‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ความตายและการเกิดใหม่ของปัญญาชนไทย

‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ความตายและการเกิดใหม่ของปัญญาชนไทย

‘จิตร ภูมิศักดิ์’ หรือ ‘ผีจิตร’ ผู้คอยหลอกหลอนชนชั้นนำไทย และที่มาของการเข้าป่าของเหล่านักศึกษาในช่วงหลัง 6 ตุลา’

KEY

POINTS

  • ‘ผีจิตร’ (จิตร ภูมิศักดิ์) ผู้คอยหลอกหลอนชนชั้นนำไทย 
  • “ตายสิบเกิดแสน” (เพื่อถมแทนผู้สูญดับ?) และการเข้าป่าตามรอยจิตร ภูมิศักดิ์ หลัง 6 ตุลา’   
  • ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ กับ การเกิดใหม่ครั้งที่ 3 

“ตัวตายแต่ชื่อยัง” & ไม่ใช่แค่ผลงาน หากแต่คือความตาย…  

เดือนพฤษภาคม นอกจากเป็นเดือนแห่งวันแรงงาน (1 พฤษภาคม) เดือนแห่งวันฉัตรมงคล (4 พฤษภาคม) เดือนแห่งวันพืชมงคล (6 พฤษภาคม) และเดือนแห่งวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม) แล้ว ยังเป็นเดือนของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ตามปฏิทินของนักกิจกรรมทางสังคม 

เนื่องจากวันที่ 5 พฤษภาคม ตรงกับวันเสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทย ซึ่งอยู่คั่นกลางระหว่างวันฉัตรมงคลกับวันพืชมงคลพอดี  เป็นเรื่องบังเอิญเพราะจิตรไม่ได้จงใจจะตายในวันที่ 5 พฤษภาคม 

ในวันดังกล่าวนี้ (5 พฤษภาคม) ที่บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร  ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ จะมีการจัดงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นประจำทุกปี ชายป่าบ้านหนองกุงเป็นสถานที่เสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อย้อนหลังไปปี พ.ศ.2509 ช่วงที่ชนบทในภาคอีสานยังมีการสู้รบกันระหว่างกองกำลังปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับกองทัพฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหาร และจิตรเป็นคนหนึ่งที่เสียชีวิตเพราะผลพวงของการปราบปรามผู้เห็นต่างโดยฝ่ายรัฐบาลเวลานั้น ศพของจิตรได้ถูกชาวบ้านเผาอย่างเรียบง่าย กระดูกถูกฝังไว้ที่ใต้ต้นไม้แดง เมื่อพ.ศ.2531 ญาติของจิตรและอดีตสหายได้ขุดนำเอากระดูกไปบรรจุอัฐิไว้ที่วัดประสิทธิ์สังวร 

อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ มีรูปปั้นขนาดเท่าคนจริง เป็นรูปจิตรในชุดเสื้อม่อฮ่อม กางเกงขาก๊วย ในท่ายืนกอดอกตามลักษณะท่าทางในบทกวี ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ที่จิตรเป็นผู้แต่ง มีท่อนฮุกว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” (ภายหลัง ‘หงา คาราวาน’  ได้นำไปใส่ทำนองขับร้องเป็นบทเพลงโด่งดัง) และบริเวณดังกล่าวยังมีป้ายใหญ่เบอเร่อระบุว่า “สถานที่เสียชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์” 

อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง จ.สกลนคร กลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่เพียงแต่เฉพาะสำหรับท้องถิ่นอำเภอวาริชภูมิ หากแต่เป็นสถานที่สำคัญระดับประเทศ  เพราะนอกจากเป็นที่สิ้นลมหายใจของปัญญาชนคนสำคัญระดับประเทศอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วการตายของจิตรยังเป็นเรื่องหนึ่งที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์โลกยุคสงครามเย็น

ฃสถานที่ตายของจิตร กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนรู้จักและมีความทรงจำรำลึก ต่างกันลิบกับสถานที่เกิดอย่างตลาดอ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ไม่มีอนุสรณ์ความทรงจำใด ๆ ที่ระบุว่าเป็นสถานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับปัญญาชนนักปราชญ์อย่างจิตร ภูมิศักดิ์  ถามใครก็ไม่รู้จัก จนดูเหมือนคนจะลืมไปแล้วว่า จิตรเป็น “คนประจันตคาม” ที่มีเกียรติประวัติท่านหนึ่ง  

ทั้ง ๆ ที่ประจันตคามเป็นย่านที่ประชาชนให้ความสำคัญแก่ประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากการมีตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นที่เชื่อมโยงไปถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เจ้าพระยาบดินทรเดชา ผู้นำท้องถิ่นก่อร่างตั้งเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่างก็มีวัด มีศาล มีอนุสรณ์เล่าเรื่องราวหมด แต่จิตรกลายเป็นบุคคลสาบสูญไปจากย่านประจันตคาม ต่างจากที่บ้านหนองกุง ซึ่งเป็นที่ตายของจิตร มีอนุสาวรีย์จิตรยืนเด่นโดยท้าทายอยู่อย่างสง่างาม      

หนังสือชีวประวัติของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ขายดีตีพิมพ์ต่อเนื่องหลายปี ก็เป็นเรื่อง “วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์” เรียบเรียงโดย ‘แคน สาริกา’ บทเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งและร้องโดย ‘หงา คาราวาน’ ก็มีเนื้อหาบอกเล่าถึงความตายของจิตรเช่นกัน เช่นว่า “เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินเข็ญ” “เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินอีสาน อีกนาน อีกนาน อีกนาน” “พฤษภา ห้าร้อยเก้า แดดลบเงาจางหาย เขาตายอยู่ข้างทางเกวียน” “ศพคนนี้ นี่หรือ คือจิตร ภูมิศักดิ์ ตายคาหลักเขตป่ากับนาคร”

จิตรกลายเป็นปัญญาชนคนสำคัญที่ได้รับการจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่เพราะผลงานเขียน หากแต่เป็นเพราะความตายที่มีความหมายทรงพลัง แม้แต่ตัวผลงานของเขาเองที่ได้รับการยกย่อง ก็เพราะความตายของเขาด้วยเช่นกัน ในขณะเมื่อเขายังมีชีวิตอยู่  ผลงานไม่เป็นที่นิยมมากเท่าหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว เฉกเช่นเดียวกับปัญญาชนระดับโลกหลายคนที่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้รับความสนใจ แต่เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว กลับเกิดปรากฏการณ์ “ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน” 

ตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ห่างกันไปอีกซีกโลกหนึ่ง อย่างเรื่องของ ‘เช เกวารา’ (Ernesto Che Guevara) ในอเมริกาใต้ เมื่อฝ่ายรัฐบาลโบลิเวียนำเอาภาพใบหน้าของเชหลังจากถูกลั่นไกปืนประหารชีวิตมาเผยแพร่กับสื่อมวลชน เพื่อยืนยันว่าเป็นเช เกวารา ตัวจริง แต่ภาพนั้นก็ถูกคนนำเอาไปเปรียบเทียบกับพระเยซู เช เกวารา เกิดเป็นที่นิยมในฐานะผู้ปลดปล่อยแบบไถ่บาปเช่นเดียวกับพระเยซูที่ถูกโรมันตรึงกางเขน  หนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของเช เกวารา ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในไทยก็เป็นเรื่อง ‘เช เกวารา กับความตาย’ เรียบเรียงโดย ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’

ไม่กี่ปีก่อนหน้าปีที่จิตรจะไปเสียชีวิตในชนบทอีสาน ‘ส. ธรรมยศ’ (นามปากกาของ ‘แสน ธรรมยศ’) ก็เคยมีวาทะโด่งดังหนึ่งที่ว่า “ระวังนะ ชื่อจะตายก่อนตัว” เป็นวาทะที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนเพื่อนในวงการปัญญาชนนักวิชาการ ให้ไม่ลุ่มหลงลำพองตน เพราะบางคนที่มีผลงานโดดเด่นดูเป็นที่ยอมรับ แต่พอเสียเสียชีวิต ชื่อและผลงานกลับดับสูญไม่เป็นที่รู้จัก แต่กรณีจิตรนั้นเป็นตรงข้าม คือ “ตัวตายแต่ชื่อยัง” ไม่เพียงเท่านั้น จิตรยังเป็นต้นแบบของปัญญาชนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน”    

แน่นอนว่าจิตรเป็นนักคิดนักเขียนที่มีผลงานเป็นจำนวนมากที่อธิบายวิเคราะห์สังคมไทยในมุมที่คาดไม่ถึงหรือผู้คนทั่วไปไม่กล้าพูด (ถึงแม้จะมีผลงานจำนวนหนึ่งที่เป็นที่สงสัยว่าอาจเป็นผลงานเขียนของ “นักเขียนผี” ภายในพคท. แต่ใส่ชื่อจิตรเป็นผู้เขียน ตามแง่มุมบอกเล่าของ ‘สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ’ และ ‘ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์’) แต่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความตายของจิตรนั้นมีผลอย่างสำคัญต่อตัวตนของจิตรที่เรารู้จัก คำถามก็คือทำไมความตายของปัญญาชนแบบจิตรจึงทรงพลังมีความหมายมาเท่าทุกวันนี้???   

‘ผีจิตร’ (จิตร ภูมิศักดิ์) ผู้คอยหลอกหลอนชนชั้นนำไทย 

ผู้ลั่นไกปืนสังหารจิตร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2509 ไม่ใช่ทหารรัฐบาล เป็นกองกำลังจัดตั้งของชาวบ้านในตำบลคำบ่อนั้นเอง เรื่องตลกที่ขำไม่ออกในส่วนนี้ก็คือผู้ซึ่งชีวิตต่อสู้เพื่อสิทธิเพื่อเสียงชาวบ้านอย่างจิตร กลับถูกชาวบ้านลั่นไกปลิดชีพ แต่ก็ไม่ใช่ชาวบ้านที่เป็นชาวบ้านทั่วไป เป็นชาวบ้านที่ถูกฝ่ายทางการจัดตั้งขึ้นเป็นกองกำลังพิเศษไว้คอยปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ในชนบทอีสานเวลานั้น  

อดีตผู้ใหญ่บ้านที่นำกำลังพรรคพวกลูกบ้านชายฉกรรจ์ไปลอบยิงจิตรจนถึงแก่ความตาย ได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลจาก ‘ซีไอเอ’ (Central Intelligence Agency - CIA หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาเพื่อการต่อต้านคอมมิวนิสต์) ให้ขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวอเมริกา พร้อมกับได้รางวัลต่าง ๆ อีกมาก อดีตผู้ใหญ่บ้านท่านนั้นได้รับการยกย่องประหนึ่งเป็นวีรบุรุษผู้ผดุงความยุติธรรม แต่มันเป็นความยุติธรรมตามมุมมองของรัฐไทยและซีไอเอเวลานั้นเท่านั้น 

ขณะที่ในยุคต่อมาที่บ้านหนองกุงมีอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่า และวัดประสิทธิ์สังวร ศูนย์กลางของชุมชนมีเจดีย์บรรจุอัฐิของจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ลั่นไกปืนต้องอยู่อย่างหวาดผวา หลบซ่อนตัวเองจากคนภายนอกที่เข้ามาในชุมชน แคน สาริกา เคยเล่าในงานประชุมสัมมนาวิชาการจิตร ภูมิศักดิ์ ที่จัดขึ้นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ต่อมารวมอยู่ในเล่ม ‘จิตร ภูมิศักดิ์ ความทรงจำและคนรุ่นใหม่’ ที่มี ‘สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ’ เป็นบก.) 

เกี่ยวกับอดีตผู้ใหญ่บ้านท่านนั้นซึ่งแคนเคยไปพบว่า อดีตผู้ใหญ่ในวัยชราหวาดกลัวเพราะเกิดไปได้ยินได้ฟังคำเล่าลือว่าจะมีการลงขันเพื่อล้างแค้นให้จิตร แต่ผ่านมาหลายปี การล้างแค้นที่ว่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด  เปล่าประโยชน์ที่จะทำเช่นนั้น เพราะความขัดแย้งและการโฆษณาชวนเชื่อสมัยโน้น ทำให้คอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว ความตายของจิตรจึงเป็นผลงานความรับผิดชอบของระบอบเผด็จการในยุคสมัยนั้น หาใช่ชายชราชาวบ้านคนหนึ่งคนใดไม่   

ตลอดเวลานับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 จนถึง 2500 ปัญญาชนไทยต่างถูกเผด็จการคุกคาม กรณีจิตร ถูกจับโยนบก ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อ พ.ศ.2500 และทำรัฐประหารตัวเองซ้ำเมื่อพ.ศ.2501 ก็ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐสภา หันมาใช้อำนาจรวมศูนย์เบ็ดเสร็จไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีตามวาทะ “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” และยังได้ใช้นโยบายแข็งกร้าวคุกคามต่อฝ่ายผู้เห็นต่างทางการเมือง ถึงขั้นใช้มาตรา 17 สั่งประหารชีวิตนายรวม วงศ์พันธ์ ผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ และนายศิลา วงศ์สิน ข้อหาเป็นกบฏผีบุญ 

สำหรับผู้นิยมแนวคิดมาร์กซิสต์ ต่างก็ถูกคุกคามด้วยข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ซึ่งเป็นข้อหาคล้ายคลึงกับ “มีการกระทำอันไม่เป็นอเมริกัน” ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยใช้ล่าล้างผู้ที่เห็นต่างจากตนและมีใจเข้าข้างเอนเอียงไปทางฝ่ายสหภาพโซเวียต จีนแดง และขบวนการกู้ชาติชาวเวียดนาม (เวียดกง) ที่เป็นศัตรูของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น ตัวอย่างคนที่โดนข้อหานี้ก็เช่น ‘ชาลส์ สเปนเซอร์ แชปลิน จูเนียร์’ (Charles Spencer Chaplin, Jr.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ชาร์ลี แชปลิน’ (Charlie Chaplin) นักแสดงตลกชื่อดังของฮอลลีวูด และอีกคนก็อย่าง ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์’ (Julius Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ผู้สร้างระเบิดปรมาณูให้สหรัฐใช้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2   

คอมมิวนิสต์ถูกทำให้มีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มคนน่าเกลียดน่ากลัวที่จ้องจะล้มล้างชาติและสถาบันหลักของไทยในสมัยนั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหาร เพราะทุกการรัฐประหารย่อมต้องอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องภัยคุกคามชาติบ้านเมือง ทหารจึงจะมีสิทธิเข้ากุมอำนาจ ดังนั้นจอมพลสฤษดิ์จึงมีนโยบายที่เข้าข้างฝ่ายอเมริกาในสงครามเย็นและในสงครามเวียดนามก็ได้อนุญาตให้อเมริกาใช้ดินแดนไทยเป็นฐานในการส่งจรวด เครื่องบิน กำลังพลและยุทโธปกรณ์ ไปโจมตีเพื่อนบ้าน (ไม่แต่เฉพาะเวียดนาม หากยังรวมถึงลาวและกัมพูชา ที่ต้องสงสัยว่าให้แหล่งหลบซ่อนตัวแก่เวียดกงก็โดนทิ้งบอมบ์หมด) 

