‘หานอี้ว์’ เจ้าเมืองปากกล้าถูกลดตำแหน่งไปคุมเมืองเล็ก ทำงานดีจนชาวบ้านบูชาเป็นเทพเจ้า

‘หานอี้ว์’ เจ้าเมืองปากกล้าถูกลดตำแหน่งไปคุมเมืองเล็ก ทำงานดีจนชาวบ้านบูชาเป็นเทพเจ้า

‘หานอี้ว์’ เจ้าเมืองปากกล้าที่ถูกลดตำแหน่งไปคุมเมืองเล็ก แต่กลับทำงานดีจนชาวบ้านบูชาเป็นเทพเจ้า จากนั้นจึงแปรสถานะมาสู่ ‘เจ้าที่’ หลังเสียชีวิต

  • ‘หานอี้ว์’ ข้าราชการที่ผู้คนจดจำกับภาพเรื่องการศึกษา เขาถูกโยกย้ายปรับเปลี่ยนหลายครั้ง กระทั่งมาทำงานเป็นเจ้าเมือง
  • เขาถูกปลดจากตำแหน่งรองเจ้ากรมอาญาไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นช่วงที่ ‘หานอี้ว์’ ถูกยกย่องและนับถือเป็นเจ้าพ่อ และ เจ้าที่ จากชาวเมืองแต้จิ๋วในเวลาต่อมา

จากการศึกษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ หานอี้ว์ จัดเป็นบุคคลสำคัญในอดีตที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนอย่างยาวนานในระดับที่ชาวบ้านบูชาเป็นเทพเจ้า และยังมาเป็นเจ้าที่ในท้องถิ่นอีกด้วย
 

ชีวิตวัยเยาว์

จากการรวบรวมข้อมูลของผศ.ดร. สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ ในบทความ หานอี้ว์: “เจ้าเมือง” “เจ้าพ่อ” “เจ้าที่” บอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับหานอี้ว์ (韓愈 / Han Yu)ไว้ว่า มีชื่อรองว่า ทุ่ยจือ เกิดที่เหอหยังแห่งเหอเน่ยในปีค.ศ. 768 (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559 คืออำเภอเมิ่ง มณฑลเหอหนาน) ในช่วงวัยเด็กของหานอี้ว์ ค่อนข้างยากลำบากเพราะแม่เสียไปตั้งแต่ยังเกิด พออายุได้เพียง 3 ปี พ่อก็ด่วนจากไปอีกคน ทำให้พี่ชายคนโตนามว่า หานฮุ่ย กลายเป็นผู้เลี้ยงดูหานอี้ว์

ต่อมาเมื่อพี่ชายเสียชีวิต เป็นพี่สะใภ้ที่เลี้ยงดูหานอี้ว์ ทำให้ช่วงวัยเด็กของหานอี้ว์ เติบโตมากับหลานผู้เป็นเหมือนน้องชายที่เติบโตมาด้วยกันและภรรยาของพี่ชายที่ดูแลหานอี้ว์ เป็นอย่างดี หานอี้ว์ จึงรักและเคารพบุคคลในครอบครัวพี่ชายคนโตอย่างมาก 

เมื่อเติบโตขึ้น หานอี้ว์ เป็นคนขยันหมั่นเพียรและมีปัญญาดีเลิศ มีคำเล่าขานว่า แต่ละวันเขาสามารถจดจำข้อความในหนังสือได้เป็นหลักพันประโยค อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงช่วงสอบเข้าราชการและชีวิตในราชสำนักกลับไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่ 

ตัวแทนของความรู้และการศึกษา

หานอี้ว์ เข้าสอบจิ้นซื่อ (การสอบที่ราชสำนักใช้เป็นเกณฑ์ในการรับคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ) ถึง 4 ครั้งจึงจะสอบผ่าน จากนั้นได้สมัครสอบเพื่อเข้ารับราชการในกรมขุนนาง พยายามสอบถึง 2 ครั้งแต่ก็สอบไม่ผ่านเสียที จึงตัดสินใจไปทำงานกับเสนาบดีฝ่ายการทหารในตำแหน่งเจ้าพนักงานสอบสวนคดีประจำกรมทหาร 

