‘ดีลลับ-ดีลล่ม’ รวมพลคนสายดีลในประวัติศาสตร์ไทย ใครได้กลับ ไม่ได้กลับ มีชะตากรรมอย่างไร

‘ดีลลับ-ดีลล่ม’ รวมพลคนสายดีลในประวัติศาสตร์ไทย ใครได้กลับ ไม่ได้กลับ มีชะตากรรมอย่างไร

รวมการดีลเด่น ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย แบ่งกลุ่มออกเป็นการดีลได้ 9 ประเภท แต่ละประเภทมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั้งจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ และเรื่องราวในวรรณกรรมที่สะท้อนโลกจริง

  • ย้อนดูดีลล่ม-ดีลลับ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ดีลที่จะมีผลแปรเปลี่ยนเรื่องสำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ มักเป็นดีลระหว่างชนชั้นนำกับสามัญชน 
  • หากจัดแบ่งดีลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ในที่นี้แบ่งออกได้เป็น 9 ประเภท ทั้งที่ดีลล่ม และสำเร็จ

คำว่า ‘ดีล’ มักถูกนำมาใช้ในฐานะคำอธิบายเบื้องหลังปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองของไทยยุคปัจจุบัน และดูเหมือนจะเป็นที่แน่นอนว่า พอเป็นปรากฏการณ์ที่ใช้คำนี้อธิบายก็มักจะเป็นเรื่องราวในทางลบร้าย แบบไม่ควรจะเกิดขึ้นหรือดูเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือปรากฏการณ์ประเภท ‘หักหลังเพื่อน’ หรือทรยศต่อบางหมู่คณะ

อันที่จริง ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา (หรือเปล่า?) สำหรับการเมืองที่มีเรื่องผลประโยชน์ผลักดันกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็มักจะต้องเกิดปรากฏการณ์แบบดังกล่าว แต่เมื่อมองจากอุดมการณ์ ซึ่งมาพร้อมกับตัวแบบในอุดมคติ การเมืองก็ทำให้คนอกหักรักคุดเอาได้ง่าย ไม่ต้องโยงไปเปรียบเทียบไกลถึงจีนยุคสามก๊กหรอกครับ สังคมไทยนี่แหละ มีตัวอย่างมากมาย 

‘ดีล’ ถ้าแปลตรงตัวตามความเข้าใจของผู้คน ก็คงลงรอยกับคำว่า ‘การเจรจาต่อรอง’ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ มีตัวอย่างมากมายจากในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวิธีการปกติอย่างหนึ่งของมนุษย์ บางครั้งก็แปลว่า ‘การซื้อขาย’ หรือ ‘แลกเปลี่ยน’ (ผลประโยชน์) ด้วยซ้ำไป ทั้ง ‘การเจรจาต่อรอง’ ‘การซื้อขาย’ และ ‘การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์’ ล้วนแต่คุณทักษิณหรือเพื่อไทยไม่ได้เป็นคนแรกที่ทำ มีทุกยุคสมัยไล่ย้อนกลับไปได้จนถึงสมัยพระเจ้าเหากันโน่นเลยแหละครับ เพียงแต่สมัยก่อนอาจจะยังไม่ได้ใช้ทับศัพท์ในภาษาอังกฤษเช่นคนในปัจจุบัน   

จะพ่อค้า หรือทหาร หรือนักการเมือง เวลาเขาดีลกัน เราไม่รู้หรอกว่าเขาใช้อะไรไปแลกเปลี่ยนกัน ถ้ารู้ก็อาจจะไม่ใช่ดีลในความหมายที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เพราะมันมีคำว่า ‘ลับ’ ตามมาเป็นคำขยายด้วย ในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์ซึ่งถูกฝึกฝนให้อ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ขออนุญาตจัดประเภทการดีลและผลของมันในแต่ละช่วงอย่างกว้าง ๆ ดังที่ผู้เขียนจะอภิปรายในลำดับต่อไป เป้าหมายในที่นี้ไม่ใช่เพื่อการคาดเดาแนวโน้มว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากแต่เพื่อเข้าใจเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นตัวแปรทำให้การดีลมันสามารถก่อผลเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญใหญ่ ๆ ในสังคมประเทศนี้ได้ (หนึ่งในนั้นหลีกไม่พ้นการเมินเฉยต่อคะแนนเสียงของประชาชนคนหมู่มาก)     

แน่นอนว่า เรากำลังจะอภิปรายถึงประวัติศาสตร์ในมุมที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นนำ มิตรสหายท่านใดอยากจะอ่านแต่เรื่องเกี่ยวกับชาวบ้านสามัญชนล้วน ๆ เรียนป้ายหน้าครับ เพราะเมื่อพูดถึงการดีลที่จะมีผลแปรเปลี่ยนเรื่องสำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์แล้ว ก็มักจะเป็นการดีลกันระหว่างชนชั้นนำกับสามัญชน 

หากถามว่ามีการดีลประเภทนั้นกี่ครั้ง ไม่มีนักศึกษาประวัติศาสตร์คนไหนจะตอบท่านได้หรอกครับ แต่หากถามว่ามีกี่ประเภทจากตัวอย่างในประวัติศาสตร์ไทย พอจะตอบได้ว่ามี 9 ประเภท ดังจะจัดจำแนกให้เห็นในลำดับต่อไปนี้:  

(1) ฝ่ายหนึ่งกระทำสิ่งสำคัญตามที่อีกฝ่ายต้องการ

อาจจะเรียกว่าเป็น ‘ดีลการกระทำ’ หรือ ‘ดีลประพฤติ’ คือตกลงว่าฝ่ายหนึ่งจะกระทำตามที่อีกฝ่ายต้องการให้กระทำให้แก่ตน เช่น เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) คนสมัยอยุธยา คนเดียวกับที่คนไทยสมัยหลังชอบเอ่ยนามเรียกเขาว่า ‘วัน วลิต’ เป็นผู้อำนวยการสถานีการค้าบ้านฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งมีสถานะเป็นหัวหน้าชุมชนชาวดัตช์หรือฮอลันดาในอยุธยาด้วย 

ในฐานะพ่อค้า เขาต้องดีลกับขุนนางและกษัตริย์อยุธยา ปกติเจรจากันด้วยเรื่องการค้า ซื้อหนังกวางเท่าไหร่ ดีบุกคุณภาพเป็นอย่างไร ปีนี้จะส่งออกช้างไหม ฯลฯ

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่วัน วลิต มีดีลกระทำ คือตกลงว่าจะยอมคลานเข่า หมอบกราบ และถือ ‘น้ำพระพัทธ์’ ในระหว่างเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อแลกกับการที่ทางการกรุงศรีฯ จะไม่ประหารชีวิตเพื่อนชาวดัตช์ของเขาที่ก่อความผิดต้องพระราชอาญาสถานหนักจากการไป ‘ปิกนิก’ กันที่วัดแห่งหนึ่ง เมาแล้วมีเรื่องชกต่อยกับพระภิกษุสงฆ์ เมื่อเห็นท่าไม่ดี ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ก็ให้คนไปแจ้งแก่เจ้านายผู้อุปถัมภ์วัด คือพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งขณะนั้นเป็นพระราชอนุชาและเป็นเจ้านายวังหน้า พระศรีสุธรรมราชาส่งคนไปเคลียร์กับชาวดัตช์นั้นให้ แต่ปรากฏว่าคนวังหน้าที่ถูกส่งไปก็ถูกชาวดัตช์นั้นกระทืบเอาอีก 

โดยความผิดแล้ว ชาวดัตช์ที่ก่อเรื่องเช่นนี้นั้นจะต้องโดนประหารชีวิตไปโดยทันที แต่วัน วลิต ได้ ‘วิ่งเต้น’ เข้าขอพระราชอภัยโทษ พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีฯ สมัยนั้นคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงเพิ่งขึ้นครองราชย์ปราบดาภิเษก โดยที่พระองค์มาจากขุนนาง แม้อาจเป็นพระญาติวงศ์ในราชวงศ์สุโขทัย ก็เป็นพระญาติห่าง ๆ

ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อแรกขึ้นครองราชย์ทรงต้องการที่จะแสดงบุญบารมีและกฤษดาภินิหารที่มีชาวชาติมหาอำนาจในโลกสมัยนั้นอย่างดัตช์ มาเข้าพิธีถือน้ำพระพัทธ์ (คำว่า ‘พระพิพัฒน์สัตยา’ เพิ่งใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4) ถวายความจงรักภักดี เป็นเรื่องที่สร้างความขมขื่นใจแก่วัน วลิต อย่างมาก เพราะเขาเป็นชาวคริสต์ และนี่เองเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่คาดว่านำไปสู่การล้างแค้นผ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่บริภาษติเตียนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่าง ๆ นานา 

 

(2) การมอบสิ่งของสำคัญที่มีราคาแพงหรือหายากให้เป็นการตอบแทน หากว่าฝ่ายที่มีอำนาจใช้อำนาจกระทำอย่างใดให้แก่ตน อาจเรียกว่า ‘ดีลส่วย’ หรือ ‘ดีลบรรณาการ’

ความสัมพันธ์เชิงบรรณาการที่สยามมีกับจีน เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ชนชั้นนำสยามนำเอามาใช้เลียนแบบจัดระบบความสัมพันธ์ภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับหัวเมืองภายในราชอาณาจักรอยุธยาจึงเป็นความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ กล่าวคือเจ้าเมืองจะต้องส่งส่วยบรรณาการให้แก่กษัตริย์ที่ส่วนกลาง ในลักษณะเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยาต้องส่งส่วยสิ่งของไปให้แก่จักรพรรดิจีน ปกติก็แลกกับการที่กษัตริย์อยุธยารับรองสถานะความเป็นเจ้าเมืองให้แก่ผู้นำท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่จักรพรรดิจีนจะมีการรับรองอำนาจให้แก่ ‘เสียมอ๋อง’ เมื่อได้สิ่งของมีค่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันแบบ Win-Win Situation

มีบางกรณีเหมือนกันที่การส่งส่วยบรรณาการมีลักษณะพิเศษ ไม่ได้เป็นการส่งจากกษัตริย์อยุธยาไปให้แก่จักรพรรดิจีน หรือไม่ใช่การที่เจ้าเมืองในท้องถิ่นส่งมาให้แก่กษัตริย์ที่ส่วนกลาง เป็นการส่งสิ่งของสำคัญไปให้แก่ผู้มีอำนาจเพื่อให้ใช้อำนาจไปในทางตามที่ผู้ส่งส่วยไปให้นั้นต้องการ เช่นกรณีนางออสุต หญิงแม่ค้าชาวมอญ ภรรยาของวัน วลิต

เมื่อวัน วลิต ได้ย้ายออกจากอยุธยาไปปัตตาเวียแล้ว ได้ดำเนินการ ‘วิ่งเต้น’ ขอนำบุตรที่เกิดกับออสุตนั้นไปด้วย แต่ออสุตไม่ยอม นางได้ยื่นข้อเสนอแก่ข้าหลวงใหญ่ที่ปัตตาเวีย ซึ่งเป็นเจ้านายของวัน วลิต ว่า ถ้าให้ลูกอยู่กับนาง ไม่อนุญาตให้วัน วลิต นำลูกไปอยู่ปัตตาเวียด้วย นางจะส่งช้างไปให้แก่เขา (ข้าหลวงใหญ่) เป็นของกำนัล 

ช้างเป็นสินค้าออกสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ดังที่ผู้เขียนเคยเล่าไว้ในบทความชิ้นอื่นแล้ว (ดูรายละเอียดใน กำพล จำปาพันธ์. ‘เจาะลึก ‘ช้างสยาม’ เดินทางไปต่างแดน จากสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์’) ในยุคสมัยที่ยังไม่มีถนนราดยางมะตอย ไม่มียวดยานพาหนะอย่างรถยนต์ ช้างนับเป็นสัตว์พาหนะที่สำคัญและมีราคาซื้อขายแพงมาก ถ้าเปรียบสมัยนี้ก็อาจเหมือนรถเบนซ์คันงามที่คุณเรืองไกร ได้จากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนั่นแหละมั้ง?  

