11 เม.ย. 2562 | 11:22 น.
"ครั้งสุดท้ายที่อ่านคือร้องไห้เลย คือไม่รู้ตอนนั้นอินหรือเปล่า คือแบบเรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเรากับคนที่เรารัก มันเริ่มเปราะบางลงแล้ว พอเราอ่านปุ๊บเออ เฮ้ย จริงว่ะ เราต้องดูแลความสัมพันธ์ที่เรามีให้มันดีขึ้น" ประโยคข้างต้นคือความรู้สึกของ เน-สุวจนา พินิจชัชวาล แอดมินเพจ “ฉัน หนัง สือ”(Bookself) ที่มีต่อหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ของ อองตวน เดอ แซงแตก-ซูเปรี ตลอดระยะเวลาของการพูดคุยกับเธอ ทำให้เรานึกถึงบุคลิกของเพจ “ฉัน หนัง สือ” ของเธอ กับเพจที่เต็มไปด้วยถ้อยคำ โควตคม ๆ จากหนังสือที่แอดมินเพจได้อ่าน มันเต็มไปด้วยความละมุน อ่อนไหว อ่อนหวาน มองโลกในแง่งาม แม้ว่าโลกนั้นจะเศร้าซึ้งหรือหวานจับใจปานใด เพจมีจริตแบบไหน แอดมินเพจก็ละมุนแบบนั้น-ไม่ต่างกัน นี่คือบทสัมภาษณ์อันรื่นรมย์ กับ แอดมินเพจ "ฉัน หนัง สือ" ว่าด้วยเรื่องราวของ หญิงสาว ความรัก การอ่าน และหนังสือบางเล่มอาจจะเปลี่ยนชีวิตของเราได้ The People: เริ่มสนใจอ่านหนังสือตอนไหน สุวจนา: ประมาณ ป.1 ป.2 เราเริ่มอ่านจากนิทานอีสป เราก็จะเข้าไปร้านหนังสือตอนเด็ก ๆ คือแม่จะชอบพาไปเดินห้าง แล้วก็จะทิ้งเราไว้ร้านหนังสือ เราก็ชอบอยู่ในมุมนิทานอีสป นิทานเด็ก แล้วพอโตมาหน่อย จำได้ว่า ป.3 ป.4 เราอ่านหนังสือพิมพ์ กางอ่านหนังสือพิมพ์ที่บ้านแล้ว คือเราก็อ่านไปเรื่อยนะ ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวบันเทิง แต่ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าอะไร แล้วพอโตขึ้นมันก็พัฒนา เริ่มเข้าร้านหนังสือ วรรณกรรมเด็กอะไรงี้ค่ะ แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ตามอายุ ช่วงวัยเรา The People: แนวหนังสือที่ชอบตอนเด็ก สุวจนา: หลัก ๆ เลยจะเป็นวรรณกรรมเยาวชน ตอนเราเด็ก ๆ พ่อแม่เราแยกทางกัน แล้วก็จะเป็นเด็กที่แบบค่อนข้าง...คล้าย ๆ เด็กเก็บกด แต่เราก็จะมีวิธีเยียวยาตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ เราอ่าน ‘นิกกับพิม’ ‘แก้วจอมแก่น’ อ่านอะไรที่เด็กๆ อ่าน หลายอย่างค่ะ มันทำให้เรามีเพื่อน รู้สึกว่าเรามีเพื่อน แล้วเราก็รู้ว่าเฮ้ย ชีวิตเรามันไม่ได้แย่คนเดียวนะ คือตอนเด็ก ๆ เราคิดแบบนี้นะ ทุกคนมีปัญหา เด็กก็มีปัญหา มีอะไรในชีวิต The People: ตอนเด็กเลยมีหนังสือเป็นเพื่อน สุวจนา: ใช่ เป็นเหมือนเพื่อน คือเราเป็นคนที่ไม่ได้เป็นเด็กร่าเริงแบบเพื่อนเยอะอะไรตั้งแต่เด็ก ไม่ได้เล่นกับเพื่อนข้างบ้าน แล้วพอเรามีหนังสือ เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันช่วยเติมเต็มชีวิตวัยเด็กได้ดีเหมือนกันกับหนังสือวรรณกรรมเยาวชนค่ะ The People: หนังสือช่วยเติมเต็มชีวิตอย่างไร สุวจนา: ความ fulfill เหรอคะ มันทำให้เรา...