14 ส.ค. 2567 | 12:08 น.
KEY
POINTS
ปารีสโอลิมปิก ปี 2024 ที่เพิ่งจบไปหมาด ๆ หลายคนน่าจะได้เห็นวิวทิวทัศน์อันสง่างาม ตึกรามอาคารหรูหราภูมิฐาน ผังเมืองและตรอกซอกซอยที่มีเสน่ห์ ร้านค้าคาเฟ่แสนโรแมนติก ต้นไม้เขียวขจีร่มรื่น และอีกหลายคำจำกัดความเชิงบวกที่ยกย่องเชิดชู ‘กรุงปารีส’
ความจริงแล้ว ปารีสในอดีตไม่ได้มีหน้าตาแบบทุกวันนี้เลย แต่กลับขึ้นชื่อในเรื่องความสกปรก แออัด ไร้ศิลปะ ไร้จินตนาการ ไร้ความศิวิไลซ์
กระทั่งมีชายคนหนึ่งที่ชาวฝรั่งเศสเรียกเขาว่า ‘บารง โอสมานน์’ (Baron Haussmann) ที่มาทรานฟอร์มปารีสครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เปลี่ยนปารีสเดิม ๆ ให้กลายเป็นปารีสในเวอร์ชันที่ดีที่สุดเท่าที่ปารีสเคยมีมา ดีถึงขนาดที่ว่าแม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว แต่คนในเจเนอเรชันพวกเราก็ยังคงชื่นชมไม่ขาดสายเลย
บารง โอสมานน์… สุภาพบุรุษผู้นี้เป็นใครมาจากไหน และเขาได้ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้กับกรุงปารีสบ้าง? มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
บารง โอสมานน์ เกิดเมื่อปี 1809 มีชื่อเดิมว่า ‘ชอร์ส อูแชง โอสมานน์’ (Georges Eugène Haussmann) เขาเป็นชาวปารีสโดยกำเนิด เกิดและโตที่นี่ในครอบครัวตระกูลทหารชั้นสูง
แต่ปารีสในยุคสมัยของเขาไม่ใช่ปารีสอันงดงามแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เขาเติบโตมาในปารีสเวอร์ชันที่แออัดคับแคบ พื้นที่สาธารณะน้อย ผังเมืองแย่ สะพานข้ามแม่น้ำน้อย ตรอกซอกซอยที่เป็นแหล่งมั่วสุมเยอะ ตึกรามบ้านช่องก็ดูทรุดโทรมไม่สวยงาม สภาพบ้านเมืองสกปรกส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งของเชื้อโรคระบาด ขณะที่ประชากรก็หลั่งไหลเข้ามามีแต่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาที่รอวันปะทุในอนาคต
เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะเคยชินกับสภาพแวดล้อมรอบตัว แม้ว่าจะเสื่อมโทรมหรือไม่น่าอภิรมย์แค่ไหน แต่สำหรับโอสมานน์แล้ว เขากลับเก็บสิ่งนี้ไว้ในใจ รอวันข้างหน้าที่จะได้เปลี่ยนแปลงบ้านเกิดให้ดีกว่าเดิมเมื่อโอกาสมาถึง
โอสมานน์เข้าเรียนในโรงเรียนที่แวดล้อมไปด้วยลูกหลานชนชั้นสูง เขาจึงคุ้นเคยกับรสนิยมที่หรูหราเป็นอย่างดี ก่อนไปเรียนต่อด้านกฎหมายในวิทยาลัยของกรุงปารีส พร้อมกับเรียนดนตรีควบคู่กันไป เขามีดนตรีเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เรียกว่าเขามีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีตรรกะการตีความตามตัวอักษรด้านกฎหมายที่เรียนมา พร้อมกับเซนส์ด้านศิลปะและอารมณ์สุนทรีย์ในหัวใจ
เมื่อเข้าวัยทำงาน เขาเริ่มเข้ารับราชการแผ่นดินเป็นครั้งแรกในปี 1831 ในบทบาท ‘เลขาธิการ’ (Secretary - general) ดูแลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส แม้เขาไม่เคยเรียนในหลักสูตรนักวางผังเมืองหรือสถาปัตยกรรมเลย แต่บทบาทราชการนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้การวางแผนการใช้ที่ดิน (Land use planning) หลายพื้นที่ทั่วประเทศในเวลาต่อมา รวมถึงสะสมองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านสถาปัตยกรรมของตึกรามบ้านช่อง
เขาโชว์ความสามารถไต่เต้าจนขึ้นมาเป็น ‘ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งแซน’ (Prefect of the Seine) ที่ดูแลครอบคลุมพื้นที่เมืองปารีส ในปี 1853
ในยุคสมัยนั้น ‘จักรพรรดินโปเลียนที่ 3’ ผู้นำของฝรั่งเศส มีการสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงกรุงปารีสให้ดียิ่งขึ้น เขาได้มอบหมายภารกิจนี้ให้โอสมานน์ดูแล เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่สุดในเวลานั้น จึงทำให้โอสมานน์มีอำนาจในการตัดสินใจเบ็ดเสร็จ นำพาจินตนาการในหัวและแผ่นกระดาษออกสู่ชีวิตจริงได้สำเร็จ โดยเฉพาะในวัยกลางคนที่สะสมองค์ความรู้และประสบการณ์ทำงานมาทั้งชีวิต ถึงเวลาเขาได้โชว์ความสามารถอย่างแท้จริง
(**แต่ทั้งนี้เราก็ต้องไม่ลืมว่า มีผู้คนมากมายต้องพลัดพรากจากถิ่นเดิมและหลายอาคารเก่าที่ต้องถูกทุบทิ้งหลีกทางให้กับการพัฒนาใหม่จากโปรเจกต์ใหญ่ของเขา นี่คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากต่อทุกการพัฒนา เป็นเหรียญสองด้านที่เกิดขึ้นพร้อมกัน)
เบ็ดเสร็จ เขาใช้เวลา ‘รีโนเวต’ ปารีสรวม 17 ปี ตั้งแต่ปี 1853 - 1870 ถือเป็นระยะเวลาที่ไม่นานในสเกลประวัติศาสตร์และในแง่พัฒนาการของเมือง และการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้
เขาออกแบบประเภทของถนนที่เรียกว่า ‘บูเลอวาร์ด’ (Boulevard) ถนนใจกลางเมืองที่กว้างขวางหลายเลน ประดับประดาด้วยต้นไม้ใหญ่สองข้างทาง อย่างเช่น ถนนริโวลี (Rue de Rivoli) ซึ่งเป็นถนนบูเลอวาร์ดแห่งแรกที่โอสมานน์ออกแบบไว้ หรือ ถนนแซงต์ - แชร์กแมง (Boulevard Saint - Germain) ที่กลายมาเป็นย่านปัญญาชนและศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของปารีสในปัจจุบัน
นัยหนึ่ง บูเลอวาร์ดมีไว้เพื่อการสัญจรผ่านของกองทัพและการแสดงแสนยานุภาพทางทหาร แต่สำหรับโอสมานน์ตั้งใจไว้เพื่อศักยภาพการเติบโตของผังเมืองในระยะยาว เช่น แก้ปัญหาจราจรในอนาคต และที่สำคัญกว่าคือให้เป็นหน้าเป็นตาของเมือง เป็นดั่งถนนแลนมาร์คที่มีไว้จัดพิธีสำคัญ ๆ ระดับประเทศด้วย
เขายังออกแบบผังเมืองปารีสให้เป็นลักษณะ ‘จัตุรัส’ (Squares) ที่มีหลายจตุรัสเชื่อมกันเป็นโครงข่าย และแต่ละจตุรัสจะมีถนนหลัก ‘ดาวกระจาย’ แตกย่อยออกไปรอบ ๆ ตัวอีกที นอกจากเพิ่มพื้นที่สัดส่วนถนนที่มีต่อเมืองแล้ว ยังทำให้พื้นที่ในเมืองเชื่อมต่อถึงกันหมด ส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจการค้าขายของร้านค้า เกิดเป็นย่านเล็กย่านน้อยที่น่าค้นหา
เขายังออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารอันหรูหรา ภูมิฐาน สง่างาม โดยมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘สถาปัตยกรรมแบบโอสมานน์’ โดยอาคารกว่า 60% ของปารีสในปัจจุบันเป็นมรดกตกทอดโดยตรงจากงานออกแบบของโอสมานน์
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดรูปแบบที่ตายตัวชัดเจน เพื่อสร้างความกลมเกลียว (Harmony) ในแง่วิวทิวทัศน์หน้าตาให้กับเมือง เราจะสังเกตได้ว่าเดินไปทางไหนในใจกลางเมืองปารีส จะเห็นตึกลักษณะนี้รายล้อมรอบตัว 360 องศาแทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังกำหนดรายละเอียดตึกอาคารต่าง ๆ ไว้ชัดเจน เช่น
กำหนดระดับความสูงของตึกเท่ากัน จำกัดความสูงไม่เกิน 20 เมตร และให้มีทั้งหมด 6 ชั้น
ใช้วัสดุเปลือกอาคาร (Facade) เหมือนกัน ใช้หินแข็งแรงที่เรียกว่า ‘หินปูนลูเตเชียน’ (Lutetian limestone) และกำหนดให้บำรุงรักษาอย่างน้อยทุก ๆ 10 ปี
มีการกำหนดรูปทรงของหน้าต่าง พร้อมวิธีพับผ้าม่านภายในให้สวยงาม รวมถึงดีไซน์ของ เหล็กดัด (Wrought iron) บริเวณนอกหน้าต่างให้เหมาะสมกับหน้าต่างแต่ละประเภท
ในแง่ฟังก์ชั่นใช้งาน กำหนดให้ชั้นล่างสุดเป็นร้านค้าขายของ เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวากับเมือง ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย
บนดินว่าสวยแล้ว ใต้ดินของเมืองยังถูกอัพเกรดใหม่ด้วย! โอสมานน์ออกแบบระบบน้ำประปาใหม่ (Water supply) ให้กับกรุงปารีส น้ำสะอาดขึ้นใช้ได้ทั่วเมือง น้ำที่สะอาดเหล่านี้ยังถูกใช้ตามบ้านเรือนและตามน้ำพุในสวนสาธารณะของเมือง ปารีสจึงถือเป็นเมืองใหญ่แรก ๆ ของโลกที่มีน้ำประปาสะอาดใช้ขนาดนี้ และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อายุขัย (Life expectancy) ของผู้คนในเมืองเพิ่มขึ้นด้วย เพราะลดโอกาสเกิดโรคระบาด และมีสุขอนามัยที่ดีขึ้นนั่นเอง
เมืองที่ดี เมืองที่มีชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ต้องดูดีในระดับพื้นดิน ผ่านระดับสายตาการเดินของมนุษย์เรา ไม่ใช่ดูดีจากบนท้องฟ้าหรือสวยงามเป็นระเบียบแค่ในแผ่นกระดาษ
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวรู้จักกันได้ดีในรูปแบบของคาเฟ่เก๋ ๆ ริมทางเดิน ที่สามารถออกมานั่งเอาท์ดอร์กินลมชมวิวชมคนเดินผ่านไปมา เป็นคาแรกเตอร์อันน่าหลงใหลที่บ่งบอกสไตล์ปารีส และน้อยคนที่จะไม่ตกหลุมรักไลฟ์สไตล์แบบนี้
โอสมานน์ยังส่งเสริมแนวคิด ‘เฟอร์นิเจอร์ริมทางเดิน’ เช่น ต้นไม้ตลอดริมทาง เสาไฟ หรือซุ้ม (Kiosk) ขายของจิปาถะ เพื่อความมีชีวิตชีวาของชาวเมือง
ชายผู้นี้ยังออกแบบให้มี ‘สวนสาธารณะ’ สวนเล็กสวนน้อยกระจายอยู่ในทุกย่านของปารีส โดยมีหลักคิดคือ ‘สวน 10 นาที’ ทุกคนต้องเดินออกจากบ้านไปถึงสวนสาธารณะได้ภายในเวลา 10 นาที ทุุกวันนี้ใครไปปารีสจะพบเลยว่ามีสวนสาธารณะน้อยใหญ่อยู่ในแทบทุกหัวมุมถนนก็ว่าได้ และภายในสวนยังตกแต่ง ‘น้ำพุในสวน’ ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์คู่กันกับสวนในปารีส นอกจากเป็นสิ่งประดับที่สวยงามแล้ว ยังมอบความรู้สึกชุ่มชื้นและเสียงของสายน้ำอันผ่อนคลาย
ผลงานของเขาได้กลายมาเป็น ‘ต้นแบบ’ ให้กับสถาปนิกและนักวางผังเมืองรุ่นต่อมาอย่างไม่ต้องสงสัย เช่น ผู้ออกแบบสวน ‘Central Park’ ในนิวยอร์ก ที่ได้มาเดินชมพร้อมวิเคราะห์ศึกษาสวนสาธารณะในปารีสถึงหลายครั้งก่อนนำไปออกแบบที่นิวยอร์ก
ถนนราชดำเนินในกรุงเทพฯ ก็เป็นถนนประเภทบูเลอวาร์ดแห่งแรกของเมืองไทย และเป็นถนนที่ได้ต้นแบบมาจาก ‘ถนนช็องเซลีเซ’ (Champs - Élysées) ของปารีส
จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ยังได้มอบยศ ‘บารง’ (Baron) ให้กับเขาอย่างสมเกียรติ และกลายเป็นชื่อที่หลายคนเรียกติดปากว่า ‘บารง โอสมานน์’ (Baron Haussmann)
มรดกตกทอดจากโอสมานน์มีอายุยืนยาวนับร้อยปีมาถึงปัจจุบัน เขาได้สร้างปารีสให้มี ‘พื้นฐานเมือง’ ที่ยอดเยี่ยม เมื่อพื้นฐานพร้อม ก็รองรับสิ่งแอดวานซ์ต่อยอดได้ง่าย
ด้วยพื้นฐานเมืองที่ดีเยี่ยมเลอค่าขนาดนี้ เมืองปารีสจึงกลายเป็นเหมือน ‘เครื่องจักรผลิตเงิน’ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ให้มาเยือน หน้าเก่าให้กลับมาซ้ำไม่รู้จบตลอดชีพ
สายฟู้ดดี้ อยากมานั่งคาเฟ่บิสโทรเก๋ ๆ ชิมอาหารอร่อย ๆ พร้อมดูผู้คนเดินผ่านไปมา
สายอาร์ต อยากมาเดินชมสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านเมืองอันสง่างาม
คนชื่นชอบเรื่องผังเมือง อยากมาเดินเล่นในปารีส ทะลุตรอกซอกซอยอย่างไร้จุดหมาย แค่นี้ก็ฟินแล้ว
…และใครมากมายอีกหลายต่อหลายคนที่อยากมาเยือนกรุงปารีสแห่งนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย
โดยปารีสเป็นหนึ่งในเมืองที่นักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก เวลคัมนักท่องเที่ยวไปมากถึง 44 ล้านคนในปี 2022 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวไปกว่า 753,000 ล้านบาท
ในมุมของธุรกิจ มีหลากหลายแบรนด์ต่าง ๆ ในเมืองที่ใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ความหรูหราของกรุงปารีส บางแบรนด์ถึงขนาดลงทุนเปิดชอปสาขาที่นี่หวังอานิสงส์ใช้เป็นชื่อเมืองต้นกำเนิด (City of origin)
ในมิติของเมือง ปารีสเป็นหนึ่งในเมืองที่เดินได้ (Walkable city) ดีที่สุดในโลก นอกจากดีต่อการใช้ชีวิตในเมืองและความยั่งยืนแล้ว ยังส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยต่อร้านค้ารายย่อยริมทางที่มีอยู่ทั่วเมือง!
‘เมื่อเมืองมีพื้นฐานดี จึงต่อยอดทำอะไรได้ง่าย’
เรื่อง: ปริพน นำพบสันติ
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
Haussmann the Demolisher and the creation of modern Paris
Georges-Eugène, Baron Haussmann
How Haussmann cleaned up the ‘dangerous’ Paris of old and established the bases of modern urbanism
Even before it hosts the Olympics, Paris is the world’s top tourist destination