ดังนั้น วัน วลิต จึงไม่อาจนำบุตรออกจากอยุธยาไปอยู่กับตนได้ดังหวัง ได้แต่ส่งจดหมายมาคร่ำครวญกับราชสำนัก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็เป็นโจทย์เก่าของตนไปอีก จนกระทั่งถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ทรงมีนโยบายเปิดกว้างต่อชาวต่างชาติและเห็นอกเห็นใจวัน วลิต จึงได้อนุญาตให้บุตรของเขาออกเดินทางไปกับเรือสินค้าของฮอลันดา เพื่อไปหาและอยู่กับบิดาที่ปัตตาเวียได้      

ยังมีการดีลด้วย ‘ส่วยพิเศษ’ อีกประเภทหนึ่งที่พบในหลักฐานไทย เช่นกรณีขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ดีลกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จากพระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระ (พันจันทนุมามาศ) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากเสร็จศึกพระเจ้าอลองพญา (คนละศึกกับคราวเสียกรุง 2310) พระเจ้าอุทุมพรซึ่งเพิ่งจะสึกมา ได้เสด็จไปบ้านคำหยาด แขวงวิเศษไชยชาญ แล้วผนวชอีกครั้งที่วัดโพธิ์ทองคำหยาด จากนั้นเสด็จกลับกรุงศรี ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ โดยเมื่อจะเสด็จกลับกรุงศรีนั้น พระเจ้าอุทุมพรได้ ‘สึกพระองค์แมงเม่าออกจากชี นำมาถวายเป็นบาทบริจาริกาแห่งพระเชษฐาธิราช (หมายถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์-ผู้อ้าง)’ 

พูดง่าย ๆ ก็คือขุนหลวงหาวัดได้ยกผู้หญิงให้พระเชษฐา เพื่อแลกกับการได้กลับกรุงศรีฯ คำถามคือเพราะเหตุใด ทำไมพระเจ้าอุทุมพรถึงต้องทำเช่นนั้น ทั้งที่เป็นช่วงหลังเสร็จศึกพม่ามาหมาด ๆ แถมเป็นศึกที่ทรงทำคุณใหญ่หลวง เพราะเป็นนายทัพบัญชาการศึกป้องกันพระนครได้สำเร็จ แต่แล้วเหตุใดจึงทรงเสด็จออกจากพระนครไปแขวงวิเศษไชยชาญ และจะกลับมาก็ต้องผนวชอีก แค่นั้นไม่พอ ยังสึกนางชีรูปงามถวายให้เป็นบาทบริจาริกาแก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์อีก เมื่อมองจากจุดของสตรีในเหตุการณ์คือ ‘พระองค์แมงเม่า’ เหตุใดพระนางจึงยอมกระทำตามเช่นนั้น 

ผู้ที่ให้อรรถาธิบายเรื่องนี้ได้กระจ่างที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชนิพนธ์ ‘พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า’ เมื่อ ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องการเสด็จประพาสผ่านไปยังย่านวิเศษไชยชาญ อ่างทอง ทรงสนทนากับพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เกี่ยวกับปริศนาจากพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้ ทรงมีพระราชวินิจฉัยไว้ดังนี้: (จัดย่อหน้าใหม่ - กองบรรณาธิการ)

“ตามอรรถาธิบายของพระยาโบราณคิดเห็นว่า ชะรอยบ้านในทุ่งคำหยาดนี้จะเป็นบ้านพวกกรมช้าง จึงได้มีชื่อวัดเกี่ยวข้องเป็นช้าง ๆ เช่นวัดโขลงข้ามเป็นต้นหลายวัด หลวงทรงบาศครั้งแผ่นดินพระนารายน์ที่เป็นคู่คิดกับพระเพทราชาเอาราชสมบัติ ได้เป็นกรมพระราชวังหลัง ภายหลังที่ให้ถามว่าพระเจดีย์สร้างแล้วจะควรรื้อหรือจะควรเอานั่งร้านไว้ ให้เอาไปประหารชีวิตเสียนั้น ชะรอยจะอยู่บ้านนี้ หลวงทรงบาศผู้นี้เป็นบิดากรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี ซึ่งเป็นพระมเหสีขุนหลวงบรมโกศ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ เจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นพระโอรสกรมหลวงพิพิธมนตรี เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรออกจากราชสมบัติครั้งแรก ทรงผนวชอยู่วัดประดู่ ที่จะยังไม่มีบาดหมางมากกับขุนหลวงสุริยามรินทร์ ครั้นเมื่อทรงผนวชครั้งหลัง ทีความบาดหมางจะมากขึ้น จึงได้คิดออกมาสร้างตำหนักที่คำหยาดนี้ เพื่อจะเอาเป็นที่มั่น  เพราะเหตุที่ตำบลคำหยาดเป็นหมู่ไม้อยู่ในกลางท้องทุ่ง ไม่มีลำคลองที่จะเข้าไปถึง ถ้าจะเข้าทางทิศใดคงแลเห็นเสียก่อนนาน หวังจะเอาไว้เป็นที่มั่นป้องกันตัว ถ้าขุนหลวงสุริยามรินทร์เอะอะขึ้นอย่างไรก็จะหนีมาอยู่ที่ในนี้ จะคิดสู้ด้วยคนในท้องที่ก็เป็นพระญาติวงศ์สมัครพรรคพวกอยู่แล้ว

แต่ครั้นเมื่อไปถึงได้เห็นตัวตำหนักเข้า เห็นว่าไม่ใช่ตำหนักที่ทำโดยรีบร้อนเป็นการด่วน อย่างเช่นพระยาโบราณกล่าว เป็นตำหนักที่ทำก็โดยมั่นคงประณีต แต่เป็นประณีตชั้นตอนปลายในแผ่นดินพระบรมโกศ ประณีตตอนต้นนั้นคือวัดกุฏีดาวเป็นตัวอย่าง เพราะทำแข่งวังหลวง ประณีตตอนปลายเป็นเวลาแผ่นดินพระบรมโกศเอง ที่ไว้ใจคนอื่นทำ 

ข้อซึ่งพระยาโบราณเห็นว่าบ้านหลวงทรงบาศจะอยู่ที่นี่นั้นเห็นจะถูก พระญาติวงศ์เห็นจะมีมากอยู่  แต่ตำหนักนี้คงจะได้สร้างเมื่อขุนหลวงบรมโกศเสด็จมาประพาสแถบเมืองอ่างทองเนือง ๆ จนถึงได้เสด็จพระนอนขุนอินทรประมูลถึง 2 ครั้ง ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งวัดพระนอนจักรศรีและพระนอนอินทรประมูล ที่ตำหนักคำหยาดนี้คงจะได้สร้างขึ้นไว้เป็นที่ประทับ เสด็จอออกมาเนือง ๆ อย่างเดียวกันกับพระเจ้าปราสาททองสร้างบางปอิน ในแผ่นดินพระบรมโกศไม่เสด็จบางปอิน เสด็จขึ้นมาอ่างทองเนือง ๆ ตำหนักนั้นลักษณะเดียวกันกับตำหนักทุ่งหันตรา คือก่อเป็นตึกสูงจากพื้นดิน 5 ศอก ผนังชั้นล่างเป็นช่องคูหาปูพื้นกระดาน ชั้นบนซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มจระนำ หลังคาในประธาน 3 ห้อง มุขลดหน้าท้าย รวมเป็น 5 ห้อง มีมุขเด็จทั้งหน้าทั้งหลัง ด้านข้างหน้ามุขเด็จเสาหาร มีอัฒจันทร์ขึ้นช้าง มุขหลังอุดฝาตันเจ้าช่องหน้าต่างไว้สูง เห็นจะยกพื้นขึ้นเป็นหอพระ ที่หว่างผนังด้านหุ้มกลองเจาะเป็นคูหา ทั้งข้างหน้าข้างหลัง มีช่องคอสอง

ในช่องเหล่านี้ทาดินแดงทั้งนั้น ฝีมือเป็นฝีมืออย่างสไตล์ลพบุรี โดยยาวตลอดหลัง 9 วา 2 ศอก  ชื่อกว้าง 5 วา ดูเป็นรอยแก้ อุดหน้าต่างมุขลดด้านหลังเสียทั้ง 2 ด้าน ตำหนักนี้พื้นดินก็ยังต่ำ น้ำท่วมแฉะรอบ หันหน้าไปตะวันออกหันหลังไปตะวันตก ตรงด้านข้างใต้มีวิหารเล็กหรือหอพระหลังหนึ่ง แยกอยู่คนละโคก มีเจดีย์องค์เล็กซึ่งรูปร่างอย่างไรไม่ได้ความพังเสียแล้วองค์หนึ่ง นอกจากนั้นไม่มีอะไร การที่ขุนหลวงหาวัดออกมาทรงผนวช ไม่ได้ผนวชที่ตำหนักนั้น ทรงผนวชที่วัดโพทองแล้วไปประทับอยู่ตำหนักคำหยาด อย่างเดียวกันกับจะไปทรงผนวชวัดชุมพล ครั้นไปประทับอยู่พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์หรือวโรภาศพิมานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็กลับลงมาอยู่วัดประดู่ เห็นจะไม่มีความคิดใหญ่โต ถึงที่จะตั้งมั่นสำหรับต่อสู้ ถ้าหากว่าขุนหลวงหาวัดคิดจะไม่ยอมให้สมบัติแก่ขุนหลวงสุริยามรินทร์แล้ว มีช่องที่จะทำได้หลายอย่าง ขุนหลวงสุริยามรินทร์สิปรากฏโด่งดังว่าเป็นคนโง่กักขฬะ จนถึงพระบิดาทำนายว่าถ้าเป็นใหญ่ขึ้นบ้านเมืองจะฉิบหาย บังคับให้ออกผนวช ตั้งเจ้าฟ้าพรเป็นวังหน้าขึ้นไว้แล้ว เวลาเมื่อขุนหลวงบรมโกศสวรรคตก็ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถึงว่าขุนหลวงสุริยามรินทร์จะสึกมานั่งกีดเกะกะอยู่ จะเชิญเสด็จไปเสียข้างไหนก็คงจะทำได้ ไม่จำจะต้องฆ่า นี่ยอมถวายสมบัติกันโดยดีออกไปบวช ถึงว่าเมื่อพะม่ามารับสัญญาว่าจะคืนสมบัติให้ขุนหลวงหาวัดตัวกลับออกไปบวชเสีย

