27 มิ.ย. 2566 | 16:04 น.
- ไอทีวี (ITV) เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้ชื่อว่า ‘ทีวีเสรี’ เริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 เวลา 19.00 น.
- ตลอดเส้นทางของไอทีวีเกิดกรณีพิพาทมากมาย จนในที่สุดต้องยุติการออกอากาศเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 7 มีนาคม 2550
- ปี 2566 ไอทีวีได้รับความสนใจ และกลายเป็นประเด็นร้อนแรง จากกรณีของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ซึ่งอาจจะทำให้เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
“นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ในวันที่ 7 มีนาคม (2550) สถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่ยืนหยัดในการทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้สังคมไทยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี คงต้องปิดตัวลง…”
วันนั้น ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวยืนรายงานข่าวคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรียกเลิกสัมปทานกับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) น้ำเสียงของเธอท่วมท้นด้วยความรู้สึก ดวงตาคล้ายก้อนเมฆอุ้มฝน ในมือกำไมโครโฟนติดโลโก้ ITV ไว้แน่นราวกับจะถือไว้ชั่วนิรันดร์
แต่ไม่มีอะไรคงทนถาวร รวมถึงสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอย่างโลโก้ ITV ที่ติดไมค์รายงานข่าวของฐปณีย์ในวันนั้น ก็ไม่มีคำว่า ‘ทีวีเสรี’ ซึ่งการปรับเปลี่ยนโลโก้ของสถานีก่อนหน้านั้นสอดคล้องกับการปรับผังรายการใหม่หลังจากไอทีวีได้รับอนุญาตให้แก้ไขสัญญาสัมปทานเมื่อปี 2547
จากธนาธรถึงพิธา
หนึ่งวันต่อมา ไอทีวียุติการออกอากาศผ่านระบบ UHF ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 7 มีนาคม 2550 ฐปณีย์ก็คงไม่เชื่อ เธอจะต้องกลับมาเยือน ‘ไอทีวี’ อีกครั้งในอีก 16 ปีต่อมา แต่คราวนี้เธอพึ่งพากูเกิลแม็ปนำทางไปยังอาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ชั้น 27 บนถนนวิทยุ ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
“เป็นครั้งแรกที่ดิฉันมาที่นี่ค่ะ” ฐปณีย์กล่าวในรายการข่าว 3 มิติ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินกิจการและตัวตนในปัจจุบันของไอทีวี รวมถึงเรื่องราวเร้นลับที่เธอและรายการข่าว 3 มิติจะเผยให้เห็นในคืนนั้น
สื่อหลายสำนักรายงานตรงกัน แม้ กกต. มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องให้ตรวจสอบกรณี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากถือหุ้นของไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น [ข้อมูลเมื่อมิถุนายน 2566 เวลาต่อมา เมื่อ 12 กรกฎาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีหุ้นสื่อ - กองบรรณาธิการ] แต่นักกฎหมายและนักการเมืองต่างเห็นว่า กรณีนี้มีโอกาสถูกรื้อฟื้นขึ้นมาภายหลังการประกาศรับรองเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะมีช่องทางส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ในมุมมองของ กกต. คำร้องดังกล่าวมีรายละเอียด ข้อเท็จจริง และหลักฐานพอที่จะสืบสวนต่อไปว่ากรณีของพิธาอาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151
หากเป็นเช่นนั้น ว่าที่นายกรัฐมนตรีหนุ่มวัย 42 ปี อาจถูกขโมยเวลาบนเส้นทางการเมือง 20 ปี
แม้บุคลิกจะแตกต่างกันราวเพลงคนละแนว แต่สิ่งที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับความนิยมประหนึ่งซูเปอร์สตาร์และผู้ช่วยหาเสียงของเขาผู้พลิกเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยเมื่อปี 2562 มีร่วมกันก็คือชะตากรรมทางการเมือง สิ่งที่พิธากำลังเผชิญเป็นสิ่งที่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เคยประสบมาก่อนจากกรณีถือหุ้นวี-ลัค
เมื่อย้อนสำรวจที่ไปที่มาของเจตนารมณ์ของมาตรา 98 (3) ในรัฐธรรมนูญที่ต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนให้คงความอิสระ เราจะเห็นเงาของชายผู้หนึ่งและสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่งสะท้อนอยู่ในนั้น
‘ทักษิณ ชินวัตร’ และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทีวีเสรี
ไอทีวียุคชินคอร์ป
ช่วงเวลาที่กลุ่มชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในไอทีวี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นักธุรกิจผู้มากความสามารถและพรรคการเมืองหน้าใหม่ในเวลานั้นกำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2544 ก่อนที่ทักษิณและพรรคไทยรักไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยที่เน้นขายนโยบายที่จับต้องได้ รวมถึงการบริหารจัดการภายในรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยกลุ่มทางการเมืองที่หลากหลายและระบบราชการที่รวดเร็วและคล่องตัว ไม่ต่างจากงานบริหารจัดการบริษัทเอกชนที่แต่ละ Business Unit ต้องทำงานแข่งกัน โดยมี CEO หรือหัวหน้าพรรคเป็นผู้นำและชี้ขาด
ก่อนที่โฉมหน้าทางการเมืองจะถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกครั้งจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549
แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ความนิยมของพรรคไทยรักไทยไต่ขึ้นยังจุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดทำได้มาก่อน พวกเขาผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ หลายนโยบาย เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปจนถึงกองทุนหมู่บ้าน
ความนิยมของพรรคไทยรักไทยสวนทางกับสถานการณ์ที่เกิดทั้งหน้าจอและหลังจอไอทีวี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่สร้างรูปแบบการนำเสนอข่าวที่แปลกใหม่และมีเนื้อหาสาระมุ่งเปิดโปงการทุจริตของหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย
การเข้ามาถือหุ้นไอทีวีของกลุ่มชินคอร์ปถูกคัดค้านจากพนักงานฝ่ายข่าวของไอทีวีตั้งแต่แรกเริ่ม พวกเขาไม่พอใจผู้บริหารกลุ่มใหม่เข้าแทรกแซงการทำข่าวการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 นำมาสู่การออกแถลงการณ์ของพนักงานเรียกร้องให้ยุติการครอบงำ กดดัน กลั่นแกล้ง และแทรกแซงสื่อ
จากแถลงการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มนักข่าวที่เคลื่อนไหวกับสหภาพแรงงานไอทีวีได้รับซองขาวพร้อมเหตุผล ‘ให้ข่าวอันเป็นเท็จกรณีความขัดแย้งใน ITV เมื่อครั้งออกแถลงการณ์การแทรกแซงงานข่าวของชินคอร์ป ส่งผลให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง’
