‘อมร ยุกตะนันทน์’ มือปราบนักแม่นปืน ดีกรีเหรียญเงินครั้งแรกของไทยในเอเชียนเกมส์

‘อมร ยุกตะนันทน์’ มือปราบนักแม่นปืน ดีกรีเหรียญเงินครั้งแรกของไทยในเอเชียนเกมส์

ตำนานตำรวจยอดมือปราบนักแม่นปืนนาม ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ดีกรีเหรียญเงินครั้งแรกของไทยในเอเชียนเกมส์ และนักกีฬาแม่นปืนลุยโอลิมปิก 3 สมัย

  • อมร ยุกตะนันทน์ เป็นตำรวจมือปราบที่คลี่คลายคดีดังมาแล้วมากมาย โดยนอกเหนือจากบทบาทตำรวจ เขายังเป็นนักกีฬาแม่นปืนคนประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทย
  • อมร ยุกตะนันทน์ คว้าเหรียญเงินเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ให้ทัพนักกีฬาเอเชียนเกมส์ของไทย 
  • มือปราบนักแม่นปืนท่านนี้ยังเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยที่ไปลุยโอลิมปิกถึง 3 สมัย

กีฬาเอเชียนเกมส์เป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวเอเชีย ตลอดระยะเวลากว่า 72 ปี นับตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกในปี 1951 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย นักกีฬาทีมชาติไทยคว้าเหรียญรางวัลรวมไปแล้วมากกว่า 500 เหรียญ

โดยนักกีฬาทีมชาติไทยคนใดสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้ก็นับว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ  ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นนักกีฬาที่สามารถทำผลงานความสำเร็จดังกล่าวได้ ก็จะได้รับการยกย่องจากสังคมไทย

สำหรับผมเองก็ดูและติดตามการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มาอย่างยาวนาน และเริ่มเกิดความสงสัยตามประสาคนชอบเก็บข้อมูลว่า แล้วทีมชาติไทยของเราได้เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ครั้งแรกจากนักกีฬาคนใดกันแน่ และเรื่องราวของนักกีฬาคนนั้นจะเป็นอย่างไร ด้วยความสงสัยดังกล่าวผมจึงเริ่มทำการรวบรวมข้อมูลอย่างจริงจัง

แล้วพบว่า ทีมชาติไทยได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งแรกในการแข่งขันครั้งที่ 3 ปี 1958 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยครั้งนั้นทีมชาติไทยทำผลงานได้ 1 เหรียญเงินกับ 3 เหรียญทองแดง โดยเหรียญเงินได้จาก อมร ยุกตะนันทน์ ในการแข่งขันยิงปืน ประเภทปืนสั้นยิงช้า 50 เมตรบุคคลชาย และนั่นทำให้ผมสนใจในเรื่องราวของนักยิงปืนท่านนี้ขึ้นมาทันที

เรื่องราวชีวิตของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ในฐานะนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทยผู้คว้าเหรียญเงินในเอเชียนเกมส์เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะผลงานในครั้งนั้นก็ผ่านมาแล้วกว่า 65 ปี คนรุ่นหลังก็อาจไม่ทันได้รับรู้เรื่องราว และผมก็คือหนึ่งในนั้น

ผมใช้เวลาสืบค้นเรื่องราวของนักกีฬาท่านนี้จนพบว่า ชีวิตของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ไม่ธรรมดาเลยครับ ทั้งในอาชีพการงานและความเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย จึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวของเจ้าตัวให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ

จุดเริ่มต้นการเป็นตำรวจมือปราบสายสกุลพระราชทาน

‘อมร ยุกตะนันทน์’ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1928 (พ.ศ. 2471) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคุณพ่อของท่านคือ หลวงอรรถกัลยาณวินิจ (เอื้อน ยุกตะนันทน์) อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ส่วนคุณแม่คือนางพงา ยุกตะนันทน์ สำหรับนามสกุล ‘ยุกตะนันทน์’ นั้น เป็นนามสกุลพระราชทาน โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานให้ เรียกได้ว่า ‘อมร ยุกตะนันทน์’ เกิดในครอบครัวข้าราชการที่มีญาติพี่น้องส่วนมากก็ทำงานรับใช้ประชาชน

‘อมร ยุกตะนันทน์’ ถือว่าเป็นเด็กฉลาดที่ได้รับการเลี้ยงดูและสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นอย่างดีจนท่านได้เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ศึกษาในสายวิศวกรรมได้ไม่นานก็สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้สำเร็จ ท่านได้ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อไปศึกษาเป็นนักเรียนนายร้อยอย่างเต็มตัว และสถานที่แหล่งนี้เองที่ทำให้ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ได้รู้จักและฝึกฝนการใช้อาวุธปืน

ในยุคสมัยนั้น ประเทศไทยอยู่ในช่วงสงครามโลก อาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย และรูปแบบก็รุนแรงขึ้นเนื่องจากการแพร่หลายของอาวุธปืนที่มาพร้อมกับสงคราม นักเรียนนายร้อยและตำรวจในยุคสมัยนั้นจึงต้องศึกษาและฝึกฝนการใช้อาวุธปืนให้เกิดความชำนาญและแม่นยำ ซึ่ง ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ก็คือหนึ่งในนั้น ท่านได้รับความชื่นชมและยอมรับเป็นอย่างมากว่า สามารถยิงปืนได้อย่างแม่นยำจนชนะการแข่งขันของโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นประจำ

เมื่อจบการศึกษา ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ได้รับการบรรจุเป็น เป็น ร.ต.ต. ประจำกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย คอยปราบปรามอาชญากรรมที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากพิษเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงอย่างหนักหลังจากสงครามโลก และท่านสร้างผลงานไว้มากมายจนได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมอาชีพด้วยบุคลิกที่เข้มแข็ง มีความกล้าหาญต่อสู้กับผู้ร้ายแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำให้ชื่อของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ เป็นหนึ่งในมือปราบนครบาลของยุคนั้น

 

คลี่คลายคดีดัง สร้างชื่อโจษจันทั่วนครบาล

‘อมร ยุกตะนันทน์’ เป็นหนึ่งในมือปราบที่มีส่วนร่วมกับคดีดังมากมายจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ อย่างเช่นคดีที่ได้รับฉายา ‘มือปืนถุงปลาทู’ ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในยุคที่เจ้าตัวยังไม่มีชื่อเสียง คนร้ายก่ออาชญากรรมโดยการลักพาตัวเหยื่อเพื่อไปทำการเรียกค่าไถ่ซึ่งคนร้ายรายนี้กระทำความผิดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

เมื่อญาติมาแจ้งความ อมร อาสาจะลงพื้นที่ไปจัดการคดีนี้ด้วยตนเอง โดยปลอมตัวเป็นชาวบ้าน เดินจ่ายตลาดและเอาปืนซ่อนไว้ในถุงปลาทู เมื่อคนร้ายปรากฏตัว ณ จุดนัดหมายส่งมอบค่าไถ่ อมร ยิงปืนจากในถุงเพียงแค่นัดเดียวก็สามารถจัดการคนร้ายอยู่หมัด

“ถุงปลาทูดิฉันเป็นคนใส่ให้เอง ไม่ใช่ถุงปลาทูหรอก ที่จริงมันเป็นถุงยาร้านหมอขจร ตอนนั้นพี่อมรเขาบอกว่าหาถุงให้ใบหนึ่ง เลยหยิบถุงยากระดาษร้านหมอขจร เป็นคุณหมอด้านโรคผิวหนังรุ่นเดียวกัน ก็ส่งถุงให้เขาเอาปืนรู้สึกจะ .357 นะ ใส่แล้วเขาก็หิ้วไป แต่ตอนสัมภาษณ์นักข่าวพี่อมร ดันบอกว่าเป็นถุงปลาทู ... แหม่ ใครจะเอาถุงปลาทูไปใส่ให้กัน”

คำบอกเล่าของ ‘ศรีอุไร ยุกตะนันทน์’ ภรรยาคู่ชีวิตของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ จากหนังสือตำนานมือปราบนักแม่นปืน พล.ต.ต. อมร ยุกตะนันทน์

อีกคดีที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากคือ ‘คดีวิสามัญเสือแมน มือปืน 100 ศพ’ ซึ่งเป็นคดีที่โด่งดังในช่วงปี 1972 (พ.ศ. 2515) โดยเสือแมน เป็นบุคคลที่ทางการต้องการตัวเนื่องจากก่อคดีเอาไว้ทั้งในและนอกพื้นที่นครบาลหลายคดี ที่โด่งดังก็เช่นการฆ่ากำนัน ตำบลท่าตะโกจังหวัดนครสวรรค์ คดีฆ่าล้างครัวภรรยาน้อยไบคานเจ้าพ่อลำนารายณ์จังหวัดลพบุรี โดย ‘อมร ยุกตะนันทน์’ กับ ‘เสือแมน’ นั้นเคยดวลปืนกันใจกลางพระนครมาแล้ว

