5 นักวิทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม โผล่ไม่นานในหนัง Oppenheimer แต่มีบทบาทในโลกจริง

5 นักวิทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม โผล่ไม่นานในหนัง Oppenheimer แต่มีบทบาทในโลกจริง

5 นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม แม้จะมีบทบาทไม่มากนักในภาพยนตร์ ออพเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) แต่ถ้าในโลกความเป็นจริงแล้ว พวกเขามีบทบาทมากมายในโลกวิทยาศาสตร์

  • ภาพยนตร์เรื่อง ออพเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) เน้นน้ำหนักการเล่าเรื่องไปที่  เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เป็นหลัก ขณะที่ในโลกความจริง นักวิทยาศาสตร์ที่รอยล้อมออพเพนไฮเมอร์ ล้วนมีบทบาทสำคัญแตกต่างกันออกไปตามเนื้องาน
  • บทความนี้ยกตัวอย่าง 5 นักวิทยาศาสตร์ที่(เกือบ)ถูกลืม จาก เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์, เดวิด ฮิลล์, นีลส์ บอร์, เออร์เนสต์ ลอว์เรนส์ ไปจนถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เดือนกรกฎาคม 2023 มีภาพยนตร์น่าสนใจหลายเรื่องเข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน หนึ่งในนั้นคือ ออพเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เกี่ยวกับชายผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์และชีวิตของเขาตั้งแต่เริ่มยันจบ ซึ่งนับว่าเป็นหนังอีกหนึ่งเรื่องที่ใครหลาย ๆ คนตั้งตารอ ด้วยงานโปรดักชั่นที่ทุ่มทุนสร้าง การใช้ระเบิดจริงแบบไม่ใช้ CG รวมไปถึงฝีมือการกำกับระดับตำนานของโนแลนอีกด้วย

เรื่องราวของเจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ในภาพยนตร์นั้นจะไม่สมบูรณ์ได้เลยหากไม่ใช่เพราะคนรอบตัวของเขา โดยตัวละครที่อ้างอิงมาจากบุคคลที่มีอยู่จริง เป็นนักวิทยาศาสตร์จริง ๆ มีอยู่หลายคนด้วยกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเองที่ควรถูกเล่าขานเช่นกัน บทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักนักวิทยาศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ที่มีการถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์เรื่องออพเพนไฮเมอร์

***เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์ Oppenheimer***

เออร์เนสต์ ลอว์เรนส์ (Ernest Lawrence) – นักวิจัยนิวเคลียร์ฟิสิกส์

5 นักวิทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม โผล่ไม่นานในหนัง Oppenheimer แต่มีบทบาทในโลกจริง

เออร์เนสต์ ลอว์เรนส์ (Ernest Lawrence) นักวิจัยชาวอเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นอาจารย์ที่เด็กที่สุดเท่าที่มหาวิทยาลัยเบอร์กลีย์ (Berkeley) เคยมี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เออร์เนสต์เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ช่วยเหลือด้านการพัฒนาระเบิดปรมาณู และถือตำแหน่งหลายตำแหน่งในโปรเจกต์นี้

หลังสงคราม เขามีบทบาทสำคัญในการพยายามที่จะให้ได้มาซึ่งความตกลงระหว่างประเทศในการห้ามให้มีการทดลองระเบิดปรมาณู

การค้นคว้าของเออร์เนสต์ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์นิวเคลียร์ ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเขาคือ ปรากฎการณ์ไซออไนส์ และความสามารถของปรากฎการณ์ไซออไนส์ต่อไอโลหะ ในปี 1929 เขาได้คิดค้น ‘ไซโคลตรอน (Cyclotron)’ อุปกรณ์ที่มีความสามารถในการเพิ่มพลังของอนุภาคนิวเคลียร์ให้มีความเร็วสูงโดยไม่ต้องใช้พลังงานจากกระแสไฟฟ้า

อนุภาคที่เคลื่อนที่เร็วเหล่านี้ถูกใช้เพื่อเพิ่มธาตุต่าง ๆ เข้าไปในตัวอะตอม ทำให้อะตอมสลายตัวเพื่อทำให้เกิดธาตุใหม่ ไอโซโทปรังสีของธาตุที่รู้จักกันอยู่แล้วกว่าร้อยชนิดถูกค้นพบ จอห์น ลอว์เรนส์ (John Lawrence) น้องชายของเออร์เนสต์ กลายมาเป็นผู้บริหารของแล็บฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัย ให้ความร่วมมือกับเขาในการศึกษาไซโคลตรอนอีกด้วย

โดยในภาพยนตร์ออพเพนไฮเมอร์ ผู้ที่มารับบทเป็นเออร์เนสต์ ลอว์เรนส์คือ จอช ฮาร์ตเน็ตต์ (Josh Hartnett) นักแสดงที่เคยฝากฝีมือไว้ในภาพยนตร์อย่าง Lucky Number Slevin (2006), 30 Days of Night (2007) และ The Faculty (1998)

