25 ธ.ค. 2567 | 15:00 น.
KEY
POINTS
‘แดร็กคิวล่า’ หรือ ‘แวมไพร์’ คือคำที่คนปัจจุบันใช้นิยามแทน ‘ผีดิบดูดเลือด’ อันเป็นผลพวงจากสื่อบันเทิงซึ่งตีแผ่ความน่ากลัวของอมนุษย์ชนิดนี้มาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นำทัพด้วยเรื่องสั้นขนาดยาว ‘The Vampyre’ โดยนักประพันธ์ชาวอังกฤษ ‘จอห์น วิลเลียม โพลิดอรี’ (John William Polidori) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำอมนุษย์ชนิดดังกล่าวมาเล่าผ่านงานเขียนแนวบันเทิงคดี ก่อนจะตามด้วยนวนิยาย ‘Dracula’ ของนักเขียนชาวไอริช ‘แบรม สโตเกอร์’ (Bram Stoker) ซึ่งโด่งดังจนกลายเป็นวรรณกรรมระดับตำนาน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรื่องราวของผีดิบดูดเลือดถูกรับรู้และพูดถึงเป็นวงกว้าง โดยในส่วนของประเทศไทย มีการนำมาแปลในชื่อ ‘แดรกคิวลา จอมผีดิบ’ โดยนักแปลนามว่า อ.สายสุวรรณ
ผ่านมาแล้วเกือบ 130 ปี ภาพลักษณ์ของผีดิบดูดเลือดถูกนำมาทำซ้ำ ตีความใหม่ในสื่อบันเทิงไม่ว่างเว้น บางเรื่องนำนวนิยายขึ้นหิ้งมาดัดแปลงโดยตรง เช่น ‘Dracula (1931)’ ซึ่งสร้างภาพจำแก่ผีดิบดูดเลือดชื่อดังอย่าง ‘เคาท์ แดร็กคิวล่า’ (Count Dracula) ที่สวมบทบาทโดย ‘เบลา ลูโกซี’ (Bela Lugosi) ในฐานะชายวัยกลางคน ผู้สวมเสื้อคลุมสีดำ มีผิวซีดเซียวไร้เลือดฝาด พร้อมบุคลิกสุขุม เจ้าเล่ห์ น่าเกรงขาม หรือ Bram Stoker’s Dracula (1992) ซึ่งถูกยกย่องในฐานะภาพยนตร์สยองขวัญระดับตำนาน โดยผู้กำกับอย่าง ‘ฟรานซิส ฟอร์ม คอปโปลา’ (Francis Ford Coppola)
บางเรื่องเลือกนำตัวละครในงานเขียนของสโตเกอร์มาพลิกโฉมใหม่ เช่น ‘Van Helsing (2004)’ หรือ ‘Renfield (2023)’ ในขณะที่บางเรื่องก็หันมาหยิบยกตำนานผีดิบดูดเลือดต้นตำรับมาเป็นแรงบันดาลใจ กำเนิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผสมผสานเข้ากับความร่วมสมัย เช่น ภาพยนตร์ไตรภาค ‘Blade (1998-2004), มหากาพย์ ‘Underworld (2003-2016) และ ‘The Twilight Saga (2008-2012)’ หรือแม้กระทั่งช่วงต้นของปี 2025 ภาพยนตร์เกี่ยวกับผีดิบดูดเลือดในตำนานอีกเรื่องอย่าง ‘Nosferatu (1922)’ ก็เพิ่งถูกนำมารีเมค เตรียมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อยู่ในขณะนี้
กล่าวได้ว่า ผีดิบดูดเลือดคือหนึ่งในตัวละครที่ ‘ไอคอนนิก’ ไม่แพ้ซอมบี้หรือมนุษย์หมาป่า และแน่นอนว่า ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยถึงการ ‘มีอยู่จริง’ เช่นเดียวกับอมนุษย์ในตำนานตนอื่น ๆ
หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องของ ‘วลาดจอมเสียบ’ (Vlad the Impaler) กษัตริย์แห่งโรมาเนียผู้เป็นที่โจษจันด้านความอำมหิตและพฤตกรรมดื่มเลือดนักโทษ จนเป็นแรงบันดาลใจให้สโตเกอร์สร้างตัวละครแดร็กคิวลา แต่นั่นก็เป็นเพียง ‘ต้นแบบ’ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นผีดิบดูดเลือดในชีวิตจริง
