Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

บทสัมภาษณ์ ‘ดุ่ย-วิษณุ ลิขิตสถาพร’ หรือศิลปินในนาม ‘Youth Brush’ ผู้รังสรรค์ผลงานด้วยความจริงใจและเบื้องหลังบทเพลงที่มาพร้อมการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

KEY

POINTS

  • Youth Brush เกิดขึ้นมาเพียงเพราะดุ่ยต้องการทำเพลงเพื่อใครสักคน
  • บทเพลงของเขาถูกแต่งขึ้นมาจากการนำสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงรัก
  • ท่ามกลางการเดินทางยาวนาน 14 ปี เขายังคงเติบโตไปเรื่อย ๆ โดยตั้งใจทำเพลงเพื่อแฟนเพลงเป็นหลัก

 

น่าจะเป็นเพราะชอบฟังเพลงแหละครับ” 

 

คำตอบเรียบง่ายของศิลปินเจ้าของวง ‘Youth Brush’ ที่มีสมาชิกหลักเพียงหนึ่งเดียวคือ ‘ดุ่ย-วิษณุ ลิขิตสถาพร’ เมื่อถูกถามถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน 

หากให้พูดถึง Youth Brush คำแรกที่นึกถึงคงจะเป็น ‘น่ารัก’ ทั้งเมโลดี้ที่ฟังสบาย ทั้งเนื้อเพลงที่ถูกแต่งแต้มด้วยสิ่งรอบตัวเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่บรรจงสอดแทรกในท่วงทำนองจนกลายเป็นบทเพลงสุดแสนน่ารักที่เปี่ยมด้วยความรักและความหวังดี

เขาคือนักดนตรีที่เติบโตจากเด็กต่างจังหวัดผู้หลงใหลเสียงเพลง สู่ศิลปินอิสระที่ใช้เวลา 14 ปีในการค่อย ๆ ไต่บันไดทีละขั้น สร้างผลงานจากหัวใจ และเติบโตไปพร้อมกับผู้ฟัง

 

Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

 

เสียงเพลงในวัยเยาว์

ดุ่ยเติบโตท่ามกลางเสียงเพลง ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กแรกจำความได้ เริ่มจากเพลงตลาดทั่วไปอย่าง RS หรือ Grammy อย่างเพลงแรก ๆ ที่เขาร้องได้จะเป็นเพลง Love Sirens ของเจมส์ เรืองศักดิ์ ขณะที่พ่อก็เปิดเพลงของ The Beatles และคาราบาวไปด้วย

จุดเริ่มต้นจริง ๆ คงต้องย้อนกลับไปช่วงมหาวิทยาลัย ประมาณปี 1990 เมื่อดุ่ยได้เข้ามาเรียนภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วไม่มีความเกี่ยวข้องทางดนตรีเลย ทว่าการเข้าเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป์เปิดโลกดนตรีของดุ่ยให้กว้างขึ้น เพราะได้พบผู้คนที่มีรสนิยมหลากหลาย ทำให้เขาในฐานะเด็กต่างจังหวัด ได้รับอิทธิพลจากดนตรีหลายแนว รวมถึงช่วงมหาวิทยาลัยที่ได้รู้จักกับเพลง ‘ทดลอง’ 

แม้จะรู้สึกแปลกและฟังยากในตอนแรก แต่เสียงดนตรีได้กล่อมเกลาดุ่ยจนเริ่มหาสุนทรีย์เจอ จึงได้ตั้งใจรวมตัวกันกับเพื่อนเพื่อตั้งวง ‘Two Million Thanks’ ที่ตั้งใจทำเพลงแนวทดลองขึ้นมา 

ขณะที่สนุกกับการทำเพลงทดลอง อีกใจหนึ่งที่รักในเสียงเพลงป๊อบ ดุ่ยก็ได้ปั้น Youth Brush ขึ้นมาทำควบคู่ไปด้วย

 

Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

 

แค่อยากทำเพลงป๊อบเพื่อใครสักคน

 

Youth Brush เริ่มต้นจากความต้องการทำเพลงให้ใครสักคนจากความ ‘หวังดี’ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อทำมาหากิน กำเนิดเป็นเพลงแรกชื่อ ‘แรก’ ซึ่งดุ่ยเป็นคนทำเองทั้งหมด อัดที่ห้องตัวเอง มิกซ์เสียงเอง ในแบบ lo-fi และ low-tech โดยอุปกรณ์ทั้งหมดล้วนเป็นของยืมจากเพื่อน ทั้งกีต้าร์ ไมค์ และคอมพิวเตอร์

