ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

บทเรียนชีวิต ‘ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน’: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ สิ่งที่ดีที่สุดคือปฏิบัติดีกับคนรอบตัว”

“อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ สิ่งที่ดีที่สุดคือสร้างหลักประกันให้กับตัวเอง ด้วยการปฏิบัติดีกับคนรอบตัว” 

หนึ่งบทเรียนชีวิตจาก ‘ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน’ พิธีกรผู้ย่อยประวัติศาสตร์โลกให้เข้าใจง่ายแห่งรายการ 8 Minutes History

ในรายการ The Moment ดร.วิทย์ หรือที่พวกเราเรียกติดปากกันว่า ‘เฮียวิทย์’ ยังได้เผยมุมมองที่ทำให้เข้าใจว่า เหตุใดเขาจึงเป็น ‘ขวัญใจ’ ของคนทุกเจเนอเรชัน

“ยุคหนึ่งคนคิดถึงความสำเร็จ แต่ยุคเฮียคืออยู่ให้มีความสุข ต่างกันคนละโลกนะครับ พอมองย้อนกลับไป เราจะไปด่าคนที่หาความสำเร็จ ชื่อเสียง ไม่ได้นะ มึงไม่เคยเป็นเหรอ? มึงก็เป็น!

“วัยเฮียไม่มีใครคิดเรื่องสำเร็จแล้วครับ วัยเฮียเอาแค่ให้ตายแบบดี ๆ ก็ดีใจแล้ว ให้มันศพสวย”

แต่หากใจเขาใจเรายังไม่พอ เฮียวิทย์ก็มีอีกหนึ่งคาถาคือ ‘ช่างแม่งมัน’ ที่จะปลดปล่อยเราทุกคนจากทุกพันธนาการ

“คำพูดที่ติดปากมาก ๆ คือช่างแม่งมัน ถ้าเราเก็บเขาไว้ในใจ เราอ่อนแอนะครับ เราเปิดให้เขามาทำร้ายเรา แต่ถ้าเราเปลี่ยน กูเอามือออกไปแล้ว กูเป็นอิสระ”

ติดตามจังหวะชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตามแผนของเฮียวิทย์ และสิ่งที่ตกผลึกในชีวิตก่อนถึงวัยเกษียณ ที่บทสัมภาษณ์ดังต่อไปนี้ 
 

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

พาฝัน: ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนนึกถึงเฮียวิทย์ตลอด ดรีมขอคุยเรื่อง ‘เสียง’ ของเฮียวิทย์ก่อน พอจะเล่าได้ไหมคะว่าไปฝึกที่ไหนยังไง เสียงของเฮียวิทย์ถึงออกมาก้องกังวาลและมีพลังเหลือเกิน

เฮียวิทย์: ถ้าถามว่าฝึกที่ไหน คงต้องเป็นที่แรกที่เราทำข่าวคือ ‘เนชั่น’ ตอนที่เราเข้าไปที่เนชั่นใหม่ ๆ คุณสุทธิชัย หยุ่น พูดว่า “พรุ่งนี้นะครับ ทุกคนต้องพูดออกเสียงด้วยกระบังลม ถ้าพรุ่งนี้ใครไม่พูดด้วยกระบังลม ก็ไม่ต้องทำอาชีพนี้ เพราะอาชีพนี้ถ้าคุณตะเบ็งด้วยคอ คุณจะเจ็บคอ” ผมก็แบบ ตายแล้วเว้ยพรุ่งนี้ แต่พอถึงวันจริง ผมก็พูดเลย “สวัสดีครับ” เออ เรียบร้อย จนตอนหลังไปเรียนโยคะ จึงได้รู้ว่าสิ่งนั้นคือการกำหนดลมปราณ ถ้าเราเอาจิตไปจับที่ไหน เราจะเกร็งพื้นที่ตรงนั้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ถ้าจิตไปอยู่ที่ท้องก็จะเกร็งหน้าท้องโดยธรรมชาติ เหมือนกัน พอเราฝึกด้วยการพูดด้วยกระบังลม มันก็จะเป็นถนอมเส้นเสียงเรา กลายเป็นบทที่หนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็ใช้เสียงนี้มาตลอด 