ได้รู้ว่าในโลกนี้มีแง่มุมหลายอย่างทั้งเรื่องของประสบการณ์ จิตใจของคน สิ่งที่เราจะได้รับหลาย ๆ อย่างในเรื่องของชีวิต การทำงาน มัน fulfill ทำให้เรารู้ว่าเรามาเจอสิ่งนี้ ปัญหาอะไรในชีวิต เราสามารถแก้ไขได้ยังไงบ้าง ทั้ง ๆ ที่บางทีเราอาจจะไม่ได้ไปเจอประสบการณ์นั้นจริง ๆ แต่เราได้รับสิ่งนั้นมาจากหนังสือ The People: เล่มแรกที่อ่านแล้วรู้สึกตอบโจทย์นี้มากที่สุด สุวจนา: ‘เจ้าชายน้อย’ คือเราอ่านเล่มนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย ตอนประถมฯ คือครั้งแรกที่อ่านนะ เรารู้สึกว่า เฮ้ย แม่งโคตร fulfill เลย fulfill ในแง่ที่ว่าเราเป็นเด็ก แต่ว่าเราอ่านหนังสือที่ยาก คือหลาย ๆ คน เพื่อน ๆ สมัยนั้นก็จะไม่รู้ว่า เจ้าชายน้อยจริง ๆ แล้วเนื้อเรื่องมันเป็นปรัชญาผู้ใหญ่มาก ๆ พอเราอ่านจบรู้สึกว่า เจ๋งว่ะ เราข้ามขั้น เราอ่านหนังสืออะไรที่มันยากขึ้น แล้วพอเราอ่านจบตอนนั้น เราอาจจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่หนังสือเล่มนี้บอกมากนักนะ แต่ว่าพอโตขึ้นได้อ่านอีกหลาย ๆ รอบ เราก็รู้ว่าหนังสือเล่มนี้สอนเรื่องการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ได้ดีมาก ๆ เลย แล้วก็ไม่ว่าจะอ่านตอนอายุเท่าไหร่ มันสามารถสอนได้ตลอดเวลา ไม่มีล้าสมัย The People: อ่าน ‘เจ้าชายน้อย’ มากี่รอบ สุวจนา: ประมาณ 4-5 รอบ คือเราจะซื้อทุกครั้งที่เขาตีพิมพ์ออกมาใหม่ แล้วก็ซื้อแบบเก็บอะไรอย่างนี้ แล้วพอเรามาอ่านอีกครั้งหนึ่ง เอาจริง ๆ บางทีเราจำไม่ได้หรอก เนื้อเรื่อง แต่ก่อนรายละเอียดเป็นยังไง พอมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นเล่มเดิม เราจะได้โควตคำแบบ... อันนี้ตรงว่ะ ทั้ง ๆ ที่เราอ่านหลายรอบแล้ว มันค่อนข้างเอามาใช้ในชีวิตได้จริง ๆ The People: การอ่านหนังสือเล่มเดิมหลายรอบ ทำให้เจออะไรใหม่ ๆ มากขึ้น? สุวจนา: จริงค่ะ คือหลาย ๆ คนมองว่า การอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง รอบหนึ่งก็พอแล้วมั้ง แต่ว่าเราโตขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดเราเปลี่ยนขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นเราอาจไม่ได้คิดแบบนี้ พอโตขึ้นมาเราอ่านอีกครั้ง เฮ้ย แม่งจริงว่ะ หรืออาจจะไม่จริงก็ได้ มันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา The People: ตอนอ่านเจ้าชายน้อยเราได้ค้นพบอะไรบ้าง สุวจนา: คือตอนแรกที่อ่าน เราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของเจ้าชายคนหนึ่งที่อยู่บนดาวดวงหนึ่ง แล้วไปเจอกับเพื่อน สุนัขจิ้งจอก ไปเจอเพื่อนคนนู้นคนนี้ ตอนเด็ก ๆ เราคิดแค่นี้แหละ แต่ว่าพอโตขึ้นมาเราก็รู้ว่า การที่เราจะมีความสัมพันธ์อะไรสักอย่างหนึ่งกับใครคนหนึ่ง หรือกับหลาย ๆ คน เราต้องรู้จักวิธีการดูแลรักษา เพราะว่าความสัมพันธ์มันเปราะบาง ค่อนข้างเปราะบางมาก มีครั้งสุดท้ายที่อ่านคือร้องไห้เลย คือไม่รู้ตอนนั้นอินหรือเปล่า คือแบบเรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเรากับคนที่เรารัก มันเริ่มเปราะบางลงแล้ว