อย่าเรียกว่าเพลงเลยตอนนั้น คือเราทำเล่น ๆ แล้วปล่อย มันแค่พอฟังได้” ดุ่ยเล่าถึงผลงานแรก ซึ่งแรงสนับสนุนหลักก็มาจากเพื่อน ๆ ในรุ่นที่ตื่นเต้นเพราะมีคนทำเพลง จึงช่วยกันแชร์ผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้กลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัยศิลปะที่ชอบฟังเพลงทางเลือกได้รู้จักผลงานมากขึ้น

หลังจากทำสองวงคู่ขนานกันมาระยะหนึ่ง Youth Brush มีแฟนเพลงเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องแบ่งเวลาให้มากขึ้น

ผมทำคนเดียวทั้ง Two Million Thanks และ Youth Brush รู้สึกว่างานมันเยอะเกิน เลยต้องแบ่งสมองไว้ทำสิ่งที่มันต้องแอคทีฟเพราะมีแฟนเพลงเยอะกว่า ไม่อยากจะปล่อยให้เขารอนาน” ดุ่ยบอก แต่ว่ายังไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก 

จุดเปลี่ยนสำคัญมาในปี 2020 ช่วงโควิด เมื่อดุ่ยที่กำลังทำงานเป็นนักประพันธ์ดนตรีหรือนักทำดนตรีประกอบประสบปัญหาเพราะไม่สามารถออกกองได้ งานภาพยนตร์และโฆษณาจึงหายไป ขณะที่รายได้จากสตรีมมิ่งเริ่มทำให้เห็นความหวัง

ดุ่ยจึงตัดสินใจพักงานเก่าและหันมาลุยเป็น ‘ศิลปิน’ อย่างจริงจัง รวมถึงที่เริ่มทุ่มเทมากขึ้นเพราะแฟนเพลงด้วยส่วนหนึ่ง

 

Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

 

ภาพวาดที่มีเสียง

แม้จะไม่ได้เรียนด้านดนตรีโดยตรงจากคณะวิจิตรศิลป์ แต่ดุ่ยก็หยิบเอาความรู้จากศิลปะมาใช้ในงานเพลงอยู่เสมอ ตั้งแต่การออกแบบหน้าปกที่เขาวาดเอง ไปจนถึงวิธีคิดและเรียบเรียงเพลงอย่างเป็นระบบ

เวลาเราฟังเพลง เรามักจะแยกองค์ประกอบออกมาเหมือนตอนดูงานศิลปะ ว่าเพลงหนึ่งมีอะไรบ้าง มีกลิ่นอายแบบไหน โครงสร้างเป็นยังไง ท่อนต่าง ๆ วางไว้อย่างไร หรือเมโลดี้กับฮาร์โมนีทำงานร่วมกันยังไง” ดุ่ยอธิบาย

ด้วยนิสัยที่ชอบสังเกตและวิเคราะห์สิ่งรอบตัว ดุ่ยจึงสามารถหยิบแรงบันดาลใจจากเพลงที่ฟังมาปรับใช้ในแบบของตัวเอง กระบวนการทำเพลงของเขามักเริ่มจากการฮัมเมโลดี้ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยหาคำหรือประเด็นที่จดไว้มาใส่ให้พอดี

 

บางครั้งเราชอบประโยคหรือคำบางคำที่ได้ยินจากตอนขับรถ หรือเวลาฟังอะไรเพลิน ๆ แล้วอยู่ดี ๆ มันก็ลอยเข้ามา เราจะรีบจดไว้ก่อน แล้วรอให้เจอเมโลดี้ที่เข้ากัน ค่อยเอามาแต่งเป็นเพลงทีหลัง

 

ทุกขั้นตอนจึงเหมือนการวาดภาพจากเสียง ค่อย ๆ เติมรายละเอียดลงไปทีละชั้น จนกลายเป็นเพลงที่มีทั้งภาพ อารมณ์ และความรู้สึกครบถ้วน

 

แมว ความรัก และชีวิตประจำวัน

อย่างเพลง ‘รักแมวคุณมากกว่า’ ที่ถูกเขียนขึ้นจากเรื่องจริง แรงบันดาลใจมาจากความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นตอนตกหลุมรัก ‘ทาสแมว’ คนหนึ่ง

