‘โจเซฟ ปูโยล’ นักตดมืออาชีพ ผายลมเป็นเพลงจนรวย ได้ค่าจ้างสูงสุดในโรงละครดังที่ฝรั่งเศส

‘โจเซฟ ปูโยล’ นักตดมืออาชีพ ผายลมเป็นเพลงจนรวย ได้ค่าจ้างสูงสุดในโรงละครดังที่ฝรั่งเศส

‘โจเซฟ ปูโยล’ เขาคือคนที่ประกอบอาชีพซึ่งอาจไม่มีใครคิดว่าทำได้ เพราะเขาเป็นนักตดมืออาชีพ ผายลมเป็นเพลงจนร่ำรวย ได้ค่าจ้างสูงสุดใน ‘มูแลง รูจ’ โรงละครดังแห่งฝรั่งเศส

  • โจเซฟ ปูโยล นักแสดงที่ถูกเรียกว่า นักตดมืออาชีพ เพราะเขาผายลมเป็นเพลงจนร่ำรวย ว่ากันว่าเขาเป็นนักแสดงที่ได้ค่าตัวสูงที่สุดใน ‘มูแลง รูจ’ โรงละครชื่อดังแห่งฝรั่งเศส
  • แรกเริ่มเดิมทีแล้ว โจเซฟ ไม่กล้าบอกคนอื่นถึงความสามารถของตัวเอง แต่ด้วยความสงสัย เขาเอาชนะความกลัว และกล้ายอมรับ ก่อนขัดเกลาตัวเองให้ใช้ทักษะนี้ได้มากขึ้น

แต่ละคนมีมุมมองต่อการผายลมแตกต่างกัน บ้างก็มองเป็นเรื่องน่าอาย บ้างอาจมองเป็นเรื่องขบขัน แต่ไม่ว่าจะมีมุมมองแบบไหน การผายลมก็เป็นกระบวนการหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้

แม้ว่าเสียงหรือกลิ่นของมันจะถูกมองว่าไม่น่าพึงประสงค์ แต่สำหรับบางคนกลับมีความสามารถผายลมเป็นอาชีพได้ ตัวอย่างที่เป็นตำนานคือกรณีของชายชาวฝรั่งเศสนามว่า ‘โจเซฟ ปูโยล’ (Joseph Pujol) เสียงผายลมของเขาสูงต่ำราวกับกำลังบรรเลงดนตรี และได้ขึ้นแสดงในโรงละครชื่อดังอย่าง‘มูแลง รูจ’ (Moulin Rouge) จนได้รับสมญานามว่า ‘นักผายลมมืออาชีพ’ เรียกได้ว่า เปลี่ยนเสียงผายลมกลายเป็นอาชีพทำเงินได้

โจเซฟ สร้างชื่อจากการผายลมอันพิสดารที่สามารถควบคุมได้ดั่งใจของเขาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วกรุงปารีสในเวลานั้นด้วยชื่อในวงการว่า Le Pétomane เป็นการผสมคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสสองคำ ระหว่าง péter ที่แปลว่า การผายลม กับ -mane ที่แปลว่า บ้าคลั่ง กลายเป็นผู้ที่คลั่งไคล้การผายลม ซึ่งคงไม่มีฉายาไหนเหมาะกับชายผู้สร้างเงินจำนวนมหาศาลจากอาชีพนักผายลมได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว

ก่อนเข้าวงการนักผายลม

ณ ทะเลทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ย้อนเวลากลับไปเมื่อโจเซฟ กำลังย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขากำลังเล่นเซิร์ฟอยู่ในทะเลเหมือนคนอื่นทั่วไป ขณะที่ก้มตัวและเตรียมดำดิ่งใต้คลื่น พร้อมสูดหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อเก็บอากาศเข้าปอด แต่ในขณะเดียวกันเขารู้สึกเย็นยะเยือกที่ด้านในท้อง

ในตอนนั้นเองที่โจเซฟตระหนักว่า นอกจากจมูกของเขาจะสูดเอาอากาศเข้าปอดได้แล้ว ‘บั้นท้าย’ ของเขาก็สูดเอาน้ำเข้าไปในตัวด้วยเช่นกัน

เขารีบวิ่งขึ้นฝั่งด้วยความตื่นตระหนก แต่ทันทีที่ขึ้นเหนือน้ำ เขารู้สึกสบายตัวเพราะน้ำได้ไหลออกมาหมดแล้ว ถึงกระนั้น เขาก็รีบวิ่งไปหาแพทย์ประจำครอบครัวเพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย แพทย์ลงความเห็นว่าร่างกายของโจเซฟปกติดี

แต่ยังไม่วายร้อนใจไปเล่าเรื่องนี้ให้ครอบครัวฟัง สิ่งที่ได้รับกลับมามีเพียงเสียงหัวเราะคิกคัก และบอกให้เขาลืมมันไปซะ เด็กหนุ่มไม่สามารถลืมเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ เขาไม่กล้าว่ายน้ำอีกเลย และไม่เคยเอ่ยปากเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง จนกระทั่งเขาอายุ 20 ต้น ๆ ซึ่งเป็นตอนที่ต้องเข้าร่วมกองทัพฝรั่งเศส

โจเซฟ ยอมเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นที่ชายหาดให้กับเพื่อนทหารฟัง ทันทีที่เล่าจบ เพื่อนทหารของโจเซฟ ต่างพากันไม่เชื่อและท้าให้ทำแบบนั้นอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้โม้ไปเอง

ความสงสัยเอาชนะความหวาดกลัว โจเซฟ ปูโยล กลับลงทะเลอีกครั้ง และค้นพบความสามารถพิเศษที่ว่าไว้ เขาสามารถเก็บน้ำเข้าไปในรูทวารได้จริง นอกจากนี้ยังค้นพบว่า นอกจากน้ำแล้ว เขาสามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้กับอากาศได้ด้วยเช่นกัน

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โจเซฟเริ่มฝึกฝนขัดเกลาความพิเศษของตัวเองที่สามารถควบคุมการผายลมได้ ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตโจเซฟ ไปตลอดกาล 

อาชีพนักผายลม

โจเซฟ ปูโยล ใช้เวลาหลายปีในค่ายทหารเพื่อพัฒนา ‘ทักษะ’ นี้ให้สมบูรณ์แบบ หลังจากฝึกผายลมนานติดต่อกัน เขาพบว่าสามารถเปลี่ยนระดับเสียงผายลมได้เช่นกัน โดยสามารถเล่นได้เหมือนโน้ตดนตรี 

ด้วยความที่ชื่นชอบละครเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขามักจะร้องเพลงและเต้นรำในวัยเด็กอยู่เสมอ หลังออกจากค่ายทหาร เขาตัดสินใจออกตามหาผู้ชมอื่นนอกจากเพื่อนทหารและตัดสินใจแสดงโชว์ตามท้องถนนในช่วงกลางปี ค.ศ. 1880 พร้อมกับขนานนามตัวเองว่า Le Pétomane 

หลังผ่านไปพักใหญ่ ในปี ค.ศ. 1892 โจเซฟ ปูโยล รวบรวมความกล้าไปออดิชั่นที่มูแลง รูจ (Moulin Rouge) ไนต์คลับที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ในปารีส

การสัมภาษณ์งานเริ่มต้นจากเขาถอดกางเกงขายาวทิ้งลงพื้น ทำความสะอาด ‘เครื่องดนตรี’ ของเขาด้วยการดูดน้ำ จากนั้นก็เริ่มขับกล่อมเจ้าของร้านด้วย ‘เสียงดนตรี’ จากการผายลม แน่นอนว่าเจ้าของร้านงงสุด ๆ ว่าเขากำลังดูอะไรอยู่ แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เจ้าของร้านตัดสินใจจ้างโจเซฟทันทีที่การแสดงออดิชั่นจบลง

เมื่อขึ้นแสดง ในตอนแรกนั้นผู้ชมเองก็งงงวยไม่ต่างกับเจ้าของร้าน แต่ไม่น่าเชื่อว่าภายในเวลาเพียง 2 ปี โจเซฟกลายเป็นนักแสดงไนต์คลับที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดในมูแลง รูจ แห่งฝรั่งเศส บางโชว์เขาได้เงินค่าตอบแทนมากถึง 20,000 ฟรังก์ ถือว่าทำรายได้มากกว่า ซารา แบร์นฮาร์ต (Sarah Bernhardt) นักแสดงหญิงระดับตำนานถึง 2 เท่า 

