‘มงเตสกิเยอ’ นักปรัชญาการเมืองฝรั่งเศส ผู้ประณามความชั่วร้ายที่กระทำในนามกฎหมาย

‘มงเตสกิเยอ’ นักปรัชญาการเมืองฝรั่งเศส ผู้ประณามความชั่วร้ายที่กระทำในนามกฎหมาย

‘มงเตสกิเยอ’ (Montesquieu) นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส ผู้วางรากฐานการเมืองอันยุ่งเหยิงให้อยู่ในรูปแบบประชาธิปไตย เจ้าของวาทะประณามการถูกกดขี่ข่มเหงโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย หรือกระทำในนามความยุติธรรม

  • ‘มงเตสกิเยอ’ คือนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสที่ผลิตงานเขียนและนำเสนอแนวคิดทางการเมือง กฎหมาย และงานทางวรรณกรรมซึ่งส่งอิทธิพลทางความคิดในยุคศตวรรษที่ 18
  • ผลงานชิ้นเอกของเขาคือ The Spirit of Laws หรือ จิตวิญญาณของกฎหมาย 

ในบรรดารายชื่อนักปรัชญาการเมือง ‘มงเตสกิเยอ’ (Montesquieu) คือนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสซึ่งส่งอิทธิพลอย่างมากในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) แนวคิดและเรื่องราวของเขายังถูกกล่าวขานและนำมาศึกษากันจนถึงทุกวันนี้

วาทะอมตะและยังเป็นแนวคิดที่ถูกวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์มายาวนาน ซึ่งคนในยุคปัจจุบันน่าจะคุ้นเคยกันคือประโยค

“There is no crueler tyranny than that which is perpetuated under the shield of law and in the name of justice”

หรือแปลเป็นไทยว่า

“ไม่มีความเลวร้ายใดที่โหดร้ายทารุณไปกว่าการถูกกดขี่ข่มเหง โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม”

เจ้าของวาทะนี้มีนามเดิมว่า ชาร์ลส หลุยส์ เดอ เซอกงดาต์ (Charles-Louis de Secondat) แต่คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในนามว่า ‘มงเตสกิเยอ’

ชาร์ลส กำเนิดเมื่อ 18 มกราคม ค.ศ. 1689 ครอบครัวของเขาเป็นคนมีฐานะดี ย่า และญาติฝั่งแม่ของเขาเกี่ยวข้องกับกลุ่มขุนนาง ขณะที่บิดาเป็นนายทหารในตระกูลผู้ดี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางแห่งเล่าว่า ช่วงวัยเด็ก เขาถูกเลี้ยงดูโดยคนที่มีฐานะการเงินไม่ค่อยดีนัก

มารดาของชาร์ลส เสียชีวิตขณะเขาอายุ 7 ขวบ เมื่ออายุได้ 11 ปี ชาร์ลส ถูกส่งตัวไปรับการศึกษาในสถาบัน Oratorian Collège de Juilly ใกล้กับกรุงปารีส ศึกษาด้านวรรณกรรม วิทยาศาสตร์ และองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งบอร์กโดซ์ และทำงานในปารีสหลังจบการศึกษา

เมื่อบิดาของเขาเสียชีวิต ชาร์ลส เดินทางกลับบอร์กโดซ์ ในปี 1713 ปีต่อมาเขาได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกหรือที่ปรึกษา (councilor) สภาท้องถิ่นของบอร์กโดซ์

ลุงของเขาเสียชีวิตในปี 1716 ชาร์ลส จึงได้รับมรดกเป็นที่ดิน รวมถึงยศ Baron de La Brède และ เดอ มงเตสกิเยอ (de Montesquieu) นั่นเอง

เมื่อได้รับยศพร้อมกับทรัพย์สิน วิถีชีวิตของเขาค่อนข้างมั่นคงในระดับหนึ่ง ทำให้สามารถทุ่มเทกับสิ่งที่เขาสนใจอย่างเต็มที่ นั่นคือเรื่องกฎหมายโรมัน, ประวัติศาสตร์, ชีววิทยา, ภูมิศาสตร์ และฟิสิกส์

