‘ท้าวทองกีบม้า’ หญิงแกร่งแห่งกรุงศรี ชีวิตสูงสุดสู่สามัญ จากเมียขุนนาง สู่ ‘สาวใช้’ ในวัง

‘ท้าวทองกีบม้า’ หญิงแกร่งแห่งกรุงศรี ชีวิตสูงสุดสู่สามัญ จากเมียขุนนาง สู่ ‘สาวใช้’ ในวัง

‘ท้าวทองกีบม้า’ หรือ ‘มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า’ ภรรยาของ ‘เจ้าพระยาวิไชเยนทร์’ หรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ เคยใช้ชีวิตอย่างหรูหรา กระทั่งการเมืองเปลี่ยนแปลง จากเมียขุนนาง กลายมาเป็น ‘สาวใช้’ ในวัง

  • ‘มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า’ หรือ ‘ท้าวทองกีบม้า’ เคยมีชีวิตที่หรูหราในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลับกลายเป็นสถานะ ‘สาวรับใช้’ ในวัง
  • ภายหลังคอนสแตนติน ฟอลคอน สามีของเธอถูกประหาร ท้าวทองกีบม้า ต้องเดินหน้าเรียกร้องสิ่งที่เธอต้องการ

อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานี้กระแสสังคมคอละครทั่วเมืองไทย คงกำลังติดตามละครแนวย้อนยุคชื่อดังเรื่อง ‘พรหมลิขิต’ บทประพันธ์ของ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา หรือ ‘รอมแพง’ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ ‘ออเจ้า’ มาแล้วในละครภาคแรกเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ โดยเล่าเรื่องราวย้อนกลับสู่ยุค ‘วันชื่นคืนสุข’ ของสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่กำลังเติบโตจากการค้าขายกับนานาชาตินับเป็นหนึ่งในยุคทองของอยุธยา และด้วยการเป็นเมืองท่านานาชาติของภูมิภาค อยุธยาจึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของชาวต่างชาติมากหน้าหลายภาษา อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวหญิงสาวต่างชาติที่ชื่อว่า ‘โดญ่า มารี เด ปินา’ หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ ‘ท้าวทองกีบม้า’ 

แต่จริง ๆ แล้วเรื่องราวชีวิตของเธอมีมากกว่านั้น เมื่อต้องไปพัวพันกับเรื่องราวทางการเมืองของราชสำนักอยุธยาในฐานะภรรยาของ ‘เจ้าพระยาวิไชเยนทร์’ หรือที่เรารู้จักในชื่อ ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ และนี่จึงทำให้ชะตาชีวิตของเธอกลายเป็นเรื่องราวที่มากกว่าเรื่องขนมหวานนั้นเอง

‘โดญ่า มารี เด ปินา’ หรือ ‘มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า’ และ ‘แคทเทอรีน เดอ ทอร์ควิมา’ นี่คือชื่อเรียกของนางฟอลคอน หรือ ‘ท้าวทองกีบม้า’ ตามที่ชาวไทยทราบกันดี ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะเรียกเธอว่า ‘โดญ่า มารี เด ปินา’ ซึ่งตัวตนเธอถูกค้นพบจากหลักฐานเอกสารของชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาสยาม ในฐานะที่เธอเป็นภรรยาของคอนสแตนติน ฟอลคอน

โดยคาดว่าเจ้าหล่อนน่าจะเป็นลูกครึ่งระหว่างโปรตุเกส ญี่ปุ่น และเบงกอล เพราะว่าพ่อของเธอนั้นที่ชื่อนายฟานิก เป็นลูกครึ่งระหว่างชาวเบงกอลกับญี่ปุ่น ขณะที่นางอุสุลา ยามาดะ แม่ของโดญ่า มารี เด ปินานั้นเป็นลูกผสมระหว่างชาวโปรตุเกสกับญี่ปุ่น คาดว่าคนญี่ปุ่นกลุ่มนี้น่าจะย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่สยาม ในช่วงที่ ‘โชกุน ฮิเดะโยชิ’ ดำเนินนโยบายปราบปรามคนนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่นับถือคริสต์ต้องระหกระเหินมาในดินแดนทะเลใต้หรืออยุธยา

ทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกลุ่มอื่นที่เป็นพวกโรนินเข้ามารับราชการนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร บางส่วนชาวญี่ปุ่นที่รับราชการเป็น ‘ออกญาเสนาภิมุข’ เช่น ‘ยามาดะ นางามาซะ’ ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในอยุธยาในฐานะ ‘หัวหน้าหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น’ ด้วย

คนญี่ปุ่นเหล่านี้รวมถึงโดญ่า มารี เด ปินา ก็คาดว่าน่าพำนักอาศัยอยู่ในบริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น (ปัจจุบันจัดพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น) ซึ่งฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้านญี่ปุ่นก็เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโปรตุเกส ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของซากอาคารที่คาดว่าเคยเป็นโบสถ์ของชุมชน นี่ก็น่าจะสะดวกต่อครอบครัวของโดญ่า มารี เด ปินาในการปฏิบัติศาสนกิจ ในฐานะชาวคริตส์คาทอลิก

อย่างไรก็ตาม การติดต่อระหว่างสองชุมชนของครอบครัวเธอ คงทำให้ไม่นาน ชายหนุ่มชาวกรีกผู้มาแสวงโชคในดินแดนอุษาคเนย์ในฐานะพนักงานบริษัทการค้าของอังกฤษ และมาดำรงตำแหน่งงานในท้องพระคลังอยุธยาอย่างนายคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็ได้พบรักกับเธอ

ฟอลคอน ถือเป็นขุนนางชาวต่างชาติผู้ใกล้ชิดพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งเชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาได้อย่างหลากหลายอันรวมถึงภาษาโปรตุเกสด้วย คงส่งผลทำให้ในเวลาต่อมาทั้งโดญ่า มารี เด ปินา กับคอนสแตนติน ฟอลคอน ได้เข้าสมรสกันในปี พ.ศ.2225 (1682)และฟอลคอนยังเปลี่ยนนิกายศาสนามาเป็นคาทอลิกตามภรรยาของตน ในบันทึกฝรั่งเศสกล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์และขุนนางผู้ใหญ่ต่างร่วมแสดงความยินดี พร้อมทั้งส่งของขวัญให้กับคู่สมรสเป็นจำนวนมาก

ภายหลังจากการแต่งงานและเปลี่ยนนิกายของฟอลคอน งานราชการในราชสำนักของเขาก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเพียงระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยในหนังสือ Adventurers in Siam in the Seventeenth Century ระบุถ้อยความของนายบูดร เดส์ลัน อธิบายถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของฟอลคอนไว้น่าสนใจว่า

“เขา(ฟอลคอน)ทำธุรกิจมากกว่าพ่อค้าทั้งหมดรวมกัน เขาได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน(สมเด็จพระนารายณ์)ถึงวันละสองครั้ง…ซึ่งสนพระทัยที่จะทรงเอาตัวเขาไว้ถึง 2-3 ชั่วโมง”

ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่าการเปลี่ยนศาสนาของฟอลคอน ทำให้เขาเป็นที่โปรดปราน และเป็นเครื่องมืออันวิเศษในการให้ประชาคมชาวคริสต์เตียนในอยุธยาสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ ท่ามกลางการเมืองที่มีปรปักษ์รายล้อม

ช่วงที่บทบาทของสามีกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในกรุงศรี บทบาทของนางฟอลคอน หรือโดญ่า มารี เด ปินา ก็พุ่งแรงไม่แพ้สามีในฐานะสตรีชั้นสูง เริ่มมีบทบาทในการสนับสนุนการเผยแพร่คริสต์ศาสนา โดยให้เด็กชาวพื้นเมืองสยามที่ส่วนใหญ่มีบิดาเป็นชาวตะวันตก(ลูกครึ่ง)แต่ถูกทอดทิ้ง ไม่น้อยกว่า 120 คน มาร่ำเรียนนับถือคริสต์ศาสนา

เมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตก็ยังมอบทุนทรัพย์สนับสนุนให้สามารถตั้งเนื้อตัวได้ อีกทั้งเธอยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสามี ในการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อสอนวิทยาการความรู้แบบชาวตะวันตกพร้อมกับสอนศาสนา ซึ่งคาดว่ามีคนเรียนอยู่ 700 คน

อีกทั้งโดญ่า มารี เด ปินา ยังมีบทบาทสำคัญในการผสมผสานความเป็นตะวันตกกับตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน โดยบันทึกตอนหนึ่งของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ บันทึกถึงบ้านรับรองของฟอลคอนไว้ว่า “ใช้เตียงนอนแบบจีน พรมของเปอร์เซียน และลับแลจากญี่ปุ่น การจัดที่พักรับรองดูภูมิฐาน เครื่องเรือนใหม่เอี่ยม ซึ่งคิดไม่ถึงว่าจะพบในดินแดนที่ราษฎรเดินด้วยเท้าเปล่า” ทั้งยังบันทึกถึงอาหารรับแขกที่โดญ่า มารี เด ปินา ทำให้รับประทานมีทั้งอาหารญี่ปุ่น และอาหารโปรตุเกส นี่นับเป็นงานแม่บ้านในระดับหรูหราของชาวกรุงศรีอยุธยาที่คงเป็นรองแค่อาหารชาววังเท่านั้น และคงพอทำให้มองเห็นชีวิตของเธอในฐานะภรรยาของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ได้เป็นอย่างดี

แต่ชีวิตที่หรูหราในฐานะภรรยาขุนนางที่อิทธิพลลำต้น ๆ ของราชสำนักอยุธยา ดูเหมือนจะไม่จีรังยั่งยืนนัก เมื่อเข้าสู่ปลายแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์การเมืองภายในอยุธยาถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มการเมือง

กลุ่มแรกคือกลุ่มขุนนางเก่ามีบทบาทในแผ่นดินพระนารายณ์นำโดยพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) ที่กำลังถูกลดบทบาททางการเมืองจากกลุ่มฟอลคอน กลุ่มสองคือขุนนางใหม่ที่เริ่มมีบทบาททางการเมือง ซึ่งคาดว่ามีพระปีย์หรือไม่ก็เจ้าฟ้าอภัยทศสนับสนุน และกลุ่มที่ 3 คือกองกำลังฝรั่งเศสที่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ และสมเด็จพระนารายณ์ พยายามเชื้อเชิญให้มาประจำการที่ป้อมบางกอก

ขณะเดียวกัน การดำเนินงานทางการเมืองของพระนารายณ์กับฟอนคอล เริ่มสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเรื่องของการเก็บภาษี ทั้งการเกณฑ์แรงงานยังกระทบต่อกลุ่มพระสงฆ์ในศาสนาพุทธด้วย ทำให้ในเวลาต่อมากระแสต่อต้านเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด แผนการรัฐประหารเพื่อขจัดกลุ่มฟอลคอน และพระนารายณ์จึงเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2231(1688)

โดยแน่นอนว่า คนที่โดนจัดการคนแรกคงไม่พ้น ‘เจ้าพระยาวิไชเยนทร์’ หรือฟอลคอน ซึ่งถูกจับกุมและประหารชีวิตที่บ้านพักในเมืองละโว้ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 (1688) ส่วนสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตด้วยอาการประชวรในวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

ขณะที่พระโอรสอย่างพระปีย์ และกลุ่มเจ้าฟ้าอภัยทศก็ถูกขจัดจนสิ้นเสี้ยนหนาม ส่วนโดญ่า มารี เด ปินา ภายหลังการสูญเสียฟอลคอน เธอถูกจับขังเอาไว้ในบ้านพักที่กรุงละโว้ รังรักของเธอกับสามี