ครั้นพะม่าไปแล้วไม่ทำตามคำที่พูด กลับนั่งพูดกันเอาพระแสงพาดตัก ขุนหลวงหาวัดก็ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร เพราะจะทำอะไรก็ไม่เห็นจะต้องเกรงใจ เช่นเอาปิ่นราชมนตรีพระยาเพ็ชบุรีไปฆ่าเสีย ก็ไม่เห็นขุนหลวงสุริยามรินทร์ว่าไรได้ การที่กลับออกมาบวชอีกน่าจะเป็นได้ด้วยไม่มีความมักใหญ่ เห็นควรสมบัติจะได้แก่พี่ชายที่แก่กว่าจริงๆ อย่างหนึ่ง หรือจะเป็นคนที่อ่อนไม่แข็งแรงและไม่มีใครนิยมนับถือ ใจคอเกียจคร้านคับแคบนั้นอย่างหนึ่ง หรือจะทำให้ปรากฏว่าใจดี เห็นพี่อยากครองเมืองก็ให้ครองคงไม่ไปได้ถึงไหน  เมื่อเหลวไหลอย่างไรต่อไปก็คงตัวได้เป็น นี้อีกอย่างหนึ่ง

มีข้อที่จะพิจารณาอยู่อย่างหนึ่ง ปรากฏในพงศาวดารว่า กรมเทพพิพิธเป็นพรรคพวกข้างวังหน้า คือเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ออกไปคบคิดกับเจ้าพระยาอภัยราชาที่วัดกระโจม จะเอาแผ่นดินถวายขุนหลวงหาวัด ขุนหลวงหาวัดเองเป็นผู้เข้าไปทูลขุนหลวงสุริยามรินทร์ จะเป็นด้วยเหตุใด  ถาว่าขุนหลวงหาวัดไม่อยากเป็นเจ้าแผ่นดินด้วยไม่เห็นสมควร ก็ลงกันได้ จะว่าเพราะกำลังอ่อนก็ชอบกล บางทีกรมเทพพิพิธคิดการครั้งนี้จะเป็นแต่กลอุบายยืมชื่อขุนหลวงหาวัดไปอ้างไม่ได้บอกให้รู้ตัวเพื่อจะให้คนนิยม คนที่นิยมหมายว่าเป็นความจริง มาพูดขึ้นกับขุนหลวงหาวัด เมื่อขุนหลวงหาวัดได้ทราบแล้วจะคิดเห็นว่า ถ้ากรมเทพพิพิธทำการได้สมความคิด ฆ่าขุนหลวงสุริยามรินทร์เสียแล้วก็จะมาฆ่าท่านเสียด้วย แล้วก็จะเป็นเจ้าแผ่นดินเอง

ขุนหลวงหาวัดคงรู้นิสัยกรมเทพพิพิธ เพราะเคยฝากเนื้อฝากตัวกันมา เหตุฉะนั้นจึงได้นำความไปทูลเจ้าแผ่นดินดั่งนี้ก็เป็นได้ ข้อที่ว่าจะเป็นการอวดดีลองให้เป็นดู คงจะไม่ไปถึงไหนแล้วตัวก็จะได้เป็น ก็เป็นการที่น่าทำอยู่แต่แรก แต่ครั้นเมื่อพะม่ามาก็ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในกำแพงกับพระราชาคณะทั้งปวง ไม่คิดอ่านสึกหาลาพรตออกมาช่วยการงานอะไร นิ่งทอดธุระเฉยอยู่ได้ น่ากลัวจะไปข้างเป็นคนอ่อนมากกว่าอย่างอื่น เห็นจะทำไปไม่ไหวแล้วก็ทอดธุระตามบุญตามกรรม แต่คงจะเป็นผู้ที่มีความแค้นความน้อยใจพี่ชายว่าสมบัติก็ยกให้  มีทัพศึกก็สึกออกมาช่วยรักษาบ้านเมือง ครั้นเสร็จศึกแล้ว ท่านพี่ชายกลับหยาบช้าไม่ยกย่องตามการที่ควร เหตุที่ออกมาบวชเพราะความแค้นนั้น  เห็นจะเป็นความจริง”

กล่าวโดยสรุป ตามความในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุนหลวงหาวัดเสด็จไปบ้านโพธิ์ทองคำหยาด แขวงวิเศษไชยชาญ เพราะเป็นถิ่นที่มีกำลังคนมาก อยู่ไม่ไกลจากพระนคร อีกทั้งยังเป็นถิ่นที่ทรงมีพระญาติวงศ์ฝ่ายข้างพระราชมารดาอยู่มาก ทรงคาดหวังว่าพระญาติวงศ์ตลอดจนชาวบ้านโพธิ์ทองคำหยาดจะให้การสนับสนุนแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของพระองค์ แต่ปรากฏว่าพระญาติวงศ์ไม่เอาด้วย เสียงสนับสนุนมีไม่เพียงพอ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ก็เป็นพระญาติวงศ์ของพวกเขาด้วยเหมือนกัน จึงไม่สนับสนุนให้เกิดการทรยศหักหลังกัน พระเจ้าอุทุมพรจึงต้องเลิกล้มแผนการและจะเสด็จกลับพระนคร 

แต่ครั้งนี้จะเสด็จกลับแค่เพียงบวชกลับไปดังเก่าแค่นั้นไม่ได้แล้ว เพราะออกมาด้วยวัตถุประสงค์เช่นนั้นย่อมทำให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เป็นเดือดเป็นแค้น แม้มีความชอบจากการป้องกันพระนครจากข้าศึกรุกราน ก็คงไม่พ้นต้องถูกจับสึกแล้วกุมตัวไปประหารที่โคกพระยาเป็นแน่ พี่น้องกันย่อมทราบอุปนิสัยใจคอความรักความชอบเมื่อโกรธแล้วจะทำยังไงให้หายโกรธกลับมารักกันดังเดิม จึงทรงยกสตรีถวายให้เป็น ‘ส่วยบรรณาการ’ แลกกับการได้กลับกรุงศรีโดยไม่ถูกจับสึกไปประหาร

สมัยก่อนทำได้เพราะตามกฎหมายบ้านเมืองเวลานั้นยังยึดถือว่า ผู้หญิงเป็นสมบัติของผู้ชาย การที่ขุนหลวงหาวัดยังทรงมีพระชนม์อยู่สืบมาจนกระทั่งเมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 ถูกกวาดต้อนไปอังวะพร้อมเชลยชาวโยเดีย ก็เป็นสิ่งสะท้อนว่าการดีลของพระองค์ในครั้งนั้นได้ผล ไม่เป็น ‘ดีลล่ม’

สมัยอยุธยาแม้เป็นสังคมชายเป็นใหญ่แบบผัวเดียวหลายเมีย แต่บ่อยครั้งจะเห็นได้ว่าสตรีมีบทบาทค่อนข้างมาก สืบเนื่องจากเป็นยุคระบบสังคมที่ยึดถือตัวบุคคล ซึ่งมีบุญบารมีจากชาติกำเนิด โดยที่บุคคลที่ว่าล้วนแต่มีบุคคลอันเป็นที่เคารพรักหรือไม่อยากให้เสียใจ ถึงกับธรรมเนียมว่าหากกษัตริย์ทรงตัดสินประหารชีวิตผู้ใดไปแล้ว ผู้นั้นมีทางรอดทางหนึ่ง คือการส่งคนไปขอให้สตรีที่เป็นพระราชมารดา พระมเหสี หรือพระสนมคนโปรด ขอพระราชทานอภัยโทษให้ได้ และเมื่อสตรีผู้อยู่ในฐานะดังกล่าวกราบทูลขอพระราชทานอภัยให้แล้ว ก็มีธรรมเนียมอีกว่ากษัตริย์พระองค์นั้นสามารถจะคืนคำตัดสินไม่ประหารชีวิตผู้ต้องโทษนั้นได้ 

เนื่องจากมีธรรมเนียมเช่นนี้ สตรีเลยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองของการดีล ทั้งดีลลับและไม่ลับมากมาย สตรีที่มีชื่อในประวัติศาสตร์อยุธยาในฐานะผู้กราบทูลขอพระราชทานชีวิตเจ้านายหรือบุคคลสำคัญมากเป็นลำดับต้น ๆ อย่าง ‘เจ้าแม่วัดดุสิต’ แท้ที่จริงแล้วสำหรับในที่นี้ก็อาจเรียกพระนางได้ว่า ‘เจ้าแม่แห่งการดีลสมัยอยุธยา’ ก็ไม่ผิดนัก ยิ่งเป็นรัชกาลที่ขึ้นชื่อลือชาว่าทรงมีพระราชอุปนิสัยโหดร้ายอย่างเช่นรัชกาลพระเจ้าเสือ สตรีอย่างเจ้าแม่วัดดุสิต ผู้เป็นพระราชมารดาบุญธรรมและเป็นที่เคารพแก่เจ้านายในพระบรมวงศานุวงศ์ ยิ่งเป็นบุคคลสำคัญของวงการดีลอยุธยา เพราะเมื่อพลาดพลั้งทำผิดต้องพระราชอาญาอย่างใด เจ้าแม่คือความหวังในการได้รับพระราชทานอภัยโทษนั่นเอง   

ภาพเขียนกษัตริย์อยุธยา ในสมุดพม่าชื่อ “นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท” ไฟล์ public domain

(3) ดีลแบบอ้างส่วนรวม (สมณชีพราหมณ์, บวรพุทธศาสนา, ไพร่ฟ้า, อาณาประชาราษฎร, ประชาชน, ชาติบ้านเมือง)