“กรณีเสือแมน รอดประเสริฐ ผู้มีประวัติอาชญากรรมติดตัวหลายคดี และหลบหนีรอด เงื้อมมือของ พ.ต.อ.อมร ยุกตะนันท์ ผกก.สืบสวนใต้กับคณะไปได้ หลังเกิดปะทะดวลปืนกันในซอยกล้วยน้ำไท ถนนสุขุมวิท พระโขนง นครหลวงฯ เมื่อเช้าวันที่ 27 ธ.ค.นี้ และเสือแมนถูกยิงบาดเจ็บหนีรอดไปได้กับนายต๊อกสมุนคนหนึ่ง”

รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 หน้า 2 อ้างอิงจากหนังสือตำนานมือปราบนักแม่นปืน พล.ต.ต. อมร ยุกตะนันทน์

ต่อมา ทางตำรวจสามารถจัดการกับเครือข่ายของเสือแมน ยุติบทบาทอาชญากรที่โหดเหี้ยมได้สำเร็จ โดย ‘อมร ยุกตะนันทน์’ คือหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของคดีนี้ และยิ่งนานวันไป ชื่อเสียงและฝีมือในการทำงานของท่านอมรก็ได้รับการยอมรับทั้งจากสังคมและเพื่อนร่วมงาน

คลี่คลายคดีมากมาย ทั้งคดีฆ่าหั่นศพ, คดีช่วยตัวประกัน, คดีปล้นรถบรรทุก และคดีปล้นธนาคาร เป็นต้น เนื่องจากอมร เป็นตำรวจที่สไตล์การทำงานแบบขาลุย ถึงไหนถึงกัน ได้ใจผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชา และที่สำคัญ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ สามารถยิงปืนสั้นได้อย่างแม่นยำชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่ง

นี่คือเรื่องราวด้านชีวิตการทำงานของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ที่ถือได้ว่า เป็นตำรวจนครบาลมากฝีมือและมีชื่อเสียง สามารถคลี่คลายคดีสำคัญ สร้างความสงบสุขให้กับสังคมได้อย่างน่านับถือ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านอมร เป็นมือปราบที่เหล่าโจรผู้ร้ายให้ความยำเกรง คือทักษะและความชำนาญในอาวุธปืนและความแม่นยำ ซึ่งนั่นก็ทำให้เจ้าตัวมีอีกบทบาทหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ทุกท่านฟัง นั่นก็คือเป็น ‘นักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย’

 

รับใช้ทีมชาติอย่างยาวนานสร้างเกียรติยศมากมายให้ทีมชาติไทย

สำหรับชีวิตความเป็นนักกีฬาของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ นั้น ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเรื่องราวที่ท่านคือนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรกที่คว้าเหรียญเงินในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ โดยผมขอเล่าแบบนี้ก่อนว่า กีฬาเอเชียนเกมส์แข่งขันกันครั้งแรกในปี 1951 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และครั้งต่อไปก็จัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1954 จากนั้นก็กำหนดให้จัดการแข่งขันกันทุก 4 ปี ซึ่งในสองครั้งแรกนั้น ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยยังไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้เลย

จนมาถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 1958 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้สำเร็จ โดยทำไป 1 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง โดยเหรียญเงินที่ได้มานั้นก็มาจากฝีมือการยิงปืนของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ในประเภทปืนสั้นยิงช้า 50 เมตรบุคคลชาย (Men’s 50 m Pistol) สร้างความภาคภูมิใจให้กับวงการกีฬาไทย ณ ช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก เหรียญรางวัลที่ได้นับเป็นอีกเหรียญประวัติศาสตร์ของทีมชาติไทย

จากนั้นในปีถัดมาก็มีการจัดการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์ หรือซีเกมส์ในปัจจุบันขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ก็เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะนักยิงมือทีมชาติไทย โดยเจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญเงินได้จากการแข่งขันในประเภทปืนสั้นยิงช้าบุคคลชาย เป็นผลงานที่อาจจะไม่เข้าเป้าเท่าไหร่นักเพราะทั้งสื่อมวลชนและเจ้าตัวเองก็ต้องการคว้าเหรียญทองมาครองให้ได้ เป็นความผิดหวังที่ต้องพัฒนากันต่อไป