หลังจากนั้นมีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานทั้งสิ้น 23 คน “เขาเรียกผมเป็นคนแรก” ปฏิวัติ วาสิกชาติ อดีตบรรณาธิการข่าวไอทีวี และ 1 ใน 21 กบฏไอทีวี ให้สัมภาษณ์ MRG Online เมื่อปี 2550 ว่าในเวลานั้นเขาได้รับข้อเสนอให้เลือกระหว่าง ลาออก หรือ ไล่ออก
“ลาออกเองไม่มีทาง ไล่ออกก็ไล่ไปเถอะ แต่ก็โอเค ผมรับทราบ แต่ผมไม่เซ็นคำสั่ง แล้วผมก็เดินออกไปเลย” อดีตบรรณาธิการข่าวไอทีวีกล่าว
เช่นเดียวกับพนักงานทั้ง 23 คน ไม่มีใครยอมเซ็นชื่อลงในหนังสือให้ออก ท้ายที่สุดนักข่าวที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 21 คน ยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าบริษัทกระทำการอันไม่เป็นธรรม พร้อมกับเรียกร้องขอคืนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
นักข่าวกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘กบฏไอทีวี’
เสรีภาพสื่อในรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
ปี 2547 กลุ่มชินคอร์ปขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน พวกเขาอ้างเหตุผลว่า ไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานสูงกว่าเอกชนรายอื่น ซึ่งเป็นผลผูกพันมาจากการประมูลสัมปทานเมื่อปี 2538 ของผู้ชนะการประมูลคือ ‘กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด’ ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พวกเขาเสนอผลตอบแทนให้สัมปทานระยะเวลา 30 ปี ด้วยเงิน 25,200 ล้านบาท จากราคากลาง 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก
ก่อนหน้านี้มีการแก้ไขสัมปทานมาแล้วครั้งหนึ่งในรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ มีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 อนุญาตให้สามารถถือหุ้นไอทีวีได้เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ในตอนนั้นไอทีวีประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด จึงจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
แต่กระนั้นเมื่อมาถึงปี 2547 อนุญาโตตุลาการก็มีคำวินิจฉัยให้ลดค่าสัมปทานลงเหลือปีละ 230 ล้านบาท และอนุญาตให้แก้ไขสัดส่วนรายการเป็นรายการสาระ 50 เปอร์เซ็นต์ บันเทิง 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งให้รัฐจ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทไอทีวีเป็นเงิน 20 ล้านบาท
ไอทีวีเข้าสู่การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์และผังรายการครั้งใหญ่เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งอีก 5 ช่อง โลโก้ ITV ยุคนี้มีการปรับเปลี่ยนด้วยการตัดรายละเอียดคำว่า ‘ทีวีเสรี’ และเส้นสามสีออก ไอทีวีเริ่มมีรายการบันเทิงมาแข่งขันกับช่องอื่นจนเรตติ้งและรายได้จากโฆษณาสูงเป็นอันดับ 3 ของโทรทัศน์ช่องฟรีทีวีในยุคนั้น
“สำหรับบรรยากาศการทำงาน ความเชี่ยวชาญมีมากขึ้น แต่ความขยันจริงจังที่จะทำงานมันลดลง ความกล้าลดลง ความรู้สึกที่จะแข่งขันมันลดลง ความรู้สึกที่จะเอาเสียงสะท้อนของคนในลักษณะของภาคประชาชนมันลดลง” อดีตพนักงานไอทีวีวิจารณ์การทำงานของทีวีเสรีในยุคท้าย ๆ ไว้ในหนังสือ ย้อนรอย ถอดรหัส ไอทีวี
ซึ่งแตกต่างจากยุคแรกของการก่อตั้งสถานีที่แม้จะเผชิญกับปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก แต่การทำข่าวเชิงลึกเปิดโปงให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย กลับเป็นความทะเยอทะยานของคนทำข่าวไอทีวียุคแรก