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 802 หานอี้ว์ มีอายุ 35 ปี จึงได้รับราชการตำแหน่งอาจารย์ประจำราชวิทยาลัยที่มียศตำแหน่งระดับ 7 ถือว่าไม่ใช่ยศที่ใหญ่โตนัก และชีวิตการทำงานของหานอี้ว์ ยังถูกโยกย้ายปรับเปลี่ยนหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งงานของหานอี้ว์ วนเวียนอยู่กับตำแหน่งด้านการศึกษา ทำให้ภาพลักษณ์ของหานอี้ว์ ในสายตาของผู้คนในยุคนั้นหนีไม่พ้นเป็นตัวแทนของความรู้และการศึกษา 

หานอี้ว์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในวงการการศึกษา ในขณะที่เข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำราชวิทยาลัยซื่อเหมิน ด้วยความที่เป็นคนเปิดกว้าง พร้อมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนและอาจารย์ท่านอื่น หานอี้ว์ ยอมรับการเรียนรู้จากผู้อื่นทุกครั้งที่มีโอกาส พร้อมแสดงความชื่นชมต่อผู้รู้ และมีลักษณะความเป็นครูที่ดี 

ในสมัยที่หานอี้ว์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการราชวิทยาลัย ได้ใช้วีธีเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการให้หมุนเวียนขึ้นมาเป็นครูสอนหน้าชั้น ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบและพอใจของเหล่านักศึกษาอย่างมาก 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของหานอี้ว์ คือเป็นผู้นำในขบวนการฟื้นฟูรูปแบบการเขียนร้อยแก้วโบราณอีกด้วย ซึ่งทำให้หานอี้ว์ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านวรรณศิลป์ของยุคนั้น เพราะนอกจากจะเป็นผู้นำขบวนฟื้นฟูงานเขียนแล้ว ผลงานด้านการประพันธ์กวีโบราณไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เขาไม่เป็นสองรองใคร 

ผลงานของหานอี้ว์ จำนวนหนึ่งได้รับการคัดสรรรวมไว้ในหนังสือ 300 บทกวีสมัยถัง ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพงานเขียนของเขาว่า โดดเด่นไม่แพ้ใครในสมัยราชวงศ์ถัง 

แต่แล้วเมื่อหานอี้ว์ อายุได้ 52 ปี เวลานั้นเขาต้องเผชิญมรสุมทางการเมือง ถูกปลดจากตำแหน่งรองเจ้ากรมอาญาไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นเมืองที่หานอี้ว์ ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญ สร้างคุณูปการมากมายหลายอย่างในเมืองจนทำให้ชาวเมืองต่างเคารพรักหานอี้ว์ ทำให้นอกจากจะเป็นเจ้าเมืองแล้ว หานอี้ว์ ยังถูกยกย่องและนับถือเป็น เจ้าพ่อ และ เจ้าที่ จากชาวเมืองแต้จิ๋วในเวลาต่อมาอีกด้วย

 

หานอี้ว์ในฐานะเจ้าเมืองผู้มอบการศึกษาให้ชาวเมืองแต้จิ๋ว

หานอี้ว์มาประจำอยู่ ณ เมืองแต้จิ๋วในระยะสั้น ๆ เพียง 7 เดือนเศษ แต่เมืองแต้จิ๋วในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญมากอย่างมาก สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นทิวเขาปกคลุมด้วยป่าดงดิบ ส่วนอีกด้านคือท้องทะเล การเดินทางเข้าออกจึงเป็นเรื่องยากลำบาก ยิ่งกว่านั้น สภาพอากาศก็ย่ำแย่เพราะอยู่ในเขตร้อนเป็นที่อยู่ของเหล่าสัตว์มีพิษมากมาย ทำให้เมืองแต้จิ๋วไม่ต่างอะไรกับ ‘คุกเปิด’ ที่ใช้จองจำลงโทษเหล่าบรรดาขุนนางที่ทำผิด

ช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองแต้จิ๋ว หานอี้ว์ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงเมืองแต้จิ๋วให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาการศึกษา เริ่มจากการส่งเทียบเชิญปราชญ์ท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ถ่ายทอดวิชาแก่ลูกหลานชาวเมืองแต้จิ๋ว เพราะเล็งเห็นว่าการศึกษาของเมืองนี้ตกต่ำ เสื่อมถอยมานานมากแล้ว 

