30 พ.ย. 2561 | 16:01 น.
การเล่น "หวย" เสี่ยงทายในเมืองไทยนั้นมีมานาน แรกทีเดียวคงได้แบบอย่างมาจากคนจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งมีชาวจีนรายหนึ่งได้เสนอความเห็นให้มีการเปิดโรงหวยขึ้นเพื่อเก็บอากรพร้อมไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการออกสลากกินแบ่งเป็นตัวเลขอย่างฝรั่งนั้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีคำไทยเรียกการเสี่ยงดวงชนิดนี้ จึงเรียกตามฝรั่งว่า "ล็อตเตอรี" และผู้ที่นำการออกรางวัลสลากแบบฝรั่งเข้ามาในเมืองไทย สำนักงานสลากกินแบ่งได้มอบเครดิตให้กับชาวอังกฤษที่ชื่อ "ครูอาลาบาสเตอร์" หรือ เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ต้นตระกูลเศวตศิลา (ซึ่งมีความหมายว่า หินสีขาวเช่นเดียวกับ Alabaster นามสกุลดั้งเดิม) โดยหนังสือ 50 ปีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ขนานนามเขาว่าเป็น “บิดาแห่งการสลากกินแบ่งของประเทศไทย” การออกล็อตเตอรีในคราวแรกนั้นเกิดขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อปี พ.ศ. 2417 เพื่อเป็นการช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัด "โรงมิวเซียม" หรือพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดีย (หรือศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) ในพระบรมมหาราชวัง วิธีการออกสลากนั้น ทางทหารมหาดเล็กคือ พระยาภาสกรวงศ์ (ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เจ้ากระทรวงธรรมการคนแรก) ได้ร่วมกับอาลาบาสเตอร์คิดกำหนดเงื่อนไขกันขึ้น โดยให้ผู้ถูกรางวัลต่างๆ รับสิ่งของซึ่งมีมูลค่าเท่ากับเงินรางวัล แต่ถ้าจะรับเงินสดก็ได้ แต่จะถูกลดเงินลงร้อยละ 10 ของเงินรางวัล เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นชอบ จึงได้มีการออกล็อตเตอรีจำนวนทั้งสิ้น 20,000 ฉบับ จำหน่ายในราคาฉบับละ 1 ตำลึง หรือ 4 บาท ซึ่งหากขายได้หมดก็จะระดมทุนได้มากถึง 1,000 ชั่ง หรือ 80,000 บาท แต่การออกล็อตเตอรีฉบับปฐมฤกษ์คราวนั้นสามารถขายได้เพียง 4,930 ฉบับ คิดเป็นเงิน 246 ชั่งกับอีก 10 ตำลึง ทำให้ฝ่ายจัดการต้องลดจำนวนเงินรางวัลลงไปตามสัดส่วน ตามข้อมูลของสำนักงานสลากกินแบ่งบอกว่า การออกสลากคราวนั้นจะเกิดขึ้นวันเวลาใดไม่แน่ชัด เพราะช่วงที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเดียนั้นกินระยะนาน 3 เดือน และหลังจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานการออกสลากอีกเลยจนตลอดรัชกาล ส่วนประวัติของ เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ชาวอังกฤษผู้นี้เดินทางมาถึงเมืองไทยเมื่อ ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะล่ามให้กับกิจการของอังกฤษ ซึ่งสมัยนั้นคนไทยน้อยคนนักที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ เขาจึงต้องคลุกคลีกับคนไทยและให้ความสนใจกับการศึกษาพระพุทธศาสนา อาลาบาสเตอร์ยังทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกงสุลอังกฤษ ทำให้เขามีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับทางราชสำนักสยาม และเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของเมืองไทยอย่างการก่อสร้าง "เจริญกรุง" ถนนสมัยใหม่เส้นแรก ต่อมาด้วยความขัดแย้งบางประการ อาลาบาสเตอร์ได้ตัดสินใจลาออกจากสถานกงสุลแล้วเดินทางกลับบ้านเกิด ระหว่างนั้นเขาได้เขียนหนังสือชื่อ "The Wheel of the Law" หนังสือว่าด้วยพระพุทธศาสนาออกมาใน ค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2414) ก่อนเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้งเมื่อปี 1873 (พ.ศ. 2416) ซึ่งอาลาบาสเตอร์ก็มีโอกาสได้ทำหน้าที่รับใช้รัชกาลที่ 5 ในฐานะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ นอกจากเรื่องล็อตเตอรีแล้ว อาลาบาสเตอร์ยังเป็นผู้นำวิทยาการตะวันตกอีกมากมายเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย ทั้งการทำถนน แผนที่ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างสวนสราญรมย์ ริเริ่มการก่อตั้งกิจการไปรษณีย์และโทรเลข และยังเป็นผู้ดูแลเรื่องการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ เฮนรี อาลาบาสเตอร์ เสียชีวิตลงเมื่อปี 1884 (พ.ศ. 2427) ด้วยวัย 48 ปี การสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศ ทางราชสำนักจึงสั่งให้จัดพิธีศพของเขาเทียบเท่ากับขุนนางชั้นพระยา พร้อมกับให้สร้างอนุสาวรีย์ภายในสุสานโปรแตสแตนต์ อาลาบาสเตอร์ยังมีลูกชายสองคนกับหญิงไทยซึ่งได้ตามรอยรับราชการจนได้รับบรรดาศักดิ์ถึงชั้นพระยาทั้งคู่