“วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ศาสตราจารย์ตาบอด ผู้เชื่อว่าคนพิการต้องรู้จักการให้

“วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ศาสตราจารย์ตาบอด ผู้เชื่อว่าคนพิการต้องรู้จักการให้

"คนตาบอดทำได้ทุกอย่าง แล้วเราต้องหาเรื่องท้าทายทำ ความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของมนุษย์เราออกมาได้"


"...วิริยะ ถ้าเธอเติบโตขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ เธอไม่ต้องตอบแทนฉัน แต่ขอให้เธอไปช่วยเหลือคนพิการในประเทศไทย..." คำพูดของมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevieve Caulfield) สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้นำอักษรเบรลล์มาเผยแพร่แก่คนตาบอดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ดังก้องในความคิดของ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้เขาเชื่อว่า คนพิการทางสายตามีศักยภาพเทียบเท่าคนตาดีทั่วไป ซึ่งทำให้เขากล้าที่จะพิสูจน์ความเชื่อด้วยการเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต แล้วไปเรียนต่อต่างประเทศที่ Harvard Law School ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาอาจารย์สอนนักศึกษาที่มีการมองเห็นปกติ The People : ทำไมอาจารย์ที่สายตาพิการถึงได้มาสอนนักศึกษาที่ตาปกติได้ วิริยะ : เดิมผมก็ไม่ได้ตาบอดนะ พออายุ 15 เรียน ม.ศ. 2 ม.ศ. 3 ก็ไปเล่นวัตถุระเบิดที่คนทิ้งเอาไว้ในกล่องทดลองเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของผม ช่วงนั้นวัตถุระเบิดมันอาจจะเยอะหน่อย เพราะมันช่วงสงครามเวียดนาม แล้วผมอยู่ที่โคราช มันเป็นฐานทัพของอเมริกา ในช่วงนั้นก็ปี 2510 พอตาบอด เราก็เชื่อเหมือนคนทั่วไปที่มองว่าเมื่อตาบอดแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งผมเสียใจมาก เพราะตั้งใจเรียนทุ่มเทหนักเพื่อจะเป็นหมอ  แต่เมื่อมีโอกาสไปเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ตรงสี่แยกตึกชัย ก็ได้พบกับ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกันที่ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นมา แล้วก็มีซิสเตอร์โรสมัวร์ (Rose Moore) เป็นแม่ชีที่คอยช่วยงานท่านในการบริหารโรงเรียน ท่านกลับให้ผมท่องคาถาว่า คนตาบอดทำได้ทุกอย่าง แล้วเราต้องหาเรื่องท้าทายทำ ความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของมนุษย์เราออกมาได้ แล้วตอนหลังผมก็เรียนรู้ต่อมาอีกว่าถ้ามนุษย์เรารู้จักใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส หรือเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส อันนี้ก็จะเป็นสุดยอดของความฉลาดของมนุษย์เรา แล้วท่านไม่ได้พูดอย่างเดียว คือพูดอย่างเดียวเราก็ไม่เชื่อ ผมก็ไม่เชื่อ แต่ท่านให้เราลงมือทำเลย ก็เริ่มเลยนะ พอผมเข้าโรงเรียนท่านก็ให้เพื่อนตาบอดรุ่นน้องที่เป็นคนตาบอดพาผมฝึกเดินด้วยไม้เท้าขาว ไปไหนมาไหนไปนู่นมานี่ ผมก็ไม่ค่อยจะเชื่อว่าคนที่ฝึกผมเป็นคนตาบอด เพราะว่าเขาบอกผมได้หมดเลยว่า ถังขยะระวังนะ อยู่ข้างหน้า 2 เมตร ผมก็อยากจะทดลองดู เดินไปก็เจอถังขยะ คือเขาบอกให้เราระวังอะไร เราก็อยากทดลอง แล้วเราก็พบว่ามันก็จริง แล้วเราก็สงสัยตาบอดรู้ได้ยังไง ขนาดตอนกลางคืนเขานอน ก็ยังไปแอบคลำลูกตาเขาว่ามันมีลูกกะตาหรือเปล่า (หัวเราะ) ยิ้มสู้ เพราะเราไม่เชื่อ แต่เราเรียนรู้ไปสักระยะแล้วเริ่มมีความเชื่อมั่น แล้วเราเริ่มรู้ว่าจริง ๆ แล้วความเชื่อสำคัญ ความเชื่อมันเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเรา ถ้าเรามัวพูดว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้ มันก็คือไม่ได้ แต่พอเราเชื่อว่าทำได้ ก็หาเรื่องที่ท้าทายทำ เราก็ทำได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ใช่ไหม เขาพาผมไปฝึกขึ้นรถเมล์เพื่อไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เราก็ฝึก มันก็ไปได้ ขึ้นรถเมล์ไปเรียนหนังสือได้ เขาฝึกเราไปเดินหาของกินนอกโรงเรียน ของอร่อย ๆ เดินไปเดินมา ได้ แล้วที่มากไปกว่านั้น เพื่อนผมเก่งถึงขนาดตอนกลางคืนเขาห้ามไปไหน เขากลับชวนผม มาถึงสะเดาะลูกกุญแจ คือออกไปซื้อของมาฝากยามหน่อย ออกไปข้างนอกได้ใช่ไหม แล้วเราก็จะเริ่มเชื่อว่า ตาบอดมันก็เหมือนคนทั่วไป ขอให้เราเชื่อว่าทำได้เราก็ทำได้ และด้วยเหตุนี้ครับ ผมจึงตั้งเป้าจะเรียนกฎหมาย เพราะมันเป็นอาชีพที่คนตาบอดในต่างประเทศเขาทำได้ดี ไม่ว่าเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา เป็นอาจารย์ เป็นทนาย เขาทำได้ดี ผมก็เลยสนใจว่า เรื่องนี้ตาบอดในต่างประเทศเขาทำได้ดี เมืองไทยเราก็ต้องทำได้ ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้น กฎหมายก็ห้าม ทำอะไรก็ไม่ได้ เป็นทนายก็ไม่ได้ เป็นอะไรไม่ได้ทั้งนั้น (หัวเราะ) ก็ยังไม่แน่ใจว่า เขาจะให้เราเรียนหรือเปล่า แต่เราก็ตั้งเป้าทุ่มเทที่จะสอบแล้วเรียน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สอนผมในเวลานั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านสอนก็คือคนตาบอดเราต้องรู้จักให้ พอเวลาเราตาบอดแล้ว ความเชื่อมันอยู่ในสมองเราเลยว่าเราเป็นภาระ เราต้องแบมือขอความช่วยเหลือคนอื่น เพราะงั้นพอถ้าบอกตาบอดต้องรู้จักให้ ผมเถียงเลยว่า เรายังช่วยตัวเองไม่ได้เลย แล้วจะไปช่วยคนอื่นได้ยังไง ท่านบอกมันอยู่ที่ใจเรา ถ้าเธออยากจะช่วยคนอื่น ทำได้ สองอย่างทันทีเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอคอย หนึ่ง ยิ้ม ท่านบอกคนตาบอดยิ้มแย้มแจ่มใสช่วยให้คนไม่ฆ่าตัวตายมาเยอะแล้ว เพราะหลายคนอยากจะฆ่าตัวตายก็มาบริจาคเงินทำบุญที่มูลนิธิก่อน เห็นตาบอดยังสนุกสนานกันได้ ก็นึกได้ว่าแล้วเราจะฆ่าตัวตายไปทำไม ตอนนั้นมีคนดังคนหนึ่งมาพูด ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว มาพูดออกข่าวในสถานีตลอดเลยว่า เธอเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่พอไปทำบุญที่โรงเรียนนี้ เห็นตาบอดยิ้มแย้มแจ่มใส ท่านก็เลยเลิก แล้วก็หันมาทำเหมือนกับที่คนตาบอดสั่งสอนก็คือพยายามให้คนอื่น มาเป็นจิตอาสาทำนู่นทำนี่ แล้วท่านก็รู้ว่า การให้มันคือความสุขที่แท้จริง

 

คนตาบอดทำได้ทุกอย่าง แล้วเราต้องหาเรื่องท้าทายทำ ความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของมนุษย์เราออกมาได้

นอกจากการยิ้มแล้ว ท่านยังบอกเธอมีเลือดไหม ผมบอกมี มีก็ไปบริจาคโลหิตสิ เลือดเธอช่วยชีวิตคนอื่นได้ เลือดตาบอดช่วยชีวิตคนอื่นได้ พวกเธอรุ่นพี่ก็ไปบริจาคเลือดกันเยอะแยะ ผมก็บริจาคเลือด ทุก 4 เดือนบ้าง ปีละครั้ง ปีสองครั้งบ้าง ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก ก็ได้มา 36 ครั้ง พอเริ่มกินยาเขาก็ไม่เอาแล้ว แต่รุ่นพี่ทุก 3 เดือน ปีละ 4 ครั้ง เขาบริจาคได้มากที่สุดถึง 139 ครั้ง ได้รับสารพัดรางวัลจากสภากาชาด เพราะบริจาคมากที่สุดในสภากาชาด 139 ครั้ง นั่นก็คือปีละสี่ครั้งเป็นเวลา 35 ปี แล้วคนตาบอดที่บริจาคกันเหยียบร้อยมีหลายคน ไอ้หลักสิบนี่เรื่องธรรมดา อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า เราได้รับคำสอนดี ๆ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา แล้วอีกอันหนึ่งที่ท่านสอนพวกเรามาก็คือเมื่อพวกเราช่วยตัวเองได้แล้ว อย่าลืมช่วยรุ่นน้องต่อไป แล้วท่านก็ให้พวกเรารวมกันเป็นสมาคม เพราะงั้นคนตาบอดก็จะมีสมาคมเป็นแห่งแรก ตอนแรกก็ไม่เป็นทางการ ก็มาเป็นทางการก็ตอนผมตาบอดนี่แหละ ปี 2510 แล้วก็ใช้สมาคมแหละ ขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ผมก็ไปร่วมด้วย เช่น อุปกรณ์ที่เราเอามาใช้ในการเรียนหนังสือ มันต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น แล้วเมืองไทยก็ถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือย ภาษีแพงมาก เพราะงั้น เราจะเอาเข้าแบบเสียภาษีก็ไม่ได้ เราก็ต้องไปขอทูตอเมริกันให้ช่วยนำเข้า ให้ทหารจัสแมก (JUSMAG : Joint US Military Assistance Group) ช่วยนำเข้า มันก็ได้จำนวนจำกัด แล้วเราก็ไม่ต้องเสียภาษี แล้วเราก็เรียกร้องให้รัฐว่าให้ยกเว้นภาษี ซึ่งในภายหลังสมาคมก็ต่อสู้ได้สำเร็จ ศุลกากรก็ยินดียกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าให้ สำหรับของใช้สำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นแบบนาฬิกาที่คนตาดีใช้ได้ด้วย ต้องให้มูลนิธินำเข้าเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่นำเข้ามาเพื่อค้ากำไร แล้วก็เอามาเพื่อค้ากำไรไม่ได้ อีกเรื่องหนึ่งที่สมาคมทำสำเร็จ ก็เป็นประโยชน์กับผมพอดี นั่นก็คือว่าคนตาบอดยุคนั้นเรียนนวดมาแต่ไหนแต่ไร ปรากฏว่าเลขาฯ ก.พ. กรรมการข้าราชการพลเรือน ชอบให้รุ่นพี่ที่เป็นคนตาบอดที่ชำนาญเรื่องนวด นวดให้ รุ่นพี่นวดไปก็กล่อมท่านเลขาฯ ไปว่า เปิดโอกาสให้คนตาบอดเป็นข้าราชการได้เถอะ เขาก็เป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด แต่ก็เป็นครูไม่ได้ กฎหมายห้าม เป็นอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะสมัยก่อนครูอาจารย์อะไรทั้งหลาย ถือเป็นข้าราชการพลเรือนเหมือนกันหมด ท่านบอก ในเมื่อทำงานได้แบบพวกเธอ ทำงานดีด้วย ทำงานได้ด้วย มันก็ต้องเป็นได้สิ ทางรุ่นพี่ก็บอก เขาก็ไม่ตีความให้พวกเรา ท่านก็บอกเดี๋ยวจะไปใส่ข้อความเปิดให้เขาตีความ พอมีการแก้กฎหมาย ท่านก็เลยใส่เข้าไปหนึ่งวลี คุณสมบัติต้องห้ามเดิม พิการทุพพลภาพห้ามเด็ดขาด ท่านก็ไปใส่ว่าจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้แต่ละหน่วยงานไปดูเอา ถ้าทำได้ก็ให้เป็นข้าราชการ สมัยนั้นปัญหาใหญ่ก็คือคนที่เป็นข้าราชการแล้วมาพิการในภายหลังก็ให้ออกจนเกลี้ยงเลย โดยเฉพาะข้าราชการครู ยุคผมหลายร้อยคนเลย โวยวายกันใหญ่ว่า เราก็ยังสอนได้ เราอุทิศตัวเพื่อเด็ก สอนเด็กเล่นกีฬา เกิดอุบัติเหตุพิการ ให้เราออกแล้ว ทั้ง ๆ ที่ก็ยังสอนวิชาอื่นได้ ยิ้มสู้ มันก็เป็นปัญหา อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ โชคดีที่กฎหมายแก้ก่อนที่ผมจบธรรมศาสตร์ อย่าลืมนะสมัยนั้นโรงเรียนรัฐบาลเขาไม่ให้เรียนนะ แต่อย่างที่บอก บางทีวิกฤตมันก็เป็นโอกาส เมื่อโรงเรียนรัฐบาลไม่ให้เรียน Miss Genevieve Caulfield ก็ส่งคนตาบอดไปเรียนต่างประเทศ ไปเรียนโรงเรียนของท่าน ก็คือโรงเรียน Overbrook School for the Blind ที่เพนซิลวาเนีย แต่หลายคนเรียนแล้วก็ไม่กลับ หลายคนเรียนจบแล้วก็กลับมาเป็นครูต่อ แล้วก็ที่บอกท่านเลขาฯ ก.พ. ว่าครูของเรานี่จบนอกทั้งนั้นนะ (หัวเราะ) ไม่ใช่ครูกระจอก ๆ นะ ที่ท่านยอมปรับแก้กฎหมายบอก ปริญญาโทจากอเมริกาทั้งนั้น ด้านการศึกษาพิเศษด้วย หรืออย่างน้อยก็จบจาก Perkins School for the Blind ด้าน training มาแล้ว การเรียกร้องนี้จึงได้ผล อีกอย่าง ในประเทศไทยก็เหลือแต่โรงเรียนวัดคาทอลิกที่รับ เพราะว่าซิสเตอร์เขาก็ไปขอโรงเรียนคาทอลิกทั้งหลายให้ช่วยรับ ก็โรงเรียนดังแหละครับ เซนต์คาเบรียล อัสสัมชัญ ผมก็เลยมีโอกาสได้เข้าเซนต์คาเบรียล พอจบเซนต์คาเบรียลไม่มีสายศิลป์ ก็ไปจบอัสสัมชัญ สมัยก่อนก็แข่งขันกันทั้งประเทศ ตอนไปอัสสัมชัญนี่ผมเป็นคนแรกที่ไปเรียนอัสสัมชัญ มาสเตอร์เขาก็ไม่รับผมนะ อธิการเข้ารับ มาสเตอร์บอกว่า คนตาบอดมาทำให้อัสสัมชัญตกต่ำ ฉันไม่รู้จะสอนพวกเธอยังไง แล้วเธอจะเรียนได้ยังไง ผมบอกอย่าสนใจพวกเราเลย ท่านจะสอนก็สอนไป อย่านึกว่ามีตาบอดอยู่ในห้องเรียนแล้วกัน เราก็เรียน พอสอบ เด็กตกครึ่งห้อง ตาบอดสองคน ผมได้ที่สอง เพื่อนอีกคนได้ที่สาม มาสเตอร์เปลี่ยนใจ จับไอ้พวกสอบตกมานั่งอ่านหนังสือให้ฟัง ตอนให้เข้าเวรให้มาแต่เช้า แล้วก็พักเที่ยงก็ไม่ต้องไปเข้าแถว โห เพื่อนผมแย่งกันมาเป็นอาสาสมัคร เพราะไม่อยากเข้าแถว มันร้อน (หัวเราะ) สมัยผม สอบแข่งขันทั้งประเทศ แล้วก็แข่งกันติดบอร์ด 1 ใน 50 ว่าโรงเรียนไหนติดบอร์ดเยอะ ก็โฆษณาเพื่อดึงให้คนมาเรียนกัน ว่านี่โรงเรียนเรามีคนติดบอร์ด 1 ใน 50 เท่านู้นเท่านี้คน อัสสัมชัญสายวิทย์มันติดบอร์ดกันเยอะ แต่สายศิลปะมีบ้างเป็นครั้งคราว แต่ปีผมติดบอร์ดสามคนเป็นตาบอดซะสองคน (หัวเราะ) เพื่อนได้ที่ 13 ผมที่ 24 เพื่อนตาบอดที่ 32 ทำให้อัสสัมชัญดังเลย ว่าสายศิลป์ติดบอร์ดทั้ง 3 คน มีห้องเดียว รับห้องเดียวแต่ติดบอร์ดตั้ง 3 คน แล้วเพื่อนก็ไปเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผมก็มาเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ จริง ๆ หลายคนเขาก็ไม่อยากให้ผมมาเรียนกฎหมาย เขาอยากให้เรียนอักษรศาสตร์ เพราะว่าสมัยนั้นการทำงานต้องไปทำกับบริษัทฝรั่ง บริษัทไทยจะไม่รับ ก็ต้องเก่งภาษาอังกฤษ ผมก็อยากจะมาบุกเบิกเรื่องกฎหมาย ผมเลยมาเรียนกฎหมายทั้ง ๆ ที่มันก็ห้ามไปหมดนะ แต่พอดีกฎหมายแก้ก่อนที่เราจบอย่างที่บอก แค่เติมวลี ‘จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้’ แล้วผมก็สอบได้ที่ 1 ของคณะ แล้วก็ไปท็อปวิชาของคณบดี ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ เป็นวิชาใหม่ที่ไม่เคยมีสอนมาก่อน ก็คือวิชานิติปรัชญา หรือวิธีการใช้กฎหมาย ท่านบอก วิชาที่ผมเรียนกับท่าน ผมอยู่แนวหน้าหมดเลย ท็อป ๆ ทั้งนั้น ท่านบอก สอนได้สบาย แต่คนอื่นบอกทำไมจะเอาตาบอดมาสอนตาดี คนตาดีเยอะแยะ ฉันก็เลยต้องไปปรึกษา ดร.ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) ซึ่งเป็นอธิการ ดร.ป๋วยก็บอก เราต้องเปิดโอกาส ถ้า ก.พ.เขาไม่ยอมนะ ก็รับเป็นลูกจ้างประจำก็ได้ ธรรมศาสตร์ต้องสร้างโอกาสให้กับคนที่ด้อยโอกาสและเสียเปรียบในสังคม แหม เป็นอุดมการณ์ธรรมศาสตร์เลยนะ ผมก็เลยได้รับเป็นอาจารย์ เมื่อเป็นอาจารย์ เราก็ต้องเตรียมตัวสอนอย่างดี การสอนผมก็ไม่มีปัญหา เด็กก็ชอบเรียนกับผมอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่าไอ้กฎหมาย skill หรือทักษะก็คือการปรับตัวบทกับกฎหมาย ไอ้ตัวบทกฎหมายก็ข้อเท็จจริง เราก็ดูฎีกา ดูทฤษฎีที่เป็นรากเหง้าของกฎหมายนั้น ๆ เพื่อให้ความรู้แก่เด็กได้ แล้วก็ เอาข้อสอบเก่ามาให้เด็กทำ เด็กดีใจมากเพราะคนอื่นปิดบังไม่มีข้อสอบ (หัวเราะ) แต่ผมนี่เอาข้อสอบเก่ามาให้ทำ แล้วก็อธิบายนู่นอธิบายนี่ แล้วก็ชี้ให้เขาเห็นว่า กฎหมายเธอต้องขยันทำพวกข้อสอบเก่า ผมบอกผมได้ที่ 1 ก็ขยันตัวนี้แหละ ตอนไปสอบเนติบัณฑิต ผมก็ไม่ได้ไปเรียน แต่ก็ใช้สไตล์นี้ ขยันทำข้อสอบเก่า กับดูคำพิพากษา แล้วก็เอาความเห็นอธิบายก็ได้ที่ 7 เนติบัณฑิต