ในทุกคืนที่โจเซฟแสดง เมื่อม่านเปิดออก เขาจะปรากฏตัวบนเวทีในชุดทักซิโด้ผ้าซาตินสีดำพร้อมถุงมือสีขาวและเสื้อคลุมสีแดง เขากล่าวกับผู้ชมด้วยความสุภาพว่า “การผายลมของผมจะไม่มีกลิ่นมารบกวนแน่นอน ดังนั้น ท่านผู้ชมโปรดสบายใจได้” 

หลังจากเสียงหัวเราะจบลง เขาก็เริ่มแสดงโดยโก้งโค้งลง ผายลมแบบต่าง ๆ โจเซฟสามารถผายลมเป็นเสียงเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงอ่อนหวานช้า ๆ หรือเพลงที่ฟังดูสนุกสนาน นอกจากนี้ยังสามารถทำเสียงผายลมให้เหมือนยิงปืนกลหรือเสียงปืนใหญ่และฝนฟ้าคะนองได้ ต่อด้วยเลียนเสียงสัตว์ต่าง ๆ ทำเสียงโด เร มี ฟา ไล่เสียงสูงไปหาต่ำ จากต่ำไปหาสูง และจบการแสดงด้วยการผายลมเป่าเทียน 

ผู้ชมของเขามีหลากหลายทั้งหญิงและชาย บางคนลุกขึ้นยืนตัวแข็งน้ำตาไหลพราก บางคนถึงขั้นหัวเราะจนลงไปนอนกลิ้งอยู่กับพื้น หนักเข้าเคยมีคนหัวเราะจนหัวใจวายมาแล้ว โดยเฉพาะกับผู้หญิง เพราะผู้หญิงในสมัยนั้นจะสวมใส่คอร์เซ็ทตลอดเวลา ทำให้เมื่อหัวเราะหนักเข้าก็เกิดอาการหายใจไม่ออก ทำให้ทุกครั้งที่โจเซฟขึ้นแสดงจะต้องมีนางพยาบาลในเครื่องแบบนั่งข้างเวทีเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อยู่เสมอ

มูแลง รูจ ใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ด้วยการติดป้ายประกาศเตือนว่าการแสดงอันตรายแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเตือนยิ่งเรียกความสนใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี ผู้คนต่างต้องการเข้ามาดูการแสดงผายลมเพื่อพิสูจน์ว่าโจเซฟจะตลกสักแค่ไหน เมื่อมีผู้ชมการแสดงถึงขั้นถูกหามส่งโรงพยาบาล 

 

การผายลมที่ต่างจากคนทั่วไป

เชื่อว่า ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า การผายลมแบบนักแสดงผู้นี้ทำไมถึงไม่มีกลิ่น โดยปกติแล้วการผายลมเป็นการปล่อย/ระบายลมจากลำไส้ ลองนึกภาพตามว่าทุกครั้งที่กลืมอาหารหรือดื่มน้ำเข้าไป เรากลืมลมเข้าไปพร้อมกันด้วย หรือเกิดจากแก๊สที่ร่างกายปล่อยออก ซึ่งมาจากการหมักหมมของกากอาหารที่ไม่ย่อยสลาย อาหารที่เพิ่มปริมาณแก๊สในลำไส้ ได้แก่จำพวก ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว กะหล่ำปลี บรอกโคลี

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว 99% ของแก๊สที่เป็นส่วนประกอบของลมที่ปล่อยออกจากร่างกายจะไม่มีกลิ่น แต่มีองค์ประกอบบางชนิดเท่านั้นที่ทำให้เกิดกลิ่นขึ้น เช่น สารประกอบในอาหารที่มีโปรตีนในอาหารบางชนิด องค์ประกอบบางชนิดทำให้เกิดกลิ่นคล้ายไข่เน่า ผักเน่า หรือกลิ่นไม่พึงประสงค์อื่น ๆ 

