27 พ.ย. 2562 | 11:55 น.
“ช่วงที่คนทราบข่าวว่าแทมมี่จะกลับมาก็...ได้เหรอ อายุขนาดนี้...ใช่เหรอ ไปทำอย่างอื่นดีกว่ามั้ย ไปเป็นคุณครูมั้ย แต่แทมมี่มีความรู้สึกว่าเป็นธรรมดาที่คนอื่นจะคิดได้หมด เราก็ยังคิดว่า เฮ้ย! แล้วฉันจะทำได้หรือเปล่า แต่แทมมี่รักและแทมมี่ชอบที่จะชาเลนจ์ว่าความสามารถของเรา เราจะทำได้ไหม ซึ่งรู้ว่าไม่ง่าย” แทมมี่-แทมมารีน ธนสุกาญจน์ บอกเล่าด้วยใบหน้าระบายยิ้มนิด ๆ พร้อมแววตาที่เปล่งประกายความมุ่งมั่น หลังใช้เวลาฝึกซ้อมบนคอร์ทเทนนิสร่วมกับนักเทนนิสทีมชาติคนอื่น ๆ อยู่ร่วมสองชั่วโมง ย้อนไปราวสิบปีกว่าก่อน หนึ่งในความคึกคักและสีสันของวงการกีฬาเมืองไทยต้องนับรวมกีฬาเทนนิสเข้าไปด้วย โดยเฉพาะ แทมมารีน นักเทนนิสหญิงมือหนึ่งของไทยที่ทะลุเข้าไปชิงแชมป์การแข่งขันเทนนิสระดับโลกหลายรายการ กระทั่งขึ้นชั้นเป็นนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับที่ 19 ของโลก แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เธอค่อย ๆ ห่างจากการแข่งขันเทนนิสอาชีพไปในที่สุด ถึงอย่างนั้น ความรักในกีฬาดังกล่าวก็ไม่เคยจางหาย กระทั่งหลายปีผ่านไปเมื่อทุกอย่างลงตัว แทมมารีนก็หวนกลับมาจับแร็กเก็ตวาดฝีไม้ลายมือในสนามอย่างจริงจังอีกครั้งในปี 2562 ด้วยวัย 42 ปี พร้อมลงสนามในนามนักเทนนิสทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ The People ชวนแทมมารีนสนทนาถึงความท้าทายของเทนนิส การดูแลร่างกายและจิตใจ รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตที่ตกผลึกของเธอตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี บนเส้นทางนักเทนนิสอาชีพที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ The People: ห่างหายจากวงการเทนนิสอาชีพไปร่วม 4 ปี ช่วงนั้นทำอะไรบ้าง แทมมารีน: ตอนนั้นรายการสุดท้ายน่าจะเป็นซีเกมส์ ปี 2015 ที่สิงคโปร์ แทมมี่กลับมาก็พบว่าคุณแม่ (สุเนตรา ธนสุกาญจน์) ไม่สบายเป็นมะเร็ง จริงๆ แทมมี่ไม่ได้ประกาศเลิกเล่น แต่เป็นช่วงที่ไปดูแลคุณแม่ เพราะเป็นลูกสาวคนเดียวของคุณแม่ หลังจากนั้นคุณแม่ก็เข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลตลอด ผ่านไป 1 ปี คุณแม่ก็เสียชีวิต ช่วงนั้นแทมมี่ไม่ได้ซ้อมเลย ซึ่งก็รู้ว่ามันไม่ง่ายที่จะกลับมา เลยนำประสบการณ์ด้านเทนนิสที่มีมาถ่ายทอดให้เยาวชนไทย เปิดเป็นแทมมารีน เทนนิส อะคาเดมี ชื่อ The Ace (ดิ เอซ) เน้นกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 