ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล

ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล

ประทับจิต นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ลูกสาวของทนายสมชาย 'พ่อ' ผู้ถูกบังคับสูญหายไปจากครอบครัว แต่เธอยังคงเฝ้ารอความยุติธรรมไม่ต่างจากแม่ของเธอที่ต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย

ชื่อของ ‘ทนายสมชาย นีละไพจิตร’ คือสิ่งที่เราจำได้มาตั้งแต่เด็ก เราเห็นข่าวการหายตัวไปของเขาอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน ตอนนั้นไม่เข้าใจนักว่าเขาคือใคร อาจเพราะยังเด็กเกินไป อายุยังไม่ถึงหลักสิบด้วยซ้ำ แต่ไม่รู้ทำไมกลับจำชื่อเขาได้แม่นนัก เมื่อโตขึ้นอีกหน่อย เราเริ่มเข้าใจมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น ก่อนจะพบว่านี่มันยิ่งกว่าความโหดร้าย นี่มันคือการทำลายครอบครัวหนึ่งให้แหลกสลายในคราเดียว

อีกยี่สิบกว่าปีต่อมา โชคชะตาได้หมุนวนให้เรามาเจอกับ ‘แบ๋น – ประทับจิต นีละไพจิตร’ หญิงสาวที่เรารู้สึกประทับใจตั้งแต่วันแรกที่พูดคุยกับเธอผ่านทางตัวอักษร ไม่ใช่แค่ชื่อที่ไพเราะ หากแต่เป็นกิริยาท่าท่าง และบุคลิกของเธอที่งดงาม ทั้งหมดถูกหลอมรวมออกมาเป็นประทับจิตได้อย่างน่าประทับใจ

เรานัดเจอกันหลังเลิกงาน กว่าจะเจอกันจริง ๆ ก็เกือบ 18:30 น. แม้วันนั้นจะเป็นช่วงเดือนรอมฎอนแต่เธอก็ไม่ปฏิเสธที่จะเดินทางมาพูดคุยกับเรา ครั้งแรกที่เจอกันตะวันยังไม่ตกดินด้วยซ้ำ น่าแปลกที่แสงยามเย็นวันนั้นดูเซื่องซึมมากเป็นพิเศษ เราคุยกันเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มบทสนทนาอย่างจริงจัง ถามถึงความทรงจำที่มีต่อพ่อ ไปจนถึงแม่ และบ้าน สถานที่ที่ทำให้เธอเติบโตมาเพื่อปกป้องคนอื่น

ประทับจิตเล่าทุกอย่างออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีปกปิด ซ่อนเร้น บางช่วงอารมณ์ ความรู้สึกของเธอก็ท่วมท้น จนเผลอร้องไห้ออกมา แน่นอนว่าเราในฐานะคนนอก ได้แต่ส่งกระดาษทิชชูให้เธอซับความชอกช้ำด้วยตัวเอง เราทำอะไรได้ไม่มากนัก เพราะการเจอกันวันนี้ คงไม่ต่างจากไปขุดอดีตที่เจ็บปวดของเธอให้เปิดออกอีกครั้ง

ถึงจะเจ็บปวด หรือทรมานมากเพียงใดที่ให้นึกถึงความทรงจำต่อ ‘พ่อ’ ทนายสมชาย นีละไพจิตร พ่อผู้ถูกรัฐใช้อำนาจบังคับสูญหายไปจากประเทศไทย หายไปจากครอบครัว หายไปจากหน้าที่การงาน แต่ไม่เคยหายไปจากความทรงจำของลูกสาวอย่างเธอ เพราะนี่คือความเจ็บปวดที่ทำให้เธอต้องมานั่งร้องไห้ต่อหน้าเรา และเป็นความเจ็บปวดที่โบยตีให้เธอ เลือกทำงานเพื่อปกป้องทุกคนให้รอดพ้นจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

และนี่คือเรื่องราวของเธอ ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวผู้ชอกช้ำ กับความพยายามในการยืนหยัดเพื่อทุกคน ไม่ให้ถูกอำนาจใดมาพรากสิทธิในการมีชีวิตอย่างสงบสุข ร่วมกับคนที่พวกเขารักได้อีก

ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล

The People : ความทรงจำที่คุณมีต่อคุณพ่อเป็นความทรงจำรูปแบบไหน

ประทับจิต : คุณพ่อเป็นทนายความค่ะ ก็จะเป็นคนที่ดุ เป็นคนที่ตรงไปตรงมา เป็นผู้ชายธรรมดา ๆ คนนึง เป็นมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งครัดในศาสนา คือที่บอกว่าเคร่งครัดนี่ก็คือ เป็นคนที่ละหมาด 5 เวลา ปฏิบัติตามที่ศาสนาบอกทุกอย่าง ในฐานะที่เป็นมุสลิม แต่ในขณะเดียวกัน มีบางเรื่องที่เขามีความคิดค่อนข้างทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง เพราะว่าเขาเป็นคนที่ค่อนข้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิง

แล้วเขาก็มาแต่งงานกับแม่ ซึ่งก็เป็นผู้หญิงที่เก่ง เขาค่อนข้างเป็นคนที่สนใจทางด้านสังคมมากพอสมควร เป็นทนายความที่แบ๋นคิดว่าแปลกดี เพราะว่าในบ้านเนี่ย ไม่ได้มีเฉพาะหนังสือ อาจจะเคยได้ยินจากแม่แล้วว่าไม่ใช่เฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่ว่ามีความรู้ทางสังคมทั่วไป แล้วจุดเชื่อมโยง จุดที่สนิทกับเขาก็มาจากหนังสือด้วยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นความทรงจำส่วนนึงก็คือว่า เขาเป็นคนที่รักหนังสือ เขาเป็นคนที่ทำงานหนัก เขาเป็นคนที่ตรงไปตรงมา แบ๋นค่อนข้างมั่นใจว่าเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยมีนอกมีใน คือเปิดเผย แล้วที่แบ๋นประทับใจมากที่สุด แล้วจุดนี้เป็นจุดที่ค่อนข้างจะต่างจากแม่ก็คือว่า เขาเป็นคนที่รู้สึกยังไง แสดงออกไปแบบนั้น เพราะฉะนั้นเขาค่อนข้างที่จะแสดงความรู้สึกเก่งกว่าแม่ แบ๋นชอบในตรงนี้ เพราะว่าเขาจะกอดกับเราบ่อยมาก ซึ่งแบ๋นรู้สึกว่าแบ๋นประทับใจความที่เราได้ใกล้ชิดกันทางกายด้วย ได้รับกำลังใจจากกันและกัน

The People : เราเคยคุยกับคุณแม่ของคุณ (อังคณา นีละไพจิตร) ท่านบอกว่าทนายสมชายมีอะไรมักจะไม่พูด เลือกที่จะเงียบเป็นส่วนใหญ่

ประทับจิต : พ่อเหรอคะ มีบางเรื่องที่แบ๋นคิดว่าเขาจะไม่ค่อยพูด โดยเฉพาะเรื่องงานของเขา ซึ่งแบ๋นเข้าใจว่า คงเป็นเพราะว่าเขากลัวหรือกังวลใจว่าคนในครอบครัวจะเป็นกังวลไปด้วย แต่ก็เข้าใจว่าอันนั้นเป็นความคิด ความเข้าใจในลักษณะแบบผู้ชายเหมือนกันน่ะ ไม่ถึงกับเบียว ไม่ถึงกับเป็นคนที่แบบช้าย ชาย แต่เขาจะเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นจากแบ๋น จากแม่ เขาบอกแบ๋นว่าเขาชอบผู้หญิงที่มีความมั่นใจในตัวเอง

เขาบอกแบ๋นว่า ความรู้สึกภูมิใจที่ว่าแม่เนี่ย เป็นคนที่เก็บเงินให้เขาได้ เพราะเขาเป็นคนที่ เวลาสงสารใครก็คือจะให้เงิน เจอลูกความน่าสงสารเขาจะให้เงิน แต่ว่าแม่จะเป็นคนเก็บ แล้วก็จัดการค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด โดยที่ตัวเขาเองไม่ต้องห่วงเลย ซึ่งเขาตัวคนเดียว คงไม่มีทางเลี้ยงลูกได้ขนาดนี้ อันนี้คือที่พ่อบอก

 

The People : กิจกรรมอะไรที่คุณมักทำร่วมกับคุณพ่อ

ประทับจิต : อ่านหนังสือค่ะ คือพ่อเป็นคนที่ไม่ได้เป็นคนที่ไปสังคมในลักษณะปาร์ตี้ เขาจะกลับบ้านทุกวันตามเวลาอะค่ะ ไปรับลูก ๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะใช้อยู่กับเขาก็คือบนรถ ทั้งเช้าและเย็น ตอนเช้าก็จะเป็นกิจกรรมที่เหมือนกันว่า เขาจะไม่มีเวลาสอนเรามากในแต่ละวัน ให้เหมือนกับสามารถที่จะอ่านอัลกุรอาน คือเป็นคัมภีร์ทางศาสนา ก็จะให้เราท่องกันบนรถ เวลาส่วนใหญ่ที่อยู่กับเขาก็จะเป็นบนรถ ตอนกลับมา เหมือนกับว่าจะทำละหมาดด้วยกันค่ะ

จะมีเวลาช่วงเสาร์อาทิตย์อยู่ด้วยกัน วันไหนที่เขาไม่มีงานต้องเคลียร์ พ่อเขาชอบนอนอ่านหนังสือ แล้วก็จะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เวลาที่เขาจะสั่งสอนเราแบบเป็นจริงเป็นจัง จะเป็นช่วงเวลาหลังจากสวดมนต์ คือทำละหมาด เขาก็จะหันมา เหมือนกันว่าสอนนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนเนี่ย จะเข้าหาเขาในแง่แบบไหน จะไปขอความ wise ความฉลาด wisdom ของเขาในแง่แบบไหน ลูกแต่ละคนจะมีวิธีเข้าหาที่แตกต่างกัน

สำหรับแบ๋น แบ๋นชอบที่เขาซื้อหนังสือหรือนิตยสาร แต่ก่อนจะมีนิตยสารสารคดี ไม่รู้ทันหรือเปล่า จะมีเหมือนกันว่า 2 อาทิตย์ครั้ง แล้วแบ๋นจะชอบอ่านทุกครั้ง แบ๋นจะชอบคอลัมน์ในนั้น ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราสนใจเรื่องทางสังคม แล้วด้วยความที่เราอยากจะสนทนากับพ่อมากขึ้น เราก็เลยไปหยิบจับเหมือนวรรณกรรมเด็ก ที่พ่อได้เลือกซื้อ ซึ่งมีหลากหลายมาก

