แกะรอย ‘สุนทรภู่’ ในนิราศเรื่องแรก ไปเมืองแกลง ด้วยวัตถุประสงค์อะไรและทำไม?

แกะรอย ‘สุนทรภู่’ ในนิราศเรื่องแรก ไปเมืองแกลง ด้วยวัตถุประสงค์อะไรและทำไม?

ค้นปริศนาซ่อนเร้นที่ถูกข้ามผ่านอย่างมีนัยยะสำคัญกับเรื่องราวของ “สุนทรภู่” กับผลงาน “นิราศเมืองแกลง” ในประเด็นที่ว่า สุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลงตามความในนิราศนั้นด้วยวัตถุประสงค์อะไรและไปทำไม? ซึ่งที่ผ่านมามีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในศาสตร์ภาษาไทยและประวัติศาสตร์วรรณกรรมพยายามไขปริศนานี้ แต่ก็ยังไม่คำตอบชัดจนถึงวันนี้

  • “สุนทรภู่” ถือเป็นมหากวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
  • หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อของสุนทรภู่ คือ นิราศเมืองแกลง ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกในชีวิตของสุนทรภู่
  • มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในศาสตร์ภาษาไทยและประวัติศาสตร์วรรณกรรมพยายามไขปริศนาว่า สุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลงตามความในนิราศเพื่ออะไรและไปทำไม แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด 

ปริศนาซ่อนเร้นที่ถูกข้ามผ่าน (เหลือบตามองบน) อย่างมีนัยยะสำคัญ

“สุนทรภู่” มหากวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้ประพันธ์นิราศเมืองแกลง นิราศเรื่องแรกในชีวิตของเขาที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย  เป็นงานประพันธ์ตามขนบนิยมของคนรุ่นต้นรัตนโกสินทร์ที่กลายมาเป็นต้นแบบทั้งในด้านฉันทลักษณ์ที่เรียกว่า “กลอนแปด” และรูปแบบบันทึกการเดินทางที่เรียกว่า “นิราศ” พร่ำเพ้อเวิ่นเว้อถึงความทุกข์ยากในการเดินทางต่างๆ นานา ลงท้ายใจความสำคัญนั้นคือ การคร่ำครวญคิดถึงคนรัก บ้างก็ว่าเป็นกลอนจีบสาว-จีบผู้ ของคนรุ่นปู่ของปู่ (ว่ากันไป)  

แต่ในท่ามกลางความเป็นที่รู้จักกันดีนั้น  นิราศเรื่องนี้ของสุนทรภู่กลับมีปริศนาลี้ลับหนึ่ง  เป็นคำถามที่สุดแสนจะเรียบง่าย  เพราะเป็นสิ่งที่ผู้อ่านควรจะต้องรับรู้รับทราบกันอยู่แล้ว คือประเด็นที่ว่าสุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลงตามความในนิราศนั้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรและไปทำไม?  ที่ผ่านมามีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในศาสตร์ภาษาไทยและประวัติศาสตร์วรรณกรรมพยายามไขปริศนานี้  แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดมาเท่าทุกวันนี้ 

ตัวบท (text) ของนิราศเอง  ก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา  เพราะมหากวีของเราไม่ได้ระบุไว้ตรงๆ ว่า ที่ไปเดินทางลำบากลำบนครั้งนั้นเพราะเหตุอันใด  ผิดกับนิราศเรื่องอื่นที่มักจะมีถ้อยความเฉลยเอาไว้  ไม่สร้างความยุ่งยากแก่คนรุ่นหลัง   บทความนี้ผู้เขียนจะเสนออีกมุมมองหนึ่งในการพิจารณา  โดยนำเอาวิธีการดั้งเดิมของประวัติศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์วรรณกรรมชิ้นนี้    

แม้ว่าจะเป็นยุคที่มีผู้กล่าวไว้พอสมควรแล้วว่า วัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์นั้นไม่มีความสำคัญถึงกับผูกขาดความหมายของวรรณกรรมได้อีกต่อไป ทว่าหากมองวรรณกรรมเรื่องนี้ (นิราศเมืองแกลง) ในฐานะวรรณกรรมที่ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์แล้ว  ประเด็นวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์ยังคงมีความสำคัญ  เช่นเดียวกับทุกเอกสารหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ที่นักศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นจะต้องทราบว่า เอกสารชิ้นนั้นๆ แต่งขึ้นเมื่อใด ผู้แต่งเป็นใคร แต่งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อย่างไร  เพราะหากไม่เข้าใจประเด็นข้างต้นนี้อย่างแน่ชัดแล้ว  นักศึกษาประวัติศาสตร์จะไม่สามารถใช้เอกสารไม่ว่าชิ้นใดในฐานะ “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ได้

