24 เม.ย. 2567 | 18:30 น.
2 เพื่อนซี้ คุณนีท - อมลานันท์ สังสิทธิวงศ์ และ คุณอิ้ว - วรรณิต บุญเจริญทวีสุข ที่ใช้ ‘ความใส่ใจ’ ปั้น Slip to Sleep ‘ชุดนอนโนบรา’ เจ้าแรกของไทย จนทำให้ธุรกิจที่เคยคิดแค่จะทำเล่น ๆ เติบโตจนต้องลาออกจากงานประจำ
- คุณนีท - อมลานันท์ สังสิทธิวงศ์ และ คุณอิ้ว - วรรณิต บุญเจริญทวีสุข คู่หูเพื่อนรัก ที่อยากเรียนรู้การทำธุรกิจ จึงชวนกันมาทำชุดนอนโนบรา Slip to Sleep
- สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่เห็นพ้อง คือ การดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่กับลูกค้า แต่ยังแสนดีกับพนักงาน
- ความใส่ใจกลายเป็นเสน่ห์ของแบรนด์ โดยมีที่มาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เข้าอกเข้าใจกัน ทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความสบายใจ จนสะท้อนออกมาในตัวสินค้าและบริการ
แม้จะเริ่มต้นทำแบรนด์ได้เพียง 3 ปี แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Slip to Sleep เป็นคนเริ่มต้นจุดกระแส ‘ชุดนอนโนบรา’ ในประเทศไทย จากสินค้าที่ไม่มีใครจินตนาการออก แถมยังไม่เก็ตว่า ทำไมต้องชุดนอนโนบรา จนปัจจุบัน จากสถิติ Google Trends ทำให้เห็นว่า คีย์เวิร์ด ‘ชุดนอนโนบรา’ ถูกพูดถึงมากมายบนโลกออนไลน์
แล้วรู้หรือไม่ว่า แรกเริ่มเดิมที ผู้ก่อตั้งอย่างคุณนีท - อมลานันท์ สังสิทธิวงศ์ และ คุณอิ้ว - วรรณิต บุญเจริญทวีสุข คาดหวังเพียงแค่ว่า Slip to Sleep จะสามารถทำกำไรได้ไม่มากมาย แค่รายได้เสริมไว้มาจุนเจือเป็นค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งสองก็ดีใจมากแล้ว
ทั้งคู่ไม่เคยคิดว่า ปัจจุบัน Slip to Sleep จะเติบโต ขายดิบขายดีจนกลายเป็นแบรนด์ชุดนอนโนบราในดวงใจของผู้หญิงหลาย ๆ คน ซึ่งหากใครได้ลองสวมใส่แล้วคงไม่สงสัย เพราะชุดนอนของ Slip to Sleep นอกจากจะแสนนุ่ม ใส่นอนสบาย ลายน่ารักแล้ว ยังมีฟีเจอร์โนบราที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มีกระเป๋าเสื้อ 2 ข้าง ที่หนา 3 ชั้น สำหรับปกปิดสรีระของผู้หญิงด้วย
ตลอดระยะทาง 3 ปีที่คุณนีทและคุณอิ้วได้เดินทางเรียนรู้ร่วมกันมา สิ่งที่ทั้งคู่เห็นพ้อง คือ การดำเนินธุรกิจด้วย ‘ความใส่ใจ’ เป็นอันดับหนึ่ง โดยความใส่ใจไม่ได้มีให้แค่กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทีมงานทุกคนอีกด้วย ซึ่งวันนี้เป็นจังหวะเวลาที่ดี ที่ The People ได้มีโอกาสพูดคุยตกตะกอนความคิดกับทั้งคู่ ว่าความใส่ใจของคุณนีทและคุณอิ้ว ได้พา Slip to Sleep เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
‘ใส่ใจ’ ฟังเสียงของตัวเอง
หลายธุรกิจอาจเริ่มต้นจาก Passion ของผู้ก่อตั้ง บางธุรกิจเน้นเกาะเทรนด์ของผู้บริโภค และอีกไม่น้อยที่เริ่มธุรกิจเพราะเห็นโอกาสที่จะสร้างผลกำไร แต่สำหรับ Slip to Sleep แล้ว แรงจูงใจของคุณนีทและคุณอิ้วคือ อยากเรียนรู้การทำธุรกิจจากการลงมือทำด้วยตัวเอง
