26 มิ.ย. 2566 | 16:45 น.
- ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เป็นนามปากกาของนักเขียนเจ้าของผลงานโดราเอมอน
- ฟูจิโกะ มีชื่อจริงว่า ‘ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ’ และ ฟูจิโอะ มีชื่อจริงว่า ‘อาบิโกะ โมโตโอะ’
- ทั้งสองเติบโตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้นำเรื่องราว ณ ช่วงเวลานั้นมาถ่ายทอดในผลงานของตน
ผู้เขียนโดราเอมอนได้ฝากผลงานไว้หลายชิ้น และผู้อ่านหลายท่านก็รู้แล้วว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เป็นนามปากกาของนักเขียนการ์ตูน 2 คน นั่นคือ ‘ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ’ กับ ‘อาบิโกะ โมโตโอะ’ หรือ ฟูจิโกะขาว กับ ฟูจิโกะดำ เวลาอ่านประวัติของทั้งคู่เรามักจะได้ยินเรื่องราวของพวกเขาว่าเรียนชั้นประถมมาด้วยกัน ก่อนจะเข้าสู่ชั้นมัธยมปลาย ณ จุดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการเขียนการ์ตูน โดยมี เท็ตสึกะ โอซามุ เป็นต้นแบบ
พวกเขาเติบโตมาจากจังหวัดโทยามะ บนเกาะฮอนชู (ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึง Suganuma Village ที่เป็นมรดกโลก) ถือเป็น ‘ต่างจังหวัด’ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่อย่างโตเกียวและโอซาก้า เมื่อนับเป็นระยะทางจะเห็นว่า ห่างจากโตเกียวประมาณ 400 กิโลเมตร ห่างจากโอซาก้าราว 300 กิโลเมตร
เมื่อย้อนกลับไปดูปีเกิดฟูจิโมโตะเกิดปี 1933 ส่วนอาบิโกะนั้นเกิดปี 1934 ปีเกิดของทั้งคู่เกิดขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นสามารถยึดครองแมนจูเรียได้ในปี 1932 และตั้งเป็นรัฐแมนจูกัวโดยรัฐบาลหุ่นเชิดญี่ปุ่น นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการแผ่ขยายอำนาจการทหารต่อเนื่องจากการทำสงครามรัสเซียในปี 1905 ยึดครองเกาหลีในปี 1910
ในยุคที่ระบบการศึกษาญี่ปุ่นเน้นอุดมการณ์ชาตินิยมมากขึ้น ดังที่มีนักวิชาการชี้ว่า แนวคิดชาตินิยมขยายตัวอย่างมหาศาลหลังปี 1932 ที่เน้นให้เด็กญี่ปุ่นรับใช้เชื้อชาติญี่ปุ่นและรัฐ ความเป็นญี่ปุ่นยังเป็นขบวนการที่ต่อต้านต่างชาติ ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และต่อต้านแนวคิดสังคมนิยม รวมไปถึงต่อต้านแนวคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอีกด้วย เพราะผู้นำญี่ปุ่นเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถสร้างชาติที่เข้มแข็ง เอาชนะชาติมหาอำนาจตะวันตกได้
ปี 1934 มีคำสั่งโดยตรงมาให้โรงเรียนฝึกเด็กทั้งจิตใจและร่างกาย ปี 1936 ลัทธิชาตินิยมสุดโต่งได้มาถึง จุดประสงค์การศึกษาได้เน้นบทบาทพลเมืองญี่ปุ่นที่มีต่อชาติและจงรักภักดีต่อรัฐทหาร
ตามมาด้วยพระราชกฤษฎีกาการศึกษา ปี 1941 ที่เปลี่ยนชื่อโรงเรียนประถมศึกษาเป็น โรงเรียนพลเมืองแห่งชาติ โดยเฉพาะปีที่เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดทหารนิยมและชาตินิยมกลายเป็นประเด็นที่ตึงเครียดในระบบการศึกษาญี่ปุ่น[1] ญี่ปุ่นยังมีโรงเรียนมัธยมทหารแบบกินนอนด้วย
นอกจากนั้นบริษัทสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่นยังมีผลิตนิตยสารสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาสนับสนุนสงครามและทหาร มีงานชิ้นหนึ่งศึกษานิตยสารโชเน็นคุรุบุ (Shonen Club หรือชมรมเด็กชาย 1914 - 1962) ว่ากันว่า นิตยสารนี้ขายได้ 750,000 เล่มในปี 1935 หน้าปกมักแสดงให้เห็นภาพของเด็กชายในชุดเครื่องแบบทหารหรือเด็กชายหน้าเปื้อนยิ้มในชุดเครื่องแบบนักเรียนถือธงชาติญี่ปุ่น[2] เช่นเดียวกับการสนับสนุนให้เด็กเขียนจดหมายไปถึงทหารในแนวหน้าเพื่อให้กำลังใจ[3] สิ่งนี้คือพลังทางวัฒนธรรมที่ช่วยกล่อมเกลาเหล่าเด็ก ๆ ให้เตรียมพร้อมเข้าสู่สงครามไปด้วย