นีลส์ บอร์ (Niels Bohr) – นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20

5 นักวิทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม โผล่ไม่นานในหนัง Oppenheimer แต่มีบทบาทในโลกจริง

นีลส์ บอร์ (Niels Bohr) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวแดนิชที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลว่า ทำไมเราถึงวาดภาพอะตอมออกมาแบบที่เราวาดกันในปัจจุบัน (ลองนึกภาพอิเล็กตรอนลอยวนรอบนิวเคลียส เหมือนภาพระบบสุริยะ) เขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีบรรยากาศส่งเสริมให้เขากลายเป็นอัจฉริยะ โดยคุณพ่อของเขาเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังและเป็นคนที่ทำให้นีลส์ ค้นพบแพชชั่นและความฉลาดของเขาในเรื่องของฟิสิกส์ตั้งแต่สมัยที่เขาเรียน ส่วนคุณแม่เองก็มาจากตระกูลที่มีการศึกษาสูง

ในช่วงที่พวกนาซีเยอรมันยึดครองเดนมาร์กช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นีลส์ หนีไปที่สวีเดนและได้ใช้เวลาสองปีก่อนสงครามจะจบลงที่อังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจกต์พลังงานอะตอม ในปีต่อ ๆ มา เขาทุ่มเทให้กับงานของตัวเองเพื่อโปรโมตสันติภาพในฟิสิกส์อะตอมและในปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

เขามุ่งเป้าไปยังความโปร่งใสและบริสุทธิ์ใจระหว่างประเทศ รวมไปถึงได้เขียนจดหมายเปิดผนึกว่าด้วยประเด็นนี้ส่งไปให้กับองค์กรสหประชาชาติ (United Nation) ในปี 1950 อีกด้วย

บทบาทของนีลส์ บอร์ ถูกถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชมด้วยฝีมือการแสดงของเคนเนธ บรานากห์ (Kenneth Branagh) ผู้เคยฝากผลงานการแสดงไว้ในภาพยนตร์เช่น Henry V (1989), Murder on the Orient Express (2017) และ Tenet (2020)

 

เดวิด ฮิลล์ (David Hill) ผู้ชี้ตัวบุคคลผู้ทรยศหักหลังออพเพนไฮเมอร์

5 นักวิทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม โผล่ไม่นานในหนัง Oppenheimer แต่มีบทบาทในโลกจริง

เดวิด ฮิลล์ (David Hill) คือนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวอเมริกันผู้ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของแมนแฮตตัน โปรเจกต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และควบตำแหน่งประธานสหพันธ์นักวิทยาศาตร์อเมริกัน ซึ่งแน่นอนว่าตามที่เราเห็นกันในหนัง เขาคือผู้ที่เป็นที่รู้จักจากการคัดค้านการขึ้นรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และแรงงานสหรัฐ (United States Secretary of Commerce) ของลูวิส สเตราส์ (Lewis Strauss) และชี้ตัวคนนี้ว่าทรยศหักหลังออพเพนไฮเมอร์

เดวิดเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สร้าง The Chicago Pile (เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประดิษฐ์ชิ้นแรกของโลก) และในช่วงปี 1945 ขณะสงครามโลกกำลังดำเนินอยู่ เขาและนักวิทยาศาสตร์อีก 70 คนได้เซ็นสัญญาคำร้อง Szilárd ว่าด้วยการขอร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯในขณะนั้น– แฮร์รี่ เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) เตือนประเทศญี่ปุ่นก่อนที่จะเลือกใช้ระเบิดนิวเคลียร์

หากใครที่ดูหนังมาแล้ว อาจรู้สึกว่า ซีนการปรากฏตัวของเดวิด สร้างอิมแพกและทรงพลังมาก ๆ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่อง และการแสดงโดยรามี่ มาเล็ก (Rami Malek) นักแสดงมากฝีมือจาก Bohemian Rhapsodhy (2018), Papillon (2017) และ Night at the Museum: Secret of the Tomb (2014) ก็เป็นที่น่าจดจำ

แต่ในตัวหนังไม่ได้พูดถึงเรื่องราวหลังจากนั้นของเดวิด มากนัก โดยหลังจากการให้การของเดวิด เขาได้ย้ายไปทำงานในภาคเอกชน แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับงานที่เขาเคยทำกับออพเพนไฮเมอร์ และโปรเจกต์แมนแฮตตัน รวมถึงในช่วงบั้นปลายชีวิต งานของเขายังเกี่ยวข้องกับบริษัทค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หลากหลายแห่ง เช่น Nanosecond Systems Inc. ซึ่งผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดที่มีความแม่นยำสูง รวมไปถึงเป็นสมาชิกของสมาคมกายภาพอเมริกัน (American Physical Society) และสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (the American Association for the Advancement of Science) อีกด้วย

 

เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) บิดาแห่งระเบิดไนโตรเจน

5 นักวิทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม โผล่ไม่นานในหนัง Oppenheimer แต่มีบทบาทในโลกจริง

หนึ่งในผลงานของเอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) คือการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ Jahn-Teller Effect ในปี พ.ศ. 1939 ซึ่งอธิบายการบิดเบือนของเมฆอิเลกตรอนที่เกิดขึ้นในบางสถานการณ์ มันมีบทบาทที่สำคัญในการอธิบายการเกิดปฏิกิริยาเคมีของโลหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการเกิดสีของโลหะบางชนิด 

ในปี 1942 เอ็ดเวิร์ด ถูกเชื้อเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาฤดูร้อนของออพเพนไฮเมอร์ เกี่ยวกับแมนแฮตตัน โปรเจกต์ และในปีต่อมา เขาได้ทำงานกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ตามด้วยเป็นหัวหน้าของกลุ่มโลส อลาโมส (Los Alamos) ที่แผนกทฤษฎีฟิสิกส์ แต่ความหลงใหลในระเบิดไฮโดรเจนของเขาก็สร้างความกดดันให้กับนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ 

เมื่อมีข่าวว่าสหภาพโซเวียตได้ทดสอบอุปกรณ์นิวเคลียร์ในปี 1949 เอ็ดเวิร์ด พยายามอย่างมากในการตามหาเสียงสนับสนุนโปรแกรมสร้างระเบิดไฮโดรเจน แต่เมื่อเขา และสเตนสลอว์ อูลัม (Stanislaw Ulam) คิดค้นดีไซน์ระเบิดไฮโดรเจนที่อาจใช้การได้ เอ็ดเวิร์ด กลับไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าโปรเจกต์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เอ็ดเวิร์ด ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ เรียกร้องให้มีการพัฒนาอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์และดำเนินการทดลองนิวเคลียร์ต่อไป

 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกผู้ปรากฎอยู่ในทุกบทเรียนวิชาวิทยาศาสตร์

5 นักวิทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่(เกือบ)ถูกลืม โผล่ไม่นานในหนัง Oppenheimer แต่มีบทบาทในโลกจริง

หากพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ คงไม่มีใครไม่รู้จักอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เป็นแน่ และหลาย ๆ คนที่ได้ไปดูหนังก็อาจไม่ทราบมาก่อนว่า ไอน์สไตน์ ยังมีชีวิตอยู่ในช่วงสงคราม เขาเกิดที่เยอรมนี ได้สัญชาติสวิสหลังจากเข้ารับการฝึกเป็นอาจารย์วิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ กลับมาเป็นคนเยอรมัน และลงท้ายด้วยการอพยพไปอยู่สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ด้วยความที่เขาเป็นคนยิว และในช่วงที่ฮิตเลอร์ ขึ้นสู่อำนาจ ทำให้เขาถูกโจมตีและถูกทำลายผลงาน

ไอน์สไตน์ สร้างผลงานอันน่าทึ่งมากมาย เช่น ในปี 1905 เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก จนปีนี้ถูกเรียกว่าคือปีแห่งปาฏิหาริย์ (Miracle Years) ของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ผลงานที่เป็นรากฐานสำคัญให้กับฟิสิกส์ รวมถึงแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับเวลา อวกาศ และสสาร และยังเป็นปีที่เขาเผยแพร่สมการ E=mc2 สมการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมวลและพลังงานของวัตถุ

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปที่ขยายความเข้าใจในเรื่องของแรงโน้มถ่วง สืบทอดทฤษฎีก่อนหน้าของไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) 

ในปี 1939 ไอน์สไตน์ ที่ถือว่าเป็นคนรักสันติมาตลอด ได้เตือนรัฐบาลสหรัฐฯว่า พรรคนาซีอาจกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ ทำให้เกิดแมนแฮตตัน โปรเจกต์ อันเป็นแกนกลางของภาพยนตร์นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ชายผมฟู ไม่ใส่ถุงเท้า และพยศจนวงการวิทยาศาสตร์ต้องสะเทือน

 

เรื่องราวหลากหลายของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบิดนิวเคลียร์

นี่เป็นเพียงบางส่วนของนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับแมนแฮตตัน โปรเจกต์ – โปรเจกต์ใหญ่ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติไปตลอดกาลเท่านั้น ยังมีนักวิทยาศาสตร์ทั้งหญิงและชายอีกหลายคนที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในบทความนี้

อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมขบคิดถึงผลเสียของสงครามและความรุนแรง อาวุธทางการทหารที่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ได้ถูกใช้เพื่อสันติภาพตามที่อ้างไว้แต่แรก รวมไปถึงผลกระทบทางจิตใจจากบาดแผลที่เกิดขึ้นจากสงคราม เป็นเครื่องเตือนใจถึงการสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนไปตลอดกาล

 

เรื่อง: บัณฑิตา อดุลโภคาธร

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

Nobelprize

Nobelprize (2)

Screenrant

Atomic Archive

https://www.nobelprize.org/prizes/physics/1921/einstein/biographical/