29 พ.ค. 2562 | 13:24 น.
ดาวสีฟ้าดวงเล็ก ๆ ที่เรียกว่าโลกมนุษย์ เป็นที่พักพิงอาศัยของพวกเราทุกคน การดูแลโลกใบนี้เลยไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็ต่างมีวิธีการที่แตกต่างกันไป บางคนเลือกปลูกป่าต้นน้ำ บางคนหันมารณรงค์งดการใช้ถุงพลาสติก หรือ บางคนให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น ส่วนน้องนักศึกษากลุ่มหนึ่งเลือกที่จะช่วยบ้านของเรา ด้วยการร่วมมือกับชาวชุมชนปากน้ำปราณ ช่วยกันเปลี่ยนของเหลือใช้ให้กลายเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก น้องนักศึกษาปีหนึ่งกว่า 70 คน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เดินทางไปชุมชนปากน้ำปราณ เพื่อเก็บรวบรวมของเหลือใช้อย่างเช่น แหเก่า อวนขาด ขวดแก้วที่ใช้แล้ว ไปจนถึง กากมะพร้าว ที่เหลือจากการแยกมะพร้าวออกไปขาย แล้วใช้ความรู้ด้านการออกแบบ สร้างสรรค์แปรรูปเพื่อชุบชีวิตของเหลือใช้ให้กลายเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ วิธีการรักษาสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำตามได้นี้ มีแนวคิดมาจากคำสอนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ช่วยทั้งลดปริมาณของเหลือใช้ ด้วยการเพิ่มไอเดียดีไซน์ให้มีความสวยงามเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และได้ส่งเสริมทักษะให้คนในชุมชนปากน้ำปราณได้นำต้นแบบผลิตภัณฑ์นี้ ไปผลิตต่อเพื่อจำหน่ายได้ในอนาคต จุดเริ่มต้นของไอเดียเปลี่ยนของเหลือใช้ให้กลายเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลกนี้ มาจากการที่กลุ่มน้อง ๆ นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ หรือ ‘Honor the King’s legacy’ ที่ริเริ่มโดย นิสสัน ประเทศไทย เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และร่วมสืบสานแนวพระราชดำริและน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการเดินหน้าให้การสนับสนุนชุมชนและโครงการต่าง ๆ “โปรเจกต์นี้เป็นโอกาสที่ดีมากของนักศึกษาปีหนึ่งอย่างพวกเรา เพราะได้ประสบการณ์จากการออกแบบผลิตภัณฑ์จริง ที่ทั้งช่วยลดปริมาณของเหลือใช้ และชาวชุมชนนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายเองได้ ที่สำคัญรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดี ๆ ที่น้อมนำคำสอนแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้” พิมพลอย ทรัพย์เจริญ ตัวแทนนักศึกษา ได้เล่าถึงความประทับใจ ในปีนี้โครงการได้จัดขึ้นครั้งที่สอง ซึ่งเน้นไปที่เรื่อง ‘การให้’ หนึ่งในแนวคิดอัตลักษณ์หลักของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทำให้น้อง ๆ นักศึกษาได้ลงพื้นที่ชุมชนปากน้ำปราณเพื่อหาวิธีรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวชุมชนปากน้ำปราณมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จนออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ที่ชาวชุมชนสามารถนำไปพัฒนาเพื่อผลิตแล้วจำหน่ายต่อได้เอง โดยน้อง ๆ นักศึกษาจากภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม จะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อพบปะพูดคุย แล้วถ่ายทอดวิธีการทำผลิตภัณฑ์กับชาวชุมชนปากน้ำปราณอย่างใกล้ชิด ซึ่งมี จารุพัชร อาชวะสมิต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำเรื่องเทคนิคและขั้นตอนการผลิต ตัวอย่างต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งของเหลือใช้ ได้แก่ กระถางอนุบาลต้นไม้จากไบโอพลาสติกเเละกากมะพร้าว ซึ่งนำกากมะพร้าว และเศษใบสน ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในชุมชน มาออกแบบดีไซน์เพิ่มมูลค่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ใช้เพาะต้นอ่อนปลูกพืชลงดินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนกระถาง ซึ่งพัฒนาไบโอพลาสติกจากของใกล้ตัวอย่าง แป้งข้าวโพด น้ำมันพืช และน้ำเปล่า ที่มีต้นทุนถูก ขั้นตอนไม่ซับซ้อน คนในชุมชนสามารถนำไปผลิตได้จริง นอกจากนี้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่นำวัสดุของเหลือใช้จากชุมชนมาสร้างสรรค์ ยังมีทั้ง แจกันฟรีฟอร์มจากขวดแก้วและเชือกรีไซเคิลจากพลาสติก กระเป๋าถักจากเศษถุงพลาสติกใช้แล้ว ที่ได้แนวคิดมาจากอวนจับปลาของประมงในชุมชน รองเท้าแตะจากขวดพลาสติกรีไซเคิล กระเป๋ากะลาที่ใช้วัสดุที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ และ โคมไฟจากอวนเก่าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแมงกระพรุน “สิ่งที่ประทับใจตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นโครงการ คือพอทางพี่ ๆ ชุมชนปากน้ำปราณ ได้เห็นต้นแบบแล้วพูดว่า รู้สึกดีใจที่พวกเราเห็นคุณค่าของสิ่งเหลือใช้ที่พวกเขาอยู่กับมันมาหลายสิบปี แต่ยังไม่มีใครมาสนใจ วันนี้เขาได้เห็นว่าสิ่งของเหล่านี้ได้ถูกกลับนำมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง” ด้านตัวแทนชาวชุมชนอย่าง สมเดช นาคดี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนและสิ่งแวดล้อมบ้านคลองเก่า ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ตัวผมเองรวบรวมของเหลือใช้มากว่า 18 ปี รู้สึกประทับใจทั้งผลงานต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่นักศึกษาคิดค้นจากของที่รวบรวมได้ในพื้นที่ และความกระตือรือร้นในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้คนในชุมชนของเรา ต้องขอขอบคุณกลุ่มนักศึกษา และโครงการดี ๆ จากนิสสันที่ช่วยให้ผมได้เรียนรู้วิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์ที่สวยงาม ที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยตัวของเราเอง” ปีเตอร์ แกลลี รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงสามสิ่งคือ หนึ่งชุมชน สองการทำงานร่วมกัน และ สามการอนุรักษ์ โครงการเริ่มต้นนี้เป็นความหวัง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยในการสร้างโครงการในท้องถิ่นที่ช่วยลดของเสีย และช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับพวกเขา” โครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ ปีที่สอง ‘Honor the King’s legacy’ ที่ทาง นิสสัน ประเทศไทย จัดขึ้นนี้ เป็นทั้งหนึ่งตัวอย่างของโครงการดี ๆ ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อโลกใบนี้ เหมือนน้อง ๆ นักศึกษาปีหนึ่งกลุ่มนี้ที่เริ่มต้นด้วยวิธีการง่าย ๆ อย่างการนำของเหลือใช้มาทำให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่อาจเปลี่ยนโลกได้ในอนาคต