แต่ต้องบอกก่อนว่า สิ่งนี้มันไม่ได้ดีนะครับ สมัยทำข่าวทีวี ปรากฏว่าสิ่งนี้เป็นปัญหามากครับ เพราะคนมักจะพูดว่า “เสียงคุณเป็นทางการไป พูดแล้วชาวบ้านเข้าไม่ถึง ฟังแล้วเหมือนอาจารย์” สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนคำสาบ คนคิดว่าสิ่งที่เราพูดต้องซับซ้อน ต้องฟังไม่รู้เรื่อง ต้องดูยากแน่เลย เลยประหลาดใจมากครับว่าเสียงนี้กลับมาให้ประโยชน์เราตอนที่เราแก่แล้ว แต่ก็ยังดีที่มันไม่เกิดประโยชน์เลยจนกระทั่งเราตายไป 

พาฝัน: ทีนี้จากโลกทีวี ทำงานบริษัท เฮียวิทย์กระโดดมาทำสื่อใหม่ได้ยังไง

เฮียวิทย์: มันไม่ได้ก้าวกระโดดหรอกครับ คือชีวิตคนเราอะ เฮียต้องบอกแบบนี้ บางคนเนี่ยตั้งใจและวางแผน แล้วเดินตามนั้น แต่บางคนไม่ใช่ครับ ตั้งใจอะไรปั๊บ บางทีมันไม่ได้ดั่งใจ ชีวิตเราต้องเหมือนก้อนหินก้อนเล็ก ๆ ที่ไหลไปตามลำธาร ถูกพัดไปทางไหน เราก็ไป ยกตัวอย่างนะครับ ตอนที่ทําทีวีรุ่นแรก ที่เนชั่น เราไม่เคยคิดจะเป็นสื่อมวลชน คือย้อนกลับไปประมาณสัก 24 - 25 ปีที่แล้ว อาชีพสื่อมวลชนไม่ใช่อาชีพที่คนใฝ่ฝันนะครับ ไม่ใช่เลย น่าเบื่อมาก เราก็ไปทําในยุคที่มันยังไม่ได้โด่งดังมากมาย ก็ไปทําด้วยเหตุบังเอิญ เพราะว่าสมัครงานแล้วไม่มีใครรับ เพราะมันเป็นช่วงหลังเศรษฐกิจตกต่ำ

ด้วยจังหวะชีวิตมันไม่ลงตัว เลยทําให้เราไปทําทีวี เพราะเป็นที่เดียวที่ออฟเฟอร์งานให้กับเรา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ทําให้เราเรียนรู้ จากนั้นเราก็ย้ายไปสู่คอร์ปอเรต ซึ่งเราอยากจะลองทํา แล้วก็ไปทํา ก็สัมผัสชีวิตนั้นมา แต่ที่สุดครับ มันก็เกิดเหตุการณ์หลายอย่างจนกระทั่งเราต้องกลับมาทําทีวีอีกครั้งหนึ่ง รุ่งไม่รุ่งไม่เป็นไร ก็ทํา ไม่ได้ก็มองแค่ว่านี่มันคือวิธีการในการทํามาหากิน คิดแบบนั้น 

และด้วยจังหวะที่มันเหมาะสม ตอนนั้นสื่อใหม่ก็คือ ‘สแตนดาร์ด’ เขากําลังหาคนดําเนินรายการที่เกี่ยวข้องกับการเงินการลงทุน พอดีว่าเราเคยทําธนาคาร แล้วก็พอมีความรู้อยู่บ้าง แล้วก็ด้วยความที่เรารู้ครึ่งไม่รู้ครึ่งเนี่ยสําหรับเขา เขามองเป็นประโยชน์ เราจะได้สามารถอธิบายสิ่งที่คนที่ไม่ใช่คนในวงการการเงินสามารถเข้าใจได้ง่าย เพราะถ้ารู้ไปเลย expert ไปเลย เดี๋ยวศัพท์มันจะยาก เลยกลายเป็นการเราได้เข้าไปอยู่ที่สื่อใหม่ เริ่มต้นที่ ‘Morning Wealth’ ของ ‘The Standard Wealth’ แล้วก็หลายสิ่งหลายอย่างก็นําพาลงมาจวบจนวันนี้ เลยกลายเป็นเส้นทางที่บางทีเราไม่ได้แพลน เหมือนอย่างที่เขาพูดว่า คนคํานวณหรือจะสู้ฟ้าคํานวณ 