แม้แต่พัทยา ก็ถูกพัฒนาขึ้นเป็นเขตพิเศษเพื่อให้เป็นสถานตากอากาศพักผ่อนหย่อนใจแก่ทหารอเมริกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะไม่กี่วันมานี้หรอกหนาที่ทหารสหรัฐยกพลขึ้นบกที่พัทยา แล้วถามหา “บะหมี่อยู่หนาย”  พัทยาน่ะเป็นสถานที่ “แบบนั้น” มาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามแล้ว ไม่ต้องอายหรอก เพราะมีเรื่องที่ควรจะรู้สึกอายกว่านี้เยอะ           

ถึงแม้ว่าสังคมไทยสมัยนั้นจะมีนักคิดนักเขียนที่นิยมแนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่จริง ๆ แต่สิ่งที่หลงลืมกันไปท่ามกลางสถานการณ์การเมืองเวลานั้นคือพวกเขาก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ นั่นแหล่ะ ไม่ใช่ยักษ์มารหรือปีศาจมาจากไหนเลย  สังคมที่เป็นอยู่ก็มีการกดขี่ขูดรีด คนมีอำนาจเอาเปรียบคนหมู่มาก ชาวนา กรรมกร ผู้ทำการผลิต เผชิญความทุกข์ยากภายใต้ระบบที่ไม่เป็นธรรมอยู่จริง ๆ นั่นแหล่ะ (หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง ก็ขอให้ทำแค่ถกเถียงกันด้วยเหตุผลก็พอนะครับ) คือสังคมไทยก็มีบางอย่างที่ทำให้เกิดความสมเหตุสมผลในการใช้คำอธิบายแบบมาร์กซิสต์อยู่ด้วย แต่คนไม่มองจุดนี้    

ฃนอกจากคอมมิวนิสต์ จีนแดงภายใต้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ก็ถือเป็นศัตรูของชาติไทยในสมัยนั้น เมื่อกลุ่มนักคิดนักเขียนและสื่อมวลชนที่ไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย จอมพลสฤษดิ์ก็ได้ส่งกำลังทหารตำรวจไปจับกุมเข้าคุกหมดในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ในช่วงที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเข้มงวด จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นคนหนึ่งที่ถูกจับกุมคุมขังในครั้งนั้น เพียงเพราะเขามีความเห็นต่างทางการเมืองจากฝั่งรัฐบาล  

เมื่อออกจากคุก หนทางสู้กลับเผด็จการในยุคนั้น การเข้าป่าเป็นทางเลือกที่ดีเยี่ยมวิธีหนึ่งในยุคสมัยนั้น เพราะการเคลื่อนไหวในเมืองถูกสยบด้วยกำลังความรุนแรงไปจนหมด จึงมีปัญญาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกได้ว่าตนเองไม่ปลอดภัย จึงตัดสินใจเข้าป่าไปอยู่กับพคท. ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของพคท.ไปเสียหมดก็ตาม กล่าวโดยสรุปก็คือจิตรถูกบีบคั้นให้เข้าป่ากลายไปเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ จากเดิมที่การเป็นคอมมิวนิสต์เป็นเพียงข้อกล่าวหาให้ร้ายของฝั่งเผด็จการ กลายเป็นว่าฝ่ายเผด็จการนั่นแหละเป็นผู้สร้างคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเอง จากการบีบคั้นให้คนต้องเข้าป่าไปร่วมกับพคท.  และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความตายในชายป่าของปัญญาชนคนสำคัญท่านหนึ่ง     

ทั้ง ๆ ที่ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่ได้เติบโตต่อมา เขาอาจจะเป็นนักวิชาการที่สร้างคุณูปการอีกมาก หรืออาจเป็นเพียงครูอาจารย์สอนหนังสือคนหนึ่ง ดังที่ก่อนจะถูกจับติดคุกเขาได้ไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูที่มศว.ประสานมิตร และได้ฝึกสอนที่ม.ศิลปากรแล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการประกอบวิชาชีพครูเต็มขั้น แต่เขาไม่ได้เป็นครูดังที่ฝัน ถูกจับกุมคุมขังและออกจากคุกแล้วก็ต้องเข้าป่าไปเสียก่อน  

หากแม้นว่าถ้าเขาได้มีชีวิตอยู่ต่อมา จิตรอาจเป็นคนหนึ่งที่กลับใจเปลี่ยนข้างจากซ้ายกลายเป็นขวา แบบใครหลายคนที่เมื่อได้สัมผัสระบบภายในของพคท. และออกจากป่าคืนเมืองมาแล้วก็พากันวิพากษ์พคท. ได้แซ่บถูกใจอีลีตยิ่งกว่าที่พวกตุลาป่าแตกเคยทำกัน ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ ในเมื่อเขาไม่ได้รับโอกาสเช่นนั้น เราก็ไม่อาจจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นอย่าด่วนตัดสิน และยิ่งไม่ควรใช้ความตายเป็นทางออกสำหรับสยบความคิดของคน ในเมื่อความคิดคนเรานั้นสามารถเปลี่ยนกันได้  โดยเฉพาะในสังคมประเทศที่อะไรก็เกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดเสมอ   