มันอาจจะดู “เชย” ไปบ้างสำหรับแวดวงวรรณกรรมศึกษา  แต่สำหรับการศึกษาทางประวัติศาสตร์แล้ว  ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทราบเป็นพื้นฐานก่อนเป็นลำดับแรก  ไม่ผ่านตรงนี้  ส่วนอื่นๆ จะมีอันให้ต้องยกเลิกไป จะนำไปใช้อ้างอิงต่อไม่ได้เป็นอันขาด  เพราะจะทำให้การวิเคราะห์ส่วนอื่นๆ เกิดความผิดพลาดตามมาได้  วรรณกรรมทรงคุณค่าหลายเรื่องไม่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ก็เพราะไม่เคยผ่านกระบวนการตรงนี้       

“นิราศเรื่องเมืองแกลงแต่งมาฝาก  เหมือนขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย”

ไม่ได้จะไปบวช (ดังที่ครูและนักวิชาการภาษาไทยสอนสั่งกันมา)

เมื่อผู้แต่ง (สุนทรภู่) ไม่ได้ระบุเอาไว้โดยตรง  ก็เป็นเหตุให้คนรุ่นหลังตีความกันไปต่างๆ นานา  การตีความแรกที่เป็นที่เชื่อถือกันก็คือว่าสุนทรภู่ไปเมืองแกลงเพื่อจะไปบวชอยู่กับบิดา  เพราะเชื่อว่าปีที่ไปเมืองแกลงนั้นคือปีพ.ศ.2349 ก่อนหน้าที่นิราศเมืองแกลงจะได้รับการคัดออกมาขายเผยแพร่แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2350 ตรงกับสมัยปลายรัชกาลที่ 1 ( 2 ปีก่อนหน้าพระพุทธยอดฟ้าฯ จะทรงสวรรคต)  

สมัยนั้นแม้ชาวยุโรปและชาติใกล้เคียงจะเคยได้สัมผัสและรู้จักเทคโนโลยีการพิมพ์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แล้ว  แต่สำหรับสยาม เทคโนโลยีนี้เพิ่งจะมีการนำเข้ามาก็ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยหมอบรัดเลย์ที่มีการระบุว่า นิราศเมืองแกลงตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2350 นั้นจึงไม่ใช่การตีพิมพ์เป็นหนังสือตามแบบที่รู้จักกันในปัจจุบัน หากแต่การเผยแพร่วรรณกรรมครั้งเมื่อปลายรัชกาลที่ 1 นั้นยังคงใช้วิธีคัดลอกลงสมุดไทยใบลานกันอยู่ 

สุนทรภู่ที่ลายมือไม่สวย  เมื่อแต่งนิราศจบลงแล้ว  ก็จึงมักจะนำเอาต้นฉบับไปให้คนที่ลายมือสวยคัดลอกเอาไปขายที่ตลาด  คนคัดลอกต้นฉบับหรือ “รับจ้างเขียน” จึงเป็นอาชีพหนึ่งของผู้รู้หนังสือสมัยก่อนที่จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ เป็นที่น่าเสียดายว่าสำหรับนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่นี้ไม่ปรากฏชื่อผู้คัดลอก ผู้คัดลอกคนสำคัญที่สุนทรภู่มักใช้บริการก็อย่างเช่น “คุณพุ่ม” สาวงามผู้มีสมญาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” แต่คุณพุ่มเป็นคนรุ่นรัชกาลที่ 3-5  บุคคลแรกๆ ที่คัดลอกนิราศเมืองแกลงที่แต่งตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 1 จึงไม่ใช่คุณพุ่ม 

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการที่ต้องเผยแพร่ด้วยการคัดลอกลงสมุดเช่นนี้  ปีที่มีต้นฉบับออกมาเผยแพร่ครั้งแรกอย่างต้นปี พ.ศ.2350 จึงไม่ใช่ปีที่แต่งต้นฉบับ  ปีแต่งจึงต้องเป็นปีย้อนหลังไปอีก  ตกปี พ.ศ.2349  ซึ่งก็ควรจะต้องเป็นปีเดียวกับที่แต่งเสร็จด้วย  และด้วยเหตุดังนั้นปีที่เดินทางไปนิราศ  ก็จะต้องย้อนหลังไปกว่าปี 2349 อีก  อย่างน้อยๆ ก็ต้องเป็นปลายปี พ.ศ. 2348