ทั้งสองคนเริ่มต้นด้วยโจทย์กว้าง ๆ ก่อน นั่นก็คือ ‘ชุดนอน’ และด้วยประสบการณ์ทำธุรกิจที่เป็นศูนย์ ทั้งคู่จึงเริ่มต้นด้วยการไปรวบรวมความเห็นและไอเดียจากเพื่อน ครอบครัว และคนรู้จัก โดยคุณอิ้วเล่าว่า
“เราได้ลองเซอร์เวย์ดูว่า มี Pain Point อะไรที่ชุดนอนจะสามารถช่วยแก้ Pain Point ของคนใส่ด้วย จนได้ไปเจอไอเดียหนึ่งที่เสนอว่า ‘ทำชุดนอนที่ไม่ต้องใส่บราสิ’ เมื่อเราได้ยินไอเดียนี้ เราก็พบว่าตัวเราเองก็มี Pain Point นี้เหมือนกัน ตอนเราอยู่ในห้องนอนเราอาจจะไม่ใส่บรา แต่พอออกไปข้างนอก เจอคุณพ่อเจอพี่ชาย เรารู้สึกว่าเราต้องหยิบบรามาใส่”
อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งคู่จะชอบไอเดีย ‘ชุดนอนโนบรา’ ขนาดไหน แต่เมื่อได้นำไอเดียนี้ไปเล่าให้คนรอบตัวฟัง กลับมีแต่ความสงสัย ‘จะขายจริงเหรอ? จะทำอันนี้จริงเหรอ? จะขายใคร? ทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอ?’ ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าพวกเธอสองคนจะจริงจัง แต่คุณนีทบอกกับเราว่า
“ถ้าเราใส่ใจกับเสียงรอบข้างช่วงนั้น เราคงเลิกทำไปแล้ว แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คาดหวังเยอะ เป็นช่วงที่เราอยากเรียนรู้มากกว่า อยากรู้ว่าคนทำธุรกิจเขาทำกันยังไง แล้วถ้าเราไม่ทำกันเอง 100% เราจะได้เรียนรู้ไหม … เราไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องดัง ต้องบูม มันเป็นเรื่องของการอยากลอง อยากตั้งใจ อยากเรียนรู้ทุก ๆ ขั้น เราเลือกที่จะลุยเต็มที่ดีกว่าไม่ได้เรียนรู้”
และวันที่ Slip to Sleep ได้ลืมตาดูโลก เป็นวันเดียวกันกับที่พวกเธอเลือกที่จะใส่ใจเสียงข้างในตัวเอง
คุณนีท-อมลานันท์ สังสิทธิวงศ์
‘ใส่ใจ’ ฟังเสียงของลูกค้า แล้วนำมาปรับอย่างจริงใจ
หลังจากคุยและระดมความคิดเห็นกันอย่างหนักหน่วง จนทั้งคู่มั่นใจว่าชุดนอนโนบราคือคำตอบ โดยเลือกที่จะเดินหน้าต่อ แม้คนรอบข้างไม่เข้าใจ
“เรายึดการทำธุรกิจอยู่ 2 อย่าง ถ้าไม่ได้ทำดีกว่าที่มีอยู่ในตลาดจนคนจำได้ ก็ต้องทำในสิ่งที่ตลาดไม่มี ชุดนอนโนบราเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่มีคนทำ และแบ็กกราวนด์เราเป็นนักขาย เราก็จะรู้สึกว่าถ้าสินค้าเราใหม่และมีอะไรที่ทำให้ลูกค้าจำได้ แบรนด์ก็จะถูกจดจำ ซึ่งจะทำให้ขายได้ง่ายขึ้น” คุณนีทกล่าว
เมื่อตัดสินใจฟังเสียงหัวใจของตัวเอง และเริ่มลุยทำชุดนอนโนบราเต็มสูบ สองเพื่อนซี้ได้ใช้เวลาหลังเลิกงานและวันหยุดทั้งหมดเพลิดเพลินไปกับ Slip to Sleep และด้วยความทุ่มเทนี้เอง คุณนีทและคุณอิ้วใช้เวลา 6 เดือนเต็มในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกว่า 200 คน เพื่อผลิตต้นแบบชุดนอนโนบราออกมาหลายเวอร์ชัน จนได้ชุดนอนที่สามารถโนบราได้จริง ด้วยกระเป๋าเสื้อซ้ายขวาหนา 3 ชั้น ตัดเย็บเรียบร้อยด้วยผ้าเส้นใยจากธรรมชาติ ลวดลายสบายตา และได้เปิดตัวช่วงปลายปี 2563 ในที่สุด
หลัง Slip to Sleep เปิดตัวไปได้ไม่ถึงครึ่งปี กระแสตอบรับดีเกินคาด จนคุณนีทและคุณอิ้วต้องลาออกจากงานประจำมาลุยกันเต็มตัว ทั้งคู่ทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่ตอบข้อความลูกค้า ติดต่อซัพพลายเออร์ สั่งผลิต จัดการสต็อก ทำบัญชี ทำการตลาด โปรโมตสินค้า ซึ่งช่วงนี้เองที่ทั้งสองได้เป็นนักเรียน ‘ลอง’ ทำธุรกิจอย่างที่ตั้งใจไว้จริง ๆ จนได้ทะลุปรุโปร่งกับการทำธุรกิจของตัวเอง ตั้งแต่หน้าบ้านยันหลังบ้าน
สิ่งที่สำคัญที่คุณนีทและคุณอิ้วให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือการได้พูดคุยปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ด้วยความเอาใจใส่และความจริงใจของทั้งสองคน นอกจากจะสร้างมาตรฐานการขายและการบริการของแบรนด์ให้ลูกค้าได้ประทับใจแล้ว ยังทำให้พื้นที่การพูดคุยเต็มไปด้วยความสบายใจ ซึ่งทำให้เกิดการซื้อซ้ำ แถมลูกค้ายังช่วยบอกต่อให้เพื่อนและครอบครัวมาซื้อชุดนอนของ Slip to Sleep อีกด้วย
เหนืออื่นใด Slip to Sleep ได้สร้างพื้นที่การพูดคุยด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรไมตรี เพื่อให้ลูกค้ากล้าที่จะติชมหรือชี้แนะ โดยทั้งคู่ถามฟีดแบ็กจากลูกค้าทุกคน ใส่แล้วเป็นอย่างไร ติดตรงไหน อยากให้แก้อะไรบ้าง ซึ่งทั้งสองก็น้อมรับคำติชมอย่างถ่อมตน ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาและรับคืนสินค้าด้วยความจริงใจ จนทำให้ลูกค้าสะดวกใจที่จะช่วยสอดส่องและพัฒนาสินค้าไปด้วยกัน
“เรารับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้าทุกคน เก็บข้อมูล เก็บ เก็บ เก็บ พอได้ข้อมูลมาเราก็ปรับ ปรับ ปรับ ตลอด เช่น ถ้าลูกค้ารู้สึกว่าใส่ชุดนอนโนบราเราแล้วไม่สามารถปกปิดได้ เราก็จะถามว่าเป็นเพราะอะไร เพราะตำแหน่ง หรือความหนา หรือขนาดของกระเป๋า อย่างสมมติว่าเป็นเพราะสีที่อ่อนไป ทำให้ไม่สามารถปกปิด เราก็จะเปลี่ยนลายให้เป็นสีเข้มให้เลย”
คุณอิ้ว-วรรณิต บุญเจริญทวีสุข
‘ใส่ใจ’ ที่จะเปิดรับกับความต่าง
หลังจาก Slip to Sleep เติบโตเกินกว่า 2 คนจะรับไหว นอกจากการรับพนักงานเพิ่มแล้ว คุณนีทและคุณอิ้วยังได้หาหุ้นส่วนเพิ่มด้วย ซึ่งสองเพื่อนซี้ก็ไม่ได้ไปหาใครที่ไหน โดยได้ชวนคนใกล้ตัวอย่างพี่สาวของพวกเธอเอง ทำให้ปัจจุบัน Slip to Sleep มีทีมบริหารทั้งหมด 4 คน คือ คุณนีท คุณอิ้ว พี่สาวของคุณนีท และพี่สาวของคุณอิ้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้ง 4 คน เรียนกันมาคนละด้านทั้งหมด ตั้งแต่นิเทศศาสตร์, วิศวกรรม, เศรษฐศาสตร์ และการบัญชี ซึ่งความแตกต่างนี้ส่งผลให้วิธีคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มองแวบแรกทำให้คิดว่ามันอาจจะเป็นการทำงานที่ยาก แต่เมื่อได้มาคลุกเคล้ารวมกัน ความต่างนี้กลับกลายเป็นความกลมกล่อมอย่างเหลือเชื่อ ด้วยเครื่องปรุงที่แสนพิเศษที่เรียกว่า ‘ความใส่ใจ’
