08 ธ.ค. 2565 | 10:15 น.
- DotLimited รีฟิล สเตชั่น ร้านทางเลือกสำหรับคนใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่อยากใช้ชีวิตที่ทำลายสังคมน้อยที่สุด
- 4 ผู้ร่วมก่อตั้งมีจุดประสงค์สร้างการรับรู้ ออกแบบโมเดล DotLimited ในขอนแก่นเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค
- โมเดล DotLimited จะไม่ใช่แค่ร้านรีฟิล สเตชั่น แต่จะกลายเป็น community center จัดกิจกรรม, อีเวนท์ เพื่อปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ Zero Waste (ขยะเหลือศูนย์) เป็นเรื่องที่ในต่างประเทศพูดถึงมานานแล้ว ขณะที่ในประเทศไทยก็ได้เพิ่มบทบาทเกี่ยวกับประเด็นนี้มากขึ้นในปัจจุบัน แต่ในแง่ของการทำได้จริง หรือการตอบรับที่ดีสำหรับคนไทยถือว่ายังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหลายมิติ
The People มีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้าน DotLimited ซึ่งชื่อมีความหมายมาจากทรัพยากรโลกที่มีอย่างจำกัด ‘ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร’ ได้พูดถึงแนวคิดการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย จุดเริ่มต้นทุกอย่างเกิดขึ้นจากความคิดเรื่อง ‘ทางเลือก’ ที่ ดร.ณรงค์วิทย์ และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 3 คนเห็นว่าอยากจะให้เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น
เริ่มจากความสงสัยกับทางเลือกผู้บริโภค
ดร.ณรงค์วิทย์ ได้พูดกับ The People ว่า “พอเราย้ายจากกรุงเทพฯ มาที่ขอนแก่น เกิดเป็นความสงสัยว่าทำไมกลับมาที่นี่แล้วมันไม่มีช้อยส์เรื่องสิ่งแวดล้อมให้เราเลย ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งเราก็อยากใช้ชีวิตโดยที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”
“เราเลยคิดว่า มันน่าจะมีทางเลือกหน่อยมั้ยให้กับคนที่มีความคิดคล้ายคลึงกับเรา ก็เลยดูว่ามีธุรกิจไหนบ้างที่ขอนแก่นที่พอจะเป็นไปได้บ้าง ซึ่งตอนนั้นย้อนกลับไปเกือบ 4 ปีช่วงแรก ๆ ก็เป็นช่วงที่คนพูดถึงเรื่อง Zero Waste มากขึ้น รวมถึงโมเดลรีฟิล สเตชั่นที่เราคงเคยได้ยินมาบ้าง”
“เราคิดว่ามันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะว่าเป็นวิถีชีวิตง่าย ๆ มีแค่การปรับเปลี่ยนวิธีการบางอย่างเท่านั้น แล้วคนก็สามารถหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 4 คนก็มีความคิดเหมือนกันในเรื่องนี้ จึงตัดสินใจมาร่วมมือกันทำดีกว่าครับ”
โมเดลรีฟิลสเตชั่นในไทยเพิ่งเริ่ม
เมื่อพูดถึงการเป็นรีฟิล สเตชั่น สำหรับในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ น่าจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ในไทย ดร.ณรงค์วิทย์ พูดว่าเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นด้วยซ้ำไป แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็มีแค่ไม่กี่ร้านเท่านั้น ซึ่งถามว่าโมเดลธุรกิจนี้มีความเสี่ยงขนาดไหน ในมุมของ ดร.ณรงค์วิทย์ ถือว่ามีโอกาสที่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จได้พอ ๆ กัน