ก็ได้หยิบหลาย ๆ เล่มมา แล้วพอคุยเสร็จ อันนี้ก็เป็นความสาระแนของเราเอง (หัวเราะ) คืออยากจะสนิทกับเขาค่ะ แบบว่าพออ่านจบ เขาก็ไม่ได้สั่งอะค่ะ แต่แบบ ก็ไปเล่าให้เขาฟัง พ่อ อ่านเล่มนี้แล้วนะ มันเป็นอย่างนี้ ๆ นะ เรื่องเล่าแบบนี้นะ ก็ช่วยฝึกทักษะของเราในการทั้งจับประเด็น ทั้งการเล่าเรื่อง ก็ช่วยในเรื่องการเรียน ความสามารถทางการเรียนของเราด้วย แล้วก็ช่วยทำให้เราสนิทกับพ่อด้วย

เพราะฉะนั้น เวลาที่พ่อเหมือนกับว่า เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ เขาก็จะมาให้แบ๋นอ่าน ตอนที่เขาจะไปสอบเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตอนนั้นเฟลนะคะ ไม่ผ่าน เขาก็มาให้แบ๋นอ่านโพย ดู ๆ โพย แล้วช่วงที่เราสนิทกันน่ะค่ะ เขาก็เอาหนังสือที่เขาเขียนมาให้แบ๋นอ่าน พาแบ๋นไปฟังบรรยายที่เขาพูด แล้วก็ลงมาถามว่า เป็นยังไง พูดเป็นยังไงบ้าง มันก็สอดคล้องกับกิจกรรมที่เราทำในโรงเรียนด้วย แบ๋นจะเป็นพวกแบบนักพูด เป็นคณะกรรมการนักเรียน มันก็พัฒนาทักษะในการพูดในที่สาธารณะของเราให้ดีมากยิ่งขึ้น จากการที่ได้อ่านจับใจความมาคุยกับพ่อค่ะ

 

The People : เป็นเด็กกิจกรรมตั้งแต่ช่วงไหน

ประทับจิต : ส่วนมากจะเป็นหัวหน้าห้องซะส่วนใหญ่ จะมากิจกรรมนัดพูดอะไรอย่างนี้ตอนช่วง ม.4-6 ช่วงนั้น ก็สนใจทางด้านการพูด ก็เลยเหมือนกันว่าเป็นระดับโรงเรียนเฉย ๆ นะคะ ก็คือสมัครไปเป็นคนพูดสุนทรพจน์ ก็มีได้รับรางวัลมาบ้างในระดับโรงเรียน

จะไม่ถึงกับขนาดเป็นหนอนหนังสือขนาดนั้นนะคะ เพราะว่าเป็นคนที่นิสัยอย่างนึงคือไม่ค่อยชอบท่องหนังสือมากเท่าไหร่ แต่รู้จักตัวเองได้ว่าเป็นพวกพหูสูต คือชอบเอาตัวไปนั่งเรียน คือเป็นเนิร์ดชนิดหนึง คือชอบนั่งเรียนแล้วรู้สึกว่า อะไรที่มันผ่านหูเราแล้วเราเข้าใจปุ๊บอะ เราจะจำได้ เราจะท่องหนังสือไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่

ดีตรงที่ว่าเราไปจับได้ว่าเราชอบแบบไหน ข้อที่ไม่ดีก็คือว่า มันทำให้เรา ช่วงเวลาเอนทรานช์ แบ๋นของเงินพ่อแม่ไปเรียนพิเศษเยอะพอสมควร แล้วเราก็ไม่ได้จำเป็นต้องอ่านหนังสือเยอะ แต่เราเพิ่งมารู้ทีหลังตอนที่พ่อหาย คือเงินส่วนมากที่เขาให้เรา พ่อกับแม่เนี่ย จุดอ่อนอย่างนึงของพ่อ คือจะไม่มีเวลาไปเที่ยวกับแบ๋น ไปเที่ยวนี่จะ require ทั้งเรื่องเวลาของพ่อ แล้วก็เรื่องเงินด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าถามถึงเวลาที่ไปเที่ยวกันเนี่ย จะไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ค่ะ ความทรงจำที่ไปเที่ยวนาน ๆ แล้วชอบมากที่สุดจะเป็นช่วงประถมเลยค่ะ ช่วงหลัง ๆ เงินก็ไม่ค่อยมี เวลาก็ไม่ค่อยมี ช่วงปีใหม่จะเป็นแค่ว่า ไปทานข้าวด้วยกัน แล้วก็นั่งอัดกันอยู่บนรถ เพราะว่าลูก 5 คน ไปดูไฟที่ถนนราชดำเนิน เป็นแบบนี้ค่ะ ความทรงจำที่เรียกว่าไปเที่ยวด้วยกัน

จะไม่ค่อยได้ไปต่างจังหวัดกันเท่าไหร่ ความรู้สึกที่มีความสุขที่สุดน่าจะเป็นช่วงประถม ป.5-6 ด้วยซ้ำที่ไปเที่ยวทะเลด้วยกัน เหมือนกับว่าไปเช่าเป็นบังกะโล แม่ก็ซื้อกับข้าวมาทำ คือเป็นความทรงจำที่ดีมาก แล้วก็เป็นความทรงจำที่มีความสุข รู้สึกว่ามีความสุขมาก ๆ ที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน

 

The People : คุณมีคุณพ่อเป็นไอดอลเลยไหมว่าโตไปเราจะต้องเป็นเหมือนคุณพ่อให้ได้ หรือว่าเรามีความฝันอะไรอย่างอื่น

ประทับจิต : จริง ๆ ก็คืออยากจะเป็นแบบพ่อค่ะ คือไม่ได้ถึงกับขนาดอยากเป็นทนายความ คือจริง ๆ แล้วเขาไม่อยากให้เราเป็นทนายความ เพราะว่าเขารู้สึกว่า เป็นแบบเขาแล้วลำบาก โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกผู้หญิง เป็นแบบเขาแล้วลำบาก เป็นทนายอาสา เป็นทนายที่มาดิ้นรนเอาเอง เขาจะอยากให้แบ๋นเรียนอักษร ตอนแรกก็คือว่า เราเป็นเด็กที่ค่อนข้างเรียนดีมาตลอด เพราะว่าพ่อกับแม่จะบอกตลอดว่าเราจนนะ ไม่มีตังค์ให้เรียนมหาวิทยาลัยเอกชนนะ เพราะฉะนั้นคุณมีหน้าที่ที่จะต้องเรียนให้ดี เอนทรานช์ให้ติด เพราะถ้าไม่ติดก็คือไม่มีเงินนะ แบ๋นจะท่องมาอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ตอนที่เอนทรานช์ คะแนนแบ๋น ณ ตอนนั้น ปี 2544 คะแนนเข้าได้ทุกคณะในสายสังคมที่เราอยากเข้า พ่อกับแม่ก็คือหวังใจอยากจะให้เราเข้าคณะอักษร โดยเฉพาะพ่อ มองเห็นว่า ถ้าได้ภาษาอังกฤษ คือเป็นจุดอ่อนของเขาอะค่ะ เพราะเขาไม่ได้ภาษาอังกฤษ แล้วเขาอยากให้เราเข้าอักษรเพื่อที่จะได้ไปทำอาชีพที่มันได้เงิน ได้มีความเจริญก้าวหน้า เพียงแต่ว่า เรารู้สึกว่าเราไม่ได้สนใจทางด้านภาษา เราเลือกเรียนรัฐศาสตร์เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำด้านสังคม

คือแบ๋นเข้าใจมาโดยตลอดว่าตัวเองอยากเป็นครู เพราะว่าอ่านหนังสือสารคดี มีอยู่ช่วงนึงที่สารคดีนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับครูบ้านนอก ในช่วงนั้นน่ะ เราอยากทำงานทางสังคม เพียงแต่ว่า พ่อกับแม่ไม่ได้อธิบายให้เราเข้าใจทั้งหมดว่าการทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิจริง ๆ มันคือยังไง มันเสี่ยงขนาดไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราคิดถึงงานสังคมที่แบ๋นอยากทำ จึงเป็นลักษณะนี้ เป็นมือบน คอยช่วยเหลือ คือยังเป็นลักษณะแบบกระแสหลัก แบ๋นคิดว่าค่อนข้างเป็น charity คือเหมือนกับว่าให้ผู้ที่ยากไร้กว่า เป็นความเข้าใจที่จำกัดแบบนั้น

ความประทับใจของแบ๋นก็คือว่า ตอนที่เราเอนทรานช์ พ่อกับแม่ แม้ว่าเขาอยากให้เราได้ไปเรียน แต่เขาก็ไม่บังคับเลยค่ะ ก็คือเปิดโอกาสให้แบ๋นเลือกได้ ตรงนี้พี่แบ๋นก็รู้สึกว่าต้องของคุณพ่อกับแม่ แล้วก็ประทับใจด้วย เขาจะไม่มาบังคับ ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ คือขอให้คุณเอนฯ ติด เพื่อที่ค่าใช้จ่ายลดลง แต่คุณสามารถจะเลือกเรียนได้เต็มที่

จริง ๆ พ่อก็อยากให้แบ๋นเป็นทนาย คือเขาเคยบอกว่าแบ๋นเป็นพวกกะล่อน (หัวเราะ) คิดว่าอาจจะชมนิดนึงว่ามีไหวพริบหรือเปล่า แต่เขาใช้คำว่า เออ เป็นคนกะล่อนนะ น่าจะไปได้ เพราะว่าทนายมันต้องมีลูกล่อลูกชน เขาบอกแบบนี้ แต่ว่าแบ๋นไม่สนใจเลย เพราะว่าแบ๋นรู้สึกว่า การเรียนกฎหมายคือต้องท่อง ต้องอ่านหนังสือ ซึ่งพี่สาวแบ๋น ตอนนี้เป็นผู้พิพากษา เขาค่อนข้างไปทางนั้น เขาชอบอ่าน ชอบท่องหนังสือ แต่สำหรับแบ๋น อย่างที่บอกไปว่าแบ๋นไม่ชอบอ่านหนังสือ ท่องหนังสือสักเท่าไหร่

ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล The People : แล้วอย่างนี้ ตอนเด็ก ๆ ทราบไหมว่าพ่อต้องทำงานช่วยเหลือคนอย่างจริงจัง อาจจะเสี่ยงอันตราย

