12 เม.ย. 2568 | 12:00 น.
“ความฝันเหรอ... ผมไม่เคยคิดอยากจะเป็นครูด้วยซ้ำ”
‘สุรศักดิ์ คำท้าว’ หรือครูสุรเบล เจ้าของช่อง Tikktok SuraBale – สุรเบล ตอบ หลังเราถามถึงความฝันวัยเยาว์ว่าอะไรทำให้ชายคนนี้เติบโตมาเป็นครูสุดแหวก ที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากครูในขนบที่เราพบเห็นได้ทั่วไปอยู่มากโข
ครูสุรเบลบอกว่าเขาเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง เติบโตในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของจังหวัดแพร่ ห่างจากความเจริญไกลลิบ อยู่หลังเขาเลยก็ว่าได้ ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าหรือน้ำประปาใช้ จะเดินทางไปเรียนต้องนั่งรถข้ามเขาไปอีกฟาก ทำให้เขามองไม่เห็นเลยสักนิดว่าจะโตมาเป็นครูได้อย่างไร วัน ๆ หมดไปกับการเล่นเตะบอลสนุกกับทีมจนอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ แต่ด้วยความเรียนดีของเขา พ่อแม่จึงอยากลองฝากความหวังสักตั้ง อยากเห็นลูกชายคนนี้ได้ดิบได้ดีเหมือนคนอื่นเขา
และแล้วโชคชะตาก็เข้าข้าง เมื่อแม่ของครูสุรเบลได้รับโชคก้อนใหญ่จากการถูกหวย แม่ส่งลูกชายไปเรียนในเมือง ลงทุนกับการศึกษาทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ และความปรารถนาดีของพวกเขาก็เกิดผล เมื่อลูกชายคนนี้สอบติดรั้วมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นคนแรก ๆ ของหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ เพราะมีเด็กไม่กี่คนที่จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเขา
และนี่คือเรื่องราวของครูสุรเบล ครูวิทย์ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการเรียนแบบเดิมให้สนุกขึ้นอีกล้านเท่า จนเด็กทุกคนเข้าใจสิ่งที่เรียนไปตลอดชีวิต
The People: ช่วยเล่าความฝันของคุณให้ฟังหน่อย ‘ครู’ เป็นสิ่งที่คุณคิดฝันอยากเป็นมาตั้งแต่ต้นเลยไหม
สุรเบล: ความฝันตอนเด็ก ๆ ใช่ไหมครับ ไม่เคยคิดจะเป็นครูด้วยซ้ำ ไม่เคยคิดเลยครับ ตอนเด็กอยากเป็นนักบอล จะเป็นแบบรางวัลทีมชาติเลยอะไรอย่างเงี้ย แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันด้วย โชคชะตาจะพลัดจะผลูก็ได้มาเป็นครูนี่แหละครับ
พ่อแม่ขายของครับ ต้องเรียกว่าเมื่อก่อนอยู่แบบบ้านนอกอะ ผมก็เป็นเด็กบ้านนอกเป็นปกติเลยเด็กบ้านนอกทั่วไปที่พ่อแม่ก็พาไปทุ่งไปนาไปห้วยไปอะไรอย่างเงี้ย ตอนประถมก็เป็นเด็กที่เรียนพอได้ ตอนสอบอะไรอย่างงี้พ่อแม่ก็ภูมิใจ แล้วแม่ก็น่าจะเล็งเห็นศักยภาพแล้วตอนนั้นน่ะ อายุน่าสัก ป. 5 มั้งแม่ผมถูกหวย อันนี้เรื่องจริง (หัวเราะ) เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้วอะมูลค่าเงินมันน่าจะเยอะอยู่
ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าผมเด็กอยู่อะ พอจบป. 6 ผมอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ข้างในสุดของตัวอําเภออะ หมู่บ้านผมอะ ถ้าเลยออกไปนี่คือกลายเป็นอีกหนึ่งอําเภอแล้วอะ ข้ามภูเขาไปก็จะกลายไปอีกจังหวัดนึงแล้วอะ คือขนาดนั้นเลย
แม่ก็เลยตัดสินใจเอาเงินก้อนนึงเนี่ย พาผมไปสอบเรียนโรงเรียนประจําจังหวัด แต่ก็ปรากฏว่าก็ไม่ได้ก็เลยไปได้ไปอยู่อีกหนึ่งโรงเรียนนึง ก็เลยไปเป็นเด็กในเมืองเป็นเด็กหอตั้งแต่เด็กอะไรอย่างเงี้ยครับ แล้วก็ค่อย ๆ เรียนมาไปเรื่อย ๆ
The People : นอกจากเล่นบอลแล้ว คุณมีสิ่งที่ชอบอย่างอื่นอีกไหม
ครูสุรเบล : เอาเป็นว่าไม่มีวิชาไหนที่ถนัดเลยมากกว่า ไม่ถนัดเลยสักวิชาเดียว สิ่งที่ถนัดคือเตะบอล ผมเชื่อว่าเด็กผู้ชายแทบทุกคน ไม่รู้นะ ผมเล่นบอลเช้า เที่ยง เย็น เล่นกับเพื่อนตั้งแต่เด็กจนโต แต่ถ้าเป็นวิชาที่ถนัดจริง ๆ ก็น่าจะเป็นพวกฟิสิกส์ ผมมารู้ตัวตอนโตแล้ว โตคือตอน ม.5 ม.6 เลยนะ ไม่ใช่ ม.ต้น
เพราะว่าผมออกจากบ้านไปตั้งแต่เด็กใช่ไหม มาอยู่ด้วยตัวเองตอนอายุ 13 ปี ก็มีเป๋ไปบ้าง ขนาดที่ว่าขึ้น ม.4 แล้วอะ ได้ไปอยู่ห้องวิทย์นะ แต่จริง ๆ ผมอยากไปสายช่างมาก ตอนอายุ 15 ปี ติดเพื่อนไง วัยรุ่นเลย ติดเกเรเลยอะตอนนั้น ถึงกับขอตังค์แม่ซื้อมอเตอร์ไซค์แล้วด้วยนะ แต่แม่ไม่ยอมสุดท้ายแกก็ไม่ยอม (หัวเราะ)
ตอน ม.4 เป็นคนเดียวที่แก้สมการไม่เป็น ไม่สามารถแก้สมการได้ ไม่รู้จักว่ามันคืออะไร ซึ่งจริง ๆ ควรจะเรียนตั้งแต่ ม.ต้น แต่ผมเป็นคนเดียวที่ทำไม่ได้ มันก็เป็น pain point นึงที่เรารู้สึกแบบประทับใจครูฟิสิกส์ที่สอนเราอยู่เหมือนกัน ครูคนแรกของผม ชื่อว่าครูนิ่ม ครูเขาเป็นคนเดียวที่รอผม ไม่เคยทิ้งผมเลย ถึงผมจะเป็นคนท้ายแถว เป็นคนสุดท้ายของห้อง แต่ครูก็ยังอยู่ เด็ก 51 คนผมสอบได้ที่ 51 อะ แล้วเวลาเรียนฟิสิกส์ มันต้องมีการเฉลยบนกระดานใช่ไหม ผมเป็นคนเดียวเลยที่ทำไม่เสร็จ แต่ครูเขาก็รอผม จนผมรู้สึกว่าเริ่มชอบฟิสิกส์
ครูสุรเบล : ตอนนั้นเราก็ต้องหาข้าวหาปลากินเอง มาโรงเรียนเอง ซึ่งมันก็ล่อแหลมอยู่แล้ว มันง่ายมากที่จะถูกเพื่อน ๆ ชักจูงไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร
The People : แล้วอะไรทำให้คุณกลับมาทางที่ถูกที่ควร
ครูสุรเบล : เพื่อนเหมือนกันครับ สังคมวัยรุ่น เพื่อคือสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะเด็ก ม.ต้น นะ 14-16 ปี ช่วงนี้มันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเลย ตอนนี้ถูกเรียกว่าบังคับเลยก็ได้ โดนบังคับให้ไปอยู่ในกลุ่มห้องวิทย์ ห้องที่แบบเรียนอย่างเดียวเลยอะ เราโชคดีที่ไปเจอคนไทป์คล้ายกัน อาจจะไม่ใช่เด็กหน้าห้องมาก แต่ว่าห้องตรงนี้ก็อาจจะไม่ได้แบบไม่ได้ห้าว เหมือนตอนม.ต้นแล้วนะ ซึ่งไม่ได้บอกว่าตอนม.ต้นไม่ดีนะ ทุกคนตอนนี้ก็จบมาได้ดีกัน แต่ว่าตัวของเราเองมากกว่า ถ้าเราไปอยู่กับเขา เราอาจจะกลับมาไม่ได้