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

พาฝัน: มาถึงเรื่องที่ทำให้คนรู้จักเฮียวิทย์ รายการ 8 Minutes History มันมีจุดเริ่มต้นยังไง 

เฮียวิทย์: เรามีความรักและชอบในประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่ 7 ขวบ แต่ว่าเราไม่ได้มีโอกาสใช้ ถ้าดรีมลองมองย้อนกลับไปสัก 5 ปีที่แล้ว มีคนบอกว่าจะทํารายการประวัติศาสตร์ คนก็จะบอกว่า “ไอ้ลุงเนี่ยน่าเบื่อ” “ไอ้ลุงเนี่ยแมร่งหลุดมาจากพิพิธภัณฑ์” ถูกไหมครับ แต่ว่าด้วยความที่เรารักเราชอบครับ เหมือนคนบางคนที่ชอบสะสมเหรียญ เขาก็มีความรักของเขา เฮียก็เหมือนกัน แล้วก็พอดีว่ามันสบโอกาส จังหวะที่โลกนี้มีแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่ไม่ได้ถูกจํากัดอยู่เฉพาะช่องทางสื่อเดิม กลายเป็นว่าพอได้มาเริ่มต้นทดลองทํา มันกลายเป็นว่าคนไทยเริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้ ถามว่าทําไมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนไทยเริ่มคุ้นกับคําว่าภูมิรัฐศาสตร์ ทุกคนสนใจจีนที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ ยากจน แล้วอยู่ดี ๆ รวยได้ไงวะ นั่นน่ะสิประวัติศาสตร์ไหม? เราดูทีวี เฮ้ย! เกิดเหตุการณ์ฮามาส – อิสราเอล ใครเป็นใครวะ? กลายเป็นว่าไอ้สิ่งที่เราชอบ แล้วเราไม่เคยคิดว่ามันจะมีพื้นที่ มันกลายเป็นสิ่งที่คนเริ่มต้นสนใจ เลยกลายเป็นจังหวะที่เหมาะสมครับ 

เฮียเลยพูดอยู่เสมอ บอกทุกคนเลย มีบางคนชอบถามว่า “เฮียมีอะไรอยากจะบอกกับเด็กอย่างผมไหม หรืออยากจะบอกกับเฮียตอนเด็ก” เฮียพูดเลยครับ มึงทําอย่างที่มึงทําอะ มึงไม่ต้องไปคิดเยอะ มึงไม่ต้องไปวางแผนเยอะ อะไรที่มึงทําแล้วมึงชอบจริง ๆ แล้วมึงทําแล้ว มึงทําด้วยความรักลึกซึ้ง เดี๋ยวมันกลับมาตอบโจทย์มึงแน่ ๆ

แล้วการเรียนประวัติศาสตร์ ขอฝากไว้อย่างว่า เราชื่นชอบมัน เราต้องเห็นมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เรามองอย่างเป็นจริงอะครับ กล่าวคือไม่ได้ใช้อารมณ์ สมมติเรามีธง โอ้ย เนี่ยมันเป็นเพราะว่ารัฐบาลเขาดีท่ านก็จะมองอย่างท่าน ก็จะเอาความหวังทั้งหมดแปะไว้ที่ภาครัฐ ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่ เพราะคนเขาขยันท่ านก็จะเห็นอีกมุมหนึ่ง ถูกไหมครับ ถ้าเรามองมุมผสมมันผสมกันเว้ย เราก็จะได้อีกแง่มุมหนึ่ง แต่ถ้าเกิดเราตั้งธงไปแล้ว โอ้โห ประเทศแบบนี้เนี่ยเป็นเพราะว่าแบบนั้น แบบที่สุดแล้ว เขาจะปิดหูปิดตาในการรับรู้