ใครจะไปรู้ว่า จีนแดงหรือจีนคอมมิวนิสต์ที่คนเมื่อทศวรรษ 2500 แค่นั่งเครื่องบินกลับมาจากที่นั่น ก็ถูกจับเข้าคุกฐานเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ปัจจุบันจีนที่ยังปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์นี่แหล่ะกลับได้ชื่อเป็น ‘มหามิตร’ ของประเทศไทย

สหรัฐอเมริกาที่ไทยร่วมเป็นพันธมิตรในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยโน้น ฝ่ายขวาไทยในปัจจุบันกลับเห็นเป็นอริราชศัตรูไปเสียอีก เล่นเอามิตรสหายท่านที่รู้ประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวนี้พากันบ่น “อิหยังวะ” ไปตาม ๆ กัน   

ทุกอย่างมันกลับตาลปัตรได้ และพุทธศาสนาก็สอนเรามาโดยตลอดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง ความไม่จีรังเที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง แต่ผู้มีอำนาจในประเทศกลับมักคิดว่าจะต้องเป็นแบบเดียวกันตลอดไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างไม่ใช่อื่นไกล กรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันที่จริงฝ่ายซ้ายไทยก็เคยเชียร์อัพเพราะคิดว่าจะเป็นเหมือน ‘นัสเซอร์’ (นายพลกามาล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ผู้นำการปฏิวัติอียิปต์เมื่อค.ศ.1952/พ.ศ.2495) จิตรเองก็ยังเคยเชียร์กับเขาด้วย แต่แล้ว ‘นัสเซอร์เมืองไทย’ ก็ตรงกันข้ามกับ ‘นัสเซอร์อียิปต์’ อย่างสิ้นเชิง    

แม้แต่ตัวจิตรเอง ก็ไม่ใช่จะเป็นมาร์กซิสต์มาตั้งแต่ออกจากท้องแม่ จากงานค้นคว้าของ ‘วิชัย นภารัศมี’ จะพบว่าเมื่อครั้งยังเป็นเด็กมัธยม จิตรเคยเป็นนักชาตินิยมต่อต้านเขมรมาก่อนด้วยซ้ำ หรืออย่างจากงานของ ‘เครก เจ. เรย์โนลด์ส’ (Craig J. Reynolds) จิตรเคยเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงอานันท์รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ   

ในทางตรงข้าม ‘สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ’ เคยบอกว่า หากพลตรีจำลอง ศรีเมือง เสียชีวิตไปก่อน พ.ศ.2548 จะได้เป็น “วีรบุรุษของระบอบประชาธิปไตยไทย” เพราะเคยเป็นแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 แต่เมื่อเข้าร่วมขบวนการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2549 พลตรีจำลองก็ต้องจากไปอย่างเงียบ ๆ ตรงข้ามกับนายสมัคร สุนทรเวช อดีตเคยร่วมขบวนการทำร้ายนักศึกษาประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่เมื่อกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีของฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหาร และต้องออกจากตำแหน่งไปเพราะกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ เมื่อสิ้นใจลงก็มีคนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มากล่าวให้อภัยและมีคนไว้อาลัยในฐานะที่เคยร่วมต่อต้านเผด็จการ  

แค่นี้ อย่าเพิ่งช๊อตฟิลด์ ยังมีต่อ...        

เมื่อไม่นานมานี้ อย่างกรณีคุณทักษิณ ชินวัตร หลายคนเกิดทันและหลายคนต่างก็เคยแสดงความจงเกลียดจงชัง บ้างถึงกับเคยเปล่งเสียงร้องดัง ๆ ตามคุณสนธิ ลิ้มทองกุล “ท๊ากกกกสิน ออกไป” แต่แล้วตอนนี้คุณทักษิณไม่เพียงได้กลับเข้าประเทศ ยังกลับกลายเป็นประหนึ่ง “วีรบุรุษกอบกู้แผ่นดิน” จากภัยคุกคามของชนชั้นนำอันเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 (เป็นการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกล นำโดย ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ)   

หลายสิ่งอย่างที่คนรุ่นทศวรรษ 2500 ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้น เพียงแค่ 14 ปีหลังจากการเสียชีวิตของจิตร กลุ่มคนที่เข้าร่วมกับพคท. ได้รับการประกาศจากทางการว่าเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ภายใต้นโยบาย 66/23 พวกเขาไม่ได้ถูกมองเป็น ‘ผกค.’ (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) อีกต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้าทำสงครามเข่นฆ่ากันแทบเป็นแทบตาย แต่เมื่อถึงอีกช่วงเวลาก็สามารถจะจับมือกันได้อย่างง่ายดาย นั่นแหล่ะสังคมไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้แต่ ‘คอมมิวนิสต์ปกป้องสถาบัน’ ก็ยังมีได้และมีแล้วเลย บางคนก่อนนี้เป็นสื่อมวลชน ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ อยู่ดี เดี๋ยวนี้กลายเป็น นายแบก – นางแบก กันไปเสียแล้ว  