ตลกร้ายก็คือผู้ที่ใช้วิธีดีลเช่นนี้คนแรก ๆ ที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับเป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเลย์ กล่าวว่า เมื่อพม่ายกมาล้อมกรุง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงพยายามที่จะเจรจาความเมืองกับพม่า “จึงดำรัสให้พระยากลาโหม แลข้าหลวง ออกไปเจรจาความเมืองกับพม่า ณ ค่ายเพนียดว่า กรุงเทพมหานครกับกรุงอังวะร่วมราชสโมสรสามัคคีมาแต่ก่อน บัดนี้เหตุผลเป็นประการใด จึงยกกองทัพมาย่ำยีให้ร้อนอกสมณพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”        

สถานการณ์กรุงศรีฯ เวลานั้น จากสายตาของพม่าอยู่ในที่คับขัน แม้จัดการป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็ง แต่ยังใช้ยุทธศาสตร์เดิมที่พึ่งธรรมชาติคอยฟ้าฝน หวังว่าเมื่อถึงฤดูน้ำหลากแล้วพม่าจะถอยทัพกลับไป ซึ่งฝ่ายพม่าก็รู้ว่าอยุธยาจะใช้ ‘ไม้ตาย’ อันนี้ ฝ่ายพม่าเตรียมมาเมื่อใกล้ถึงฤดูน้ำหลากได้ไปตั้งทัพอยู่บนโคกเนิน รื้ออิฐวัดต่าง ๆ รายรอบกรุงไปใช้ก่อกำแพงป้องกันค่าย และจัดการต่อเรือบรรทุกปืนสำหรับใช้รุกตีกรุงศรีต่อ พม่าอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ การเจรจาจึงไม่เป็นผล   

พระราชพงศาวดารฉบับเดิมกล่าวต่อว่า “ฝ่ายพม่าว่า กรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนเคยเคยน้อมนำบรรณาการไปออกแก่กรุงหงสาวดี แลสืบมาบัดนี้ละโบราณราชประเพณีเสียตั้งแข็งเมืองอยู่ จึงได้ยกกองทัพมารบ ครั้นพระยากลาโหมกลับเข้ามากราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ๆ ดำรัสว่าไอ้พม่าว่าเอาเปล่า ๆ”

เนื้อความตรงนี้สะท้อนว่า พม่าราชวงศ์คองบองอ้างความต่อเนื่องจากการที่อยุธยาเคยเป็นเมืองขึ้นของพม่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ.2112

สรุป สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ดีลกับพม่า 2310 ไม่สำเร็จ คือ ‘ดีลล่ม’ นั่นแหละ ผลจากดีลล่มครั้งนี้ก็อย่างที่ทราบคือ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310   

เป็นที่น่าสังเกตว่า การดีลด้วยเหตุผลส่วนรวม (ไม่ว่าจะส่วนรวมในรูปสมณชีพราหมณ์, บวรพุทธศาสนา, ไพร่ฟ้า, อาณาประชาราษฎร, ประชาชน, ชาติบ้านเมือง ฯลฯ) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ควรรับฟังมากที่สุด แต่ปรากฏว่ากลับเป็นเหตุผลและการดีลที่มักล่มมากที่สุดด้วย ส่วนใหญ่นักดีลตามสังคมวัฒนธรรมแบบไทยแท้ ๆ เป็นนักดีลที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนบุคคล 

 

(4) ดีลแบบเสนอตัวเป็นแม่ทัพปราบปรามข้าศึกกำราบเสี้ยนหนามแผ่นดินให้ อาจเรียกการดีลแบบนี้ว่า ‘ดีลแบบขุนแผน’ เพราะเป็นการดีลแบบที่มีขุนแผนแสนสะท้านเป็นต้นตำรับ

‘ขุนแผนแสนสะท้าน’ พระเอกในวรรณคดีไทยที่มักจะขึ้นชื่อเรื่องความเจ้าชู้กับความเป็นจอมขมังเวทย์ แต่นอกจากนี้ ขุนแผนยังมีโปรไฟล์เกี่ยวกับการดีลประเภทหนึ่ง สืบเนื่องจากตามเนื้อความวรรณคดีว่า เมื่อกษัตริย์คือพระพันวษา มีศึกศัตรูที่ต้องการจะกำราบปราบปรามคือเชียงใหม่ แต่หาแม่ทัพคนดีมีวิชาไม่ได้  แล้วก็มีผู้กราบทูลว่า ขุนแผนที่ติดคุกอยู่นั่นไงพะย่ะค่ะ

ขุนแผนก็เลยได้โอกาสเป็นไทพ้นจากคุก แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเป็นแม่ทัพไปตีเชียงใหม่และต้องเอาชนะข้าศึกกลับมาให้จงได้ ขุนแผนก็ตอบตกลง ก็แหง๋ล่ะ เป็นใครจะอยากปฏิเสธ! 

ความผิดที่ขุนแผนก่อตามเนื้อเรื่องวรรณคดีนั้น คือการลักพาตัวนางพิมขึ้นม้าสีหมอกออกไปตระเวนเร่ร่อนตามหัวเมือง นางพิมถึงแม้จะเคยเป็นเมียเก่าของขุนแผน แต่เวลานั้นก็ได้แต่งงานใหม่เข้าเรือนหอไปอยู่กินกับขุนช้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขุนแผนผู้คลั่งรักก็ไปหาของวิเศษ มีม้าสีหมอก ดาบฟ้าฟื้น และกุมารทอง ก่อนจะไปพานางพิมออกแว้นไปด้วยกัน ขุนช้างก็ไปทูลพระพันวษา หาว่าขุนแผนเป็นกบฏ 

ทางการจึงต้องส่งทหารออกตามล่า แต่ทหารที่ส่งไปคนแล้วคนเล่า ต่างก็ควบม้าไล่ไม่ทันเพราะม้าสีหมอกเป็นนอกม้าเปอร์เชีย เก่งกล้าม้าไทย ที่ตามทันก็โดนดาบฟ้าฟื้นกระทำเอา ‘ตุยเย่’ (ตาย) ไปตามกันหมด เรียกได้ว่าความผิดตกสถานหนักร้ายแรงยากจะอภัย แต่เมื่อนางพิมท้อง ขุนแผนเกิดสงสารนางที่ต้องมาตกระกำลำบากกับตน ก็เลยยอมมอบตัว ติดคุกไป จนกระทั่งพระพันวษามีข้าศึกคือพระเจ้าเชียงใหม่ จึงได้รับพระราชทานอภัยให้เป็นแม่ทัพยกไปปราบแลกกับอิสรภาพ ขุนแผนเลยเป็นต้นตำรับของการดีลประเภทนี้คือดีลแบบปราบศัตรูให้แก่ผู้มีอำนาจ 

นอกจากเรื่องในวรรณคดี ก็จะเห็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายท่านทีเดียวที่ดีลกับผู้มีอำนาจด้วยแนวทางแบบนี้ จะขอยกตัวอย่างแค่เพียง 2 กรณี ที่มีความคล้ายคลึงกันแต่ผลลัพธ์ต่างกัน คือ ออกญาศรีวรวงศ์หรือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับ พระองค์เจ้าแขกหรือกรมหมื่นเทพพิพิธ

พระราชพงศาวดารอาจออกนามท่านผู้นี้ในขณะนั้นว่า ‘พระยามหาอำมาตย์’ แต่จากบันทึกของเยเรเมียส ฟานฟลีต (Jeremias van Vliet) หรือ ‘วัน วลิต’ ระบุเรียกว่า ‘ออกญาศรีวรวงศ์’ เป็นขุนนางหนุ่มในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กระทำความผิดมีเรื่องทะเลาะกับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงถึงขั้นลงไม้ลงมือชกต่อยกัน แม้ออกญาศรีวรวงศ์จะยืนกรานว่าตนไม่ผิด อีกฝ่ายเป็นคนมารังแกตนก่อนยังไง ก็ไม่เป็นผล เพราะกับเจ้ากับนายแล้ว ไปลงมือทำร้ายท่าน ยังไงคนทำก็ผิด 

ออกญาศรีวรวงศ์เลยต้องโทษจำคุกไปตามระเบียบ อยู่มาเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีศัตรูคือ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ออกญาศรีวรวงศ์ขอดีลกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ตนเป็นแม่ทัพยกไปปราบ แบบเดียวกับที่ขุนแผนเป็นแม่ทัพยกไปตีเชียงใหม่ให้พระพันวษา 

ออกญาศรีวรวงศ์จะไปได้ยินได้ฟังหรือได้แรงบันดาลใจจากขุนแผนมาอย่างไร เรื่องนี้ไม่มีหลักฐาน แต่ต่อให้ออกญาศรีวรวงศ์ไม่เคยอ่าน ไม่เคยรู้เรื่องขุนแผนมาก่อนเลย ก็ไม่ยากเกินความนึกคิดในการที่จะขอดีลเช่นนั้นกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม 

แม้ว่าการยกทัพไปตีกัมพูชาในศึกที่ออกญาศรีวรวงศ์ขันอาสาเป็นแม่ทัพยกไปนั้น เป็นศึกที่คว้าน้ำเหลว กองทัพอยุธยาไม่สามารถพิชิตกัมพูชาได้ ต้องถอยทัพกลับมา แต่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็ทรงพอพระทัยที่ออกญาศรีวรวงศ์แสดงความจงรักภักดีอาสาไปทำศึกโดยไม่อาลัยแก่ชีวิต และถึงจะไม่สามารถกำราบปราบปรามพระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ ทัพอยุธยาที่ยกไปก็ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติกลับมาถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นอันมาก เรียกได้ว่าไม่ขาดทุนที่ส่งกองทัพไป 

เมื่อกลับจากกัมพูชา ออกญาศรีวรวงศ์ไม่เพียงไม่ต้องกลับเข้าคุก ยังได้เลื่อนขั้นเป็นถึง ‘ออกญากลาโหมสุริยวงศ์’ อีกด้วย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจวาสนามาก เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตโดยที่ทายาทมิได้มีบุญบารมีเฉกเช่นรัชกาลที่แล้ว ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ได้ปราบดาภิเษกตั้งตัวเป็นกษัตริย์ เริ่มต้นราชวงศ์ปราสาททอง หากว่าออกญาศรีวรวงศ์ดีลล่มไม่ได้เป็นแม่ทัพไปกัมพูชา แน่นอนว่าอยุธยาจะไม่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงอานุภาพพระองค์หนึ่งที่รู้จักกันภายหลังว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์   

อีกกรณีคือกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งมีบทบาทต่อการเมืองของอยุธยาในช่วงปลายก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยามาก เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงสวรรคต กรมหมื่นเทพพิพิธมีบทบาทในการทำรัฐประหารเงียบปราบกลุ่มเจ้าสามกรม (เจ้านายที่ได้ทรงกรมมีกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี) กรุยทางให้ราชสมบัติไปตกอยู่แก่เจ้าพี่เจ้าน้อง (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี/สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ กับ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ/สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)  

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้แสดงพระองค์ว่า มีสิทธิมากกว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ยอมสละราชสมบัติออกผนวชแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธได้รวบรวมกำลังคนเตรียมจะก่อรัฐประหารอีกรอบโดยจะถวายคืนพระราชอำนาจให้แด่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ทรยศขบวนการนี้โดยนำความไปกราบบังคมทูลให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงทราบ   

ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธจึงถูกซ้อนแผนโดนจับกุมตัวได้ เดิมทีสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จะให้นำตัวไปปลงพระชนม์ที่โคกพระยาตามประเพณี แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ทูลขอให้ทรงเห็นแก่ความเป็นพี่น้องให้ไว้ชีวิต  พอดีช่วงนั้นลังกาได้ส่งคณะทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปลังกา โดยให้โดยสารไปกับเรือคณะทูตนั้น 

แต่เมื่อข่าวเรื่องพม่าบุกกรุงศรี แพร่หลายไปจนถึงลังกาแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธก็ได้ขอกลับเข้ามา โดยได้ทำข้อตกลงว่าจะเป็นนายทัพปราบพม่าให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์สิ้นเสี้ยนหนาม พูดง่าย ๆ ก็คือกรมหมื่นเทพพิพิธจะขอตามรอยขุนแผนกับออกญาศรีวรวงศ์นั่นเอง

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จะเคยรับดีลหรืออนุญาตตามที่กรมหมื่นเทพพิพิธเคยขอดีลด้วยเช่นนั้นหรือไม่ ไม่มีหลักฐาน แต่การที่กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นผู้ไปจันทบุรีก่อนพระเจ้าตากและสามารถรวบรวมกำลังคนจากทั่วหัวเมืองตะวันออกให้มาช่วยรบพม่าได้นั้น ก็เป็นสิ่งยืนยันอยู่โดยนัยว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์อาจจะทรงพระดีลกับกรมหมื่นเทพพิพิธเช่นนั้นจริง 

แต่ทว่าทัพกรมหมื่นเทพพิพิธที่รวบรวมมาตั้งมั่นสู้กับพม่าอยู่ที่ปากน้ำโยทกานั้นถูกพม่าตีแตกพ่ายภายในเวลาไม่นาน พลพรรคที่เหลือรอดตายได้พากันหลบหนีขึ้นไปนครราชสีมา ภายหลังเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วกรมหมื่นเทพพิพิธกับสมัครพรรคพวกส่วนนี้ก็ได้ก่อตั้งเป็น ‘ก๊กพิมาย’ ขึ้นมา

เมื่อเปรียบเทียบกับขุนแผนและออกญาศรีวรวงศ์ กล่าวได้ว่ากรมหมื่นเทพพิพิธไม่ประสบความสำเร็จในการดีลแบบเดียวกัน ถึงแม้ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะดีลด้วย แต่เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธล้มเหลวในการกำราบปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินให้แก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็จึงมีค่าเท่ากับ ‘ดีลล่ม’ ไปโดยปริยาย    

 

(5) ดีลแบบสละฐานันดรให้ หรือสถานะที่มีอยู่เป็นเครื่องต่อรอง เพื่อให้อีกฝ่ายยอมปฏิบัติตาม 

นอกจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่สละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จนได้สมญา ‘ขุนหลวงหาวัด’ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว กรณีเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ที่ต้องออกผนวชเป็น ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ อยู่ตลอดจนสิ้นรัชกาลที่ 3 เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 26 ปี เพื่อหลีกทางให้แก่พระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ก็เป็นตัวอย่างสำหรับกรณีดังกล่าวนี้ นับเป็นการดีลที่มีผลต่อบุคคลผู้ดีลเป็นระยะเวลายาวนานกว่าการดีลครั้งไหน ๆ

ต่อมาในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 เมื่อพระนั่งเกล้าฯ จะสวรรคต พระวชิรญาณภิกขุก็เปิดดีลอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา เนื่องจากทรงผนวชเป็นพระภิกษุห่างจากราชกิจเป็นเวลานาน และทรงทราบดีว่าขุนนางและราษฎรต่างให้ความเคารพชื่นชมในพระบารมีของกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชามารดาเดียวกับพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อขุนนางใหญ่คือ ดิศ บุนนาค ได้ติดต่อทาบทามจะถวายราชสมบัติแด่พระวชิรญาณภิกขุ พระวชิรญาณภิกขุก็ได้เปิดดีลว่า หากจะตั้งพระองค์ก็ต้องตั้งน้องของพระองค์ด้วย

ดังนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีการรื้อฟื้นตำแหน่งกษัตริย์วังหน้าขึ้นอีกครั้ง โดยมีการแต่งตั้งกรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ด้วย      

ดีลประเภทเดียวกับที่พระวชิรญาณภิกขุเคยทำในสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฏขึ้นอีกครั้ง แต่ต่างวัตถุประสงค์คือในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อกบฏบวรเดชถูกฝ่ายกองทัพฝ่ายคณะราษฎรปราบปรามลงอย่างราบคาบแล้ว  พระปกเกล้าฯ ขัดแย้งกับคณะราษฎรในปัญหาเรื่องขอบเขตพระราชอำนาจภายใต้การปกครองระบอบใหม่  นำไปสู่การดีลครั้งสำคัญระหว่างพระปกเกล้ากับคณะราษฎร 

โดยครั้งนั้นทรงเอาการสละราชสมบัติมาเป็นเดิมพัน รัฐบาลคณะราษฎรสมัยนั้นภายหลังจากได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าไม่อาจยอมตามข้อเรียกร้องได้ เพราะถ้าให้ทรงมีพระราชอำนาจวีโต้กฎหมายได้จะเท่ากับอำนาจอธิปไตยสูงสุดยังคงเป็นของพระมหากษัตริย์ 

ขณะเดียวกันการสละราชสมบัติของพระปกเกล้าอาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งตั้งป้อมเป็นปรปักษ์กับคณะราษฎรมาโดยตลอดอาจได้แรงฮึกเหิมจนก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองได้  

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่อาจหาข้อตกลงที่สองยอมรับร่วมกันได้ ในท้ายที่สุดพระปกเกล้าก็ต้องสละราชสมบัติตามที่ทรงแจ้งแก่รัฐบาลไว้จริง ๆ (ก็คือทรงพระ ‘ดีลล่ม’ นั่นเอง) ฝ่ายคณะราษฎรโดยปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอานันท์ นำมาสู่การสถาปนารัชกาลที่ 8 ทำให้ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นเป้าหมายของการอภิวัฒน์ 2475 ยังคงดำรงอยู่สืบมาจนถึงการรัฐประหาร 2501       

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

(6) ‘ดีลแบบสายเปย์’ เอาของพิเศษสำคัญต่อบ้านเมืองมามอบให้

ของสำคัญต่อบ้านเมืองที่ว่านี้ อันดับต้นเลย สำหรับเมืองพุทธสยาม หนีไม่พ้นพระบรมสารีริกธาตุ จึงอาจเรียกการดีลประเภทนี้ว่า ‘ดีลพระธาตุ’ ก็ได้ เห็นใช้ดีลกันมาตั้งแต่ครั้งพระมหาเถรศรีศรัทธาในสมัยสุโขทัย เรื่องของพระมหาเถรศรีศรัทธาอาจดูเป็นเรื่องไกลเกินไป แต่ยังมีอีกกรณีคือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เมื่อลาออกจากราชการไปบวชอยู่ลังกาและได้เป็นเจ้าอาวาสวัดทีปทุตตมาราม กรุงโคลัมโบ แล้วจะขอกลับมาประเทศสยาม    

พ.ศ.2439 เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ส่งนักโบราณคดีไปปฏิบัติงานที่อินเดียมาก จนได้ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ฝ่ายพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขณะบวชมีนามว่า ‘พระชินวงศ์’ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมพระบรมสารีริกธาตุนี้ถึงแหล่งที่พบ และได้ติดต่อกับรัฐบาลบริติชราชซึ่งปกครองอินเดียสมัยนั้น ขอให้ส่งพระบรมสารีริกธาตุนั้นไปถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุผลว่าทรงเป็นประมุขประเทศพุทธ รัฐบาลอังกฤษก็ตกลงจะส่งพระบรมสารีริกธาตุให้สยาม โดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นผู้ติดต่อประสาน 

ถึงแม้ว่าเหตุที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ลาออกจากราชการไปบวชอยู่ศรีลังกา จะไม่เกี่ยวกับการที่ทรงเป็นเจ้านายสยามที่อยู่เบื้องหลังคำกราบบังคมทูลเกล้าฯ จัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.103 ซึ่งมีเนื้อหาเสนอให้สยามมีรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แต่หลังจากที่เสนอคำกราบบังคมทูลดังกล่าว ชีวิตราชการของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นที่เล่าลือกันว่าพระพุทธเจ้าหลวงไม่โปรดพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะทำการสิ่งใดก็ติดขัดไปหมดไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ ญาติมิตรต่างทยอยหายหน้าหายตากันไป 

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เจ้านายตกอับ ไม่ใช่เพราะขอรัฐธรรมนูญ)

ในการเสนอที่เป็นผู้ติดต่อประสานให้รัฐบาลอังกฤษจัดส่งพระบรมสารีริกธาตุไปถวายแด่รัชกาลที่ 5 นั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขอแลกเปลี่ยนกับการที่จะได้เสด็จกลับประเทศสยามด้วย โดยในพ.ศ.2442 รัฐบาลสยามได้ส่งพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นตัวแทนไปรับเอาพระบรมสารีริกธาตุนี้กับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์

แต่เมื่อไปถึง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับพระยาสุขุมนัยวินิตได้ทะเลาะขัดแย้งกัน จนทำให้การกลับประเทศของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีอันต้องเลื่อนออกไป พระยาสุขุมนัยวินิตนำกลับไปเพียงพระบรมสารีริกธาตุ ไม่ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กลับมาด้วย 

เหตุที่ทำเช่นนั้น พระยาสุขุมนัยวินิตได้กราบบังคมทูลว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้แอบกระซิบบอกว่าตนได้ลอบขโมยพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรมาไว้กับตัวด้วย เผื่อว่าถ้าอังกฤษไม่ยอมถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตนก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุส่วนนี้มอบให้มาถวายแทน พระยาสุขุมนัยวินิตเกรงว่า ถ้าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กลับประเทศพร้อมกับตน จะทำให้เกิดปัญหากับอังกฤษขึ้นได้ เพราะไปขโมยของเขามา 