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

พาฝัน: การศึกษาประวัติศาสตร์ส่งผลกับการใช้ชีวิตหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนของเฮียยังไงบ้างคะ

เฮียวิทย์: เฮียชอบคําพูดคําแรก ๆ เลยนะครับ ที่ได้เรียนตอนที่ไปต่างประเทศ อาจารย์ที่ปรึกษาเห็นภาษาอังกฤษเราห่วยมาก เขาถามว่ายูพูดภาษาอังกฤษได้ไหม เราตอบว่าพูดได้ แต่ฟังไม่ได้ เพราะฟังแม่งยากกว่า เขาเลยพูดว่า วิทย์ พระเจ้าท่านให้หูมาสองหู หนึ่งปาก หมายความว่าท่านต้องฟังมากกว่าพูด เหมือนกันเลยครับ เวลาที่เราศึกษา ถ้าเรามีความคิดไปก่อน เหมือนเราอยากจะพูดแทรก ท่านยังไม่ได้ฟังเลย บางทีเรามีอคติ เราพูดมากกว่าฟัง แต่ถ้าเราปล่อยใจเบา ๆ อาจจะเป็นประโยชน์

เหมือนอีกคําหนึ่ง อันนี้เป็นคําหลักพุทธนะครับ “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดแล้วจึงจะรู้ รู้ไปตามจริง” บางครั้งเรามีอคติในการอ่าน โอ มันต้องเป็นแบบนี้แน่เลย มันต้องเป็นแบบนั้นที่สุดไม่รู้ความ 

การศึกษาประวัติศาสตร์มีหลายหลายแหล่งนะครับ เช่นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยจีนที่ เขียนโดยอเมริกัน ที่เขียนโดยอังกฤษ ที่เขียนโดยฝรั่งเศส เหล่ามหาอำนาจ พวกนี้เวลามันเขียนต้องยอมรับว่าเขามีความรอบด้านสูงมากครับ เขาจะไม่ละเลยตัวละครเล็ก ๆ ทําให้เราได้เข้าใจว่า โอ้โห ปัจจัยของประวัติศาสตร์หนึ่งอย่าง มันประกอบด้วยองค์ประกอบเล็ก ๆ มากมาย ซึ่งมันทําให้เราเปิดหูเปิดตาว่า เฮ้ย ถ้าเราจะศึกษาอะไรสักอย่าง ตัวแปรไม่ได้มีเท่าที่เราเห็น มันมีตัวแปรเยอะแยะมากมายมหาศาล ตัวแปรเหล่านั้นคือใคร

พาฝัน: รู้สึกยังไงเวลามีคนยกย่องว่า เป็นผู้จุดประกายให้คนหันมาสนใจวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้น 

เฮียวิทย์: อ่อ คงไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะเฮียคิดแค่ว่า เรามีหน้าที่ มันเป็นความสนุกของเฮีย แล้วเฮียก็ดีใจ แล้วเฮียก็บอกทุกคนว่า เฮียไม่ได้ทําหน้าที่ดีไปกว่าคนอื่น เฮียเป็นเหมือนครูมอต้นอะ และเฮียก็อธิบายหนังสือเล่มที่อ่านแล้วอาจจะเข้าใจยากสําหรับคนที่ไม่ได้ชอบมัน แล้วก็ทําให้มันง่ายเท่านั้นเลย ปัจจุบันมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เก่ง ๆ เยอะแยะ ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นมา ทุกคนเป็นเหมือนอเวนเจอร์ที่มาจุดประกายขึ้น มาทําให้คนสนใจ เพราะทุกคนเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในวิชาที่มนุษย์ควรที่จะได้เรียนรู้

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

พาฝัน: ตอนอยู่บนเวที เฮียพูดว่าตัวเองเริ่มเดบิวต์ตอนอายุ 53 ปี ตอนนั้นเฮียคิดว่ามันช้าไปหรือเร็วไปคะ