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าเพิ่งใจร้อนด่วนตัดสินกัน รอดูอีกสักพักหนึ่งก่อน เขาถึงได้มีคติว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” เมื่อเวลาผ่านไปคนที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ร้ายของบ้านเมือง ก็อาจจะกลายเป็น ‘วีรบุรุษกู้ชาติ’ ขึ้นมาก็ได้ ใครจะรู้ เพราะการเมืองไทยน่ะไม่มีหรอกนะขอรับ “มิตรแท้ - ศัตรูเทียม” มีแต่คนที่เอนไหวไปตามสถานการณ์และผลประโยชน์ ไม่งั้นป่านนี้อย่าว่าแต่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบเลย แม้แต่สังคมพระศรีอาริย์ก็อาจปรากฏเป็นจริงไปแล้ว 

กรณีจิตร เขากลายเป็น ‘วีรบุรุษของขบวนการฝ่ายซ้าย’ ไปแบบจัดหนักจัดเต็มนั้น ส่วนหนึ่งเพราะตายไปเสียก่อน เวลาพูดถึงจิตร คนมักจะชอบพูดในแง่ว่าจิตรมีความคิดก้าวหน้าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่จริงในอีกแง่มุมหนึ่งก็มีสิ่งที่จิตรอดได้เป็นหรือพลาดที่ไม่ได้เห็นอยู่มากเหมือนกัน    

ถึงตรงนี้ก็ไม่รู้ว่า จิตรพลาดอะไรไป หรือโชคดีที่ตายไปก่อนกันแน่?  

“ตายสิบเกิดแสน” (เพื่อถมแทนผู้สูญดับ?) & การเข้าป่าตามรอยจิตร ภูมิศักดิ์ หลัง 6 ตุลา’   

‘สุพจน์ ด่านตระกูล’ อดีตนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย ผู้ซึ่งผู้เขียนกับเพื่อนคือ ‘ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ’ ได้เคยไปสัมภาษณ์พูดคุยด้วยที่บ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านนนทบุรี เคยกล่าวกับพวกเราว่า “เสียดายนายผีกับจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่น่าเข้าป่าเลย” 

ในตอนนั้นพวกเรางงว่าลุงสุพจน์ทำไมไปกล่าวพาดพิงถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์กันมาเช่นนั้น แต่เมื่อได้พิจารณาว่า การเข้าร่วมกับพรรค ก็ย่อมต้องอยู่ภายใต้นโยบายการต่อสู้ที่ถูกกำหนดจากผู้มีอำนาจภายในพรรค ก็เหมือนยังอยู่ภายใต้การกดขี่  กลายเป็นว่าหลบหนีจากเผด็จการในเมืองไปอยู่กับเผด็จการในป่า ทำให้ขาดอิสระในการคิดการสร้างสรรค์ผลงานในฐานะปัญญาชนไป    

ความตายของจิตร อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คือพคท. ที่ได้นำเอาไปโฆษณาให้จิตร กลายเป็น ‘วีรชนนักปฏิวัติ’ และความตายแบบนี้ก็เป็นที่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ตายสิบเกิดแสน” ความเชื่อต่อความตายเช่นนี้มีอยู่จนถึงการเมืองภายใต้ขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549  

คำว่า “ตายสิบเกิดแสน” มีที่มาจากเพลงของวงคาราวาน ที่ดัดแปลงมาจากเพลง ‘A hard rain ‘s gonna fall’ ของ ‘บ๊อบ ดีแลน’ อีกต่อหนึ่ง “ตายสิบเกิดเป็นแสน เพื่อถมแทนผู้สูญดับ” ก่อนหน้ากรณีการรัฐประหาร 2549 ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรืออย่างกรณีพฤษภาคม 2535 ความตายของประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้ผลจริง ๆ แต่สำหรับหลังรัฐประหาร 2549 ก็จะพบว่าชนชั้นนำไทยมีความโหดเหี้ยมกว่าในอดีตมาก  

เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส (Craig J. Reynolds) หรือ ‘อาจารย์เครก’ ของพวกเราชาวประวัติศาสตร์ เคยบอกว่า จิตรได้เกิดใหม่ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการเกิดแบบปุถุชนคนหนึ่งเมื่อพ.ศ.2473 ครั้งที่ 2 เกิดเมื่อหลัง 14 ตุลาคม 2516 เพราะหลัง 14 ตุลา’ นักศึกษาประชาชนได้ให้ความสนใจผลงานวิพากษ์สังคมเผด็จการของจิตรกันมาก ได้มีการตีพิมพ์ซ้ำงานสำคัญของจิตรหลายเล่มด้วยกัน อาทิเล่มเรื่อง โฉมหน้าศักดินาไทย, ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน, กวีการเมือง, การวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย, บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม, นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา, ความเรียงว่าด้วยศาสนา, ตำนานแห่งนครวัด, ภาษาและนิรุกติศาสตร์ และรวมถึงงานที่เพิ่งพบต้นฉบับเป็นผลงานที่เขียนในระหว่างติดคุก อาทิ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม, สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น   

ทั้ง ๆ ที่ความตายของจิตร ถูกฝ่ายรัฐเผด็จการและซีไอเอ ทำให้เป็นแบบอย่างของผู้ที่ต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร เพราะเห็นต่างทางการเมือง มีความคิดต่อต้านรัฐและสังคมที่เป็นอยู่ เป็นการใช้ประโยชน์จากความตายแบบ “เสียบประจาน” (เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง หรือสร้างความหวาดกลัว) แต่ความตายของจิตรในฐานะปัญญาชนกลับถูกแปรเปลี่ยนความหมาย จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวเป็นอันมากหลังจากนั้น   

แม้ว่าการเข้าป่าของจิตร จะเป็นจุดเริ่มที่นำไปสู่ความตาย แต่ทว่าจุดเริ่มนี้กลับเป็นสิ่งที่ได้รับการสานต่อในฐานะทางเลือกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในอีกยุคสมัยต่อมา เมื่อเกิดการปราบปรามนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การเข้าป่ากลายเป็นทางเลือกขนาดใหญ่ที่คนหนุ่มสาวสมัยนั้นเลือกเดินตามรอยจิตร     

ความตายของจิตรเมื่อพ.ศ.2509 สัมพันธ์กับการเข้าป่าของนักศึกษาประชาชนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อย่างเหนือความคาดหมาย สุดท้ายความตายของจิตร ถูกใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน และผู้ที่ได้ประโยชน์จากความตายของเขามากที่สุด อาจจะคือ พคท. ที่ได้สร้าง ‘ไอดอล’ ให้กับขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ไม่ใช่ฝ่ายรัฐเผด็จการ ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐเผด็จการและซีไอเอต่างก็พยายามจัดการความตายให้เป็นการเสียบประจาน แต่กลับเป็นผลในทางตรงกันข้าม เพราะความตายโดยตัวมันเองไม่ใช่คำตอบตั้งแต่ต้นแล้วนั่นเอง     

“ศิลปะสั้น ชีวิต (ต่างหากล่ะ) ที่ยืนยาว” & จิตร ภูมิศักดิ์ กับ การเกิดใหม่ครั้งที่ 3 

จิตรอดได้เป็น ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ เหมือนเหล่านักศึกษาประชาชนหลัง 66/23 ความตายเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2509 ทำให้เขามีภาพลักษณ์ตราตรึงในฐานะผู้ร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ที่สละชีพ เขากลายเป็น ‘วีรบุรุษของฝ่ายซ้ายไทย’ มานานเท่าทุกวันนี้   

จิตรอดที่จะได้เห็นว่า เสื้อที่มีรูปใบหน้ากับวลีเท่ห์ ๆ ของเขา เป็นเสื้อขายดี ย่ามสะพายข้างที่มีรูปของเขา หนังสืออย่าง ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ และ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ กลายเป็นคัมภีร์ยุทธของเด็กกิจกรรมตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษ 2540 หรืออย่างกรณีที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมากล่าวคำขอโทษต่อกรณีโยนบก หรืออย่างกรณีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความยกย่องเขาในฐานะศิษย์เก่าผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะ ผ่านการจัดงานประชุมสัมมนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องหลายครั้งในรอบหลายปีติดต่อกัน   

จิตรยังอดที่จะได้เห็นว่าผลงานของเขาอย่างบทกวี ‘เปิบข้าว’ นั้นเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันมากเพียงใด ไม่เพียงแต่เป็นเพลงดังของศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ยังได้รับการถ่ายทอดเป็นแบบเรียนภาษาไทยวรรณคดีวิจักษ์ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 

จากบทพระนิพนธ์เรื่อง ‘ทุกข์ของชาวนาในบทกวี’ ในหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เรื่อง ‘มณีพลอยร้อยแสง’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2533 ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ โดยกลุ่มนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 41 

บทเพลงที่เล่าความตายของจิตร ยังได้รับการขับร้องบนเวทีประท้วงของกลุ่มพันธมิตรและกปปส. ทำเอาหลายคนแสดงความรู้สึกแบบ “อิหยังวะ” ไปตาม ๆ กัน แต่หากใครลำดับพัฒนาการความเป็นที่นิยมของผลงานจิตรในช่วงหลังจากที่เขาเสียชีวิตเป็นต้นมา จะพบว่าเรื่องประหลาดแบบนี้อาจไม่แปลกอย่างที่คิด อย่างที่บอกไว้ตอนต้นคือของมันเปลี่ยนแปลงกันได้    

ชีวิตเป็นสิ่งมีค่าเสมอ แม้ว่ายุคของจิตร จะมีคนเชื่อจริงจัง แม้แต่จิตรเองก็เชื่อว่า “ชีวิตสั้น ศิลปะนั้นยืนยาว” อันที่จริงเป็นตรงกันข้าม ชีวิตคนต่างหากที่ยืนยาวและมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด อันนี้นับว่าอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ถ้าเคยพูดแบบนั้นจริง) ก็พูดก็สอนกันมาแบบผิด ๆ แล้วล่ะนะ...      