“เราก็ไม่แน่ใจหรอกครับว่ามันจะไปได้ดีหรือไม่ดีช่วงที่เริ่มต้นคิดเรื่องนี้ แต่ถ้ามีคนที่คิดเหมือนกันหลาย ๆ คนช่วยกันผลักดันให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้น ผมคิดว่ามันน่าจะมีหนทางของมัน ตอนนั้นเราคิดอย่างนี้จริง ๆ และต้องเรียนตรง ๆ ว่าเราไม่ได้คิดถึงโมเดลด้านการเงินแบบชัดเจนด้วยซ้ำไป ประเด็นทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นประเด็นตั้งต้นในการเปิดร้านนี้ขึ้นมา”
“ตอนนั้นคืออยากจะมีเซอร์วิสเรื่องนี้ในขอนแก่น อย่างที่เราเห็นตัวอย่างในเมืองนอก หรืออย่างที่กรุงเทพฯ มันก็เหมือนจะเป็นไปได้ ซึ่งผมกับพาร์ทเนอร์อีกคนในฐานะที่เป็นผู้ออกแบบ เราคิดว่าเรื่องพวกนี้มันน่าจะไม่ใช่แค่รีฟิลอย่างเดียว มันอาจจะออกแบบกิจกรรมบางอย่างที่ integrate เข้าไปในร้าน เบลนด์เนื้อหาของร้านที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นได้”
ดังนั้น โมเดลในร้าน DotLimited จึงไม่ใช่แค่เป็นสถานีรีฟิลแต่ขยายไปถึงเซอร์วิสอื่น ๆ และโปรดักส์อื่นด้วย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมีความถนัดด้านผลิตภัณฑ์ที่อิงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพควบคู่กัน ซึ่งในร้านก็จะมีทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องดื่มสุขภาพ และเสื้อผ้าที่เป็นกระบวนการออร์แกนิก เป็นต้น
ชอบแนวคิดอย่างหนึ่งของร้าน DotLimited ที่ไม่ได้วางโมเดลธุรกิจชัดเจน และไม่ได้ตั้งเป้าด้านธุรกิจขนาดนั้น เพียงแต่อย่างน้อย ๆ ให้เรื่องของสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในขอนแก่นให้ได้ นี่คือเป้าหมายสำคัญสุดของร้านนี้
“ผมคิดว่าร้านนี้เหมือนเป็นตัวจุดประกายให้กับเมืองนี้ สมมติเราทำอาจจะไม่สำเร็จอย่างน้อยก็มีคนที่เริ่มเห็นว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ ซึ่งพวกเขาสามารถ apply ไปสู่เรื่องอื่นได้ ผมคิดว่าแค่นั้นและเราถือว่าแค่นี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว ถึงแม้จะไม่ใช่ในเชิงการเงินนะครับ”
honeymoon period ของคนไทยอยู่ไม่นาน
เมื่อถามถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ที่เปิดธุรกิจนี้ ดร.ณรงค์วิทย์ เล่าว่า “เป็นปกติของการทำธุรกิจในเมืองใหม่ ช่วงเดือนแรก ๆ จะมีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย อย่างที่ DotLimited ต้องพูดว่า เราปิดร้านเกือบไม่ได้ครับเพราะคนเข้ามาใช้บริการเยอะมากเพราะมันเป็นสิ่งใหม่”
“คือต้องเข้าใจอย่างนี้ ในบริบทของต่างจังหวัดไม่ใช่แค่เราอย่างเดียวนะ แต่รวมไปถึงร้านกาแฟเปิดใหม่ ฯลฯ ผมเชื่อว่าเดือนแรกหรือเดือนที่ 2 ถือว่าเป็น honeymoon period ทั้งหมดก็คือลูกค้าจะเยอะเป็นปกติ จากนั้นก็อาจจะค่อย ๆ จางหายไป เหลือเพียงลูกค้าที่ชอบในสไตล์ของเราจริง ๆ”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นเกี่ยวกับกระแสตอบรับ เริ่มมีคนที่กลับมาใช้ซ้ำ เริ่มมีคนเห็นด้วยกับวิธีของ DotLimited ซึ่ง ดร.ณรงค์วิทย์ มองว่ามันเป็น feedback ที่ดีที่ตอบกลับมาถึงร้าน
ทั้งนี้ เป้าหมายอย่างหนึ่งของผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 4 คน ก็คือ มีคนเห็นคุณค่าในเรื่องนี้ และทำงานให้หนักขึ้นเพื่อทำให้เรื่องนี้สามารถกระจายออกไปได้ภาพใหญ่กว่าเดิม ซึ่งหลังจากที่ร้านเปิดได้เพียง 2 เดือน ก็เริ่มมีคนสนใจมาขอซื้อแฟรนไชส์ DotLimited แสดงให้เห็นว่า ข้อความและการสื่อสารบางอย่างที่ไปถึงผู้บริโภคเขารับรู้และเข้าใจจุดประสงค์ของร้านชัดเจน
อนาคตของ DotLimited