4-10 ขวบ เพราะอยากเพิ่มประชากรนักเทนนิสไทยให้เยอะขึ้น แทมมี่มองว่าเทนนิสคือกีฬาที่ฝึก coordination ใช้ประสาทสัมผัส มือ เท้า ตา ซึ่งฟีดแบคจากคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกมาเรียนก็บอกว่าลูกเขาสมาธิดีขึ้น เพราะเป็นการโยงสัมผัสทั้งหมด เพราะฉะนั้น นอกจากเด็ก ๆ จะได้เรื่องความรักในกีฬาแล้ว ก็ยังได้เรื่องการออกกำลังกายเป็นผลพลอยได้ไปด้วย The People: เป็น ร.ต.อ. หญิง แทมมารีน ธนสุกาญจน์ ด้วย? แทมมารีน: ครอบครัวแทมมี่เป็นครอบครัวตำรวจ คุณปู่ คุณลุง ก็เป็นตำรวจ แต่แทมมี่จะเป็นตำรวจที่เข้ามาในส่วนกีฬามากกว่า อย่างเล่นให้ทีมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนตอนนี้ก็มาช่วยราชการอยู่ที่กองปราบปราม ก็จะมีเทนนิสเป็นกิจกรรมส่งเสริมให้ข้าราชการตำรวจและลูกหลานข้าราชการตำรวจได้ออกกำลังกาย ได้พักผ่อนหย่อนใจ มีกิจกรรมร่วมกันในหน่วยงานและในครอบครัว อย่างการมีโครงการ ‘กองปราบเทนนิสแคมป์’ เพราะฉะนั้น ตอนนี้คือมีหลายบทบาท (หัวเราะ) เป็นทั้งตำรวจด้วย เปิดอะคาเดมีด้วย แล้วก็เหมือนจะกลับมาเป็นนักกีฬาเต็มตัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแต่ละบทบาทก็มีความยากง่ายไม่เหมือนกัน แต่แทมมี่ว่ามันชาเลนจ์ (ท้าทาย) และเป็นการพัฒนาศักยภาพ อะไรที่เราชอบ อะไรที่เราทำแล้วมีความสุข แทมมี่ก็ทำ The People: จุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาเล่นเทนนิสอาชีพอีกครั้งคืออะไร แทมมารีน: แทมมี่เล่นเทนนิสมาประมาณ 20 ปีแล้ว ตอนนั้นอาจเป็นช่วงที่เรา slope down นิดหนึ่ง เหมือนเราขอออฟ ปิดสวิตช์นิดหนึ่งจากการแข่งขัน แต่ช่วงปลายปี 2018 แทมมี่มีโอกาสไปเป็นติวเตอร์ให้น้อง ๆ นักเทนนิสเอเชียที่ไปแข่งรอบ 8 คนสุดท้ายของ WTA (สมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง) ที่สิงคโปร์ รายการนั้นนักเทนนิสเยาวชนจะได้เจอ เซเรนา วิลเลียมส์, ซิโมนา ฮาเล็ป ฯลฯ ซึ่งเป็นท็อป 8 ของนักเทนนิสหญิง เราก็เอาประสบการณ์ที่เคยแข่งขันไปถ่ายทอด และมีโอกาสได้กลับไปเจอเพื่อน ๆ ที่เคยตระเวนแข่งด้วยกัน แล้วเพื่อนคนหนึ่งที่อายุมากกว่าแทมมี่ตั้ง 3 ปี เขายังเล่นประเภทคู่ ท็อป 10 ของโลก เฮ้ย! (ลากเสียง) ก็ยังแซว ๆ กับเพื่อนที่อินโดนีเซียว่า เขายังเล่นอยู่เลย เธอคิดว่าฉันจะกลับมาได้หรือเปล่า จริง ๆ ฉันก็คิดถึงการเดินทางนะ เพราะนักเทนนิสอาชีพต้องเดินทางเยอะมาก เราไปตามเซอร์กิต