แมวในเพลงไม่ได้เป็นแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความจริงใจและความบริสุทธิ์แบบที่ใครสักคนจะเผลอแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

ผมเป็นคนชอบแมวอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสเลี้ยงเอง เพราะหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องที่อยู่ เศรษฐกิจ แล้วพอเราชอบคน ๆ หนึ่งที่เขาชอบแมวเหมือนกัน เวลาโทรคุยกับเราแล้วเรียกแมว เสียงสองอะไรแบบนั้น เรารู้สึกว่ามันน่ารัก แล้วก็ดูจริงใจมาก ๆ” ดุ่ยเล่า

ความน่าสนใจของเพลงนี้คือการใส่ ‘Point of View’ (POV) จากมุมมองของแมวเข้าไปในเนื้อเพลง ซึ่งเป็นเทคนิคการแต่งเพลงที่เขาเคยใช้มาก่อนในเพลง ‘ยา’ กับวง Two Million Thanks สมัยอยู่ค่าย SO::ON Dry FLOWER โดยเขามองว่าการให้สิ่งของหรือสัตว์มาร้องเพลงให้คนฟังเป็นมุมมองที่น่ารัก 

 

มันประมาณว่า กินฉันเข้าไปสิ ฉันจะทำให้เธอดีขึ้น ปรับอุณหภูมิองศาในร่างกายให้ดีขึ้น ก็เหมือน POV ของสิ่งของมาร้องให้คนฟังบ้าง ก็น่ารักดี

 

สำหรับเขา เพลงของ Youth Brush มักมีเนื้อหาที่ ‘ใจดี’ กับคนฟังเสมอจนเรียกได้ว่า ‘สปอยล์’ เลยด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่เพลงรักแต่เพลงเศร้าก็ยังอยู่บนฐานของความหวังดี “เพลงเศร้าของเราจะยังหวังดีอยู่ ยังไม่โทษใคร จะไปก็ไม่เป็นไร ไปก็อวยพร ไม่ได้โกรธ” 

ในช่วงแรก ๆ ดุ่ยเคยนิยามผลงานใน 2-3 อัลบั้มแรกด้วยคำว่า ‘For Sleep’ เพลงที่ฟังได้เรื่อย ๆ เหมือนเสียงกล่อมให้หลับสบาย
 

Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

 

ทุกลายเส้นคือเรื่องราว
ทุกแปรงสีคือความเปลี่ยนแปลง

ช่วงหลังดุ่ยเริ่มใส่คำศัพท์เชิงวิชาการลงในเพลง เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ช่วยผลักดันความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ได้ 

อัลบั้มล่าสุดของ Youth Brush ที่ออกช่วงโควิดปี 2020 เป็นต้นมา เป็นเหมือนบันทึกการเติบโตของเขา ไม่ใช่แค่ในแง่ของดนตรี แต่รวมถึงความคิด ความเข้าใจโลก และการใช้ชีวิต ซึ่งปัจจุบันเขาทำงานรอบคอบมากขึ้น คิดมากขึ้น และรับฟังมากขึ้น

เช่นในเพลง ‘ช่างแม่งเถอะความรัก’ ที่พูดถึงเกี่ยวกับระบบทุนผูกขาด ผ่านเนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า  

กลับมาอยู่ในวังวนเปลืองเบียร์อีกวะ เฮ้
เพราะการจากลาที่เธอสร้างมันทำ ให้ใครบ้างคน ดื่มแอลกอฮอล์ จากทุนผูกขาดในตามตลาด ยังคงลำบากที่เอาเงินเก็บไปซื้อเบียร์คราฟยังคงเสร่อแค่อยากลืมใครราคาแม่งยังจะแพง
” 

ในความเศร้า เขาเลือกพูดถึงระบบเศรษฐกิจที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันแบบที่คนฟังอาจเคยเจอเหมือนกัน นั่นคือการอกหักแล้วไม่มีเงินพอจะซื้อเบียร์ดี ๆ ดื่มเพื่อทำใจ ซึ่งเกี่ยวโยงกับระบบทุนในตลาด 

หรือในเพลง ‘Boyfriend from internet’ ที่พูดถึงปัญหาการกระจุกตัวของเมืองมาเล่าผ่านมุมมองความสัมพันธ์ “ประมาณว่าจังหวัดผมมันไม่มีไลฟ์เฮาส์ ต้องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเจอผู้หญิงเทสดี” ดุ่ยอธิบาย

สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของพื้นที่ด้านวัฒนธรรมและความบันเทิง ที่กรุงเทพฯ มีไลฟ์เฮาส์ (Live House) ให้ไปดูดนตรีสด แต่ต่างจังหวัดกลับไม่มีทางเลือกแบบเดียวกัน

ดนตรีของ Youth Brush จึงค่อย ๆ เปลี่ยนรสชาติไปจากที่เคยหวานละมุน มาเป็นแบบที่มีรสขมผสมอยู่ด้วย เป็นรสชาติของการมองโลกในแบบที่โตขึ้น ที่ใส่เรื่องของสังคมไม่ได้เจาะจงแค่เรื่องความรู้สึกอย่างเดียว 

 

เมื่อก่อนเราคิดว่าเรื่องความรักมันเป็นแค่เรื่องของคนสองคน แต่พอโตมาทำให้ได้รู้ว่าสิ่งแวดล้อม หรือสังคมมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้รักกันด้วย

 

ดุ่ยมองว่าศิลปินหลายคนต่างก็อยากเป็นแรงผลักเล็ก ๆ ให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ผ่านการสอดแทรกเรื่องสังคมเข้าไปในเพลงแบบไม่ต้องตะโกนหรือชี้นิ้ว แต่ค่อย ๆ ทำให้คนฟังรู้ว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญ

แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของเขาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมที่แต่งเพื่อใครบางคน ก็กลายเป็นแต่งเพื่อคนฟังแทน

 

เมื่อก่อนเราอาจแต่งเพลงให้ใครสักคนที่เราชอบ แต่ตอนนี้เรามีความรักที่มั่นคงแล้ว ก็เลยหยิบแรงบันดาลใจเก่า ๆ กลับมาใช้แทน แล้วก็แต่งเพื่อคนฟังมากกว่า

 

โดยเฉพาะกลุ่มคนฟังที่เป็นวัยรุ่นหรือเยาวชน เขาตั้งใจให้เพลงของตัวเองเป็นที่พักใจเล็ก ๆ ระหว่างทางชีวิตที่บางครั้งก็เหนื่อย

 

Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา

 

ทำด้วยใจ หรือไม่ทำเลย

ถึงจะดูเป็นคนที่ปล่อยเพลงอย่างต่อเนื่อง ดุ่ยก็ยอมรับว่าตัวเองมีช่วงที่คิดงานไม่ออกเหมือนกัน “มีครับ ก็ช่วงนี้แหละครับ จริง ๆ แล้วต้องปล่อยเพลงเดือนมีนาคม แต่ว่ายังไม่เสร็จเลยครับ” เขาเสียใจที่ไม่สามารถทำตามกำหนดที่แจ้งกับแฟนเพลงไว้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขายืนยันว่า จะไม่ปล่อยเพลงที่ตัวเองยังไม่ชอบออกมา  

ปรัชญาการทำงานของเขาคือ “ถ้าไม่ชอบก็จะไม่ปล่อย” เพราะดุ่ยเชื่อว่า ถ้าแต่งเพลงเพราะหวังยอดวิวหรือความสำเร็จ โดยที่ตัวเองไม่รู้สึกกับมันจริง ๆ แล้วมันดันไม่ประสบความสำเร็จขึ้นมา ไม่เพียงแต่จะไม่มีคนฟัง ตัวเขาเองก็จะไม่ภูมิใจกับมันด้วย

บางครั้งหากเจอวิกฤตทางความคิด เขาจะกลับไปรื้อเพลงเก่าที่เคยทำไว้ “เอามาปัด ๆ ทำ มันก็ยังเป็นเพลงที่เราชอบ” หรือบางเพลงที่เคยฟังจนเบื่อ เขาจะปล่อยไว้สักพัก

 

ปล่อยจนลืม แล้วพอกลับไปฟังอีกที

เอ้า ดีนี่หว่า

 

แต่เมื่อถูกถามถึงอุปสรรคในการทำเพลง เขากลับมองว่าอุปสรรคที่ยากที่สุดคือตัวเขาเอง ไม่ใช่เพราะขี้เกียจหรือหมดไฟ แต่เป็นเพราะบางที เขาเองก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเอาอย่างไรกับงานที่ทำ หรือเป้าหมายจริง ๆ คืออะไรกันแน่

ไปออกรายการมารายการหนึ่งล่าสุด เพิ่งจะปีนี้เอง เขาก็ถามเรื่องเป้าหมายเหมือนกัน ตอนนั้นยังตอบว่ามีอยู่เลย แต่พอมางานนี้รู้สึกว่าไม่อยากมีเป้าหมายแล้ว