ต่อมา รัฐบาลสยามมีจดหมายแจ้งมายังพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่า พระองค์จะกลับมาประเทศก็ได้แต่ต้องสึกเป็นฆราวาสมา หากยังเป็นพระภิกษุไม่ให้กลับ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้เลื่อนการกลับประเทศไว้ก่อน จนหลายปีต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสวรรคตแล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้ลาสิกขาบทกลับเข้าประเทศมาด้วยเหตุผลว่า มาเพื่อร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ใช้ดีลเพื่อกลับประเทศแต่ล่มไปนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้นำไปประดิษฐานไว้ที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ      

อนึ่ง น่าสังเกตว่า ทั้งพระมหาเถรศรีศรัทธาและพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต่างก็เอาไปสถาปนาสถูปเจดีย์บรรจุไว้เป็นที่ประดิษฐานเป็นอย่างดี ไม่มีเอาไปติดตั้งไว้บนเสาสะพานเหมือนอย่างที่การทางพิเศษ (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เพิ่งทำไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา (หลายท่านที่เห็นภาพข่าวนี้คงนึกถึงคุณพิสิทธิ์ กิรติการกุล แห่งรายการคดีเด็ด ที่ชอบพูดว่า ‘แหม ทำไปได้’)

อย่างไรก็ตาม กรณีพระมหาเถรศรีศรัทธาและพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว ที่มีการนำเอาบวรพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดีล เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นำกำลังไปตีเมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรีก็เคยให้พระภิกษุสงฆ์มาเจรจาความเมืองกับพระเจ้าตาก จนหลายต่อหลายครั้ง พระเจ้าตากถึงกับตรัสบริภาษว่า “ในเมืองจันทบูรนี้ไม่มีฆราวาสใช้แล้วหรือจึงใช้แต่สมณะ”

ด้วยเหตุว่าพระยาจันทบุรีต้องการจะลวงพระเจ้าตากเข้าไปในเมืองทำทีว่ายอมสวามิภักดิ์แต่จะจับกุมพระองค์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่ายอมเข้าพวกด้วยแล้วจริง ๆ ไม่ต้องยกทัพมาทำศึกต่อกันแล้ว พระยาจันทบุรีจึงได้ให้พระภิกษุสงฆ์มาเป็นผู้เปิดดีลเจรจาความเมือง แต่ไม่ได้ผล เพราะพระเจ้าตากมีเส้นสายแจ้งข่าวว่าเป็นกลลวง จึงไม่ดีลด้วย ก็จัดกองทัพยกเข้าตีเมืองจันทบุรีตามแผนการเดิม 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น เมื่อพระเจ้าตากยังประทับอยู่เมืองระยอง ได้ใช้ให้ชาวเวียดนามชื่อ ‘นายเผือก’ กับชาวเขมรชี่อ ‘นักมา’ เป็นทูตแล่นเรือไปเมืองจันทบุรี 5 วันถึงเมืองจันทบุรี “พระยาจันทบูร เจรจาโดยธรรมราชประเพณีกระแสรับสั่งนั้น พระยาจันทบูรมีความยินดีนัก สั่งให้ขุนนางวางกระทำสัมมาคารวะเลี้ยงดูโดยปกติยินยอมด้วย แล้วว่าอีก 10 วันข้าพเจ้าจะแต่งออกไปรับเสด็จและกองทัพเข้ามา ณ เมืองจันทบูร จะได้คิดอ่านราชการแก้ฝีมือพม่า”

โดยก่อนที่นายเผือกกับนักมาจะกลับมาระยองนั้น “แล้วพระยาจันทบูรกับข้าหลวง นายเผือก นักมา จึงขึ้นบนศาลเทพารักษ์ ชวนให้กระทำสัตย์ต่อกัน” ไว้ด้วย แต่ครั้นพอครบ 10 วันแล้ว พระยาจันทบุรีกลับไม่ได้มาตามนัด เป็นแต่ให้คนเอาข้าวเปลือกบรรทุกเรือ 4 เกวียนมาถวาย ณ เมืองระยอง ฝ่ายพระเจ้าตากจึงลงความเห็นกันว่า พระยาจันทบุรีผู้นี้มิได้ตั้งอยู่ในความสัตย์และคิดการไม่ซื่อ เมื่อเคยถูกหักหลังเช่นนั้นก็ยากจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เมื่อพระเจ้าตากต้องการกำลังคนจากเมืองจันทบุรี แต่พระยาจันทบุรีไม่ยอมเป็นไมตรีด้วยจริง จึงต้องตีเมืองจันทบุรีให้จงได้    

 

(7) ดีลแบบก่อชนวนเหตุที่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นนำ อาจเรียกดีประเภทนี้ได้ว่า ‘ดีลรัฐประหาร’ เพราะมักเกี่ยวเนื่องกับการก่อชนวนเหตุอันนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งแน่นอนย่อมมีลักษณะเป็น ‘ดีลลับ’ ในช่วงแรก แต่ต่อมาก็เป็นที่รู้กัน     

ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นตัวอย่างสำหรับดีลประเภทนี้ได้แก่ พระยาสรรค์สมัยปลายธนบุรี กับ จอมพลถนอม กิติขจร ผู้ก่อชนวน 6 ตุลา’ ถึงแม้จะดูพิลึกเหลือเชื่อ แต่ต้องขอบอก ดีลประเภทนี้กลับเป็นดีลที่ประสบผลสำเร็จมากในสังคมไทย 

ย้อนกลับไปในสมัยปลายกรุงธนบุรี ช่วงเดียวกับที่เกิดข่าวลือว่า พระเจ้าตากทรง ‘สัญญาวิปลาส’ อยู่นั้นเอง พ.ศ.2325 อันเป็นปีสุดท้ายในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นั้น ได้เกิดกบฏขึ้นที่กรุงเก่า (อยุธยา)  ฝ่ายกบฏนำโดยนายบุนนาก บ้านแม่ลา, ขุนสุระ บ้านม่วง, ขุนแก้ว นายช่างซ่อมปืนคาบศิลา มีความไม่พอใจพระวิชิตณรงค์ นายกองส่วยกรุงเก่า ที่รีดส่วยสาอากรชาวบ้านเกินพิกัดกำหนด โดยที่การทำมาหากินฝืดเคืองข้าวยากหมากแพง ความไม่พอใจนี้ขยายลุกลามไปจนฝ่ายกบฏต้องนำกำลังไปปะทะกับพระอินทรอภัย ผู้รักษาราชการกรุงเก่า และได้เผาจวนผู้ว่าฯ กรุงเก่านั้นเสีย 

ข้างฝ่ายกรุงธนบุรี ขณะนั้นเป็นเวลาที่กองทัพหลักเพิ่งยกออกไปรบกับเวียดนามในกัมพูชา มีเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพ ในกรุงธนบุรีเหลือกำลังคนไม่มาก แม้กบฏที่กรุงเก่าจะมีคนเข้าร่วมด้วยไม่มาก สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้แต่งทัพให้พระยาสรรค์เป็นแม่ทัพยกไปปราบกบฏที่กรุงเก่า แต่เมื่อไปถึง พระยาสรรค์กลับหันไปเข้าพวกกับฝ่ายกบฏ เพราะขุนแก้วซึ่งเป็นแกนนำกบฏคนหนึ่งนั้นเป็นน้องชายของพระยาสรรค์เอง พระยาสรรค์กลับกลายเป็นผู้นำกบฏที่ทั้งขุนแก้ว ขุนสุระ และนายบุนนาก ต่างให้การยอมรับ เมื่อรวมกำลังกันได้ พระยาสรรค์ก็ยกกำลังนั้นย้อนกลับมาบุกยึดกรุงธนบุรี 

แต่เนื่องจากพระยาสรรค์ยังคงมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงได้เปิดดีลให้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ลาผนวชชำระเคราะห์เมืองเป็นเวลา 3 เดือน ในระหว่างนี้ตนจะ ‘นั่งซัง’ ฟังเทศน์ฟังธรรมไป เมื่อครบกำหนด 3 เดือนแล้วจะถวายคืนพระราชอำนาจแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ดังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ทรงตอบตกลงยอมออกผนวชโดยเงื่อนไขตามนั้น 

ทว่า การบุกยึดกรุงธนบุรีของพระยาสรรค์ เป็นข่าวแพร่ไปถึงทัพที่ไปเขมร เจ้าพระยาจักรีจึงได้เริ่มทำตามแผนการที่เตรียมเอาไว้ โดยมีหนังสือไปยังเมืองนครราชสีมา แจ้งให้พระยาสุริยอภัย นายกองส่วยเมืองโคราช นำกำลังลงมาควบคุมสถานการณ์รักษาความสงบเรียบร้อย

เมื่อพระยาสุริยอภัยลงมาถึงกรุงธนบุรี ได้เปิดดีลเลื่อนเวลาถวายคืนพระราชอำนาจลงมาเหลือเพียงให้ทัพที่ไปเขมรกลับมา ฝ่ายพระยาสรรค์เห็นท่าไม่ดีจึงชิงลงมือนำกำลังไปบุกตีทัพพระยาสุริยอภัย แต่กลายเป็นว่าฝ่ายพระยาสรรค์ตกเป็นฝ่ายถูกตอบโต้และตั้งรับ เมื่อเจ้าศิริรดจา (เจ้าศรีอโนชา) น้องสาวพระยากาวิละ เมืองเชียงใหม่ ภรรยาของเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้แต่งกองมอญเป็นทัพเรือยกมาตีขนาบ ทำให้ฝ่ายพระยาสรรค์อยู่ในที่เสียเปรียบและถูกจับกุมตัวได้ 

ฝ่ายทัพเจ้าพระยาจักรีเมื่อได้ข่าวความวุ่นวายในกรุงธนบุรีแล้ว ก็ได้เจรจาดีลกับเวียดนามขอสงบศึกเป็นไมตรีต่อกัน เวียดนามราชวงศ์เหงียนเวลานั้นยังวุ่นอยู่กับศัตรูภายในอย่างกบฏเตยเซิน ไม่ต้องการจะมาทำสงครามกับสยามอยู่แล้ว จึงตกลงเป็นไมตรี และต่างฝ่ายต่างถอยทัพกลับบ้านเมืองของตน

เมื่อเจ้าพระยาจักรีมาถึงกรุงธนบุรี พระยาสรรค์กับพวกก็ได้ถูกตัดสินประหารชีวิตไปฐานที่ก่อกบฏเพื่อจะยึดอำนาจไปเป็นของตน ทั้งที่พระยาสรรค์เป็นผู้ที่ยังจงรักภักดี เพียงแต่หมดประโยชน์ไปแล้วในเวลานั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ถูกชำระความตัดสินให้ถอดลงเป็นไพร่แล้วนำไปประหารชีวิตในครั้งนั้นด้วย 

โดยระหว่างที่ผู้คุมเพชฌฆาตกำลังนำพระองค์จะไปที่ประหารนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ตรัสว่า “ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ” ผู้คุมก็หามพระองค์ไปยังผู้สำเร็จราชการตามที่ทรงขอ แต่เมื่อผู้สำเร็จราชการเห็นดังนั้นได้โบกพระหัตถ์ให้ผู้คุมนำพระองค์ออกไป ไม่ให้มาเจรจาด้วย 

เมื่อฉากสุดท้ายในพระชนม์ชีพสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นเช่นนั้น เราจึงไม่อาจทราบว่าหากทรงได้เจรจากับผู้สำเร็จราชการเป็นครั้งสุดท้ายนั้น จะทรงเปิดดีลอะไรหรือว่ากล่าวโอวาทอย่างใดแก่ผู้สำเร็จราชการ   

พระยาสรรค์จะสมคบคิดกับพระยาสุริยอภัยมาก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์กบฏกรุงเก่าหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ แต่ผลของเหตุการณ์ทำให้การกบฏที่แท้จริงประสบความสำเร็จเกินคาด และนั่นก็คือการปิดฉากกรุงธนบุรีในฐานะเมืองหลวงและเปิดศักราชใหม่ของยุคกรุงเทพฯ นั่นหมายความว่า การดีลเมื่อปลายกรุงธนบุรีนั้นเองมีส่วนสำคัญต่อการสถาปนาราชวงศ์ใหม่และเมืองหลวงใหม่เมื่อพ.ศ.2325 อาจเรียกดีลครั้งนี้ว่า ‘ซูเปอร์ดีล 2325’ ก็ย่อมได้ 

ยังมีดีลประเภทเดียวกันแต่ต่างบริบทก็คือกรณีจอมพลถนอม กิติขจร หนึ่งใน ‘สามทรราช’ (อีกสองคนคือ จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิติขจร) ที่ถูกโค่นล้มในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ผลของเหตุการณ์ทำให้จอมพลถนอมต้องยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเดินทางออกนอกประเทศ แต่ในเดือนกันยายน พ.ศ.2519 จอมพลถนอมได้ลอบกลับเข้าประเทศมาและไปเข้าพิธีอุปสมบทเป็นสามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสวัด เป็นผู้อุปสมบทให้

ขบวนการนักศึกษาแสดงความไม่พอใจและจัดการประท้วงการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม เพื่อพิทักษ์รักษาเจตนารมณ์ของวีรชนผู้เสียสละในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 แต่ทว่าทุกอย่างดูเหมือนราวจะมีการเตรียมการไว้แล้ว การประท้วงของขบวนการนักศึกษาถูกกลุ่มขบวนการจัดตั้งของฝ่ายขวานำไปโจมตีใส่ร้าย และมีการนำกองกำลังจัดตั้งอันธพาลเข้าไปทำร้ายนักศึกษาและประชาชนที่กำลังชุมนุมอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่ในช่วงหัวค่ำของวันนั้น (6 ตุลาคม 2519) จะมีคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจโดยอ้างว่ามาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย 

การกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอมเป็นตลกร้ายตรงที่เป็นดีลที่สร้างความสำเร็จแก่ขบวนการฝ่ายขวาในไทย เป็นการกลับเข้าประเทศที่มีผลก่อชนวนเหตุที่ทำให้การเมืองไทยสวิงไปทางขวาได้อย่างเหลือเชื่อ (จริง ๆ) เหมือนว่าใครบางคนที่อยู่ต่างประเทศตอนนี้อยากจะเลียนแบบจอมพลถนอมดูบ้าง

ก็เอาที่สบายใจ ถ้ารับได้กับการที่จะถูกประณามไปจนชั่วลูกหลาน        

ภาพประกอบเนื้อหา (แถวล่าง จากซ้ายไปขวา) พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ถนอม กิตติขจร (แถวบน จากซ้ายไปขวา) อนุสาวรีย์ พระเจ้าตากสินฯ และภาพวาดกษัตริย์อยุธยา

(8) ดีลแกล้งตายหนีหนี้ & ดีลลับที่ไม่มีจริง

ในประเทศที่ความเชื่อที่เกิดจากพวกทรงเจ้าเข้าผี ได้รับความเชื่อถือมากกว่างานประวัติศาสตร์ ยังพบมีดีลประหลาด ๆ แบบหนึ่ง เป็นดีลที่สร้างขึ้น ไม่มีอยู่จริงหรือเป็นดีลในนิยาย เช่น ดีลลับที่ว่าพระเจ้าตากได้ทรง ‘เตรี๊ยม’ กับรัชกาลที่ 1 แกล้งตาย ที่ถูกประหารไปนั้นเป็นตัวปลอม ตัวจริงลอบหนีไปบวชอยู่นครศรีธรรมราช เหตุที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพื่อ ‘หนีหนี้’ ที่ไปกู้จีนมาในช่วงกอบกู้กรุงศรี 

ความเชื่อนี้มีที่มาแรกเริ่มเดิมทีเป็นนวนิยายแต่งโดยหลวงวิจิตรวาทการ คือเรื่อง ‘ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน’ ต่อมาคือ สุภา ศิริมานนท์ แต่งเรื่อง ‘ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข’ ออกมาเสริม ภายหลังแต่งเสริมเติมความขยายไปพิสดารออกทะเลไปไกลโดยพวกทรงเจ้าเข้าผี ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าอย่างหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เกจิชื่อดังของภาคกลาง    

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เมื่อมองในประเด็นประวัติศาสตร์การดีล จะพบว่าเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการดีลในฐานะตัวแปรเปลี่ยนผลลัพธ์ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ การดีลโดยมากเป็นเรื่องลับที่ไม่ลับและเป็นเรื่องของการเปลี่ยนความจริงตั้งแต่แรก ดังนั้น จะโทษพวกทรงเจ้าเข้าผีไปเสียทั้งหมดก็ใช่ที่ พวกนี้เป็นผลพวงของ ‘ความเบียวประวัติศาสตร์’ ที่มีความเชื่อเรื่องการดีลเป็นศูนย์กลางอีกต่อหนึ่ง         

 

(9) ดีลขอกลับประเทศ 

มีความจำเป็นที่ต้องแยกการดีลประเภทนี้ออกมาพิจารณาต่างหาก เป็นธรรมดาของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมต้องการอยู่ในชุมชนที่ตนคุ้นเคย การพลัดถิ่นฐานบ้านช่องไม่ได้เจอหน้าญาติมิตรพี่น้องคนในครอบครัวเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ตอนแรกอาจจะหลบออกไปด้วยกลัวภัยจะมาถึงตัวหรือได้รับความไม่เป็นธรรม แต่นานวันเข้า ความรู้สึกคิดถึงบ้าน (Homesick) ก็จะครอบงำ ยิ่งจากไกลไปต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกมากขึ้น คำว่า ‘ย้ายประเทศ’ ที่ใช้ในฐานะเครื่องมือต่อต้านนั้นมันอาจได้ผลในระยะแรกระยะสั้น แต่ในระยะยาวไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้ย้ายประเทศเอง แต่อาจเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อประเทศไม่น่าอยู่เสียแล้ว 

นอกจากกรณีพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่จะได้กลับเข้าประเทศก็ต่อเมื่อไปเอาพระบรมสารีริกธาตุมาถวายและต้องลาผนวช แต่พระบรมสารีริกธาตุเป็นของหายาก ไม่ได้มีมาก ที่เห็นมีเยอะแยะตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในปัจจุบันนั้นก็ไม่รู้ของจริงหรือปลอม สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่จะเอาดีลกับชนชั้นนำได้ ก็ต้องของจริงแบบไปขุดได้มาจากกรุงกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย เหมือนอย่างที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปติดต่อประสานเอามา

ในท่ามกลางความอาภัพอับโชคของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ก็ยังมีโอกาสได้เป็นผู้นำพระสารีริกธาตุมาถวายพระพุทธเจ้าหลวงได้ คนก่อนหน้าที่ทำแบบนี้ได้ก็ย้อนกลับไปจนถึงพระมหาเถรศรีศรัทธาสมัยสุโขทัยกันเลยทีเดียว 

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้กลับ ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งถึงแก่ความตาย หนึ่งในนั้นก็มีรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมอยู่ด้วย        

ปรีดี พนมยงค์ ในบทความเรื่อง ‘จงพิทักษ์เจตนารมณ์ของวีรชนประชาธิปไตย 14 ตุลาคม’ ได้เล่าว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ซึ่งใครต่อใครมองว่าเป็นอริกับท่านนั้น ในช่วงที่จอมพล ป. ยังเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในทศวรรษ 2490 เนื่องจากการทวีบทบาทมากขึ้นของกลุ่มขบวนการฝ่ายกษัตริย์นิยมเพราะมีแรงเสริมจากการเสด็จนิวัติพระนครเมื่อพ.ศ.2494 จอมพล ป. ผู้ซึ่งมีอำนาจอยู่ท่ามกลางการดีลกันระหว่างตำรวจกับทหารที่มีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ และตัวจอมพลป. เองก็เป็นนักดีลตัวยงคนหนึ่งของคณะราษฎร 

สำหรับการจัดการกับฝ่ายกษัตริย์นิยมแล้ว ปรีดี พนมยงค์ อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถคานบทบาทของพวกนี้ได้ เพราะเคยดูแลพระราชวงศ์ช่วงสงครามโลก และเป็นคู่ปรปักษ์กับฝ่ายกษัตริย์นิยมโดยตรงเนื่องจากถูกคนกลุ่มนี้ใส่ร้ายป้ายสีในคดีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 จอมพล ป. จึงได้ส่งคนไปติดต่อกับปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส แจ้งความประสงค์ที่อยากจะให้ปรีดีกลับประเทศ 

สิ่งที่จอมพล ป. เสนอแลกเปลี่ยนสำหรับการกลับเข้าประเทศของปรีดี คือจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาสะสางให้ ปรีดียังไม่ได้ให้คำตอบต่อข้อเสนอดีลนี้จากจอมพล ป. ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. ลงเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2500 เสียก่อน 

อย่างไรก็ตาม การที่ปรีดีไม่ตอบตกลงในทันทีทั้งที่จริงก็อยากจะกลับเข้าประเทศ จนแม้แต่บรรยากาศสังคมการเมืองเปลี่ยนไปในแง่ดีขึ้น เมื่อรัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจมาจากสฤษดิ์ถูกโค่นล้มลงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ปรีดีก็ไม่ได้กลับเข้าประเทศมา จนเสียชีวิตที่กรุงปารีสเมื่อ พ.ศ.2526  