ไปตามแกรนด์สแลม ไปตามซีรีส์ต่าง ๆ ได้เห็นอะไรแปลกใหม่ เห็นอะไรที่แตกต่าง ซึ่งหลายปีที่ไม่ได้แข่งเทนนิสอาชีพ แทมมี่ก็ได้ไปเที่ยวบ้าง แต่ส่วนใหญ่คือรับราชการและอยู่กับอะคาเดมีมากกว่า พอเพื่อนฟังเสร็จก็บอกว่า แทมมี่ เธอกลับมาได้นะ แต่เป็นประเภทคู่ ถ้าประเภทเดี่ยวอาจจะยากนิดหนึ่ง เพราะเธออายุขนาดนี้แล้ว การกลับมาของแทมมี่ก็เริ่มจากตรงนั้น (ยิ้ม) แทมมี่บ้าในกีฬาเทนนิสมาก ชอบชาเลนจ์ ชอบแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นพื้นนิสัยของเราเองด้วย เราอยากชาเลนจ์ความสามารถตัวเองว่า เฮ้ย! อายุขนาดนี้ เราจะกลับมาได้ไหม เราจะทำได้ไหม แต่ช่วงแรก ๆ แทมมี่ก็ doubt เหมือนกัน คือจริง ๆ เหนื่อยมาก เพราะว่าร่างกายเราอายุขนาดนี้ เราไม่เฟรชเหมือนแต่ก่อน บางทีเล่น ๆ ซ้อมไป โอ๊ย...ปวด ซึ่งการฟื้นตัวมันไม่เหมือนก่อนแล้ว ต้องใส่ใจร่างกาย ใส่ใจเรื่องจิตใจ ต้องวางแผนให้ดี เราไม่สามารถทำเหมือนเมื่อก่อน อย่างสมัยเยาวชนที่ เฮ้ย! ฉันจะลุย ฉันจะมีไฟอย่างเดียว ไม่ได้แล้ว แต่ละก้าวของเราต้องรอบคอบ เพราะอุปสรรคสำคัญของนักเทนนิส โดยเฉพาะอายุแทมมี่คือการบาดเจ็บ ถ้าเจ็บเมื่อไหร่คือยาว ต้องพัก 3-4 เดือน เพราะฉะนั้น ช่วงชีวิตแต่ละช่วงของเราไม่เหมือนกัน เราต้องปรับตัวเองให้เข้ากับจุดจุดนั้นแล้วพยายามเดินให้รอบคอบมากขึ้น มันยากค่ะ แต่แทมมี่ก็ชอบความชาเลนจ์ [caption id="attachment_15130" align="aligncenter" width="1536"] แทมมารีนในการแข่งขันรายการ แคล-คอมพ์ (ภาพจาก Facebook: สมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ - LTAT)[/caption] The People: กลับมาครั้งนี้เน้นการเล่นประเภทคู่เป็นหลัก? แทมมารีน: แทมมี่เล่นได้ทั้งประเภทเดี่ยวและคู่ แต่จะชอบประเภทเดี่ยว แต่มาตอนนี้ก็ไม่อยากผลักตัวเองขนาดนั้นว่าต้องเล่นประเภทเดี่ยว เราหยุดไปหลายปี แล้วอยู่ดี ๆ จะพุ่งไปเล่นเดี่ยวเลยก็ยาก คนเดียวต้องคุมทั้งสนาม เพราะฉะนั้น แทมมี่เลยอาจจะ soft launch ก่อนว่าเล่นประเภทคู่แล้วเป็นอย่างไร ถ้าสามารถขยับไปเล่นประเภทเดี่ยวได้ วันหนึ่งก็คงไปตรงนั้น แต่เบื้องต้นอยาก concentrate กับประเภทคู่ก่อน The People: ที่บอกว่าต้องใส่ใจเรื่องจิตใจ หมายความว่าอย่างไร แทมมารีน: ช่วงที่คนทราบข่าวว่าแทมมี่จะกลับมาก็...ได้เหรอ อายุขนาดนี้...ใช่เหรอ ไปทำอย่างอื่นดีกว่ามั้ย ไปเป็นคุณครูมั้ย แต่แทมมี่มีความรู้สึกว่าเป็นธรรมดาที่คนอื่นจะคิดได้หมด เราก็ยังคิดว่า เฮ้ย! แล้วฉันจะทำได้หรือเปล่า แต่แทมมี่รักและแทมมี่ชอบที่จะชาเลนจ์ว่าความสามารถของเรา เราจะทำได้ไหม ซึ่งรู้ว่าไม่ง่าย เดือนพฤศจิกายน ปี 2019 แทมมี่ลงแข่งประเภทคู่ในรายการ แคล-คอมพ์ (แคล-คอมพ์ แอนด์ เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง ไอทีเอฟ เวิลด์ เทนนิส ทัวร์) คู่กับ เลสเลย์ ปัตตินามา เคอร์โคฟ จากเนเธอร์แลนด์ แล้วได้แชมป์ ทุกคนก็จะบอกว่ายินดีด้วย ซึ่งแทมมี่ขอบคุณทุกคนที่เชียร์กันมาตลอด แต่เบื้องหลังเราทรมาน เราเหนื่อย แต่ทุกอย่างก็เป็นกำลังใจให้เราก้าวต่อไป The People: ความพร้อมของร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง แทมมารีน: ถ้าเป็นช่วงเก็บตัวแข่งขัน ก็จะซ้อมคู่เพื่อเข้าขากับน้อง ๆ เน้นเล่นเกมมากกว่าแทคติก และอาจมีเสริมฟิตเนสด้วย แต่ถ้าซ้อมของตัวเองช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน ก็จะซ้อมเทนนิสประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นช่วงบ่ายก็เข้าฟิตเนส ถ้าเป็นช่วงเยาวชน เรามีพละกำลัง แต่อาจไม่ได้เติบโตทางความคิดเหมือนตอนนี้ ตอนนี้เติบโตทางความคิด แต่พลังอาจไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้น ณ ปัจจุบัน แต่ละก้าวของแทมมี่ต้องรอบคอบและระมัดระวัง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ตะบี้ตะบันใช้แรงได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว The People: บริหารจัดการเวลาอย่างไร เพราะยังเป็นตำรวจและยังทำอะคาเดมี แทมมารีน: การกลับมาตรงนี้เราต้องทำหลาย ๆ งานที่เรามีหลายบทบาทไม่ให้เสีย ความรับผิดชอบก็เยอะขึ้น จากสองมาเป็นสาม ทำให้ต้องวางโปรแกรมให้รัดกุมมากขึ้น ความชาเลนจ์เรื่องเทนนิสยังไม่พอ ยังมีความชาเลนจ์ในการจัดระเบียบชีวิตตัวเองด้วย แต่ในเมื่อเรามีความสุขกับการชาเลนจ์ตัวเอง ก็วางแผนล่วงหน้า 4-5 เดือนเลยว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือน ช่วงนี้ทำงาน ช่วงนี้ซ้อม ช่วงนี้พักผ่อน เป็นต้น The People: คุณผ่านการแข่งขันมาแล้วหลายรายการ อย่าง วิมเบิลดัน หรือแม้กระทั่งโอลิมปิกหลายสมัย การกลับมาลงซีเกมส์ ปี 2019 มีความกดดันไหม แทมมารีน: แทมมี่อยากขอบคุณลอนเทนนิสสมาคมฯ (สมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ที่ให้โอกาสได้มามีส่วนร่วมในทีม และตัวเองก็เป็นเกียรติที่ได้กลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง ต้องบอกว่าน้อง