24 พ.ย. 2566 | 13:30 น.
- แม้ว่าจะดูเสมือนมีราชสกุลสูงศักดิ์ หากแต่ชีวิตของ ‘ครูเทพ’ ก็ต้องพลิกผันเมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรม ทำให้สถานะครอบครัวตกต่ำลง
- การมองว่าทุกอาชีพล้วนมีคุณค่าเพราะต่างเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนประเทศชาตินั้น นับเป็นมุมมองที่ครูเทพซึมซับมาจากการดูงาน และร่ำเรียนในต่างประเทศ
ระบบการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกเป็นรากฐานชีวิตของเด็กและเยาวชน สู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ตามความรับรู้โดยทั่วไปของคนไทยจะทราบเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้ปฏิรูปการศึกษาของสยามประเทศ ที่จากเดิมเรียนตามวัดวาอารามต่าง ๆ มาเป็นรูปแบบของ ‘โรงเรียน’ นับเป็นย่างก้าวแรกของหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาของไทย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังยังมีอีกท่านที่เป็นผู้บุกเบิก และวางรากฐานระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบ ‘อาชีวศึกษา’ จนนำมาสู่การปลุกปั้น ‘โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย’ หรือที่เราทราบชื่อทั่วไปว่า ‘อุเทนถวาย’ ตรงริมถนนพญาไท คือ ‘เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี’ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หรือที่ครูทั้งประเทศไทยจะทราบชื่อนามปากกาท่านว่า ‘ครูเทพ’
ครูเทพเป็นปราชญ์ทางด้านวรรณกรรมแขนงต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการประพันธ์คำร้องเพลงเชียร์ยอดนิยมอย่าง ‘กราวกีฬา’ ที่ยังคงร้องกันอยู่ทุกวันนี้ตามงานกีฬาสี ทั้งยังนับเป็นอีกหนึ่งผู้วางรากฐานระบบการศึกษาของสยามประเทศให้ก้าวหน้า ซึ่งควรอย่างยิ่งที่ชนรุ่นหลังควรสำรวจเส้นทางแห่งความมุ่งหวังที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือครูเทพ เพียรพยายามทำมาตลอดทั้งชีวิต
ราชสกุลสูงศักดิ์ผู้มีชีวิตไม่ต่างจากสามัญชน
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2419 เป็นบุตรคนที่ 18 ของพระยาไชยสุรินทร์ (เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงเกษตรและพระคลัง ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนมารดาคือ คุณหญิงไชยสุรินทร์ (อยู่) สืบสายสกุลมาจากพระยาราชภักดี (หม่อมราชวงศ์ ช้าง เทพหัสดิน) ผู้เป็นบุตรหม่อมเจ้าฉิมในพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ โอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอองค์น้อยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1
แม้ว่าจะดูเสมือนมีราชสกุลสูงศักดิ์ หากแต่ชีวิตของสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็ต้องพลิกผันเมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรม ทำให้สถานะครอบครัวตกต่ำลง เขาจึงต้องช่วยเหลือมารดาทำไร่ทำสวน ค้าขายหารายได้จากงานเย็บปักถักร้อยตั้งแต่วัยเยาว์ นี่ทำให้ช่วงชีวิตวัยเด็กของเขาดูจะไม่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป
เมื่ออายุเข้าได้ 12 ปี ในปี พ.ศ. 2431 สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้เข้าเรียนประโยคหนึ่งที่โรงเรียนบพิตรพิมุข โดยมีพระมหาหนอหรือขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลลิธูร) เป็นผู้อบรมสั่งสอน จนเรียนจบประโยคสองในปี พ.ศ. 2432 ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และในปี พ.ศ. 2435 ก็สามารถสำเร็จการศึกษาจบประโยคมัธยมศึกษาชั้น 5 ภาษาอังกฤษหลักสูตรหลวงโรงเรียนตัวอย่างสุนันทาลัย อีกทั้งยังเป็นนักเรียนรุ่นแรกเพียง 3 คน ของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ตั้งขึ้น (ปัจจุบันคือ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร’) โดยสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ยังเป็นผู้สอบได้ที่ 1 ของรุ่นด้วยอายุ 16 ปี
‘หลวงไพศาลศิลปศาสตร์’ สู่ ‘คุณพระไพศาลศิลปศาสตร์’