การไม่กลับมาหลัง 14 ตุลา’ กับไม่กลับแม้แต่จอมพล ป. เสนอจะรื้อฟื้นคดีสวรรคต มีประเด็นให้มองได้อย่างเดียวคือเพราะจะกระทบผู้มีอำนาจเหนือรัฐและฝ่ายกษัตริย์นิยมยังครองอำนาจนำอยู่ ปรีดีจึงไม่ดีลด้วย ในแง่นี้ปรีดียอมอยู่ต่างประเทศ ไม่กลับมาเองทั้งที่จะกลับก็กลับได้ แต่เพราะยังไม่ใช่จังหวะเหมาะที่จะกลับมา    

อนิจจา! จอมพล ป. ผู้ซึ่งเคยยื่นข้อเสนอดีลขอให้ปรีดีกลับประเทศ ก็มามีอันให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศและต้องเสียชีวิตในต่างแดนเช่นกัน แต่ต่างประเทศ กรณีจอมพล ป. คือญี่ปุ่น

(ข้อมูลจากแฟ้มข่าวหนังสือพิมพ์เก่าของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ หมวดบัญชี หจช. สบ. 9.2.3/15 ภาพและข่าวเหตุการณ์จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติในเดือนกันยายน 2500)

หลังรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 หมุดหมายแรกในการเดินทางลี้ภัยของจอมพล ป. อยู่ที่กัมพูชา เพียงแค่ 10 วันหลังรัฐประหาร จอมพลป. มีจดหมายลับลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2500 ส่งตรงมาถึงจอมพลสฤษดิ์ ใจความสำคัญระบุว่า “ผมไม่มีเรื่องอะไร ยังรักใคร่จอมพลสฤษดิ์อยู่เสมอ และยินดีจะให้ความร่วมมือทุกอย่าง ตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว อยากจะขอกลับมาดูแลทรัพย์สินส่วนตัวและจัดการเรื่องบ้านช่องก่อน ต่อจากนั้นจะให้อยู่ต่อไปหรือจะให้ไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ว่า”

จอมพลสฤษดิ์นำจดหมายมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน (ทำนองเยาะเย้ย) พร้อมกับกล่าวว่า “ผมกำลังจะตอบอยู่เหมือนกันว่า ผมก็ยินดีและไม่มีอะไรกับท่าน รู้สึกเสียใจที่ได้ทำไปแล้ว”

ส่วนเรื่องกลับไทยนั้น “ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ท่านยังไม่ควรจะเข้ามาในขณะนี้ ควรรอให้เหตุการณ์เรียบร้อยก่อนจะดีกว่า เดี๋ยวพวกจะเตะผม”

หลังจากนั้นไม่นาน จอมพล ป. ตัดสินใจย้ายจากกัมพูชาไปพำนักถาวรอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่นั่นจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ.2507 การสิ้นอำนาจและต้องลี้ภัยไปต่างแดนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นการสิ้นสุดการเมืองไทยยุคผู้นำจากคณะราษฎรไปด้วยในตัว แต่แล้วไง ใครแคร์ จอมพลสฤษดิ์กับกลุ่มขบวนการฝ่ายกษัตริย์นิยมอาจจะบอกอย่างนั้น แต่คนรุ่นหลังอาจไม่คิดเช่นนั้น   

 

บทสรุป: การเมืองไทย & การเมืองแบบดีล ๆ    

ในการจำแนกประเภทการดีลในประวัติศาสตร์ไทยออกเป็น 9 ประเภทข้างต้น ทำอย่างรวบรัดและคร่าว ๆ ท่านใดจะเห็นว่ามีดีลแบบอื่นอีก หรืออาจนึกถึงกรณีอื่นใด นอกเหนือไปกว่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ ก็แล้วแต่จะนึกคิดเอามาเปรียบเทียบกันดู ตามสบายเลยครับ (เพราะผมไม่ได้มีดีลอะไรกับท่านอยู่แล้ว)  

สังคมวัฒนธรรมไทย ‘ดีล’ เป็นวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องกับ ‘ส่วย’ จนเกือบจะเป็นแค่อีกศัพท์ภาษาหนึ่งของวัฒนธรรมส่วย มันหมายถึงการแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่ง เป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่ปกติไม่เหมือนซื้อขายสินค้าทั่วไป ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าฝ่ายที่ต้องการต่อรองกับอำนาจนั้นล่วงรู้ความต้องการของฝ่ายที่ตนจะดีลด้วยแค่ไหน  เรื่องนี้สำคัญที่สุดในกระบวนการดีล ผู้ดีลจะพลาดหรือเดาใจอีกฝ่ายเคลื่อนไปจากที่เป็นจริงไม่ได้ และผู้ยื่นข้อเสนอก็จะต้องมีสิ่งที่ผู้มีอำนาจนั้นต้องการ หรือจัดหาสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการได้ เช่นอาจเป็นของสำคัญหายากอย่างพระบรมสารีริกธาตุที่จะได้ช่วยให้ผู้มีอำนาจได้ดื่มด่ำกับความเป็นประมุขของโลกพุทธศาสนา หรืออย่างการสึกหญิงงามจากเพศนางชียกให้เป็นพระสนม ก็เคยทำมาแล้ว 

‘ดีล’ เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือคนหมู่น้อย คนหมู่มากอาจได้ประโยชน์บ้าง นั่นก็เพราะว่าผลประโยชน์ของบุคคลบางคนบางกรณีมันไปด้วยกันได้กับผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น อาจเป็นดีลแบบจัดการกับคู่อริหรือข้าศึกศัตรู จะปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินให้ ซึ่งแน่นอนว่าหากพ่ายแพ้ต่อข้าศึกหรือถูกกองทัพบ้านเมืองอื่นยกมารุกราน ก็ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนหมู่มาก แต่ส่วนใหญ่แล้วศัตรูที่ว่ามักจะเป็นศัตรูทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ใช่ส่วนรวม    

ความจริงที่เป็นตลกร้ายอย่างหนึ่งก็คือ ในท่ามกลางความเชื่อต่อดีลในฐานะความหวังของการเปลี่ยนผ่านนั้น ดีลในสังคมวัฒนธรรมไทยคือการแปรเปลี่ยนความจริงและมีลักษณะเป็น ‘เบียวประวัติศาสตร์’ คือสร้างอะไรที่บิดเบี้ยวไปจากที่ควรจะเป็น โดยตัวมันเองเป็นการกระทำหลังฉากที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการตั้งแต่แรก เพราะดีลเป็นเรื่องการติดต่อเจรจากันโดยมีผลประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นเครื่องชี้นำ จะได้อะไร ไม่ได้อะไร เป็นต้น 

‘ดีล’ อาจเป็นอะไรหรือนำไปสู่อะไรได้หลายอย่าง แต่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชนคนหมู่มากแน่ ๆ เพราะเมื่อยอมรับมีดีลก็จะเท่ากับยอมรับว่ามีการแอบไปคุยกันลับหลังประชาชน จะเปิดเผยต่อสาธารณะไม่ได้ ไม่งั้นไม่ใช่ดีล และจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้ดีล หากเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว วงศ์ตระกูล หรือองค์กรธุรกิจ ดีลย่อมก่อประโยชน์ได้มาก แต่สำหรับการเมืองของความเป็นตัวแทน หากใช้การดีลเป็นตัวขับเคลื่อนทิศทางจะเป็นการเมืองที่ ‘อประชาธิปไตย’ อย่างยิ่ง เราอาจจะได้ยอดนักดีลมือฉมัง แต่ไม่ใช่นักการเมืองประชาธิปไตยคนเท่ากัน ไม่แปลกที่มันจะนำไปสู่การทรยศหักหลังหรือทำอะไรที่ผิดแผกไปกว่าที่ผู้คนคาดหวัง

 

ปล. จะดีลกันเยอะแยะทำอะไร ถ้ามัวแต่ดีลกับผู้มีอำนาจเก่าตามแบบวัฒนธรรมการเมืองเดิม ๆ แล้วเมื่อไหร่จะได้การเมืองแบบใหม่จริง ๆ ซักที คนเขาเลือกคุณให้ไปเป็นตัวแทนในการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่ให้ไปหมอบกราบเสียเมื่อไร!!!   

 

อ้างอิง:

Brummelhuis, Han ten and Kleinen, John. A Dutch Picnic in Ayutthaya, 1636. University of Amsterdam, 1984.

กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.

กำพล จำปาพันธ์. ‘การเมืองเบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 42 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2564), หน้า 74-91.

กำพล จำปาพันธ์. ‘จากกษัตริย์นิยมสู่ประชาธิปไตย: นัยยะและการประกอบสร้างความหมายของเอกสารประวัติศาสตร์ (คำกราบบังคมทูลฯ ร.ศ.103, พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, รัชกาลที่ 5 และ 2475)’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 30 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2552), หน้า 116-129.

กำพล จำปาพันธ์. ‘เจาะลึก ‘ช้างสยาม’ เดินทางไปต่างแดน จากสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์’ The People.co เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566  https://www.thepeople.co/history/nostalgia/51907

กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.

คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549.  

คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549.

จดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2561.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าและพระราชกระแสเรื่องจัดการทหารมณฑลกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ 5. พระนคร: กรมศิลปากร, 2493.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ‘ข้ออ้าง’ การปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.

ปฐมพงษ์ สุขเล็ก. การเมืองเรื่องเล่าพระเจ้าตากหลัง 2475. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.

ปรามินทร์ เครือทอง (บก.). ปริศนาพระเจ้าตาก. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.

ปรามินทร์ เครือทอง. ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553.

ปรามินทร์ เครือทอง. พระเจ้าตากเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ของวีรชนประชาธิปไตย 14 ตุลาคม. กรุงเทพฯ: สายธาร, 2543.   

พงศาวดารญวน (เวียดนามสือกี้). แปลโดย นายหยองกองทหารปืนใหญ่ เรียบเรียงโดย เทียนวรรณ, กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2560.

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเลย์. กรุงเทพฯ: โฆสิต, 2549.  

ฟานฟลีต, เยเรเมียส. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟานฟลีต (วัน วลิต). แปลโดย นันทา วรเนติวงศ์, วนาศรี สามนเสน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: พี.เพรส, 2551.

สุพจน์ ด่านตระกูล. พระปกเกล้ากับคณะราษฎร. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565.  

หจช. สบ. 9.2.3/15 ภาพและข่าวเหตุการณ์จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติในเดือนกันยายน 2500.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. ‘มือที่สาม’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2549. 

แอนเดอร์สัน, เบน. บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม. แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.