ที่กล่าวข้างต้นคือกระบวนการโดยคร่าวแบบรวบรัดที่สุดของการผายลมในคนทั่วไป แต่สำหรับนักผายลมมืออาชีพอย่างโจเซฟนั้นต่างออกไป เขาไม่ได้กินบรอกโคลีหรือดื่มนมเพื่อเติมแก๊สในกระเพาะอาหาร เขาเพียงแค่สูดอากาศในทุกวัน แล้วดันอากาศกลับออกไปกลายเป็นการผายลมเท่านั้น เป็นผลให้ทุกครั้งที่ขึ้นแสดงบนเวที การผายลมของเขาจึงไม่มีกลิ่น เป็นความพิเศษของร่างกายที่ยากจะมีใครเหมือน

กลับมาที่เรื่องราวนักผายลม ท้ายที่สุด โจเซฟเกิดไม่ลงรอยกับเจ้าของมูแลง รูจ เพราะถูกจับได้ว่าไป ‘บรรเลง’ อยู่ใกล้แผงขายของในตลาดเพื่อช่วยเพื่อนดึงดูดลูกค้า เจ้าของคลับจึงฟ้องร้องว่าเขาละเมิดสัญญา โดยอ้างว่า โจเซฟ ได้รับอนุญาตให้แสดงในคลับของเขาเท่านั้น

นักตดมืออาชีพผู้โด่งดังจึงตัดสินใจลาออกและไปตั้งไนต์คลับของตัวเอง แม้จะไม่ใช่การแสดงที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดในฝรั่งเศสอีกต่อไป แต่ก็แสดงในคลับของตัวเองอย่างมีความสุขกับครอบครัว จนกระทั่งปี ค.ศ. 1914 ทั่วยุโรปลุกเป็นไฟเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้น ไม่มีใครมีเวลามาดูการแสดงอีกแล้ว แม้แต่ในครอบครัวของโจเซฟ เองก็ประสบปัญหา เมื่อลูกชายสองคนของเขาได้รับบาดเจ็บที่แนวหน้าในสงคราม

หลังสงครามจบลง โจเซฟ อำลาวงการการแสดงและเปิดร้านเบเกอรี่ เขาเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1945 ในวัย 88 ปี หลังเสียชีวิต มีแพทย์ให้ความสนใจอยากนำร่างของโจเซฟ ไปศึกษาต่อ แต่ครอบครัวปฏิเสธคำร้องขอ

นอกจากจะเป็นนักแสดงที่ได้ค่าตัวมากที่สุดในมูแลง รูจ เขายังเป็นนักแสดงที่สร้างความบันเทิงและความประทับใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสมากที่สุดอีกคนหนึ่ง การแสดงของเขานำความแปลกใหม่มาสู่ปารีส สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชมแบบที่ไม่เคยมีการแสดงใดทำได้มาก่อน สำหรับเจ้าตัวแล้ว เขาไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นตัวตลก เขาคิดว่าตัวเองเป็นนักร้องเลียนเสียงที่สร้างความสุขให้ผู้คนมากกว่า 

โจเซฟ ปูโยล เห็นความสามารถของตัวเองแล้วนำมาสร้างประโยชน์ แทนที่จะนั่งปฏิเสธสิ่งที่เป็นตัวตนเพียงเพราะแค่มันแปลกไปจากคนอื่นในสังคม

เขายอมรับตัวตนที่พิเศษของตัวเองและหาทางแปรรูปมันออกมาแล้วแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้ชม เพราะเหตุนี้เองเขาจึงถูกขนานนามว่าเป็น “ผู้มอบความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส” (ทั้งที่สิ่งที่เขาใช้คือเสียงผายลม)


เรื่อง: อารดา แทนศิริ (The People Junior)

ภาพ: โจเซฟ ปูโยล ขณะที่คาดว่าอยู่ระหว่างการแสดง ไม่พบแหล่งที่มาภาพ (ฉากหลังจากวิดีโอภาพยนตร์เงียบ Le Pétomane du Moulin Rouge, 1900

อ้างอิง:

Wired

Slate

The Guardian