สมปอง บุดดา คนเลี้ยงกอริลลาตัวสุดท้ายของประเทศไทย ที่สวนสัตว์พาต้า

สมปอง บุดดา คนเลี้ยงกอริลลาตัวสุดท้ายของประเทศไทย ที่สวนสัตว์พาต้า

สมปอง บุดดา เริ่มต้นเลี้ยง บัวน้อย ตั้งแต่จบชั้นม.3 เขาทำหน้าที่มาจนถึงอายุเข้าวัยเลข 5 และกลายเป็นคนเลี้ยงกอริลลาตัวสุดท้ายของประเทศไทย ที่สวนสัตว์พาต้า

ถ้าพูดถึง 'สวนสัตว์พาต้า' ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงสองเรื่อง คือ 'คิงคองพาต้า' ความทรงจำวัยเด็กของหลายคน และ เรื่องดรามาที่ชาวเน็ตเรียกร้องให้ทางสวนสัตว์คืนอิสรภาพกับกอริลลา หลังจากถูกเลี้ยงดูที่นี่มานานกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่วนเวียนมาแทบทุกปี แต่เบื้องหลังภายใต้ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของกอริลลา สุดยอดแห่งวานรทั้งปวง มีหลายอย่างที่เราอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน เช่นเรื่องราวความผูกพันระหว่างลิงยักษ์และคนเลี้ยงที่คลุกคลีกับ 'บัวน้อย' กอริลลาตัวสุดท้ายของไทย “พอจบ ม.3 ผมก็มาหางานทำที่กรุงเทพ ตอนแรกมาขายของอยู่แถวพรานนก เดินมาเจอประกาศรับสมัครคนดูแลสัตว์ที่พาต้า ก็ลองมาสมัครดู ปรากฏว่าเขารับได้ เลยได้ทำมาจนตอนนี้อายุ 56 แล้ว” สมปอง บุดดา ผู้ดูแลกอริลลาในพาต้า สมปอง บุดดา คนดูแลสัตว์ (Zookeeper) ประจำสวนสัตว์พาต้า เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นคนเลี้ยงกอริลลาว่า แม้จะไม่ได้เรียนมาโดยตรงในสายงานนี้ แถมยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์มาก่อน แต่เขาได้รับเลือกให้ดูแลหน้าที่สำคัญนี้ เพราะเป็นคนที่มีใจรักสัตว์ล้วนๆ สวนสัตว์พาต้า เป็นสวนสัตว์ลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ชั้น 6-7 ของห้างพาต้าปิ่นเกล้า เริ่มให้บริการส่วนสวนสัตว์เมื่อ ปี 2526 เริ่มต้นจากสวนนกลอยฟ้าที่เปิดให้เข้าชมฟรี ก่อนจะเก็บค่าบริการสำหรับเด็ก 5 บาท และผู้ใหญ่ 10 บาท ความโดดเด่นของสวนสัตว์แห่งนี้คือ สัตว์แปลกใหม่หายาก ทั้งเพนกวิน อีกาเผือก ที่ขาดไม่ได้คือ กอริลลา หรือที่เด็กๆ หลายคนชอบเรียกว่า 'คิงคอง' ตามภาพยนตร์ชื่อดังในสมัยนั้น บัวน้อย กอริลลาในพาต้า “กอริลลาตัวแรกมาตอนปี 2526 ชื่อ บวาน่า เป็นตัวผู้หลังเงินอายุ 20 ปี นำเข้าจากเยอรมัน ต่อมาเรานำเข้าตัวเมียชื่อ บัวน้อย ให้พ้องกัน กะจะให้มาเป็นคู่กัน แต่อายุห่างเกินไปเลยไม่คลิกกัน” ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ บัวน้อย กอริลลาเพศเมีย ตัวสุดท้ายของประเทศไทย หลังการจากไปตามอายุขัยของ บวาน่า ที่มีอายุยืนยาวกว่า 40 ปี และประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (Cites) ทำให้ไม่สามารถนำเข้ากอริลลาเพื่อมาเลี้ยงเป็นเพื่อนบัวน้อยได้ และจากไซเตสนี่เองก็ทำให้สวนสัตว์อื่นๆ ไม่สามารถนำเข้ากอริลลามาด้วยเช่นกัน บัวน้อย จึงกลายเป็นกอริลลาตัวสุดท้ายของไทยไปโดยปริยาย 

