03 มิ.ย. 2567 | 14:00 น.
KEY
POINTS
หากวงการดนตรีมี ‘เอลวิส เพรสลีย์’ เป็นบุคคลระดับตำนาน วงการสถาปัตยกรรมก็คงต้องมอบตำแหน่งนั้นให้แก่ ‘แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์’ (Frank Lloyd Wright) เพราะเขาคือสถาปนิกที่นักเรียนสถาปัตย์ทุกคนต้องรู้จัก ผลงานของเขาถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาตลอดหลายสิบปีจวบจนปัจจุบัน และเป็นหมุดหมายที่นักเดินทางสายออกแบบต้องไปเยี่ยมเยือนเพื่อให้ได้เพ่งพิจารณาจุด เส้น ระนาบ แสงเงา และแนวคิดในการออกแบบของเขา
คนส่วนมากรู้จักแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ จากงานสถาปัตยกรรม ซึ่งได้สร้างจริง 532 หลัง จากผลงานออกแบบนับพันชิ้น และมี 8 หลัง ที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก อาทิ บ้านน้ำตก พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ทาลีซินเวสต์ รวมถึงบ้านทาลีซิน ซึ่งเป็นฉากสำคัญแห่งหนึ่งในชีวิตส่วนตัวที่ไม่ธรรมดาและออกจะดราม่าดั่งนิยายของสถาปนิกชื่อก้องโลกผู้นี้
แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ เกิดในปี ค.ศ.1867 ที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกของพ่อที่เป็นนักเทศน์และนักดนตรี กับแม่ที่เป็นคุณครู ในช่วงแรกของชีวิต ครอบครัวของเขาต้องติดตามพ่อย้ายไปมาหลายเมืองเพื่อทำงาน แต่สุดท้ายก็ประสบปัญหาทางการเงิน และกลับมารับความช่วยเหลือจากครอบครัวฝั่งแม่ ซึ่งเป็นครอบครัวชาวเวลส์ขนาดใหญ่ในเมืองสปริงกรีน รัฐวิสคอนซิน จนเขาอายุ 11 ปี พ่อของเขาก็ได้งานและพาครอบครัวมาตั้งรกรากในเมืองใกล้ ๆ แล้วพออายุ 14 ปี พ่อแม่ก็แยกทางกัน ก่อนจะหย่าขาดจากกันในอีก 4 ปีต่อมา หลังจากนั้นพ่อก็หายตัวไปจากชีวิตของไรต์ตลอดกาล
ด้วยสถานะทางการเงินของครอบครัวที่ขัดสนหลังการหย่าร้าง ไรต์ต้องทำงานในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน – แมดิสัน ไปพร้อมกับเป็นนักเรียนพิเศษในสาขาวิศวกรรม แต่เขาลาออกไปก่อนเรียนจบ และหอบความฝันที่จะได้เป็นสถาปนิกมุ่งหน้าสู่ชิคาโก
แม้ไม่เคยเรียนด้านสถาปัตยกรรม แต่ไรต์ก็พอมีประสบการณ์เล็กน้อยจากการช่วยดูแลงานตกแต่งภายในและการก่อสร้างโบสถ์ให้ลุงของเขา ต่อมาพอเขาไปหางานที่ชิคาโก เขาก็ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทสถาปัตย์ที่ออกแบบโบสถ์หลังนี้ในตำแหน่งดราฟต์แมน เขาเปลี่ยนงานอีก 2 ครั้ง จนมาทำงานให้กับ ‘Adler & Sullivan’ สตูดิโอสถาปนิกที่มีชื่อเสียง ภายใต้การดูแลโดยตรงของ ‘หลุยส์ ซัลลิแวน’ ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งตึกระฟ้า’ และ ‘บิดาแห่งโมเดิร์นนิสม์’
ตอนอายุ 22 ปี เขาแต่งงานกับ ‘แคทเธอรีน ลี โทบิน’ ไรต์ซึ่งอยากมีบ้านเป็นของตัวเองมากได้ขอทำสัญญาจ้าง 5 ปี แลกกับการกู้เงินจากซัลลิแวนมาซื้อที่ดินและสร้างบ้านเพื่อสร้างครอบครัว แต่ครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นควบคู่กับรสนิยมเลือกใช้ข้าวของหรูหรามีราคาก็ทำให้เขาเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง ไรต์จึงต้องรับงานนอกที่ถึงแม้จะไม่ได้เอาเวลางานมาทำ แต่ก็ยังขัดต่อกฎของบริษัท และทำให้ซัลลิแวนโกรธมากเมื่อทราบเรื่องในอีก 4 ปีให้หลัง เหตุการณ์นี้ทำให้เขาสองคนตัดขาดจากกันไปถึง 12 ปี
แต่ความแตกหักนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ออกมาเปิดสตูดิโอของตัวเอง
กิจการของไรต์ไปได้สวย เขากลายเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ดีที่สุดของชิคาโก แต่มันก็นำมาซึ่งความเหนื่อยล้าทั้งในฐานะสถาปนิกและหัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่มีลูกถึง 6 คน จนเขาได้พบกับ ‘มามาห์ เชนีย์’ ภรรยาของลูกค้า แม่ของเด็กสองคน และเพื่อนสนิทของแคทเธอลีน
ช่วงเวลาที่ไรต์ออกแบบบ้านให้ครอบครัวของมามาห์ เขาสองคนใกล้ชิดกันมากขึ้นและมากขึ้น ไรต์พบว่ามามาห์เป็นผู้หญิงสมัยใหม่ เธอจบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เป็นนักสตรีนิยม นักแปล และมีสติปัญญาในระดับที่คู่ควรแก่การเป็นคู่ชีวิตของเขา
คนไม่โสดสองคนตกหลุมรักกันอย่างบ้าคลั่ง การเป็นคนดังของไรต์ทำให้สื่อท้องถิ่นจับตามองความสัมพันธ์ผิดจารีตครั้งนี้ และในวัย 42 ปี ไรต์กับมามาห์ก็หนีตามกันไปอยู่ยุโรปเพื่อหลบเรื่องอื้อฉาวอยู่หนึ่งปี
พอกลับมาสหรัฐอเมริกา สามีของมามาห์ยอมหย่าให้ แต่ภรรยาของไรต์ไม่ยอมเพราะหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะกลับมาหาเธอ อย่างไรก็ตาม ไรต์และมามาห์ยังคงใช้ชีวิตคู่ตามใจปรารถนา ไรต์พาคนรักไปตั้งรกรากในแถบชนบทของเมืองสปริงกรีนใกล้สถานที่ที่เขาเติบโตมาซึ่งอยู่ห่างจากชิคาโกราว 300 กิโลเมตร สะดวกพอที่เขาจะเดินทางไปรับงาน และมามาห์กลับไปพบลูก ๆ ของเธอได้
ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ต้อนรับพวกเขาสองคนนัก พวกเขากลัวว่าการมีอยู่ของคู่รักจะส่งผลต่อมาตรฐานศีลธรรมของเด็ก ๆ ที่ต้องมาเห็นการกระทำของคนซึ่งไม่ยอมรักษาสัจจะของการสมรส มันเป็นความผิดบาปตามความเชื่อของสังคมอเมริกันขณะนั้นที่ยังคงอนุรักษ์นิยม จนชาวบ้านถึงขั้นเรียกร้องให้นายอำเภอจับกุมไรต์
“ผู้หญิงสองคนจำเป็นสำหรับชายที่เป็นศิลปิน คนหนึ่งคือแม่ของลูก และอีกคนคือพันธมิตรทางใจ แรงบันดาลใจ และเนื้อคู่” ไรต์กล่าวกับนักข่าวไว้เช่นนี้
ไรต์ไม่ยี่หระกับความขุ่นข้องของคนในพื้นที่ต่อการมีอยู่ของเขาและมามาห์ และเดินหน้าสร้าง ‘ทาลีซิน (Taliesin)’ หรือ ‘บังกะโลแห่งรัก’ ตามคำเรียกของสื่อท้องถิ่น ให้เป็นบ้านและสตูดิโอของเขาต่อไป
ภาพจาก franklloydwright.org
‘ทาลีซิน’ แห่งนี้นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ บ้านหลังงามกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติโดยรอบ เขาอธิบายในภายหลังว่า “บ้านไม่ควรอยู่บนเนินเขาหรือบนสิ่งอื่นใด มันควรเป็นส่วนหนึ่งของเนินเขา เนินเขาและบ้านควรอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย” แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมนี้ก็ทำให้ ‘บ้านน้ำตก (Fallingwater House)’ กลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซอีกชิ้นของเขาด้วย
ภาพจาก Pixabay
บ่ายวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1914 เพียงไม่กี่ปีหลังจากที่เขาสองคนได้ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันอย่างเปิดเผยในกระท่อมแห่งรัก ขณะที่ไรต์กำลังทำงานอยู่ที่ชิคาโก และมามาห์กำลังรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับลูกติดจากอดีตสามี วัย 9 ขวบ และ 11 ขวบ ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมที่บ้านทาลีซิน คนรับใช้นาม ‘จูเลียน คาร์ลตัน’ ได้เข้ามายังห้องอาหารพร้อมขวานในมือ และลงมือจามนายหญิงของเขากับเด็กสองคน แล้วปิดล็อกประตูหน้าต่าง เทน้ำมันราดบนตัวบ้าน จุดไฟเผา กลุ่มคนงานที่กำลังนั่งทานข้าวอยู่ที่อีกมุมหนึ่งของบ้านแตกกระเจิง เสื้อผ้าของชายคนหนึ่งลุกติดไฟ เขาจึงกระโจนออกมาจากหน้าต่างแล้วกลิ้งลงเนินไปบนพื้นหญ้าเพื่อดับไฟ พอเขามองกลับขึ้นไปยังบ้านทาลีซิน ภาพชวนสยองก็ปรากฏอยู่บนนั้น จูเลียนกำลังใช้ขวานไล่ฟันคนงานที่พยายามหนีออกทางหน้าต่างในบ้านที่ท่วมไปด้วยเปลวเพลิง
เหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิตรวม 7 คน จาก 9 คน ไม่รวมจูเลียนซึ่งถูกพบในสภาพแทบไม่มีสติอยู่ในชั้นใต้ดิน เขาพยายามทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการกลืนกินกรดไฮโดรคลอริกลงคอ แต่ปริมาณไม่มากพอที่จะปลิดชีวิต โศกนาฏกรรมที่เขาก่อขึ้นนับเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในรัฐวิสคอนซิน และสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อคนในพื้นที่จนพยายามรุมประชาทัณฑ์เขา แต่จูเลียนก็รอดมาได้และถูกจับเข้าคุก กรดไฮโดรคลอริกที่เขากลืนเข้าไปได้ทำลายหลอดอาหารของเขาจนเป็นอุปสรรคต่อการรับประทาน เป็นเหตุให้เขาขาดอาหารจนเสียชีวิตในอีก 7 สัปดาห์ต่อมา โดยไม่เคยถูกพิจารณาคดี และไม่เคยอธิบายถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุโศกนาฏกรรมนี้
มีสมมติฐานมากมายเกี่ยวกับแรงจูงใจของจูเลียน บ้างก็ว่าเป็นการลงโทษไรต์และมามาห์ต่อการกระทำผิดศีลธรรม บ้างก็ว่าเป็นผลจากความคับข้องใจต่อการเหยียดเชื้อชาติ เพราะจูเลียนเป็นคนผิวดำจากเกาะบาร์เบโดสในทะเลแคริบเบียน บ้างก็ว่าจูเลียนบังเอิญรู้ตัวว่ากำลังจะถูกไล่ออก แต่สุดท้าย เหตุผลก็ยังคงเป็นปริศนา
ไรต์นั่งรถไฟกลับมาบ้านทันทีในคืนเกิดเหตุพร้อมอดีตสามีของมามาห์ซึ่งเป็นพ่อของเด็กสองคน เขาฝังร่างของหญิงอันเป็นที่รักไว้ที่สุสานใกล้เคียงโดยไม่มีทั้งการจัดพิธีศพหรือคำจารึกบนแท่นหิน เพราะทนการตอกย้ำถึงความสูญเสียไม่ได้
หลังโศกนาฏกรรม ไรต์จมอยู่กับความเศร้าและปัญหาทางจิตใจเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะกลับมาทุ่มเทสร้างบ้านทาลีซินขึ้นมาใหม่ให้ซับซ้อนกว่าเดิมตามสัญญาที่ให้ไว้กับมามาห์ จนแล้วเสร็จในฤดูใบไม้ร่วงของปีถัดไป
ในช่วงนี้ ไรต์ได้งานใหญ่ที่ญี่ปุ่นในการออกแบบโรงแรมอิมพีเรียล และชื่อเสียงจากผลงานนี้ได้ดึงดูดงานอื่นมาสู่เขา ทำให้เขาต้องไป ๆ มา ๆ สองประเทศ และกว่าจะกลับมาอยู่บ้านทาลีซินเต็มเวลาก็ตอนเสร็จจากงานที่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1922 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แคทเธอรีนยอมหย่า ปีต่อมาเขาก็แต่งงานกับ ‘มิเรียม โนเอล’ หญิงที่เขียนจดหมายถึงเขาเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุสังหารหมู่ตั้งแต่คริสต์มาสปีที่เกิดเรื่อง ทั้งคู่ย้ายมาอยู่ด้วยกันที่บ้านทาลีซิน แต่การแต่งงานก็ล้มเหลวเพราะฝ่ายหญิงติดมอร์ฟีน และปีต่อมา พวกเขาก็แยกทางกันโดยไม่ได้หย่าร้าง
ไม่นานหลังจากนั้น แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ วัย 58 ปี ได้พบรักครั้งใหม่กับ ‘โอกิวานนา ลาโซวิช’ หญิงที่อายุอ่อนกว่าเขาถึง 31 ปี เธอย้ายมาอยู่บ้านทาลีซินและให้กำเนิดลูกสาวของเขาในปลายปี ค.ศ.1925 ในปีเดียวกันนี้ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอีกครั้งที่บ้านทาลีซินจากเหตุระบบไฟฟ้าขัดข้อง แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ไรต์ก็สูญเสียงานศิลปะญี่ปุ่นมูลค่า 5 แสนดอลลาร์ในขณะนั้นไปในกองเพลิง
มิเรียมยอมหย่าหลังจากนั้น และเปิดทางให้ไรต์แต่งงานกับโอกิวานนา หญิงที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจในการทำงานพร้อมกับเป็นแม่ของลูกในคนเดียวกัน แต่ก็นำมาซึ่งหนี้สินมหาศาลจากการหย่า รวมกับหนี้ที่มีอยู่ก่อนแล้วจากเหตุเพลิงไหม้ ทำให้เขาถูกบังคับให้ขายทรัพย์สมบัติในราคาถูกเพื่อนำมาใช้หนี้ และเกือบจะถูกธนาคารยึดบ้านทาลีซินไป แต่โชคยังดีที่อดีตลูกค้าและเหล่าอดีตลูกศิษย์ระดมทุนเข้าช่วยเหลือ และรักษาบ้านไว้ได้
บ้านทาลีซินที่ถูกสร้างเป็นครั้งที่ 3 นี้ ได้เป็นสถานที่ที่ไรต์ใช้สร้างสรรค์ผลงานระดับขึ้นหิ้งหลายชิ้น สองสามีภรรยายังร่วมกันก่อตั้ง ‘Taliesin Fellowship’ ซึ่งเป็นโครงการให้นักศึกษาฝึกงานเข้ามาเรียนรู้แบบบูรณาการผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับการก่อสร้าง การทำฟาร์ม ทำสวน ทำอาหาร ไปพร้อมกับศึกษาธรรมชาติ ศิลปะ และดนตรี มันเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่แปลก และนักศึกษาก็มองว่าไรต์เป็นคนแปลกที่ยากจะทำงานด้วย แต่การยอมเสียสละหนึ่งปีเพื่อแลกกับประสบการณ์ทำงานร่วมกับปรมาจารย์สถาปนิกคนนี้ก็คุ้มค่า
ด้วยความหนาวเหน็บของรัฐวิสคอนซินในฤดูหนาว ไรต์พาครอบครัว และนักศึกษาจาก Taliesin Fellowship ไปอยู่ที่รัฐแอริโซนา และเปลี่ยนความท้าทายเป็นนวัตกรรมใหม่ในงานสถาปัตยกรรม จนเกิด ‘ทาลีซินเวสต์ (Taliesin West)’ ค่ายพักประจำฤดูหนาวท่ามกลางทะเลทรายรกร้างห่างไกล ในปี ค.ศ.1937
ช่วงบั้นปลายของชีวิต ไรต์ยังคงกระหายที่จะทำงาน เขาออกแบบ บรรยาย เขียนหนังสือ ‘พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ (Guggenheim Museum)’ ผลงานที่มีชื่อที่สุดของเขาก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงท้ายชีวิตนี้
ภาพจาก www.guggenheim.org
ไรต์เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 91 ปี ที่บ้านทาลีซินเวสต์ ซึ่งต่อมากลายเป็นสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์
แม้ว่าไรต์จะเสียชีวิตอย่างสงบ แต่ความตายของเขาก็ไม่ได้สงบนัก เขาปรารถนาจะให้ฝังร่างของเขาไว้ในสุสานของครอบครัวฝั่งแม่ในละแวกบ้านทาลีซินที่รัฐวิสคอนซิน ที่ซึ่งเป็นบ้านของเขามาเกือบตลอดชีวิต และอยู่ไม่ห่างจากร่างมามาห์ อดีตคนรักผู้ล่วงลับจากเหตุฆาตกรรมหมู่ ร่างของไรต์นอนอย่างสงบที่นั่นจนถึงวันที่โอกิวานนา ภรรยาคนสุดท้ายเสียชีวิตลงในอีก 25 ปีต่อมา
ตามคำสั่งเสียของโอกิวานนา เธอขอให้มูลนิธิแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ นำขี้เถ้าของเธอและสามีผสมรวมกัน และฝังไว้บริเวณบ้านทาลีซินเวสต์ในรัฐแอริโซนา ร่างไร้วิญญาณของไรต์จึงถูกขุดขึ้นจากหลุมแบบเงียบ ๆ เผา และส่งไปฝังรวมกับขี้เถ้าของเธอในสถานที่ที่อยู่ห่างจากสุสานเดิมกว่า 2,600 กิโลเมตร
พอข่าวนี้แพร่ออกไป ลูกหลานของไรต์จากการแต่งงานครั้งแรกมองว่านี่เป็นการดูหมิ่นศาสนา ชาวท้องถิ่นต่างไม่พอใจที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ถูกพรากไปจากท้องที่ของเขาจนถึงกับมีการออกหนังสือไปยังรัฐแอริโซนาให้คืนศพ อย่างไรก็ตาม ป้ายหลุมศพของไรต์ยังคงวางอยู่เหนือหลุมศพว่างเปล่าในรัฐวิสคอนซินจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ จะไม่เคยเข้าเรียนวิชาสถาปัตยกรรมอย่างเป็นทางการ แต่ผลงานของเขาก็เป็นหลักฐานถึงอัจฉริยภาพที่หาได้ยาก ทำให้มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน – แมดิสัน ที่เขาเคยเรียนในสมัยก่อนได้มอบปริญญาศิลปกรรมดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่เขาเมื่ออายุ 88 ปี และในปี 1991 หลังการมรณกรรมของเขา 32 ปี American Institute of Architects ก็ได้ยกย่องว่าเขาเป็น ‘สถาปนิกชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล’ แนวคิดในการออกแบบของเขายังมีคงมีอิทธิพลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมมาจนทุกวันนี้
เหตุการณ์ลึกลับ เช่น ไฟกะพริบ ประตูหน้าต่างเปิดปิดเอง ที่มาพร้อมกลิ่นควันไฟและเสียงเด็กร้อง ก็ยังคงถูกพบเจอที่บ้านทาลีซินจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน
เรื่อง: นิธิตา เฉิน
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
Architect of desire: Frank Lloyd Wright's private life was even more unforgettable than his buildings
The Massacre at Frank Lloyd Wright’s ‘Love Cottage’
Mystery of the murders at Taliesin
The Love Of Frank Lloyd Wright's Life Was Slaughtered By An Axe-Swinging Servant
The Life of Frank Lloyd Wright
8 Frank Lloyd Wright Buildings Given UNESCO World Heritage Status