The People : อะไรที่เข้ามาทำให้คุณอยากจะมาเป็นครู มันมีเหตุการณ์แบบนั้นไหม
ครูสุรเบล : ไม่มีเลยครับ พูดได้เลยว่าไม่มีเลยจริง ๆ แต่ตอนนั้นน่ะ จำได้ว่าตอนผมอยู่ ม.6 คือเรารู้ตัวว่าเรา ส่วนใหญ่วัยรุ่นตอนนั้นน่ะ ยังไงก็วิศวะ ทุกคนจะต้องสอบโควต้าวิศวะ เอนทรานซ์วิศวะ ยังไงก็วิศวะ หนีไม่พ้น เพราะมันเท่ไง ซึ่งเราประเมินตัวเองละ ไม่ได้ ไม่ชอบ ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ เราก็เลยแบบ สมัยก่อนมันจะเป็นการเลือกเองนะ เขาเรียกว่ารับตรงภาคเหนือ สอบโควต้า มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ก็จะมีคณะให้เลือกเต็มไปหมดเลย เฉพาะภาคเหนือมาแข่งขันกัน เขาจะให้เลือก มีกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ แล้วมีคณะ เมเจอร์เต็มไปหมแลย ไอ้เราก็วิศวะไม่ถึงแล้ว ทรงเราไม่ได้ เลยไปดูวิทย์สาขาอื่น ก็ไปเจอสาขานึง ชื่อมันเท่ว่า ฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ เราก็เลยเลือกอันนี้เป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็เกษตรศาสตร์เป็นอันดับสอง เพราะว่าเราทำเกษตรอยู่แล้ว ก็เลยเลือกอันนี้เป็นที่สอง ปรากฎว่าเราได้ ติด 1 ใน 20 คนมั้ง ถ้าจำไม่ผิดนะ ติดโควต้ารอบนั้น คือเมื่อก่อนบูมมากใครติดโควต้านี่คือสบายเลย สักธันวาคมเนี่ย ผลโควต้าออกละ มกรา-มีนา ไม่ต้องทำอะไรละ เพราะเราอยู่ ม.6 แล้วไง เราก็มีที่เรียนแล้ว
The People : ตอนที่ที่บ้านทราบว่าคุณติดโควต้า มช. บรรยากาศในบ้านเป็นยังไงบ้าง
ครูสุรเบล : แค่เขารู้ว่าผมติด มันก็เป็นความหวังของหมู่บ้านแล้วครับ เรียกว่าความหวังของหมู่บ้านเลยใช้คำนี้ได้เลย เพราะเราเป็นเด็กต๊อกต๋อย เมื่อก่อนกว่าจะกลับเข้าบ้านได้ต้องนั่งรถสองแถว ประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน ดังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจากหมู่บ้านจะหลุดออกมาแล้วสอบติดมหาวิทยาลัย
The People : แสดงว่าคุณมองเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่เด็กเลยใช่ไหม
ครูสุรเบล : จะบอกว่าใช่ มันก็ใช่ มันเหลื่อมล้ำจริง ๆ แหละ เพราะว่าผมโตมากับเท่าที่จำความได้นะ ที่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนยังแบบเป็นลูกรัง ดินแดงอยู่เลย ซึ่งการศึกษาอย่างว่ามันดูไกลตัว พอเราได้โยกย้ายเข้ามาเรียนในเมืองมันก็เห็นความแตกต่างค่อนข้างชัด
