28 เม.ย. 2565 | 15:00 น.
“มันก็มีของบางอย่างนะที่ตัวมันเองไม่ได้เปลี่ยนอะไร แต่มันยังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้นะครับ อย่างมั่นคง แล้วก็ยังเดินต่อไป อันนี้ก็คงต้องมาดูข้างในของมันแล้วแหละว่ามันปรับตัวอย่างไร แล้วถ้าเป็นเรา เราจะปรับตัว แล้วเราจะอยู่ ไปอยู่ในทุกยุคทุกสมัยได้อย่างไรครับ” พูดถึงรองเท้าผ้าใบ ‘นันยาง’ และรองเท้าแตะ ‘ช้างดาว’ นี่คงเป็นรองเท้าที่อยู่คู่รองเท้าคนไทยมาตั้งแต่รุ่นทวด ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ จนส่งต่อไปถึงรุ่นหลาน จากอายุอานามของแบรนด์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาร่วม ๆ เกือบ 7 ทศวรรษ รองเท้าก็รองเท้าคู่เดิม เพียงแต่สิ่งที่ไม่หยุดนิ่งเลยคือการปรับตัวของแบรนด์ที่สามารถนำเสนอและเจาะกลุ่มตลาดได้หลากหลายตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ นักตะกร้อ ช่างมุงหลังคา หรือแม้กระทั่งพระ ที่ผ่านมา ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีแคมเปญที่น่าสนใจออกมาไม่เคยหยุดนิ่ง ไล่มาตั้งแต่ นันยางรุ่นลิเวอร์พูลฉลองแชมป์ยุโรป, รองเท้าแตะช้างดาวของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์, นันยางรุ่นต่อต้านการบูลลี่ในโรงเรียน, รองเท้าแตะช้างดาวจากขยะ, กล่องสุ่มรองเท้าแตะกาช้างปอง ไปจนถึง ช้างดาว : ห่านคู่ แคมเปญที่นำรองเท้าแตะกับเสื้อยืดห่านคู่มาจับคู่กันให้กลับมา hype ในรุ่นนี้ แม้แต่เสียง ‘เอี๊ยด’ จากการเสียดสีของรองเท้าที่ได้ยินบ่อย ๆ สมัยเรียนมัธยมฯ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของนันยาง เหล่านี้ล้วนแล้วคือความไม่หยุดนิ่งในการนำพาสองแบรนด์นี้ผ่านยุคสมัยมาจนถึงวันนี้ ภายใต้พื้นรองเท้า มีความลับใดซ่อนอยู่ที่ทำให้ ‘เก๋า’ จนถึงทุกวันนี้ คำตอบอยู่ที่บทสัมภาษณ์ จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ว่าด้วยการสวมรองเท้าแล้วก้าวหาไอเดียการตลาดกับรุ่นที่ 3 ของ ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’