"เราอยู่กับมันทุกวันรักเหมือนลูกเหมือนหลาน แค่มองดูด้วยตาเปล่าไม่ต้องชั่งน้ำหนัก สังเกตทุกวันก็รู้แล้วว่ามันลงพุงนะ อ้วนขึ้นนะ"

ในสมัยนั้นการที่สวนสัตว์พาต้านำกอริลลา ซึ่งถือเป็นสุดยอดในบรรดาลิงทั้งหมดมาเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ ทำให้เกิดการตื่นตัวของทั้งสวนสัตว์ต่างๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมที่แห่มาเข้าคิวชมสวนสัตว์แห่งนี้จนล้นห้างต่อคิวยาวไปจนเกือบถึงสะพานปิ่นเกล้าเลยทีเดียว “กอริลลาเป็นสัตว์หายาก เลี้ยงก็ยาก โดยเฉพาะแถวบ้านเรา โชคดีที่เราได้ผู้เชี่ยวชาญจากยุโรปมาช่วยออกแบบสถานที่เลี้ยง ทั้งห้องควบคุมอุณหภูมิ กรงสองชั้นป้องกันโรคและเสียงรบกวน โดมกระจกที่เปิดรับแสงจากดาดฟ้า ที่สำคัญคือพื้นปูนแบบระบบปิด ทำให้กอริลลาเราไม่ตายเหมือนที่สิงคโปร์” บัวน้อย กอริลลาในพาต้า พื้นดินในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเชื้อโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า โรคเมลิออยด์ หรือ โรคเมลิออยโดซิส (Melioidosis) หรือ โรคไข้ดิน, โรคฝีดิน, โรคมงคล่อเทียม ในคนอาจแสดงอาการไม่รุนแรงนัก แต่สำหรับลิงต่างถิ่นที่ไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติอย่างกอริลลาแล้วก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เหมือนกรณีสวนสัตว์ในสิงคโปร์ที่นำกอริลลามาเลี้ยงฝูงหนึ่งแล้วติดเชื้อเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งอาจเกิดจากการสะสมของเชื้อโรคผ่านทางการขับถ่ายบนดิน ด้วยเหตุนี้ กอริลลาบัวน้อย เลยถูกเลี้ยงบนพื้นซิเมนต์ที่มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกวัน เช้า เย็น ล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค “ตอนเช้าเราต้องฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ ล้างพื้นด้วยน้ำ ก่อนให้อาหารพวก องุ่น แอปเปิ้ล นมกล่อง ส้มกล้วย มะละกอ แตงกวา ฝรั่ง มันแกว แครอท เป็นอาหารหลัก มื้อประมาณ 2 กิโลกรัม แต่ช่วงนี้เจ้าบัวน้อยมันอ้วน เลยต้องคุมอาหาร เราอยู่กับมันทุกวันรักเหมือนลูกเหมือนหลาน แค่มองดูด้วยตาเปล่าไม่ต้องชั่งน้ำหนัก สังเกตทุกวันก็รู้แล้วว่ามันลงพุงนะ อ้วนขึ้นนะ” นอกจากมื้อหลักแล้ว ทางพี่สมปองบอกว่า เจ้าบัวน้อยชอบกินนมไข่เป็นพิเศษ และมีอาหารมื้อพิเศษเป็นอาหารที่ให้บัวน้อยได้เล่นสนุกอย่าง ใบตอง ใบไม้ต่างๆ ทั้งใบฝรั่ง กระถิน ทองหลาง ที่ให้กอริลลาเคี้ยวเพลิน หรือเอาไปฉีกลากเล่น รวมไปถึงมื้อย่อย ที่ทางคนเลี้ยงจะเอาเมล็ดพืชใส่ไว้ในขวดเจาะรูเพื่อกลิ้งให้มีเมล็ดตกลงมา หรือการเอาอาหารไปซ่อนตามที่ต่างๆ แทนการกองอาหารไว้ที่เดิมทุกวัน เป็นกิจกรรมเล็กๆ เพื่อให้บัวน้อยได้ใช้ทักษะความพยายาม และสนุกไปกับการหาอาหารด้วย “ตั้งแต่เลี้ยงบัวน้อยมีป่วยเป็นหวัดบ้าง ถ่ายแข็งนิดหน่อย แต่เราก็ต้องสังเกตตลอด เพราะเวลาสัตว์ป่าป่วยเขาจะเก็บอาการ ถ้านอนซมแสดงว่าแย่แล้วรักษาลำบากมาก พูดไปเหมือนเวอร์นะ แต่แค่บัวน้อยจาม เราก็ต้องเรียกสัตวแพทย์มาดู ถ้ากินอาหารได้น้อยลง หรือซึมหน่อย สัตวแพทย์ต้องมาละ” สมปอง บุดดา คนเลี้ยงกอริลลาตัวสุดท้ายของประเทศไทย ที่สวนสัตว์พาต้า ปัจจุบันหนุ่มใหญ่เลือดสุพรรณคนนี้ อาจถือว่าเป็นหนึ่งในสามคนในประเทศไทย ที่มีประสบการณ์การเลี้ยงกอริลลาตัวเป็นๆ ซึ่งนอกจากพี่สมปองแล้วยังมีลุงสุวรรณคนเลี้ยงอาวุโสที่เกษียณอายุไปแล้วหลายปี กับอีกคนที่เป็นมือรองคอยช่วยเหลือพี่สมปอง ด้วยความที่เป็นสัตว์ละเอียดอ่อน ต้องคอยเลี้ยงดูแลเป็นอย่างดี ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนสำหรับบัวน้อยอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ทั้งค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าดูแล รวมถึงค่าบุคลากรต่างๆ ทั้งสัตวแพทย์ และคนเลี้ยงดูอย่างพี่สมปองเอง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงมาตรการฉุกเฉินต่างๆ อย่างเช่นกรณีการเกิดอัคคีภัย ที่ทางสวนสัตว์มีคู่มือซักซ้อมระบบขนย้ายสัตว์อย่างเป็นมาตรฐาน มีการซักซ้อมจริงทุก 4 เดือน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบทุกปี แล้วยังมีการวางตำแหน่งหน้าที่เฉพาะแต่ละคน โดยเฉพาะบัวน้อยมีแผนการขนย้ายสำรองไว้ถึงสามแผน ไม่ว่าจะเป็นการขนย้ายทั้งกรงลงลิฟท์ฉุกเฉิน สำหรับนักดับเพลิง (Fireman's Elevator) แผนสองขนส่งโดยระบบรอกไฟฟ้า และแผนสามคือรอกระบบมือหมุนย่อนลงไปข้างล่าง ส่วนกรณีที่ชาวโซเชียลเรียกร้องให้พาเจ้าบัวน้อยลงสู่พื้นดินนั้น ในฐานะที่พี่สมปองอยู่กับบัวน้อยมานานหลายสิบปี เขาได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่า “การศึกษาเรื่องเปลี่ยนที่เลี้ยงบัวน้อย เราควรศึกษาให้ดีก่อน ทั้งเรื่องความเครียดจากบรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิม เรื่องความปลอดภัยจากโรค ไหนจะเรื่องเงินทุน ความพร้อมอีก จริงๆ บัวน้อยหน้ามันบึ้งแบบนี้ตลอดแหละ เป็นธรรมชาติของมัน ถามว่ามันร้องไห้มั้ย สัตวแพทย์ที่เขาศึกษามายังบอกเองเลยว่า สัตว์ประเภทลิงมีต่อมน้ำตาไว้เพื่อให้ความชุ่มชื่นเท่านั้น ไม่ใช่ไว้แสดงอารมณ์ความรู้สึก” บัวน้อย กอริลลาในพาต้า ตัวชี้วัดหนึ่งที่ว่าสวนสัตว์นั้นดูแลสัตว์ได้ดีแค่ไหน ดูจากการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ได้หรือไม่ ซึ่งกรณีสวนสัตว์พาต้ามีการเพาะขยายพันธุ์ได้ทั้งลิงอุรังอุตัง ลิงแสม ไปจนถึงเสือดำ ส่วนพฤติกรรมของสัตว์บางอย่าง เช่น การนอนนิ่งๆ ท่าทางหงอยเหงา ที่หลายคนคิดว่าเป็นอาการซึมเศร้า หรือ อาการกระโดดโลดเต้นเขย่าลูกกรงที่คล้ายอยากออกจากกรงนั้น พี่สมปองบอกว่าเป็นพฤติกรรมปกติทั่วไปของสัตว์ ที่มีช่วงพักผ่อน สลับตื่นตัวเล่นสนุก ไม่ต่างจากมนุษย์ แตกต่างแค่ว่าสัตว์ไม่จำเป็นต้องมาโชว์ตัวเอาใจคนดูอยู่ตลอดเวลา บางคนเลยมาเห็นตอนที่หลับ หรือบางคนก็เห็นแค่ตอนที่คึกคัก “คนเราชอบเอาความคิดเราไปใส่ให้สัตว์ คิดแทนสัตว์ แต่บอกเลยว่าเราอยู่กับกอริลลามาเป็นเกือบสามสิบปี เรารู้หรือไม่รู้ แต่เราเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยที่เลี้ยงกอริลลาจริงๆ อาจเรียกว่ารู้เรื่องกอริลลาเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย คนที่บอกว่าต้องเลี้ยงกอริลลาแบบนี้ ถามว่าคุณเคยเลี้ยงกอริลลาหรือเปล่าถึงจะมาบอกเรา” พี่สมปองให้ความเห็นอีกด้วยว่า การนำกอริลลาเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย นอกจากทำให้วงการสวนสัตว์ตื่นตัวกันมาก ยังมีส่วนช่วยสร้างจิตสำนึกให้กับคนด้วย เปิดโอกาสให้คนได้สัมผัสใกล้ชิด ปลูกฝังให้เด็กรักสัตว์ ช่วยให้จิตใจอ่อนโยนจากการให้ป้อนอาหารสัตว์ ได้ฝึกการแบ่งปัน ความเมตตา รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางหนึ่งของการพาเด็กมาเที่ยวสวนสัตว์