The People : มีสิ่งไหนที่คุณเข้าไปเรียนในเมืองแล้วรู้สึกว่ามันช่างแตกต่างจากที่บ้านคุณเลยไหม
ครูสุรเบล : คอมพิวเตอร์ ในหมู่บ้านเราไม่มีคอมพิวเตอร์นะ โทรศัพท์ที่ใช้ยังเป็นจานใหญ่กว่าจานดาวเทียมปัจจุบัน ผมจำได้เลยว่าปู่ของผมเขาเปิดร้ายขายของชำอยู่ในหมู่บ้าน เป็นบ้านหลังเดียวที่มีโทรศัพท์บ้าน แล้วทุกคนในหมู่บ้านเขาก็จะรอโทรศัพท์จากคนนอกหมู่บ้าน โทรมาที่บ้านปู่ พอโทรมา ผมก็ต้องปั่นจักรยานไปบอกคนนั้นว่ามีคนโทรมานะ บอกปลายสายว่าอีกสิบนาทีค่อยโทรมาใหม่อะไรงี้
The People : แล้วเส้นทางการเป็นครูของคุณเริ่มมาได้ยังไง
ครูสุรเบล : เริ่มตั้งแต่ผมยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ ตอนนั้นกำลังจะจบ มช. ครูคนเนี้ย (ครูนิ่ม) ที่เคยสอนฟิสิกส์ผม ที่เคยรอผมทำข้อสอบ ครูเขามาคุยกับเพื่อนผมคนนึงว่าโรงเรียนจะเปิดรับครูฟิสิกส์คนใหม่ เพื่อนผมคนเนี้ย คือ ไอ้อาร์ม มันก็เลยบอกว่า ผมจะจบพอดี ครูลองคุยดูไหม แต่เอาตรง ๆ เลยนะ ผมไม่ได้จบครูมา ผมจบวิทยาศาสตร์มา แต่ว่ามันก็สอนกันได้แหละ เราก็เลยลองดู ลองมาสอนฟิสิกส์ ก็กลายเป็นว่าครูคนที่เคยรอเราวันนั้น เป็นคนที่เรียกเรากลับมาเป็นครูในวันนี้ จบจาก มช. ก็มาสอนที่โรงเรียนที่ผมเรียนจบมา ที่เราเรียนตั้งแต่เด็ก
The People : จำวันแรกที่ไปสอนได้ไหม ความรู้สึกวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ครูสุรเบล : ตื่นเต้นมาก ตื่นเต้นแบบมันเหมือนพลิกชีวิตอะ ผมว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยเรียนมหาวิทยาลัยใช่ไหม ตอนเรียนเราคือนกฮูกใช้ชีวิตตอนกลางคืน ตอนนั้นผมก็ไปสุดเหมือนกัน พระไม่บิณฑบาตตอนเช้าก็ไม่กลับอะ ไม่เช้าเราไม่เลิกเหมือนกันอะ แต่พอมาเป็นครู ยังไงเราก็ต้องตื่นตอนบิณฑบาตเพื่อไปทำงานให้ทัน ตอนแรก ๆ คัลเจอร์ช็อกมากนะ กลับไปโรงเรียนคือแบบ โห! อะไรวะเนี่ย เราใช้เวลาในการปรับตัว ปรับนาฬิกาชีวิตค่อนข้างเยอะ แล้วก็กลับไปเรียนรู้วัฒนธรรมของเด็ก ๆ ใหม่อีกรอบ ซึ่งต้องขอบคุณเด็ก ๆ รุ่นนั้นมากนะที่เปิดรับเรา เพราะเราก็ไม่ได้เป็นครูที่หลาย ๆ คนเป็น
The People : ตอนนี้เป็นครูมากี่ปีแล้ว
ครูสุรเบล : น่าจะ 10-12 ปีแล้ว ผมเรียนจบก็มาทำงานเลย ไม่ได้ลองอย่างอื่น
The People : พอได้มาเป็นครูจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน คุณตกตะกอนได้หรือยังคำว่า ‘ครู’ มันคืออะไร
ครูสุรเบล : ยังเลยครับ ผมยังไม่เข้าใจเลย จนได้กลับไปสอน เราก็ต้องไปเรียนเพิ่มอยู่เหมือนกัน เรียนการเป็นครูเพิ่มอีก 2 ปี ตอนนั้นไอดอลคนเดียวที่หยิบมาใช้เลยคือ ‘โอนิซึกะ’ ผมไปโรงเรียนวันแรกเป็นแบบนั้นเลย เพราะเราไม่เข้าใจไงว่าครูต้องทำยังไง วันแรกที่ไปก็โดนด่ายับ ซึ่งโอเคเราก็ค่อย ๆ เรียนรู้ศาสตร์ของการเป็นครูไป บาลานซ์มันให้เข้ากับวิถีของเรา ไม่ได้เป็นครูที่สุดโต่งจนเกินไป