ประทับจิต : ไม่ค่อยทราบเท่าไหร่ มาทราบจริง ๆ มาสงสัยนิดนึงตอน ป.4 เป็นความทรงจำที่จำมาถึงทุกวันนี้ ก็คือมีอยู่วันนึงแบ๋นเถลไถล แบ๋นเป็นเด็กเถลไถลอยู่แล้วค่ะ จากหน้าตึกเรียนมาถึงหน้าโรงเรียน ไม่ยาวเท่าไหร่ ไม่ไกลเท่าไหร่ แต่จะเดินนาน แล้ววันนั้นไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะว่าอะไร แม่ดูโกรธมาก แล้วแม่ก็จับลูกทุกคนใส่เข้าไปในตุ๊กตุ๊ก แล้วแม่ก็ด่าแบ๋นบอกว่า ทำไมมาช้าแบบนี้ รู้ไหมว่าพ่อโดนขู่ฆ่า (เสียงสั่น) ซึ่งปกติ จริง ๆแม่บอกว่าพ่อไม่ค่อยเล่า แม่ก็ไม่ค่อยเล่าด้วยเหมือนกัน คือเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับพ่อ คือเขาจะไม่ให้มากระทบกับลูก ๆ เลย

แบ๋นยอมรับเลย เราค่อนข้างโชคดี ลูกมีหน้าที่เรียนอย่างเดียวจริง ๆ แล้วพ่อแม่ก็มีหน้าที่แบกรับอะไรกันไป แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้ทุกอย่างที่เพื่อนเรามี แต่ว่าเราก็ happy ดี เพราะว่าพ่อแม่มีลูกหลายคน ก็เล่นด้วยกัน ก็ถือว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข แต่ว่า ณ ตอนที่อยู่ ป.4 เนี่ย รู้สึกไม่เข้าใจ เพราะแม่จะไม่ใช่คนที่ระเบิดอารมณ์ใส่เราแบบนั้น แม่เป็นคนเก็บอารมณ์เนียนกริบมาก แต่วันนั้นเขาระเบิดอารมณ์ออกมา คงมีความกังวล

แล้วแบ๋นก็อึ้งไปว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเหรอ แต่ว่าไม่ได้รับคำอธิบายเพิ่มเติม มาเข้าใจตอนที่มาแอบถามพ่อ แล้วก็รู้สึกว่าพ่อก็อึ้งไป พ่อก็ไม่ได้ตอบเพิ่มเติม เพียงแต่แม่บอกว่า มันมีข่าวว่าจะมีการขู่ว่าจะยิงทนายตายหน้าศาล แล้วพ่อก็ได้รับการขู่นั้น แต่ตอนนั้นแบ๋นเข้าใจว่าพ่อยังไม่ได้เริ่มหยิบจับงานทางด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐสักเท่าไหร่ คงเป็นเรื่องทนายความโดยทั่วไป จะมาใกล้ ๆ ช่วงที่เขาจะหายไปเนี่ยค่ะ ที่ได้เข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ก่อนหน้านั้นเนี่ย ตั้งแต่ปี 2535 เราก็เริ่มได้รู้แล้วว่าพ่อเนี่ย ก็ช่วยคุณทองใบ ทองเปาด์รับงานที่เกี่ยวข้องกับคดี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นคดีของคนมลายู แล้วก็มีคดีนึงที่เกี่ยวกับน้องที่เป็นคนพุทธ ไม่ได้เกี่ยวกับใต้เลยนะคะ แต่ว่าเขาเริ่มรับงานของสภาทนาย คือให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย แล้วก็ช่วยนิสิตจุฬาฯ คนนึงที่ไปเดินแถวสนามหลวง แล้วก็ถูกยัดยาบ้าจากตำรวจ แล้วก็เป็นข่าว

พ่อเขาเป็นคนที่เหมือนกับว่า จะภูมิใจกับงานเขาอะค่ะ แล้วทุกครั้ง เวลาที่งานเขาออกโทรทัศน์ ข่าว คดีที่เขาออกโทรทัศน์ เขาจะแบบ นี่ ๆ มาดู มาให้เราดู แล้วเราก็จะ อ๋อ เริ่มเข้าใจมากขึ้นค่ะ ว่างานของเขาเกี่ยวข้องกับอะไร อย่างเช่น กรณีที่มีระเบิด C-4 มีชาวต่างชาติถูกกล่าวหาว่าก่อการร้าย เขาเป็นคนที่ดูข่าว วันรุ่งขึ้นเขาแต่งตัวเองเป็นทนาย ไปขอให้ผู้ต้องสงสัยรับเขาเป็นทนาย คือเขาเป็นคนที่เหมือนรู้ว่าเขาเป็นคนที่ชอบงานท้าทายด้วย มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทำเพื่อสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นผู้ชาย เขาชอบทำงานที่ท้าทาย

 

The People : คุณพ่อก็จะพยายามไม่ให้งานมากระทบครอบครัวมาก แบบนั้นใช่ไหม

ประทับจิต : ใช่ แต่ก็ยังเป็นความเข้าใจผิดของนักปกป้องสิทธิในสมัยนั้น แบ๋นคิดว่าหนึ่งคือที่แบ๋นเรียนรู้ก็คือ นักปกป้องสิทธิในสมัยเดิม คือจะเป็นความพุ่งตรง แบบว่าไม่ได้ดูหน้าดูหลัง เหมือน sacrifice ชีวิตคือพลีชีพ แบบนั้นเลย ซึ่งแบ๋นก็เรียนรู้ประสบการณ์จากนักปกป้องสิทธิหลาย ๆ คนที่เขาเสียงชีวิตหรือว่าถูกยิง เสียชีวิตสมัยก่อน เช่น คุณเจริญ วัดอักษร แบ๋นคิดว่าเป็นสไตล์นี้หมดเลย คือพุ่งตรงไป งานทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ สถานการณ์นักปกป้องสิทธิ ก็ยังไม่ได้เป็นกระแสหลัก ทำให้คนเหล่านั้นไม่ได้ระมัดระวัง จะปกป้องตัวเองได้ก็คือวิธีการที่ไม่บอกคนในบ้านเลย

ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล The People : คุณคิดว่าวิธีการไหนที่จะทำให้นักปกป้องสิทธิปลอดภัยจากในเนื้องานและชีวิตส่วนตัว

ประทับจิต : คือตอนหลัง ตอนที่พ่อหายไปนะคะ เริ่มมีความสนใจเรื่องคำว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสังคมมากขึ้น แล้วแบ๋นได้ไปอบรมกับองค์กร NGO จากต่างประเทศ ชื่อ Front Line Defenders เขาก็สอนแบ๋น สอนวิธีการป้องกันตัวเอง ความปลอดภันทางกายภาพหรืออะไรก็ตาม แล้วเขาก็ให้แบ๋นสัญญา คือมี commitment ทางใจไว้ว่า แป๋นต้องส่งต่อความรู้ที่ตัวเองได้รับมาค่ะ ไปให้กับนักปกป้องสิทธิคนอื่น โดยวิธีการใดก็ได้

ตอนนั้นเราก็มีความ เราเป็นอาจารย์แล้วค่ะ เรียนจบมา ป.เอก แล้วก็เป็นอาจารย์ที่มหิดล คราวนี้ก็เลยคิดวิธีการว่า เราจะให้ความรู้คนยังไง เพื่อให้คนได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเขาเอง ก็คือนึกจากเรื่องพ่อ มีจุดไหนบ้างที่เป็นจุดอ่อนของเขา แล้วแบ๋นก็ทำงานวิจัยร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ตอนแรกเป็น NGO นะคะ แล้วก็มาทำงานเป็นอาจารย์ที่มหิดลอยู่ 2-3 ปี ได้พัฒนาความรู้ของตัวเองในเรื่องนี้

แบ๋นจะเริ่มด้วยการเล่าให้ฟัง เล่าให้คนทุกคนฟัง แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ช่วงหลัง ๆ ก็ได้ออกมาเล่าให้สาธารณะฟังแล้ว ถึงเหตุการณ์วันที่เราทราบว่าพ่อหาย เราเห็นโทรศัพท์ คือก่อนหน้าที่พ่อหาย แบ๋นจะนึกถึงพ่อ แล้วเขาจะออกไปทำงานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งมันจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ ผู้ใช้อำนาจ คือหลัง ๆ งานเขาจะเป็นโซน แบ๋นคิดว่าเขาสนใจในเรื่องของการใช้ความรุนแรงในเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก ก็คือคงไม่ถึงกับว่าเป็น target ของเขาเขาว่าเขาจะไอ้นั่นหรอก แต่เขาเห็นความไม่ยุติธรรมในชั้นตำรวจเยอะ

แบ๋นคิดว่าพอเขาเริ่มเป็นข่าวในคดีนักศึกษายัดยาบ้าปุ๊บ เขาเริ่มมีความมั่นใจ แล้วก็จะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นนี่แหละให้มันดีขึ้น คราวนี้พอเป็นข่าว เป็นอะไรมากขึ้นก็คงจะเป็นตัวตึงอยู่ในหมู่ตำรวจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ แบ๋นก็เลยเล่าให้ทุกคนฟัง ก็คือคดีผู้ต้องหา 5 คน แบ๋นก็ได้ยินมาว่า จะมีการเรียกเขาไปเจรจา จะมีคนขอไปคุยกัน ช่วยเหลือทางคดี เขาเป็นทนาย แบ๋นรู้สึกว่าตรงนี้แหละ รู้สึกว่าท้าทาย เขาสนใจ แล้วเขาตัดสินใจจะออกจากบ้านไปเลย

ลักษณะเขาเป็นลักษณะเดียวกับแบ๋น ซึ่งแม่จะเป็นห่วง คือไปทำงานตัวเองให้เสร็จ แล้วก็กลับมาบ้าน ก็ทำให้เขามีปากเสียงกับแม่ แม่อะ แบ๋นรู้เลยว่าการที่อยู่ในครอบครัวมันตึงมากขนาดไหน แล้วก็ คือแม่น่ารักอย่างนึง ตรงที่ว่า ก็สนับสนุนให้คนนี้ทำงานที่ไม่ได้ตังค์อะค่ะ เออ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีลูก 5 คน แบ๋นรู้สึกว่า แม่ ไม่ได้เคยตั้งคำถามกับงานลักษณะช่วยเหลือหรือปฎิรูปกกระบวนการที่พ่อทำเลย

แต่ในขณะเดียวกัน ลึก ๆ แบ๋นรู้ว่าเขารู้สึกโดดเดี่ยว ช่วงท้าย ๆ แบ๋นรู้สึกผิดเพราะว่าแบ๋นไม่ได้รู้เรื่องทั้งหมด เขาจะรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เขามาบอกเราว่า นั่งอยู่ก่อนไม่ได้เหรอ อยู่เป็นเพื่อนกันก่อนตอนกลางคืน เขาทำงาน แบ๋นเริ่มรู้สึก เพราะหลัง ๆ เขามาบอกแบ๋นว่า มันเริ่มมีกระแสในอินเทอร์เน็ตบ้าง อะไรบ้าง แบ๋นคิดว่าเขาหวั่นไหวกับวาทกรรมหรือ stereotype ภาพจำในเรื่องของเป็นทนายโจร พอสมควร

