13 พ.ค. 2562 | 15:15 น.
เนวิน ชิดชอบ คือใคร? นี่อาจเป็นอีกหนึ่งคำถามเช็คอายุ เพราะถ้าคุณเป็นคนวัยเลยเบญจเพส จะจดจำชายคนนี้ได้ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหญ่ ฉายายี้ห้อยร้อยยี่สิบ เจ้าของวลี "ทุกอย่างจบแล้วครับนาย" และภาพคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเปลี่ยนสีสลับขั้วทางการเมืองไปมาได้อย่างแนบเนียน และมีบทบาทสำคัญทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมานานหลายสิบปี แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ อาจจะคุ้นเคยภาพ “ลุงเนวิน” ใส่เสื้อบอลทีมบุรีรัมย์ สวมกางเกงขาสั้น ตะโกนสั่งการนักเตะอยู่ข้างสนามตลอดเวลา หรือไม่ก็ภาพเนวินในชุดนักบิดควบบิ๊กไบค์คันโตในสนามโมโตจีพี หรืออาจจะรู้จักเนวินในฐานะคนแรก ๆ ที่ผลักดันกัญชาเสรีในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยการจัดงาน “พันธุ์บุรีรัมย์” ในปี 2562 อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ชายคนนี้ปรับบทบาทตัวเองจากนักการเมืองฟูลไทม์ มาเป็นนักพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์บ้านเกิดของเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้ The People : อะไรคือวิธีคิดแบบคนพันธุ์บุรีรัมย์ เนวิน : หัวใจของคนพันธุ์บุรีรัมย์ ที่เราคิดคือคนพันธุ์บุรีรัมย์ต้องเป็นคนที่มี creativity มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็ต้องเข้าใจในระบบของ profit sharing คือกำไรแบ่งปัน ต้องรู้จักเสียสละ หัวใจของการเป็นคนพันธุ์บุรีรัมย์ มันไม่ได้อยู่ที่ผลตอบแทน หรือผลกำไรของการทำงานแต่ละชิ้น แต่มันขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วม คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว อันนั้นคือหัวใจที่เราพยายามจะปลูกฝังคำว่า คนพันธุ์บุรีรัมย์ สิ่งที่มันสะท้อน ให้เห็นอย่างหนึ่งคือผมยกตัวอย่างว่าเราทำมา 9 ปี 10 ปี ปีนี้เป็นปีที่ผมมีความสุขมาก กับการมีชีวิตเป็นคนพันธุ์บุรีรัมย์ อะไรเป็นสิ่งสะท้อน คือการจัดงานสงกรานต์ที่ผ่านมาวันที่ 13-14 เมษายน 2562 เรามีฟรีคอนเสิร์ตสองวัน มีคนมาร่วมงาน 550,000 กว่าคนในสองวัน การที่มีคนมามากไม่ได้เป็นความสำเร็จของงาน แต่ความสำเร็จที่ผมดีใจมากคือคนกว่า 550,000 คน ไม่ได้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ไม่มีเรื่องชกต่อยกันเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า การเป็นคนพันธุ์บุรีรัมย์ อยู่ด้วยกันด้วยความรักความสามัคคี แล้วก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน The People : บุรีรัมย์กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาจังหวัดรอบนอกได้อย่างไร เนวิน : ผมคิดว่าวันนี้เราต้องเข้าใจเรื่องหนึ่งคือว่าโลกในปัจจุบัน resources are limited, creative unlimited โลกในปัจจุบันและอนาคต