ผมไม่เคยมานั่ง ไม่เคยมานั่งวิเคราะห์แล้วก็ไม่เคยมานั่งอธิบายตัวเองให้ใครฟัง ไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ ก็ตามเรื่องที่เราทํา หรือว่าเรื่องที่เราเป็นอะไรอย่างเงี้ย มันไม่ได้มานั่งคิดอะ แล้วสุดท้ายมันเขาเรียกว่าอะไรผมก็เลือกไม่ถูกอะ ไม่สามารถที่จะมานั่งอธิบายได้ว่าฉันเป็นอย่างนี้ นึกออกไหม แต่รู้ว่าตัวเอง พัฒนาขึ้น ไม่รู้จะเรียกว่าครูได้เต็มปากหรือเปล่า เพราะมันก็ไม่ค่อยตรงไทป์เท่าไหร่ เพราะผมเชื่อว่ามาตรฐานของสังคมไทยไม่ใช่แบบนี้
The People : ครูเบลวันแรกกับครูเบลใน 10 ปีให้หลัง ต่างกันยังไง
ครูสุรเบล : เมื่อก่อนผมสุด ตอนนี้ก็ใจเย็นขึ้นเยอะ มีเหตุมีผลมากขึ้น ไม่วู่วาม ไม่ใจร้อน ไม่สุดโต่ง เมื่อก่อนนี้สุดโต่งมาก ผิดคือผิด ไม่ได้คือไม่ได้ เราจะไม่ยอมเด็กหรือผู้ปกครองเลย มันต้องเป๊ะตามระเบียบ แต่ทีนี้พอเราโตมามีครอบครัว มีภรรยา มีลูก มันทำให้เราตกตะกอนได้ว่า ความสุดโต่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป โอเคมันอาจจะดีในแง่หนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันดีแค่บางมุม บางมุมอาจจะเป็นผลเสียก็ได้ แล้วผมที่ตามมามันอาจจะมากกว่าที่คิด ตอนนี้เราก็มีความประนีประนอมมากขึ้น
The People : หน้าที่ของครูไม่ได้มีบทบาทแค่สอน คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ครูสุรเบล : คำถามล่อมากเลย ผมตอบไปจะโดนไหมเนี่ย (หัวเราะ) จริง ๆ ทุกวันนี้ก็โดนเยอะ เรื่องที่เราทำ TikTok แต่เราแฟร์ในเรื่องของการนำสิ่งนี้มาเป็นสื่อการเรียนการสอน สอนเด็กในห้องและนอกห้อง เด็ก ๆ ก็จะได้ความรู้ แต่ถ้าถามว่างานอื่นของความเป็นครูมันส่งผลไหม มันก็ต้องบอกว่ามันปฏิเสธไม่ได้เนอะ พูดปากฉีกถึงหูก็แล้วอะไรก็แล้ว อยากให้ครูสอนให้ดีต้องให้ครูสอนอย่างเดียว ซึ่งมันเป็นข้อเท็จจริง แต่งานอื่นคุณก็ต้องทำไหม ต้องทำอยู่เหมือนเดิม ก่อนผมมาให้สัมภาษณ์ผมยังถือไมค์จัดกิจกรรมอยู่เลย
ทุกอาชีพมันมี KPI เป็นของตัวเอง ครูเองก็ด้วย แต่ลองนึกสภาพของครูนะ เราต้องทำงานสารพัดอย่าง แน่นอนว่าประสิทธิภาพของการสอนมันต้องลดลงอยู่แล้ว ที่สำคัญผมเองก็มีชีวิตครอบครัว ไม่อยากเอางานกลับไปทำที่บ้าน
The People : ช่วงที่คุณเริ่มมาสอนนอกห้องเรียน ที่โรงเรียนหรือว่าคุณครูในโรงเรียนเองมีการคัดค้านอะไรไหม