ภายหลังการตายของคอนสแตนติน ฟอลคอน ดูเหมือนว่าโดญ่า มารี เด ปินา หรือนางฟอลคอน ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หนังสืออยุธยา: Discovering Ayutthaya ระบุว่า หลวงสรศักดิ์ โอรสในสมเด็จพระเพทราชา (ผู้ยึดอำนาจ) พยายามจะนำตัวเธอมาเป็นอนุภรรยา พร้อมกับริบทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของครอบครัวฟอลคอน

ขณะที่บันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ กล่าวถึงการถูกคุมขังในโรงม้าของโดญ่า มารี เด ปินาว่า “สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น” ขณะที่ยังมีจดหมายฉบับที่เขียนโดยโดญ่า มารี เด ปินาเอง ได้เผยชีวิตในคุกว่า

“หากแต่วันนี้ คนที่เคยถูกเรียกขานกันว่าเป็นมารดาของเหล่ามิชชันนารี กำลังทุกข์ยากลำเค็ญอยู่ในคุกหลวง หล่อนต้องทนเจ็บปวดทรมาน ต้องเผชิญกับอันตรายนานัปการ ทั้งหล่อนต้องอยู่ในคุกมืดอับที่แทบไม่มีแสงสว่างเล็ดลอดเข้ามาได้เลย หล่อนไม่ได้อาศัยอยู่ในที่หรูหราอีกต่อไปแล้ว ต้องนอนกับพื้นดิน บนความอับชื้น และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะต่อสุขภาพของหล่อนสักเท่าใดนัก”

เมื่อชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเหมือนถูกโลกทั้งใบกลืนกิน ไม่นานเธอก็ตัดสินใจหนีไปอยู่กับกองทหารฝรั่งเศสที่บางกอก นำโดยนายพลเดส์ ฟาร์ช เพื่อหวังจะหนีไปฝรั่งเศส แต่ทว่าฝ่ายฝรั่งเศสเกรงว่าการมาของนางมารี เด ปินา อาจทำให้พวกคนที่เข้ารีตคริสต์อาจถูกลงโทษ และอาจทำให้ฝรั่สเศสเสียผลประโยชน์จากการทำการค้าด้วย จึงได้เจรจาพาทีกับออกญาโกษาธิบดี (โกษาปาน) ตัวแทนฝ่ายราชสำนักอยุธยาว่า ขอให้นางฟอลคอนผู้นี้สามารถมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เลือกจะอยู่อาศัยได้อิสระ และสมรสใหม่ได้ ทั้งครอบครัวของนางต้องเป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร ฝรั่งเศสจึงส่งตัวเธอกลับไปคืนกับฝ่ายอยุธยา และเร่งเดินทางออกไปจากสยามภายหลังวิกฤตที่ป้อมบางกอก

ชีวิตของโดญ่า มารี เด ปินา เริ่มต้องดิ้นรนอีกครั้งภายหลังการตายของสามี และสูญเสียลูก ๆ อันเป็นที่รักไประหว่างช่วงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงภายในสยาม เธอเริ่มแสวงหาความเป็นธรรมด้วยการถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และ 15 เพื่อจะขอให้บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสจ่ายเงินเลี้ยงชีพให้แก่เธอ เพราะเมื่อตอนฟอลคอน ยังมีลมหายใจ เขาได้ลงทุนลงแรงกับทางบริษัทของฝรั่งเศสเป็นจำนวนเงินมหาศาลเช่นกัน ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบสนองโดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2240 ให้ โดญ่า มารี เด ปินา รับเงินเลี้ยงชีพและผลประโยชน์ต่าง ๆ ได้