ๆ นักเทนนิสในปัจจุบันมีความสามารถอยู่แล้ว แต่ลอนเทนนิสสมาคมฯ ก็เชื่อมั่นในประสบการณ์ที่เรายังมีอยู่ การกลับมาครั้งนี้ แทมมี่เข้ามาสนับสนุนน้อง ๆ มากกว่า เช่น ประเภทคู่ ซึ่งอะไรที่ช่วยไกด์ให้น้อง ๆ ไปถึงเป้าหมายของเขาได้เร็วขึ้น แทมมี่ก็เต็มที่กับตรงนั้น The People: มองว่าวงการเทนนิสบ้านเราตอนนี้เติบโตมากน้อยแค่ไหน ขาดช่วงหรือเปล่า เพราะตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังนึกถึงชื่อคุณ หรือชื่อ บอล-ภราดร ศรีชาพันธุ์ แทมมารีน: ปัจจุบัน น้องลักษิกา (คำขำ) ก็อยู่ในท็อป 100 ของโลก แต่จำนวนนักเทนนิสในบ้านเราอาจน้อยลง เพราะเมื่อก่อนมี บอล-ภราดร, สนฉัตร-สรรค์ชัย (รติวัฒน์), ดนัย (อุดมโชค), แทมมี่, น้องนก-นพวรรณ เลิศชีวกานต์ เพราะฉะนั้น ข่าวเทนนิสก็จะออกบ่อย ๆ แล้วตอนนี้ความที่ปริมาณนักเทนนิสน้อยลง บวกกับกีฬาอื่นพัฒนาขึ้นด้วย อย่าง วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, กอล์ฟหญิง ฯลฯ ถ้าถามว่าขาดช่วงไหม ก็ไม่ได้ขาดช่วงขนาดนั้น นักเทนนิสรุ่นใหม่ที่มีความสามารถก็มีหลายคน เพียงแต่ว่าสื่ออาจจะออกได้ไม่เยอะเหมือนแต่ก่อน The People: แต่ก็ยังไม่มีนักเทนนิสไทยคนไหนทำลายสถิติคุณที่เป็นนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับที่ 19 ของโลกได้? แทมมารีน: ก็หวังอยากให้มี เราเห็นใครดี ทำชื่อเสียงให้ประเทศ เราก็สนับสนุน อยากเห็นเขาประสบความสำเร็จตรงนั้นให้ได้ เรามีความสุขถ้าเห็นคนไทยสามารถไปได้ขนาดนั้น แล้วเราจะภูมิใจว่าน้องคนนี้มาจากเมืองไทย แทมมี่อยากเห็นอนาคตวงการเทนนิสไทยเป็นอย่างนั้น The People: คุณเล่นเทนนิสอาชีพครั้งแรกเมื่อปี 2538 ผ่านมาแล้ว 20 กว่าปี อะไรคือสิ่งที่คุณประทับใจมากที่สุด แทมมารีน: ตลอดเวลา 20 กว่าปี คนแรกที่แทมมี่อยากขอบคุณน่าจะเป็นคุณพ่อ (วีระชัย ธนสุกาญจน์) เพราะคุณพ่อทำให้รู้จักเทนนิส และแทมมี่ก็ต้องขอบคุณเทนนิสด้วย เพราะถ้าไม่มีเทนนิสก็คงไม่มีเราในวันนี้ คงไม่ได้ยืนจุดนี้ คงไม่ได้เดินทางไปหลาย ๆ ประเทศ ได้รู้จักหลาย ๆ คน ได้ทำงานหลาย ๆ บทบาท เทนนิสให้โอกาสแทมมี่เยอะมาก สำหรับแทมมี่ เนื้อแท้ของเทนนิสคือการชาเลนจ์ คือการแข่งขัน คือความมัน กีฬาบางอย่างมีหลายวันให้คุณเล่น ถ้ายังไม่สามารถเล่นได้ดีในวันแรก คุณสามารถไปแก้ตัวในวันอื่น แต่เทนนิสคือน็อกเอาต์ ถ้าลงสนามแล้วมีแต่ชนะกับแพ้ นั่นคือความกดดัน ก่อนลงสนามทุก ๆ รายการ ทุก ๆ แมตช์ แทมมี่จะตื่นเต้น ไม่ใช่เพราะกลัวแพ้ แต่ตื่นเต้นเพราะอยากรู้ว่าวันนี้จะเล่นได้ดีแค่ไหน แต่ละวันคู่ต่อสู้หรือแม้แต่ตัวเองก็ไม่เคยเหมือนกันเลย วันนี้ฉันต้องปรับการเล่นอย่างไร ฉันต้องเตรียมอะไรบ้าง ลม ฟ้า ฝน เป็นอย่างไร หรือบางวันตื่นมา โอ้โห...