จากเดิมที่เชื่อกันว่าเดินทางไปเมืองแกลง พ.ศ.2349 เป็นปีที่สุนทรภู่มีอายุครบ 20 ปี เพราะจาก “รำพันพิลาป” วรรณกรรมลึกลับเชิงอัตชีวประวัติของสุนทรภู่เอง สุนทรภู่เกิดเมื่อปีจุลศักราช 1148 ตรงกับ พ.ศ.2329 นับถึงพ.ศ.2349 ก็จะมีอายุครบบวชเป็นพระตามประเพณี  แต่เมื่อพิจารณากระบวนการสร้างวรรณกรรมของยุคสมัยโน้นแล้ว  ปีที่สุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลง  จะต้องเป็นก่อน พ.ศ.2349 ไปอีก  ดังนั้นปีที่สุนทรภู่ไปเมืองแกลงจริงๆ จึงควรเป็นปี พ.ศ.2348  ซึ่งเป็นปีที่สุนทรภู่ยังอายุ 19 ปี  ยังไม่ครบบวช   

อีกทั้งในเนื้อความนิราศเมืองแกลงเองก็ยังไม่มีสักแห่งที่ระบุว่า  ที่ไปบ้านกร่ำนั้นเพื่อจะไปบวชอยู่กับบิดา  หรือต่อให้สุนทรภู่จะบวชก็ควรบวชที่วัดในสังกัดวังหลัง กรุงเทพฯ ที่เขาเกิดและโตมา  ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อไปบวชในถิ่นทุรกันดาร  และหากสุนทรภู่ไปบวชจริง  ก็ต้องเล่าไว้ในนิราศ  ไม่ใช่จบโดยการเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยที่ไม่ได้ห่มผ้าเหลืองแต่อย่างใด  สุนทรภู่จึงไม่ได้ไปเมืองแกลงเพื่อจะไปบวช เหมือนอย่างที่นักวิชาการและครูภาษาไทยสอนกันมา  หากแต่ไปด้วยวัตถุประสงค์อื่น

“จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย  แม้นเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา” (???)  

เมื่อการเดินทางที่ขมขื่นกลายเป็นยอดวรรณกรรม

อย่างไรก็ตาม ที่ว่าสุนทรภู่มิได้บอกว่าไปเมืองแกลงเพื่อวัตถุประสงค์อันใดนั้น  ก็ไม่ใช่ไม่ได้บอกไว้ในนิราศเสียทีเดียว  เพราะมีแห่งหนึ่งระบุไว้ว่า “จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้นเจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา”  กล่าวคือสุนทรภู่ได้บอกไว้ว่า ที่ไปเมืองแกลงนั้นเจ้านายใช้ให้ไป  ไม่ได้ไปเองเป็นการส่วนตัว  แม้แต่ตอนเริ่มเรื่องสุนทรภู่ก็โอดครวญไม่อยากเดินทาง  แต่จำใจต้องจากมา ประหนึ่งถึงคราวซวย เช่นว่า “โอ้สังเวชวาสนานิจจาเอ๋ย  จักมีคู่มิได้อยู่ประคองเชย”  และอีกแห่งก็ว่า “โอ้จำใจไกลนุชสุดสวาท  จึงนิราศเรื่องรักเป็นอักษร”

อีกทั้งตลอดการเดินทางจะพบว่าสุนทรภู่ได้เข้าเยี่ยมกรมการเมืองทุกแห่งที่เดินทางผ่าน  ไม่ว่าจะเป็นบางปลาสร้อย บางละมุง จนถึงบ้านดอนเด็จ  บางแห่งเช่นที่บ้านดอนเด็จ อยู่เลยไปไกลกว่าบ้านกร่ำที่บิดาสุนทรภู่ไปบวชอยู่เสียอีก  และกรมการเมืองแต่ละแห่งก็ให้การต้อนรับสุนทรภู่เป็นอย่างดี  ผิดไปจากการเดินทางในลักษณะเป็นธุระส่วนตัวเหมือนอย่างในนิราศเรื่องอื่นๆ   

แต่เจ้านายของสุนทรภู่ใช้ให้เขาไปทำอะไรที่เมืองแกลงนั้นต่างหากเป็นประเด็นที่สุนทรภู่ไม่ได้บอกเอาไว้  จึงเป็นเหตุให้มีการตีความกันไปต่างๆ นานา  และนำไปสู่ความเชื่อที่ว่าไปเพื่อจะไปบวช  โดยอ้างอิงจากหลักฐานที่ไม่ควรจะเป็นหลักฐานอย่างปีที่คิดว่าเป็นปีเดินทาง (พ.ศ.2349)  คำถามก็คือ “เจ้านายของสุนทรภู่” ที่วังหลังที่สุนทรภู่สังกัดอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น  ใช้ให้มหากวีเอกของเราไปปฏิบัติราชการอะไรที่เมืองแกลง?    

