สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล

สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล
ย้อนไปในงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจาก “มะลิลา” (พ.ศ. 2561) หนังไทยอิสระได้รางวัลไปครองหลายรางวัลจนมาถึงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของผู้กำกับ นุชี่ – อนุชา บุญยวรรธณะ เธอขึ้นกล่าวขอบคุณที่ได้รับรางวัลนี้พร้อมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า วงการหนังไทยไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลที่ผ่านมาเท่าที่ควร หลังจากนั้นไม่กี่นาที วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีก็ขึ้นมาบนเวทีเพื่อประกาศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งก็ตกเป็นของ “มะลิลา” อีกเช่นกัน แต่ก่อนจะประกาศก็มิวายสวนกลับว่า รัฐบาลนี้ให้การสนับสนุนวงการหนังไทยแล้ว (สามารถอ่านวิวาทะของทั้งคู่แบบเต็ม ๆ ได้ทาง https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2271728) ประเด็นดังกล่าวร้อนระอุในโลกโซเชียลมีเดียทันที ในขณะที่คนทำหนังต่างออกมาสนับสนุนคำพูดของอนุชาว่าถูกต้องและพูดแทนความในใจ “นักทำหนัง” จำนวนมาก แต่ก็มีการเปิดเผยข้อมูลว่า “มะลิลา” ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นจำนวน 700,000 บาท เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ย้อนกลับไปทางผู้สร้างหนังต่าง ๆ นานา อาทิ “รัฐบาลสนับสนุนแล้วนี่” “ทำไมถึงต้องโกหกด้วย” ฯลฯ อย่างไรก็ตามคนในวงการหนังก็ยืนยันว่า การให้ทุนสนับสนุนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะสิ่งที่ผู้กำกับอนุชาหมายถึงคือภาครัฐควรต้องหาวิธีช่วยให้หนังไทยสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงและยืนยาว เปิดให้มีพื้นที่ฉายเพียงพอ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งนั่นเรื่องใหญ่และสำคัญกว่าการได้ทุนเสียอีก นอกจากคนเบื้องหลัง ยังมีคนเบื้องหน้าที่ออกมาปกป้องอนุชาเช่นกัน หนึ่งนั้นคือ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงมากฝีมือจาก “มะลิลา” เจ้าของรางวัลสมทบชายยอดเยี่ยมจากทุกสถาบันนั่นเอง เขาเป็นปากเป็นเสียงให้กับนุชี่และ “มะลิลา” หลายครั้งผ่านช่องทางบนสื่อออนไลน์ ทางทวิตเตอร์ส่วนตัว @Obojama เขาพยายามพูดคุยถกเถียงเรื่องนี้กับชาวเน็ตอย่างใจเย็น สุขุม แม้จะมีคนจำนวนมากกรูเข้ามาโต้เถียง ใส่อารมณ์และประชดประชันอย่างไม่เข้าใจ ไม่มากไม่น้อย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ The People สนใจคุยกับ โอ อนุชิต ถึงเรื่องวงการหนังไทยในความคิดของเขา นอกจากนั้นเมื่อติดตามอ่านความคิดเห็นของเขาในเรื่องต่าง ๆ ทางทวิตเตอร์ ก็ยิ่งพบประเด็นน่าสนใจอีกหลายประเด็น อะไรหล่อหลอมความคิดและทำให้เขาใจเย็น คิดบวกได้มากถึงเพียงนี้ และนี่คือสิ่งที่เราจะพาท่านผู้อ่านไปหาคำตอบกัน สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล The People: สถานการณ์ของวงการหนังตอนนั้นกับตอนนี้ ตั้งแต่ตอนคุณเข้าวงการ ได้เล่นหนังเรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11”, “โหมโรง” มาจนถึง “มะลิลา” มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง อนุชิต: คล้ายตรงที่เราคาดเดาอะไรไม่ได้ บางทีเราคาดว่าหนังจะมีสูตรสำเร็จ แต่สูตรมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป อาจมีบางอย่างคงเดิม เช่น หนังของพี่ พจน์ อานนท์ เชื่อว่าน่าจะยังทำเงินและถูกใจคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิด มันยังมีความคล้ายเดิมตรงที่มีความพยายามอยู่ หนังดรามายังมีความเสี่ยงสูงเหมือนเดิม แต่ไม่มีใครหยุดทำหนังเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี มีคนไทยได้รับชื่อเสียงจากต่างประเทศมากขึ้น พี่ เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ไปไกลมากตอนนี้ ตากล้อง พี่ สอง (สยมภู มุกดีพร้อม) ก็ไประดับโลกแล้ว อีกอย่างคือกระแสมาเร็วไปเร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้น่ากลัวเพราะมันฉาบฉวยมากขึ้น อาจเพราะเมื่อก่อนไม่ได้เร็วขนาดนี้ ตอน “โหมโรง” (พ.