ทศวรรษ 1930 นักเรียนอายุ 16 ปีขึ้นไปจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร แต่ในช่วงใกล้สงคราม อายุจะลดลงเหลือเพียง 14 ปี ช่วงเวลาแห่งสงคราม เด็กได้ถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการรณรงค์ทางด้านการทหาร การละเล่นก็จะมีความเกี่ยวข้องกับทหาร เช่นของเล่นที่เป็นปืน หรือการเล่นบทบาทสมมติในการสู้รบ นิตยสารสำหรับเด็กก็จะลงรูปภาพเกี่ยวกับรถถัง เรือรบ และอาวุธอื่น ๆ[4]
ดังภาพแสดงให้เห็นภาพเด็กประถมในการแสดงการต่อสู้ทางอากาศยาน นักเรียนแต่ละคนมีบทบาทเป็นนักบินที่ขับเครื่องบินต่อสู้กัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มีการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมทหารแบบกินนอนด้วย
กลับมาที่พระเอกของเราทั้งสอง ฟูจิโมโตะ และอาบิโกะ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงทางประวัติศาสตร์ได้ว่า พวกเขาเติบโตมากับช่วงแห่งความยากลำบากของสงคราม และระบบการศึกษาชาตินิยมที่เทิดทูนจักรพรรดิ หากนั่งไทม์แมชชีนกลับไปตอนอายุ 10 ขวบเท่ากับโนบิตะ พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ในช่วงปี 1943 - 1944 อันเป็นช่วงสงครามโลกแล้ว
หากเทียบกับโนบิตะแล้ว พวกเขาคือคนรุ่นพ่อของโนบิตะ หรืออาจจะตีความได้ว่า 'โนบิ โนบิสึเกะ' พ่อของโนบิตะคือภาพตัวแทนของผู้เขียนโดราเอมอนนั่นเอง ในนามของฟูจิโกะ ฟูจิโอะ พวกเขาเขียนถึงโนบิตะ ราวกับชดเชยชีวิตวัยเด็กที่พวกเขาสูญเสียไป บางครั้งก็ออกโรงในฐานะตัวละครพ่อในสภาพพนักงานออฟฟิศในชุดสากล หรือนุ่งชุดยูกาตะสบาย ๆ ในวันหยุดที่บ้าน
มีอยู่ตอนหนึ่งที่มีฉากหลังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือตอน ‘เด็กผู้หญิงจากความทรงจำ’ บางแห่งก็แปลว่า ‘เด็กหญิงผู้เปรียบดอกลิลลี่ขาว’ เมื่อโนบิสึเกะเล่าถึงความหลังให้กับโนบิตะและโดราเอมอนฟังว่า ในช่วงสงครามเขตตัวเมืองญี่ปุ่นถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งวันและคืน เขาต้องอพยพไปอยู่ในเขตชนบท ซึ่งเป็นเขตที่ขาดแคลน เด็กนักเรียนจะต้องทำงานหนักทางการเกษตรเพื่อดำรงชีวิตให้รอด การกินอาหารครบ 3 มื้อยิ่งเป็นไปไม่ได้
แต่วันหนึ่งพ่อโนบิตะก็พบเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่งดงาม เธอจ้องตาพ่อแล้วก็ยิ้มพร้อมกับมอบช็อกโกแลตแท่งให้ก่อนจะจากไป ในท้ายเรื่องเฉลยว่า เด็กผู้หญิงในความทรงจำนั้นคือโนบิตะที่ย้อนอดีตกลับไปเพื่อจะถ่ายภาพเด็กผู้หญิงจากเรื่องเล่านั้นเอง
สิ่งที่ซ่อนอยู่ในโดราเอมอนตอนนี้ก็คือ ชีวิตของเด็กนักเรียนที่ย้ายจากในเมืองไปอยู่ในเขตชนบทที่แร้นแค้น คนรุ่นนี้อาจจะทันอนิเมะสุดเศร้าเรื่อง สุสานหิ่งห้อย (1988) ที่เล่าถึงพี่น้องกำพร้าคู่หนึ่งที่ต้องอพยพหนีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินจากในเขตเมืองไปยังชนบท ความอดอยากและโรคภัยเป็นสิ่งที่ทำร้ายพวกเขาไม่แพ้กับเพลิงไหม้และลูกระเบิดที่กองทัพอเมริกันทิ้งมาเลย
สำหรับโนบิสึเกะที่เป็นภาพตัวแทนฟูจิโกะ ฟูจิโอะ นอกจากต้องเป็นแรงงานทางการเกษตรแล้ว เขายังถูกตบตีโดยครูใจยักษ์ที่น่าจะเป็นภาพลักษณ์ของครูชายในยุคสงคราม เมื่อมือเขาแตกเพราะจับจอบ ก็ถูกครูใช้มือฟาดเข้าที่กกหู แล้วบอกให้หยุดบ่นและบอกว่าให้เสียสละให้ญี่ปุ่นให้มากกว่านี้ โนบิสึเกะทำงานจนสลบไป โนบิตะและโดราเอมอนมาพบพอดีจึงนำเขาไปพักใต้ต้นไม้และให้โนบิตะปลอมเป็นพ่อของเขาโดยใช้ของวิเศษช่วยขุดแทนที่จนเสร็จ
เมื่อครูมาพบแทนที่จะชื่นชม แต่กลับตบหน้าเขาด้วยเหตุที่ว่า ผมยาว เสียงของโดราเอมอนที่บอกว่า “ไร้เหตุผลเสียจริง” ก็น่าจะเป็นเสียงของผู้เขียนไปด้วย จนในที่สุดโดราเอมอนก็ต้องใช้ปัตตาเลี่ยนไถจนหัวเกรียน ระหว่างนั้นครูก็บ่นว่า “ในยามที่ประเทศต้องการ ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎ พวกแกถึงจะเรียกตัวเองได้ว่า พลเมือง ดังนั้นจงไปโกนหัวซะ!”