ชีวิตของคนความสำเร็จของคนจะขึ้นอยู่กับ creativity ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ resources โลกวันนี้มันพิสูจน์ให้เห็นอยู่แล้วว่า คนที่รวยที่สุดในโลกมันมาจาก creativity มันไม่ได้มาจาก resources เพราะฉะนั้นการเป็นคนพันธุ์บุรีรัมย์นี่ มันต้องมี creativity ให้สูง เราเป็นเมืองที่ไม่มีภูเขา ไม่มีทะเล ไม่มีน้ำตก ไม่มีอะไรเลย แต่เราสร้างมันมาหมด ด้วย creativity เหมือนกันงานพันธุ์บุรีรัมย์นี่ มันก็เกิดจาก creativity เราสร้างมันขึ้นมาแล้วท้ายที่สุดมันก็จะกลายเป็นงานระดับประเทศที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้อีกหนึ่ง event สำหรับผมนี่เราจัดงาน เรายกสถานที่ให้ เราร่วมกับจังหวัดจัดงานทุกอย่างนี่ รายได้ทั้งหมดหักค่าใช้จ่ายเข้ากองทุนพันธุ์บุรีรัมย์ เพื่อพัฒนากัญชาทางการแพทย์ เราไม่ได้คิดถึงผลตอบแทน ถามว่าใครได้ เมืองนี้ได้ คนที่มางานนี้ได้ นี่คือสิ่งที่สะท้อนคำว่าแบ่งปัน การทำให้เข้าใจคำว่า profit sharing คนมาเต็มเมือง โรงแรมเต็ม ร้านอาหารเต็ม ทุกคนได้ประโยชน์จากงานนี้ ผมนี่ตากแดดกับครอบครัว ลูกเต้าทีมงาน เอ้ย เรามีความสุข ความสำเร็จของเราความสุขของเรา เกิดขึ้นจากเราได้ทำประโยชน์ให้กับเมืองนี้ แล้วก็ทำประโยชน์ให้กับคนที่มาเมืองนี้ The People : วิธีจัดการเวลาขัดแย้งกันความคิดเดิม ๆ อย่างระบบราชการ เนวิน : ก็ปัญหามันมีเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าวันนี้การเปลี่ยนถ่ายระหว่าง generation เป็นหัวใจสำคัญ วันนี้คนภายนอกอาจจะมองว่าที่เมืองบุรีรัมย์มันขับเคลื่อนได้มันเกิดจากผม แต่จริง ๆ แล้ว generation ที่ทำงานกับผมทั้งทีมอายุแค่ 30 กว่าหมดเลย ไม่ได้ 30 อัพนะ มันสามสิบลงมา คนเจนนี้มันเห็นโลกมากกว่าเจนผม ผมใช้คำว่าเห็นโลกมากกว่าเจนผม เพราะอะไร เจนผมมัน analog มันไม่ใช่ดิจิทัล แต่คนเจนใหม่นี่มันอยู่กับดิจิทัล search Google search YouTube นู่นนั่นนี่ เห็นโลกมากกว่าคนในเจนผมจะได้เห็น เพราะฉะนั้นนี่มันก็เป็นปัญหาของบ้านเมืองเหมือนกันในการเปลี่ยนถ่าย แต่ว่าสิ่งที่เราต้องทำใจก็คือเราต้องยอมรับว่าถ้าคนมีอำนาจที่สุดในประเทศมันเปลี่ยนเจนไม่ได้มันก็เป็นเรื่องลำบากของคนในประเทศนี้เหมือนกัน สำหรับผมนะ ผมก็คิดอย่างนี้ ผมมองว่ามนุษย์ analog อย่างรุ่นพวกผมนี่ มันต้องถอยไปเป็น consult ไปเป็นที่ปรึกษา แล้วก็ปล่อยให้เจนที่เป็นดิจิทัลมาขับเคลื่อนประเทศนี้ บุรีรัมย์มันไปได้เพราะว่าคนขับเคลื่อนเมืองบุรีรัมย์มันเป็นเจนดิจิทัลไม่ได้เป็นเจน analog The People : เป็นคนชอบคบเด็ก เนวิน : คนโบราณบอกว่าห้ามคบเด็กสร้างบ้าน แต่ผมคบเด็กสร้างเมือง (ยิ้ม) วันนี้สิบปีของบุรีรัมย์มันแสดงให้เห็นว่าการคบเด็กสร้างเมืองมันไม่ผิด The People : บุรีรัมย์มีความพร้อมในเรื่องกัญชาแค่ไหน เนวิน : ผมคิดว่ามันไม่ใช่เฉพาะแค่บุรีรัมย์นะ ประเทศไทยทั้งประเทศมันอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ที่มันเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในการปลูกกัญชาแล้วได้พันธุ์ดี ประเทศไทยเคยเป็นนัมเบอร์วันในเรื่อง ไทยสติก (Thai stick) เมื่อก่อนติดตราครุฑเลยส่งออกไปขายอเมริกานู้นนั้นนี้เยอะเยอะไปหมด กัญชาเราเป็นกัญชาพันธุ์ที่ดีที่สุดสามารถปลูกได้ในสภาพอากาศที่ไม่ต้องใช้โรงเรือน แล้วเชื่อว่าการปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยภูมิปัญญาที่มีอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ มันสามารถทำให้ได้พันธุ์กัญชาที่ดีเอาไปใช้สกัดเป็นสาร THC, CBD และ CBN ในอนาคตอีกเยอะแยะเพื่อจะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร และเครื่องดื่มต่อไปในอนาคต
ไอ้คนมีอำนาจตามกฎหมาย กับมีอำนาจเงิน จับมือกันจะเก็บค่าทางด่วน super highway ที่จะเกิดขึ้นจากกัญชา มันก็เลยเป็นปัญหา
The People : ปลูกเยอะทำให้มีปัญหาราคาตกต่ำ เนวิน : ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้ ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา คือหนึ่งกัญชามันต่างจากยาสูบ ยาสูบมันปลูกแล้วมันมีการกำหนดโควตา เพราะมีการรณรงค์ในการสูบ มันมีปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย เป็นมะเร็ง มีโอกาศเสพติดมากกว่ากัญชา แต่กัญชาในความเป็นจริงความเข้าใจของผมนี่ มันใช้เป็นยารักษาโรค ใช้เป็นอาหารเป็นเครื่องดื่มที่มีผลดีต่อสุขภาพในสัดส่วนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ผมยังไม่เห็นทางการแพทย์ว่าใช้กัญชาเพื่อสูบเป็นยารักษาโรค ผมเห็นเขาสกัดเป็นน้ำมัน ปรุงเป็นอาหาร หรือผสมเป็นยา กินเข้าไปเพื่อรักษาโรค เพราะฉะนั้นมิติมันต่างกัน แล้วมันไม่ใช่ยาที่รักษาโรคเดียว มันเป็นยาที่รักษาสารพัดโรค แล้วมันรักษาโรคที่คนส่วนใหญ่เป็นกันมากที่สุดคือมะเร็ง เรานับวันนี้ว่าโลกใบนี้มีคนเป็นมะเร็งเท่าไหร่ มีคนมีอาการออทิสติกเท่าไหร่ มีคนเป็นโรคพาร์กินสันอีกเท่าไหร่ มีคนเป็นเก๊าท์อีกเท่าไหร่ แล้วสุดท้ายจากประสบการณ์ที่ผมเห็นมาเลยก็คือคนเป็น HIV ก็ยังใช้กัญชารักษาได้ นี่เรายังไม่นับไมเกรน แล้วก็โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ แล้ววันนี้นี่เราจนเจ๊ง ทำให้เป็นไมเกรน นอนไม่หลับเยอะแยะไปหมดล่ะ เมื่อมันถูกจัดว่าเป็นพืชที่จะมาใช้เป็นยารักษาโรคเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อช่วยเรื่องสุขภาพของมนุษย์นี่ เท่าไหร่ก็ไม่มีพอ มันต่างกัน มันต่างจากยาสูบ มิติทางความคิดเราต้องเข้าใจให้เหมือนกัน คือคนรุ่นผมจะบอกว่ากัญชาเป็นของไม่ดีห้ามเสพ แต่ไม่ได้รู้เลยว่าเวลาที่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ อังกฤษ อเมริกา ประเทศเจริญแล้วที่ส่งไปเรียน ที่นั่นมันโดนมาหมดทุกคนแหละ มันรู้หมดแหละว่ามันมีประโยชน์มากกว่าโทษ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องทัศนคติความเข้าใจ ถ้าถามว่ากลัวมั้ยว่ากัญชาจะล้นตลาด ผมไม่กลัว แล้วเชื่อผมมั้ยว่าพอมันปลูก มันสร้างรายได้ให้กับคนมันก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งปลูกเพื่อเป็นอาชีพได้ แต่มันก็ต้องมีอุตสาหกรรมอื่น เมื่อคนกลุ่มนี้ปลูกสร้างรายได้หมดหนี้หมดสินแล้ว เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ อุปกรณ์ไฟฟ้า มันก็มีเงินไปซื้อ ก็จะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบทั้งวงจร รัฐบาลเองก็จะเก็บภาษีได้มากมายมหาศาล เราเห็นตัวเลขปี 2018 ปีเดียวแคลิฟอร์เนียรัฐเดียวเปิดเสรีกัญชา ตั้งแต่ 1 มกราคมไปถึง 31 ธันวาคม รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็คือเงินแสนล้าน อันนี้คือตัวเลขที่เมื่อเราเห็นเราก็จะเช้าใจแล้วเคยมีคำถามว่าแล้วที่อเมริกานี่ทำไมเขาไม่เสรีทุกรัฐ เราก็รู้ว่าการปกครองของเขามันมีกฏหมายของรัฐ แต่วันนี้เป็นสิบรัฐที่เปิดตัวเอง ใครต่อใครเปิดเพราะเริ่มเห็นแล้วว่ามันมีประโยชน์ The People : เหมือนเป็น super highway เปิดอยู่แต่มีคนปิดมันเอาไว้ เนวิน : ใช่ เพราะมีคนอยากเก็บค่าทางด่วนไง มีคนอยากเก็บค่าทางด่วน ไอ้คนมีอำนาจตามกฎหมาย กับมีอำนาจเงิน จับมือกันจะเก็บค่าทางด่วน super highway ที่จะเกิดขึ้นจากกัญชา มันก็เลยเป็นปัญหา วันนี้สิ่งที่เราพยายามทำเพื่อให้คนเข้าใจเข้าถึงทั้งหมดนี้ จากงานคนพันธุ์บุรีรัมย์ เพื่อที่จะรวมพลังของคนไทย ที่เข้าใจแล้วเขาถึงเรื่องนี้ ต่อสู้เพื่อปลดล็อกให้เกิดกัญชาเสรีกับประเทศนี้ให้ได้ เราจะต้องรวมพลังกันเพื่อจัดการกับไอ้พวกที่เตรียมกันจะเก็บค่าทางด่วน super highway กัญชานี้ด้วยกัน The People : กัญชาเสรีคือการกระจายอำนาจ เนวิน : คำว่าเสรี คนไทยชอบตีความกัน ทุกเรื่องขอตีความลายลักษณ์อักษร คำว่าเสรีนี่แปลว่าคนเข้าใจเข้าถึงได้ตามกรอบของกฎหมาย เหมือนแอลกอฮอล์เสรี บุหรี่เสรี แต่เราก็จำกัดการเข้าถึงของเด็ก เราต้องไปออกระเบียบตามสังคมโลกที่เขาใช้กัน ที่เขายังเข้าถึงได้ตามเกณฑ์ของสังคมโลกที่เขามีกัน ก็แค่นี้คำว่าเสรี จะไปบอกว่า เด็กตื่นเช้ามาก็ไปป้อนกัญชากินแทนอาหาร ไอ้พวกนี้มโนทุจริตกันไปหมดแล้ว The People : เอาแนวคิดก้าวหน้าแบบนี้มาจากไหน เนวิน : ก็ฟังเด็ก ๆ ให้มากไง ผมคบเด็กสร้างเมือง ผมก็สะท้อนหนึ่งผมเอาความรู้สึกผมเองตอนที่ผมเป็นเด็กว่าผมอยากทำอะไร ผมอยากเห็นอะไร แล้วผมอยากได้อะไร พอวันนี้ผมมีแรงมีกำลัง ผมฟังพวกเด็ก ๆ ว่าพวกเด็ก ๆ เขาอยากทำอะไรเขาอยากเห็นอะไร เขาคิดอะไร แล้วเราคิดว่าเออมันดี เราก็สนับสนุน ส่งเสริมให้โอกาสเขา เมืองนี้มันเดินไปข้างหน้าได้เพราะเราให้โอกาสเด็กทำงาน ผมไม่เคยกลัวเด็กทำงานพลาด ผมกลับเด็กจะไม่กล้าทำงาน เพราะฉะนั้นทำงานแล้วผิดพลาดยังกว่าไม่ทำงานเลย The People : เคยล้มเหลวมาพอสมควรทำอย่างไรถึงผ่านมาได้ เนวิน : ต้องคิดบวก หลักหัวใจสำคัญคือถามใจเราเองว่าสิ่งที่เราทำ เราคิดว่ามันสร้างความสุขให้เรามั้ย มันเป็นประโยชน์กับคนที่เราทำให้เขามั้ย มันเป็นประโยชน์กับตัวเรามั้ย ถ้ามันเป็นมันจะสำเร็จหรือจะล้มเหลว เรารู้อยู่แก่ใจเราเอง วันนี้ปัญหาของประเทศและสังคมเราคือ การโกหกตัวเองไง ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ตัวเองทำ วันนี้คนที่เป็นนักการเมืองชาวบ้านเขาไม่เอาหมดแล้ว แต่ก็ยังโกหกตัวเองว่าเขายังรักกูอยู่ เขายังชอบกูอยู่ มันก็ไปไหนไม่ได้ ยังโกหกตัวเองตลอดไป แต่ผมมีความสุขที่ผมไม่โกหกตัวเอง ผมทำทุกอย่างผมพิจารณาตลอดว่าผมประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว อะไรคือสิ่งที่ผมประสบความสำเร็จข้อดีมันคืออะไรก็จำมันไว้ไปถ่ายทอดต่อลูกหลาน ไอ้ที่มันเป็นความผิดพลาดล้มเหลวก็ต้องไปดูว่ามันมาจากอะไร แล้วก็ต้องไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก The People : นอกเหนือจากกัญชาแล้ว อะไรจะเป็นเรื่องที่ปลดล็อกประเทศไทยได้ เนวิน : ก็ผมว่าเมื่อไหร่ทุกคนคิดถึงคนอื่นคิดถึงสังคมก่อนตัวเอง อันนั้นแหละจะปลดล็อกประเทศไทย ความหมายของผมก็คือ คิดถึงคนอื่นคือการคิดถึงความรู้สึกคนอื่น คิดถึงอำนาจของคนอื่น คิดถึงประโยชน์คนอื่น ก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง นั่นจะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนแล้วเดินหน้าไปได้อย่างมากมายมหาศาลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในรัฐธรรมนูญ ก็ผมโชคดีที่ได้ตายเร็วกว่า เพราะตอนนี้ผม 60 กว่า แล้วไปปรับทัศนคติด้วยกัน
The People : มองประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้ายังไงบ้าง เนวิน : ถ้าเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในรัฐธรรมนูญ ก็ผมโชคดีที่ได้ตายเร็วกว่า เพราะตอนนี้ผม 60 กว่า แล้วไปปรับทัศนคติด้วยกัน (หัวเราะ) The People : คิดอย่างไรกับยุทธศาสตร์ชาติ เนวิน : คือมันต้องทำให้ทุกคนเข้าใจแล้วเข้าถึงนะ อย่าไปตีกรอบเอาความคิดของตัวเองมากำหนดเส้นทางเดินให้คนอื่น ไม่อย่างนั้นประเทศไทยไปไม่ได้หรอก วันนี้คุณรู้ได้อย่างไรว่า 20 ปีข้างหน้าที่เขียนในยุทธศาสตร์ชาติ โลกมันจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน เมื่อสิบปีที่แล้วคุณว่าแอร์ไทม์มีเดียทีวีมีมูลค่าเท่าไหร่ มาถึงวันนี้ทีวีเจ๊งกันจนคุณต้องออก ม.44 อุ้มทีวีเพราะว่ามันเจ๊ง เพราะโลกมันเปลี่ยนไง คิดได้ยังไงกับการมากำหนดประเทศนี้ ต้องมี roadmap มียุทธศาสตร์ของตัวเอง 20 ปี วันนี้มันคือ economy of speed นะครับ เพราะฉะนั้นการอยู่กับ economy of speed มันต้องปรับตัวได้ตลอดเวลา และต้องปรับตัวได้เร็ว วันนี้เรารู้อยู่แล้วว่าโลกนี้ใครเร็วกว่า ใครคิด ใครทำก่อน คนนั้นก็จะประสบความสำเร็จก่อน การตีกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีไว้ ผมว่ามันเป็นมรดกบาปให้กับลูกหลานคนไทยในอนาคตครับ