มงเตสกิเยอ ตีพิมพ์งานเขียนที่ได้รับความนิยมหลายชิ้น อาทิ งานวรรณกรรม ตีพิมพ์ แล็ทร์แปร์ซาน (จดหมายเหตุเปอร์เซีย หรือ Persian Letters, ค.ศ. 1721) งานเขียนเชิงเสียดสีโดยสื่อสารผ่านตัวละครสมมติเป็นชาวเปอร์เซียเขียนจดหมายโต้ตอบระหว่างการเดินทางมาปารีส สะท้อนความไร้สาระของสังคมร่วมสมัย เสียดสีการเมือง, ศาสนา, ระบอบการปกครอง และกลุ่มคนมีฐานะ

การเดินทางบ่อยครั้งและมุมมองทางความคิดของเขาทำให้มงเตสกิเยอ ผลิตงานเขียนอย่างต่อเนื่อง สลับหมวดหมู่เนื้อหามาเป็นการเมืองอย่างเช่นศึกษาความล่มสลายของโรม

ผลงานที่ตามมาคือ กงซีเดราซียง ซูร์ เล โกซ เดอ ลา กร็องเดอร์ เด รอแม็ง เอ เดอ เลอร์ เดกาด็องส์ (ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และความเสื่อมถอยของชาวโรมัน, ค.ศ. 1734)

ขณะที่ผลงานชิ้นเอกของเขาถูกมองว่าเป็นงานเขียนชื่อ เดอแล็สพรีเดลัว (จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย หรือ The Spirit of Laws) เดิมทีแล้วตีพิมพ์โดยไม่ใส่ชื่อผู้เขียน ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1748 งานเขียนชิ้นนี้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดทางรัฐศาสตร์และการปกครองอย่างมาก

แนวคิดสำคัญของมงเตสกิเยอ คือมุมมองเรื่องการแบ่งแยกถ่วงดุลอำนาจ โดยอำนาจฝั่งบริหารคือฝ่ายนิติบัญญัติ (legislative), บริหาร (executive) และตุลาการ (judicial) ซึ่งในเวลานั้น แนวคิดการแบ่งแยกอำนาจของเขาถูกมองว่าเป็นแนวคิดแบบหัวรุนแรง แนวคิดดังกล่าวเทียบเท่ากับการล้มล้างการปกครองฝรั่งเศสที่ยังเป็นรูปแบบ ‘ราชอาณาจักร’

 

คนรุ่นหลังที่ศึกษาแนวคิดของมงเตสกิเยอ มองว่า สภาพสังคมฝรั่งเศสที่เสื่อมโทรมในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีอำนาจเหนืออาณาจักรฝรั่งเศสอย่างเด็ดขาดแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน บริบทสภาพสังคมดังกล่าวไม่เพียงแค่ทำให้เกิดคำถามต่อระบอบการปกครอง แต่ยังส่งผลต่อแนวคิดทางการเมือง และมุมมองต่าง ๆ แน่นอนว่า รวมถึงแนวคิดของมงเตสกิเยอ ด้วย

เมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนผ่านมาถึงรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สภาพสังคมยุคนั้นยังส่งผลต่อแนวคิดของเขาเช่นกัน ภาพที่สะท้อนให้เห็นคือ งานเขียนของมงเตสกิเยอที่เอ่ยถึงกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ในชิ้นงาน ซึ่งเอ่ยถึงทั้งสองพระองค์หลายครั้ง

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 15’ กษัตริย์ฝรั่งเศสยุค ‘ปกครองบนเตียง’ โค้งสุดท้ายก่อนปฏิวัติ 1789

มงเตสกิเยอ แบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

  1. ราชาธิปไตย
  2. สาธารณรัฐ
  3. เผด็จการ

มงเตสกิเออ เคยให้ความเห็นต่อการปกครองของอังกฤษว่า กษัตริย์คือผู้ใช้อำนาจบริหาร และถ่วงดุลโดยรัฐสภา รัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญติ ส่วนอำนาจวินิจฉัยทางคดีถูกแยกออก เพื่อถ่วงดุลและแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ขณะที่การปกครองแบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งรวมอำนาจเอาไว้ จะนำมาสู่การปกครองแบบเผด็จการ