เฮียวิทย์: ด้วยความประหลาดใจครับ เพราะคนส่วนใหญ่เวลาเดบิวต์เนอะ ต้องเป็นอายุน้อย 10 กว่า 20 กว่า กลายเป็นว่าเราเริ่มต้นเนี่ยอายุ 50 กว่า แล้วเรามีความรู้สึกดี ที่คนอายุมากในยุคปัจจุบัน active ตัวเอง เรารู้สึกว่าอายุ 50 ในวัยนี้ ถ้าเรา active ถ้าเรากระตือรือร้นถ้าเรามี mindset ที่ทันสมัย เรายังไม่ตกโลก แค่คิดเท่านี้ดีกว่า ก็เลยรู้สึกว่าวันนั้นประหลาดใจ และที่ดีใจคือคนที่เข้ามาฟังเนี่ย เป็นคนที่มีอายุน้อย แสดงว่าเรายังเชื่อมโยงกับเขาได้ เพราะต้องยอมรับในช่วงเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เราพูดถึงเจเนอเรชันอะเรารู้สึกว่าสองเจนเนอเรชันหรือคุยกันไม่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่นะครับ ต่างคนต่างปรับเข้าหากัน ใช้คลื่นความถี่เดียวกันในการพูด มันเลยสนุกนะครับ 

แต่การที่พอเรามาจากบริบทที่แตกต่างกัน สําคัญคือเวลาพูดคุยกัน เปิดใจคุยซึ่งกันและกัน เข้าใจกันนิดนึง ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เส้นใยที่สําคัญที่สุดคือการสื่อสารด้วยมธุรสวาจาพูดจาดี ๆ ต่อกัน บางทีมาถึงปั๊บ ตั้งธงแล้ว “ไอ้เด็กนี่โง่ชิบหาย สะกดแค่นี้ยังผิดอีกเหรอ” ไม่ใช่ครับ ไอ้เด็กก็งง “ทําไมต้องสะกดให้ถูกล่ะครับ” ไอ้ผู้ใหญ่ก็ด่าต่อ “สะกดแค่นี้มึงยังผิดเลย มึงจะทําอะไรแดก” อ้าว มันกลายเป็นว่าไม่ใช้เหตุผลไงครับ จําได้เลยว่าเจ้านายเฮีย เป็นคนเยอรมัน พูดคํานี้ “ถ้าความจําคุณยังผิดอะ แล้วผมจะไว้ใจคุณได้ไงวะ” ถ้าบอกว่า เฮ้ย มันเป็นการพิสูจน์แล้วครับว่าคุณไม่ใส่ใจ แล้วรายละเอียดบางครั้งมันนําไปสู่ความเป็นหรือความตายเว้ย อือ อธิบายเขาฟัง

แต่ถ้าเกิดเราไม่อธิบายครับเราใช้อารมณ์  “โอ้ย มึงมีสมองป่าววะ” คุณรู้สึกไงครับ ไม่ใช่แล้ว ถ้าเกิด “เฮ้ย เดี๋ยวพี่จะอธิบายให้ฟัง” ถ้าคิดว่าก็แค่สะกดผิด เปลี่ยนสิ ถ้าแค่สะกดผิด ทําให้มันถูกนะ แล้วมูลค่าเพิ่มจะมา แล้วเชื่อไหมครับ พอเราผ่านมามีคนถามว่าทําไมเฮียเป็นคนแบบนี้ เฮียบอกว่า เพราะว่าเฮียจําได้ว่าตอนเด็ก ๆ อ่ะ เฮียไม่ชอบอะไร เฮียชอบอะไร และตอนโต เฮียจะไม่เป็นคนแก่ที่เฮียเกลียดไงครับ

พาฝัน: แปลว่าโดนมาเยอะเลย

เฮียวิทย์: เอางี้ มันเป็นเรื่องปกติ ทุกคนและทุกสังคม แต่ถ้าเวลาเราเจอเด็กที่ผิดพลาดเล็กน้อย เฮ้ย พูดจาดีกับเขา “วันหลังนะ ดูให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน”  “มันไม่เวิร์กนะ หัดคิดนิดนึง ปรับนิดนึง แล้วมันจะสมบูรณ์แบบมากขึ้น” แต่ไม่ใช่ “มึงเอาหัวมา แล้วมึงเอาสมองมาไหมอะ แค่นี้มึงยังไม่รู้อีกหรอ” งั้นท่านก็ได้อารมณ์ไง คือผมก็ไม่รู้ว่าอะไรทําให้คนไทยเป็นแบบนี้นะ แต่มันเป็นแบบนี้เยอะ แต่เปลี่ยนครับ ค่อย ๆ พูดอธิบายให้เขาฟัง แล้วเขาจะเข้าใจ

