‘ยาป ฮาร์ตเซน’ บิดา Bluetooth ผู้พาชาวโลกเข้าสู่ ‘ยุคใหม่ของการฟังเพลง’

‘ยาป ฮาร์ตเซน’ บิดา Bluetooth ผู้พาชาวโลกเข้าสู่ ‘ยุคใหม่ของการฟังเพลง’

‘ยาป ฮาร์ตเซน’ นักประดิษฐ์ชาวดัตช์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดา Bluetooth’

KEY

POINTS

  • ก่อนที่ ‘ยาป ฮาร์ตเซน’ จะได้รับการยกย่องว่า ‘บิดา Bluetooth’ เขาเป็นทั้งวิศวกรไฟฟ้า และนักวิจัยด้านอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์
  • ขณะทำงานให้กับแผนก Ericsson Mobile Terminal ในเมืองลุนด์ ฮาร์ตสันได้เริ่มค้นคว้า วิจัย และพัฒนา ข้อกำหนดหรือ Protocol สำหรับ Bluetooth ขึ้นเป็นครั้งแรก
  • ปัจจุบัน Bluetooth กลายเป็นมาตรฐานการสื่อสารไร้สายหมายเลขหนึ่งของโลก ในมุมมองของผู้ใช้งานรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นนักฟังเพลงตัวยง
     

‘ยาป ฮาร์ตเซน’ (Jaap Haartsen) คือผู้คิดค้นเทคโนโลยี ‘Bluetooth’ ในปี ค.ศ. 1994 เพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์ Digital ที่อยู่ใกล้กัน ให้สามารถรู้จักกันได้โดยอาศัยคลื่นวิทยุ

ก่อนหน้าจะเป็น Bluetooth นั้น ฮาร์ตเซนได้เคยยกร่างสิทธิบัตรในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับหลักการของ Bluetooth มาแล้วอีกหลายฉบับ ทว่าไม่ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย และหลายอุปกรณ์เข้าข่ายการบังคับใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบ

แต่ในที่สุด Bluetooth ของเขาก็ได้รับสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 2001

ทุกวันนี้ เทคโนโลยี Bluetooth ที่ฮาร์ตเซนได้คิดค้นขึ้น ได้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชาวโลกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหูฟังโทรศัพท์มือถือ ที่ช่วยให้การขับขี่ยวดยานพาหนะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หรือจะกล้องบลูทูธต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟังเพลงโดยปราศจากสายลำโพงรกรุงรัง

‘ยาป ฮาร์ตเซน’ มีชื่อเต็มว่า ‘ยาโกบึส ยาป คอร์เนลีส ฮาร์ตเซน’ (Jacobus Jaap Cornelis Haartsen) เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1963 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ฮาร์ตเซน เป็นนักประดิษฐ์ชาวดัตช์ ผู้เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดา Bluetooth’ ปูมหลังของฮาร์ตเซนเป็นวิศวกรไฟฟ้า และนักวิจัยด้านอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์

ฮาร์ตเซน ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (เกียรตินิยม) จาก Royal Institute of Technology แห่งสวีเดน ในปี ค.ศ. 1986 หลังจบการศึกษาเขาเข้าทำงานกับ ‘ซีเมนส์’ (Siemens) ในกรุงเฮก ต่อด้วย ‘ฟิลิปส์’ (Philips) ในเมืองไอน์โฮเฟน

ในปี ค.ศ. 1990 ฮาร์ตเซน เข้าศึกษาต่อปริญญาโทควบปริญญาเอกที่ Delft University of Technology (เกียรตินิยม) โดยทำดุษฎีนิพนธ์หัวข้อ  Programmable Surface Acoustic Wave Detection in Silicon

ปี ค.ศ. 1991 เข้าทำงานกับ ‘อีริคสัน’ (Ericsson) สหรัฐอเมริกา จนถึงปี ค.ศ. 1993 และต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1993 ถึงปี ค.ศ. 1997 ย้ายไปอีริคสันสำนักงานใหญ่ในสวีเดน

ขณะที่ทำงานให้กับแผนก Ericsson Mobile Terminal ในเมืองลุนด์ ฮาร์ตสันได้เริ่มค้นคว้า วิจัย และพัฒนา ข้อกำหนดหรือ Protocol สำหรับ Bluetooth ขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1997 เขาได้ย้ายไปอีริคสัน เมืองเอมเมน โดยในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2000 ถึงปี ค.ศ. 2008 เขาเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Twente สอนระบบการสื่อสารด้วยวิทยุเคลื่อนที่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไร้สายที่ ‘แพลนโทรนิคส์’ (Plantronics)

ในปี ค.ศ. 2015 ฮาร์ตเซนได้เข้าสู่ทำเนียบ ‘หอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติ’ ปัจจุบัน เขาเป็นหุ้นส่วนของบริษัทอิเล็คทรอนิกส์ ‘ด็อพเพิล’ (Dopple)

ย้อนไปในปี ค.ศ. 1994 ฮาร์ตเซนได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบการสื่อสารแบบไร้สายภายในอาคาร และพยายามค้นหาวิธีเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ด้วยคลื่นวิทยุสั้น

โดยในที่สุดเขาก็พัฒนาระบบดังกล่าวจนสำเร็จ และกลายเป็นเทคโนโลยี Bluetooth จนทำให้ฮาร์ตเซนได้รับฉายาว่า ‘บิดา Bluetooth’ ในทุกวันนี้

ซึ่งชื่อ Bluetooth นั้น ได้รับการตั้งตามพระนามของกษัตริย์ไวกิ้งพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รวบรวมอาณาจักรนอร์เวย์ และเดนมาร์ก เข้าด้วยกันในศตวรรษที่ 10

เบื้องหลังการทำงานของ Bluetooth มีวัตถุประสงค์ในการออกแบบเพื่อใช้ทดแทนสายสื่อสารแบบ RS-232 ที่ได้รับความนิยมในอดีต ถึงแม้ว่า ดูเผิน ๆ Bluetooth จะมีฟังก์ชันการทำงานคล้ายกับ Wi-Fi

ทว่า ฮาร์ตเซนได้ออกแบบ Bluetooth ให้มีช่วงคลื่นที่สั้นกว่า และใช้พลังงานน้อยกว่า Wi-Fi อย่างชัดเจน

เบื้องหลังการถ่ายทำก็คือ ฮาร์ตเซน ได้พัฒนาชิป ซึ่งใช้พื้นที่ในการจัดวางน้อย และที่สำคัญก็คือ Bluetooth ใช้พลังงานแบตเตอรีเพียงเล็กน้อย แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างมากกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม Bluetooth เวอร์ชันแรกยังประสบปัญหาการส่งคลื่นไปอากาศที่เกิดจากการไม่เปิดเผยตัวตนที่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนของอุปกรณ์ระหว่างผู้รับและผู้ส่ง รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการเชื่อมต่อที่ยังไม่เสถียรเหมือนในปัจจุบัน บวกกับปัญหาด้านความเร็วข้อมูล และระยะทำการที่ไม่สามารถเข้าถึงได้หากอุปกรณ์อยู่ไกลจากกันเกิน 10 เมตร อย่างไรก็ดี ความสามารถของ Bluetooth ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และสามารถแก้ปัญาทั้งหมดให้จบสิ้นไปในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าวงการที่มีการใช้ Bluetooth มากที่สุดก็คือ ‘แวดวงเครื่องเสียง’ ที่แม้ว่าในตอนแรก Bluetooth ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการฟังเพลงโดยเฉพาะแบบในปัจจุบัน เนื่องจาก Bluetooth มีความเร็วเพียง 721Kbps ซึ่งไม่สร้างเสียงคุณภาพเทียบเท่าการฟัง CD ได้

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าเทคโนโลยี Bluetooth จะถูกใช้ในการฟังเพลงมากที่สุด ทั้งการฟังเพลงในรถยนต์ ที่ตอนนี้แทบไม่เหลือรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีเครื่องเล่น CD อยู่อีกแล้ว เพราะการฟังเพลงในรถยนต์ปัจจุบัน คือการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือที่เปิด APP ฟังเพลง และเชื่อมสัญญาณ Bluetooth ไปที่เครื่องเสียงรถยนต์เป็นหลัก

ยิ่งถ้าไม่ขับรถยนต์ส่วนตัว การฟังเพลงจากมือถือก็คือการเชื่อมต่อสัญญาณไปที่หูฟังไร้สาย ที่เดิมใช้เป็นอุปกรณ์แทน Small Talk แต่ทุกวันนี้ การฟังเพลงผ่าน Bluetooth ให้สัญญาณและระบบเสียงที่คมชัดมากกว่าเดิมมากทีเดียว

ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากในปี ค.ศ. 1998 ที่ฮาร์ตเซนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเครือข่ายเทคโนโลยี ‘Bluetooth Special Interest Group’ หรือ BSIG และเขาได้ดำรงตำแหน่งประธาน BSIG จนถึงปี ค.ศ. 2000

โดย BSIG ได้จับมือกับไอบีเอ็ม, อีริคสัน, โนเกีย, โตชิบา และอินเทล ค้นคิด ประดิษฐ์ และวิจัย เพื่อสร้างมาตรฐาน Interface ของ  Bluetooth จนกลายเป็นมาตรฐานการสื่อสารใหม่ ที่มีคุณภาพ และได้รับการยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวงการเครื่องเสียงในทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ก่อตั้ง BSIG และหากย้อนไปในช่วงคิดค้น Bluetooth เทคโนโลยีนี้ก็เติบโต และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงรักษาความเชื่อมโยงที่เข้ากันได้ดีของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์

ปัจจุบัน Bluetooth กลายเป็นมาตรฐานการสื่อสารไร้สายหมายเลขหนึ่งของโลก ในมุมมองของผู้ใช้งานรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นนักฟังเพลงตัวยง

ยังไม่นับฟีเจอร์การถ่ายโอนข้อมูลแบบไร้สาย นอกจากนี้ Bluetooth ยังได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับ Smart Phone ส่วนใหญ่ในโลก ด้วยความสามารถในการแชร์ไฟล์ การจับคู่อุปกรณ์ และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยทั้งหมดนี้ใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

และทั้งหมดนี้ ต้องขอกล่าวคำขอบคุณ ‘ยาป ฮาร์ตเซน’ เจ้าของฉายา ‘บิดา Bluetooth’ มา ณ โอกาสนี้ครับ

 

เรื่อง : จักรกฤษณ์ สิริริน    
ภาพ : National Inventors Hall of Fame