ต่อมา ในรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระ หลักฐานการดำรงชีวิตของเธอในฐานะพนักงานห้องเครื่องต้นประกอบอาหารในพระราชวัง ตำแหน่ง ‘ท้าวทองกีบม้า’ ก็ปรากฏอย่างเด่นชัดในบันทึกของมองซิเออร์โชมองต์ โดยเขาอธิบายว่า จากเดิมที่เธอเป็นผู้หญิงสูงศักดิ์ก็ได้มีสถานะกลายเป็น ‘ทาส’ มีหน้าที่จะเก็บผลไม้เสวย ภูษาฉลองพระองค์ดูแลเครื่องทองของหลวง มีพนักงานหญิงในบังคับถึง 2,000 คน

โดยพระเจ้ากรุงสยามไว้ใจเธอมาก เพราะเห็นเป็นชาวคริสเตียน อุปนิสัยของโดญ่า มารี เด ปินา ก็ถูกระบุไว้ในบันถึงของมองซิเออร์โชมองต์เช่นกันว่า

“ข้าพเจ้าได้สังเกตว่ามาดัมคอนซตันซ์คนนี้เปนคนที่ใจคอดีแลอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของสาสนาคริสเตียน แลเปนคนรู้นิสัยใจคอแบบธรรมเนียมแลความคดโกงของคนไทยทุกอย่าง เพราะฉนั้นเมื่อข้าพเจ้าตกอยู่ในที่ลำบากคราวใด ก็ได้เคยให้มาดัมคอนซตันซ์ช่วยเสมอ เพราะเห็นว่าคำแนะนำของเขาล้วนแต่ดีทั้งนั้น เวลานั้นมารดาของมาดัมคอนซตันซ์ยังอายุ 80 ปีเศษ เดิรไม่ได้แล้ว เมื่อข้าพเจ้ามาถึงได้สักปี 1 มารดามาดัมคอนซตันซ์ก็ถึงแก่กรรม”

แม้เราไม่อาจทราบว่าโดญ่า มารี เด ปินา หรือท้าวทองกีบม้า เสียชีวิตในเวลาใด แต่นักประวัติศาสตร์คาดว่าร่างของเธอของคงถูกฝั่งอยู่ในสุสานหมู่บ้านโปรตุเกส ใกล้ ๆ กับศาสนสถานของพระผู้เป็นเจ้านั้นเอง

แต่เรื่องราวของท้าวทองกีบม้ายังคงจะเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงกันต่อไปในฐานะหญิงแกร่งแห่งกรุงศรีฯ ที่ฝ่าฟันวิกฤตการณ์ทางการเมืองของราชสำนักอยุธยา และแปรเปลี่ยนชีวิตของเธอจากสูงสุดคืนสู่สามัญในบั้นปลายชีวิตนั้นเอง

         

เรื่อง: จงเจริญ ขันทอง

ภาพ: (ซ้าย) ภาพวาด คอนสแตนติน ฟอลคอน สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 กับภาพประกอบเนื้อหา ภาพวาดสตรีในสมัยโบราณจากภาพจิตรกรรมฝาผนังใช้เป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น 

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: Discovering Ayutthaya. ตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มูลนิธิ โครงการ. 2561.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง. โตโยต้าประเทศไทย, มูลนิธิ. 2560.

พลับพลึง คงชนะ. หมู่บ้านญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยา. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2550.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561

บันทึกความทรงจำของ บาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน

‘ตาม ‘แม่หญิงการะเกด’ เปิดแผนที่อยุธยาใน ‘จดหมายเหตุลาลูแบร์’’. เว็บไซต์. ศิลปวัฒนธรรม. เผยแพร่ 28 กุมภาพันธ์ 2561. 

ผศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี. นาทีชีวิต ‘ท้าวทองกีบม้า’ หลังพระเพทราชายึดอำนาจ นางหาเลี้ยงชีพ-เอาตัวรอดมาอย่างไร?’. เว็บไซต์. ศิลปวัฒนธรรม. เผยแพร่ 18 ตุลาคม 2566.