ปวดเมื่อยไปทั้งตัว เราต้องปรับอย่างไรให้พร้อมสำหรับลงสนามวันนั้น หรือวันนี้ตื่นมาสดชื่นมากเลย แต่ตีไม่ได้เรื่องก็มี เพราะฉะนั้น เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เจอให้ได้และเล่นให้ดีที่สุด The People: ย้อนไปราวปี 2550 ที่คุณมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ตอนนั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของคุณเลยทีเดียว? แทมมารีน: ช่วงนั้นจะเลิกเล่นแล้ว เพราะไม่สามารถเล่นได้ดี 100% เล่นแล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็แพ้ ๆ ๆ ช่วงนั้นรู้สึกว่าต้องกลับไปเล่นควอลิฟายวิมเบิลดันใหม่ เลยบอกโค้ชว่าถ้าวิมเบิลดันคราวนี้ผลงานไม่ดี แทมมี่ไม่เล่นแล้วนะ แต่ความที่เรา nothing to lose (ไม่มีอะไรจะเสีย) เลยคิดว่าเล่นไปเถอะ จะเลิกอยู่แล้วนี่ ปรากฏว่าทำผลงานได้ดีเลยไม่เลิก (หัวเราะ) การที่แทมมี่มาอยู่ตรงนี้ ต้องยอมรับว่าทุกช่วงชีวิตมีขึ้นมีลง ช่วงที่ขึ้นทุกคนก็มีความสุข แต่ช่วงที่ลงต้องเข้าใจและปรับจิตใจว่าถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็พัก อย่าพุชตัวเองขนาดนั้น บางทีพุชตัวเองมากแล้วเส้นบาง ๆ ที่มีมันขาด แล้วก็จะท้อ จนอาจไม่สามารถทำในสิ่งที่รักได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น แทมมี่ว่าเราต้องเข้าใจบทบาทแต่ละช่วงชีวิต พยายามอ่านตัวเองให้ออกว่าช่วงนี้ฉันเหนื่อย ฉันไม่ไหวแล้ว พอรู้ก็หยุดพักก่อน ไปอยู่กับครอบครัว อยู่กับเพื่อน แล้วค่อยเริ่มใหม่ The People: ถ้าให้วิเคราะห์จุดอ่อนของตัวเอง จุดอ่อนนั้นคืออะไร แทมมารีน: เยอะค่ะ (หัวเราะยาว) จริง ๆ เป็นคนใจร้อน แล้วไม่ได้เป็นคนขยันขนาดนั้น (หัวเราะ) ออกจะแนวศิลปิน วันนี้ฉันดีใจที่มาซ้อมก็เล่น 100% เลย แต่บางวันเหนื่อยก็...โอ๊ย! บางครั้งทำตามอารมณ์ตัวเองมากไปหน่อย แทมมี่จะมีปัญหาคือวันที่แข่งรอบชิงชนะเลิศ เข้าชิงบ่อยมากจนพี่นักข่าวบอกว่าเป็นราชินีเหรียญเงิน เพราะเอเชียนเกมส์ เมืองไทย ปี 1998 ก็ได้เหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ ปูซาน (เกาหลีใต้) ปี 2002 ก็ได้เหรียญเงินหญิงเดี่ยว เพิ่งมาได้เหรียญทองครั้งแรกในเอเชียนเกมส์ อินช็อน (เกาหลีใต้) ปี 2014 ที่เล่นคู่กับน้องลักษิกา ส่วนรายการของ WTA เข้าชิงหลายครั้งก็ไม่ได้ The People: เรียนรู้อะไรจากจุดอ่อนนั้นบ้าง แทมมารีน: สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะแทมมี่ตั้งเป้ากดดันตัวเองมากเกินไปในรอบชิงฯ คือเล่นดีมาทุกรอบ แต่พอรอบชิงฯ ก็คิดว่าฉันจะเอาให้ได้ (เน้นเสียง) ส่วนมากรอบชิงฯ แทมมี่จะได้เซ็ตแรก พอเซ็ตที่ 2 เรานำ 3-1 แทมมี่จะคิดว่า ฉันจะไม่เสียแล้วนะ พอคำว่าไม่เสียผุดขึ้นมา ทำให้การตีของเราไม่ดุดันเหมือนที่เล่นก่อนหน้า เราเอาให้ลง รอให้คู่ต่อสู้เสีย ลูกสปีดของเราไม่ได้ทำอันตรายคู่ต่อสู้ เขาก็บุกเราได้ ซึ่งบางทีเราไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ! ฉันตีไม่เสีย แต่ทำไมฉันแพ้ จนมาคิดได้ว่าก็ฉันไม่บุกต่อ ฉันไม่ได้เล่นเกมตัวเอง ฉันเล่นเพลย์เซฟเกินไปโดยไม่ได้ชาเลนจ์ บางครั้งการที่เรากล้า 50:50 เรายังได้ 50% เสีย 50% แต่ถ้าไม่กล้าทำอะไร มันแทบจะ 20-30% ที่เราจะได้ บางช่วงชีวิต ถ้าเราตั้งใจที่จะทำอะไร ทุก ๆ อย่างมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่เรากล้าที่จะก้าวออกไปทำ แล้วถ้าทำออกมาได้ดี ส่วนใหญ่ก็จะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คิดว่าฉันกลัวเสีย ฉันจะทำได้ดีหรือเปล่า ไม่เอาน่า...เดี๋ยวจะเสีย มันก็ไม่ได้สิคะ ใช่ไหม อย่างน้อยถ้าก้าวไปทำแล้วเสีย ก็มาดูว่าเสียเพราะอะไร แล้วเรียนรู้ว่าควรพัฒนาอะไร ดีกว่าไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย แทมมี่ชอบอ่านหนังสือคนที่ประสบความสำเร็จ เขาใส่ใจในงานของเขา ปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง แทมมี่จะบอกว่า moving forward เดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว อย่างน้อยขอให้ไปข้างหน้า และพยายามอย่าหยุดพัฒนา เมื่อเรามีความมุ่งมั่นและไม่หยุดพัฒนา สักวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จ The People: ผ่านไปนับสิบปี คุณก็ยังเป็นนักเทนนิสขวัญใจคนไทย? แทมมารีน: ขอบคุณค่ะ ขอบคุณทุก ๆ กำลังใจ แทมมี่อยากมองว่าก้าวต่อไปคือกำไร คือความสุขของชีวิตตัวเองแล้ว แทมมี่มีความสุขกับทุก ๆ วันที่ได้ทำงานแบบนี้ ทำงานหลาย ๆ บทบาท ทำงานในสิ่งที่รัก และพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด ถ้าจะเป็นอย่างไรก็พร้อมรับ พร้อมที่จะปรับปรุง และพร้อมที่จะเดินหน้า The People: มาถึงวันนี้ นักเทนนิสที่เป็นไอดอลของคุณคือใคร แทมมารีน: มีหลายคนค่ะ ถ้ารูปแบบหรือสไตล์การเล่น ความพลิ้ว ความเพอร์เฟกต์ แทมมี่ให้ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ สุดยอด...