ศ. 2547) ฉาย เรายังมีเวลาตั้งตัว หนังกำลังจะไปแล้วแต่กระแสเริ่มมาพอดี มันอาจไม่ได้มาเร็วแต่มันค่อย ๆ มา เลยยังมีโอกาสตั้งตัวและทะยานขึ้นอีกครั้ง ถ้าเป็นยุคนี้คือมันมาแล้วมันก็ไป เป็นพลุที่ดังขึ้น “ปุ้ง” แล้วหายไปเลย   The People: “มะลิลา” เป็นอย่างนั้นด้วยไหม อนุชิต: สำหรับโอไม่เป็นอย่างนั้น มันยากกว่า “โหมโรง” หลายร้อยเท่า “มะลิลา” มีความไม่เข้าใจ เป็นหนังอินดี้ที่ไม่มีคำตอบในตอนจบ ซึ่งนุชี่ (ผู้กำกับ) ก็ไม่เคยให้คำตอบแน่ชัดกับคนดู สิ่งที่นุชี่ทำมันยิ่งใหญ่มาก เพราะนุชี่ต้องการเปิดกว้างทางความคิดแก่คนดู ทุกครั้งที่มี Q&A กับนุชี่ เราจะได้คำตอบที่ว้าวมาก มันตีความได้หลากหลายขนาดนั้นเลย ส่วน “โหมโรง” มีหน้าหนังไม่น่าดู บนโปสเตอร์มีคนถือไม้ระนาดอยู่ โอจำไม่ได้ว่าตัวอย่างตัดออกมายังไง แต่มันไม่มีคนที่มีชื่อเสียงอยู่ในนั้นเลย และหนังเกี่ยวกับดนตรีไทยก็คงไม่ได้น่าดูมาก แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า 99.99% ของคนที่ดูต้องชอบและประทับใจ เพราะหนังดูง่ายเสพง่าย พอชอบคนก็บอกจะต่อกัน มันต่างกับ “มะลิลา” ที่มีความงง จะบอกต่อกันว่าไม่สนุก พอหนังไม่สนุกคนก็จะรู้สึกว่าดูดีไหมหว่า แถมสมัยนี้บัตรก็แพง บางคนก็เลยรอดูผ่านดีวีดีหรือผ่านสตรีมมิ่งเอาแล้วกัน แต่ที่โอชอบมากคือ ไม่มีใครบอกเลยว่าหนังห่วย และทุกคนต่างโทษตัวเอง ขอโทษนะ ในทวิตเตอร์มีคนเขียนว่า “กูคงโง่เองที่ดูไม่เข้าใจ” โอเลยเข้าไปบอกว่า “คุณไม่ใช่คนเดียวที่ดูไม่เข้าใจ และคุณไม่ใช่คนโง่ มันอาจเป็นหนังอีกรูปแบบที่เราไม่เคยเสพมาก่อน”   The People: ผู้กำกับอนุชาทำให้คนดูตีความ คาดเดาไม่ได้ แล้วในกองถ่ายเขาบอกไหมว่าต้องการจะสื่ออะไร อนุชิต: ไม่ ตัวหนังมีลักษณะประมาณว่าเราอยู่ในร้านกาแฟเงียบ ๆ แล้วแอบฟังโต๊ะข้าง ๆ คุยกัน เราจะปะติดปะต่อเรื่องว่าเขาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะรู้สึกว่า “อะไรของมันวะ” เรารู้แค่ที่เขาคุยตรงนี้ แต่ไม่รู้เหตุการณ์ก่อนหน้าว่าเกิดอะไรขึ้น “มะลิลา” เป็นหนังแบบนั้น   The People: ประเด็นที่ผู้กำกับอนุชาพูดในสุพรรณหงส์ เป็นปัญหาที่รู้มาก่อนไหม อนุชิต: จากการทำงานกับนุชี่ นุชี่พาไปต่างประเทศ ไปปูซาน ได้คลุกคลีกับ ดรสะรณ (โกวิทวณิชชา) หนึ่งในโปรดิวเซอร์ที่ทำงานหลากหลาย ทำให้เห็นอะไรหลากหลายขึ้น ได้รู้ว่าวงการหนังไทยมีปัญหาอะไร นอกจากรัฐบาลไม่สนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น เราเข้าใจนะว่ารัฐบาลเองก็มีงานเยอะ และยังมีปัญหาที่เรารับรู้มาจากคนอื่น ๆ อีกเยอะอย่างเรื่องสายหนัง อันนี้น่ากลัวมาก เราไม่รู้ว่าเขาจะแก้กันยังไง และจะเป็นไปได้แค่ไหน   The People: คิดว่าปัญหารัฐบาลไม่สนับสนุนวงการหนังไทยมันใหญ่แค่ไหน อนุชิต: ตอนแรกเราก็รู้สึกเหมือนคนทั่วไปว่าอันนี้ (การได้ทุนจากกระทรวงวัฒนธรรมจำนวน 700,000 บาท) เรียกว่าสนับสนุนนะ แต่สิ่งที่นุชี่พูดบนเวทีเขาไม่ได้หมายถึงตัวเงินหรือการสนับสนุนด้วยการพาไปต่างประเทศ การสนับสนุนมันต้องคล้าย ๆ กับการออกกฎบังคับเพื่อให้หนังไทยคงอยู่ได้ในประเทศตัวเอง กลายเป็นว่าหนังไทยไปในตลาดโลกได้ แต่ประเทศตัวเองไม่มีพื้นที่ให้ฉาย ยกตัวอย่าง “มะลิลา” ทุกโรงให้รอบนะ แต่เป็นรอบแบบ 10 โมงเช้า, บ่าย 2 โมง หรือ 3 ทุ่ม ซึ่งวันธรรมดามันไม่มีคนดูเพราะเขาทำงาน ถ้าบอกว่าหนังไม่ทำเงินมันก็ต้องไม่ทำเงินอยู่แล้ว แต่ถ้ามีกฎหมายที่พอช่วยกันได้บ้าง เช่น หนังไทยควรมีรอบฉายที่ดีกว่านี้ มีอย่างน้อย 1 โรงฉายไปเลย หมายถึงว่า โรงมัลติเพล็กซ์มี 10 กว่าโรง ขอมีสัก 1 โรงเพื่อฉายหนังไทยอย่างเดียวเลยเป็นไปได้ไหม? แต่เราเข้าใจทางโรงนะว่าถ้าฉายแล้วไม่มีคนดู เขาจะฉายทำไม เขาไปฉายหนังที่ได้ตังค์ดีกว่า เพราะทุกรอบมันมีค่าใช้จ่าย ถ้าฉายเรื่องอื่นแล้วได้เงินคืนมามากกว่า โรงก็จะเลือกฉายหนังแบบนั้น เราเข้าใจและเห็นถึงปัญหานะ แต่ไม่รู้จะแก้ยังไง