“พวกผมก็ถูกลดเงินเดือน คุณสุทธิชัย หยุ่น ต้องแบกหน้าไปหานายทุน กองบรรณาธิการพยายามทํางานเต็มที่ ทุกคนมีไฟก็เลยทําให้คุณภาพของเนื้อหาไม่ลดลง” แม้จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีในขวบปีแรกของไอทีวี แต่กระนั้น ‘จอม เพชรประดับ’ ก็ยอมรับว่ารูปแบบรายการข่าวของไอทีวีไปไม่ได้ในทางธุรกิจ
“สุดท้ายคุณทักษิณก็เข้ามาซื้อไอทีวี พอคุณทักษิณเข้ามา ผมก็ต้องหยุดตัวเอง เราทํางานหนักแล้วก็เจอกับนักการเมืองซึ่งจะต้องมาเป็นเจ้าของสถานี แล้วเราจะทํางานได้อย่างไร ทีวีเสรีจะเป็นเสรีได้อย่างไร” อดีตบรรณาธิการข่าวไอทีวียุคเเรกผู้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 กล่าวไว้ในหนังสือ ย้อนรอย ถอดรหัส ไอทีวี
ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลทักษิญเผชิญอย่างหนักในช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 กลุ่มชินคอร์ปถูกสังคมโจมตีว่าหยิบฉวยเครื่องมือสื่อสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองผ่านการแทรกแซงการปฏิบัติงานของพนักงาน
หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงมีการกำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นสื่อไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เวลาผ่านไปพร้อมกับการเรียนรู้ประชาธิปไตยของประชาชนจากบาดแผล ความตาย การเผชิญหน้ากันเองระหว่างประชาชน และรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่จะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งบรรจุเจตนารมณ์ในการปกปักรักษาเสรีภาพของสื่อไว้เฉกเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนจึงมีจุดอ้างอิงมาจากกรณีไอทีวี ก่อนที่เจตนารมณ์นี้จะถูกใช้เป็นอาวุธทำลายคู่แข่งทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับละครหลังข่าวที่รีเมคไม่รู้สิ้น
ผู้ชมเดาตอนจบได้ตั้งแต่เพลงโหมโรงเริ่มบรรเลง
ไอทีวีที่สัมผัส
เป็นอีกค่ำคืนที่ยากจะหลับตาลงในคืนที่ 11 มิถุนายน 2566 เมื่อรายการข่าว 3 มิติ นำเสนอข้อมูลใหม่ชี้ให้เห็นความผิดปกติของ ‘รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566’ ซึ่งถูกใช้เป็นหลักฐานว่า ไอทีวียังคงประกอบธุรกิจสื่อ
เอกสารในหน้า 14 ที่เคยระบุว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อได้สูญเสียความน่าเชื่อถือทันที เพราะข้อมูลบันทึกการประชุมในรูปแบบภาพและเสียงที่รายการ ข่าว 3 มิติ เผยแพร่ ไม่ปรากฏประโยคใดตรงกับเอกสารในหน้าดังกล่าว ขณะที่คลิปดังกล่าวยังมีการระบุว่า บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพราะต้องรอผลของคดีที่ไอทีวีฟ้องร้องกับ สปน. อยู่
“กรณีการปลุกผีไอทีวีครั้งนี้ มีหลายเรื่องที่ผิดปกติ ไม่รู้ว่าเจตนาหรือไม่เจตนา” สรกล อดุลยานนท์ ตั้งข้อสังเกต เพราะในข้อความในบันทึกการประชุมในช่วงที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการสื่อของไอทีวีตรงข้ามกับเสียงสนทนาในคลิปที่อดีตทีมข่าวไอทีวีเผยผ่านรายการข่าว 3 มิติ
13 มิถุนายน 2566 ‘รัชพล ศิริสาคร’ ทนายความเข้าแจ้งความ สน.ทุ่งสองห้อง ให้สอบ ‘คิมห์ สิริทวีชัย’ และ ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ กรณีพิรุธบันทึกการประชุมไม่ตรงกัน ว่าอาจมีการปลอมแปลงเอกสาร และอาจเข้าข่ายแจ้งความเท็จ โดยใช้เอกสารเท็จยื่นต่อ กกต.
ตัวตนของไอทีวีถูกสังคมขุดค้น ทั้งตัวตนเก่าที่ได้กลายเป็นความทรงจำไปแล้ว และตัวตนใหม่ที่เป็นปริศนา
ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV ทั้งหมด 75% คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมี ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ เป็นหัวเรือใหญ่ เขาเป็นบุตรชายของ ‘พล.อ.ถาวร รัตนาวะดี’ อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อนร่วมรุ่น จปร.5 กับแกนนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ทำการรัฐประหารในปี 2534
จากสื่อเสรีสู่เจ้าชายนิทรา
แนวคิดการก่อตั้งไอทีวีเกิดขึ้นในรัฐบาล ‘อานันท์ ปันยารชุน’ โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์เสรีเพื่อการนำเสนอข่าวสารและสาระความรู้สู่ประชาชน จึงเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทานเพื่อให้สื่อช่องใหม่มีอิสระอย่างแท้จริง
“เราก็นั่งคิดกันว่าถ้าจะทำทีวีที่ข่าวมีความหมาย เราจะทำอย่างไร” สุทธิชัย หยุ่น อดีตผู้บริหารไอทีวียุคแรก กล่าวถึงวันที่สถานีโทรทัศน์ ITV หรือ Independent Television เริ่มต้นเขียนหน้าแรกให้กับประวัติศาสตร์ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีจุดจบ
“จึงเป็นที่มาของความอิสระ ต้องกล้ารายงานความเป็นจริง ต้องสืบสวนสอบสวน ต้องเจาะลึก และต้องสด”อดีตผู้บริหารไอทีวี กล่าว
หลังจากถูกยกเลิกสัมปทานเมื่อปี 2550 ทำให้ไอทีวีต้องยุติการออกอากาศ แม้ว่าไอทีวีจะไม่ได้ประกอบกิจการเป็นสถานีโทรทัศน์แล้ว แต่จากงบการเงินปี 2565 ยังคงมีรายได้อยู่ที่ 20.6 ล้านบาท รายได้มาจากผลตอบแทนเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสื่อแต่อย่างใด
แต่ความพยายามที่จะทำให้สถานะของไอทีวีมีผลทางการเมืองได้ปรากฏในข้อมูลสำคัญที่อยู่ในเอกสารงบแสดงสถานะทางการเงินของไอทีวี ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
และจากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 จาก เอกสารงบแสดงสถานะทางการเงินของไอทีวี จะเห็นได้ว่าการกลับมา ‘ทำสื่อ’ ของไอทีวี ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของอินทัช เกิดขึ้นก่อนการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อ 4 เมษายนเพียง 40 วัน และคณะกรรมการบริษัทร่วมรับรู้ว่าบริษัทเปลี่ยนรูปแบบมาให้บริการลงสื่อโฆษณาหลังวันรับสมัครเลือกตั้งเพียง 3 สัปดาห์
สังคมไทยตั้งตารอดูว่า การกลับมาเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณานี้ ทำในรูปแบบธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้จริงหรือไม่
ไอทีวีจึงเป็นเหมือนเจ้าชายนิทราที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาจากอาการโคม่า จิตวิญญาณของสื่อเสรีตามแนวคิดการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เป็นอิสระได้เร่ร่อนพเนจรไปในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ร่างกายยังถูกตรึงไว้ด้วยสถานะทางกฎหมายในระหว่างข้อพิพาททางคดีระหว่าง ไอทีวี และ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน.
อันเป็นการต่อสู้ทางกฎหมายยกสุดท้าย
ส่งไอทีวีเข้านอน
ข้อพิพาททางคดีระหว่างไอทีวี และ สปน. เป็นปัญหาค้างคานับตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่าการที่ สปน. บอกเลิกสัญญากับไอทีวีเมื่อปี 2550 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน. ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ไอทีวีเป็นจำนวน 2,890 ล้านบาท และไอทีวีก็ต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ สปน. เป็นจำนวนเงินเท่ากัน ดังนั้นต่างฝ่ายไม่มีหนี้ติดค้างกัน
แต่ สปน. ไม่เห็นด้วย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ก่อนที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องในปี 2563 สปน. จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
สื่อมวลชนหลายสำนักคาดการณ์กันว่า ภายในเดือนมิถุนายน 2566 น่าจะมีคำตัดสินออกมาจากศาลปกครองสูงสุด
“นี่คือสิ่งที่ไม่เฉพาะแต่เจ้าของ นักลงทุนรายเล็กรายย่อย แต่อดีตพนักงานอย่างเรารอคอยมาแสนนาน” จตุรงค์ สุขเอียด อดีตประธานสหภาพแรงงานและอดีตพิธีกรรายการถอดรหัสและบรรณาธิการข่าวเฉพาะกิจ เฝ้ามองการบรรจบพบกันระหว่างการสิ้นสุดคดีไอทีวีกับจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยด้วยความพิศวง
“แต่ใครจะคิดว่า มันจะบังเอิญอะไรกับไทม์ไลน์ทางการเมืองพอดิบพอดีขนาดนี้” จตุรงค์ ระบุ
ไอทีวีเกิดมาจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ก่อนจะเปลี่ยนมือจากนักลงทุนหลายรายมาสู่เครือชินคอร์ป จอดำจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 และตอนนี้ “คงกำลังครึ่งหลับครึ่งตื่น” อดีตบรรณาธิการรายการถอดรหัส กล่าวเชิงอุปมาอุปไมย แต่ก็ทำให้เห็นภาพความลี้ลับของภาวะโคม่า เพราะเป็นภาวะที่ชีวิตถูกแขวนค้างอยู่ตรงกลางระหว่างการอยู่และการดับ
แต่กระนั้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองปี 2566 อดีตนักข่าวไอทีวีผู้นี้อยากให้ไอทีวีหลับใหลตลอดกาล “อย่าตื่นขึ้นมาสร้างความวุ่นวายใด ๆ ในบ้านเมืองนี้อีก” นี่คือความปรารถนาของอดีตคนทำงานสถานีโทรทัศน์ที่ตอนจบของประวัติศาสตร์หน้านี้เคลื่อนเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที
หมายเหตุ : ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 มติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้ นายพิธา สมาชิกภาพ สส. ไม่สิ้นสุดลง โดยศาลมองว่า ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ ในวันที่รับสมัครสส. จึงไม่ขาดคุณสมบัติ และไม่ต้องพ้นจากสส.
เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ภาพ: รายการตอบโจทย์, wikipedia
อ้างอิง:
สรยุทธ สุทัศนจินดา. (2566). ย้อนอดีต ไอทีวี ทีวีเสรี ในความทรงจำ ‘สรยุทธ์'
PPTV Online.(2566).สรุปให้! 16 ปี ITV จาก ‘สื่อเสรี’ ถึงวัน ‘จอดำ’ สุดท้ายถูกปิดเพราะอะไร?
บีบีซีไทย.(2566).พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ : ย้อน ‘คดี ม.151’ จับตา ‘คดีถือหุ้นสื่อ’ ฟื้นชีพหลัง กกต. รับรอง ส.ส.
ประชาชาติธุรกิจ.(2566). เปิดที่มาข้อกฎหมาย ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ เกิดขึ้นเพราะอะไร?
พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ.(2566). การเมือง การมุ้ง ย้อนรอยมุ้งใหญ่ ‘ไทยรักไทย’ หรือจะมีงานรียูเนียน?
ยามเฝ้าจอ.(2564).ย้อนรอย ‘ไอทีวี’ ทีวีเสรีแห่งแรกของประเทศไทย
อมรรัตน์ ล้อถิรธร.(2550).รายงานพิเศษ : จุดจบ ‘ไอทีวี’ กับ ‘อุดมการณ์’ ที่ไม่ค่อยอยู่ใน ‘ร่องรอย’?
The MATTER.(2566).ย้อนประวัติศาสตร์ ‘ไอทีวี สื่อเสรี’ จากแนวคิดสื่ออิสระ การต่อสู้ สู่ตอนจบของ ITV
ประภาพรรณ จิตต์วาร.(2561).การศึกษาวิเคราะห์วงจรชีวิตองค์การของทีวีสาธารณะไทย
ปฏิวัติ วาสิชาติ.(2550).อนุสติจากไอทีวี กำเนิดและอวสานสถานีข่าวแห่งแรก ผลต่อกอง บ.ก. และการเสนอข่าว : เมื่อทุนและอํานาจรัฐ ผนวกเป็นหนึ่งเดียวใน ไอทีวี ทีวีเสรี
ณัชปกร นามเมือง.(2566).คดีหุ้นไอทีวี และสารพัดความผิดปกติ
ไทยรัฐพลัส.(2566).หยุดกิจการไป 16 ปี ไอทีวีกลับมาทำสื่อก่อนสมัครเลือกตั้ง 40 วัน
Post Today.(2566).จับตา บทสรุปสุดท้าย คดีไอทีวี กับ สปน. กระทบชิ่ง พิธา พรรคก้าวไกล