หลังจาก ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ผ่านการคว้าเหรียญรางวัลในเวทีการแข่งขันระดับภูมิภาคและเอเชียมาแล้ว ฝีมือการยิงปืนของเจ้าตัวนับวันก็ยิ่งเพิ่มพูนและพัฒนาขึ้น จนในที่สุดก็มีโอกาสไปเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 1960 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยเจ้าตัวยิงได้ 515 คะแนน ได้อันดับที่ 45 จากนักกีฬาทั้งหมด 66 คน โดยในระหว่างทำการแข่งขันอยู่ที่ประเทศอิตาลีนั้น ท่านอมร ได้เขียนจดหมายส่งมาถึงภรรยาคู่ชีวิตเล่าถึงการแข่งขันว่า

“ยากที่จะชนะนักกีฬายุโรปที่เขานิยมกีฬายิงปืนกันมาก มีความชำนาญการใช้ปืนมากกว่าชาวเอเชีย การที่สามารถเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันได้ก็ถือว่ายากแล้ว ปัญหาอุปสรรคอีกอย่างเป็นเพราะการจัดสนามซ้อมยิงของเจ้าภาพที่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือให้เวลาซ้อมน้อยและเป็นช่วงบ่ายที่ลมแรงจึงยิงหวังผลได้น้อย”

(อ้างอิงจากหนังสือตำนานมือปราบนักแม่นปืน พล.ต.ต. อมร ยุกตะนันทน์)

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในครั้งนั้นก็ทำให้ฝีไม้ลายมือของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก การที่เจ้าตัวผ่านเวทีการแข่งขันมาแล้วในทุกระดับก็ทำให้มีประสบการณ์และสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

และสิ่งเหล่านี้ก็มาออกดอกออกผลในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 2 ปี 1961 ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยชื่อของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ไปอยู่บนจุดสูงสุดของโพเดียม เมื่อสามารถคว้าเหรียญทองได้สำเร็จจากการแข่งขันยิงปืนประเภทปืนสั้นยิงช้า บุคคลชาย เป็นการชนะเลิศในระดับนานาชาติในรายการอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ อีกด้วย

จากนั้นในปี 1964 ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ได้กลับไปกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 18 ซึ่งนี่คือการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครั้งที่ 2 ของเจ้าตัว

ในครั้งนี้ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ทำผลงานได้ 509 คะแนน จบการแข่งขันในอันดับที่ 44 จากนักกีฬาทั้งหมด 52 คน ซึ่งก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่า เวทีการแข่งขันระดับโลกนั้น ยังเป็นอะไรที่นักกีฬาทีมชาติไทยยากจะประสบความสำเร็จได้ในยุคนั้น

ปีถัดมาในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 3 ปี 1965 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ‘อมร ยุกตะนันทน์’ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับทีมชาติไทยอีกครั้ง แม้ในการแข่งขันยิงปืนประเภทปืนสั้นยิงช้าบุคคลชายเจ้าตัวจะทำได้เพียงเหรียญเงิน ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยพ่ายให้กับเพื่อนร่วมทีมชาติอย่าง ‘ไพฑูรย์ สมุทรานนท์’ แต่ในการแข่งขันประเภททีมนั้น ‘อมร ยุกตะนันทน์’ คือกำลังสำคัญที่พาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองไปครองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ และเป็นการคว้าเหรียญทองกีฬาเซียพเกมส์เป็นครั้งที่ 2 ของเจ้าตัว

ความร้อนแรงของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ และทีมยิงปืนทีมชาติไทยที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์ 1965 ที่ผ่านมา ก็ส่งต่อมาถึงการแข่งขันกีฬาในเวทีที่ยิ่งใหญ่อย่างเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี 1966 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยเจ้าตัวคว้าเหรียญเงินร่วมกับเพื่อนร่วมทีมชาติได้สำเร็จจากการแข่งขันยิงปืนประเภทปืนสั้นยิงช้า 50 เมตรทีมชาย (Men’s Team 50 m Pistol) โดยเหรียญทองตกเป็นของทีมชาติเกาหลีใต้ ขณะที่ในประเภทบุคคล ‘อมร ยุกตะนันทน์’ จบการแข่งขันเป็นอันดับที่ 4 ชวดเหรียญรางวัลไปแบบน่าเจ็บใจ