จากนั้นจึงทำหน้าที่เป็นผู้สอนในกรมศึกษาธิการ และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ต่อมาด้วยความเก่งกาจปราดเปรื่อง สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา จึงได้ทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาต่อในปี พ.ศ. 2439 ณ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road Collage) ณ เมืองไอส์ลเวิฟ ภายใต้การดูแลของ ‘เซอร์ โรเบิร์ต มอแรน’ จนกลับมาสยามก็ยังได้มีโอกาสไปดูงานด้านการศึกษาต่อในประเทศอินเดีย และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในห้วงเวลานั้นญี่ปุ่นกำลังพยายามพัฒนาระบบการศึกษาภายในประเทศ ภายหลัง ‘การปฏิวัติเมจิ’ ในปี พ.ศ. 2411
ภายหลังจากการกลับมาจากต่างประเทศ สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็ได้อุปสมบทต่ออีก 1 พรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ นับเป็นการศึกษาต่อด้านพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแก่นกลางของสังคมสยามยุคนั้น
ต่อมาก็กลับเข้ารับหน้าที่ทางราชการที่กระทรวงธรรมการในปี 2442 โดยเป็นครูสอนวิชาครูและคำนวณวิธีในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ก่อนไปเป็นพนักงานแต่งแบบเรียนประจำศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ ด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ในเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2442 สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงไพศาลศิลปศาสตร์’ ผู้รับหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้ากองตรวจกรมศึกษาธิการ และทำหน้าที่สอนด้วย
การก้าวเข้ามารับหน้าที่ในกระทรวงธรรมการของหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ ค่อยก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับจากผลงานที่ทำ อีกทั้งยังเป็นผู้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ จัดขึ้นครั้งแรกที่สนามหลวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 จึงได้รับพระราชทานเป็น ‘คุณพระไพศาลศิลปศาสตร์’ ด้วยความชำนิชำนาญทางการศึกษา
แม้ล่วงเข้าแผ่นดินพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ 6 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อให้รับฟังพระราชดำริเรื่องของการวางรากฐานทางการศึกษาของชาติ นี่ทำให้ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2464 ในโมงยามนี้เอง ผลงานด้านการศึกษาของท่านจึงเริ่มปรากฏเด่นชัดในสังคมสยาม เพื่อผลักดันระบบการศึกษาของชาติ โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่าทุกอาชีพมีคุณค่า ดังเช่น โคลงกลอนของครูเทพ ที่ระบุถึงความสำคัญของงานทุกประเภทเช่น งานช่าง ค้าขาย ทหาร กสิกรรม ไว้ว่า
ปลูกวิชามากช่องไว้ ชูเมือง
ทวยราษฎร์อมาตย์เสน ทั่วหน้า
มากศรีกวีเรือง เลอศักดิ์
เฉลิมพระเกียรติ์เจ้าหล้า แห่งเรา
โรงเรียนพณิชย์ผู้ เพาะพา- ณิชย์นอ
หน้าที่สำคัญงาน เศกสร้าง
ทหารเอกแห่งมหา เศกสงคราม
บ่อเกิดเลิศล้ำสล้าง ศิษย์หลาย
ข้าแต่สูเจ้าชาวนา ข้าขอบูชา
ว่าสูเลิศมนุษย์ สุดแสวง
รูปร่างกำยำดำแคง เจ้าเป็นหัวแรง
กระดูกสันหลัง รัฐเรา
เลี้ยงเทศเลี้ยงไทยไม่เบา ด้วยข้าวปลาเอา
แลกเปลี่ยนสินค้า ควรเมือง
กำเนิด ‘โรงเรียนเพาะช่าง’
การมองว่าทุกอาชีพล้วนมีคุณค่าเพราะต่างเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนประเทศชาตินั้น นับเป็นมุมมองที่ครูเทพ หรือ สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น ‘เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีศรีสาสนวโรปกรสุนทรธรรมจริยานุวาท’ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ซึมซับมาจากการดูงาน และร่ำเรียนในต่างประเทศ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Naewna Variety ตอน ‘เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี’ ไว้เช่นกันว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับแนวทางด้านระบบการศึกษาจากตะวันตก และนำกลับมาพัฒนาภายในประเทศ ที่สำคัญคือการวางรากฐานทางการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา หรือคือการศึกษาต่อสายอาชีพ ซึ่งแท้จริงก่อนหน้านั้นการศึกษาในสาขาดังกล่าวก็มีมาแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ด้วยว่าพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเสียก่อน
กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2456 กระทรวงธรรมการ ซึ่งมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นเสนาบดี ได้จัดการก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรม ที่บริเวณถนนตรีเพชร และนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ ซึ่งก็ได้กลายเป็นต้นทางของการมี ‘โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย’
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะสร้าง ‘โรงงานนักเรียนเพาะช่าง’ เพื่อทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกกรมขุนเพ็ชร์บูรณ์อินทราชัย ผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง จึงได้มีการสร้างโรงงานของโรงเรียนเพาะช่างอยู่บริเวณเชิงสะพานอุเทนถวาย
ผู้ปลุกปั้น ‘อุเทนถวาย’
ความเกี่ยวข้องระหว่างเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กับโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายนั้น คงเริ่มการข้องแวะตั้งแต่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 นานแล้ว แต่ช่วงเวลาที่โดดเด่น และถือว่าท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีคือผู้ที่ปลุกปั้น ‘อุเทนถวาย’ อาจต้องเริ่มนับมาตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อสยามประเทศไทยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช สู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่ดำรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง เป็นการส่งเสริมการศึกษาวิชาช่างไทย มีความว่า
“บัดนี้ถึงเวลาสมควรที่จะจัดตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาขึ้นที่โรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง ถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบลถนนพญาไทโรงหนึ่ง ให้ชื่อว่า ‘โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย’ และขึ้นแขวงวิสามัญ กับให้มีกรรมการจัดการโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป… สั่งแต่ ณ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2475”
นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมี ‘โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย’ อย่างเป็นทางการเพื่อสอนวิชางานช่างไทย จากการปลุกปั้นของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ด้วยหวังว่าจะให้เยาวชนมีความเก่งในด้านงานช่าง พร้อมกับตั้งคณะกรรมการจัดการโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ประกอบด้วย พระยาวิทยาปรีชามาตย์, พระยาปริมาณสินสมรรค, พระยาโสภณหิรัญกิจ, จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร, หลวงอาจอัคคีการ, นายนารถโพธิประสาท และมีหลวงวิศาลศิลปกรรมเป็นครูใหญ่ เปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาวิชาช่างก่อสร้าง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2476 ครั้งนั้นมีนักเรียนทุกชั้นทุกแผนกรวมกันจำนวน 92 คน
แม้ว่าต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน 2477 กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งยุบโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ให้กลับไปสังกัดโรงเรียนเพาะช่างดังเดิม แต่ต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย กลับมาสอนดังเดิม โดยแยกออกจากโรงเรียนเพาะช่างในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ก็ค่อย ๆ ลดบทบาทของตนเองลง และถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ที่บ้านพัก ณ ถนนนครสวรรค์ จังหวัดพระนคร
จุดประสงค์ในการวางรากฐานทั้งในแบบสามัญ และอาชีวศึกษาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ก็คือการหมายมุ่งให้เด็กและเยาวชนของชาติได้มีความรู้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าท่านครูเทพคือผู้วางรากฐานทางระบบการศึกษาอย่างยาวนานนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง อุดมการณ์เพื่อราษฎร และประเทศสยามของท่านนั้น ก็นับคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ซึ่งหากมองกลับมาในปัจจุบัน การศึกษาของชาติไทยที่ครูเทพใฝ่ฝันนั้นก็อาจยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะไปได้ไกลถึงจุดไหน แต่เยาวชนยุคปัจจุบันก็นับได้ว่าเป็นคนที่มีความรู้ และจะเป็นฐานหลักในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
เรื่อง : จงเจริญ ขันทอง
ภาพ : วิกิพีเดีย
อ้างอิง :