“พวกเราคิดไม่ตรงกันเยอะ ซึ่งมันเป็นพื้นฐานของคนที่เรียนมาในตรรกะความคิดที่ต่างกัน แต่เรารับฟังกัน Respect กัน ใส่ใจกัน ความต่างนี้เลยกลายเป็นข้อได้เปรียบ ทำให้สุดท้ายแล้วเราไม่ต้องไปหาคนอื่นที่มีสกิลต่างจากเรา เพราะเขาก็ทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ และเราทำในสิ่งที่เขาทำไม่ได้”
นอกจากนี้ การมีหุ้นส่วนที่มีความถนัดกันคนละทิศทาง ทำให้ต่างคนต่างได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จากกันและกันอยู่เสมอ ถ้ามองในส่วนของการทำงาน การมีหุ้นส่วนที่หลากหลายยังสามารถแบ่งหน้าที่กันได้อย่างลงตัวตามความถนัดของแต่ละคน
“เราจะแบ่งกันว่าเรื่องอะไรใครเป็นคนตัดสินใจ เรื่องไหนใครใหญ่ ในขณะเดียวกันเราก็จะ Support กัน ถามความคิดเห็นกันตลอด แต่สุดท้ายเราก็จะเคารพการตัดสินใจของคนที่ดูแลเรื่องนั้น ๆ”
แม้จะต่างกันขนาดไหน แต่ที่ทีมบริหารทั้ง 4 คนไม่เคยทะเลาะกันเลย เป็นเพราะสองสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือ ความใส่ใจกันและกัน และการมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน โดยคุณนีทบอกกับเราว่า
“เราเชื่อใจกันแบบ You jump, I jump เพราะสุดท้ายเราทุกคนมีความตั้งใจเดียวกัน ดีก็ดีด้วยกัน จมก็จมด้วยกัน … ถึงเราจะต่างกันมาก แต่เรามีจุดร่วมเดียวกัน คือ พวกเราทุกคนรักแบรนด์ เราเลยโฟกัสที่ผลลัพธ์ของแบรนด์ ทำให้ความคิดเห็นที่มันต่างกัน ต้องจบที่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแบรนด์”
‘ใส่ใจ’ กันและกันในองค์กร คือ ที่มาของความเป็น Slip to Sleep
มาจนวันนี้ Slip to Sleep เติบโตย่างเข้าปีที่ 4 ได้อย่างงดงาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าองค์ประกอบที่กลมกล่อมนี้ ไม่ได้มาจากแค่ปัจจัยเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง การเติบโตที่งดงามนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีทีมงานที่รัก Slip to Sleep เหมือนลูก
คุณอิ้วกับคุณนีทบอกกับเราว่า ตอนนี้ Slip to Sleep มีพนักงานประจำและพาร์ตไทม์ราว 30 คน และมีอัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover Rate) ที่ต่ำมาก ตั้งแต่เริ่มต้นมา 3 ปี แทบจะไม่มีใครลาออกเลย ซึ่งนี่เป็นเครื่องการันตีว่าการทำงานที่ Slip to Sleep ตอบโจทย์ชีวิตให้กับพนักงานอย่างแท้จริง
ก่อนที่คุณนีทและคุณอิ้วจะเริ่มทำ Slip to Sleep ทั้งคู่เคยเป็นพนักงานบริษัทมาก่อน ทั้งสองจึงมีภาพว่า อยากทำงานในองค์กรแบบไหน อยากได้รับการสนับสนุนแบบไหน อยากมีหัวหน้าแบบไหน เมื่อได้มาเป็นเจ้าของธุรกิจเองแล้ว พวกเธอจึงตั้งใจสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่พวกเธอสบายใจ
“เรา Flexible มาก เราไม่มีบันทึกเวลาเข้า-ออก เราให้ทีมทำงานที่ไหนก็ได้ อย่างแอดมินต้องคุยกับลูกค้า ซึ่งเป็นงานที่มีความเครียด เราก็จะผ่อนคลายตรงนี้ เพื่อลดความตึงเครียดให้เขา หรือถ้าเขาไปเที่ยว แต่เขายังทำงานได้ เราก็ไม่ติด เราเป็นบริษัทที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าที่จะมา Strict กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความยืดหยุ่นในส่วนนี้ของเรา ก็ทำให้พนักงานแฮปปี้ ไม่รู้สึกกดดัน ก็เลยทำให้ Culture บรรยากาศการทำงานดี อยู่กันเป็นพี่เป็นน้อง”
มากไปกว่าความยืดหยุ่นที่คุณนีทกับคุณอิ้วเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทีมแล้ว Slip to Sleep ยังเปรียบเสมือนโรงเรียนของพนักงานทุกคน โดยคุณนีทเล่าว่า
“เรามีคุยกับทีมทุกปีว่า เขาเห็นตัวเองเป็นอย่างไร อยากทำตรงไหน อย่างมีน้องคนหนึ่งอยากลองทำหลาย ๆ ตำแหน่ง อยากลองเปลี่ยนตำแหน่งจนกว่าเขาอยู่ในที่ที่เขารู้สึกใช่ ซึ่งเราก็ไม่ได้ติดเลย ว่าน้องอยากจะทำอะไร วันนี้อยากเป็นแอดมิน แต่อีกวันหนึ่งอาจจะอยากลองเป็น Live Creator ก็ได้ เราก็จะคุยกับเขาตลอด เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ทดลองเรียนรู้ ค้นหาตัวเอง”
ความเข้าอกเข้าใจและความเอาใส่ใจที่เป็นพื้นนิสัยเดิมของคุณนีทและคุณอิ้ว ทำให้การทำงานกับ Slip to Sleep เป็นความสบายใจของทีมงานทุกคน บรรยากาศทำงานจึงเต็มไปด้วยพลังบวกและอบอุ่นเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง ถ้า Slip to Sleep เป็นโรงเรียน เหมือนทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทำงานกลุ่มด้วยเป้าหมายเดียวกัน
“เราไม่เคยบอกให้พนักงานต้องแชร์โพสต์ แต่ทุกคนก็แชร์ด้วยตัวเอง น้อง ๆ ช่วยแชร์เยอะกว่าพวกเราเองอีก (หัวเราะ) ซึ่งทำให้เห็นว่าเขาภูมิใจที่ทำงานที่นี่ หรือแม้กระทั่งเวลาเขาเห็นอะไรที่อาจช่วยพัฒนาบริษัทได้ เขาก็ส่งมาให้เราดู เสนอให้เราทำอย่างนี้ไหม ทำอย่างนั้นไหม ทุกคนจอยกับ Slip to Sleep ทุกคนอินไปกับเรา”
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ความใส่ใจที่แบรนด์ Slip to Sleep ได้สื่อสารออกไปนั้นมีจุดกำเนิดมาจากความใส่ใจกันและกันภายในองค์กร การส่งต่อพลังงานจากผู้ก่อตั้งสู่แบรนด์และสินค้า ความเข้าอกเข้าใจกันที่มีให้กันภายในทีม ความใส่ใจและเคารพซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนผสมที่สะท้อนออกมาในตัวแบรนด์ ตัวสินค้า และการให้บริการ
“สุดท้ายแล้ว ความเป็นตัวตนของพวกเรา ก็สื่อออกไปกับแบรนด์ เพราะพวกเรามี Culture ที่เห็นอกเห็นใจกัน เข้าอกเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นธรรมชาติของเราเอง ที่ใส่ใจกันเอง ใส่ใจลูกค้า ใส่ใจทีมงาน … ก่อนที่จะใส่ใจคนอื่นได้ ก็ต้องใส่ใจในองค์กร พนักงานของเรา ซึ่งนั่นก็คือ Value ของ Slip to Sleep”