ขณะที่โนบิสึเกะตื่นมาพร้อมกับความกลัวความผิดว่าละทิ้งงานจึงพยายามไปซ่อนตัว ณ ที่ริมน้ำ เขาบ่นกับชีวิตที่หนักเกินไป และคิดจะฆ่าตัวตายที่ริมน้ำนั่นเอง นำไปสู่ความช่วยเหลือของโนบิตะและโดราเอมอนด้วยมุกตลกร้ายต่อไป อย่างไรก็ตาม โดราเอมอนตอนนี้สะท้อนความหม่นหมองของชีวิตเด็กยุคสงครามโลกได้ดี ฟูจิโกะ ฟูจิโอะเกิดในช่วงที่ญี่ปุ่นยังฮึกเหิมในสงคราม แต่ช่วงอายุ 10 ขวบกว่า ๆ ญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดในเขตเมือง กลายเป็นเหยื่อของสงครามไปด้วย
สัญลักษณ์ของเด็กหญิงโดราเอมอนตอนนี้ คือผู้หญิงผมยาวผิวขาว ยิ่งในภาพความทรงจำของโนบิสึเกะ คือผู้หญิงผมยาวและผูกเปียด้วยซ้ำ อันที่จริงตอนที่โนบิตะที่ยังไม่ได้โกนผมถูกครูตบหน้าก็ถูกด่าว่า ปล่อยผมยาวเหมือนกับผู้หญิง ทั้งที่โนบิตะเองก็ไม่ได้ผมยาวเลย ก็อาจแสดงให้เห็นว่าในยุคดังกล่าวเด็กผู้หญิงก็อาจไม่สามารถไว้ผมยาวได้
จนกระทั่งจบสงคราม 1945 เหล่าเด็ก ๆ จึงค่อยได้รับอิสรภาพจากทรงผมและการควบคุมที่เข้มงวดที่มาพร้อมกับนโยบายชาตินิยมสุดโต่ง ยังไม่นับว่ามีเด็กอีกจำนวนมากที่กลายเป็นเด็กกำพร้า เด็กเหล่านี้ว่ากันว่าถูกรังแกอย่างหนัก[5] โลกของเด็กญี่ปุ่นในยุคสงครามที่ฟูจิโกะ ฟูจิโอะเติบโตมา ถือเป็นชีวิตเบื้องหลังอันหม่นหมองเนื่องมาจากยุคสมัยอันโหดร้ายนั้นด้วย
.
ภาพ : Wikipedia, skinheads, springer
.
อ้างอิง :
.
[1] Adam Lebowitz, “‘Little Citizens’ and ‘Star Pupils’: Military Middle Schools in Wartime Japan,” The Asia-Pacific Journal, 5: 10 (October 2001) : 2, Caitlyn Ferrecchia. “Nationalism in Japanese Education: Pre and Post World War II Conditions”. retrieved on 20 June 2026 from https://www.illuminatenrhc.com/post/nationalism-in-japanese-education-pre-and-post-world-war-ii-conditions-by-caitlyn-ferrecchia
[2] Gijae Seo, “Shonen Kurabu and the Japanese Attitude Toward War,” Children’s Literature in Education, 52 (2021) : 52
[3] Utah State University. “Education in Japan During the War”. retrieved on 22 June 2023 from http://exhibits.usu.edu/exhibits/show/therewerechildrenonthebattle/educationinjapan
[4] Adam Lebowitz, “‘Little Citizens’ and ‘Star Pupils’: Military Middle Schools in Wartime Japan,” The Asia-Pacific Journal, 5: 10 (October 2001) : 2
[5] Associated Press. “75 years later, Japan’s second world war orphans talk about their pain and recovery”. South China Morning Post. retrieved on 22 June 2023 from https://www.scmp.com/yp/discover/lifestyle/article/3097968/75-years-later-japans-second-world-war-orphans-talk-about (19 August 2020)