรณ, "พ่อค้าเอโดะ", วารสารญี่ปุ่นศึกษา, 17 : 2 (2001) : 1  

[3] ยุพา คลังสุวรรณ, "พ่อค้าเอโดะ", วารสารญี่ปุ่นศึกษา, 17 : 2 (2001) : 2

[4] ยุพา คลังสุวรรณ, "พ่อค้าเอโดะ", วารสารญี่ปุ่นศึกษา, 17 : 2 (2001) : 4-5

[5] ยุพา คลังสุวรรณ, "พ่อค้าเอโดะ", วารสารญี่ปุ่นศึกษา, 17 : 2 (2001) : 6

[6] Marius B. Jansen, Sakamoto Ryoma and the  Meiji Restoration (California : Stanford Press, 1961), pp.78-79

[7] รายละเอียดเหตุการณ์ต่างๆที่ระบุปี อยู่ในภาคผนวกส่วน Chronological tables ใน Marius B. Jansen, ibid., pp.379-381

[8] Marius B. Jansen, ibid., pp.77-79

[9] Marius B. Jansen, ibid., pp.82-83

[10] Marius B. Jansen, ibid., p.107

[11] Marius B. Jansen, ibid., p.108-109

[12] Marius B. Jansen, ibid., p.117

[13] Marius B. Jansen, ibid., p.119

[14] Marius B. Jansen, ibid., p.132

[15] Marius B. Jansen, ibid., p.162-163

[16] Marius B. Jansen, ibid., p.138

[17] Marius B. Jansen, ibid., p.149

[18] Marius B. Jansen, ibid., p.128

[19] Marius B. Jansen, ibid., pp.129-130

[20] Marius B. Jansen, ibid., p.138

[21] Marius B. Jansen, ibid., p.140

[22] Marius B. Jansen, ibid., pp.141-142

[23] Marius B. Jansen, ibid., p.181

[24] Marius B. Jansen, ibid., pp.196, 199-200

[25] Marius B. Jansen, ibid., pp.216-217

[26] Marius B. Jansen, ibid., p. 217

[27] Marius B. Jansen, ibid., p. 219-220

[28] Marius B. Jansen, ibid., p. 228-231

[29] Marius B. Jansen, ibid., p. 266-268

[30] Marius B. Jansen, ibid., p. 269

[31] Marius B. Jansen, ibid., p. 295-296

[32] Marius B. Jansen, ibid., p. 316-317

[33] Marius B. Jansen, ibid., p. 330

[34] อ่านฉากลอบสังหารที่ได้มาจากปากคำของนากาโอกะ ชินทาโร่ได้ใน Marius B. Jansen, ibid., p. 343-344

[35] Marius B. Jansen, ibid., p. 346