หรือหากพูดถึงศพที่ฟื้นตื่นจากหลุม ออกไล่ล่าดื่มกินเลือดมนุษย์หลังพระอาทิตย์ตก แม้จะถูกกล่าวถึงในตำนานพื้นบ้านหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ก็ยังฟังดูหลักลอย จนหลายคนเลือกมองข้าม และนับว่าวลาดจอมเสียบคือบุคคลที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ผีดูดเลือดในประวัติศาสตร์’ มากที่สุด
หารู้ไม่ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในประเทศโครเอเชีย มีเหตุการณ์แวมไพร์อาละวาดถูกระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในหนังสือที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสี่ร้อยปีก่อน ชื่อของ ‘แกรนโด’ (Grando) ถูกเล่าขานในฐานะศพเดินได้ผู้ออกทำร้ายผู้คน แม้จะชวนให้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่การมีตัวตนจริงของบุคคลและสถานที่ในเรื่องราวของเขาก็ช่วยเพิ่มน้ำหนัก จนถูกยอมรับในฐานะผีดิบดูดเลือดตนแรกในบันทึกประวัติศาสตร์
‘ยูเรอาลิโลวิช’ (Jure Alilović) หรือ ‘แกรนโด’ (Grando) คือชายผู้ประกอบอาชีพเป็นช่างก่อหิน อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกอีกสองคน ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ ‘คริงกา’ (Kringa) แคว้นอิสเตรีย ประเทศโครเอเชีย เขาเกิดในปี 1579 ก่อนจะล้มป่วยด้วยโรคปริศนาจนเสียชีวิตขณะอายุได้ 78 ปี ครอบครัวทำพิธีฝังร่างของเขาในสุสานเฉกเช่นคริสต์ศาสนิกชนคนอื่น ๆ ไม่มีใครล่วงรู้ว่าในอีก 16 ปีให้หลัง แกรนโดจะฟื้นคืนชีพมาสร้างความหวาดผวา ไปจนถึง ‘ความตาย’ แก่ผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก
หากยังไม่เห็นภาพฉากหลังของเรื่อง ก็ลองจินตนาการถึงชุมชนยุโรปเก่าแก่ บ้านเรือนก่อจากอิฐหิน รายล้อมด้วยป่าทึบ อากาศร้อนอบอ้าวในช่วงกลางวันเพราะอยู่ใกล้กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทว่าหลังโพล้เพล้กลับเป็นช่วงเวลาที่มืดมิด หนาวยะเยือก ทุกครอบครัวต่างหลับใหล ผู้ที่ริอ่านถือตะเกียงออกจากบ้านนับว่ากล้าหาญชาญชัย เพราะนั่นเท่ากับการกล้าเผชิญกับความลี้ลับซึ่งยังไม่มีมนุษย์คนใดพิสูจน์ได้
ในช่วงเวลานั้น ผีดิบดูดเลือดคือตำนานที่อยู่คู่วัฒนธรรมมนุษย์มาช้านาน ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศโครเอเชีย ซึ่งมีคำว่า ‘สตริกกอน’ (štrigon) ใช้นิยามศพที่ฟื้นคืนชีพมาไล่ดูดกินเลือดของสัตว์หรือมนุษย์โดยเฉพาะ นอกจากนั้น ยังมีพิธีกรรมอันเป็นความเชื่อท้องถิ่นสำหรับป้องกันศพ ‘ลุก’ จากหลุม อย่างการนำตะปูมาตอกทะลุลิ้นของผู้ตายก่อนทำการฝัง
น่าเศร้าที่ศพของแกรนโดกลับถูกละเลยและข้ามผ่านขั้นตอนนั้นด้วยเหตุผลบางอย่าง จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาหวนกลับมาด้วยสภาพไร้สิ้นความเป็นมนุษย์ในอีก 16 ปีต่อมา
ค.ศ. 1672 คือปีที่ชาวคริงกาต้องอกสั่นขวัญแขวน เมื่อจู่ ๆ ก็มีเสียงเคาะประตูดังขึ้นในยามวิกาล เป็นการเคาะแบบไม่เจาะจง ราวกับเจ้าของเสียงเดินตระเวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอบ้านที่ต้องการ ที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ คนในบ้านที่ได้ยินเสียงเคาะปริศนานั้นล้วนมีอันเป็นไปในระยะเวลาอันสั้น
ชื่อของแกรนโดกลับมาเป็นหัวข้อสนทนาในฐานะสตริกกอน พยานหลายคนอ้างว่า เห็นร่างปริศนาออกมาเดินเพ่นพ่านกลางดึก พอเข้าไปประจันหน้า ก็พบว่าอีกฝ่ายคือแกรนโดซึ่งอยู่ในสภาพละม้ายคล้ายซากศพ ใบหน้าซูบตอบ ผิวหนังซีดเซียว แต่ยังไม่ทันได้ทำสิ่งใด ร่างนั้นก็ชิงวิ่งหนีหายไปในความมืดมิด
อีกหนึ่งผู้เคราะห์ร้ายคนสำคัญคือ อีวานนา (Ivana) ภรรยาหม้ายของแกรนโดที่อ้างว่า ในหลาย ๆ คืน สามีที่ตายไปแล้วจะกลับมาที่บ้าน ก่อนจะกระทำชำเราหล่อน แล้วหลบหนีไปก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
ความหวาดกลัวเข้ากัดกินจิตใจของเหล่าชาวบ้าน เป็นเวลาพักใหญ่ที่พวกเขานอนหลับไม่สนิท ด้วยกลัวว่าศพที่ออกเดินอยู่ด้านนอกจะเลือกตรงมาเคาะประตูบ้านของตน นำมาสู่การรวมกลุ่มเพื่อหาทางกำจัดสตริกกอน โดยมีแกนนำสำคัญคือ มิโฮ (Miho) และ หลวงพ่อจอร์จิโอ (George / Giorigo) บาทหลวงผู้เป็นคนทำพิธีฝังศพแกรนโดเองกับมือ
กลางดึกคืนหนึ่ง มิโฮและหลวงพ่อจอร์จิโอ พร้อมผู้ติดตามเป็นชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ อีกแปดคนก็ตรงไปยังสุสาน ก่อนจะขุดร่างของแกรนโดขึ้นจากหลุม ทันทีที่พวกเขาเปิดฝาโลง ก็ต้องพบกับเรื่องเหนือธรรมชาติอันเป็นข้อพิสูจน์ว่า ร่างตรงหน้าคือสตริกกอนซึ่งกำลังอาละวาดหลอกหลอนผู้คนไม่ผิดแน่
ร่างของแกรนโดนั้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการเน่าเปื่อย เล็บและผมยาวขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ ไหนจะรอยยิ้มชวนขนลุกบนพองบนใบหน้าซึ่งทำให้ผู้พบเห็นพากันหวาดผวา
หลวงพ่อจอร์จิโอทำการสวดคาถา พร้อมพรมน้ำมนต์ลงบนร่างของผีดิบ ก่อนที่มิโฮจะทำการตอกลิ่มไม้ลงบนอก ทว่ามันกลับไม่สามารถทะลุเข้าไป ราวกับหน้าอกของร่างนั้นไม่ใช่ผิวหนังของมนุษย์
เมื่อความพยายามไม่เป็นผล ชายอีกคน ซึ่งบางแหล่งระบุนามว่า สตีเฟน (Stipan) เห็นดังนั้นจึงหยิบเลื่อยใกล้มือมาเฉือนศีรษะของศพออกจากร่าง และวินาทีที่วัตถุมีคมสัมผัสลงบนผิวหนัง แกรนโดซึ่งเคยมีสภาพเหมือนคนกำลังนอนหลับก็เบิกตาโพลง ก่อนจะส่งเสียงกรีดร้องโหยหวนไปทั่วป่าช้า
ยิ่งสตีแฟนลงน้ำหนักบนเลื่อยมากเท่าไหร่ โลหิตก็ยิ่งพุ่งทะลักออกจากบาดแผล เจิ่งนองเต็มพื้นโลงจนกลายเป็นแอ่งเลือดขนาดย่อม
ในที่สุด เมื่อศีรษะของแกรนโดขาดสะบั้น ร่างนั้นจึงหยุดการเคลื่อนไหว หลวงพ่อจอร์จิโอและมิโฮทำการตอกลิ่มทะลุอกของผีดิบได้สำเร็จ หลังจากนั้น ก็ไม่มีชาวบ้านในคริงกาคนใดพบเจอ ได้ยินเสียง หรือถูกพรากชีวิตโดยสตริกกอนชั่วร้ายอีกเลย
เรื่องราวของแกรนโดฟังดูไม่ต่างอะไรกับเรื่องเหนือธรรมชาติซึ่งมีอยู่ดาษดื่น ปราศจากความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ประเด็นที่ว่า ศพของชายชราไม่เน่าสลายแม้ผ่านมานานหลักทศวรรษ อีกทั้งยังไร้ร่องรอยของหลักฐานที่จับต้องได้ มีเพียงบันทึกว่าบรรดาผู้คนที่ปรากฏอยู่ในเรื่องน่าจะมีตัวตนอยู่จริง โดยเฉพาะทายาทสายตรงของแกรนโดอย่าง อานา และ นิโคลา อาลิโลวิช (Ana และ Nikola Alilović) ที่มีหลักฐานว่าพวกเขาย้ายไปอยู่ประเทศอิตาลีหลังจากเหตุการณ์สตริกกอนออกอาละวาด
ทว่าสาเหตุที่ทำให้เรื่องดังกล่าวฟังดูมีน้ำหนักมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นต้นแบบของเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีดิบดูดเลือดในยุคหลังของยุโรป เป็นเพราะมันถูกบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจนในหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ ‘The Glory of The Duchy of Carniola’ ของนักเขียน นักเดินทาง และนักประวัติศาสตร์ ชาวสโลวีเนียนชื่อดังในยุคนั้นอย่าง ‘โยฮันน์ ไวคาร์ด ฟอน วัลวาซอร์’ (Johann Weikhard von Valvasor)
The Glory of The Duchy of Carniola คือหนังสือสารานุกรมฉบับยาวที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1689 หรือเพียง 12 ปีหลังเหตุการณ์ของยูเร แกรนโด ว่าด้วยเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ของหลากหลายประเทศในยุโรป อันเป็นผลจากการที่ผู้เขียนอย่างวัลวาซอร์เคยออกเดินทางไปยังสถานที่นั้น ๆ พร้อมวาดภาพ จดบันทึกสิ่งที่เห็นและได้ฟังจากคนในท้องถิ่น
เรื่องราวของผีดิบดูดเลือดตนนี้ถูกระบุไว้ในฐานะ ‘ตำนานพื้นบ้าน’ ซึ่งถูกเล่าปากต่อปากจากคนในพื้นที่ เพียงแต่ว่าเป็นตำนานที่สดใหม่ ทั้งยังตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริง
กระนั้น ไม่ว่าแกรนโดจะเป็นผีดิบดูดเลือดจริง ๆ เป็นเพียงการเล่าเสริมเติมแต่ง หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างการกล่าวหาและโยนความผิดให้คนตายซึ่งไม่มีโอกาสแก้ต่าง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่เรื่องเล่าของเขาถูกรับรู้ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็ทำให้ความหวาดกลัวต่อผีดิบดูดเลือดแผ่กระจายไปทั่วยุโรป และกลายเป็นภาพจำที่ทำให้เรื่องเล่าหลังจากนั้นต้องระบุถึงการพรมน้ำมนต์ ตอกลิ่ม ตัดศีรษะ ไปจนถึงการ ‘ยกพลไปฆ่าแวมไพร์’ ซึ่งทรงอิทธิพลมาจนถึงสื่อบันเทิงทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์ของยูเร แกรนโด อาลิโลวิชจึงไม่ใช่เพียงแค่ตำนาน หากแต่เป็นหมุดหมายที่สลักเสลาชัดเจนว่า ความ ‘ไอคอนนิก’ ที่คนในยุคปัจจุบันดื่มด่ำในฐานะสื่อบันเทิง ถูกพัฒนาและวิวัฒนาการมาจากเรื่องราวในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งได้อย่างก้าวกระโดดเพียงใด
ภาพ : ภาพยนตร์ Nosferatu
Grad Bogenšperk, (-), THE GLORY OF THE DUCHY OF CARNIOLA, ค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2024
J. A. Hernandez, (2023), Jure Grando of Kringa, Croatia, ค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2024
Lauren Simmonds, (2024), Meet the Croatian Vampire, Jure Grando, ค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2024