ขอให้สังเกตด้วยว่า จุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนั้นมิใช่บ้านกร่ำ  หากแต่เป็นบ้านดอนเด็จ ที่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า “บ้านโพธิ์ทอง” (อยู่ในท้องที่ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง) ต่างหาก  บ้านกร่ำเป็นเพียงที่แวะเยี่ยมบิดา  และมีเหตุให้ต้องพักอยู่นานก่อนจะไปบ้านดอนเด็จอันเป็นจุดหมาย เพราะเกิดล้มป่วย  ต้องพักรักษาพยาบาลให้ฟื้นจากไข้เสียก่อน  และเมื่อหายจากไข้เป็นปกติแล้วก็เดินทางไปที่บ้านดอนเด็จ  ก่อนจะกลับมาที่บ้านกร่ำ  แล้วกลับกรุงเทพฯ  

“บ้านดอนเด็จ” มีความสำคัญอย่างไร?  ก็ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า  เป็นบ้านที่กรมการเมืองทำการอยู่ (สมัยนั้นบ้านกับที่ทำงานของขุนนาง  เป็นสถานที่เดียวกัน)  ไม่ใช่กรมการธรรมดาๆ ด้วย  เพราะมีตำแหน่งเป็นปลัดยกระบัตร  ดังความในนิราศที่ระบุไว้ว่า:

“แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเด็จ               

...............................................

ยกกระบัตรคัดช้อนทุกเช้าเย็น         

เมียที่เป็นท่านผู้หญิงนั่งปิ้งปลา”

แม้เราไม่อาจทราบว่า “ปลัดยกระบัตร” ที่บ้านดอนเด็จนี้คือใคร  ทำไมมาอยู่ที่นี่  แต่หากพิจารณาพัฒนาการของชุมชนเมืองของย่านแกลง  ก็จะพบว่าคือ “ปลัดยกระบัตรเมืองจันทบุรี”  ปัจจุบันดอนเด็จหรือบ้านโพธิ์ทอง อยู่ในพื้นที่ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง  แต่ในสมัยที่สุนทรภู่ไปเยือนนั้นแกลงยังเป็นเขตแขวงหนึ่งของจันทบุรีอยู่  เพิ่งยุบเป็นอำเภอหนึ่งแล้วโอนย้ายมาขึ้นสังกัดกับระยองเมื่อพ.ศ.2451 ในสมัยรัชกาลที่ 5 (โปรดดู “แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่องโอนย้ายเมืองแกลงไปขึ้นเมืองระยอง” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 25 ตอน 23 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2451, หน้า 407)

สำหรับสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก  ที่ปลัดยกระบัตรซึ่งฐานะเทียบเท่าเป็นรองเจ้าเมือง  จะไปตั้งบ้านเรือนที่ทำการทำงานอยู่คนละโซนกับเจ้าเมือง  ด้วยหลายเหตุปัจจัย  แต่ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญและส่งผลในเรื่องนี้มากที่สุด  ก็คือปลัดยกระบัตรที่เป็นขุนนางตามระบบการปฏิรูปตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเป็นต้นมา (ตามที่ปรากฏในพระราชกำหนดวิธีการปกครองหัวเมือง จ.ศ.1089/พ.ศ.2270 ซึ่งเคยบังคับใช้ในสมัยอยุธยาตอนปลายและรื้อฟื้นกลับมาใช้อีกในสมัยรัชกาลที่ 1)  ถือเป็นตัวแทนจากส่วนกลางไปตรวจสอบและถ่วงดุลเจ้าเมืองในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง 

เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉันใด  ปลัดยกระบัตรก็ต้องไปอยู่ห่างไกลจากวงรัศมีอำนาจของเจ้าเมืองที่เป็นตัวแทนของท้องถิ่นดุจเดียวกัน  โดยส่วนมากอยู่ในย่านที่เดินทางไป-กลับส่วนกลางได้สะดวก  หรือเป็นย่านปลายแดนด่านแรกที่คนผู้มาจากส่วนกลางจะต้องมาถึงเป็นที่แรกๆ ของเมืองนั้นๆ  ปลัดยกระบัตรของเมืองจันทบุรี  จึงต้องมาอยู่ที่บ้านดอนเด็จ  ซึ่งเป็นด่านทางที่จะไปเมืองจันทบุรีและในสมัยนั้นยังขึ้นกับเมืองจันทบุรี 

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นเรื่องนี้ได้เด่นชัดก็คือ กรณีปลัดยกระบัตร (ทองด้วง) แขวงเมืองราชบุรี  แต่ไม่ได้อยู่ที่ตัวเมืองราชบุรี  กลับอยู่ที่ย่านอัมพวา ที่ปัจจุบันขึ้นกับสมุทรสงคราม  ไม่ได้ขึ้นกับราชบุรีเหมือนดังในอดีต  เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระประสูติกาลที่อัมพวา  แต่ภายหลังเมื่ออัมพวาถูกโอนย้ายไปสังกัดขึ้นกับสมุทรสงคราม  ก็พาให้สมุทรสงครามกลายเป็นถิ่นเกิดของรัชกาลที่ 2 ไป  แทนที่จะเป็นราชบุรี  ทั้งนี้เพราะเขตแดนจังหวัดมีพลวัตเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าพรมแดนของรัฐชาติเสียอีก 

และเมื่อเป็นดังนั้น จุดหมายปลายทางของการเดินทางของสุนทรภู่ในครั้งนั้นก็จึงคือ “จันทบุรี” ไม่ใช่ระยอง  ระยองเป็นเพียงทางผ่าน (ทั้งนี้ผู้เขียนต้องขออภัยชาวระยองไว้ ณ ที่นี้ด้วย อย่างไรก็ตามชาวระยองก็ยังคงมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ต่อไป)  

คำถามที่ต้องเคลียร์เป็นลำดับต่อมาก็คือ สุนทรภู่ในฐานะขุนนางหนุ่มสังกัดวังหลังต้องเดินทางไปยังย่านที่สมัยนั้นเป็นเขตแขวงหนึ่งของจันทบุรี ทำไม?  ราชการที่เจ้านายของสุนทรภู่ใช้ให้ไปทำที่ด่านทางแรกของจันทบุรีนั้นคืออะไร?    

“จะปราบปรามห้ามหวงพวงมะปราง   ให้จืดจางจำจากกระดากใจ”

จันทบุรีหลังล้มเจ้าตาก-สถาปนากรุงเทพฯ พ.ศ.2325  

อย่างแรกที่เราพอจะคาดเดาได้ไม่ยากก็คือ  ราชการที่สุนทรภู่ไปทำในครั้งนั้นคงมีลักษณะเป็นความลับหรือ “ราชการลับ” แน่ๆ  ถึงได้ไม่ระบุให้ใครรู้ในนิราศ 

ดังที่ทราบกันดีว่า จันทบุรีเป็นหัวเมืองสำคัญของภูมิภาคตะวันออกของสยาม  และเป็นฐานทรัพยากรที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเดินทัพไปรวบรวมมาใช้ในการกอบกู้อิสรภาพภายหลังจากเกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ.2310  

เมื่อสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงและเปลี่ยนผ่านมาเป็นกรุงเทพฯ แล้ว  จันทบุรีก็ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของราชอาณาจักรเรื่อยมา  และพ.ศ.2348 อันเป็นปีที่คาดว่า เป็นปีสุนทรภู่ไปเมืองแกลงนั้นเป็นระยะเวลาห่างจากปีสถาปนากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2325 เพียง 23 ปี 

ถึงจะเป็นเวลาที่ดูเหมือนราชวงศ์จักรีได้ลงหลักปักฐานมั่นคงแล้วก็ตาม  แต่ทว่าเวลาที่ผันผ่านไป 23 ปี  สำหรับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองแล้วไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานเท่าไรเลย (ขอให้ลองนึกเปรียบเทียบกับเวลาเกือบ 20 ปี หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ดูก็จะเห็นว่ายิ่งสำหรับสมัยเมื่อแรกหลังสถาปนากรุงเทพฯ แล้ว  ยิ่งไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานเท่าไรเลย) 

ประกอบกับเวลา 20 กว่าปีผ่านไปนั้น  ยังมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ชนชั้นนำสยามต้องเป็นกังวลเกี่ยวกับจันทบุรี  จันทบุรีนอกจากจะเป็นฐานที่มั่นคงของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แล้ว  จันทบุรียังอยู่ใกล้ศัตรูของชนชั้นนำสยามเวลานั้นอย่างเวียดนามอย่างมาก 

เป็นเวียดนามที่เดิมเป็นมิตรกับราชวงศ์จักรี  แต่ตอนหลังกลับเป็นศัตรูคู่แข่งขัน  เพราะเป็นเวียดนามภายใต้ราชวงศ์เหงียน  นำโดยเหงียนฟุกอันห์ (Nguen Phúc Ánh) หรือจักรพรรดิซาล็อง (Gia Long)  ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับที่พระราชพงศาวดารไทยระบุนามว่า “องเชียงสือ”  เคยลี้ภัยมาประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ และรวบรวมกำลังคนชาวจีนและเวียดนามอพยพอยู่ในแถบหัวเมืองชายทะเลตะวันออก 

จันทบุรีเป็นฐานรวบรวมทรัพยากรของกลุ่มสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อย่างไร เกาะกูดที่ตราดก็เป็นแหล่งกำลังคนและทรัพยากรที่เหงียนฟุกอันห์มารวบรวมก่อนยกกลับไปสถาปนาราชวงศ์เหงียนเช่นกัน  หนำซ้ำยังอาศัยเครือข่ายของชาวคริสต์ที่จันทบุรีไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากราชสำนักฝรั่งเศสได้อีกด้วย   

ไม่เพียงเท่านั้น  เหงียนฟุกอันห์ยังได้ขุนศึกฝีมือดีและคหบดีมั่งคั่งที่เป็นฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไปเข้าร่วมอีกด้วย  ขุนศึกคนดังกล่าวนี้ชื่อ “จันเหลียน” หรือ “ตันเหลียง” (Tran Liên / บางแห่งเรียก “เจ้าขรัวเหลียน”)ผู้นำจีนแต้จิ๋วในสมัยธนบุรี  ผู้ซึ่งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น “พระยาพิพิธ” เมื่อ พ.ศ.2310 ได้เคยเข้าร่วมทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ออกจากอยุธยาไปหัวเมืองตะวันออก 

เมื่อตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว  เจ้าเมืองจันทบุรีลงเรือหลบหนีไป  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ได้แต่งตั้งให้พระยาพิพิธจันเหลียนผู้นี้เป็น “พระยาจันทบุรี” แทน  และเมื่อทัพกรุงธนบุรียกไปตีเมืองฮาเตียนชนะเมื่อพ.ศ.2313  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ได้เลื่อนพระยาจันทบุรี (จันเหลียน) ไปเป็น “พระยาราชาเศรษฐี” เจ้าเมืองฮาเตียน  แทนที่ “มักเทียนตู” (Muc Tien Tu) เจ้าเมืองฮาเตียนที่เป็นอริกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ 

ต่อมาเมื่อมักเทียนตูไปขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม  เวียดนามได้ส่งกองทัพมาตีอาเตียนคืนไปให้แก่มักเทียนตู  พระยาราชาเศรษฐีจันเหลียนได้อพยพผู้คนมายังเมืองจันทบุรี  แล้วขอกำลังจากธนบุรีไปช่วยรบชิงเมืองฮาเตียนคืน  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า  เมืองฮาเตียนอยู่ไกล  ต้องเดินเรือหลายวันกว่าจะถึง  ตีชิงได้คืนมา  ก็จัดการป้องกันรักษาไว้ได้ยาก เพราะอยู่ใกล้ศัตรูทั้งในกัมพูชาและเวียดนามมากกว่าสยาม  จึงได้โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีจันเหลียนอพยพผู้คนจากจันทบุรีมาอยู่กรุงธนบุรี  ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  บริเวณที่เป็นพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน 

เมื่อเกิดการรัฐประหารโค่นล้มพระเจ้าตาก-สถาปนากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2325 รัชกาลที่ 1 ทรงมีนโยบายจะสร้างพระบรมมหาราชวังที่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  จึงได้ให้ชุมชนชาวจีนแต้จิ๋วภายใต้การนำของพระยาราชาเศรษฐีจันเหลียน อดีตเจ้าเมืองจันทบุรีและเจ้าเมืองฮาเตียน  ย้ายไปอยู่ร่นไปยังย่านสามปลื้ม-สำเพ็ง  และเมื่อได้เมืองฮาเตียนกลับมาเข้าสู่พระบรมโพธิสมภารอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาราชาเศรษฐีจันเหลียนกลับไปเป็นเจ้าเมืองฮาเตียนดุจดังเก่า อาจเป็น “ซุปเปอร์ดีล” เพื่อแลกกับที่ดินสำหรับสร้างวังก็เป็นได้  