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้เคารพนับถือจิตร ภูมิศักดิ์ มากท่านหนึ่ง ตามการเขียนเล่าของ ‘ฉลอง สุนทรวาณิชย์’ และจากที่ได้ไปเยี่ยมดูอาการเจ็บป่วย ก็พบว่า จริงดังคำที่ฉลอง สุนทรวาณิชย์ เคยกล่าวไว้ในแง่ที่ว่า ‘อาจารย์ยิ้ม’ เป็นผู้ที่รับมือกับความตายได้ดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ในชีวิตใครจะเคยพบเห็น และเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้ายที่จัดการกับความตายของตนเองได้ดีอีกด้วย   

นั่นเพราะสุธาชัย หรือ อาจารย์ยิ้ม ของพวกเรา ได้มีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจ หลังจากรู้ว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แต่ลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนมิตรที่ไปเยี่ยมไข้ ต่างก็ได้สัมผัสถึงใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสราวกับความป่วยไข้นั้นแค่หวัดธรรมดา ทำให้หลายคนไม่เป็นกังวลกับการจากลาที่เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต      

กล่าวโดยสรุป ความตาย การคุกคาม จับกุมคุมขัง ไม่ใช่คำตอบของการจัดการกับปัญหาผู้เห็นต่างทางการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร แม้แต่ในช่วงที่เผด็จการทหารเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างยุคสมัยหลังการรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อต้นทศวรรษ 2500 แต่รัฐและผู้มีอำนาจไทยมักไม่ค่อยตระหนักว่ามันไม่ใช่คำตอบ กลับเห็นเป็นทางเลือกที่จะได้คงอยู่ในอำนาจสืบต่อไป 

ถึงแม้ว่าพักหลังมานี้ “ตายสิบเกิดแสน” อาจจะไม่เป็นจริงตามตัวบทอักษรหรือตามที่หลายท่านคาดหมาย แต่ใครจะไปรู้ล่ะ ในปี 2509 เมื่อจิตรถูกลั่นไกปืนสังหารไปนั้นก็ไม่มีใครรู้เหมือนกันว่า จะมีคนเข้าป่าตามรอยจิตรอีกนับหมื่นนับแสนหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างอดีตเมื่อทศวรรษ 2500 กับช่วงหลัง 2549 ก็คือชนชั้นนำไทยยังคงไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ จึงผิดพลาดกันแบบวนลูปซ้ำซากอยู่ร่ำไป  

อย่างไรก็ตามประเทศนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เดี๋ยวก็เปลี่ยนกันแบบกลับตาลปัตร เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก ไม่ต้องไปทำให้ใครตายจากไปก่อนที่เขาจะได้เปลี่ยน หรือเราก็แค่ต้องอยู่ให้นาน ๆ หน่อยไม่ตายไปก่อนที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ก็เท่านั้นแหล่ะครับพี่น้อง...  

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
อ้างอิง :
     กชกร บัวล้ำล้ำ. “จิตร ภูมิศักดิ์กับความตายที่ยังคงมีชีวิต: อนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์ วาริชภูมิ สกลนคร” https://commonmuze.com/node/486 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565).  
     แคน สาริกา. วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ: สาริกา, 2532.  
     จิตร ภูมิศักดิ์. คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย: จากมหาวิทยาลัยลาดยาวถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต พ.ศ. 2500-2509. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2552. 
     เดินฝ่าความมืด. (กรุงเทพฯ: อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ณ วัดหัวลำโพง วันที่ 1 ตุลาคม 2560). 
     ตามไท ดิลกวิทยรัตน์. “ภาพลักษณ์คอมมิวนิสต์ในการเมืองไทย” รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (2546), หน้า 148-205. 
     ทองใบ ทองเปาด์. คอมมิวนิสต์ลาดยาว: บันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ในคุกลาดยาว. กรุงเทพฯ: ข้าวฟ่าง, 2534. 
      ทักษ์ เฉลิมเตรียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (Thailand : the Politics of Despotic Paternalism). แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคณะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548. 
     ธเนศ วงศ์ยานนาวา. เช เกวารา กับความตาย.  กรุงเทพฯ: Creambooks, 2547. 
      ภิรมย์ ภูมิศักดิ์. คิดถึงแม่ คิดถึงน้อง จิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ: เนชั่นบุ๊คส์, 2545. 
      ไม่ระบุนาม บก. กรณี “โยนบก” 23 ตุลา’ จิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2539.  
      ไม่ระบุนาม บก. ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน: รวมบทความเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ: ปุยฝ้าย, 2523.  
      เรย์โนลด์ส, เคร็ก เจ. (Craig J. Reynolds). ความคิดแหวกแนวของไทย: จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (Thai Radical Discourse the Real Face of Thai Feudalism Today). แปลโดย อัญชลี สุสายัณห์, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561.  
     วิชัย นภารัศมี. บทเพลงแห่งรุ่งอรุณ: ชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ ภาควัยเยาว์. เชียงใหม่: มิ่งขวัญ, 2544. 
     สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว, 2561. 
     สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (บก.). จิตร ภูมิศักดิ์ ความทรงจำและคนรุ่นใหม่. (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557), หน้า 289-336. 
     โสภา ชานะมูล. “วาทกรรมเรื่อง "ชาติไทย" ของปัญญาชนหัวก้าวหน้า ระหว่าง พ.ศ.2490-2505” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (อ.ด.) ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.  
     อสิธารา. ชีวิตและงานของ ส. ธรรมยศ. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2531.