อาจฟังดูสวนทางกับโลกที่มักย้ำว่าเราต้องมีเป้าหมาย แต่ดุ่ยกลับมองว่าการไม่มีเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องผิด

มันก็ไม่ผิดนะครับ แต่ผมว่าคนที่ตั้งคำถามว่า ‘ผิดไหมถ้าไม่มีเป้าหมาย’ อาจต้องลองย้อนถามตัวเองกลับว่า อะไรคือความสุขของเรา เพราะสำหรับผม ได้ทำเพลง ได้ไปร้องเพลงให้คนที่อยากฟังเพลงเรา สุขภาพดี กินอิ่ม นอนหลับก็โอเคแล้ว

 

ไม่ได้ดัง แต่พาเราไปได้ไกล

แม้จะไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ดุ่ยยังคงยืนยันว่าจะทำเพลงต่อไป

ท่ามกลางการเดินทางที่ยาวนาน 14 ปี แต่ดุ่ยยังคงรู้สึกสนุกกับมัน เนื่องจากเขาได้ลองเปลี่ยนมาทำเพลงแบบเต็มวง (Full-band) หลังจากที่เคยเล่นแนว Acoustic Folk มานาน

เมื่อก่อนตอนแสดง วัฒนธรรมการดูโฟล์คเขาจะนั่งกันเงียบ ๆ เราเลยไม่รู้ว่าพลังงานของผู้ฟังส่งมาถึงเราแบบไหน” 

แต่เมื่อเขาทดลองเรียบเรียงให้เป็น Full-band และได้เห็นผู้คนร้องตาม โดยเพลงที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักคือ ‘ไม่อาจ’ ที่ปล่อยในปี 2018 ที่เปิดโอกาสให้ได้เล่นดนตรีบ่อยขึ้นในปี 2019 จึงได้พบกับกลุ่มผู้ฟังใหม่ ๆ 

รู้สึกว่าเราได้รับกำลังใจ มีความสุขเวลามีคนร้องตาม อาจจะไม่ได้ดัง แต่ว่ามันพาเราไปได้ไกลมากขึ้น

ประสบการณ์นี้ทำให้ดุ่ยเปลี่ยนมุมมองการแต่งเพลงให้คำนึงถึงความสนุกของการร้องตาม

ปัจจุบันเขากำลังหันไปฟังเพลงป๊อบพังก์ เพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ “ช่วงนี้กลับมาฟังป๊อบพังก์มากขึ้น เพราะเราทำเพลงโฟล์คมาตลอด ซึ่งเนื้อหาจะไม่ค่อยออกตัวแรง ๆ เท่าไร แต่ตอนนี้อยากจะบิลด์ให้คนมีชีวิตชีวามากขึ้น

ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา Youth Brush ไม่ได้เป็นศิลปินที่ดังพุ่งขึ้นมา แต่จะค่อย ๆ ไต่บันไดทีละนิด ๆ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของศิลปินที่สร้างงานจากหัวใจและเติบโตไปพร้อมกับผู้ฟัง

 

รักคือการให้ไป

สุดท้ายนี้ การที่สารตั้งต้นของ Youth Brush คือความรัก จากมุมมองของดุ่ย เขามองว่าความรักที่แท้จริงคือการ ‘ปล่อยไป’ หรือการให้อิสระกับอีกฝ่าย 

เหมือนจะมีศิลปินแต่งเพลงว่า รักแท้ คือการปล่อยไป เรารู้สึกเห็นด้วยครับ เพราะถ้าเขาอยากอยู่กับเราก็ปล่อยให้เขาอยู่

เราก็ยังรักเขาอยู่ แต่ปล่อยเขาไปเติบโตทําอะไรก็ได้ตามใจ น่าจะดีที่สุด เหมือนพ่อแม่เป็นรักที่บริสุทธิ์ ที่เราดูกันเติบโต เขาอยากรักใครก็เต็มที่เลย

ดังนั้น เพลงรักของ Youth Brush จึงไม่ใช่เพียงแค่การบอกรัก แต่เป็นความรักที่มีแต่ความหวังดีมอบให้แก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนรัก สัตว์เลี้ยง แฟนเพลง รวมถึงรักตัวเอง

 

Youth Brush : ลายเส้นในเสียงดนตรีกับการมองความรัก ผ่านสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเรา