‘ทวี บุณยเกตุ’ เป็นนายกฯ 17 วัน สั้นที่สุดของไทย มีผลงานเปลี่ยนชื่อประเทศ กลับไปเป็น ‘สยาม’

‘ทวี บุณยเกตุ’ เป็นนายกฯ 17 วัน สั้นที่สุดของไทย มีผลงานเปลี่ยนชื่อประเทศ กลับไปเป็น ‘สยาม’

‘ทวี บุณยเกตุ’ นายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งเพียง 17 วัน สั้นที่สุดของไทย พร้อมควบเป็นรัฐมนตรีอีก 4 กระทรวง แต่ยังมีผลงานเด่นคือเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ไทย’ กลับไปเป็น ‘สยาม’

  • ‘ทวี บุณยเกตุ’ นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่ง 17 วัน เป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุดของไทย 
  • ‘ทวี บุณยเกตุ’ มีบทบาทหลากหลาย ตั้งแต่เป็นสมาชิกคณะราษฎร อดีตขบวนการเสรีไทย และประธานสภายกร่างรัฐธรรมนูญ 2511 
  • ผลงานในช่วงเป็นนายกฯ ที่สำคัญคือ เปลี่ยนชื่อประเทศไทย กลับไปเป็น ‘สยาม’

นายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งระยะเวลาสั้นที่สุดเพียง 17 วัน แต่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีมากที่สุดถึง 4 กระทรวง, สมาชิก ‘คณะราษฎร’ และเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดจากจำนวน 6 คนจากผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะนี้, เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในการช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงเกียรติประวัติสุดท้ายของชีวิตคือประธานสภายกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511

คุณสมบัติข้างต้นทั้งหมดรวมอยู่ในบุคคลเดียว นามว่า ‘ทวี บุณยเกตุ’ (พ.ศ.2447-2514)

ทวี บุณยเกตุ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2447 ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นบุตรพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) และคุณหญิงทับทิม (สกุลเดิม ศรีเพ็ญ) สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า ‘ทวี’ นั้น เพราะบิดามารดาของท่านแต่งงานในวันทวีธาภิเษก [1]

เริ่มศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี ขณะที่บิดารับราชการเป็นเจ้าเมือง ปี พ.ศ.2456 เนื่องด้วยบิดาได้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการลมณฑลร้อยเอ็ด เด็กชายทวีจึงได้ย้ายมาอยู่ในความดูแลของลุงและป้าในกรุงเทพฯ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ.2457-2460 จึงได้ย้ายเข้าโรงเรียนราชวิทยาลัย จ.นนทบุรี จนจบชั้นมัธยมปีที่ 7

นายทวีเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2464 ที่ Ongar Grammar School (Essex) และ King’s College London และย้ายฟากมาศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2466 ที่ Ecole Superieure d'Agriculture et de Viticulture d'Angers และมาจบปริญญาตรีวิชากสิกรรมจากมหาวิทยาลัย Universitaire de L'Ouest เมื่อ พ.ศ.2471  [2]

เดิมนายทวีคงความตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างรอจดหมายตอบนั้นอยู่ที่กรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน กับ นายประยูร ภมรมนตรี ได้ชวนนายทวีไปกินกาแฟที่ร้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในกรุงปารีส เมื่อเข้าไปในร้านก็พบนายปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) และ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี จึงได้ร่วมวงสนทนาและกินกาแฟกัน เรื่องที่คุยกันก็เป็นเรื่องการเมืองตลอดเวลา ในที่สุด นายทวีก็ถูกชักชวนให้เข้าร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งนายทวีก็รับปากโดยทันทีโดยไม่ต้องตรึกตรองเพราะเคยมีความคิดความตั้งใจมาก่อนเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ [3]

นายทวี บุณยเกตุ เดินทางกลับเมืองไทยในปี พ.ศ.2471 เมื่อได้รับแจ้งจากบิดาว่าไม่อาจส่งเสียให้เรียนต่อไปได้เนื่องด้วยเกษียณอายุและมีรายได้น้อยลง [4] ทำให้ท่านยุติความตั้งใจในการเรียนต่อและเข้ารับราชการเป็นพนักงานบำรุงพันธุ์สัตว์ กระทรวงเกษตราธิการ จนกระทั่งถึงระยะก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายทวีทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการบำรุงพันธุ์สัตว์อยู่ที่อำเภอท่าพระ จ.ขอนแก่น แต่เมื่อสหายผู้ร่วมก่อการส่งสัญญาณไปให้ นายทวีได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน 2475

หลังปฏิวัติ ในปี พ.ศ.2476 นายทวีได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ปลายปีเดียวกันนั้นได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2483

ในช่วงต้นสงครามมหาเอเชียบูรพานายทวียังคงเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ต่อมาได้ลาออกจากราชการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 และได้เข้าร่วมขบวนการใต้ดินตามคำเชื้อเชิญของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี ในนาม ‘เสรีไทย’ โดยได้พุดคุยกันสองต่อสองที่หัวหิน 

ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2486 ถึงแม้สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเลือกให้นายทวีดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ก็ถูกขัดขวางเนื่องจากทางญี่ปุ่นไม่ไว้วางใจเพราะนายทวี มีท่าทีดูจะเป็นมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตร ภายหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องจำลาออกจากตำแหน่งนายรัฐมนตรีจากการแพ้โหวตกฎหมายสำคัญในสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2487 นายทวีจึงได้กลับเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2487 อันนับเป็นปีสุดท้ายของมหาสงครามเอเชียบูรพา 

ในระหว่างที่สงครามใกล้จะเสร็จสิ้น สถานการณ์ภายในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนครมีความตึงเครียดมาก เพราะทหารญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่าไทยจะหักหลัง ก็พอดีประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่สัมพันธมิตรเสียก่อนในเดือนสิงหาคม 2488 และรัฐบาลไทยได้ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488

เมื่อประเทศไทยประกาศสันติภาพแล้ว นายควง อภัยวงศ์ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากนายกรัฐมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อไปแบบ ‘ขัดตาทัพ’ จนกว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และหัวหน้าเสรีไทยนอกประเทศฝ่ายสหรัฐอเมริกาจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนตามที่ได้ตกลงกันไว้

การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหารครั้งนั้น ทำให้นายทวี  ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 และนับว่ามีอายุน้อยที่สุดที่ 40 ปี 9 เดือน 21 วัน ก่อนที่จะถูกลบสถิตินี้ด้วย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งลำดับต่อมาด้วยอายุ 40 ปี 3 เดือน 24 วัน  [5] (จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครลบสถิตินี้)

ครั้งนั้น นายทวี บุณยเกตุ นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอื่นอีก 4 กระทรวงด้วย คือ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงเกษตราธิการ, กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการ นับได้ว่าจำนวนสูงสุดตราบจนทุกวันนี้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดของนายทวีจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 17 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2488 ถึง 16 กันยายน 2488 แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นรัฐบาลที่มีอายุน้อยที่สุด เพราะหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ที่จัดตั้งเพียง 2 วัน ก็ต้องกราบถวายบังคมลาออกเพราะในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต แต่กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายปรีดี ต่อมาก็ยังคงได้ดำเนินการต่อ

รัฐบาล 17 วันของนายทวีได้ประชุมกัน 3 ครั้ง มีเรื่องลงมติรวม 28 เรื่อง เมื่อทราบว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เดินทางโดยเครื่องบินถึงประเทศไทย จึงได้ลาออกตั้งแต่เวลา 13.00 น. ของวันที่ 17 กันยายน 2488

ภายในระยะเวลาสั้น ๆ นี้ หนึ่งในเรื่องที่ถูกจดจำเป็นลำดับต้น ๆ คือเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ไทย’ กลับไปเป็น ‘สยาม’ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2487 (หลังเปลี่ยนจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ เมื่อกลางปี พ.ศ.2482 สมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม) กระนั้นเมื่อจอมพล ป. กลับสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2491 ชื่อสยามก็ต้องแปลงกลับเป็นไทยอีกครั้ง และยังใช้มาถึงทุกวันนี้

นายทวีเขียนเล่าเรื่องอีกหนึ่งวาระสำคัญไว้ว่า ภายหลังสงครามยุติลงแล้ว ทหารอังกฤษและทหารอเมริกันเข้ามาทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย มีเสียงพูดกันในหมู่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรบางคนว่า การที่เขาทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ลงมาให้เสรีไทยในประเทศนั้น จะมีจำนวนพลพรรคเสรีไทยมากเท่ากับอาวุธที่เขาทิ้งลงมาให้หรือไม่ และอาวุธเหล่านั้นจะคงมีอยู่หรือเปล่าก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ บ้างก็สงสัยว่าไทยเราจะตบตาเขามากกว่า 

ดังนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศจึงได้หารือกับนายทวีว่า เพื่อแก้ข้อสงสัยในเรื่องนี้ หากจัดให้มีการสวนสนามบรรดาพลพรรคเสรีไทยในประเทศให้เขาเห็นว่า เรามีพลพรรคจริง ๆ และมีจำนวนมากด้วย และอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เขาส่งมาให้ก็ยังคงมีอยู่ครบถ้วน นายทวีได้มาพิจารณาโดยรอบคอบแล้วเห็นควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อว่าฝ่ายอังกฤษและอเมริกันจะได้เห็นว่าไทยเราได้ทำอะไรไปบ้างภายในประเทศ และได้เสี่ยงภัยแค่ไหนในการฝึกพลพรรคเป็นจำนวนมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่กองทหารญี่ปุ่นมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เพื่ออังกฤษและอเมริกาจะได้เห็นใจและไม่บีบบังคับกันจนเกินไป