แล้วแบ๋นก็ได้แต่บอกเขาว่า เออ สนับสนุนงานพ่อนะ มั่นใจในตัวพ่อมาก ๆ เลย เพราะรู้ว่าเขาไม่ใช่คนมีนอกมีใน หรือว่าได้ผลประโยชน์อะไรจากงานที่เขาทำ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกผิด เพราะว่าไม่ได้รับบรีฟทั้งหมด ไม่รู้ว่าในชีวิตเขาเจอกันอะไร แบ๋นก็อยู่กับเขาได้บ้าง อยู่ใกล้ ๆ กันได้บ้าง แต่ว่าบางครั้งเวลาเราต้องเรียนหนังสือ ต้องตื่นแต่เช้า ก็ทำให้พ่อนั่งทำงาน ทิ้งไป แล้วก็ไปนอน

ก่อนหน้าที่ ตอนช่วงที่เขาตัดสินใจไปทำงานเขาให้เสร็จ เขาทะเลาะกับแม่ แล้วมีจังหวะที่เขาไปส่งแบ๋นที่มหาวิทยาลัย เขาก็เปรยขึ้นมาอย่างที่เล่าให้ฟัง คือเวลาที่ทะเลาะกับแม่ เขาจะ remind ว่า เออ แม่ดีนะ แม่เตือนเขา คือเขาจะรู้ แล้วเขาก็จะบอกแบ๋นว่า เนี่ย ข้อดีของแม่แกก็คือว่าเตือน แล้วก็ข้อดีของแม่แกก็คือเก็บตังค์อยู่ คือครอบครัวเราต้องบอกว่า แบ๋นมีความสุข รู้สึกว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่น

แต่ในขณะเดียวกัน พ่อกับแม่มี tension ต่อกันสูงมาก อันนี้จะไม่โกหกเลย เพราะว่า รู้สึกว่าเป็นชีวิตของคนธรรมดาที่จะไม่อยากโกหกว่าพ่อไม่ทะเลาะกันเลย ทะเลาะกันบ่อย บ่อยมาก แล้วแบ๋นรู้ว่าประเด็นคืออะไร ประเด็นคือพ่อทำงานมากเกินไป ประเด็นคือพ่อไม่ได้ทำงานที่ให้เงินพอควรกับทางบ้าน มันเลยทำให้ตึงไปหลาย ๆ อย่าง แล้วต้องบอกว่าพ่อเป็นพ่อที่ดีมาก รักลูก อยู่ที่บ้านทุกวัน แต่อาจจะไม่ใช่ผู้ชายที่ดีมากนะสำหรับภรรยา ตรงนี้เป็นชีวิตครอบครัวที่แบ๋นเองก็เรียนรู้เรื่อง gender ในครอบครัวด้วยเหมือนกัน เพราะว่าก็เห็นใจแม่มากในช่วงท้าย ๆ ก่อนที่พ่อจะไป

เขาก็พูดขึ้นมา แบ๋นก็พูดกับเขาว่า พ่อ ทะเลาะกันอะ แบ๋นอยู่ประมาณแค่ปี 1 เองมั้งคะ พ่อเนี่ย ทะเลาะกันไม่ว่านะ แต่กลับมาคุยกันที่บ้านนะ อย่าไปที่อื่น กลับมาคุยที่บ้าน ขอเขาไว้แบบนี้ แต่ว่าเขาไม่ได้ให้เรา ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้สึกว่าเราสนิทกับเขา แล้วเขาก็ไป ก่อนวันที่เรารู้ก็คือมีเพื่อนของเขา เขาก็เหมือนมา (สะอื้น)

*หยิบทิชชู*

แต่ว่าเขาไม่ได้ทำตามที่เราตกลงกัน แบ๋นมั่นใจว่าเราเคยคุยกันรู้เรื่อง ก็เขาไม่ได้กลับมาเลย แล้วก็ปล่อยให้แม่ดำเนินชีวิตกับลูก 5 คน ซึ่งก็เป็นห่วงเขาด้วยส่วนนึงค่ะ ในขณะเดียวกันก็ทิ้งลูกอีก 5 คนไม่ได้ พ่อก็คอยโทรมาตลอด ตอนเย็น ๆ น่ะค่ะ จะโทรสายแลนที่บ้าน สมัยก่อนก็ยังใช้โทรศัพท์บ้านอยู่ บางครั้งเป็นสายที่ไม่พูด ซึ่งเราว่า มันสลับกัน ระหว่างคนที่โทรมาป่วนกับเป็นสายของพ่อ ซึ่งเวลาคุยกับพ่อ เออ แม่เป็นยังไงบ้าง คิดถึงนะ แล้วทำไมไม่กลับมา จนสุดท้าย แบ๋นก็รับโทรศัพท์บ้าน (ร้องไห้)

แต่ตอนนั้นแบ๋นเริ่มมีมือถือของตัวเองแล้ว ปี 1-2 น่าจะปี 3 ปลาย ๆ โตแล้วค่ะ แล้วก็วันนั้นพ่อโทรมาแล้วไม่ได้รับ แบ๋นสารภาพว่าแบ๋นเห็นโทรศัพท์สั่น เห็นโทรศัพท์สั่นแล้วคิดไปว่า เราตกลงกันแล้วว่า ถ้าเราทะเลาะกัน ยังไงก็ต้องกลับมาคุยกันที่บ้าน เราครอบครัวเดียวกัน มองโทรศัพท์ แล้วก็ปล่อยให้มัน (ซับน้ำตา) จนกระทั่งมันหลุดไป แล้วมีเพื่อนพ่อ เขามาที่บ้าน มาบอกว่าพ่อหายไปแล้ว อย่างแรกที่แบ๋นทำก็คือแบ๋นวิ่งไปที่โทรศัพท์ของแบ๋น แล้วก็ฟัง แล้วเขาก็เป็นคนสมัยก่อน แบ๋นมั่นใจว่าเขาฝากข้อความแน่นอน ก็รับโทรศัพท์ แล้วก็บอกว่า แบ๋นลูก กินข้าวหรือยัง คิดถึงแบ๋นมาก ๆ เลย

คือแบ๋นไม่ได้เล่าเรื่องนี้มา จนกระทั่งพ่อหาย 12 ปี (ร้องไห้) เป็นครั้งที่แบ๋นพร้อมจะเล่าสู่สาธารณะ เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ทีนึง ได้ใช้เรื่องนี้มาเริ่มต้นการอบรมเพื่อความปลอดภัย เล่าทุกครั้งก็ร้องไห้ทุกครั้ง แต่ว่ามันทำให้คนในบ้านของเรา มันทำให้ผู้อบรม ทำให้นักปกป้องสิทธิคนอื่นอะ แบ๋นพยายามจะบอกว่า คุณทำงานสู้ตายได้ แต่คุณอย่าลืมว่า ถ้าคุณเป็นอะไรไป มันส่งผลต่อความปลอดภัย จิตใจ ความมั่นคง

เพราะว่าช่วงที่พ่อหายไปอะค่ะ ก็มีผลกระทบกับชีวิตแบ๋นอย่างมากมายจนถึงวันนี้ แบ๋นก็เลยบอกว่า เล่าให้นักปกป้องสิทธิทุกคนฟังว่าเนี่ย คือประสบการณ์ที่น่าอายในชีวิตแบ๋น แบ๋นเหมือนกับลูกอกตัญญู ฉันเห็นโทรศัพท์เธอแล้ว แต่ก็เธอไม่กลับบ้านมาเองนี่ กำลังคิดว่า คือคิดทุกครั้งว่าถ้าฉันรับแล้วบอกว่า พ่อ พ่อกลับมานะ พ่ออยู่ไหน อะไรอย่างนี้ อาจจะช่วยปกป้อง ทำให้เขาไม่หายไปได้ คือเป็นประสบการณ์ที่เอามาเล่า (ร้องไห้)

แล้วหลังจากทำงานวิจัยคนไทยในประเทศไทย ข้อดีอีกอย่างก็คือว่า ผลการวิจัยก็คือว่า ใน Southeast Asia คนหายส่วนมากหายไปบนท้องถนน แล้วมันก็จะถูกทำให้กลายเป็นลักษณะอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งเรานึกว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดาทั่วไป แต่ของเหล่านี้มีการจัดทำ จัดตั้ง จงใจทำให้มันเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ มันเลยทำให้นักปกป้องสิทธิ เวลาเราเล่าให้เขาฟังว่า ช่วงไหน ถ้ารู้ว่า เวลาทำอะไรที่สำคัญและจะเสี่ยงขัดผลประโยชน์ของใครอย่างเนี้ย ให้ระมัดระวังการเดินทางของคุณสักหน่อย สมมติว่าคุณได้ check in check out กับเพื่อนที่ทำงาน หรือคนในครอบครัว โทรศัพท์ไปบอก หรือว่าอย่าเดินทางคนเดียว หรือว่าหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงกลางคืน หรือเปลี่ยนเส้นทาง

พ่อแบ๋น แบ๋นคิดว่าที่เขาถูกตาม เพราะเขาเป็นทนายความ เขามีเส้นทางแบบเป๊ะ ๆ ๆ จากบ้านไปศาล วนอยู่ไม่กี่ที่ เพราะฉะนั้นเขาจะถูกติดตามง่าย แต่จะมาเล่าให้ฟัง จากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคดีทนายสมชาย แล้วก็วิธีการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งแบ๋นเห็น แล้วรู้สึกว่าวิธีนี้ได้ผล ได้ผลกับทุกคน คือมัน อ้าว มันเกิดขึ้นจริง อะไรอย่างนี้ สองคือ คนส่วนมากมักจะให้แบ๋นเล่าในเรื่องที่ดี ในเรื่องที่อะไรอย่างนี้ แต่แบ๋นชอบเล่าในเรื่องที่เป็นจุดอ่อน เพราะสำหรับแบ๋น แบ๋นคิดว่าการให้เกียรติพ่อ ว่าด้วยเรื่องของเขา