แต่แล้วไม่นานหลังจากได้กลับคืนไปเป็นเจ้าเมืองฮาเตียน  พระยาราชาเศรษฐีจันเหลียนกลับแปรพักตร์ไปเข้ากับเวียดนามราชวงศ์เหงียน  ทำให้สยามต้องเสียเมืองฮาเตียนให้แก่เวียดนามอีกครั้ง (ซึ่งครั้งนี้เป็นการเสียแบบตลอดกาลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน)  พระยาราชาเศรษฐีจันเหลียนเป็นศัตรูที่น่าหวั่นเกรง  เพราะเป็นผู้นำจีนแต้จิ๋วฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ โดยตรง  มีเหตุผลให้ต้องรู้สึกโกรธแค้นเคืองราชวงศ์จักรีอยู่มาก  อีกทั้งยังไปเข้ากับเวียดนามราชวงศ์เหงียนภายใต้เหงียนฟุกอันห์ที่เคยมาประทับอยู่กรุงเทพฯ  รู้เส้นสนกลในของกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี  จึงเหมือนศัตรูเก่ากับศัตรูใหม่ของราชวงศ์จักรีร่วมมือกัน 

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายชนชั้นนำสยามสมัยนั้นจะต้องระแวดระวังเหตุการณ์ที่เมืองจันทบุรี  โดยส่งคนไปสืบข่าว  คอยสังเกตท่าทีของเจ้าเมืองจันทบุรีอยู่ตลอดด้วยข้อมูลการข่าวกรองที่แม่นยำเชื่อถือได้  เพราะพระยาราชาเศรษฐีจันเหลียนซึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองจันทบุรี  อาจนำทัพเวียดนามมาตีเอาเมืองจันทบุรีได้ทุกเมื่อ         

“โอ้จำใจไกลนุชสุดสวาท จึงนิราศเรื่องรักเป็นอักษร” (???)

สุนทรภู่ในฐานะ “สายลับวังหลัง” (ไปจันทบุรี ที่กลายมาเป็นระยอง)  

สุนทรภู่ มหากวีของเรานั้น เกิดและเติบโตอยู่วังหลัง เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทศร์ (ทองอิน) เจ้านายของสุนทรภู่ท่านนี้อดีตเคยเป็น “พระยาสุริยอภัย” นายกองส่วยเมืองนครราชสีมา ในเหตุการณ์รัฐประหารโค่นล้มพระเจ้าตาก-สถาปนารัชกาลที่ 1 พระยาสุริยอภัยเป็นผู้นำกำลังทัพจากนครราชสีมาลงมาปราบกบฏพระยาสรรค์ แล้วยกราชสมบัติถวายแด่เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1)  

พูดง่ายๆ คือพระยาสุริยอภัย เจ้านายของสุนทรภู่ที่เอาพระนามไปเป็นชื่อพระเอกของเรื่อง “พระอภัยมณี” ผู้นี้แหล่ะคือ “ตัวตึง” ของการรัฐประหารโค่นล้มพระเจ้าตากและสถาปนากรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ.2325

เมื่อสุนทรภู่มีบิดาไปบวชชำระเคราะห์กรรม (จากที่เคยเป็นทหารไปรบฆ่าพม่าเมื่อคราวสงคราม 9 ทัพ) อยู่ที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ใกล้กับบ้านของปลัดยกระบัตรเมืองจันทบุรี  สุนทรภู่หนุ่มน้อยวัย 19 ปี จึงเป็นผู้เหมาะสมที่จะเดินทางไปสืบราชการลับให้แก่เจ้านาย  เมื่อเป็นราชการลับที่ถูกสั่งให้มาสังเกตท่าทีเจ้าเมืองจันทบุรีเช่นนั้น  ก็จึงเป็นสิ่งที่สุนทรภู่จะเอามาแต่งบอกไว้ในกลอนแบบ “รู้ตลอดความ” ไม่ได้  บอกได้แต่เพียงว่า เจ้านายใช้ให้ไปเท่านั้น (“แม้นเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา” ???) 