ทั้งนี้ นักวิชาการรุ่นหลังมองว่า แนวคิดการแบ่งแยกอำนาจของมงเตสกิเยอ ที่มีต่อการปกครองของอังกฤษดูจะไม่ได้สอดคล้องกับการปกครองของอังกฤษตามความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม แนวคิดการแบ่งแยกอำนาจของมงเตสกิเยอ กลับถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นหลักการในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในภายหลัง

ผลงานอันลือลั่นของเขาถูกศาสนจักรคาทอลิกใส่ในลิสต์หนังสือต้องห้ามด้วย แต่ในประเทศอื่นของยุโรป งานเขียนของเขาได้รับความนิยมแพร่หลาย ผลงานของเขาส่งอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาด้วย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจโดยมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน

มงเตสกิเออ มักใช้เวลาเดินทางไปมาตามประเทศต่าง ๆ เคยใช้ชีวิตในอิตาลีอยู่ 1 ปี และพำนักในอังกฤษ 18 เดือน ช่วงบั้นปลาย มงเตสกิเออ เผชิญปัญหาสุขภาพ การมองเห็นถดถอย กระทั่งบอดสนิท เขาเสียชีวิตในค.ศ. 1755 ข้อมูลส่วนหนึ่งบันทึกว่า เขามีลูกสาว 2 คน และลูกชายกับภรรยา

แนวคิดทางการเมือง การปกครอง และมุมมองต่อกฎหมายของมงเตสกิเยอ ส่งอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังดังที่กล่าวข้างต้น เขามองว่า กฎหมายคือระบบที่จำเป็น ขณะที่ตัวกฎหมายจำเป็นต้องสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น อาทิ ธรรมชาติ ประชากร ขนาดที่ดิน ศาสนา การค้า และขนบธรรมเนียม

องค์ประกอบข้างต้นเป็นตัวอย่างของสภาพแวดล้อมที่มงเตสกิเยอ เอ่ยถึง สิ่งต่าง ๆ ล้วนสัมพันธ์กันและควรถูกพิจารณาด้วยปัจจัยต่าง ๆ มงเตสกิเยอ มองว่า กฎหมายที่ดีจำเป็นต้องสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมแต่ละสังคม การนำกฎหมายจากสังคมหนึ่งมาใช้กับอีกสังคมหนึ่งโดยมุ่งหวังให้เกิดความเหมาะสม เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้

ในแง่มุมด้านการเมือง มงเตสกิเยอ มองว่า เพศหญิงไม่เหมาะจะเป็นผู้นำในครอบครัว โดยเขามองว่า บริบทนี้ขัดแย้งกับหลักเหตุผลและหลักการธรรมชาติ แต่เขากลับมองว่า หลักการเหล่านี้ไม่ได้ขัดต่อเหตุผลที่จะให้เพศหญิงปกครองดูแลอาณาจักรบ้านเมือง

เรื่องตลกอย่างหนึ่งที่คนรุ่นหลังมักหยิบยกมาแหย่กันคือ แม้เขานำเสนอแนวคิดเหล่านี้ในงานเขียนชิ้นเอก แต่ในช่วงที่เขาออกเดินทางไปต่างแดน ภรรยาของมงเตสกิเยอ คือผู้ปกครองดูแลครอบครัวของเขา

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง วาทะอมตะของมงเตสกิเยอ 

 

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช

อ้างอิง:

พระมหากริช ถิรธมฺโม, สุธาทิพย์ นววิธากาญจน์, ปานวลัย รันตบุตรศรี และภมรรัตน์ ชุมภูปะวิโร. ผู้กล้าแห่งประชาธิปไตย มองเตสกิเออร์, ใน วารสารมหาจุฬาตานีปริทรรศน์ ปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 มกราคม-มิถุนายน 2563. สืบค้นออนไลน์

Charles-Louis de Secondat. Biography. Website. Published 10 AUG 2023. ACCESS 16 AUG 203.