ถ้าสมมติว่า จุดอ่อนของเขาจะช่วยปกป้องให้คนอื่นปลอดภัยมากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่อยากจะให้เกียรติเขา แบ๋นก็ไม่แน่ใจว่าคนอื่น ๆ คิดถึงการเล่าเรื่องของแบ๋นกับพ่อยังไง แต่หนึ่งก็คือ แบ๋นอยากจะ deliver message ที่สำคัญที่เขาให้กับแบ๋นไว้ในชีวิต คือหนึ่ง ไม่มีใครเป็นคนดี เขาไม่ใช่คนดี เวลาทำงานสิทธิมนุษยชน อย่าไปติดว่า ต้องเป็นคนดี เราเป็นคนธรรมดาในฐานะมนุษย์ เรามีสิทธิ เสรีภาพ นี่คือ deliver message ที่สำคัญก็คือว่า มันมีหรอกคนดี ดีแบบดี ไม่มี มีแค่คนธรรมดา ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี

การโปรโมตพ่อของเราในฐานะคนดี มันก็คือการเอาพ่อไปวางบนหิ้งนั่นแหละ แล้วเรื่องของเขาก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์กับใครเลย ไม่สามารถ apply ได้กับชีวิตของคนทั่วไปเลย แต่ถ้าเราบอกจุดอ่อนของเขา เขาไม่ระมัดระวังนะ ในการเดินทาง เขามั่นใจตัวเองเกินไปที่รู้สึกว่าตัวเอง handle ได้กับเรื่องที่เสี่ยงระดับประเทศขนาดนี้ พอเวลาแบ๋นพูดกับทุกคน ทุกคนจะอึ้ง แล้วก็ อ๋อ เออ แล้วได้เรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตัวแบ๋น แบ๋นคิดว่าตรงนี้ค่ะ ที่เป็นประโยชน์

 

The People : ตอนเราคุยกับคุณแม่ของคุณ คุณแม่ก็จะบอกว่า รู้สึกไม่แฟร์เลยกับการที่เขาไม่ค่อยบอก คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้

ประทับจิต : ใช่ แบ๋นรู้สึกได้เหมือนกันว่ามันก็ไม่แฟร์ แบ๋นคิดว่าเป็นลักษณะของครอบครัวสมัยก่อนที่อาจจะต้องเสียสละ แม่เนี่ย ดันเป็นคนต้อง step back เป็นคนที่ ฉันเองต้องเสียสละ เพราะว่าดูลูก มีความสามารถในการดูลูกมากกว่า สมัยนั้น ผู้หญิง ผู้ชาย บทบาทหน้าที่ถูก identify ไว้แบบนี้ ว่าผู้หญิงจำเป็นต้องถอย แล้วแบ๋นก็คิดว่าตรงนี้แหละ ที่ทำให้ในความสัมพันธ์ 20 ปี ถ้ามองในลักษณะผู้ใหญ่ แม่ค่อนข้างตึงกับความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะว่าเราเป็นผู้หญิง เรามี passion ในชีวิตของเรา แต่เราไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอก เคียงบ่าเคียงไหล่ แต่กลับมาเป็น housewife ซึ่งเป็นแม่บ้านอยู่ในบ้าน

 

The People : สิ่งนี้คุณตกตะกอนได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องความสัมพันธ์ตลอด 20 ปีของพ่อแม่ที่ค่อนข้างตึงกันมาก

ประทับจิต : เรียนรู้มาตลอดเลย รู้ว่าพ่อให้เกียรติความคิดเห็นของแม่ ในบ้าน แม่นำ ให้จัดการ คดีที่พ่อว่ายาก พ่อมาปรึกษาแม่ แล้วเขาก็ได้แลกเปลี่ยนกัน แต่ว่ารู้มาตลอดว่าเขาทะเลาะกันหนักหลายครั้ง

 

The People : มันเป็นอีกเหตุผลนึงด้วยหรือเปล่าที่คุณอยากสนิทกับพ่อ

ประทับจิต : แบ๋นก็ยอมรับ แต่แบ๋นบอกได้แค่ว่า คือในฐานะที่เป็นมนุษย์คนนึง เรารักพ่ออะ เพราะเขาแสดงความรัก เขาดุ เขาตีเจ็บมาก เขาเป็นคนที่โมโหปุ๊บ ตี ฟาด ฟาดอย่างแรงเลย แต่เป็นคนที่กอด เป็นคนที่ให้กำลังใจ และเป็นคนที่ present ตัวเองอยู่ตลอดว่าฉันเป็นคนเลว ฉันไม่ใช่คนดีนะ แต่ในขณะเดียวกัน แม่เนี่ย จะเป็นโมเดลของความเป๊ะ แต่แบ๋นก็เข้าใจ เพราะว่าแม่ต้องเป็นรันครอบครัวซะด้วยซ้ำไป

พ่อจำไม่ได้ว่าแบ๋นชื่อจริงชื่ออะไร เพราะพ่อมีลูก 5 คน แบบหันมาถามว่า ชื่ออะไร ชื่อจริง เพราะเขาจะดิ่งไปที่การทำงานนอกบ้านของเขาเพียงอย่างเดียว แล้วแบ๋นรู้ว่าทำไมแม่ถึงต้องเป๊ะเวอร์ เพราะว่าเหมือนกับครองสติให้ได้ เพราะฉันต้องเป็นรันทุกอย่างในครอบครัว ตรงนี้ที่แบ๋นได้เรียนรู้เรื่องแบบว่า มิติทางเพศ มิติความไม่เป็นธรรมในครอบครัว ในขณะที่พ่อก็ออกสังคม แต่แม่ก็อยู่ในบ้าน

 

The People : หลังจากที่คุณพ่อหายไป แล้วครอบครัวเราก็ถูกตีตราว่าเป็นครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย คำคำนี้มันกระทบใจเรายังไงบ้าง

ประทับจิต : ที่กระทบคือต้องบอกก่อนว่า เราอะ โชคดีกว่าครอบครัวคนอื่น ๆ เพราะว่าพ่อค่อนข้างมีประวัติขาวสะอาด เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จะไม่ดำ จะไม่เทาใด ๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น กระแสค่อนข้างดี คือสงสารเห็นใจ แต่ in a way มันก็คือคุณไปทำอะไรผิดมาหรือเปล่า คุณไปเตะขาใครมาหรือเปล่า แล้วก็เป็นครอบครัวที่อาจจะมีปัญหาหรือเปล่า

ตอนแรกก็รู้สึกอาย แต่ในขณะเดียวกัน พอมามองอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นครอบครัวที่ได้รับการยกย่อง เพราะว่าได้รางวัล ก็ต้องยอมรับเลยว่า การสูญหายของคุณพ่อก็ทำให้เราได้โอกาสทางสังคม แต่ก็ต้องยืนยันอีกว่า จริง ๆ พร้อมจะแลกทุกอย่าง เอาคืนไปเลย พ่อไม่หาย แต่แบ๋นก็ได้เรียนต่อที่จุฬาฯ แบบฟรี ได้ทุนเรียน อะไรอย่างนี้

ก่อนหน้านั้นก็มีอาย เพราะเริ่มรู้สึกแล้วว่าพ่อหาตังค์ไม่ค่อยได้แล้ว เรารู้สึกว่าเราเป็นคนชนชั้นกลางมาตลอด แต่จนกระทั่งปี 3 เริ่มรู้สึกว่าพ่อไม่มีตังค์ เพราะว่าไปรับช่วยคดีแบบนี้มากขึ้น แล้วแม่ก็ตึงมากขึ้น กระเบียดกระเสียร ไม่เคยแต่งหน้า แม่เพิ่งมาแต่งหน้าหลังพ่อหาย แบ๋นถึงบอกกับใคร ๆ ว่า การหายไปของผู้ชายคนนึงมันคือแบบ deliberate การปลดปล่อยชีวิตผู้หญิงอีกคนนึงให้มันเป็นอิสระ

 

คือแบ๋นสนิทกับพ่อ รักพ่อ แต่เชื่อไหมคะ คือเวลาเขาทะเลาะกัน แบ๋นอยู่ข้างแม่ตลอด เพราะเราเห็นว่า ความลำบากในครอบครัว มันมาทางผู้หญิง ลูกสบาย พ่อไม่เคยรู้ว่า การศึกษาของเราเป็นยังไง คือทิ้งทุกอย่าง มาทางแม่หมดเลย มันเลยทำให้แบ๋นรู้สึกว่า แบ๋นเข้าข้างแม่ ถึงแม้ว่าแบ๋นจะรักพ่อมาก รักจริง ๆ เพราะว่าเขาให้กำลังใจเก่ง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ใจดีด้วยแหละ เขาก็สอนให้เราแบบว่า มีอะไรก็พูดไปตามนั้นเลย เราก็จะพูดตลอดว่า เออ เข้าใจพ่อนะ แต่พ่อรู้ไหมว่าในครอบครัวมันเป็นแบบนี้นะ พยายามจะอธิบายให้เขาฟังตลอด แล้วคือมั่นใจมากเลยว่าเราอยู่ข้างแม่

 

The People : เราก็เหมือนกับเห็นทุกอย่างมาโดยตลอด เลยพยายามพูดให้พ่อฟังว่าสิ่งนี้มันก่อให้เกิดปัญหา อย่างนี้ไหม

ประทับจิต : ใช่ ความยุติธรรม กลายเป็นว่าภาระครอบครัวมันคือภาระอย่างนึง ซึ่งมันเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่มาก การทำงานข้างนอกมันทำให้เราได้รางวัล มันทำให้เราได้เพื่อน มันทำให้เราได้หน้า ได้ตา ได้ชื่อเสียง ซึ่งพ่อได้ตรงนั้น แต่คุณอังคณาคือไม่ได้อะไร เพื่อนเขาไม่มีเลย เพราะว่า sacrifice ชีวิต ตัดเพื่อนไปเลย

 

The People : พอรู้ว่าคุณแม่จะมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง มันมีผลกระทบยังไงกับครอบครัวบ้างไหม โดยเฉพาะเรื่องที่คุณแม่เป็นมุสลิม แล้วก็เป็นเพศหญิงด้วย มันส่งผลต่อหน้าที่การงานมากน้อยแค่ไหน

ประทับจิต : ก็คือเราเรียนรู้มาจากตอนพ่อแล้ว เราเป็นคนมีความเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านนี้ แล้วก่อนหน้าที่พ่อหายไป แม่ก็มาถามว่า ทุกคนเห็นด้วย คือเราจะสามารถยอมรับข้อเท็จจริง ความจริงว่าพ่อทำงานแบบนี้ได้ไหม ทุกคนได้ งั้นเรา go on นะ แม่ไปแจ้งความนะ หลังจากนี้จะต้องมีผลอะไรเกิดขึ้น เราจะรับนะ โอเค