นอกจากอธิบายในทวิตเตอร์ว่าสิ่งที่นุชี่พูดถึงไม่ได้หมายถึงตัวเงินสนับสนุนจากรัฐ แต่เราก็จะพบว่าคนในทวิตเตอร์มัน... มันเป็นปกติแหละที่การคุยผ่านตัวหนังสือไม่สามารถอธิบายได้หลากหลาย คนยังมุ่งอยู่แต่เรื่องได้เงินกี่แสน เอาเงินนั้นมาเปลี่ยนเป็นเตียงในโรงพยาบาลได้กี่เตียง คือเราไม่ได้พูดเรื่องนั้นอะ (หัวเราะ) แล้วพอพูดไปสักพักเราก็รู้สึกว่า โอเค หยุดดีกว่า สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล The People: เท่าที่ไล่อ่านการโต้ตอบในทวิตเตอร์ รู้สึกว่าคุณมีความใจเย็นมาก ๆ อนุชิต: แล้วแต่เรื่องฮะ แต่วันนั้นเราตั้งใจมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในทวิตเตอร์จริง ๆ เราไม่ได้ตั้งใจมาเถียง แต่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าทำไมถึงคิดอย่างนี้ เราอยากฟังว่าทำไมคุณถึงไม่พอใจ การฟังเหตุผลว่าทำไมเขาไม่พอใจจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น เราจะเป็นอย่างนี้กับทุก ๆ เรื่อง แล้วก็ดูว่าเขาพอจะฟังเหตุผลของเราบ้างไหม เรารู้สึกดีนะที่มีหลายคนพร้อมฟัง แต่ถ้ามีคนไม่อยากฟังและดูเหมือนข้อความเราไปกระตุ้นอารมณ์เขามากขึ้น เราจะรู้สึกกลัวคนแบบนั้น   The People: คิดว่าคนที่ฟังกับไม่ฟัง อันไหนมากกว่ากัน อนุชิต: คนที่ฟังจะไม่เขียน อาจจะอ่านแต่ไม่โต้ตอบ พวกโต้ตอบจะเสียงดังกว่า คนเล่นทวิตเตอร์มีหลายพันล้าน คนที่สร้างปัญหาเหมือนจะเยอะ แต่คนที่เขาอ่านเงียบ ๆ ก็มีไม่น้อย มันเลยพูดยากว่าอันไหนเยอะกว่ากัน   The People: หลังจากที่คุณอนุชาพูดในงานสุพรรณหงส์ มีการคุยกันถึงเรื่องนี้ไหม อนุชิต: หลังรับรางวัลก็คุยกันเลยฮะ นุชี่เขารู้สึกผิดที่ไม่ได้ขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรม เขาบอกว่าเดี๋ยวจะกลับไปเขียนขอบคุณในเฟซบุค โอเลยบอก “ไม่เป็นไร ไม่ต้องเขียนหรอก มันคนละเรื่องกัน” แต่เขารู้สึกผิดจริง ๆ เลยกลับไปเขียน พอเขียนปุ๊บ ทวิตเตอร์เลยดึงประเด็นนั้นไปเล่น “อ้าว นั่นไง ได้ทุนจากกระทรวงวัฒนธรรมนี่ แล้วตกลงยังไงกันแน่ ไหนบอกว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือ” ถ้านุชี่ไม่เขียน มันอาจไม่ดังนะ (หัวเราะ) (อ่านสเตตัสของอนุชาได้ที่ Facebook) นุชี่รู้สึกผิดที่ไม่ได้ขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรม แต่ไม่ได้รู้สึกผิดที่พูดเรื่องรัฐบาลไม่สนับสนุนวงการหนังไทยแน่นอน เรารู้ว่านุชี่ต้องการจะสื่ออะไร หลังจากนั้นเขาก็แค่ระมัดระวังในการพูดมากขึ้น   The People: ตั้งแต่สมัยที่คุณเล่น “โหมโรง” และ “15 ค่ำ เดือน 11” มีปัญหาเรื่องรัฐบาลไม่สนับสนุนหนังไทยไหม อนุชิต: ตอนนั้นยังเด็กมากจนไม่ได้สงสัยเรื่องพวกนี้เลย นั่นคือหนัง 2 เรื่องแรกในวงการ พูดตรง ๆ หนังมันค่อนข้างประสบความสำเร็จทั้ง 2 เรื่อง จนเราไม่มาคิดว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่เพราะภาครัฐหรือเปล่า โอเลยโฟกัสเรื่องอื่น ๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากกว่า เพราะกำลังตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดกับตัวเองในเวลานั้น   The People: แต่พอมีอายุมากขึ้น เลยเริ่มตกตะกอนทางความคิด? อนุชิต: ใช่ เพราะสิ่งที่เข้ามากระทบเราไม่ใช่สิ่งใหม่แล้ว ทั้งชื่อเสียง คำชม การพูดถึง ตอนนั้นเราตื่นเต้นจนไม่ได้ดูว่ามันมีกระบวนการอะไรบ้าง พอทำงานมาเรื่อย ๆ เจอคนชมว่าเราแสดงเก่ง แต่เรารู้ว่าเราเก่งเพราะมีความช่วยเหลือจากทุก ๆ คน ฉากที่เราชอบมากที่สุดใน “มะลิลา” ถ้าเราขอนุชี่ว่าขอเห็นบายศรีพร้อมกับคนดูแล้วนุชี่บอกว่าไม่ได้ เราคงแสดงออกมาไม่ได้ตามที่ต้องการ เราได้รางวัลเพราะทุกคนช่วยกัน เพราะฉะนั้นเลยไม่ตื่นเต้นอะไรกับพวกนั้นแล้ว ก็ได้มาเห็นปัญหาอื่น ๆ มากขึ้น ยิ่งพอได้คลุกคลีกับนุชี่ ไปต่างประเทศด้วยกัน ได้คุยกันบ่อย ๆ เลยรู้ว่าปัญหาที่หนังไทยเจอคืออะไร ในขณะที่ตอนเด็กเราไม่ได้สนใจ พี่ เก้ง (จิระ มะลิกุล) ก็ไม่เคยคุยให้เราฟังด้วยแหละ ตอนนั้นอาจไม่มีปัญหาขนาดนี้มั้ง หนังไทยตอนนั้นถือว่ากำลังบูม มีทั้ง “นางนาก” (พ.