พอเราอ่านปุ๊บ เออ เราต้องดูแลความสัมพันธ์ที่เรามีให้มันดีขึ้น The People: เคยอ่านหนังสือโต้รุ่งไหม สุวจนา: มีค่ะ เอาล่าสุดเลยนะ อ่านหนังสือ ‘ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ’ คือเล่มนี้ตอนนี้คิดว่านักอ่านหลาย ๆ คนน่าจะรู้จัก เป็นวรรณกรรมญี่ปุ่น ของคุณฮิงาชิโนะ เคโงะ เล่มนี้ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งจดหมายข้ามผ่านกาลเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน คือเล่มค่อนข้างหนานะ แต่ว่า เราอ่านแล้วแบบ...ต้องอ่านทีเดียวจบ มันช่วยทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนได้ แล้วก็เป็นแง่มุมดี ๆ ของการใช้ชีวิตน่ะค่ะ ทำให้เราคิดบวกมากขึ้น The People: ทำไมตอนนั้นถึงต้องอ่านโต้รุ่ง สุวจนา: คือในเรื่องจะเป็นเหมือนหัวขโมยเข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง แล้วเขาก็มีจดหมายหย่อนเข้าหย่อนออก เฮ้ย คนเขาเขียนเข้ามา เขาอ่านแล้วก็มีคนมีปัญหาชีวิตมาปรึกษา แล้วหัวขโมยก็ไม่รู้หรอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาก็เขียนตอบกลับไป เป็น case by case ที่หลาย ๆ เคสมันเข้ามาแล้วหัวขโมยคนนี้ก็เขียนจดหมายตอบกลับไป คือทำให้เราอยากรู้ว่าจะมีเคสอะไรอีกต่อไป แล้วเขาจะแก้ปัญหา ตอบคำถามชีวิตให้คนอื่นยังไง มันค่อนข้างเป็นแบบ non-fiction เนอะ ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในชีวิตหรอก แต่ว่ามันสามารถเอามาใช้ในชีวิตจริงได้ The People: หลังอ่านโต้รุ่งจบรู้สึกฟินหรือเหนื่อย สุวจนา: ถ้าเล่มไหนที่เราอ่านโต้รุ่งคือฟินมาก แต่ว่าเล่มไหนที่แบบ...เรารู้สึกว่าเราอ่านหลายวัน มันอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ทุกเรื่องที่อ่านโต้รุ่งคือต้องสนุกมาก ๆ คือเป็นเล่มที่ติดจนวางไม่ได้แล้ว คือต้องอ่านให้จบ The People: ถ้าต้องติดเกาะ จะพกหนังสืออะไรไปด้วย สุวจนา: หนังสือ ‘Life Lessons’ ชื่อภาษาไทยนะ หนังสือ ‘ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง’ จริง ๆ เพราะว่าตอนนั้นเราคงแบบเกรี้ยวกราดมาก ทำไมเราถึงต้องมาติดเกาะอยู่คนเดียวแล้วจะทำยังไงต่อไป คือหนังสือเล่มนี้ช่วยบอกว่า เฮ้ย ชีวิตเราควรทำยังไง ควรเยียวยาชีวิตตัวเองยังไง เรื่องของจิตใจ ความสัมพันธ์ แล้วเราคงจะตายอย่างสงบมั้ง ถ้าเราได้เห็นหนังสือเล่มนี้ The People: คิดว่าจะติดเกาะจนตาย? สุวจนา: ใช่ คิดว่าคงไปไหนไม่ได้แล้ว The People: แล้วหนังสือเล่มนี้มันช่วยอย่างไร สุวจนา: จริง ๆ แล้วหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ ความรัก ชีวิต การเจ็บป่วย คือเขาจะคุยกันถึงเรื่องของผู้ป่วยที่ใกล้จะตายค่ะ แล้วชีวิตเขาที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง เขาได้บทเรียนอะไรบ้าง เราว่าเล่มนี้พอถึงจุดสุดท้ายของชีวิตถ้าเราอยู่บนเกาะคนเดียว มันก็น่าจะแบบ ฉันต้องปลงแล้วแหละ ฉันต้องแบบ...