สัตว์ในธรรมชาติอาจมีอิสรภาพ แต่ไม่มีสวัสดิภาพ แต่สัตว์ในสวนสัตว์มันมีสวัสดิภาพ มีการเลี้ยงดูที่ดี

สัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ปัจจุบันเกิดจากการเพาะเลี้ยง ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่สัตว์ป่าที่จับมาจากธรรมชาติ สวนสัตว์เลยถือว่าเป็นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญสวนสัตว์แทบทุกแห่งไม่มีกำไรจากค่าตั๋วเข้าชมเพียงอย่างเดียว อย่างสวนสัตว์พาต้าที่เก็บค่าเข้าชมที่ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 50 บาท ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้ง่ายจำนวนมหาศาลต่อเดือน “คนชอบถามว่าคนเลี้ยงกอริลลา หรือกอริลลาเลี้ยงคน อยากให้มาดูด้วยตัวเองเลยว่าเราเลี้ยงเพราะหวังเงินกำไร หรือเพราะเรารักสัตว์ ถ้าเอาพื้นที่ตรงนี้ไปทำอย่างอื่นได้เงินเยอะกว่าอยู่แล้วมั้ย อยากบอกคนอนุรักษ์ว่ายังมีกอริลลาในธรรมชาติอีกเป็นร้อยตัวในแอฟริกาที่เสี่ยงสูญพันธุ์จากการถูกล่า ผลกระทบจากสงครามการเมือง การรุกล้ำพื้นที่อยู่อาศัย จากการเกษตร ไหนจะขุดแร่ ไม่อยากให้แค่โลกสวย สัตว์ในธรรมชาติอาจมีอิสรภาพ แต่ไม่มีสวัสดิภาพ แต่สัตว์ในสวนสัตว์มันมีสวัสดิภาพ มีการเลี้ยงดูที่ดี   ที่มา : https://gorillafund.org/who-we-are/dian-fossey http://www.melioidosis.info