เพราะอย่างนี้เลยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักศึกษาว่า เราทั้งได้ที่ 1 ของคณะ ไม่ไปเรียนก็ยังได้ที่ 7 ของเนติบัณฑิต แทนที่เราจะเป็นภาระ เรากลับเป็นพลังให้กับเด็ก ๆ เด็ก ๆ ก็จะเริ่มเอาไอดอล อาจารย์ขนาดตาบอดยังทำได้เลย แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้ ผมก็บอกเขา ที่ผมทำได้เพราะผมเชื่อ แล้วผมอดทน แล้วผมไม่ยอมจำนน แล้วผมก็ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส

อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านสอนก็คือคนตาบอดเราต้องรู้จักให้ พอเวลาเราตาบอดแล้ว ความเชื่อมันอยู่ในสมองเราเลยว่าเราเป็นภาระ เราต้องแบมือขอความช่วยเหลือคนอื่น เพราะงั้นพอถ้าบอกตาบอดต้องรู้จักให้

เช่น ผมไม่มีหนังสือใช่ไหม ผมก็หาอาสาสมัครมาอ่าน ให้ฟังก่อนเรียน ผมก็เลยได้อ่านก่อนเรียน แต่พวกเธอประมาท มีตาไม่ยอมอ่าน (หัวเราะ) ไปอ่านใกล้สอบ ก็เลยอ่านไม่ทันใช่ไหม เพราะงั้นคนฉลาด เขาทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส พวกเธอประมาทมันก็ทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ เด็กก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า มันเป็นความจริงว่าจริง ๆ ไอ้เคราะห์มันก็เป็นโอกาสได้ แต่เขาประมาท แทนที่จะขยันอ่านก่อน ทั้ง ๆ ที่มีตาแต่ไม่อ่าน ผมไม่มีตา แต่ผมฟังก่อน เราไปเรียนจดเลคเชอร์มันก็ง่าย ก็พยายามบอกเขา เราก็พยายามให้วิกฤตมันเป็นโอกาส ไอ้สิ่งที่เคราะห์ไม่ดีก็ให้มันมาเป็นพลัง เพราะงั้นสโลแกนของเราจะใช้อยู่เสมอเลย ร่วมกันเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ทีนี้ผมก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย เด็กนี่ไม่มีปัญหา แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะยอมรับเรา เราก็ต้องไปเรียนโรงเรียนดัง ๆ ก็สอบ พอดีที่ธรรมศาสตร์มีนโยบายสร้างอาจารย์ประจำ คือ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ นี่ต้องถือว่าเป็นปูชนียบุคคลของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คือปกติคนมาเป็นอาจารย์เพื่อจะเป็นทางผ่านไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ แต่อาจารย์ปรีดีสละตำแหน่งจากศาลฎีกา มาเป็นคณบดี มาเป็นอาจารย์ประจำเพื่อสร้างอาจารย์ประจำตาม ดร.ป๋วย ด้วยการหาทุนให้พวกเราไปเรียนต่างประเทศ เมื่อพวกเราไปเรียนต่างประเทศ เราก็จะติดพวกวิชาการ เราก็อยากสอนมากกว่าอยากจะไปเป็น ผู้พิพากษา อัยการ และก็มีแต่เอาคำพิพากษามาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ให้นักศึกษาฟังว่าในทางทฤษฎีเขาแบบนี้นะ แต่ส่วนใหญ่ก็ดี มันก็มีบางอันแหละที่เราจะดึงออกมาอธิบายให้นักศึกษาฟังว่าโลกอื่นเขาคิดยังไง ที่จะไปเรียนต่างประเทศ เราก็ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยดัง ๆ เขาจึงจะเชื่อถือเรา ผมก็เลยเลือก Harvard เหตุที่เลือก Harvard เพราะมันอยู่ใกล้โรงเรียนสอนคนตาบอดที่อเมริกาคือ Perkins School for the Blind คือเนื่องจากการที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ หนึ่งเลยต้องสอบ TOEFL ถ้าไม่ได้ TOEFL เราต้องไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศเขาก่อน ทีนี้เขาไม่ให้ผมสอบ TOEFL (หัวเราะ) ผมก็เลยต้องขอทุนไปเรียนที่ Perkins School for the Blind เรียนภาษาอังกฤษที่นั่นก่อน แล้วก็ไปสมัครเรียน Harvard ตอนที่เราจะไปสมัคร เราก็ศึกษาว่า Harvard เขาก็มีจุดอ่อน เราเรียกว่าจุดอ่อนจริง ๆ คือจุดแข็งของเขา จุดแข็งของเขาก็อยู่ตรงที่ว่าเขามักจะทุ่มเทสร้างคนไปทำประโยชน์เพื่อสังคมทั้งในอเมริกาและนอกอเมริกา โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา เขามีทุนให้ไปเลยนะ โดยเฉพาะนักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เขาให้ทุนไปเลยแล้วก็มาเรียน ผมก็ถือว่าไอ้จุดแข็งของเขาก็เป็นจุดอ่อนที่จะทำให้เขารับเรา แล้วผมก็ไปพบคณบดี ผมก็เตรียมคำตอบไว้แล้วล่ะ ผมรู้อยู่แล้วว่ายังไงเขาก็ต้องถามว่าทำไมฉันต้องรับเธอ แล้วเขาก็ถามอย่างนั้นจริง ๆ เพราะฝรั่งก็ต้องถาม เขาต้องเริ่มด้วยคำถามที่เป็นปัญหาเพื่อให้เราหาคำตอบ เขาก็ถามทำไมฉันต้องรับเธอ ทำไมฉันต้องรับคนตาบอดมาเรียน แล้วไปอยู่ต่างประเทศด้วย เราก็บอกก็ Harvard มีชื่อเสียงมากเลยในการให้ทุนคนมาเรียนเพื่อไปต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ผมอยู่ประเทศผม ไม่มีใครเชื่อนะว่าคนตาบอดทำอะไรได้ เขาเชื่อแต่ตาบอดขอทาน แล้วคนตาบอดส่วนใหญ่ก็ยึดอาชีพขอทานจริง ๆ ผมอยากให้เขาได้มีโอกาสเหมือนผม ได้พัฒนา แล้วมีคุณภาพชีวิตเหมือนกับคนอื่น คุณให้เงินคนอื่นมาเรียนเพื่อไปทำนักสิทธิมนุษยชน ของผมหลวงให้เงินมา เพียงแค่คุณให้โอกาสให้ผมเรียน คุณให้ไม่ได้เหรอ (หัวเราะ) ในเมื่อคนอื่นก็ให้มาโดยตลอด

แล้วเราก็โม้ให้นักศึกษาฟัง ฉันจบ Harvard นะ พวกเธอก็ทำได้นะ ฉันตาบอดยังทำได้เลย มันก็เป็นพลังให้เด็ก เด็กก็จะคิดว่าอาจารย์ตาบอดอาจารย์ยังทำได้ แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้

คณบดีบอก งั้นฉันรับเธอ ทั้ง ๆ ที่คณบดีบอกจริง ๆ ประเทศไทยโควตาเต็มแล้วนะ เพราะฉันรับคนไทยสองคนตามโควตาไปแล้ว แต่ของเธอเป็นกรณีพิเศษต้องเอาเข้าที่ประชุม งั้นเดี๋ยวที่ประชุมมีมติยังไงจะแจ้งไปที่ Perkins ผมก็รออยู่เกือบเป็นเดือนเหมือนกัน จนมีหนังสือตอบมา แต่ในขณะนั้นผมก็ไปหาที่อื่นด้วยนะ ไปสมัครที่อื่นหลายมหาวิทยาลัยรับ ไม่ว่า Boston ไม่ว่า Howard ชื่อเหมือนกัน แต่เขียนคนละอย่าง อยู่ที่ Washington, D.C. ก็รับเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าถ้าไม่ได้ Harvard ก็คงไปที่ Boston เพราะเราอยู่ที่นั่น ก็เรียนจบมา มันก็เป็นไปอย่างที่ผมว่านะ ถ้าเราได้เครื่องหมาย Harvard มาประทับที่หน้าผาก คนก็เชื่อว่าเรามีความสามารถพอบอกใคร อาจารย์จบไหนมา Harvard โอ้โห จบ Harvard เลยเหรอ เห็นไหม แล้วเราก็โม้ให้นักศึกษาฟัง ฉันจบ Harvard นะ พวกเธอก็ทำได้นะ ฉันตาบอดยังทำได้เลย มันก็เป็นพลังให้เด็ก เด็กก็จะคิดว่าอาจารย์ตาบอดอาจารย์ยังทำได้ แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้ The People : มีเด็กที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ไหม วิริยะ : มีครับ มีหลายคนบอกผมเลยว่าอาจารย์ผมอยากเรียน Harvard อาจารย์ช่วยทำ recommend ให้ผมหน่อย (หัวเราะ) เราก็ทำให้ เขาก็จบ Harvard มาก็มาขอบคุณ ว่า recommend อาจารย์ ผมได้ไปเรียน ก็ต้องขอบคุณอาจารย์ อันนี้มีจนทุกวันนี้ ที่หลายคนอยากจะไปเรียน Harvard ก็มาขอให้ผมทำ recommend ผมเลยบอกว่า recommend ดีที่สุดก็คือเธอ เธอคิดดูซิว่าฉันควรจะเชียร์เธอยังไง เขียนมาสุดลิ่มทิ่มประตูเลย แล้วเดี๋ยวฉันดู แล้วถ้าฉันจะเพิ่มอะไรแล้วเพิ่มให้ ก็ทำให้หลายคนได้ไปเรียนที่ Harvard เขาก็ดีใจ เพราะงั้นคำสอนที่เราได้มาก็เป็นเรื่องที่ดี ตั้งแต่เรื่องความเชื่อ ความศรัทธาในความสามารถของตัวเรา เอาเรื่องท้าทายมาดึงความสามารถของเรา ทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส แล้วก็อย่าประมาทไปทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ อ่านหนังสือได้ทุกเวลาแต่ไม่ยอมอ่าน (หัวเราะ) ไปอ่านใกล้สอบ ประมาทมันก็เลยเป็นเคราะห์ เลยบอกนักศึกษาเสมอ แล้วก็รู้จักให้ เพราะว่าความสุขของมนุษย์เรามันอยู่ที่การให้ แล้วตอนหลังผมมาฟังท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต ก็สอดคล้องกัน ท่านก็บอกคนฉลาดเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส คนประมาททำโอกาสให้เป็นเคราะห์ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต หรือท่านพุทธทาส ท่านก็บอกปฏิบัติงาน ปฏิบัติธรรม ผมก็จะบอกทุกคนปฏิบัติงาน ปฏิบัติธรรม แค่เราเปลี่ยนใจเราหน่อยเดียวว่างานที่เราทำเราจะทำอุทิศให้กับคนอื่น ไม่ใช่เพื่อเงินเดือนอย่างเดียว เงินเดือนไม่ต้องไปสนใจ ทำ service ให้ดี ให้คนอื่นประทับใจ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม มันอยู่ที่วิธีคิดเท่านั้นเองใช่ไหม เพราะงั้นผมก็จะสอนทุกคนว่าถ้าเราทำงาน แล้วเราก็ถือว่าปฏิบัติธรรมให้คนอื่นด้วยความรัก ชีวิตเราก็มีความสุข ทำงานอะไรก็มีความสุข เพราะว่าเราพยายามทำให้คนอื่นให้ได้มากที่สุด ให้ดีที่สุด เท่าที่เรามีปัญญาทำให้เขาได้ โดยที่เราไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ชีวิตเราก็มีความสุข แล้วเมื่อเราช่วยตัวเองได้ เราก็มาช่วยคนอื่นต่อ เหมือนอย่างผมก็มาตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา จริง ๆ เราก็มีมูลนิธิหลายมูลนิธิที่ช่วยคนตาบอดอยู่แล้ว แต่ผมยังเห็นว่าเรายังขาดมูลนิธิที่ทำเรื่องใหม่ ๆ ก็เลยตั้ง ‘มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ’ ขึ้นมา แล้วก็ทุ่มเทไปในเรื่องใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีคนทำ เพราะงั้นเรื่องที่เราทุ่มเทก็จะเป็นเรื่องบุกเบิก เรื่องใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ยิ้มสู้ The People : คาเฟ่ยิ้มสู้หรือโครงการต่าง ๆ เป็นหนึ่งในความท้าทายที่ตั้งเป้าด้วยไหม วิริยะ : ถูกครับ เพราะว่าอย่างที่ผมบอก ถ้าทำเรื่องท้าทาย บุกเบิกเรื่องใหม่ ๆ คือเราไม่ได้ว่าทำอะไรโดยไม่มีข้อมูล เรามีแต่ใจสู้หรือเปล่า เราไปดูงานต่างประเทศมาเยอะแยะ เราก็เห็นว่าเมืองนอก คนพิการทำธุรกิจอาหารและกาแฟได้ดี แม้แต่คนตาบอดก็ทำได้ดี ผมไปดูที่อเมริกา เขาคุยเขาเป็นเครือข่าย เป็นชมรม เป็นสมาคมเลยนะ ตาบอดทำอาหารขายเขาก็ใช้จุดอ่อนเป็นจุดแข็ง คนอื่นทำราคาหนึ่ง อยากดูคนตาบอดทำก็อีกราคาหนึ่ง อยากกินในห้องสว่างก็ราคาหนึ่ง อยากกินในห้องมืดก็อีกราคาหนึ่ง แต่แถวนี้มันไม่มีพื้นที่พอที่จะทำห้องให้มันมืดสนิทแล้วก็เชิญชวนให้คนมากินอาหารฝีมือคนตาบอด แล้วก็ตาบอดเสิร์ฟ ถ้าใครอยากจะลองก็มี เช่น Dialogue in the Dark ที่จามจุรีสแควร์ เห็นไหม เขาก็ใช้จุดอ่อนเป็นจุดแข็ง แล้วเขาคุยกันว่าปีหนึ่งมีรายได้เป็น 10 ล้านเหรียญ ไอ้เราล้านบาทก็ยังคิดแล้วคิดอีก (หัวเราะ) เพราะงั้นเมื่อมีจังหวะก็เลยทุ่มเททำเรื่องนี้ว่าเออ เอาเรื่องอาหารนี่แหละกับกาแฟ ที่นี่เราก็ใช้เป็นที่อบรม ฝึกอบรมทำและฝึกการขายดูแลร้าน แล้วก็พยายามจะขยายสาขาที่เป็นจุดขายจริง ๆ แต่นี่ได้แล้วที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะงั้นถ้ามหาวิทยาลัยเปิด วันจันทร์ วันเรียนหนังสือ ที่ไม่ใช่เสาร์อาทิตย์ ก็ไปดูขายดี ภาคค่ำนะ (หัวเราะ) เขาบอกดี แถวยาวเลย เพราะงั้นอยู่ที่นั่นต้องฝึกความเร็วด้วย (หัวเราะ) แล้วผมก็บอกเขาว่าเมื่อชำนาญแล้ว ก็ไปหางานที่มีรายได้ที่ดีกว่าทำ เช่นไป Amazon, Starbucks, True Coffee แล้วก็รู้จักเก็บเงิน แล้วก็ไปทำร้านกาแฟเอง แล้วเรายินดีสนับสนุน The People : มีออกไปเปิดร้านเยอะไหม วิริยะ : ยัง อย่างที่ผมบอกแหละ เมื่อสังคมยังบอกว่าเขาไม่มีความสามารถ ถ้ายังก้าวไม่พ้นกรรมมหาชน ความเชื่อนี้ยังไม่ได้ มันจะยาก คนที่สำเร็จจะต้องก้าวพ้นตัวนี้ให้ได้ว่าฉันทำได้ แล้วต้องเชื่อสนิทว่าทำได้ (หัวเราะ) แล้วพร้อมที่จะทำเรื่องที่ท้าทาย แล้วก็ไม่ยอมจำนน ความสำเร็จมันถึงจะตามมา เราบอกเขาว่าอนาคตมันต้องเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แล้วเราจำเป็นต้องให้มีการเปลี่ยนผ่าน มิฉะนั้นศูนย์เราจะช่วยคุณได้น้อยมาก ถ้าอยู่กับเราตลอดก็ไม่ต้องฝึกใครแล้ว (หัวเราะ) ยิ้มสู้ The People : โครงการ ‘ปั่นไปไม่ทิ้งกัน’ ให้ความท้าทายอะไร วิริยะ : ‘ปั่นไปไม่ทิ้งกัน’ ท้าทายหนึ่งเรื่องให้คนได้เข้าใจว่าตาบอดปั่นจักรยานได้ พอบอกว่าตาบอดปั่นจักรยานได้คนจะถามนะว่า ปั่นยังไง ใช่เปล่า ทั้ง ๆ ที่ตอนผมไปเรียนที่ Harvard เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ผมก็ปั่นจักรยานเที่ยวกับอาสาสมัครในหน้าร้อน แต่เมืองไทยมันเป็นเรื่องใหม่ พอดีเราคิดจะหาเงินไปตั้งศูนย์ฝึกอาชีพ เราก็เลยคิดว่า เราจะเอากิมมิกอะไรมาเล่นให้คนสนใจ แล้วก็ให้เขาเชื่อว่าไอ้ศูนย์ฝึกของเราก็น่าจะทำได้ เราก็เลยนึกไปนึกมา คนตาบอดปั่นจักรยาน เราก็เลยทดสอบไปถามพรรคพวกเรา ฉันจะจัดกิจกรรมตาบอดปั่นจักรยาน เขาถามว่าปั่นยังไง (หัวเราะ) เราก็บอกเป็นจักรยานสองตอน แล้วเธอปั่นข้างหน้า ไอ้เพื่อนปั่นข้างหลังมันบอกเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเธอจะเลี้ยวถูกเหรอ เห็นไหมคนก็จะจินตนาการไปสารพัดอย่าง เราก็เลยต้องเอารูปปั่นจักรยานจริงให้ดูว่า เห็นไหมพวกเราปั่นเป็นทิวแถวสวยงามเลย อาสาสมัครอยู่หน้า คนตาบอดอยู่หลัง แล้วเราก็ปั่นไปด้วยกันเป็นทิวแถวสวยงาม ก็ทำให้คนสนใจ อันนี้เราเรียกดึงความสนใจ แล้วถ้าเขาเชื่อว่าตาบอดปั่นจักรยานได้ เขาก็จะเริ่มเชื่อว่าเออ คนพิการก็ต้องฝึกอาชีพได้ เราลองคิดดูนะ คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน 800,000 คน มีงานทำแค่ 200,000 คน แล้วส่วนใหญ่ทำไมไม่มีงานทำ ก็เพราะว่าสังคมบอกว่าเขาทำไม่ได้ แล้วพ่อแม่เขาก็เชื่อว่าลูกเขาทำไม่ได้ แล้วเขาก็ท่องคาถาว่าลูกพิการคนเดียวฉันเลี้ยง แล้วคนไทยพร้อมที่จะทำบุญกับผู้พิการที่ขอทานมากกว่าจะมาให้ฝึกอาชีพ ผมจัดกิจกรรมนี่หาเงินจนเหน็ดเหนื่อยนะ แต่สู้กลุ่มขอทานไม่ได้ กลุ่มขอทานนี่เขาแยกย้ายกันขอทานนี่นะ วันหนึ่งสบาย ๆ 2,000 บาท ยังทำให้คนที่จบปริญญาตรีได้เงินเดือนละ 15,000 บาท บอกไม่เอาแล้ว ไปขอทานกับเพื่อนดีกว่า เห็นไหม เพราะสังคมพร้อมที่จะให้กับขอทานมากกว่าที่จะให้กับศูนย์ฝึกอาชีพ แต่เราก็ไม่ท้อแท้ก็ต้องทุ่มเททำ เพราะเราต้องต่อสู้กับที่ผมเรียกว่า กรรมมหาชน (หัวเราะ) เป็นกรรมที่สังคมหยิบยื่นให้เรา แต่เขากลับโทษว่าเป็นกรรมของเรา กลับไปโทษว่า ชาติก่อนเอ็งทำอะไรไม่ดี ชาตินี้เอ็งเลยตาบอด ตอนนี้ผมเลยต้องเอาคำเทศน์ของท่านสมเด็จพระโฆษาจารย์ ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตมาเทศน์ให้ฟังว่ากฎแห่งกรรมมันมีกรรมอดีต ปัจจุบัน อนาคต แล้วในศาสนาพุทธไม่มีหลักชดใช้กรรมในชาตินี้ ไม่มี มีแต่กรรมอดีตไว้แก้ไข ปัจจุบันทำให้ดีที่สุด อนาคตทำให้ดียิ่งขึ้น เมื่อปัจจุบันเราทำได้เกือบบรรลุ เราได้เป็นพระโพธิสัตว์ เราก็ตั้งเป้าว่ากรรมต่อไปเราจะต้องให้บรรลุอรหันต์ The People : เรื่องความเท่าเทียมของผู้พิการในไทยต่างจากที่อื่นอย่างไร วิริยะ : อย่างที่ผมบอกนะ สิ่งที่ผมได้รับก็คือสิ่งที่เป็นอยู่ในอเมริกา เมื่อผมไปอเมริกา ไอ้เรื่องความเชื่อเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องการให้เป็นเรื่องธรรมดา ร่วมมือช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดา คนตาบอดอยากปีนเขาเอเวอเรสต์ ถ้าเป็นเมืองไทยก็บอกเอ็งบ้าแล้ว ใช่เปล่า แต่อเมริกาให้เงินไปปีนเลยครับ แล้วก็ปีนสำเร็จครับเมื่อ 11 ปีที่แล้วเพราะอะไร ความเชื่อนี่แหละ อยู่ที่นั่นเขารู้จัก donation เขารู้จักการให้ ช่วยกิจกรรมนู้นช่วยกิจกรรมนี้ สมาคมเขารวมตัวทำเหมือนเราทำ แต่เขาทำได้ดีกว่าเรามาก ก็คือทุกคนมาประชุมสมาคม พับกระเป๋าเองและแข่งกันกับบริจาคให้สมาคมว่ามลรัฐไหนบริจาคได้มากที่สุด แล้วก็ให้ได้รับรางวัล ของเรายังทำไม่ได้ ของเรายังต้องใครจะมาประชุมสมาคมเรายังต้องออกค่าพาหนะให้ ของตาบอดเราทำได้ดีขึ้นมาหน่อยหนึ่งคนละครึ่ง แต่สมาคมอื่นนี่ต้องออกให้หมด เพราะงั้นไอ้การที่จะทำอะไรเพื่อส่วนรวมหรือช่วยเหลือคนรุ่นต่อไป ผมก็เข้าใจดีว่าในสังคมเรามันยังอ่อน เรายังเน้นบุญปัจเจก เรายังไม่ได้เน้นบุญมหาชนอย่างที่ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโตเทศน์เอาไว้ตั้งแต่ท่านเป็นพระธรรมปิฎกว่าสังคมไทยต้องให้ความสำคัญบุญมหาชน มหายาน เขาให้ความสำคัญบุญมหาชน หลายคนอาจจะได้ยินมูลนิธิฉือจี้ ภิกษุณีคิดจะฆ่าตัวตายแต่ตอนหลังก็เลิกคิดเพราะยากจน แล้วก็มาปวารณาทำบุญมหาชน เริ่มจากเก็บขยะในเมืองที่สกปรก แล้วก็ไปคัดแยกขายแล้วก็เชิญชวนให้คนมา แต่ใช้ยุทธศาสตร์พระโพธิสัตว์ อุทิศตัวเพื่อผู้อื่น แล้วฉือจี้ก็ดังนะในไต้หวัน มีอาสาสมัครหลายแสนที่ร่วมทำงาน แล้วก็ยังมาตั้งโรงเรียนให้เรา เพื่อไปช่วยชาวเขาที่อำเภอฝาง สมัยก่อนเป็นโรงเรียนที่คนไม่รู้จัก แต่เดี๋ยวนี้ดังมาก คนแย่งกันไปเรียน โรงเรียนฉือจี้ที่ฝางที่ถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนรอบ ๆ ฝางที่เป็นโรงเรียนรัฐบาลไทยนะ เป็นโรงเรียนไซส์เล็กไปหมด เพราะหนีไปเรียนฉือจี้หมด The People : ทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมของผู้พิการ วิริยะ : เราจะพยายามให้เกิดความเข้าใจว่า เนื่องจากความเชื่อว่าคนพิการไม่มีความสามารถ มันทำลาย 2 หัวใจสำคัญ หนึ่ง การพัฒนาความสามารถเต็มตามศักยภาพ ไม่ให้คนพิการเรียนหนังสือ ก็ในเมื่อคุณไม่ให้คนพิการเรียนหนังสือ แล้วจะพัฒนาความสามารถเต็มศักยภาพได้ยังไง ไม่ให้ทำงาน บางทีให้ทำงานแต่ให้ทำงานแบบง่าย ๆ ไม่ให้ทำงานท้าทาย ผมยกตัวอย่าง คนไทยอยากเรียนคอมพิวเตอร์ ไม่ให้เรียน โชคดีเขาได้ทุนไปเรียนที่ Overbrook แล้วก็เรียนอเมริกา เดี๋ยวนี้เขาเป็นหัวหน้า accessibility ของ Microsoft ก็คนไทย แต่อยู่เมืองไทยเราไม่ให้ทำอะไร อยู่ที่นั่นเขาดูแลเรื่องการเข้าถึงแอปพลิเคชันของ Microsoft เพราะ Microsoft มีจุดอ่อนตรงนี้ ซึ่ง Steve Jobs มีจุดแข็ง Apple มีจุดแข็งตรงนี้ เพราะงั้นพวกคนตาบอดติด iPhone หมด เพราะว่าเขาทำมาเพื่อทุกคน ตาบอดใช้ได้ดีมาก

ความพิการมันไม่สำคัญ แต่ความสำคัญคือความเสมอภาคในเรื่องโอกาส ไม่ใช่เฉพาะคนพิการนะ ทุกคนนะ ต้องมีความเสมอภาคชาวเขา ชาวดอย ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายต้องได้รับความเสมอภาคในโอกาส ในการพัฒนาความสามารถของเขาเต็มศักยภาพ

อันนี้ผมก็ยกตัวอย่างว่าพอเราไม่เปิดโอกาส สอง เราก็ทำสภาพแวดล้อมไม่เอื้อกับทุกคน เวลาเราทำอะไร เราก็ไม่คิดถึงคนอื่น สร้างตึก โรงแรม เราก็ไม่นึกจะให้คนอื่นมาอยู่ ให้แต่คนแข็งแรงอยู่ เหมือนที่ผมบอกว่า Microsoft เขาพลาด แอปพลิเคชันของเขา คนไม่สามารถเข้าถึงได้หมด งั้นเขาก็ต้องเริ่มมาเปลี่ยน แต่ Apple คนที่ซื้อ Apple 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะ accessibility ของ Apple เพราะงั้นคนพิการเราจึงรณรงค์ 2 เรื่อง empowerment and barrier free เพราะงั้นคุณกฤษนะ ละไล ก็ต้องมาบอก barrier free นะ อารยสถาปัตย์นะ ผมก็ต้องบอก ต้องให้คนพิการมีโอกาสนะ เรียนหนังสือตั้งแต่เล็กนะ ฝึกอาชีพให้เขามีงานทำ ให้เขาทำงานท้าทายนะ อะไรที่เราคิดว่าเขาทำไม่ได้ก็ลองให้เขาทำดู มันมีแต่เสมอตัวกับดีขึ้น ถ้าคนพิการมี 2 อย่างนี้แล้ว impairment ไม่มีความหมาย เป็นแค่ความไม่สะดวกและความน่ารำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง เหมือนผม ได้รับโอกาสจากคนอื่นให้ได้พัฒนาความสามารถเต็มศักยภาพ สภาพแวดล้อมไม่เป็นอุปสรรคกับผมมากมายนัก ไอ้ตาบอดก็เป็นความน่ารำคาญ เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง เราอยู่โลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขเหมือนกับคนอื่น นอกจากนั้นเรายังเป็นไอดอล เป็นพลังให้กับคนอื่นได้ด้วย เพราะฉะนั้นความพิการมันไม่สำคัญ แต่ความสำคัญคือความเสมอภาคในเรื่องโอกาส ไม่ใช่เฉพาะคนพิการนะ ทุกคนนะ ต้องมีความเสมอภาคชาวเขา ชาวดอย ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายต้องได้รับความเสมอภาคในโอกาส ในการพัฒนาความสามารถของเขาเต็มศักยภาพ ผมจึงดีใจว่าเรามีกองทุนเพื่อความเสมอภาคช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ให้ได้เรียนหนังสือ แล้วก็ barrier free ทำอะไรต้องทำเพื่อทุกคน อย่าให้เป็นอุปสรรคกับคนบางกลุ่ม The People : สมมติว่าถ้าตายังมองเห็น ชีวิตจะเป็นอย่างไร วิริยะ : ถ้าผมไม่ตาบอด ผมก็ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับคนดี ๆ ได้เรียนรู้เรื่องดี ๆ แล้วก็ได้ใช้ชีวิตที่ดี ๆ สมัยผมไม่ตาบอดก็เกเรเกตุง เพื่อนชวนเที่ยวโสเภณี โชคดีเราถูกพ่อแม่ควบคุมใกล้ชิด ก็ไม่ได้เที่ยว เพื่อนหลายคนก็ติดโรคงอมแงม เพื่อนชวนลองยาเสพติด กัญชงกัญชา สมัยนั้นยาบ้าก็เป็นเรื่องธรรมดานะ โชคดีไปลองกัญชาแล้วมันแพ้ (หัวเราะ) ก็เลยไม่ติดกัญชา ไอ้ยาบ้าสมัยผม เขาก็ใส่น้ำให้พวกผู้ใช้แรงงานกินน่ะ สมัยนั้นเขาเรียกยาขยัน แล้วตอนหลังเราก็เพื่อจะไม่ให้กินยานี้ เราเลยเรียกว่ายาบ้า แต่รุ่นผมนี่เป็นยาขยัน ใส่น้ำแล้วก็ให้คนงานกินแล้วก็ขยันทำงาน ทำงานไม่หยุดไม่หย่อน แต่พอยาหมดฤทธิ์แรงหมด แล้วต่อมาเราก็เรียกว่ายาบ้า แล้วเราก็ห้าม เพราะตอนหลังมันก็ใส่สารพัดเข้าไป แต่เมื่อผมตาบอดผมก็ห่างไกลพวกนั้น แต่ผมมาใกล้ชิดกับเรื่องดี ๆ (หัวเราะ)  The People : เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติเลยทำให้มีวันนี้ วิริยะ : นี่แหละที่เมื่อเราทำแล้วเราเคยชิน แล้วเราก็จะติดนิสัยไม่ยอมจำนน แล้วมันได้ผลจริง ๆ ไง ผมยกตัวอย่างตอนที่เราเรียกร้องให้มีกฎหมายฉบับแรกสำหรับคนพิการ ปี 2524 นายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บอกว่าจะให้ของขวัญคนพิการโดยให้มี พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ แล้วมีกองทุนเพื่อให้คนพิการได้รับการพัฒนา แต่พอปีนั้นผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปี 2524 ตอนนั้นผมอยู่อเมริกา พอกลับมา 2526 เพื่อน ๆ ก็ชวนกันมารวมกลุ่มว่า เราต้องรวมพลังกันเพื่อเรียกร้องกฎหมาย เราใช้เวลา 18 ปีกว่าจะขอให้นักการเมืองเสนอ แล้วเราก็ได้ช่วงที่เขาปฏิวัติ แล้วท่านอานันท์ ปันยารชุน ยินดีช่วยแล้วก็มอบให้คุณมีชัย วีระไวทยะ ดูแล แต่ท่านไม่เห็นด้วยกับเรื่องระบบโควตา ก็คือตอนนั้นเราเสนอ 200 ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ถ้าไม่จ้างก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ท่านบอกไม่เอา ๆ บังคับ เอา incentive ท่านก็เลยไปให้เรื่องสิทธิประโยชน์ในทางภาษี เราก็บอกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีกระทรวงการคลังเขาไม่ให้หรอก ท่านบอก ให้เขาให้ นายกฯ สั่งแล้วจะไม่ให้ได้ยังไง แต่เราก็ยังอยากได้ระบบโควตา เราก็เลยขอคุณวิชัย โถสุวรรณจินดา แปรญัตติ ท่านคิดนะ ในสมัย สนช. ไอ้การแปรญัตติที่จะสำเร็จมันยากนะ โดยเฉพาะขัดแย้งกับรัฐบาล แต่คุณวิชัยก็ยินดีแปรให้ กรรมาธิการไม่ยอม เราก็บอกช่วยพูดในสภาใหญ่หน่อย และพวกเราจะมีกองเชียร์ไป พวกเราก็รวมกลุ่มกันแล้วเอาดอกไม้แจก สนช. บอกสนับสนุนหน่อย แล้วเราก็ขึ้นไปฟังกัน พอคุณวิชัยพูด คนนั้นก็เริ่มเห็นด้วย คนนี้ก็เริ่มเห็นด้วย รองนายกฯ มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกรัฐบาลรับ ประธานสั่งพักครึ่งชั่วโมง แล้วก็แก้ไขร่วมกับรัฐบาล แล้วก็เอาเข้ามา เราก็ได้ระบบโควตา แต่สมัยนั้นก็เป็นโควตาแบบเมตตาธรรม มามีสภาพบังคับอีกครั้งหนึ่งก็ตอนผมเป็น สนช. แล้วก็เป็นอย่างทุกวันนี้ ใครไม่จ้างก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ก็ทำให้เงินกองทุนโตมาเป็นหมื่นล้าน โดนรัฐบาลยึดไป 2,000 ล้าน ไอ้ตัวนี้แหละที่ทำให้ผมต้องกระเสือกกระสนที่จะต้องทำฝืนศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อเอาเงินเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนพิการ อุตส่าห์ลงทุนทำมาแล้ว มันมาลงเอยเข้าคลังมันไม่ไหว ก็ต้องเหนื่อยกันต่อไป The People : สิ่งที่อยากฝาก วิริยะ : เราก็อยากจะฝากบุคคลทั่วไปว่า ท่านได้เชื่อเถอะว่าท่านและคนพิการนี้มีความสามารถ ทำได้ แล้วรักทำเรื่องที่ท้าทาย เพราะไอ้ความท้าทาย มันไม่มีเสีย มีแต่ได้ ไม่สำเร็จมันก็เป็นครู สำเร็จเราก็ได้ความสามารถของเรา ออกมาแสดงให้คนปรากฏ ทำไมไม่สำเร็จเป็นครู ความล้มเหลวมันก็คือครู เราอย่าลืมนะเอดิสันล้มเหลวเป็นหมื่นครั้ง หลอดไฟจึงสำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ยอมจํานน รักเรื่องที่ท้าทาย เราจะเห็นอะไรดี ๆ ในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ มันก็อยู่ที่ว่าเราจะทำมันไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า (หัวเราะ) ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีสิ่งใหม่ ๆ ไม่รู้จบ โลกนี้มีสิ่งใหม่ ๆ ไม่รู้จบ เพราะเขาเชื่อว่าเขาทำได้ เขารักเรื่องท้าทาย แล้วเขาไม่ยอมจำนน ผมก็ขอให้คนไทยเราได้เชื่อเรื่องนี้เถอะ