เรียนรู้อะไรบ้างในชีวิตแล้ว มันอาจจะช่วยตกผลึกอะไรบางอย่าง คุณค่าของชีวิตอะไรให้เราบ้าง ณ ตอนนั้น The People: แล้วหนังสือให้อะไรกับเรา สุวจนา: อย่างหนึ่งเลย มันเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีอะไรทำเนอะ อย่างเราเป็นคนที่ดูหนังแต่ไม่บ่อย แต่อ่านหนังสือมันง่ายมากสำหรับเรา เหมือนการกินข้าว การอาบน้ำ การนอน เป็นสิ่งที่เราทำทุกวันอะไรอย่างนี้ มันช่วยเยียวยาจิตใจได้ ไม่ว่าเราเศร้าหรือว่าเราเหงา แล้วก็ทำให้เราได้มีความรู้ จริง ๆ ก็ได้ความรู้แล้วก็ได้เรียนรู้ จรรโลงใจ เรียนรู้ถึงชีวิต สังคม ประวัติศาสตร์ สิ่งรอบตัวของเรา โดยที่เราไม่ต้องออกไปไหน เราก็สามารถรู้ได้ด้วยหนังสือเล่มหนึ่งแล้ว The People: อยากรู้ความเร็วในการอ่านหนังสือ สุวจนา: ถ้าถามตอนนี้นะคะ ประมาณอาทิตย์ละเล่ม 2 เล่ม แต่ถ้าสมัยก่อน สมัยตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่เรายังมีเวลา speed มากสุดคือวันละ 2 เล่ม ตอนนั้นโหดมาก บางวันเรียนแค่ตัวเดียว เราก็กลับหอมาอ่านหนังสือ ซึ่งตอนนั้นเราจะติดพวก fiction กับ non-fiction ของญี่ปุ่น ตอนนั้นเราก็จะชอบอ่านมากเลย horror สืบสวนสอบสวน แนวลึกลับอะไรอย่างนี้ ‘คินดะอิจิฯ’ ฮิงาชิโนะ เคโงะ, โยชิโมโต บานานา ตอนนั้นเราอินวรรณกรรมญี่ปุ่นมาก วันหนึ่งก็ 2 เล่มรวดทีเดียว The People: ตอนนี้อ่านแนวไหนมากที่สุด สุวจนา: ตอนนี้เป็น how to แล้วก็จะเป็นเรื่องสั้น ความเรียงของไทยนี่แหละค่ะ ส่วนใหญ่ตอนนี้ที่เราอ่าน how to เพราะว่าเราก็ทำงาน ตอนนี้เราอยู่ในตำแหน่งในชีวิตที่เราเป็นหัวหน้า เราจะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องของการทำงานของลูกน้อง จิตใจของคน จิตใจของเพื่อน อะไรอย่างนี้ค่ะ เดี๋ยวนี้ how to ออกมาค่อนข้างเยอะมาก แล้วมันก็ไม่ได้ซีเรียส สามารถเอามาใช้ได้จริง ตอนนี้ก็ค่อนข้างอ่านเยอะเหมือนกัน ก็ช่วยในการทำงานได้ดี The People: ร้านหนังสือหรือห้องสมุดที่ต้องไปให้ได้ก่อนตาย สุวจนา: Shakespeare and Company ที่ปารีสค่ะ คือร้านนี้ค่อนข้างเป็นตำนานของคนทั่วโลกที่นักอ่านต้องไป โห แบบมันอยู่ทั้งในหนังสือ ในหนัง คือทุก ๆ อย่าง แล้วบรรยากาศ โอ้โห เปิดมาร้อยกว่าปี ครั้งหนึ่งก่อนตายก็อยากไป The People: ถ้าได้ไปแล้วจะทำอะไร สุวจนา: คงแบบถ่ายรูป แบบเป็นร้อยช็อต (หัวเราะ) ก็อาจจะได้หนังสือกลับมาสักเล่มหนึ่งเป็นที่ระลึก The People: ที่มาของการตั้งเพจ “ฉัน หนัง สือ” สุวจนา: คือตอนนั้นน่ะ Facebook กำลังมาเนอะ เวลาเนอ่านหนังสือหรือว่าชอบประโยคไหน อ่านเล่มนั้นจบ แล้วเราอยากแสดงความคิดเห็น เนก็จะถ่ายรูปหนังสือหรือว่าโควตหน้านั้นลงใน Facebook, IG ของตัวเอง ตอนนั้นของตัวเองก่อนนะคะ แล้วมีหลาย ๆ คนเขาเข้ามาคอมเมนต์ มากดไลก์ มาแบบ เฮ้ย เนอ่านเล่มนี้แล้วเหรอ ประโยคดีจัง ชอบจังอะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่า เราลองทำเพจไหม เพราะว่าเราก็ทำงานที่เกี่ยวกับออนไลน์อยู่แล้ว พอจะมีความรู้เรื่องการทำเพจบ้าง ก็เลยลองเปิดดู เปิดปุ๊บเราก็ลองอ่านหนังสือแล้วก็เอาโควตคำมาลง เอาจริง ๆ คนอาจจะมองว่าง่าย แบบมีแค่โควตเองแล้วก็รูปประกอบ รูปหนังสือ พอมาลงปุ๊บ กระแสดีมาก คือเดือนหนึ่งประมาณ 5,000 ไลก์ คือคนที่เข้ามา follow มาตามเรา เรารู้สึกว่า ทำไมมันกระแสดีจัง คือคนดูชอบจัง ซึ่งเราคิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราเลือกโควตที่เราอยู่ในฐานะของนักอ่าน ไม่ใช่นักเขียน เราเป็น user นักอ่านจริง ๆ เราไม่ได้มีความรู้เรื่องการเขียน วรรณกรรมหรือว่าอะไร เพราะฉะนั้นโควตที่เราเลือกเอามาลง มันก็ค่อนข้าง touching กับการใช้ชีวิตของคนจริง ๆ คือคนมันจะรู้สึกแบบนี้ พอเขาเห็นว่า มันตรงใจเขาตอนนั้น ก็เกิดการ reaction การแชร์ การไลก์ การมาคอมเมนต์ การที่เขาเข้ามา inbox ว่าเขาชอบจังเลย The People: เหมือนเป็นการพิสูจน์ว่าคนยังอ่านหนังสือ สุวจนา: ใช่ คือเนมองว่าทุกวันนี้คนไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลงเยอะมากนะ คือเรามองว่าออนไลน์มันเข้ามามีบทบาทควบคู่กันไปกับโลกของหนังสือ เพราะว่าหลาย ๆ คน เขาไม่รู้ว่าเขาจะอ่านหนังสืออะไร เขาไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ดีหรือไม่ดี การที่เรามีออนไลน์ มีเพจ มีช่องทางขึ้นมา มันก็ทำให้เขารู้สึกว่า หนังสือเล่มนี้มันน่าสนใจนะ เรื่องย่อเป็นยังไง รีวิวเป็นยังไง เขาอยากอ่านรีวิวก่อนก็ได้ เราก็ทำให้เขาตัดสินใจไปซื้อหนังสือที่หน้าร้านได้ The People: ประสบการณ์ที่ประทับใจจากการทำเพจ สุวจนา: มีครั้งหนึ่งค่ะ พี่ผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามา inbox บอกว่า สวัสดีค่ะ พี่มีปัญหาชีวิตมาเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าเขามีแฟนคนหนึ่งแต่งงานกันแล้ว มีลูก 2 คน เขาและแฟนพบรักกันเพราะว่าการอ่าน เขารักการอ่านมาก ๆ คบมา 10 ปี แล้วเขาก็มีลูก ลูกเขาก็ชอบอ่านหนังสือ เป็นครอบครัวที่รักกัน และรักการอ่านจริง ๆ แล้วมาวันหนึ่งแฟนเขาไปมีคนอื่น แล้วก็ขอเลิก เขาบอกว่าทุกวันนี้เขาไม่กล้าหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน คือเราอ่านแล้วแบบน้ำตาไหลเลย เรารู้สึกว่าแบบ...คือการที่คนคนหนึ่งเขามีประสบการณ์อะไรร่วมกัน แล้ววันหนึ่งคนที่เขารักจากไป ทำให้เขาไม่กล้าอ่านหนังสือ คือจริง ๆ เนก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไรนะ เนก็พิมพ์บอกพี่เขาไปว่าให้เวลานะคะ ให้เวลาตัวเอง ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่อยากอ่านก็ไม่ต้องอ่าน แล้ววันหนึ่งถ้าพี่เขาเยียวยาจิตใจตัวเองได้ เขาดีแล้ว ยังไงเขาก็กลับมาอ่านได้เหมือนเดิม คือเราร้องไห้เลย เรารู้สึกว่า ถ้าเกิดกับชีวิตเรา มันก็แย่มาก เราคงรู้สึกแย่เหมือนกัน The People: มีอะไรอยากพูดถึงเพจตัวเองไหม สุวจนา: ขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่ติดตามนะคะ ก็รู้สึกดีใจ ดีใจมากที่ตอนนี้ 2 ปีครึ่งกับ 170,000 กว่าคนที่มาตาม แล้วเราได้รับฟีดแบ็กที่ดีในทุกๆ โพสต์เลย ก็อยากให้ติดตามต่อไป และเราก็จะพัฒนาคอนเทนต์ในเพจเราให้ดีขึ้นด้วย คนที่ inbox เข้ามาทุกคนนะคะ เราก็ขอบคุณมาก ๆ ที่มาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มี inbox เข้ามาคนหนึ่งคือ โห คนนี้ประทับใจมาก คือเขาอยากได้หนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นไม่มีขายแล้ว ชื่อหนังสือว่า ‘ช็อกโกแลต’ เป็นหนังสือกับช็อกโกแลตเลยทั้งเล่ม แล้วเราก็ถ่ายทุกหน้าส่งไปให้เขา คือมันไม่มีขายแล้วเพราะเราก็ไปค้นหา ส่วนใหญ่ชอบมีคนมาถามว่าเล่มนี้ยังมีขายอยู่ไหมคะ ซึ่งเนก็ไปหามันไม่มีขายจริงๆ ทำไงดี แล้วเขาก็บอกว่าเขาอยากได้หนังสือเล่มนี้ไปทำงาน แต่เขาก็ไม่ได้ร้องขออะไรนะ เราก็ถ่ายทุกหน้าเลย ตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้า 180 ส่งให้เขาเป็นรูป เป็นไฟล์ แล้วเขาก็ส่งของตอบแทนมาให้เรา ส่งพัสดุมาให้ที่บ้าน เพราะเขาจะเอาหนังสืออันนั้นไปทำช็อกโกแลต โห แบบรู้สึกดีใจมาก เหมือนเราก็มีเพื่อนคนหนึ่ง The People: เคยคิดจะเขียนหนังสือเองบ้างไหม สุวจนา: เคยค่ะ เคยคิดตั้งแต่เด็กแล้ว คือตอนเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่อ่านวรรณกรรมเยาวชนเยอะ เราอยากเข้า มศว แล้วก็เข้าคณะวรรณกรรมเด็ก แต่ว่าตอนนั้นด้วยความที่ว่าต้องอยู่นครนายก เราก็เลยไม่ได้เลือก แล้วเราก็มาเรียนมนุษยศาสตร์ ภาษาไทย ม.เกษตรฯ ซึ่งมันก็เกี่ยวกับการอ่านการเขียนเหมือนกัน ตอนนั้นคืออยากเขียนวรรณกรรมเด็กมาก แต่ว่าถามตอนนี้นะ เราอยากเขียนเรื่องความรัก เป็นความเรียงอะไรอย่างนี้ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเฮ้ย พอเราอายุ 30 แล้ว เราเริ่มรู้สึกว่าเราเจอความรักมาหลายรูปแบบมาก ความรักเพื่อน ครอบครัว แฟนอะไรอย่างนี้ แล้วตอนนี้ก็ค่อนข้างอินเรื่องความรัก เราก็เลยสนใจอยากมาเขียน ถ้าวันหนึ่งสามารถเขียนได้นะ ก็อยากเขียนเรื่องความรัก The People: เคยเปลี่ยนความคิดเพราะหนังสือไหม สุวจนา: เราอินกับเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เป็นเรื่องของนาซี อันนี้ก็จะมีเรื่องของ ‘เด็กชายในชุดนอนลายทาง’ ที่เราประทับใจ แล้วก็ ‘บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์’ 2 เล่มนี้ทำให้เรารู้ว่าในโลกนี้มมีปัญหา มีสงคราม มีอะไรมากมาย ที่เรารู้สึกว่า เราโชคดีแล้วในช่วงชีวิตหนึ่งที่เราไม่ต้องเจออะไรแบบนั้น แล้วเราก็รู้สึกว่าเราก็รับรู้ถึงปัญหา ถึงความลำบาก ความทรมานในชีวิตของคนที่เจอกับสงคราม เรารู้สึกว่าในโลกนี้มีอะไรมากกว่าปัญหาที่เราเจอ บางทีความทุกข์ของเราเล็ก ๆ มันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่คนในประเทศหนึ่งที่ต้องเจอกับสงครามตลอดเวลา เรารู้สึกว่าเราอินมาก หนังสือ 2 เล่มนี้ทำให้เราไปหาประวัติศาสตร์เรื่องนี้อ่านต่อ The People: สิ่งที่ทำให้วงการหนังสือไทยไม่เฟื่องฟูเท่าต่างประเทศ สุวจนา: อาจจะเป็นส่วนที่ support มากกว่า เช่น ห้องสมุดในบ้านเราก็ไม่ได้มีมากมายเยอะแยะ หรือว่าทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ การที่เด็กคนหนึ่งที่เขาจะโตขึ้นมาโดยที่มีหนังสือดี ๆ อ่านมันก็น้อย การที่เด็กจะโตขึ้นมาคนหนึ่งแล้วกลายเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ก็มีโอกาสค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นในต่างประเทศเขาค่อนข้างมีห้องสมุดที่ค่อนข้างหลากหลาย มีเยอะ การเข้าใช้บริการฟรี หรือว่าการสนับสนุนหลาย ๆ อย่างของสังคม หรือรัฐบาลอะไรอย่างนี้ เขาค่อนข้างดีกว่าเรา เพราะฉะนั้น เราคิดว่าการอ่านมันเริ่มต้นจากตอนที่เราอายุน้อย ๆ เนี่ยแหละ คนจะชอบอ่านหรือไม่อ่านอะไรอย่างนี้ เพราะว่าตัวเราก็ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กอย่างนี้ค่ะ เพราะถ้าเด็กคนหนึ่งโตขึ้นมาแล้วได้อ่านหนังสือดี ๆ มีหนังสือให้เขาเลือกหลากหลายในราคาที่ไม่แพงหรือว่าอะไรอย่างนี้ คิดว่ามันช่วยทำให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นได้ The People: จะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เด็กได้อย่างไร สุวจนา: เนว่า หลาย ๆ อย่างเนอะ ทั้งครอบครัว ทั้งโรงเรียน แล้วก็อย่างที่บอกว่าสื่อก็มีส่วนสำคัญนะคะ อย่างครอบครัว อย่างตัวเราเอง เราชอบอ่านเพราะว่าที่บ้านชอบพาเข้าร้านหนังสือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกรักการอ่าน บางทีอาจจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่างให้เขาได้จับหนังสือบ้าง ได้ไม่ได้อยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ อย่างโรงเรียนก็ควรจะมีกิจกรรม มีหนังสือดี ๆ ในห้องสมุดมา เพื่อให้เขามีทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้เขาได้เจอกับหนังสือดี ๆ The People: ความรักที่มีต่อหนังสือของคุณ เป็นความรักแบบไหน สุวจนา: ความรักแบบเพื่อนค่ะ เป็นความรักแบบเพื่อน เพราะความรักแบบเพื่อนมันค่อนข้างจะไม่ต้องคาดหวังอะไร มันไม่เหมือนความรักแบบแฟน เพราะฉะนั้นความรักของหนังสือกับพี่ มันก็คือความรักแบบเพื่อน คือเพื่อนมันไม่ต้องคุยกันตลอด แต่ว่าถ้าเรามีความทุกข์ เรารู้สึกสนุก เราอยากแชร์กับเขา เราสามารถทำได้ตลอดเวลา แล้วก็เราจะไม่เจ็บปวดกับมัน ถ้าเป็นความรักแบบแฟนมันก็จะเจ็บปวดเนอะ เพราะเราคาดหวัง แต่ว่าความรักแบบเพื่อนคือเราอยากสนุกเมื่อไหร่ก็ได้ เราอยากหยิบขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ในเวลาที่เราต้องการเขา เขาก็อยู่ข้างๆ เราตลอดเวลา บางทีช่วงไหนที่เราไปทำอย่างอื่นห่างหายไป เขาก็ยังอยู่ข้าง ๆ เรา เราไม่จำเป็นต้องคุยกันทุกวัน มันเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข คือความรักแบบเพื่อน . ขอบคุณสถานที่: Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด)