อินทรีสองหัว : ความขัดแย้งในยุโรปและ ‘ยูโร 2024’

อินทรีสองหัว : ความขัดแย้งในยุโรปและ ‘ยูโร 2024’

เรืองราวของ ‘อินทรีสองหัว’ จุดกำเนิดของสัญลักษณ์ที่มาพร้อมกับความขัดแย้งในยุโรปและ ‘ยูโร 2024’ ระหว่าง โครเอเชีย อัลเบเนีย และเซอร์เบีย

พลันเมื่อ ‘เมียร์ลินด์ ดากู’ (Mirlind Daku) นักฟุตบอลทีมชาติแอลเบเนีย หยิบโทรโข่งมาตะโกนว่า ‘เซอร์เบียสารเลว’ ทั้งที่ไม่ใช่แมตช์ที่ทีมชาติ ‘เซอร์เบีย’ ลงแข่ง เพราะมันเป็นเกมระหว่าง ‘โครเอเชีย’ กับ ‘แอลเบเนีย’ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้บรรยากาศ ‘ยูโร 2024’ เกิดความร้อนแรงขึ้นในทันที

สถานการณ์แบบนี้ มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เพราะใน ‘ยูโร 2020’ ในเกมระหว่าง ออสเตรียกับมาซิโดเนียเหนือ ‘มาร์โก อาร์เนาโตวิช’ (Marko Arnautović) นักบอลทีมชาติ ‘ออสเตรีย’ ซึ่งเป็นลูกครึ่งเซอร์เบีย-ออสเตรีย ได้ผรุสวาทใส่ ‘เอซกาน อลิโอสกี’ (Ezgjan Alioski) นักเตะทีมชาติมาซิโดเนียเหนือ ผู้มีเชื้อสายแอลเบเนีย จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตระหว่างสมาคมฟุตบอลทั้งสองชาติ ไปจนถึงยูฟ่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน ‘บอลโลก 2018’ แมตช์ระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับเซอร์เบีย ‘แจร์ดัน ชาชีรี’ (Xherdan Shaqiri) และ ‘กรานิต ชาก้า’ (Granit Xhaka) ที่พ่อแม่ของทั้งคู่เป็นชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนียที่อพยพมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ 

เมื่อทั้งสองคนยิงประตูเซอร์เบียได้ ต่างก็ทำมือเป็นสัญลักษณ์ ‘อินทรีสองหัว’ ซึ่งเป็นลายธงชาติแอลเบเนีย เพื่อเป็นการเย้ยหยันเซอร์เบีย เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ไล่ตั้งแต่ ฟีฟ่าลงมายูฟ่า ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลโลกฟุตบอล และบอลยุโรป มาจนถึงสมาคมฟุตบอลต่าง ๆ ในยุโรป และเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

ยังไม่นับแมตช์ยูโรรอบคัดเลือกระหว่างเซอร์เบียกับแอลเบเนีย ที่มีการบินโดรนพร้อมป้ายผ้าที่ระบุว่า 

แอลเบเนีย-โคโซโวคือชาติเดียว” 

ก่อนที่ ‘สเตฟาน มิโตรวิช’ (Stefan Mitrović) นักเตะทีมชาติเซอร์เบียกระโดดกระชากป้ายผ้าลงมาจากโดรน นักบอลทีมชาติแอลเบเนียเห็นธงชาติตัวเองโดนกระชากจึงเกิดเหตุชุลมุนระหว่างสองทีม

จาก ‘อินทรีหัวเดียว’ ถึง ‘อินทรีสองหัว’

หากมองย้อนกลับไปยังสัญลักษณ์ของชาติต่าง ๆ ทั้งเก่า - ใหม่ เราจะเห็นการปรากฏตัวของ ‘นกอินทรี’ เรียงไล่กันมาตั้งแต่จักรวรรดิโรมัน มาจนถึงจักรวรรดิรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาอำนาจยุคนี้อย่างสหรัฐอเมริกา

แต่ถ้าดูในประวัติศาสตร์ อารยธรรม ‘เมโสโปเตเมีย’ ของชาว ซูเมเรียนเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล ‘เทพนินอัวร์ตา’ (Ninurta) ในรูปสลักอินทรีสองหัว ถือเป็นเทพสูงสุดทั้งเมโสโปเตเมียและอียิปต์ที่มี ‘อินทรีจำแลง’ (Bennu)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรีก ที่ใช้ ‘อินทรีทอง’ (Aetos Dios) เป็นสื่อกลางกับ ‘ซูส’ (Zeus) เทพเจ้าสูงสุด เนื่องจากอินทรีมีสายตากว้างไกล แข็งแกร่ง รวดเร็ว มั่นคง และฉลาด ไปจนถึงความเป็นอมตะคือ ‘ฟีนิกซ์’ (Phoenix)

ต่อมาเมื่อโรมันเข้ายึดครองอียิปต์ได้นำ ‘เทพเจ้าฮอรัส’ (Horus) เทพครึ่งเหยี่ยวของอียิปต์ กลับไปเป็นตัวแทนอำนาจอาณาจักรตนในรูปลักษณ์อินทรีโดย ‘ไกอุส มาริอุส’ (Gaius Marius) แม่ทัพโรมัน ได้ใช้ ‘อินทรี’ แทนสัญลักษณ์กองทัพอันเกรียงไกร

จากสายตาอันเฉียบคม และปีกที่สยายปกคลุมไปทั่ว เป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ไพศาลของโรม คืออินทรีทอง ผู้ถืออำนาจของเทพเจ้า ‘จูปีเตอร์’ (Jupiter) กลายเป็น ‘อินทรีถือสายฟ้าของจูปีเตอร์’ จะเห็นได้ว่าอินทรีถูกผูกโยงกับสัญลักษณ์เชิงอำนาจอย่างชัดเจนนับตั้งแต่นั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสถาปนา ‘จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์’ ในปี ค.ศ. 800 ที่ปรากฏตัวพร้อม ‘อินทรีจักรพรรดิ Charlemagne’ ผู้ที่ได้รับการปราบดาภิเษกจากพระสันตะปาปาให้เป็น ‘จักรพรรดิแห่งโรมัน’ ตราแผ่นดินประดับด้วย ‘อินทรีหัวเดียวสีบนพื้นสีทอง’ เรียกว่า Reichsadler

ก่อนพัฒนามาสู่อินทรีสองหัวในรัชสมัยพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 ซึ่งหมายถึง การปกครองที่แผ่ไพศาลไปกว้างไกลกว่า ด้วยวิสัยทัศน์ที่จับจ้องไปได้ทุกทิศทาง เห็นได้จากกองทัพเยอรมันและออสเตรียในยุคต่อมาที่ใช้สัญลักษณ์ ‘อินทรีสองหัว’ และ ‘อินทรีหัวเดียว’ เป็นตราประจำธง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราอินทรีสองหัวของอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ที่มาจากตราประจำของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก

ที่หัวซ้ายของอินทรีหันไปทางทิศตะวันตก เป็นสัญลักษณ์ของโรม ส่วนหัวขวาของอินทรี หันไปทางทิศตะวันออก เป็นสัญลักษณ์ของคอนสแตนติโนเปิล ส่วนกางเขนและลูกโลกในอุ้งมือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางศาสนาและฆราวาส

อินทรีสองหัวเป็นสัญลักษณ์ที่นิยมใช้ในการสร้างตรา อาร์ม และธง ที่มาจากองค์ประกอบหนึ่งบนอาร์มของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจักรวรรดิไบแซนไทน์

โดยในตราของจักรวรรดิไบแซนไทน์ อินทรีสองหัวเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของจักรพรรดิ ทั้งในทางศาสนาและฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจของจักรวรรดิที่อยู่เหนือทั้งจักรวรรดิตะวันออกและตะวันตก

เห็นได้จากหลายชาติในยุโรปตะวันออก ได้นำ ‘อินทรีสองหัว’ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ประเทศจนถึงทุกวันนี้ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินทรีสองหัวเคยเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันมานานก่อนที่จักรวรรดิไบแซนไทน์จะนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำจักรวรรดิ เช่น สัญลักษณ์ของอาร์เมเนียในยุคกลาง เป็นต้น

 

‘อินทรีสองหัว’ ในความขัดแย้งร่วมสมัย

ต้องบอกว่า จุดความขัดแย้งในประเด็นอินทรีสองหัว เริ่มจากประเทศในยุโรปตะวันออกที่มีชื่อว่า ‘ยูโกสลาเวีย

ราว 3 ทศวรรษก่อน ยูโกสลาเวียเป็นชาติขนาดใหญ่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์กึ่งศาสนานิยมภายใต้อำนาจเผด็จการทหารนายพลติโต ประกอบด้วย 6 รัฐ ได้แก่ เซอร์เบีย โครเอเชีย บอสเนีย สโลวีเนีย มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย รวมถึงเขตปกครองระดับจังหวัด คือวอยวอดีนา และโคโซโว

ภายหลังการเสียชีวิตของนายพลติโต ในปี ค.ศ. 1980 ทำให้ทั้ง 8 เขตปกครองมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องขอแยกตัวออกจาก ยูโกสลาเวีย ท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘บอสเนีย’ ที่ประชากรกว่าครึ่งค่อนประเทศเป็นมุสลิม แต่ยูโกสลาเวียนับถือศาสนาคริสต์นำโดยเซอร์เบีย พร้อมกับความแตกต่างทางเชื้อชาติที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น โครแอต สโลวีเนีย หรือเซิร์บ

นำไปสู่การเรียกร้องขอแยกตัวออกจากยูโกสลาเวียนำโดยโครเอเชียที่กลายเป็นเรื่องยากทันทีที่เซอร์เบียประกาศไม่ยอมให้เกิดเอกราชง่าย ๆ นำไปสู่ ‘สงครามยูโกสลาฟ’ ที่ยาวนาน ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นยูโกสลาเวียล่มสลาย และโครเอเชียได้รับเอกราช

แต่ต้องจ่ายด้วยชีวิตผู้คนเรือนหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดเด็กกำพร้ามากกว่า 25,000 คนในยุคนั้น ที่แม้ ‘สงครามยูโกสลาฟ’ จะสิ้นสุดลงไปแล้วกว่า 30 ปี ทว่า ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ เห็นได้จากชาวโครเอเชีย แทบทุกคนที่เกลียดชัง ‘ชาวเซิร์บ’ อยู่อย่างรุนแรง ที่น่าแปลกก็คือ เจ้าของธงอินทรีสองหัว ชาติหนึ่งในปัจจุบัน นั่นคือ ‘แอลเบเนีย

เพราะจากเรื่องราวของยูโกสลาเวียข้างต้น จะเห็นได้ว่า แอลเบเนีย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไม่เพียง แอลเบเนียจะไม่ใช่ประเทศในอาณัติของยูโกเท่านั้น หากแต่แอลเบเนีย ไม่มีพรมแดนติดกับยูโก ด้วยซ้ำ

แต่ความขัดแย้งระหว่างแอลเบเนียกับยูโกในความหมายของเซอร์เบียกลับรุนแรงกว่า

อย่าลืมว่า ในองคาพยพของยูโกสลาเวีย มีจังหวัดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ‘โคโซโว’ เขตปกครองขนาดเล็กทางทิศตะวันออก มีพื้นที่ประมาณแค่ 11,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรราว 2 ล้านคน

จุดสำคัญก็คือ 82% ของชาวโคโซโวเป็นคนเชื้อสายแอลเบเนีย อีก 10% เป็นคนเชื้อสายเซิร์บ และคนส่วนใหญ่ในโคโซโวนับถือศาสนาอิสลาม

หลังจากยูโกสลาเวียพ่ายแพ้ในสงครามยูโกสลาฟให้แก่ โครเอเชีย นำไปสู่การแยกตัวออกไปของสโลวีเนีย บอสเนีย รวมถึง โคโซโว

เหตุผลสำคัญก็คือ ชาวโคโซโวไม่ได้มีเชื้อสายเซิร์บ แถมยังเป็น มุสลิม ความต้องการแยกตัวยิ่งรุนแรง เพื่อปลดแอกจาก เซอร์เบียออกไปปกครองตัวเอง
เพราะชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนียเป็นกลุ่มชนที่ถูกกดขี่มาโดยตลอด เนื่องจากยูโก ให้ความสำคัญกับคนเชื้อสายเซิร์บ ที่มักได้งานดีในหน่วยงานราชการของจังหวัดโคโซโว นอกจากนี้ ชาวเซิร์บ ยังได้อำนาจปกครองพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่สัดส่วนประชากร มี ชาวโคโซโวเชื้อสายเซิร์บ แค่ 10% เมื่อเทียบกับชาวโคโซโว เชื้อสายแอลเบเนียที่มีมากถึง 82%

ยิ่งดื้อ เซอร์เบียยิ่งกด ด้วยการยืนยันผ่านพงศาวดารว่าโคโซโว คือดินแดนของชาวเซิร์บ เนื่องจากเมืองพริสตีนาคือเมืองหลวงของอาณาจักรเซอร์เบียยุคโบราณที่มีชาวเซิร์บที่เป็นชาวคริสต์อาศัยอยู่ก่อนนานกว่ามุสลิมโคโซโวที่เพิ่งจะเข้ามาอยู่ทีหลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โคโซโวคือพื้นที่ประวัติศาสตร์ จากการเป็น ‘ทุ่งสังหารสุลต่านออตโตมัน’ ทำให้เซอร์เบียมิอาจยอมได้ และโคโซโวก็ไม่ยอมเช่นกัน ทำให้ในปี ค.ศ. 1996 มีการก่อตั้ง ‘กองกำลังปลดปล่อยโคโซโว’ หรือ ‘KLA’ (Kosovo Liberation Army) เพื่อรบกับเซอร์เบียโดยเฉพาะอย่างยิ่ง KLA ได้รับการสนับสนุนเงินทุนเบื้องหลังจากแอลเบเนียประเทศแม่

สงครามยืดเยื้อหลายปี โดยในปี ค.ศ. 1998 กองทัพเซอร์เบีย บุกมาสังหารชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนียกว่า 10,000 คน เหตุการณ์จบลง เมื่อ NATO ทิ้งระเบิดใส่เซอร์เบียที่เบลเกรดทำให้เซอร์เบียถอยออกไปจากโคโซโว

KLA เมื่อได้รับการหนุนหลังแบบนี้ ก็ย่ามใจ ก่อความโหดเหี้ยมด้วยการไล่สังหารชาวเซิร์บในโคโซโวตายไปหลายพันคน

อย่างไรก็ดี ต้องรอถึงปี ค.ศ. 2008 กว่าที่โคโซโวจะประกาศเอกราชภายใต้การรับรองของนานาชาติ ตราบจนปัจจุบัน ที่ความขัดแย้งระหว่างเซอร์เบียกับโคโซโวยังคงคุกรุ่น ซึ่งแน่นอนว่า ทุกอย่างเชื่อมโยงไปยังแอลเบเนีย

เพราะชาวแอลเบเนียยังฝังใจที่ชาวเซอร์เบียเคยกวาดล้างชาวโคโซโวเชื้อสายแอลเบเนีย ส่วนชาวเซอร์เบียก็เกลียดคนแอลเบเนีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอยู่เบื้องหลังยุยงปลุกปั่นด้วยการสนับสนุน KLA ให้สังหารโหดชาวเซอร์เบียจำนวนมาก

ดังนั้น เมื่อชาวเซิร์บเห็นสัญลักษณ์อินทรีสองหัวเมื่อไหร่ ใจประหวัดไปถึงธงชาติแอลเบเนีย ขณะที่ชาวยุโรปตะวันออกหลายชาติที่ใช้สัญลักษณ์อินทรีสองหัวก็มีอารมณ์ร่วมไปด้วย

 

บทสรุปส่งท้าย: ‘อินทรีสองหัว’ ในสัญลักษณ์ประเทศต่าง ๆ

หากไม่นับตราอาร์มของจักรวรรดิรัสเซีย หรือสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน ตราของราชวงศ์พาลาโอโลกอสของจักรวรรดิไบแซนไทน์ เป็นตัวอย่างที่ดีของสัญลักษณ์ ‘อินทรีสองหัว’ รวมถึงตราอาร์มของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราอาร์มของจักรพรรดิฮับส์บวร์ก

ตามมาด้วยตราอาร์มของจักรพรรดิคาร์ลที่ 1 จักรวรรดิสเปน ตราอาร์มของจักรวรรดิออสเตรีย ตราอาร์มของสมาพันธรัฐเยอรมัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราอาร์มของราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ที่เป็นจุดขัดแย้งหลักของตำนาน ‘อินทรีสองหัว’ ในปัจจุบัน ที่มีตราแผ่นดินของเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเป็นองค์ประกอบหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราแผ่นดินของเซอร์เบียในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในประวัติศาสตร์ยังมีตราอาร์มของอดีตสาธารณรัฐเซิร์ปสกา ตราแผ่นดินของมอนเตเนโกร ตราแผ่นดินของแอลเบเนีย ตราของสการเดอร์เบิร์ก ตราอาร์มของลือเบกค์ ตราอาร์มของเบลเกรด ตราอาร์มของตระกูลมอนเตเฟลโทร ธงของโทเลโด และตราอาร์มของราชวงศ์เนมันจิชในคริสต์ศตวรรษที่ 12