ทางรัฐบาลจึงได้ตกลงจัดให้มีการสวนสนามพลพรรคเสรีไทยในประเทศขึ้น โดยสั่งให้หน่วยพลพรรคทุกหน่วยที่ประจำอยู่ทั่วราชอาณาจักรเดินทางมากรุงเทพฯ มาชุมนุมพร้อมกันและให้นำอาวุธทุกชนิดที่มีอยู่ติดตัวมาด้วย (แต่ไม่ให้นำกระสุนมา) แล้วได้กำหนดวันสวนสนามขึ้นโดยเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของฝ่ายอังกฤษและอเมริกาให้มาดูเพื่อให้เห็นด้วยตาของตนเอง 

การสวนสนามได้กระทำที่ถนนราชดำเนิน จากท้องสนามหลวงผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีพลพรรคเข้าร่วมเดินสวนสนามทั้งสิ้นประมาณ 8,000 คน ใช้เวลาเดินสวนสนามประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488 (ชมภาพเคลื่อนไหวในเชิงอรรถ [6])

หลังก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายทวียังคงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ระหว่าง 19 ก.ย.2488-15 ต.ค.2488 และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการสมัยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ระหว่าง 11 มีนาคม 2489-21 สิงหาคม 2489 รวมถึงดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึงปี พ.ศ. 2489 นับเป็นคนที่ 2 ของมหาวิทยาลัย (ต่อจาก พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน)

เมื่อปรีดี พนมยงค์ สิ้นสุดอำนาจลงจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศด้วยภัยรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายทวีต้องพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยเมื่อในปีถัดมาเขาโดนตั้งข้อหาพัวพันกับกบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491 หลังจากได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในวันที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นแล้ว นายทวีจึงตัดสินใจเดินทางไปขอลี้ภัยที่ปีนัง [7] จนอีกเกือบทศวรรษถัดมาเมื่อจอมพล ป. สิ้นสุดอำนาจลงด้วยรัฐประหารของลูกน้องคนสนิทจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 นายทวีจึงเลือกเดินทางกลับคืนสู่มาตุภูมิ และได้รับการทาบทามจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ‘สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ’ อีกทั้งในเวลาต่อมาสภาฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายทวีดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

นายทวีจึงได้ใช้เวลาในช่วงบั้นปลายของชีวิตผลักดันให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และเป็นผู้นำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย กระทั่งนำมาสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 หลังทิ้งช่วงจากปี พ.ศ.2500 ยาวนานถึง 12 ปี

นอกเหนือจากงานภาครัฐ ในบทบาทของภาคเอกชน นายทวี บุณยเกตุ ยังอุทิศชีวิตเบื้องปลายด้วยการสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย และได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย [8]

ด้านชีวิตสมรสและครอบครัว นายทวี ทำการสมรสกับ นางสาวอำภาศรี เทพหัสดิน ณ อยุธยา ธิดาพระยาและคุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์ (ศิริ เทพหัสดินฯ) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2476 มีบุตรธิดาคือ นายวีระวัฒน์ บุณยเกตุ และ นางสาวภัทรฤดี บุณยเกตุ

นักการเมืองเจ้าของสถิติมากมายท่านนี้ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2514 ที่บ้านพักเลขที่ 102 ถนนเศรษฐศิริ สามเสนใน อำเภอพญาไท เมื่อเวลา 23.20 น. ขาดเพียง 7 วันก็จะมีอายุครบ 67 ปีบริบูรณ์ และก่อนที่จะอยู่ได้ทันเห็นรัฐธรรมนูญฉบับร่างมาราธอน พ.ศ.2511 (ใช้เวลาเกือบ 10 ปี! ระหว่าง 6 กุมภาพันธ์ 2502 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2511) ซึ่งท่านเป็นประธานร่างถูกฉีกทิ้งอย่างง่ายดายด้วยการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เพียง 14 วันเท่านั้นเอง

 


เรื่อง: นริศ จรัสจรรยาวงศ์

เชิงอรรถ:

[1] ยืนหยัด ใจสมุทร, ตรัง, พ.ศ.2539, (มติชน), น.96.

[2] คำบรรยายและบทความบางเรื่อง ของ นายทวี บุณยเกตุ คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 8 มีนาคม พ.ศ.2515, (โรงพิมพ์คุรุสภา), น.(1)-(5).

[3] ยืนหยัด ใจสมุทร, ตรัง. พ.ศ.2539, (มติชน), น.100.

[4] ยืนหยัด ใจสมุทร, ตรัง. พ.ศ.2539, (มติชน), น.101.

[5] โปรแกรมคำนวณ วัน เดือน ปี จุดเชื่อมต่อ เว็บไซต์ tl.ac.th

[6] หอภาพยนตร์, การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย (2488) Free Thai Movement Parade At the End of WWII (1945) จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=qLiOfUqBaN0

[7] พีรยา มหากิตติคุณ, “ทวี บุณยเกตุ” เป็นนายกฯ 17 วัน นอกจากเปลี่ยนชื่อประเทศแล้ว ทำอะไรอีกบ้าง? จุดเชื่อมต่อ https://www.silpa-mag.com/history/article_73903

[8] กษิดิศ พรมรัตน์, ทวี บุณยเกตุ: เสรีไทย ผู้ช่วยหมายเลข 1 ของปรีดี พนมยงค์ จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2020/08/366