เห็นได้ว่า หานอี้ว์ เอาใจใส่ทุ่มเทในด้านการศึกษาเป็นพิเศษ เพราะเขาเคยเป็นอาจารย์ประจำราชวิทยาลัยมาก่อน ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา จึงเข้าไปช่วยให้ชาวเมืองจำนวนมากมีโอกาสสอบเข้ารับราชการ

ผลของการพัฒนาการศึกษาโดยหานอี้ว์ ปรากฏชัดเมื่อมีการสอบเข้ารับราชการในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ช่วงปีค.ศ. 1241 – 1252 ซี่งมีชาวเมืองแต้จิ๋วเข้าร่วมสอบเป็นจำนวนมาก คิดเป็นอัตราส่วนของผู้เข้าสอบเทียบกับประชากรรวมเท่ากับ 1 : 14 และจากเดิมที่เคยมีผู้เข้าสอบได้ขั้นจิ้นซื่อเพียงแค่ 3 คน กลับเพิ่มขึ้นถึง 172 คน ซึ่งส่วนหนึ่งย่อมมองได้ว่าเป็นอิทธิพลจากหานอี้ว์ ไม่มากก็น้อย

 

สร้างตำนานเจ้าเมืองผู้ขับไล่จระเข้แห่งแม่น้ำเอ้อซี 

หานอี้ว์ ถือเรื่องการดำรงชีพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญอับดับต้น ๆ จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หนึ่งในวิธีการที่หานอี้ว์ทำคือการเซ่นสรวงเทพยดาอารักษ์ให้ช่วยปกปักรักษาชาวเมือง ทำให้เหล่าประชาชนแต้จิ๋วเห็นความตั้งใจ ความจริงใจ และความเอาใจใส่ของเจ้าเมืองคนนี้อย่างมาก 

เนื่องจากหานอี้ว์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองแต้จิ๋วเพียงแค่ 7 เดือนเศษเท่านั้น แต่กลับตั้งใจทำคุณงามความดีแก่เมืองมากมาย รวมถึงการประกอบพิธีเซ่นสรวงเทพยดาอารักษ์มากถึง  5 ครั้ง 

นอกจากนี้หานอี้ว์ ยังมีผลงานระดับตำนานที่ทำให้ชื่อของเขาโด่งดังและถูกเล่าขานในนามของ เจ้าเมืองผู้ปราบจระเข้แห่งแม่น้ำเอ้อซี 

เรื่องราวมีอยู่ว่าเมื่อครั้งหานอี้ว์ เดินทางมาถึงเมืองแต้จิ๋ว สิ่งแรกที่เขาทำคือสอบถามชาวบ้านถึงปัญหาหลัก ๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ชาวบ้านทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาร้ายแรงอับดับหนึ่งที่ควรแก้ปัญหาคือ เหล่าจระเข้ในแม่น้ำเอ้อซีที่กัดกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านไปหมดทำให้ประชาชนยากจนข้นแค้นอย่างมาก 

หานอี้ว์ จึงไม่รอช้า เขาใช้วิธีการบวงสรวงในการปราบเหล่าจระเข้ โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่นำแพะและหมูโยนลงไปในแม่น้ำเอ้อซี พร้อมกับประกาศกร้าวต่อสัตว์ร้ายว่า ให้เวลา 7 วัน ให้นำลูกหลานเครือญาติเดินทางออกสู่ทะเลทางทิศใต้ หากยังไม่ออกปากอ่าวลงสู่ทะเล นั่นหมายความว่าดูหมิ่นตำแหน่งเจ้าเมือง จะให้ขุนนางและประชาชนผู้มีฝีมือยิงธนูมาระดมยิงให้หมดสิ้น ถึงตอนนั้นแล้วอย่ามาเสียใจ 

ตำนานปาฏิหาริย์การขับไล่จระเข้ในแม่น้ำเอ้อซีส่งผลให้หานอี้ว์ กลายเป็นเจ้าเมืองที่เป็นที่รักของประชาชนชาวแต้จิ๋วอย่างมาก ไม่ว่าจระเข้ในแม่น้ำเอ้อซีจะหมดไปหรือไม่ก็ตาม ก็คงไม่สำคัญเท่าความรัก ความเอาใจใส่ และความเข้าใจที่หานอี้ว์มีให้แก่ผู้คนในเมืองแต้จิ๋ว 


จากเจ้าเมืองสู่ศาลเจ้า

เมื่อหานอี้ว์ เสียชีวิตลงในปีศ.ศ. 824 ด้วยวัย 57 ปี กระแสการบูชาหานอี้ว์ในฐานะเทพเจ้าก็เริ่มขึ้น ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือในค.ศ. 999 มีเจ้าเมืองแห่งแต้จิ๋วนามว่า เฉินเหยาจั่ว สร้างศาลเจ้าหานอี้ว์ ขึ้นเป็นศาลแรกเพื่อให้ชาวแต้จิ๋วได้ตระหนักถึงคุณงามความดีที่หานอี้ว์ มอบให้แก่ชาวเมืองแต้จิ๋ว ทั้งด้านการศึกษาและการเป็นผู้ปกครองที่ดูแลเอาใจใส่ประชาชน

นอกจากศาลเจ้าที่เมืองแต้จิ๋วแล้ว ในเวลาต่อมา ชาวจีนแคะที่อพยพจากเมืองแต้จิ๋วไปยังเกาะไต้หวันได้สร้างศาลเจ้าหานอี้ว์ในไต้หวันเพื่อกราบไหว้บูชาด้วยเช่นกัน ทำให้หานอี้ว์ได้รับการบูชาในฐานะเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งมีบุญคุณต่อชาวแต้จิ๋วในอดีตโดยเฉพาะด้านการศึกษา หานอี้ว์ จึงกลายเป็นเทพเจ้าที่มีหน้าที่ดูแลด้านการศึกษาของชาวจีนท้องถิ่นองค์หนึ่งไปโดยปริยาย

ผู้คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่บูชาหานอี้ว์ ในฐานะ “เจ้าพ่อ” ที่ประทานพรด้านการศึกษา แต่นอกจากนั้นแล้ว บทบาทของหานอี้ว์ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ตำแหน่งต่าง ๆ ในหน้าที่การงาน รวมไปถึงบทบาททางสังคมก็ส่งผลให้ได้รับยกย่องบูชาในฐานะ “เจ้าที่” จากหลายหน่วยงานของราชสำนักหมิงจนถึงราชวงศ์ชิง แม้ในท้ายที่สุดการบูชาหานอี้ว์ ในฐานะเจ้าที่สิ้นสุดเมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลายก็ตาม 

ถึงแม้จะเป็นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่หานอี้ว์ ได้นำความรู้และความเจริญมาให้แก่เมืองแต้จิ๋ว เมืองที่ใคร ๆ ตีตราว่าเป็นเสมือนคุกที่เอาไว้จองจำเหล่าขุนนาง แต่หานอี้ว์ กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้านการศึกษา พัฒนาทั้งเมืองและผู้คน ส่งผลให้เมื่อยามมีชีวิตอยู่ประชนชนต่างเคารพรักนับถือเขาในฐานะ “เจ้าเมือง” แต่ครั้งเมื่อตายจาก ผู้คนก็ยังไม่ลืมเลือน บูชาหานอี้ว์ ในฐานะ “เจ้าพ่อ” ที่ยังคงบูชาอยู่จนถึงปัจจุบัน 

แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่มนุษย์ยังให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและผู้ประกอบคุณงามความดี นำคุณภาพชีวิตที่ดีมาให้ การบูชาหานอี้ว์ในฐานะ “เจ้าพ่อ” เทพผู้ประทานพรด้านการศึกษาก็ยังคงอยู่ต่อไป 

 

เรื่อง: อารดา แทนศิริ The People Junior

ภาพ: ภาพวาด Han Yu จากหนังสือ Wan hsiao tang-Chu chuang -Hua chuan พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1921 ไฟล์ public domain

อ้างอิง:

สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์. “หานอี้ว์: ‘เจ้าเมือง’ ‘เจ้าพ่อ’ ‘เจ้าที่’” ใน, เหตุเกิดในราชวงศ์ถัง. นนทบุรี: ชวนอ่าน, 2559.