และนั่นก็เป็นอีกร่องรอยหนึ่งที่บ่งบอกว่า สุนทรภู่จะต้องไปสืบราชการลับในเรือนพ.ศ.2348 ไม่ใช่พ.ศ. 2349 เพราะพ.ศ. 2349 เป็นปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของกรมพระราชวังบวรฯ ทองอิน เจ้านายของสุนทรภู่ 

นอกจากราชการลับดังกล่าวนี้แล้ว  เนื่องจากเป็นเรื่องทางการทหาร  สุนทรภู่ยังได้สังเกตและจดบันทึกเกี่ยวกับสภาพของย่านต่างๆ การคมนาคม ในแถบหัวเมืองชายทะเลตะวันออกตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกงไปจนถึงด่านปลายแดนจันทบุรี เพราะเป็นข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากกรุงเทพฯ ต้องส่งกองทัพไปทางบก  ปักหลักสู้กับเวียดนาม 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ชนชั้นนำสยามคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นนี้ก็หาได้เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใดไม่  นอกเหนือจากอารมณ์สุนทรียะ  เบื้องหลังกวียังมีความรู้สึกกลัว (ต่อเพื่อนบ้าน) รวมอยู่ในนั้นด้วย   

เหตุที่ประเด็นนี้ที่หายไป  ไม่เคยได้รับการพิจารณามาก่อนเลย  ก็เพราะว่าที่ผ่านมาเราพิจารณาแรงบันดาลที่มาของวรรณกรรมจากเพียงในบริบทของสังคมไทย  ไม่ได้มองร่วมกับปรากฏการณ์และปัจจัยจากเพื่อนบ้านข้างเคียงในอุษาคเนย์เท่าที่ควร 

.

ภาพ : Getty Images, Peter Charlesworth/ Contributor, https://www.soontornphu.com/history

.

อ้างอิง

กำพล จำปาพันธ์. “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของ “เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก” พุทธศตวรรษที่ 22-24” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2563.

กำพล จำปาพันธ์. “ราย็อง (ระยอง): เมืองชองบนเส้นทางอารยธรรมฝั่งทะเลตะวันออก” วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ (สถาบันวิจัยวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร). ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559).  

กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2561.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดระยอง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากรและกระทรวงศึกษาธิการ, 2544.

ฐปกรณ์ โสธนะ. “นำไปสู่หมุดกวี” ใน สุนทรภู่สู่ระยอง 200 ปี. ระยอง: สำนักงานวัฒนธรรมระยอง, 2549.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2557.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง, 2552.

ประชุมพงศาวดารเล่ม 40 (ภาคที่ 65-66) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และจดหมายรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2528.

พงศาวดารญวน ฉบับนายหยอง แปล เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2509.

พงศาวดารญวนและเขมรในพงศาวดารรัตนโกสินทร์. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2557.

พระราชกำหนดวิธีปกครองหัวเมืองครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร (หอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์เนื่องในงานปลงศพนายพลอย ณ ป้อมเพ็ชร์ เมื่อปีขาล พ.ศ. 2469).

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (บก.). นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, 2550.

สุนทรภู่. นิราศเมืองแกลง. พระนคร: กรมศิลปากร, 2505.

สุนทรภู่. ประชุมนิราศสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2517.

Corfield, Justin. The History of Vietnam. New York: Greenwood Press, 2008.

Dutton, George. The Tay Son Uprising: Society and Rebellion in Eighteenth-Century Vietnam. Honolulu: University of Hawaii Press, 2006.       

Sakurai, Yumio and Kitagawa, Takako. “Ha Tien or Banteay Meas in the Time of the Fall of Ayutthaya”  in Breazeale, Kennon. (ed.). From Japan to Arabia: Ayutthaya’s Maritime Relations with Asia. Bangkok: The Foundation for the Promotion of Social Sciences and Humanities Textbooks Project, 1999.

Tana, Li and Reid, Anthony. Southern Vietnam under the Nguyen: Documents on the Economic History of Cochinchina (Dang Trong), 1602-1777. Singapore: JBW Printers & Binders, 1993. 

Tana, Li.  “The Inner Region: a Social and Economic History of Nguyen Vietnam in the Seventeenth and Eighteenth Centuries” Thesis (Ph.D.) Australian National University (ANU), 1992.

Taylor, K. W. A History of the Vietnamese. Cambridge: Cambridge University Press, 2013.

Terwiel, Berend J. “Towards a History of Chantaburi, 1700-1860” in Historical Documants and Literary Evidence. Bangkok: International Conference on Thai Studies August 22-24, 1984.