แม้ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ จะพลาดคว้าเหรียญรางวัลประเภทบุคคลในกีฬาเอเชียนเกมส์ 1966 แต่ในปีถัดมา เจ้าตัวก็สร้างชื่อเสียงให้กับทีมยิงปืนทีมชาติไทยอีกครั้ง เมื่อคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันยิงปืนชิงแชมป์เอเชีย (Asian Shooting Championships) ครั้งที่ 1 ปี 1967 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นมาครองได้สำเร็จ และในปีเดียวกันนั้นเอง ‘อมร ยุกตะนันทน์’ ก็ร่วมกับเพื่อนร่วมทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาเซียพเกมส์ ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร ประเภททีมปืนสั้นยิงช้าได้สำเร็จ เป็นการป้องกันแชมป์ในประเภทนี้เอาไว้ได้อีกสมัย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในการแข่งขันประเภทบุคคล เจ้าตัวทำได้เพียงเหรียญทองแดงเท่านั้น

ปี 1968 ‘อมร ยุกตะนันทน์’ สร้างสถิติเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 3 ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 19 ปี 1968 ณ กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งในเรื่องของผลงานการแข่งขันนั้นก็อาจทำได้ไม่ดีเหมือนกาลก่อน โดยได้อันดับที่ 64 จากนักกีฬาทั้งหมด 69 คน แต่ก็ถือว่าเป็นเกียรติประวัติที่ต้องบันทึกไว้ครับ เพราะรายการโอลิมปิกเกมส์นั้น แค่ได้ไปเข้าร่วมการแข่งขันก็นับว่ายากแล้ว แต่สำหรับ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ เจ้าตัวมีโอกาสผ่านการคัดเลือกไปร่วมการแข่งขันได้ถึง 3 ครั้ง นับเป็นผลงานที่ไม่ธรรมดา

‘อมร ยุกตะนันทน์’ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนักกีฬาทีมชาติไทยที่ควรได้รับการยกย่อง ผลงานมากมายที่เจ้าตัวได้สร้างเอาไว้ล้วนไม่ธรรมดาครับ การคว้าเหรียญเงินในกีฬาเอเชียนเกมส์ได้เป็นคนแรกของทัพนักกีฬาทีมชาติไทย การได้เหรียญทองแดงในการแข่งขันยิงปืนชิงแชมป์เอเชีย การคว้าเหรียญทองในกีฬาเซียพเกมส์ และการเข้าร่วมร่วมโอลิมปิกเกมส์ 3 สมัย เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยของชายที่ชื่อ ‘อมร ยุกตะนันทน์’

“ผมแก่มากแล้ว และเลิกราจากวงการยิงปืนไปนาน แต่สยามกีฬานึกถึงและมอบรางวัลนี้ให้ก็ดีใจ อย่างน้อยยังมีคนเห็นคุณค่าจากการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติของผม นอกเหนือจากหน้าที่ในการรับราชการ และที่สำคัญ คือ ผมภูมิใจมากที่เกิดมาชีวิตหนึ่งได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ”

‘อมร ยุกตะนันทน์’ กล่าวหลังจากที่ท่านได้รับรางวัลนักกีฬาเกียรติยศ หรือ Hall of Fame ในงาน สยามกีฬาอะวอร์ด ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2011 (พ.ศ. 2554) นับเป็นการปิดฉากชีวิตความเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยที่สมบูรณ์แบบของเจ้าตัว

ครับ และนี่คือเรื่องราวของ ‘อมร ยุกตะนันทน์’ มือปราบนครบาลที่สามารถคลี่คลายคดีดังได้มากมายหลายคดีและอีกหน้าหนึ่งที่เจ้าตัวคือนักยิงปืนทีมชาติไทยที่สร้างผลงานและประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาไทยเอาไว้มากมาย อีกหนึ่งบุคคลที่เราอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังและระลึกถึงผลงานของเจ้าตัวครับ

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง - เต้นคุง (The Sportory) แฟนพันธุ์แท้ฮีโร่เอเชียนเกมส์ 

ภาพ: อมร ยุกตะนันทน์ จากหนังสือ ตำนานมือปราบนักแม่นปืน พล.ต.ต. อมร ยุกตะนันทน์

อ้างอิง:

ชาติชาย มุกสง, เรียบเรียง. ตำนานมือปราบนักแม่นปืน พล.ต.ต. อมร ยุกตะนันทน์. นนทบุรี: มีดี กราฟฟิค, 2559.