ครูสุรเบล : ข้อดีอย่างแรกเลยคือ โรงเรียนไม่ได้ใหญ่มาก เด็กมีแค่ร้อยกว่าคน อันนี้ถือว่าใหญ่สำหรับตำบลแหละ แต่ว่าผมเองก็โชคดีที่ผู้บริหารเขาไม่ได้บังคับจุกจิก ไม่ได้เป็นผู้บริหารยุคเดิมที่ต้องคลานเข่าเข้าไปพบ บางที่แทบจะกราบอยู่ละ แทบจะย้อนกลับไปสมัยสุโขทัยนู่น การเข้าพบนี่ยุ่งยากไปหมด แต่ที่นี่ไม่ใช่แบบนั้น
ผมเลยทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ได้ พอมาอยู่ตรงนี้ ผอ.ก็สนับสนุน เขาเป็นเหมือนกำลังใจของผมเลยก็ว่าได้ ซึ่งเขาก็สนับสนุนเต็มที่เลยนะ ตอนเปิดเพจใหม่ ๆ คนหนึ่งที่ต้องแชร์คือ ผอ. เขาเป็นผู้บริหารที่เปิดโอกาสมาก
The People : วิธีการสอนของคุณมีการวัดผลอย่างไร
สุรเบล : ตอนนี้ผมให้เด็กมาต่อแถวกระโดดซ้าย-ขวามาตอบคำถาม Q&A เราก็จะใช้ตัวนี้มาวัดผลความเข้าใจของเด็ก ผมทำเรื่องกลุ่มสัตว์แล้วเอาคำถามพวกนี้มาถาม ให้เด็กเขาเลือก เหลือคนสุดท้ายก็ได้รับขนมเป็นรางวัล มันก็ไม่ได้ต่างจากการทำข้อสอบ อันนี้เป็นข้อสอบที่ให้เด็กได้คิด และสามารถดูคำตอบจากเพื่อนได้ ซึ่งพอเขาผิดเขาจะจำ เขาจะจำเลย ทำไมมันถึงผิด ก็เป็นวิธีการวัดผลอย่างหนึ่ง งานกลุ่มก็มีปกติครับ แต่ก็ไม่ได้ไปซีเรียสจนต้องทำให้เขารู้สึกเกลียดวิชานี้ เธอต้องแก้อันนี้นะ ทำแบบนี้ผิดนะ แบบนั้นมันไม่ได้ประโยชน์หรอก เพราะสุดท้าย เด็กเขาก็ลอกกันอยู่ดี (หัวเราะ) ผมก็เคยเป็นเด็กมาก่อน ผมรู้ เราเคยทำนี่ ทำแบบนั้น(ลอก)มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นการเพิ่มภาระให้เขามากกว่า ดังนั้นอันไหนงานที่มันเป็นงานหรือการบ้านเนี่ย ผมจะให้ทำเป็นงานกลุ่ม บางครั้งเราไม่อยากสั่งหรอกงานเดี่ยวอะ แต่มันต้องทำ
ผมจะใช้แบบนี้ในกรณีที่ผมไม่อยู่สอน ติดไปอบรม มันก็ต้องฝากงานให้เด็ก ๆ ไม่งั้นเด็กเขาจะโน่นอะ เข้าป่ากล้วย (หัวเราะ) ถ้าเอาหลักสูตรปัจจุบันนะ เทอมนึงอะ 4 เดือน ผมสอนเสร็จตั้งแต่ 2 เดือน มันเหลือ ๆ อยู่แล้ว เพราะหลักสูตรปัจจุบันมันมีแต่น้ำ ถ้าเป็นมวยนี่รำไป 3 ยกแล้ว ยังไม่เข้ายก 4 ยก 5 เลย ยังไม่ต่อยสักทีอะ เราเป็นมวยสมัยใหม่ ไม่เอาเราไม่รำมวยแล้ว รำแค่ 3 ยกพอแล้วใส่เลย ซึ่งมันทันเหลือ ๆ เลย
The People : ตลอด 10 ปีที่เป็นครูมามีสิ่งไหนที่ทำให้คุณอยากเลิกเป็นครูบ้างไหม
ครูสุรเบล : ไม่เลย ไม่มี ถามว่าอยากเลิกเป็นครูไหม ไม่อยากเลิกนะ ถึงมันจะหนัก แต่ตอนสอน ตอนทำงาน ผมทำคลิปต่าง ๆ เนี่ย ผมมานั่งตัดหลังเลิกงานนะ ซึ่งอันนี้ก็เป็นตราบาปแล้วกัน มันรู้สึกไม่ค่อยดี เพราะกินเวลาครอบครัว ผมไม่ได้นอนกับลูกมาตลอด 2 ปี ตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว กำลังหาคนมาช่วยอยู่ ดังนั้นน่ะ มันไม่ได้เบียดเวลางานหรือเวลาราชการเลย
แต่สิ่งที่ไม่ชอบเวลาเป็นครูอย่างเดียวเลยคือ ไม่ชอบการเยี่ยมบ้านเลย ผมไม่ชอบเลย พูดตรง ๆ เพราะว่าสิ่งที่ผมเห็น สิ่งที่ทำให้ผมดาวน์ (ดิ่ง) บางคนอยู่ในโรงเรียนสดใสร่าเริงมาก สะอาดสะอ้าน แต่พอไปบ้าน หลังคาสังกะสียังไม่มีเลย แล้วมันจะลดความเหลื่อมล้ำยังไง ถ้าสมมติแจกเงินไป 5,000 บาท อยากให้เด็ก ๆ เรียนจบ แต่แล้วไงต่อ การศึกษาจะดีได้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมันต้องดีตามด้วย เพราะในที่สุดแล้ว เด็กที่ไม่มีจริง ๆ เขาก็จะเลือกอาชีพหรือสิ่งที่มันทำให้เขาได้เงินกลับมาช่วยดูแลครอบครัวได้ บางคนอยากเรียนคอมพิวเตอร์นะ ชอบมากเลย แต่บ้านเขาไม่มีเงินซื้อคอมพ์อะ เขาเลยต้องเปลี่ยนมาเรียนบัญชี เขาอยากเรียนแต่เรียนไม่ได้เพราะข้อจำกัดตรงนี้ เขาไม่มีทางเลือก ฟังดูอาจเป็นเรื่องไกลตัวใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ มันหดหู่มากเลยนะ ไม่ชอบการไปเยี่ยมบ้านเลยสักครั้ง แต่ถามว่าต้องไปไหม ไปอยู่แล้ว มันเป็นหน้าที่
The People : ในฐานะครูและพ่อ คุณอยากให้ลูกอยู่ในระบบการศึกษาแบบไหน
ครูสุรเบล : อันนี้เพิ่งคุยกับภรรยาไปเลย เพิ่งลองคิดไป ผมอยากให้ลูกอยู่ในระบบการศึกษาปกตินี่แหละ หมายถึงหลักสูตรปกติ ถ้าส่วนกลางเขาอยากให้อยู่แบบไหน ผมก็จะให้เขาอยู่แบบนั้น ไม่ได้ต้องเลิศหรูวิเศษอะไร ถ้าลูกของเรามีความสามารถพิเศษ แล้วเราในฐานะพ่อแม่มีหน้าที่สนับสนุนเขาก็แค่นั้น
ถ้าลูกเรียนไม่เก่ง เราจะไม่ว่าอะไรเขาเลย ไม่เห็นเป็นอะไร ผมไม่ได้ซีเรียสให้ลูกเรียนเก่ง อันนี้ผมได้พูดเอาหล่อ ลูกของผม ใครก็ตามที่ดูแลอยู่ ไม่เก่ง ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้ว่าถนัดอะไรก็พอ ขอแค่นี้ เพราะถ้าเขาเก่งหมดทุกอย่าง แล้วเขาจะรู้ไหมว่าอะไรคือสิ่งที่เขาชอบหรือว่าถนัดที่สุด เราแค่อยากให้ลูกมีความสุขแค่นั้นเลย ไม่ได้คาดหวัง แค่มีความสุขเป็นในแบบที่เขาอยากเป็นก็พอ
The People : พอได้เป็นพ่อคน มีสิ่งไหนที่คุณย้อนกลับไปยังอดีตแล้วนึกเสียใจต่อสิ่งที่ทำกับพ่อบ้างไหม
ครูสุรเบล : เขิน (ยิ้ม) จริง ๆ ก็เคยครับ เราเลยพยายามทำหน้าที่พ่อให้ดีที่สุด เติมเต็มสิ่งที่เราขาดในตอนเด็ก ไม่ได้บอกว่าพ่อแม่ผมไม่ดีนะ แต่ว่า ณ ตอนนั้นน่ะเขาต้องทำงานหนักจริง ๆ เขาตื่นตี 2 นอนสามทุ่มทุกวัน เพื่อส่งเราเรียนหนังสือ อันนี้เราเข้าใจเขามาก ๆ ที่เขาจะไม่มีเวลาให้เรา ดังนั้น ณ ตอนนี้ ช่วงก่อนหน้านี้ผมก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ทำงานหนัก แต่ว่าตอนนี้ก็พยายามจะแก้ไข พยายามให้เวลากับลูกเพื่อให้เขาโตขึ้นมาแล้ว มันอาจจะมีช่วงวัยรุ่นที่มันทำให้เราห่าง มันไม่มีอะไรแน่นอนหรอกครับ มันต้องทำใจ แต่ตอนนี้เราก็พยายามให้เวลากับเขามากที่สุด