ศ. 2542), “บางระจัน” (พ.ศ. 2543), “15 ค่ำ เดือน 11” (พ.ศ. 2545) แต่ตอนนี้มันยากขึ้น แล้วบางค่ายก็เพลย์เซฟทำหนังเนื้อหาคล้ายเดิม ทำให้บางทีก็ขาดความหลากหลาย นี่ก็ว่าตัวเองเหมือนกันนะ เพราะเราเลือกดูหนังไทยเหมือนกัน บางทีถ้าเป็นหนังไทยที่มีคอมพิวเตอร์กราฟิกเยอะ ๆ จะรู้สึกว่าสู้หนังต่างประเทศไม่ได้ก็เลยไม่ดู ซึ่งไม่ดี คอมพิวเตอร์กราฟิกไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในเรื่องเสียทีเดียว เราควรจะดูที่เนื้อหามากกว่า ซึ่ง... ผมขอโทษครับ สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล The People: หนังไทยในดวงใจของคุณคือเรื่องอะไร อนุชิต: “แฟนฉัน” (พ.ศ. 2546) คืออันดับ 1 ครับ มันอาจจะตรงกับชีวิตจริงที่เราโตมา ทุกคนต่างมีน้อยหน่าเป็นของตัวเอง วันก่อนเพิ่งนั่งฟังเพลงความทรงจำสีจาง ๆ ฟังเสร็จก็นึกถึงคำพูด “เจี๊ยบตัดยางเราทำไม” โอเป็นคนร้องไห้ง่าย ตอนฟังบนรถก็ร้องไห้ เลยรู้สึกอยากดูอีก มาคิดดูเวลาพูดถึงหนังในดวงใจจะตอบเรื่องนี้ทุกทีเลย โอดูแฟนฉันในโรงเกิน 5 รอบ ชวนเพื่อนทุกคนไปดู ตอนนั้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อนทุกคนอยากดู Finding Nemo (2003) แต่เราบอกไม่เอา ให้ดูเรื่องนี้ก่อน พอดูแล้วทุกคนก็ชอบ และเมื่อวันก่อนเห็นว่าพี่ มะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) จะทำหนังสือพ็อกเก็ตบุค รักแห่งสยาม อีดิชั่นพิเศษ มีบทละคร บทหนัง เล่มละ 850 บาท เราอยากสั่งซื้อมาก เลยนึกถึง “รักแห่งสยาม” (พ.ศ. 2550) ขึ้นมา เป็นอีกเรื่องที่ชอบมาก   The People: ทำไมถึงชอบมาก อนุชิต: เป็นหนังดราม่าที่เห็นชัดมากว่าดูในโรงภาพยนตร์พิเศษกว่าดูในมือถือยังไง โอชอบดู รักแห่งสยาม ในโรง เพราะชอบดูรีแอ็กชันของคน ตอนนั้นคนเข้าไปดูด้วยอารมณ์แบบหนัง GTH เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเด็กเล่นดนตรี คงคิดว่าเป็นหนังรักใส ๆ coming of age ของวัยรุ่น แต่พอเห็นฉากที่ พิชญ์ (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) เริ่มร้องเพลงจีบ มาริโอ้ (เมาเร่อ) คนก็เริ่มงงว่าตกลงนี่มันหนังอะไรกันแน่ มันเริ่ม “วี๊ดวิ่ว” กันในโรง ฉากจูบกันได้ยินเสียงคนกรี๊ดลั่นเลย เสน่ห์ของการดูหนังในโรงกับคนแปลกหน้าเลยยิ่งทำให้สนุกเหมือนเชียร์บอล เวลาเราหัวเราะ บางทีเราไม่ได้หัวเราะหนังนะ แต่หัวเราะคนข้าง ๆ   The People: แสดงว่าในยุคที่ดูหนังผ่านสตรีมกันเยอะ แต่คุณยังสนับสนุนการดูหนังในโรง อนุชิต: แน่นอนฮะ (ตอบทันที) มันคือการดูหนังแบบมีกำหนดเวลาแน่นอน เราโตมากับตารางออกอากาศที่แน่ชัด สมมติเราดู “รักเดียวของเจนจิรา” ทางช่อง 3 แล้วไปโรงเรียน ก็จะพูดคุยกับเพื่อนที่ดูมาพร้อมกันเลยสนุก ทุกวันนี้เราอาจเลือกดูหนังในเวลาที่เราสะดวก พอใจ แต่การดูแล้วไม่ได้คุยกับใครมันไม่สนุก ถ้าคนรอบข้างไม่ได้ดู เราจะไปคุยกับใครล่ะ แต่โอเองก็มีดีเลย์เหมือนกันอย่าง “เลือดข้นคนจาง” ก็เพิ่งจะมาดู ตอนนี้คุยกับใครไม่ได้เพราะทุกคนดูหมดแล้ว จะขอโทรฯ ไปบ่นกับเพื่อนหน่อยก็โดนว่า “มึงดีเลย์อะ ตอนเขาดูกันทำไมมึงไม่ดู” อย่างที่บอก การดูหนังในโรงภาพยนตร์มันสนุกเวลาเราดูรีแอ็กชันของคนรอบ ๆ ถ้าดูหนังกับฝรั่งที่เมืองนอกนี่สนุกมากเลยนะ โอไม่รู้ว่าเสียมารยาทหรือเปล่าเวลามีคนตะโกนขึ้นมา สมมติถ้าในหนังมีการทำอะไรที่มันงี่เง่า คนจะตะโกน “Stupid” หรือ “What” ขึ้นมาเลย ซึ่งขำมาก แต่ถ้าที่เมืองไทยเราต้องดูเงียบ ๆ แต่ว่าในโรงภาพยนตร์ไทยเดี๋ยวนี้ก็มีความไม่รู้กาลเทศะ มีพวกอ่าน text ในโรง เขารณรงค์กันจนไม่รู้จะรณรงค์ยังไงแล้ว เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้โออารมณ์ไม่เย็น ถ้าเจอโอจะสะกิดเลยว่า “ขอโทษนะครับ ปิดมือถือด้วยครับ” เราทนไม่ไหวจริง ๆ ถ้าถูกละเมิด   The People: แล้วเวลาหนังตัวเองเข้า ชอบไปดูในโรงไหม อนุชิต: แน่นอนครับ โอดู “มะลิลา” เป็น 10 รอบเลย อยากเห็นรีแอ็กชันของคนดู แม้เขาจะไม่ได้พูดอะไรในโรง แต่มันรู้สึกได้ เราจะได้ยินเสียงถอนหายใจ เสียงอะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเขายังดูอยู่ เขาไม่หลับนะ แต่จากทุกครั้งที่ดู 98% จะพบว่าหนังจบแล้วแต่คนก็ยังนั่งอยู่กับที่ ซึ่งเราว่าไม่ใช่ธรรมชาติของคนไทย ไม่ใช่ธรรมเนียมที่จะดูเอนด์เครดิตจนจบ คือคนนั่งอยู่เหมือนตกตะกอน ไม่รู้ว่าเขาอึ้งอยู่หรือเปล่าว่าจบแล้วเหรอ แต่ถ้าจบแล้วเหรอมันจะเป็นอีกฟีลหนึ่ง มันจะ “หืม” “อืม ๆ” แล้วก็รีบออกไปบ่นข้างนอก แต่เรารู้สึกได้ว่าคนกำลังตกตะกอนข้อมูลกับนั่งปรับฟีล เขาอาจจะงง แต่ไม่ได้งงแบบ “อะไรวะมึง” เขาแค่กำลังงงกับความรู้สึกของตัวเองมากกว่า หนังแบบนี้ถ้าโอไม่เล่นเองคงไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่พอเล่นเองเลยรู้ว่ามันพูดถึงอะไร ก็เพิ่งรู้ว่าหนังที่ใช้อารมณ์ดูเป็นยังไง ถ้าเราพยายามดูเนื้อเรื่อง จับนั่นจับนี่ก็จะพบว่า "นี่มันหนังอะไรวะ” เราจะไม่มีทางเข้าใจ แต่ถ้าเราปล่อย เราอาจไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่มันกระแทกความรู้สึก โอเห็นหลายคนเขียนทวิตเตอร์ในอารมณ์ว่า “ตื่นมายังอึนอยู่” เราเห็นแล้วก็รู้สึกดี   The People: คุณมีภาระหน้าที่มาก แบ่งเวลาในการดูหนัง และการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไรบ้าง อนุชิต: ก็ไม่ได้มีภาระหน้าที่เยอะนะ (หัวเราะ) อาจจะชอบทำให้ดูเหมือนตัวเองมีเวลาว่างพอสมควร ไม่ได้ยุ่งขนาดนั้น พอเราเป็นนักแสดงคนหลัก เราไม่ได้มีอีเวนต์ เราเลยว่างมากและมีเวลา happy กับตัวเอง แต่ก็แล้วแต่ช่วงเวลาว่าเราอินอะไร บางช่วงถ้าเจอหนังสือที่เปิดหัวมาดี เราก็จะอยู่จมกับมัน มีคนบอกว่าเราอ่านเยอะนะ ซึ่งจริง ๆ ไม่หรอก เราแค่อาจโพสต์เกี่ยวกับหนังสือเยอะ สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล The People: มีงานอะไรที่คุณไม่ชอบ และจะไม่ทำบ้างไหม อนุชิต: งานรีวิวของในไอจี (อินสตาแกรม) ไม่ใช่ไม่ชอบทำ แต่เรามีกฎเกณฑ์ในไอจีของเราเองว่าเราต้องใช้ของก่อน ถ้าอันไหนที่เราใช้ เราชอบ เราก็จะพูดถึงมัน ไม่รู้ว่าทำไมไม่ชอบ เหมือนเราดูทีวีแล้วรำคาญโฆษณามั้ง เวลาคนเข้ามาดูไอจีแล้วเห็นเราโฆษณา ถามว่ารู้ไหมว่านั่นคือการรีวิว คือโฆษณาได้ตังค์ เขารู้นะ อย่างล่าสุดมีน้องคนนึง ขอไม่เอ่ยชื่อ ไม่ค่อยเห็นเขารับงานนี้แต่เห็นเขาเขียนแล้วมันขำ ช่วยทำให้มันเนียนกว่านี้ได้ไหม เราเองมีความเป็น loyalty พอสมควรกับบางแบรนด์ซึ่งไม่ได้ตังค์กับเขานะ ก่อนหน้านี้มีแบรนด์รองเท้ากีฬายี่ห้อนึงเห็นโอชอบวิ่งเลยจะให้สปอนเซอร์ เราดีใจมาก แต่เขามีข้อแม้ว่า “น้องโอต้องใส่แฮชแท็กด้วยนะ” คือเราใส่ยี่ห้อนี้อยู่แล้ว เราถ่ายรูปโชว์แต่ไม่ได้ใส่แฮชแท็ก แล้วอยู่ดี ๆ ต้องมาแฮชแท็กยี่ห้อนี้ เราเลยขอว่า “ไม่ติดแท็กได้ไหมครับ” เขาก็ “ได้ค่ะ เดี๋ยวขอไปคุยกับหัวหน้าก่อน” แล้วเงียบไป จบเลย (หัวเราะ) คือไม่เป็นไรหรอก เราซื้อใส่ได้ แต่อยากให้มีแบรนด์ที่เข้าใจเราบ้าง   The People: เหมือนจะมีกฎเกณฑ์ในการเล่นโซเชียลมีเดีย อนุชิต: ใช่ ถ้าเราชอบจริง ๆ เราสามารถพูดให้ได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่คิดตังค์ เราไม่รีวิวครีม แต่สมมติเพื่อนให้ถ่ายครีมนี้ให้หน่อย เราถ่ายให้ได้ แต่จะไม่ใช้วิธีการว่าเอาไปถือในไอจีของตัวเองแล้ว “สวัสดีครับ เรากำลังจะทาหน้า” ถ้าอันไหนทำ เราจะบอกตรง ๆ เลยว่าอันนี้ของเพื่อน เรามาช่วยเพื่อนขาย   The People: แล้วในแต่ละโซเชียลฯ มีกฎแตกต่างกันไหม อนุชิต: สำหรับทวิตเตอร์เมื่อก่อน สมัครไว้ตั้งแต่แรก ๆ แต่ไม่ค่อยเล่น เพราะอยู่ในทวิตนาน ๆ มันเครียด มันทำลายวิธีคิดและมนุษยสัมพันธ์ที่สุดแล้ว แต่เราอยากรู้ว่าคนพูดอะไรถึงเราทั้ง ที่การไม่รู้น่าจะดีกว่า ล่าสุดไปเจอข้อความว่า “ชอบการแสดงของโอนะ แต่ไม่ชอบวิธีการแสดงความคิดเห็น” เราก็จะคิดว่าคงแสดงความคิดเห็นการเมืองในแบบที่เขาไม่ถูกใจ แต่เรามั่นใจว่าไม่ได้แสดงความคิดเห็นสุดโต่ง โอคิดว่าเราควรต้องฉุกคิดนิดหนึ่ง คุณจะเกลียดใคร ไม่ชอบใครก็ตามแต่ลองฟังข้อมูลอันดีของเขาสักหน่อยไหม ไม่ใช่ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น