เป็นคนที่มีพรสวรรค์อะไรขนาดนั้น ถ้าเป็นคนที่มุ่งมั่น ไม่ยอมลดละ ไม่ยอมแพ้ มี 2 คนคือ โนวัค ยอโควิช และ ราฟาเอล นาดาล ส่วนฝ่ายหญิง คนที่มีจิตใจเข้มแข็งมากและนิ่งมากคือ สเตฟฟี กราฟ เธอไม่แสดงความรู้สึกอะไรเลยในสนาม ไม่วี้ดว้ายกระตู้วู้ ส่วนถ้ามุมมองการสู้ชีวิตคือ โมนิก้า เซเลส เพราะเป็นคนที่ทำงานหนัก มีพรสวรรค์ แต่วันหนึ่งแข่ง ๆ อยู่ก็มีคนมาแทงข้างหลัง จนต้องหยุดเล่นไป 2-3 ปี แต่เซเลสยังมีความรักและมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะกลับมาได้ ถ้าจำไม่ผิด เธอทำผลงานติดท็อป 10 ของโลกหลังกลับมาเล่นอีกครั้ง ซึ่งช่วงนั้นก็ไม่ง่าย เพราะมี เซเรนา วิลเลียมส์, วีนัส วิลเลียมส์, ลินด์เซย์ ดาเวนพอร์ต ถ้าเป็นนักเทนนิสรุ่นถัดมาหน่อยจะเป็น ฌุสตีน เอแน็ง ส่วนรุ่นปัจจุบันแทมมี่ชอบ แอชลีห์ บาร์ตี เธออยู่ในสปอตไลท์ตั้งแต่อายุ 17-18 เป็นคนมีพรสวรรค์มาก เพราะเป็นนักเทนนิสอาชีพไม่พอ ช่วงที่ดร็อป ๆ ลงยังไปเล่นคริกเก็ต แต่เมื่อพิสูจน์ว่าตัวเองมีแพสชันกับกีฬาเทนนิสจริง ๆ ก็กลับมาเล่นและขึ้นถึงมือหนึ่งโลก อีกคนหนึ่งที่ชอบคือ นาโอมิ โอซากะ เป็นลูกครึ่งแอฟริกัน-ญี่ปุ่น โตที่อเมริกา แต่มีความอ่อนน้อมและนิ่งแบบชาวญี่ปุ่นมาก ๆ แทมมี่ชอบเทนนิส เพราะทุกคนมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกันเลย (ยิ้ม) The People: มองภาพตัวเองเกษียณจากการเป็นนักเทนนิสเมื่อไหร่ แทมมารีน: ปัจจัยสำคัญของเทนนิสคือร่างกาย ถ้าร่างกายเริ่มส่งผลว่าไม่ได้แล้ว ใช้เยอะไปแล้ว ก็ต้องยอมรับตรงนั้นแล้วคงหยุดไป แต่จริง ๆ แทมมี่ยังมีความสุขกับการเล่นอยู่ อีกอย่างยุคนี้วิวัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาก็ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ถ้าเราดูแลตัวเองดี ๆ ก็อยากเล่นไปนาน ๆ The People: ถ้าไม่ใช่เทนนิส กีฬาอะไรที่คุณอยากเล่นมากที่สุด แทมมารีน: แทมมี่ชอบกอล์ฟค่ะ มีช่วงหนึ่งบ้ามาก ถือไม้กอล์ฟไปซ้อมเทนนิสด้วย (ยิ้ม) แต่ไม่ถึงขนาดจะไประดับโปรกอล์ฟเพราะรู้ว่ายากมาก ที่ชอบเพราะเสน่ห์ของกอล์ฟคือการอยู่ในสนามหญ้าสีเขียว มีลมพัด แทมมี่มองว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เรามีความสุขและได้พักผ่อนไปในตัวด้วย