เพราะฉะนั้น คำถามว่า แม่ไปทำอะไร เราไม่มีคำถาม เพราะเราเป็นเด็กที่โตมาในครอบครัวที่เข้าใจการทำงานด้านสังคม แต่ว่ามันมีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามา ตัวอย่างเช่น social ซึ่งสมัยพ่อ จะมีไม่ social แบ๋นดีใจมากที่ไม่มีแบบนั้น เพราะว่าพ่ออะ จิตใจอ่อนแอกว่าแม่ เขาจะเป็นคน sensitive กว่าแม่ แบ๋นคิดเลยว่าถ้าทุกวันนี้เขาได้เห็น comment ต่าง ๆ ที่แม่เจอ แบ๋นว่าเขาจะไม่สามารถรับเท่าแม่ แม่จะมีจิตใจเข้มแข็ง แต่ว่าแบ๋นก็จะเป็นคนที่ไม่ได้อ่าน comment เลย เพราะรู้สึกว่า เราสื่อสาร เรามีหน้าที่สื่อสารกับสังคมไปว่า เราเตือนแล้วนะ มันจะเป็นแบบนี้นะ เราไม่ได้เรียกร้องกับครอบครัวของเราอย่างเดียวนะ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นจะต้องพิจารณาแล้ว แล้วก็ยอมรับได้ว่า ก็จะบอกว่า พอชีวิตดำเนินผ่านมาอะค่ะ มันก็เรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับอะค่ะ เรารู้ได้แค่ว่า ครอบครัวเราก็มีแค่เราที่จะพูดเรื่องพ่อ

สังคมที่เรียกว่าเป็นสังคมมุสลิม เขาก็ไม่รู้จะดีลกับเรายังไง เพราะเหมือนกับว่า สังคมมุสลิมก็คือว่า ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ แต่ครอบครัวนี้ก็คือว่า จะเข้ามาดูแลในลักษณะไหน แล้วแม่ก็เลือกที่จะไม่แต่งงานใหม่ แล้วเขาก็ออกมาดำเนินบทบาทผู้นำทางสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน แบ๋นคิดว่า เราถูกมองในลักษณะว่า ไม่รู้จะจัดวางเรายังไง ก็ปล่อยเราลอย ๆ ไปแบบนี้แหละ คือเรียกได้ว่า ก็ค่อนข้างถูกทิ้งไว้ตรงนั้น

แต่ด้วยความเคารพ ก็คือเข้าใจว่า ก็ไม่รู้จะดีลกับเรายังไง เพราะนี่ก็เคสใหม่ จะไปบอกให้มาตามเรา แต่ละคนผู้นำผู้ชายก็ไม่ได้เป็นผัว เป็นพ่อ เป็นอะไรของเรา แล้วก็เป็นประสบการณ์ใหม่ของสังคมมุสลิมด้วย เพราะฉะนั้นเขาก็คงมองดูเรา อาจจะให้กำลังใจเรา แต่ในลักษณะที่เขาไม่รู้ดีลยังไง ไม่รู้จะเอาเราไป engage กับสังคมมุสลิมยังไง แล้วสังคมมุสลิมส่วนมากก็ยังอยู่กับโครงสร้างในแบบเดิม ในแบบอนุรักษ์นิยมแบบเดิม ซึ่งแบ๋นก็รู้ว่าเขาอาจจะลำบากใจในงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เราทำด้วยซ้ำ

ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล มีนิดนึงค่ะ อยากเล่าให้ฟัง เหมือนกับว่าเราได้ทำงานร่วมกับพ่อ คือเหมือนกับว่า เราเป็นทำกิจกรรมเนอะ สมัยเรียนอะ ครูให้แบ๋นแสดงละคร แล้วครูจะให้แบ๋นไปไหว้ครู ก็จะมีใบตอบรับผู้ปกครอง ขออนุญาต แล้วพ่อก็เขียนยาวเลย เขียนไปแล้วก็สอนแบ๋นไปด้วย แบ๋นก็เอาไปให้ครู แล้วครูก็บอกว่า ประทับจิต มาคุยกันหน่อยซิ พ่อเธอเขียนว่า อนุญาตให้แสดงละครเวทีได้นะ ก็คือเขาไม่ได้เคร่งขนาดว่าเราห้ามแสดงละครเวที แต่มุสลิมไม่สามารถจะไหว้ครูได้ เขาก็เขียนไป อันนั้นเป็นอย่างนึงที่ทำให้เราเรียนรู้ว่า เราเป็นมุสลิม เรา flexible ในบางอย่าง แต่อะไรที่เราทำไม่ได้จริง ๆ เราก็แค่อธิบายให้เขาฟัง แล้วครูก็ ขอบคุณนะที่อธิบายให้เข้าใจ แบ๋นก็เลยเริ่มรู้สึกว่า อ๋อ เราอธิบายกับสังคมได้ว่า identity เราคิดยังไง เราทำอะไรได้ เราทำอะไรไม่ได้

อันที่สองก็คือตอนแบ๋นอยู่ปี 3-4 แบ๋นอยู่ชมรมมุสลิมที่จุฬาฯ แล้วมันเกิดเหตุการณ์ว่ามีการขโมยของ คือมีขโมยขึ้นมาบนชมรมแล้ว computer หายไป หลังจากนั้น จุฬาฯ มีนโยบายปรับห้องหมดเลย แล้วก็จะยึดคืนห้องละหมาด ที่เป็นห้องชมรมของเรา ปรากฏว่า ก็มาปรึกษาพ่อ คือไม่ได้ตั้งใจจะปรึกษาพ่อหรอก แต่เราดันเรียนรัฐศาสตร์ ก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นคนเขียนจดหมายไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยว่า อยากจะยืนยันว่าไม่สามารถยกห้องละหมาด เพราะว่าการละหมาดมันเป็นส่วนนึงของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของมุสลิม ก็คือเขียนจดหมาย ในระหว่างที่เขียนจดหมาย ก็นั่งข้าง ๆ พ่ออย่างที่เล่าให้ฟัง เป็นช่วงก่อนที่เขาจะหายไปนั่นแหละ เขาก็จะขี้เหงา แต่เขาจะชอบให้เรามานั่งด้วยกับเขา

แบ๋นก็เรียนจดหมายของแบ๋นไป เขาก็แบบ ทำอะไรอะ ไหนดูดิ๊ ดึงจดหมายเราไปอ่าน เราก็แบบ ไม่ได้ตั้งใจจะปรึกษา เขาอ่านเสร็จแล้วเขาบอกว่า จดหมายอ่อนไปนะ ทำไมคุณจะต้องไปลากแม่น้ำทั้งห้าว่าเรามีความจำเป็นจะต้องละหมาด คุณก็บอกเขาไปเลยว่าจำเป็น แล้วเรายืนยันว่าไม่สามารถจะแบบ คือเรื่องละหมาดมันไม่สามารถที่จะต่อรองได้จริง ๆ  เขาก็เลยพูดกับแบ๋นว่า แบ๋น อะไรที่เราผ่อนปรนได้ เราผ่อนปรนนะ ให้ได้มากที่สุด แต่อะไรที่เราผ่อนปรนไม่ได้ เราต้องยืนยันนะว่าไม่ผ่อนปรน เราได้แค่นี้จริง ๆ แบ๋นก็เลยรู้สึกว่า ตรงนี้แหละ ที่ทำให้แบ๋นรู้สึกได้ว่า อ๋อ มุสลิมมันไม่ใช่แค่ถูกบังคับให้ต้องแบบทำอย่างนี้ แต่เรามีสติปัญญา แล้วเราคำนวณได้ แล้วเราคนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นพลเมือง เราคำนวณ แล้วเราตัดสินใจ แล้วเราทำ

บางคนก็มีข้อข้องใจ แบ๋นทำงานในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน มีประเด็นนึงในเรื่อง LGBT สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตรงนี้ ซึ่งแบ๋นจำเป็นจะต้องตัดสินใจว่าแบ๋นจะเอายังไง แบ๋นก็เข้าไปหาอ่าน เรารู้ เรามีความรู้นี่คะ เราก็ไปหาข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่อง LGBT ให้ได้มากที่สุด เราคุยกับนาย แล้วเราก็รู้ด้วยว่ามุสลิมนะ ส่วนที่จะมาซ้อนทับกับเรื่องนี้ได้ก็คือ ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเขาจะเป็นยังไงก็ตาม แล้วแบ๋นก็ไม่รู้ล่ะ แบ๋นตัดสินใจว่าแบ๋นจะยึดตรงนี้ แล้วในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แบ๋นต้องปกป้อง ยืนยันสิทธิของ LGBT มาถึงปัญหาเรื่อง พรบ. เรื่องการสมรสเท่าเทียม เราก็คิด คำนวณ แล้วสำหรับเรา เราตัดสินใจ แล้วเราไม่ได้อายที่จะบอกว่า เราสนับสนุนให้มี พรบ. ฉบับนี้ เพราะว่าเราได้คำนวณไปแล้วว่าเรื่องศาสนา ศาสนาอิสลามไม่ได้บอกให้เราอยู่ในประเทศที่ต้องเป็นกฎหมายชารีอะห์เท่านั้น

เราอยู่ในคำสอนที่แบ๋นได้อ่านมาทางด้านรัฐศาสตร์ ให้เราอยู่ในประเทศที่มีความยุติธรรม ไม่ได้บอกให้เราอยู่ในประเทศที่ต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น แบ๋นชอบศาสนาของเราตรงที่เปิดให้เราตัดสินใจ เพราะฉะนั้นแบ๋นก็เคารพ ไม่ว่าจะ สส. มุสลิม หรือใครก็ตามที่เขาจะบอกว่าเขาไม่โหวตให้หรือเขาไม่สนับสนุน แต่สำหรับแบ๋น แบ๋นตัดสินใจที่จะเลือกว่าเราอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะมอง พรบ. หรือกรอบโครงสร้างอะไรต่าง ๆ เราต้องมองโดยส่วนรวม ไม่ใช่แค่เรา ว่าฉบับนี้จะไม่ใช่แค่เรา แล้วคนอื่นจะได้ใช้ และมันก็มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคม สำหรับแบ๋น แบ๋นก็เคารพทุก ๆ คน แบ๋นรู้ว่าแบ๋นอาจจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่อย่างน้อยที่สุด แบ๋นก็มั่นใจว่าเราจะสามารถที่จะทำให้คนรู้จักมุสลิมได้ในอีกแบบนึง

 

The People : ต้องมีอีกกลุ่มนึงแน่ ๆ เลยที่ไม่เห็นด้วย เราจะจัดการความรู้สึกตรงนี้ยังไง

ประทับจิต : แบ๋นเคารพทุกคน แล้วก็บอกตรง ๆ ว่า จริง ๆ แล้วอยากเป็นเหมือนพ่อ พ่อเนี่ยได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิม ให้ได้ไปช่วยเหลือ ไปเป็นวิทยากร ไปบรรยาย อะไรอย่างนี้ แล้วเราก็อยากจะช่วยพี่น้องมุสลิม เพราะว่าอยากจะให้ความเป็นธรรมมันเกิดขึ้นอะค่ะ เพียงแต่เราก็ยอมรับว่าเรามีบุคลิกบางอย่าง ที่อาจจะไม่ได้แบบว่า เขาอาจจะไม่ได้มองว่า ผู้หญิงมีศักยภาพในการที่จะไปช่วย contribute มากนัก ก็เลยอาจจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ตอนแรกก็น้อยใจ แต่ว่าเราก็มาเรียนรู้ในชีวิตของเรา เราอาจจะต้องตัดสินใจ

แบ๋นชอบบทความนึงของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ก็เป็นมุสลิมเหมือนกัน มีบทความที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็คือ The Life of this World บรรยายเกี่ยวกับชีวิตของมุสลิม ที่มีความเป็นอัตลักษณ์มุสลิม แต่ต้องต่อสู้ ต่อรอง และต้องตัดสินใจ โดยที่การตัดสินใจของเราถูกผิด จะไปตัดสินกันวันที่อัลเลาะห์ คือที่เราตายไปแล้วนั่นแหละ พระผู้เป็นเจ้าของเราจะเลือกว่าเราจะตาย คือพ่อบอกแบ๋นว่า ให้ตัดสินใจ อย่างที่แบ๋นเล่าให้ฟัง ให้ผ่อนปรน จนกระทั่งบนพื้นฐานที่ไม่ได้จริง ๆ เป็นบาปใหญ่จริง ๆ เราจึงไม่ทำแบบนั้น แล้วก็ให้ขออภัยต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยหวังว่าวันนึงจะได้รับการอภัย อันนี้คือก็คล้าย ๆ คริสต์ คือเราจะแบบขออภัยโทษต่อพระผู้เป็นเจ้า

ตรงนี้ที่แบ๋นคิดว่า เราต้องมีความมั่นใจในการกล้าจะตัดสินใจโดยความนอบน้อม ว่าเรายอมรับนะ เราไม่ใช่สิ่งที่ถูกที่สุด เราอาจจะตกนรกก็ได้ แบ๋นก็ยอมรับตรงนี้ คือบางทีเราต้องมาตัดสินว่า ใครที่เป็นต้นแบบของแบ๋น แบ๋นอยากเป็นแบบพ่อ แต่เป็นไปไม่ได้ คือทุกคนคงอยากเป็นที่พึ่งหวังในชุมชนตัวเองอยู่เหมือนกันเนอะ ว่าเราก็อยากจะทำประโยชน์ให้เขา แต่ว่าไม่ได้รับความไว้ใจ

เราอาจไม่ได้จำเป็นต้องได้รับการยอมรับ แต่เรามีความหวังดีต่อชุมชนของเรา อยู่ให้เป็นหลัก ยืนให้นิ่ง ยืนให้ตรง หยั่งรากให้แน่น

ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล The People : เราทำคอลัมน์ชื่อว่า ‘ก่อนตาย ไดอารี’ เลยอยากจะถามคุณว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับความตายที่อยากเล่าให้ฟังไหม

ประทับจิต : คือแบ๋นรู้ แบ๋นถึงอยากมาออกก่อนตายมาก เพราะรู้สึกว่า สิ่งที่เราเรียนรู้ในชีวิตของเราก็คือว่า พระผู้เป็นเจ้าจะลดทอนอัตตา แบ๋นเคยมีอัตตาว่าเราเป็นชนชั้นกลางอะ พ่อเราต้องไม่หายสิ ฉันเป็นคนชนชั้นกลางนะ ฉันไม่ใช่ชาวเผ่าอะไรอย่างนั้น อยู่ดี ๆ มาหายตึ้งนึงแล้ว แล้วครอบครัวเราเนอะ พ่อเรา แม่เรา เป็นคนที่มีชื่อเสียงพอสมควรเนอะ เราน่าจะได้รับการยอมรับ อ้าว เปล่า คือแบ๋นรู้สึกว่า at the end พระผู้เป็นเจ้าสร้างเรามาเพื่อให้เรา humble เรื่อย ๆ แบบฆ่าอัตตาในตัวเรา แล้วให้เราเป็นเรา ยอมรับข้อเท็จจริงของเรา

อย่างนี้แหละ คือ message ที่ได้จากครอบครัวของเรา ก็คือว่า ถ้าอยากจะ deliver ผ่านอันนี้ก็คือว่า เรื่องการที่เราจะไม่เชื่อว่าดีไม่ดียังไง คนดีไม่ดีไม่เกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ อันนี้เป็น message ที่แบ๋นพยายามที่จะส่งมาตลอดชีวิต อันนี้อันที่หนึ่งค่ะ

อันที่สองก็คือการยอมรับความจริง ชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การที่อยู่กับพ่อแม่ที่ทำงานด้านนี้ตลอด มันคือการที่แบ๋นรู้สึกอึดอัด คับข้องใจกับอัตลักษณ์ของตัวเองอยู่พอสมควร ในการต้องแบก จริง ๆ ไม่ได้คิดจะคลุมผม แต่ว่าอยู่ในสังคมที่โรงเรียน ก็เรียนโรงเรียนพุทธ โรงเรียนราชินี เคยอายที่จะบอกคนอื่นว่าเป็นมุสลิม แต่พอพ่อหายไปปุ๊บ เราได้ตั้งคำถามกับชีวิตของเรา พ่อเนี่ย เป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกว่า สงสัยเราต้องกลับมายอมรับความจริงในชีวิตของเราขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว เราไม่สามารถเป็นไปตามส่วนมาก แต่ก่อนเราโตมาด้วยความรู้สึกว่า ความเหมือนคนส่วนส่วนใหญ่ของประเทศเนี่ย จะเป็นสิ่งที่ดีในชีวิตของเรา แต่ปรากฏว่า เราถูกกระแทกด้วยความต่างอัตลักษณ์ต่าง ๆ

จนกระทั่งแบ๋นขี้เกียจบอกใครแล้วว่าแบ๋นเป็นมุสลิม ตัดสินใจคลุมผมเลย ไม่ใช่แปลว่าแบ๋นบอกว่าแบ๋นดีกว่าคนอื่น แต่เพื่อจะบอกว่า ฉันเป็นมุสลิม จบ อันนี้คืออัตลักษณ์นึงของฉัน เราไปพร้อมกับอัตลักษณ์ นามสกุลของเรา มีเรื่องมากมาย คนจะต้องมองเรา การที่คนหายไป การที่ในสังคมไทยปัจจุบันยังมีความเข้าใจว่า การเป็น NGO คือคนที่สร้างปัญญหา คุณเอาปัญหามาวางบนโต๊ะทำไม หรือเป็นนักโวยวาย ทั้ง ๆ ที่ในโลกใบนี้มันก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกแบบแล้ว

การที่เราเอาปัญหามาวางบนโต๊ะ ก็เพื่อให้มีการแก้ไข ถ้ามันไม่มีมาวางบนโต๊ะ มันจะไม่ได้รับการแก้ไข ความยุติธรรมก็จะไม่เกิด แต่ว่าความเข้าใจในสังคม เวลาเด็กออกมาชุมนุม ออกมาโวยวายทำไม มาตั้งคำถามทำไม ยังมีแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราจะต้องแบก แบ๋นก็เลยคิดว่า อย่างนึงก็คือต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับชีวิต แล้วมันก็จะกระแทก แต่ข้อดีที่สุดก็คือว่า การยอมรับความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้เรามีความรู้สึกว่ามีความสุขกับสุขกับชีวิตได้มากขึ้น

อ่อนน้อมถ่อมตัวได้มากขึ้น แล้วก็ทำลาย ego ที่มีอยู่ตัวเราที่มากเหลือเกินเนี่ย ไปเรื่อย ๆ ๆ ตรงนี้แหละ ทำให้แบ๋นรู้สึกว่า เราได้มาถึงจุดที่เราไม่ต้องมีภาพลักษณ์เวลาที่แบ๋น present เวลาที่ออกรณรงค์ทางสังคม จะ present ตลอดว่าเป็นคนธรรมดา มีทั้งด้านที่ดี ด้านที่ไม่ดี แต่ความเป็นสิทธิมนุษยชนคือจบ คือ bottom line ของทุก ๆ อย่าง คือแบ๋นคิดว่า เลยใช้ชีวิตการทำงาน สไตล์ของตัวเองเป็น message นึงด้วย

อาจจะแตกต่างจากแม่ เพราะแม่เขาจะเหมือนกันว่า present การเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ แต่สำหรับของแบ๋นก็คืออีกรูปแบบนึง ซึ่งได้เลือก จะ represent ความเป็นธรรมชาติของตัวเรา ซึ่งมี combination หลายอย่าง แล้วก็มีการตัดสินใจอัตลักษณ์ของตัวเอง ตรงนี้คือสิ่งที่ได้เตรียมพร้อมเอาไว้ อยากจะบอกว่า การปรับปรุงบุคลิกภาพของตัวเอง การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดคุยกับคนอื่น การทำงานทั้งหมด อยู่ใน line ของการที่จะพยายามรณรงค์มิติด้านสิทธิมนุษยชนและเรื่องของพ่อ แค่นั้นเลย

แต่ว่าลึก ๆ แล้ว มีบางอย่างที่แบ๋นจะบอกตัวเองไว้ อย่างเช่น ฉันจะนั่งรถเมล์ตลอดไป ส่วนนึงก็คือ ไม่ได้ขับรถอะทุกวันนี้ เพราะหวังว่ามันจะได้ทำให้เรายังอยู่ ได้เห็นชีวิตผู้คนที่ยากจน ได้รู้ว่า อ๋อ เราต้องอยู่กันแบบนี้นะ เราต้อง keep passion ของเรา ไม่ใช่ว่าเราก็ไปทำงานกับองค์กร แล้วแบบคนมองมาว่าทำงานที่ UN จะต้องเป็นคนที่มีหน้า มีตา แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เราควรจะเก็บ passion ในตรงนี้มากกว่า remind ตัวเองไว้เสมอว่า passion ของเราคืออะไร แล้วเราทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทำยังให้ชีวิตของเรามัน relevant มันสอดคล้อง

ประทับจิต นีละไพจิตร : หยาดน้ำตาและความชอกช้ำของลูกสาวทนายสมชาย พ่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายไปตลอดกาล The People : เตรียมตัวเรื่องความตายมานานแล้วหรือยัง