เราอาจไม่ได้อยู่ฝ่ายนี้ แต่เราก็จะฟังว่าฝ่ายนี้มีดีอะไรบ้าง เราต้องอยู่กับความต่างให้ได้ในท้ายที่สุด ในยุคนี้เราไม่ได้อยู่กับความต่าง เราเลือกดูเฉพาะสิ่งที่เราอยากดู เลือกฟังเฉพาะสิ่งที่เราอยากฟัง แต่โอโตมาในยุคที่ถ้าฟังวิทยุ FM ก็ต้องฟังเพลงอื่น ๆ ทั้งหมด แม้เราจะชอบเพลงของ เจ เจตริน เพลงของ คริสติน่า อาร์กีล่าร์ แต่เราต้องฟัง Y Not 7 ด้วย พอฟังแล้วก็พบว่าเขามีเพลงที่ดีเหมือนกัน แต่ถ้าโตมาตอนนี้ โอคงไม่รู้จัก Y Not 7 คงฟังแต่ เจ เจตริน อย่างเดียว   The People: คิดอย่างไรกับคำพูดว่าคนเป็นดารา นักแสดง คนดัง ไม่ควรแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือประเด็นที่สุ่มเสี่ยงอื่น ๆ อนุชิต: ประเด็นนี้ไม่เกิดขึ้นในอเมริกาเนอะ เขาเลือกข้างชัดเจนมากเลยอะ เอลเลน (เดอเจเนอเรส) อยู่ข้างนี้ เจโล (เจนนิเฟอร์ โลเปซ) อยู่ข้างนี้ แต่เมืองไทยไม่ได้จริง ๆ (เงียบ) แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่ได้ อันนี้น่ากลัว แต่จริง ๆ ฝรั่งก็เป็นนะ ครอบครัวเดียวกันแต่อยู่คนละข้าง ไม่คุยบนโต๊ะอาหาร เราอธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำไม แต่รู้ว่าถ้าแสดงออกไปแล้วไม่ถูกใจใครอีกฝั่งนึง เขาก็จะเอาไปด่า คนที่อยู่ข้างเดียวกันจะกลายเป็นคนโง่ในสายตาอีกฝั่ง เพราะฉะนั้นเลยไม่ควรแสดงความคิดเห็นอาจจะดีกว่า ไม่อย่างนั้นมันอาจไปยั่วยุคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ   The People: บางทีคุณก็มีแสดงความคิดเห็นบ้าง? อนุชิต: แต่โอจะไม่แสดงความคิดเห็นสุดโต่งเรื่องข้างที่เราชื่นชอบ มีอันที่เรารีทวีต เช่น รัฐบาลนี้แม้จะโกง แต่เขาก็มีข้อดีแบบนี้นะ เรารู้สึกว่ามันเป็น fact ที่ควรถูกพูดถึงเหมือนกัน มันคือด่าแต่มีข้อดีด้วย เราไม่ได้ด่าอีกฝั่งแล้วรีทวีตคำด่าอย่างเดียว แต่มีคนในวงการหลายคนเป็นแบบนั้น เขาหยาบคายไปหน่อย เราเลยเลือกอันเฟรนด์ อันฟอลโลว์ไปเพราะไม่อยากเห็นมุมมองที่ดูสุดโต่ง แต่กับบางคนถ้าเขาไม่ได้สุดโต่งหรือหยาบคาย เรายังโอเค   The People: แสดงว่าคนในวงการสุดโต่งเยอะ? อนุชิต: มีสิครับ เห็น ๆ กันอยู่ว่าสุดโต่งมาก แต่เราจะไม่โอเคกับการใช้คำหยาบกับคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ อันนี้จะปรี๊ดเหมือนกัน รู้แหละว่าเขาอาจทำหน้าที่ไม่ดี แต่ด่าผู้ใหญ่ที่อายุเท่า ๆ หรือแก่กว่าพ่อแม่เราด้วยคำหยาบมาก ๆ อันนี้โอทนไม่ได้ ต่อให้เป็นคนฝั่งของเราก็เถอะ   The People: เป็นสังคมที่ทุกคนใช้อารมณ์สุดโต่งมากไป? อนุชิต: แล้วในทวิตเตอร์มันไม่ต้องใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงในการสมัคร มันยิ่งระบายความแค้น ระบายอารมณ์ได้ดีกว่า ถึงบอกว่าอยู่ในนี้ได้ไม่นานต้องพักไปเล่นอย่างอื่น ส่วนเฟซบุคส่วนใหญ่โอจะเลือกแชร์โมเมนต์ที่อยากให้มันถูกรีมายด์ เราชอบ On This Day ที่ขึ้นว่าปีก่อน ๆ คุณทำอะไร อันไหนที่เราเอาลงในเฟซบุค มันจะมีความสำคัญกับเรามาก ส่วนไอจีมันฝึกให้เราถ่ายรูป เลยได้ถ่ายภาพสวย ๆ เมื่อก่อนโอเห็นเพื่อนคนหนึ่งเล่นก่อนเลยสมัครตาม เพื่อนบอกว่า “ไอจีถูกสร้างมาเพื่อโชว์มุมมองศิลปะทางภาพถ่าย แต่มึงอย่าถ่ายแต่หน้าตัวเองล่ะ” ช่วงแรก ๆ เลยจะถ่ายรูปวิวอย่างเดียว พอดูรูปคนอื่นถ่ายสวย ๆ เราก็อยากถ่ายได้บ้าง ก็เริ่มไปตามไอจีฝรั่ง ปรากฏว่าถ้าเจอฝรั่งที่ลงรูปตัวเองเยอะเราจะแฮปปี้ เพราะถ้าเราติดตาม จูเลีย โรเบิร์ตส์ เราก็อยากเห็นหน้าจูเลียใช่ไหม ถ้าเราฟอล ลีโอนาร์โด (ดิคาพรีโอ) เราก็อยากเห็นหน้าลีโอ เราไม่ได้อยากเห็นลีโอถ่ายรูปวิวเยอะ ๆ นะเว้ย พอเป็นอย่างนี้เราเลยมานั่งคิดกับตัวเอง แถมแฟนคลับยังบอกว่า “ก็เป็นอย่างนั้นแหละพี่โอ คนตามเขาอยากเห็นหน้าพี่โอกันทั้งนั้น ไม่ได้อยากเห็นรูปวิวที่พี่โอถ่าย” (หัวเราะ) ก็เลยหัดถ่ายตัวเองสลับถ่ายรูปนั่นนี่ บางทีดู thumbnail แล้วเห็นรูปตัวเอง 4 รูปติดจะรู้สึกว่าไม่ได้ละ ต้องถ่ายวิวหรือถ่ายอย่างอื่นบ้างแล้ว (หัวเราะ) ส่วนเพื่อนที่เตือนโอว่าอย่าถ่ายแต่รูปตัวเอง แต่ทุกวันนี้พอเปิดดู อ้าว… ทำไมมึงแก้ผ้าล่ะ ก็ไปแซวมัน หุ่นดีแล้วถอดเสื้อเลยนะ มันบอก “เป็นศิลปะ” ก็โอเค ๆ (หัวเราะ) สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล The People: ในบรรดาโซเชียลมีเดีย อินสตาแกรมมอบความสุขที่สุด? อนุชิต: ทุกอันโอจะไม่ค่อยลงความเครียด หรือแชร์อะไรที่ทุกคนแชร์อยู่แล้ว อย่างข่าวแย่ ๆ จะไม่แชร์ เพราะมีคนทำอยู่แล้ว เข้าไปดูมันเครียดนะ ทำไมสังคมมันแย่ขนาดนี้ โอรู้สึกว่าถ้าเข้ามาในไอจีโอจะเห็นคุณลุงคนหนึ่งบ้า ๆ บอ ๆ แต่ถ้าดูเสร็จแล้วอาจเผลอยิ้มออกมา โออยากให้คนเห็นอะไรแล้วตลกหรืออารมณ์ดีออกไปในทุกช่องทาง เราจะพยายามไม่ลงอะไรเครียด ๆ อาจมีบ้างถ้าตัวเองรู้สึกแย่จริง ๆ ครั้งหนึ่งตอนถ่าย มะลิลา โอเห็นต้นไม้โน้มกิ่งหากันแต่ไม่โดนกัน ก็คิดว่า “เฮ่ย ดูสิ เขามีถนนกั้น เขาเจอกันไมได้” ก็ร้องไห้ออกมา ช่วงนั้นจะติสต์เบา ๆ (หัวเราะ)   The People: คุณเอาแนวคิดด้านบวกมาจากไหน อนุชิต: เริ่มมาจากพี่คนหนึ่งซึ่งโอสนิทมาก ตอนนั้นมีคนขับรถตัดหน้า เราโมโหมาก แต่พี่เขาบอกว่า “ช่างเถอะ แม่เขาอาจกำลังจะตาย หรือตัวเขาอาจท้องเสียก็ได้” คือให้คิดอะไรก็ได้ในแง่ดีให้เราสบายใจ มันอาจไม่ใช่เหตุผลจริง แต่ถ้าเราคิดแบบนั้นเราจะเย็นขึ้น นั่นน่าจะเป็นจุดแรกที่ต้องหาเหตุผลให้กับทุก ๆ อย่างเวลาไม่เข้าใจ แม้จะเป็นเหตุผลจริงหรือไม่จริงก็ตาม แล้วพอเราเล่นละครต้องรับบทเป็นตัวร้าย เรายิ่งต้องมีเหตุผลสนับสนุนการกระทำอย่างชัดเจน ทำให้เรารู้ว่าท้ายที่สุดเราไม่ได้อยากรู้ว่าเขาทำอะไร เราอยากรู้ว่าเขาทำเพราะอะไรมากกว่า มันเลยค่อย ๆ ติด แล้วพอมีอะไรมากระทบจิตใจ เราก็จะหาเหตุผลจนเจอว่า อ๋อ... เพราะอย่างนี้ไง พอโตขึ้น เห็นโลกมากขึ้น เราจะรู้แล้วว่าชีวิตก็แค่นี้เอง คนมันก็แค่นี้ ถ้าไม่ได้มองแค่ว่าคนเรามีแค่ดีกับเลว เราจะเข้าใจคนมากขึ้น เราเพียงแค่ดูว่าอะไรเกิดขึ้นแต่อย่าไปตัดสิน อย่างแม่ชอบดูข่าวแล้วมีอารมณ์ร่วม ก็จะบอกแม่ว่า “แค่ดูพอ ดูอย่างเดียวแล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไป”   The People: เคยมีไหมที่เจอเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล อนุชิต: มีฮะ ขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายเป็นใครก่อน ถ้าเป็นเพื่อนสนิท เป็นแฟน พวกนี้จะมี VIP Card ทำอะไรก็ไม่ผิด “ก็เพื่อนกูอะ มันก็อย่างนี้แหละมึง” “ก็เพื่อนอะ จะไปอะไรกับมัน” แต่มีอันหนึ่งตอนบวชอยู่ มีผู้หญิงคนหนึ่งเห็นเราเป็นพระใหม่ อยากทำบุญตักบาตรทุกเช้าเลย บ้านเขาอยู่ในซอยถัดจากวัดไปนิดเดียว แต่เขาอยากนิมนต์เราเข้าซอยซึ่งไม่ใช่ทางที่เราต้องบิณฑบาต เราบอกว่าต้องแล้วแต่พระพี่เลี้ยงจะพาไปบิณฑบาตสายไหน เขาขอให้ผ่านซอยนั้นหน่อย หลวงพี่ก็บอกว่าไปรอหน้าวัดสิ บ้านอยู่แค่นี้เอง เขาบอกว่าไม่ได้ เราก็ไม่เข้าใจทำไมไม่ได้ จนวันสุดท้ายเราขอหลวงพี่แวะไปหน่อยแล้วกัน พอแวะไปถึงปุ๊บ ถึงเห็นว่าเขาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวคนเดียว ไม่สามารถแวะมาวัดได้เลย เราก็เข้าใจทันที เราพยายามคิดหาเหตุผลตลอดว่าทำไมเขามาไม่ได้วะ แล้วเหตุผลนี้ไม่อยู่ในหัวเลย มันยังมีอีกหลากหลายเหตุผลในตัวแต่ละคนที่เราไม่มีทางเข้าใจ โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้เป็นคนคนนั้น ในทางละครก็เหมือนกัน โอเชื่อว่าประสบการณ์ทำให้คนเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทำให้เราเข้าใจวิธีคิดของคนคนนั้นมากขึ้น แต่ถ้าเล่นเป็นฆาตกรโรคจิต เราคงไม่ต้องไปลงลึกแตะประสบการณ์ หรือทำยังไงให้เราเข้าใจ ฉะนั้นมันจะทำให้เราตัดสินคนน้อยลง พอมานั่งมองแล้วก็จะคิดตามว่า “ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้นะ” มันต้องมีอะไรบางอย่างแน่ ๆ ประมาณนั้น   The People: เวลาแสดงละครกับแสดงภาพยนตร์ การทำอารมณ์ต่างกันไหม อนุชิต: ต่างกันมาก ละครต้องเร็ว คือไม่ได้เร็วแบบฉาบฉวยนะ แต่จะรู้สึกว่าไม่จริงเท่าหนัง แล้วคนในกองก็เยอะกว่า วันหนึ่งมีถ่ายหลายฉากก็ต้องมีสัมพันธไมตรี มีการพูดคุยกัน สมมติถ้าเราพยายามทำสมาธิคนเดียวในกองถ่าย อ่านบทเงียบ ๆ ในมุมของตัวเอง ขณะที่นักแสดงร่วมฉากหลายคนนั่งคุยกัน คุณอาจกลายเป็นตัวประหลาดได้ เท่าที่เคยฟังเวลาคนพูดถึงนักแสดงคนนั้นคนนี้กำลังทำสมาธิ ทำอารมณ์กับบทที่เขาเล่น มักไม่มีคำชื่นชม โอก็แอบแปลกใจว่าเขาพยายามทำสมาธิ บทอาจจะยาก เขาแค่นั่งเงียบ ๆ ทำไมนักแสดงคนอื่น ๆ ต้องเมาธ์เขาด้วยวะ แต่เราก็คิดได้ว่าอย่าไปยึดติดขนาดนั้น ในหนังฝรั่งเราเห็นบางคนทำแบบนั้นเพื่อให้เข้าถึงบทบาท โอคิดในใจว่าถ้าทำแบบนั้นในเมืองไทยนะโดนด่าแน่ เพราะมันทำให้คนอื่นทำงานลำบากขึ้น คนไทยชอบความไม่ตั้งใจแต่เก่งมากกว่า ก่อนเข้าฉากยังคุย ๆ กันอยู่แล้วพอเข้าปุ๊บ “หูย ทำได้ไงอะ” แต่ถ้ามาถึงแล้วนั่งเครียดทั้งวัน โอว่ามันอาจทำให้บรรยากาศในกองเครียดไปด้วย เลยอย่าทำดีกว่า   The People: จากที่แสดงละครและภาพยนตร์ มันมีปัญหาแตกต่างกันยังไง อนุชิต: วงการละครมีปัญหาในความซ้ำซาก (เงียบนึก) เรามีปัญหาเรื่องนักแสดงที่ติดสัญญาตามสังกัดต่าง ๆ เราไม่มีวันเห็น เบลล่า (ราณี แคมเปน) เล่นละครกับ เวียร์ แน่นอน เพราะเขาติดสัญญาช่องตัวเอง เราไม่มีทางเห็นนักแสดงช่อง 7 ไปออกรายการช่อง 3 แต่เวลาเราดูรายการทีวีต่างประเทศ จะเห็นนักแสดงแต่ละคนไปออกช่อง FOX, CBS หรือ ABC ก็ได้ ทุกคนสามารถช่วยดึงเรตติงของช่องกันและกันได้หมด สมมติว่าเบลล่าไปออกรายการช่อง 7 เบลล่าจะได้ตลาดช่อง 7 ส่วนช่อง 7 ก็จะได้ฐานแฟนเบลล่ามาดูด้วย คือมันได้กันหมดและทำให้เกิดความหลากหลายขึ้น แต่ถ้าเราเห็นดาราช่อง 3 เล่นละคร แต่กับดาราช่อง 3 ละครก็จะมีแต่ดารากลุ่มนี้ ฐานคนเยอะขนาดไหนมันก็จะเท่าเดิม ความหลากหลายก็น้อยลง โอมีเพื่อนคนหนึ่งที่รู้เรื่องรถเคยเล่าให้ฟังว่า โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ ต่างเป็นคู่แข่งกัน แต่วันที่เขาตกลงกันว่าจะทำให้รถญี่ปุ่นไปสู่ตลาดโลก เขาหยุดรบแล้วหันมาคุยกันว่าจะทำยังไงให้รถญี่ปุ่นไปตลาดโลกได้ จากนั้นค่อยกลับมาแข่งกัน โอว่าวงการบันเทิงไทยควรต้องเป็นอย่างนั้น มาคุยกันก่อนว่าจะทำยังไงให้ไปได้ไกลแบบเกาหลี เพราะท้ายที่สุดแล้วที่ดังขึ้นล้วนเป็นเพราะวงการบันเทิง อย่างเกาหลีหรืออเมริกาที่ดังเพราะฮอลลีวูด มันคือการเผยแพร่วัฒนธรรม – ขนบธรรมเนียม   The People: มีการพูดคุยประเด็นนี้ในกลุ่มนักแสดงไหมครับ อนุชิต: โอเคยคุยกันเล่น ๆ ในกลุ่มว่า เราเรียกประชุมนักแสดงทุกคนดีกว่า มาคุยว่าควรต้องมีสหภาพนักแสดงเหมือนอย่าง SAG (Screen Actors Guild) ของอเมริกา มาคุยกันว่านักแสดงควรต้องทำงานแค่ 8-12 ชั่วโมงหรือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป สิ่งที่นักแสดงควรต้องได้คืออะไร แต่ถ้าจะทำแบบนี้เราทุกคนต้องร่วมมือกันจริง ๆ ถ้าเกิดในอนาคตมีบริษัทไหนทำไม่ดี นักแสดงในสหภาพจะไม่ไปทำงานให้กับคุณ ทำให้เขาต้องทำตามกฎ โอเคยคุยเล่น ๆ กับเพื่อนนักแสดงว่ามาประชุมกัน ถ้าใครเห็นด้วยให้เซ็นสัญญา แต่โอเชื่อว่าทุกคนจะเดินออกไป แล้วให้คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีนี้ออกจากวงการ กลับไปทำไร่ไถนา (หัวเราะ) โออยากให้รวมตัวกันเป็นสหภาพจริง ๆ แต่มันคงทำไม่ได้ หลายปีก่อนคนเขียนบทที่อเมริการวมตัวกันสไตรค์หยุดงาน โอตกใจว่า เฮ่ย! ไม่น่าเชื่อว่ามันทำให้งานไม่เดินจริง ๆ เพราะทุกงานไม่มีทีมเขียนบทไม่ได้ ออสการ์ยังมีปัญหาเลย มันเจ๋งอะ มันต้องมีการคานอำนาจกันในท้ายที่สุด โออยากให้เป็นอย่างนั้นนะ เราไม่ได้ทำเพื่อเรียกร้องว่า “ฉันเหนือกว่าเธอ” แต่มันคือการคานอำนาจกัน ตราบใดที่เขารู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น เขาจะไม่เห็นค่าคุณ โอมีฝันที่อยากทำอย่างนั้น ซึ่งก็นั่นแหละ... แต่ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ก็ได้นะ สัมภาษณ์ โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงผู้ถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นเหตุเป็นผล *ขอบคุณ ร้าน Greenbean Matcha (กรีนบีน) สัมมากร สำหรับสถานที่สัมภาษณ์และพื้นที่ถ่ายรูป   เรื่องโดย: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย