28 ธ.ค. 2561 | 18:21 น.
นิยาม “ร้านไส้กรอกเยอรมัน ไร่บรรทิพา” ของ “น้ายงค์-บรรยงค์ แก่นจันทร์” ของหลายคน อาจเป็นบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยเสียงร้องโศกซึ้งของ ลอรีน่า แม็คเคนนิตต์ ที่ลอยมาพร้อมกลิ่นถ่านไฟจากเตาย่างไส้กรอกเยอรมันแบบโฮมเมดฉ่ำลิ้น พร้อมเครื่องดื่มสีอำพันเย็นเฉียบรสเข้มจากหุบเขาลุ่มแม่น้ำไรน์ ไม่นับวิวแบบพาโนรามาบนเนินที่สวยสุดแห่งหนึ่งของสวนผึ้ง แต่อีกหลายคนกลับให้นิยามร้านนี้ “เจ้าของนรก !!” ฉายาที่คนพลาดโอกาสเป็นลูกค้าร้านเขา ได้พร้อมใจตั้งให้กับเจ้าของร้านไส้กรอกสุดอินดี้แห่งสวนผึ้ง อะไรที่ทำให้ประสบการณ์ของผู้มาเยือนร้านไส้กรอกบนเนินเขานี้แตกต่างกันราว “นรก” และ “สวรรค์” อ่านต่อได้จากในบทสัมภาษณ์นี้ The People : ทำไมถึงต้องเป็นสวนผึ้ง น้ายงค์ : ผมเคยเข้าสวนผึ้งมาเมื่อปี 2526 มาบ้านเพื่อนที่โป่งกระทิงล่าง ตอนนั้นเป็นฤดูร้อน เดือนเมษา มาจากราชบุรีถึงจอมบึง ทางก็ไม่ค่อยดีนัก จากจอมบึงมาสวนผึ้งนี่เรียกว่าเป็นถนนควายเดินเลยดีกว่า แต่ว่าพอไปถึงบ้านเพื่อนที่โป่งกระทิงกลายเป็นคนละเรื่องเลย เดือนเมษาก็จริงแต่อากาศเย็นมาก ที่บ้านพักครู มันอยู่ใกล้ลำธาร ตื่นตอนเช้าไอหมอกขึ้นมาจากน้ำเลย เพราะมันเย็น แล้วที่บ้านคุณแม่เขาก็เอาเศษผ้ามาเย็บเป็น 3 ชั้นไว้สำหรับลูกๆ นอน ส่วนอาหารสมัยนั้นเป็นอาหารป่าเยอะใช่ไหม เขาก็จะดองใส่ไหไว้ แล้วกินอะไรก็เอาอันนั้นน่ะมาทำทุกอย่าง ไม่ว่าต้ม ผัด แกง ทอด ก็เริ่มมีความรู้สึกว่า เราอยู่ราชบุรีไม่ต้องไปไกลเลย เพียงแต่มันไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาว่าสวนผึ้งมีอะไร เพราะสมัยก่อนทำเหมืองแร่ แล้วค่อนข้างจะเป็นเมืองปิดอยู่ แต่ธรรมชาติสุดๆ เพราะสมัยนั้นเราเรียนมหาวิทยาลัย ได้ไปเมืองกาญจน์ ไปภาคเหนือ เราก็มีความรู้สึกว่าสวนผึ้งก็ไม่ได้ด้อยกว่าเขา รู้สึกชอบสวนผึ้งมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วคิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะมาที่สวนผึ้งอีก The People : ตอนนั้นรู้สึกว่าสวนผึ้งเป็นสวรรค์อะไรทำนองนั้นเลยหรือเปล่า น้ายงค์ : ผมว่ามันสวยงาม น่าอยู่ ธรรมชาติ แล้วอีกอย่างไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เราเป็นคนราชบุรี แต่รู้จักจังหวัดราชบุรีเฉพาะบ้านโป่ง โพธาราม ดำเนินสะดวก อำเภอเมือง ปากท่อเราไม่ต้องพูดถึงเลย สมัยก่อนกันดาร เป็นอำเภอยากจน จอมบึงนี่ไม่ต้องพูดถึง จ้างให้มาก็ไม่มีใครมา แต่พอเมื่อเข้ามาถึงแล้วคนละเรื่องจริงๆ ครับ สวย The People : 30 กว่าปีผ่านไป สวนผึ้งเปลี่ยนไปขนาดไหน แล้วคนรู้จักสวนผึ้งมากน้อยแค่ไหน น้ายงค์ : เปลี่ยนไปเยอะมาก เปลี่ยนไปคนละเรื่องกับตอนที่มาตอนนั้น แต่ขณะเดียวกันพอมาดูข้อมูลใหม่ ปรากฏว่าสวนผึ้งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้ว เช่น สวนผึ้งมีไร่กุหลาบ ซึ่งเมื่อก่อนเคนไทยเริ่มมีรายได้ เริ่มท่องเที่ยว เริ่มหาที่ท่องเที่ยว มีไร่กุหลาบ มีที่อาบน้ำร้อน หลักๆ เลยคือสองอันนี้ คนสนใจที่จะเข้ามาเพราะเดินทางไม่ไกล เราก็เช่นเดียวกัน เราก็เข้ามา ก็เริ่มรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ได้เหมือนเดิม แต่ก็ยังมีสภาพความเป็นภูเขา น่าอยู่ เงียบสงบ ก็ยังคิดว่ายังน่าอยู่อยู่ครับ The People : คนจากข้างนอกมาอยู่สวนผึ้งมากขึ้น แล้วคนท้องถิ่นเป็นยังไงบ้าง น้ายงค์ : จริงๆ ต้องถือว่าท้องถิ่นเป็นชนกลุ่มน้อย ดั้งเดิมคือเป็นชนกลุ่มน้อย คนไทยเรามาทีหลังเขานะฮะ แล้วก็ตามสำมะโนประชากรจริงๆ ก็มีไม่เยอะ มีอยู่ประมาณ...ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนนั้นตัวเลขอยู่ประมาณ 30,000-40,000 คนด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าคล้ายๆ กันคือมาเที่ยวสวนผึ้งแล้วชอบสวนผึ้ง เงียบสงบ ก็เลยหาซื้อที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย The People : มีรีสอร์ตเยอะมาก? น้ายงค์ : รีสอร์ตผมคิดว่ามันน่าจะเป็นผลพวงจากเรื่องการชอบสวนผึ้งก่อนอันดับแรก เมื่อซื้อที่ดินไปแล้ว ทำอะไรดี แล้วก็เลยอาจจะทำห้องพัก อาจจะเริ่มจากเล็กๆ น้อยๆ เพราะสมัยก่อนคนก็ไม่ได้มาสวนผึ้งเยอะเหมือนปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่ดีๆ คนเข้ามาสวนผึ้งเพราะทำรีสอร์ต อันนี้น่าจะเป็นในภายหลังมากกว่า The People : ในมุมมองของเราคิดว่าสวนผึ้งมีศักยภาพไหม หรืออะไรที่ทำได้แล้วยังไม่ได้ทำ น้ายงค์ : สวนผึ้งมีศักยภาพอยู่แล้วครับ แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งก็อาจจะเป็นข้อดี หรือข้อเสีย ผมก็ไม่แน่ใจว่าทำให้คนที่ต้องการกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจนเลยไม่ค่อยเข้ามาเท่าไหร่ ส่วนคนที่ชอบธรรมชาติเองก็ไม่ได้กังวลใจอะไร เพราะว่าตัวเองก็มาซื้อที่ดินตามที่คนอื่นเขาอยู่ๆ แล้ว ไม่ได้ไปบุกรุก ไอ้ที่บุกรุกก็คงมีบ้าง แต่ผมคิดว่าที่บุกรุก ลำพังชาวบ้านเองไม่กล้าหรอก The People : มีคำแนะนำไหมว่าถ้ามาสวนผึ้งแล้วควรทำอะไรบ้าง น้ายงค์ : ผมอาจจะคิดแบบคนสูงอายุก็ได้นะว่าสวนผึ้งเหมาะสำหรับการมานอนเล่น มาชาร์จแบตเตอรี่ เพราะพื้นที่สวนผึ้งเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติ แต่ในแง่ของการละเล่นที่เป็นสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่เนี่ยค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในการลงทุน ในการทำอะไรต่ออะไร จะมีก็อยู่ในพื้นที่ตัวเองแล้วก็จะอิงกับธรรมชาติมากกว่า ผมคิดว่าเดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ลองสัมผัสลึกๆ จริงๆ อย่างเรื่องชนกลุ่มน้อยก็ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะ ธรรมชาติก็เป็นธรรมชาติที่เป็นการรอการฟื้นฟู ไม่เหมือนบางพื้นที่ที่การฟื้นฟูไม่เกิด มีแต่การบุกรุกเพิ่มเติม สวนผึ้งในอดีตเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ แล้วรัฐให้สัมปทานในการทำเหมืองแร่ ป่าไม้ ทำเสร็จไปแล้ว ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ในช่วงพื้นฟู เพราะงั้นอีก 30-40 ปีข้างหน้า ป่าซึ่งฟื้นฟูมาใหม่ก็จะมีแต่ดีขึ้นๆ ผมว่าอาจจะเป็นกระเปาะหัวใจเล็กๆ สำหรับอากาศที่ดีที่ใกล้กรุงเทพฯ ในการเดินทางของผู้คนนะครับ ผมว่าอย่างนั้น The People : มาลงเอยเป็นไส้กรอกได้ยังไง น้ายงค์ : มาจากความชอบสวนผึ้งล้วนๆ เลยครับ ย้อนกลับไปช่วงมาเที่ยวตั้งแต่ปี 2526 แล้วก็ชอบ ชอบแล้วเมื่อทำงานทำการได้ พอจะมีรายได้พอซื้อพื้นที่ได้บ้างก็เลยมาซื้อ มาซื้อแล้วก็เลยทำ ด้วยใจที่ชอบต้นไม้อยู่แล้วก็ปลูกแต่ต้นไม้ ปลูกอะไรต่ออะไร ใช้สตางค์ในการทำไปสัก 2 ปีก็เริ่มรู้สึกว่าครอบครัวเบื่อ เพราะว่าต้องเดินทางมาสวนผึ้งทุกอาทิตย์เลย เช้าขึ้นมาไปปลุกไม่มีใครอยากตื่น เลยคิดว่าต้องหาอะไรทำที่เป็นภาระในการที่จะต้องมาที่สวนผึ้ง ก็เลยทำร้านเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นภาระ แล้วก็เนื่องจากพื้นที่มันอยู่ที่ที่ต้องเดินสูงขึ้นมา ก็ไม่ต้องการลูกค้าเยอะอยู่แล้ว ต้องการนักเดินทางที่หาอะไรในการเปิดหูเปิดตาแล้วก็ประกอบการพูดคุยกันแค่นั้นเอง หลังจากทำมาแล้วปรากฏว่าคนมาก็รู้สึกแปลกๆ ดีนะ ร้านนี้ก็เลยมีคนเยอะขึ้น เราก็ไม่ได้คิดว่าจะขยับขยายทำให้มันเป็นธุรกิจ ก็ยังคงความคิดเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าทำสถานที่ให้ดูเรียบร้อยขึ้น เพื่อให้เกียรติกับคนที่มาเยี่ยมเยียน มาหาเราครับ The People : เรียกว่าไม่ง้อใคร น้ายงค์ : ผมเป็นคนแคร์คนมากคนหนึ่ง แต่ผมชอบความเป็นธรรมชาติของคนมากกว่าการสร้างภาพหรือเรื่องเยอะ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมชอบอะไรที่เป็นธรรมชาติ แล้วก็คิดไม่ต้องเยอะ มันจะดูรู้สึกอะไรง่ายๆ มากกว่า เพราะงั้นคำว่าง้อคนไหม ผมแคร์ทุกคน แต่ถ้าเกิดคิดว่าเป็นลูกค้าที่มีสตางค์มาแล้วจะไปใช้จ่ายที่ไหนก็ได้ ผมคิดว่าที่ร้านผมอาจจะไม่เหมาะ...อาจจะไม่เหมาะเลย เพราะว่าเราไม่ได้มีบริการอะไรเลย มาร้านเราเหมือนมาบ้านเพื่อน บ้านญาติ บ้านพี่ บ้านน้อง เราต่างคนต่างดูแล ต่างเทคแคร์ซึ่งกันและกัน แล้วเราจะมีความสุขใจมากกว่า The People : ส่วนใหญ่ลูกค้าเขาจะกลายเป็นเพื่อน? น้ายงค์ : คนที่ชอบก็จะเป็นลักษณะนั้น ส่วนที่ไม่ชอบก็จะรังเกียจ ก็จะตำหนิติเตียนอะไรก็ว่ากันไป The People : มีด้วยหรือ น้ายงค์ : มีฮะ เรียกผมนรกก็มี (หัวเราะ) เป็นเรื่องปกติ ซึ่งผมก็โอเคนะครับ เพราะว่าบางคนก็ต้องเรียนรู้ชีวิตว่าเป็นยังไง ก็ไม่ผิดที่เขาจะคิดแบบนั้น แต่ละคนมีสิทธิอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อคิดเป็น subset ขึ้นมา กลุ่ม subset เหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้เจอกับเราอีกแล้วในอนาคตครับ The People : เลยกลายเป็นที่รวมของคนที่ไม่มีจริตมาก? น้ายงค์ : ก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งผมคิดว่าทั้งคนมาแล้วก็เราเอง เราก็มีความสุขใจที่ได้เจอกลุ่มคนเหล่านั้น ได้แลกเปลี่ยนกัน ได้พูดคุยกัน ได้แชร์กัน The People : มีทุกเพศทุกวัยไหม น้ายงค์ : มีทุกเพศทุกวัยแหละครับ เด็กบางคนมาตั้งแต่แบเบาะ พ่อแม่เอามา พอโตขึ้นมาเขาก็มาบอกว่าลูกเขาโตขึ้นมาขนาดนี้แล้วเหรอ บางทีเราก็จำได้ หลังๆ บางทีต้องขอโทษบางคนที่จำไม่ได้จริงๆ เพราะว่าเริ่มมีเพื่อนมากขึ้น จากเดิมซึ่งมีเพื่อนเฉพาะกลุ่มในเรื่องการทำมาหากิน เพื่อนนักเรียน แต่ตอนหลังๆ กลายเป็นเพื่อนที่มาจากที่ร้านเยอะขึ้น The People : ทำมากี่ปีแล้ว น้ายงค์ : ผมเปิดมาตั้งแต่ปี 2553 ประมาณเดือนสิงหาคม แต่ก็หยุดไปประมาณปีหนึ่ง เพื่อปรับปรุงร้านเดิมเป็นร้านกระต๊อบๆ ก็รื้อร้านเดิมทิ้งไป ประกอบกับประสบปัญหาครอบครัวด้วยอะไรด้วย ก็คิดว่าจะหยุดไปช่วงหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็เริ่มต้นทำใหม่อีกทีหนึ่งครับ The People : อะไรที่ทำให้คนมาร้านเราเยอะ วิว บรรยากาศ เพลงที่เปิด ตัวเราหรืออะไร น้ายงค์ : ผมคิดว่ามันเป็นองค์รวม คงไม่ได้มีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็หลีกหนีไม่ได้ว่าบางส่วนมาจากกระแสที่สมัยนี้ที่ถ้าคุณมาแล้ว คุณก็ต้องมาที่นี่ แต่หลักๆ ผมคิดว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยมาแล้วมากกว่า แล้วก็ชอบภาพรวม เช่น มีบรรยากาศ มีร้านแบบนี้ อาจจะมีตัวผม ผมเคยถามว่าถ้าผมไม่อยู่ ให้ลูกน้องทำยังมาอยู่ไหม บางคนก็บอกว่าก็จะยังมา บางคนก็บอกว่าอาจจะไว้ก่อน แล้วแต่เลยครับ มีหลายๆ เหตุ The People : ภูมิใจกับคำว่านรกไหม น้ายงค์ : ก็โอเคนะ เอ่อ ผมคิดว่าตรงตัว ตรงฟีลลิ่งเลย เพราะว่าคนที่เอ่ยแบบนี้มาได้ก็แสดงว่าเขาต้องมองแล้วว่าเส้นแบ่งมันชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการแบบนี้อยู่แล้ว The People : จัดการยังไง First Come, First Served หรือยังไง น้ายงค์ : First Come, First Served คุณจองมา เราเทคแคร์คุณอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดไม่ได้สำรองที่นั่งมาหรือว่าโต๊ะว่างก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าโต๊ะไม่ว่าง เราต้องให้เกียรติกับคนที่เขานั่งอยู่ จริงๆ ผมอยากจะทำมากกว่านั้นด้วยซ้ำ ผมอยากจะตั้งโต๊ะว่า Please, wait here คือคุณอย่าเพิ่งเข้ามา คุณต้องรอข้างนอกด้วยซ้ำไป แต่ว่าอาจจะดูเกินเลยไปนิดสำหรับเมืองไทย ก็เลยเอาไว้ก่อน แต่ว่าใจจริงคือสมัยก่อนตอนที่ทำร้านแรกๆ ลูกค้าบางคนนั่งตั้งแต่เที่ยงยันมืดเมาด้วยกัน เขารู้สึกว่าอย่างงี้สบาย ผ่อนคลาย มีนักเขียนมาด้วยเหมือนกัน ไม่ได้มาทำอะไรนะ มานั่งฟังคนที่มาที่ร้าน เขาคุยอะไรกันแล้วก็จับเอาคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ไปเขียนเป็นมุกฮา ผมก็เลยรู้สึกว่าสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ขอให้อาหารเป็นแค่องค์ประกอบแค่นั้นพอ อย่าให้อาหารเป็นตัวชี้นำเลย The People : ทำไมต้องเยอรมัน น้ายงค์ : คือผมค้าขายอยู่ในอาชีพนี้ในช่วงหลังจากออกจากงาน เลยมาค้าขายไส้กรอกอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นประมาณปี 2540 ผมเคยไปทำร้านที่งานฤดูหนาวที่เชียงใหม่ เมื่อก่อนงานฤดูหนาวที่เชียงใหม่คนจะเยอะมาก มีประกวดนางสาวเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ร้านค้าก็จะเป็นร้านในท้องถิ่นที่เขาเปิดร้าน ทางจังหวัดเขาก็เลยอยากให้มีอะไรใหม่ๆ ผมก็เลยตกแต่งให้ดูเยอรมันหน่อย เอาธงเยอรมันไปติด แต่ที่ต่างก็คือเรื่องอาหาร เพราะเราจะมีไส้กรอก มีเบคอน มีขาหมู ปรากฏว่าได้การตอบรับดีมาก คนซื้อเยอะมาก ตอนนั้นเราใช้เตาไฟฟ้า ไฟดับแล้วไฟดับอีก เพราะว่ามันกินไฟ มัน overload ทำมาตั้งแต่นั้นครั้งหนึ่ง คนก็ให้ไปทำอีก ผมบอกไม่เอาแล้วเหนื่อย ไม่ไหว ผมไม่ได้ชอบแบบนั้น แค่ลองดูว่ามันทำได้ไหม ตอนที่มาคิดทำที่นี่ก็เลยเอาไอเดียตรงนั้นมาลองทำดูอีกทีแค่นั้นเอง ส่วนเบียร์เยอรมันผมอยากให้มันล้อกันเป็นองค์ประกอบ ให้เป็นมู้ดนั้น เป็นฟีลลิ่งนั้น คือให้มีธีมหน่อย จริงๆ ก็เหมือนกับว่าเรามาที่นี่มันก็มีแบบนี้ ไม่ได้มีทุกอย่างแบบร้านอาหารใหญ่โต คุณต้องการอะไร เรามีเสิร์ฟอะไร เราจะมี Only Set ประมาณเยอรมันหน่อย อาจจะออกแนวลูกทุ่งบ้านเขาด้วยซ้ำไป The People : แล้วทำไมต้องเปิดเพลงคลาสสิก มันทำให้อาหารอร่อยขึ้นไหม น้ายงค์ : เดิมทีเดียวผมก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งมีน้องคนหนึ่งเอาเพลงของ ลอรีน่า แม็คเคนนิตต์ มาเปิดให้ฟัง แล้วผมหลงใหลมันตั้งแต่ตอนนั้นแหละ แล้วก็เลยไปตามไล่ฟังเพลงอะไรต่ออะไร แต่เดิมเราค่อนข้างออกแนว Heavy Metal สมัยนั้นจะฟังเพลงพวกนั้นเยอะหน่อย พอมาฟังลอรีน่า แม็คเคนนิตต์ ประกอบกับช่วงหลังมี YouTube ไปเปิดดูอะไรต่ออะไรแล้วรู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน มันสวยงาม ก็กลายเป็นว่าหลังจากนั้นก็หาเพลงเหล่านี้มาเปิดที่ร้าน คนที่มาก็ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ ยิ่งเป็นการแชร์กัน กลายเป็นกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน The People : ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้กลายเป็นหนึ่งเดียวในสวนผึ้ง? น้ายงค์ : อาจจะอย่างที่บอกว่านรกนั่นแหละ (หัวเราะ) ผมว่าอาจจะเป็นอย่างนั้น จริงๆ คนอื่นก็มีแนวทางของแต่ละคนแตกต่างกันไป ผมก็อาจจะมีความเป็นตัวตนอย่างนี้ ชอบแบบนี้ ชอบอะไรที่เป็นธรรมชาติ จริงๆ ผมไม่ได้มีอะไรผิดปกติเลยนะ ผมทำไปตามธรรมชาติล้วนๆ เลย เพราะว่าถือว่าฝรั่งเป็นนักการศึกษา เป็นนักตัวอย่าง ส่วนใหญ่ก็คือเรียนรู้มาจากธรรมชาติ ส่วนคนไทยเนี่ยเรียนรู้มาจากวัฒนธรรมเยอะเกินไป บางทีขาดความเป็นธรรมชาติ เนื่องด้วยขนบธรรมเนียมถูกบีบรัดไว้ ต้องอย่างนู้นต้องอย่างนี้ คำว่า Must กลายเป็นว่ามันมีกำแพง พอมีกำแพงปุ๊บ โอกาสที่เราจะแตกออกมามันยากครับ The People : ไม่ผิดใช่ไหมที่บอกว่า มาเยือนสวนผึ้ง ต้องมาเยือนไส้กรอกเยอรมัน น้ายงค์ : เอาที่สบายใจ (หัวเราะ) เอาที่สบายใจ ผมไม่คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าสมัยนี้ข้อมูลข่าวสารเยอะมาก แล้วแต่ว่าคุณชอบแบบไหน คุณก็ไปเสพแบบนั้น มันจะทำให้คุณมีความสุขใจในการเดินทางของคุณ แต่ถ้าเกิดว่าคุณไม่ชอบ คุณไม่อะไรต่ออะไร รู้สึกว่าขัดๆ หูเนี่ย แล้วคุณยังอยากฝืน อยากไปเจอเพื่อนที่คนอื่นเขาบอกว่าอยากเจอ แทนที่คุณจะมีความสุข คุณอาจมีความทุกข์ก็ได้ แต่ขณะเดียวกันถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นคนเรียนรู้ ก็ไม่แปลก The People : ทุกวันนี้อะไรที่ทำให้อยากตื่นเช้าขึ้นมาทำอาหาร น้ายงค์ : ผมทำทุกอย่าง อาหารก็ทำ คือในวิถีชีวิตของคนปกติ ผมเอาหมด ทำมาหากิน ทำอาหาร ออกกำลังกาย ดื่ม เซ็กซ์ เอาหมด เขาเรียกไม่ปฏิเสธในความเป็นวิถีของแต่ละบุคคล คือเราทำอย่างนี้ เราทำมาหากินเลี้ยงชีพ มีโอกาสได้ดูแลคนที่ด้อยโอกาสกว่า ดูแลสุขภาพตัวเอง ให้รางวัลกับตัวเอง The People : ถ้าตอนนั้นไม่ได้มาสวนผึ้ง คิดว่าตอนนี้จะทำอะไรอยู่ น้ายงค์ : กลับไปตอนนั้นผมก็คงเป็นมนุษย์เมืองคนหนึ่งมั้ง อยู่กับครอบครัว ไม่รู้สิ ยังคิดไม่ออกเหมือนกัน แต่คิดว่าดีใจมากกว่าที่ได้มาอยู่อย่างนี้ ทุกวันนี้ลูกผมก็พยายามไม่ให้ผมอยู่ที่นี่ คือจะให้ผมไปอยู่ที่อื่น แต่พอเวลาผมอยู่ที่นี่แล้วผมไม่ไปอะไรที่อื่นแล้ว ไม่ได้สนใจอะไรเลย อย่างนี้มากกว่า The People : อยู่ที่นี่เรามีแสงสว่าง มีความสุขในตัวเอง? น้ายงค์ : ด้วยความที่ทำงานมาเยอะ เขาเรียกผมไม่สงสัยแล้ว แต่ว่าผมไม่ได้มีมาก เพียงแต่ผมไม่สงสัยในความสุข ในความทุกข์ ในการดิ้นรน ในอะไรต่ออะไร แล้วถ้าจะเพิ่มเติมรายได้ให้กับตัวเอง ผมก็ไม่มีความอยากขนาดนั้น ผมหมดแล้วเพราะว่าลูกโตแล้ว ดูแลตัวเองได้แล้ว อยู่ในที่ปลอดภัย ไม่เป็นปัญหาสังคม ผมก็เลยไม่ดิ้นรนอะไรแล้ว ผมก็อยู่ของผมอย่างนี้ ตื่นเช้ามาก็ออกกำลังกายบ้าง ดูแลลูกน้องบ้าง ดูนู่นดูนี่ไปเรื่อยเปื่อยไป ตกเย็นก็ดื่มกับเพื่อนๆ ก็แล้วแต่ ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าได้ฆ่าเวลาสำหรับตัวเองที่เหลืออยู่ มันอาจจะอยู่อีกนานนะ แต่เราคิดว่าในเวลาแบบนี้เราทำแล้วมันก็พอได้อยู่ มันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่ว่าพอได้สำหรับตัวเรา ก็คิดว่าโอเค The People : ตอนนี้นิยามชีวิตตัวเองยังไง น้ายงค์ : เมื่อก่อนผมจะใช้คำว่าอดีตไม่ขยัน ปัจจุบันไม่ขวนขวาย นี่ไม่ต้องทายอนาคตเลยนะ ปัจจุบันนี้ผมไม่มีสำหรับคำนิยามตัวเอง ไม่มี ผมคิดว่าจริงๆ เดิมทีเดียวคิดว่าใฝ่สันโดษมากกว่า เรียบง่าย ใฝ่สันโดษ