ประทับจิต : ในฐานะที่เป็นมุสลิม มันลืมไม่ได้จริง ๆ แต่ว่ายังทำไม่ได้ดีนะคะ ตอนนี้ยอมรับเลยว่า อ่านคอลัมน์ของน้อง เพื่อให้เตือนตัวเองแล้วไปทางศาสนามากขึ้น เพราะตอนนี้ชีวิตดูเหมือนไปทางโลกมากเกินไป ทำงานมากจนเกินไป ลืมครอบครัว เริ่มจะเป็นเหมือนพ่อ เป็นคน workaholic เพราะว่าเริ่มจะมาเอาคุณค่าของเราอยู่ที่การทำงานแล้ว ตอนนี้อย่างที่รู้ก็คือ บอกคำนึง ชอบมากเลย เหมือนน้องเบลเป็นคนเข้าใจชีวิตมากเลยเนอะ พี่ยังสู้อยู่ใช่ไหมคะชีวิต 40 แล้ว ใคร ๆ ก็นึกว่าเรา settle down เปล่า เราก็ยังสู้เพื่อจะ adjust ชีวิตของเราให้มันกลมมากขึ้น อะไรอย่างนี้มากขึ้น ปีที่แล้ว น้องอยู่ ๆ ดีพูดขึ้นมาคำนึง ซึ่งกระแทกแบ๋นอีกเหมือนกันว่า แบ๋น you อยู่บ้านทุกวันก็จริง แต่ว่าพวกเราทุกคนต้องการแบ๋นนะ เหมือนกับว่าอยากจะให้เราออกจากจอคอมพ์ แล้วก็มาใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขาด้วย

 

The People : ถ้าเกิดมีไดอารี 1 เล่มที่คุณจะส่งต่อเล่มนี้ให้คนที่อยู่ได้รู้จักว่า ครั้งนึงเคยมีคนชื่อประทับจิตอยู่บนโลกนี้ คุณอยากจะเขียนอะไรลงในไดอารีเล่มนี้

ประทับจิต : อยากจะเรียบเรียงประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง จริง ๆ แล้ว อยากจะแบบว่า ตั้งกลุ่มศึกษาด้วยซ้ำ อยากจะถ่ายทอดการทำงาน เพราะว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอย่างนึง ก็คือว่า ต้องเป็นคนที่อยากจะแก้แค้น แต่แบ๋นยืนยันได้ว่าที่แบ๋นทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แล้วครั้งนึงเคยได้รับคำชมจากเจ้านาย เขาบอกว่า แบ๋นเป็นคนที่มี positive thinking เหมือนกับว่า เราทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยหวังว่ามันจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี คือเหมือนกับว่าเราจะไม่จ้องจะ blame ว่า จะต้องเอาผู้กระทำความผิด หรือฉันจะต้องได้รับอย่างนู้น อย่างนี้ จากสังคม เพื่อที่จะมา serve สิ่งที่ฉันขาดหายไป 

เราไม่ได้คิดอย่างนั้น แล้วเราคิดว่าเหยื่อความรุนแรงหลายคนก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่ว่ายังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหยื่อว่า เป็นพวกที่อยากจะแก้แค้น อยากจะเอาเงิน อยากจะได้ค่าชดเชยอย่างเดียวเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ แล้วแบ๋นอยากจะบอกว่า การทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน มันคือการแบบว่า การใช้ศิลปะในการหาทาง ใช้ช่องทางต่าง ๆ ในการโน้มน้าวให้คนเชื่อ เห็นด้วยกับเรา แล้วรู้ว่ามันเปลี่ยนแปลงได้นะ

แล้วก็อยากจะให้ทุกคนแบบว่า go fundamental มากขึ้นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ก็คือเรื่องของการปลดเปลื้องเรื่องคุณงานความดีที่แบบ คงจิตนาการออกว่าแบบดี คุณธรรม ต้องแบบนุ่งขาวห่มขาว ใส่เหลือ ใส่ฟ้า เราต้องการการจะอยู่ด้วยกันด้วยความแตกต่าง หลากหลายจริง ๆ แล้วก็เราควรจะมีได้หลายแบบ ตรงนี้แบ๋นคิดว่า อยากจะปลด ไขล็อกส่วนที่ยังรัดตึงสังคมไทยอยู่อะค่ะ แบบความเชื่อประเภทที่ว่าจะต้องเป็นคนดีเท่านั้นนะที่จะได้ดี แต่ว่า แค่ความเป็นมนุษย์ ก็ควรจะได้รับสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานตามที่เขาได้ มีคนพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเยอะมาก แต่ว่าก็ยังเห็นว่า อาจจะต้องฝ่าฟันกันไปเล็กน้อย

อยากจะส่งต่อไดอารีถึงคนรุ่นใหม่ว่า มาช่วยกันทำให้ไปถึงรากลึกของคุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชนกันเถอะ อย่าให้มันเป็นแค่ discourse วาทกรรมที่ลอย คนก็หยิบฉวยมันเก๋ ๆ เท่ ๆ หรือเบลมมัน โดยที่ยังไม่รู้จักมัน ทำให้มันอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเรากันเถอะ

 

The People : คุณเคยจิตนาการไหมว่า โตขึ้นมาเราอยากใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองไหน แล้วพอเราโตขึ้นมา สังคมที่เราเคยวาดฝัน มันเป็นไปตามที่เราคิดไหม

ประทับจิต : แบ๋นพบว่า สังคมมันก็เป็นแบบนี้แหละ เพียงแต่เราถูกเลี้ยงมาอยู่ใน bubble แบ๋นโตมากับละคร เพิ่งมาได้ดูซีรีส์เกาหลี ซึ่งแต่ก่อนพี่เฮิร์ตมากว่าแบบ ซีรีส์เกาหลี พระเอก นางเอกมันไม่ได้กันว่ะ แล้วเรามาเจอในชีวิตรักของเรา ซึ่งเราโตมาในครอบครัวที่ดี เป็นครูข้างถนน แต่พอความผิดหวังในชีวิตมันสอนให้เรารู้ว่า สังคมมันยังเป็นแบบนี้ มันยังไม่ คนยังไม่เท่ากัน สิ่งที่ทำให้แบ๋นเจ็บปวดมากที่สุดก็คือว่า พ่อของแบ๋นหายไป แต่หลังจากนั้น แบ๋นก็ได้ยินว่า คนอื่นหายไป น้องของคนนี้หายไป คนหายยังอยู่ มันทำให้แบ๋นรู้สึกว่า อ้าว คุณสมชายที่หายไปไม่ได้มีคุณค่าที่ทำให้คุณหยุดได้หรอก อ้าวเหรอ ไม่ได้มีค่าเหรอ

เพราะฉะนั้น แบ๋นเลยคิดว่าสังคมที่แบ๋นอยากเห็นเนี่ยค่ะ จึงเป็นเรื่องของคุณค่าของคนทุกคนเท่ากัน อย่างน้อยที่สุด ไม่ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหน จะต้องไม่ถูกทำให้หายไป แบ๋นยังเห็นแก่ตัวอยู่ คือยังอยากจะกอบกู้ศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของเราคืนมา ศักดิ์ศรีของพ่อเรา คือเราเคยถูกสอนมาว่า สสารไม่ควรจะหายไปบนโลก แต่ทำไมคนคนนึงถึงได้หายแบบไร้ร่องลอยได้ขนาดนี้ แล้วมันส่งผลถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราด้วยว่า แบ๋นควรจะมีสิทธิที่จะมีคนรัก ครอบครัวของแบ๋นอยู่กับแบ๋น แต่ อ้าว แบ๋นเป็นใคร ทำไมมาเอาของแบ๋นไป เหมือนไม่เห็นศักดิ์ศรีว่าแบ๋นเป็นมนุษย์ แล้วแบ๋นก็อยากจะให้เรื่องนี้มันหยุด

 

The People : แนวโน้มในอนาคต คิดว่าสถานการณ์ถูกบังคับสูญหาย การอุ้มหาย มันจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน รัฐไทยตระหนักในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนแล้ว

ประทับจิต : ล่าสุดก็คือเคสวันเฉลิม ซึ่งช่วงเกิดโควิด ไม่กี่ปีมานี้เองอะ มันก็ยังเกิดอยู่เลย เพราะอะไร เพราะเราก็ยังไม่ได้ฝ่าฟันกันไปโดยเชื่อว่า เลวแค่ไหนก็ต้องไม่หาย ทำยังไงดีที่เราจะไป fundamental ได้ขนาดนั้น แบ๋นยังคงมีความเชื่อว่ามันจะไม่มีการทำให้หายแล้วแหละ แต่จากประสบการณ์ชีวิตก็คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน มันจะเป็นพลวัต มันจะไม่มีจบ เพราะฉะนั้น แบ๋นได้แต่บอกตัวเองว่า ไม่ว่าสังคมจะเป็นยังไง เราจะ deliver message นี้

คือปลงอย่างนึงว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน จะเป็นงานที่ไม่มีวันจบ จะเป็นพลวัต อันนี้จากความรู้ที่แบ๋นเคยทำมานะคะ ช่วงนึง พอเป็นข่าวดังปุ๊บ คนหายจะน้อย แต่เปลี่ยนมาเป็นวิธีการยิงให้ตาย เพราะฉะนั้นแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยน เดี๋ยวคนหายอาจจะกลับมาอีกก็ได้นะคะ ไม่แน่ใจ แบ๋นพูดไม่ถูกเลยแหละ แต่เราก็ยังจะหาพ่อเราต่อไป เราก็ยังจะเป็นคนนึงที่เป็นพยาน แล้วก็จะไม่เงียบที่จะออกมาบอกทุกคนว่า อย่ายอมในเรื่องนี้ ได้แต่บอกตัวเองแบบนั้นเลยค่ะ

แบ๋นคิดว่า คนรุ่นพ่อกับแม่ของแบ๋นอะ คือตั้งสังคมที่เป็นอุดมคติว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปสู่จุดนั้น น้อง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็คือ รู้แหละว่าอยากจะเปลี่ยนสังคมไปสู่จุดนั้น

แต่เอาเข้าจริงจากประสบการณ์มนุษย์ป้าอย่างแบ๋นพบว่า เราได้แค่บอกตัวเองได้ว่า เราอยากจะเปลี่ยนยังไง แล้วเราจะทำแบบนั้น เราแค่ได้แต่กำหนดว่า เราจะพยายามเปลี่ยนสังคมให้เป็นแบบนั้น โดยที่ไม่หวังว่า สังคมมันจะเปลี่ยนได้ในรุ่นเราอะ คำว่าจบในรุ่นเรา แบ๋นเรียนรู้ของแบ๋นเลยว่า ฉันจะทำไปจนกว่าฉันจะตาย

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : จุลดิศ อ่อนละมุน