พาฝัน: ซึ่งจริง ๆ การพูดดี ๆ มันใช้ energy น้อยกว่าการผลิตคำด่า

เฮียวิทย์: ถูกต้อง แล้วก็มีเพื่อนคนหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยชื่อนะครับเ ป็นเพื่อนที่สนิทมาก ชื่อว่า มนต์สิทธิ์ จงเฉลิมไพบูลย์ เพื่อนสนิทมากพูดคํานี้ครับ “ไอ้วิทย์ มึงทําไปเลยความสุภาพ เพราะความสุภาพไม่มีต้นทุน” ถูกปะ ไม่เสียเงินนะเว้ย สุดยอด แล้วทําไมถ้าเลือกเทียบกัน คําพูดดี ๆ กับคําพูดห่วย ๆ ที่ไม่ได้มีความปรารถนาดีอยู่ ทําไมคุณจะเลือกแบบหลังวะ เท่านั้นเลยครับ เลือกใช้คําพูดดี ๆ แล้วตอนเด็กเนี่ย เราคิดว่าเราเจอผู้ใหญ่คนไหนที่เราคิดว่าเราไม่เคยคลิกกับเขา อย่าไปทําแบบนั้น เราโตขึ้นมาปั๊บ อายุสัก 30 กว่า สภาพแวดล้อมเป็นไงวะ เวลาเราเจอกับคนอายุ 30 กว่าเนี่ย สิ่งที่เขาต้องการคืออะไร เราเจอคนอายุมาก คืออะไร 

สิ่งที่มันทําให้เฮียคิดเรื่องนี้นะ เวลาที่อายุเด็ก ๆ ผู้ใหญ่อวยพรเด็กก็จะแตกต่างกันไปตามวัย ขอให้เรียนเก่ง ๆ นะครับ ต่อมาก็ขอให้รวยนะครับ พอแก่เราพูดอะไรครับ ขอให้แข็งแรง ถูกต้องมันเป็น pain point ประจําวัยครับ

เพราะฉะนั้นแต่ละวัยก็จะมีข้อห่วงกังวลที่ไม่เหมือนกัน มีคนถามคําถามคํานี้นะครับ เฮียคิดว่าตัวเองประสบความสําเร็จหรือยัง เฮียบอกว่า “วัยกูอะ ไม่มีใครคิดสําเร็จหรอกครับ วัยกูเนี่ย แค่ว่าตายแบบดี ๆ อะ กูก็ดีใจแล้ว” ให้มึงตายดี ๆ ก็พอ แล้วใหศพมันสวย

แต่ละวัย เฮียบอกนะครับว่า ยุคหนึ่งคนคิดถึงความสําเร็จ แต่ยุคเฮียคืออยู่ให้มีความสุข ต่างกันคนละโลกนะครับ พอมุมมองแตกต่างกัน เรามองย้อนกลับไปครับ เราจะไปด่าคนที่กําลังหาความสําเร็จหรือว่าหาชื่อเสียงไม่ได้นะ มึงไม่เคยเป็นเหรอ มึงก็เป็น เพราะฉะนั้นเข้าใจเขา คุยกับเขาเป็นปกติครับ เอาใจเขาไปใส่ใจเราครับ มนุษย์ทุกคนอยู่ได้ด้วยอะไรครับ มธุรสวาจา พูดจาดีใส่กัน จริง ๆ นะ สิ่งนี้ไม่มีต้นทุนนะ แต่เวลาที่มันผลิตคําพูดห่วย ๆ เนี่ย แม่งซึมลึกนะครับ คนโดนพูดก็อย่างหนึ่ง แต่ที่เจ็บกว่าคือผลร้ายที่คุณพูดไม่ดีใส่คนอื่นอะ มันอยู่ตลอดนะครับ แม่งฝังแน่นอะ ผงซักฟอกดีขนาดไหนแม่งเอาไม่ออกนะครับ

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

พาฝัน: เคยมีคำพูดไหนที่มันกัดกินเฮียไหมคะ

เฮียวิทย์:  โอ้ย มันต้องมีอยู่แล้วครับ มีอยู่แล้ว แต่ว่าเฮียคิดแบบนี้ คําพูดที่ติดปากมาก ๆ คือคําว่า “ช่างแม่ง” เจอปั๊บก็ช่างแม่ง ก็จบ เฮียต้องคิดว่า ถ้าเราเก็บเขาไว้ในใจ เราอ่อนแอนะครับ เราเปิดให้เขามาทําร้ายเรา แต่ถ้าเราเปลี่ยนครับ กูเอามือออกไปละ กูเป็นอิสระ ดีกว่าปะ? อืม ดีกว่าดิ  บางคนก็บอก “เก็บเอาไว้ มันจะได้เป็นพลัง” พลังเก็บไว้ได้ แต่ไม่ต้องคิดครับ เฮียชอบคําพูดคําหนึ่งของเจ้านายฝรั่งนะครับ “คนเราเมื่อเจอกันแล้ว จะเจอกันสองครั้งเสมอ” บางครั้งครับเด็กเจอผู้ใหญ่ ผ่านไป 20 ปีสลับกัน เจออีกรอบสถานภาพสลับกันก็มี เพราะฉะนั้นสิ่งอะไรก็ตามที่เราทําไว้ กลับมาหาเราเสมอครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือสร้างหลักประกันให้กับตัวเอง ด้วยการปฏิบัติดีให้คนรอบตัว

เพื่อนคนเคยถามเฮีย “มึงทนได้ไงวะมีคนมาด่ามึงอะ” อ่าว ทนไม่ได้ก็ไม่ต้องทําดิวะถู กปะ โลกใบนี้มันแตกต่าง ปรับมาเป็นแง่บวกสิ ก็ไม่ได้โลกสวยนะครับ แต่มันเป็นจริง

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน: “อะไรที่เราทำไว้มันกลับมาหาเราเสมอ จงทำดีกับคนรอบตัว”

พาฝัน: ณ เวลานี้ ความสุขของเฮียวิทย์คืออะไรคะ

เฮียวิทย์: คือการที่มีชีวิตอยู่โดยไม่มีปัญหาครับ คือมันมีหลายอย่างนะ บางคนบอกชีวิตที่มีความสุขคือมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ เฮียขอสลับเป็นชีวิตที่ไม่มีปัญหา กล่าวคือไม่มีปัญหาสุขภาพ ไม่มีปัญหาสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ไม่มีปัญหาต่อการทํางาน ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เท่านี้นี่คือความสุข คือการอยู่ไปแล้วไม่มีสิ่งใดมารบกวนใจเรา เราสามารถเดินหน้าชีวิตเราต่อได้ อันนี้คือคิดเหมือน defensive เนอะ แต่ว่าเฮียเป็นคนที่ชอบอิตาลี ที่นั่นมีทะเลสาบโคโม่ เป็นทะเลสาบที่สวยมาก ได้ยินว่านักฟุตบอลที่ไปเตะที่ทีมมิลานหรือว่าอินเตอร์นาซูนาร์เล่จะไปอยู่ที่โคโม่ ปรากฏว่าตอนเฮียไปครั้งแรก แม่งโคตรสวยนะเหมือนเมืองสวรรค์เลย เจอคนที่มาจากโคโม่พูดว่า “ผมมีความสุขทุกครั้งที่ผมได้กลับไปที่บ้านเกิด แค่ผมนั่งเฉย ๆ ที่ระเบียงบ้าน ผมก็มีความสุขแล้ว ผมมีความสุขที่ผมไม่ต้องทําอะไร” เฮ้ย มันก็ขี้เกียจนะ แต่สโลว์ไลฟ์ ชีวิตที่ไม่มีปัญหา นิ่งสงบมีความสุขแล้วครับ