ดร.ณรงค์วิทย์ ได้บอกกับเราเกี่ยวกับอนาคตของ DotLimited ว่า “การขายแฟรนไชส์ก็อยากจะทำเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สิ่งแรกที่อยากจะทำ เพราะตอนนี้อยากทำให้โมเดลนี้มันยั่งยืนก่อน เพื่อทำให้การกระจายตัวของผู้ที่มาซื้อแฟรนไชส์ไม่มีความเสี่ยง หรือไม่อยากให้มาเจอแบบเรา”
แม้ว่า ดร.ณรงค์วิทย์ จะมองว่าธุรกิจรีฟิล สเตชั่น หรือธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็น deep blue ocean แต่ก็เป็นพื้นที่ใหญ่ที่ยังไม่สามารถทำกำไรได้ตอนนี้ พูดง่าย ๆ คือ “ถ้าคุณคิดว่าจะทำธุรกิจนี้แล้วหวังว่ามันจะรวยเลย ผมว่าอันนี้ยังไม่ใช่ธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องนั้น แต่ถ้าคิดว่ามันอาจจะพออยู่ได้ และคุณสามารถสื่อสารสิ่งที่อยากจะสื่อสารออกไป ผมคิดว่าธุรกิจนี้อาจจะเป็นช้อยส์ที่คุณเลือกได้”
“นอกจากในร้านที่จะเป็นพวกสินค้าอุปโภคบริโภค เรามีเซอร์วิสอีกอย่างหนึ่งด้วย ด้วยความที่โลเคชั่นร้านอยู่ใจกลางเมือง เซอร์วิสที่ว่าจึงเป็นเรื่องของ community center ก็คือมีการจัดอีเวนท์ จัด workshop ในร้านด้วย”
ซึ่ง ดร.ณรงค์วิทย์ ได้เล่าถึงเคสที่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ๆ เคสหนึ่งก็คือ ช่วงปีแรกที่ไทยมีการระบาดโควิด-19 ประกอบกับเป็นปีที่ออสเตรเลียเกิดไฟป่าอย่างรุนแรง กิจกรรมช่วงวันเด็กของปีนั้นจึงปรับเปลี่ยนเล็กน้อย แทนที่จะเป็นการแจกขนม แจกลูกโป่ง ก็ปรับให้เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
“เราออกแบบกิจกรรมให้เด็ก ๆ หาพวกกิ่งไม้ เศษไม้ ตามสวนตามบริเวณบ้าน แล้วนำมาประกอบเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ แล้วก็เอาตุ๊กตารูปสัตว์ออกมาประมูล แล้วก็เอาเงินประมูลส่งไปที่ออสเตรเลีย กะว่าจะส่งไปออสเตรเลีย แต่สุดท้ายเราก็ส่งไปที่มูลนิธิในเมืองไทยที่เขาทำเรื่องนี้ กลับกลายเป็นว่าวันนั้นเด็กมาร้านแน่นทั้งวันเลย”
"ผมคิดว่า ถ้าเรายังยึดแต่สินค้าอุปโภคบริโภค เราก็อาจจะอยู่กับปัญหาเดิม ๆ ที่ยังข้ามผ่านไม่ได้ ดังนั้น ตอนนี้ที่เรากำลังจะทำคือเป็นเหมือน creative studio ที่ใครอยากพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น คนในเมืองนี้อยากจะทำอีเวนท์ อยากจะทำเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราจะทำหน้าที่เป็น creative agency ที่เข้าไปช่วยในการคิดเรื่องดังกล่าว”
ดร.ณรงค์วิทย์ ยังพูดทิ้งท้ายเกี่ยวกับเทรนด์ของ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือเศรษฐกิจสีเขียว ว่าสำหรับร้าน DotLimited มีรากฐานของ Circular economy อยู่แล้ว เราทำเรื่องนี้กันอยู่แล้ว โดยพูดย้ำว่า “เวลาที่เราพูดถึง BCG ไม่ให้ flow ของ material ต่าง ๆ มันกลายเป็นความสิ้นเปลือง กลายเป็นของเสีย นั้นหมายถึงการวนอยู่ในลูปที่ถูกต้อง ซึ่งเราคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่ตรงกันมาก ๆ เพียงแต่ว่าเรื่องนี้มันจะไปแตะที่อุตสาหกรรมไหนบ้าง เพราะสำหรับเราคือ เราแตะในเรื่องของอุปโภคบริโภคและเซอร์วิสพื้นฐานอย่างที่ทุกคนทราบ”
“เราปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นจุดที่ลิงก์ตรงกันที่สุดกับเรื่องของ BCG”
สิ่งที่น่าติดตามคือ โมเดลของการเป็น DotLimited ที่ไม่ใช่แค่รีฟิลสเตชั่น และรูปแบบธุรกิจการขายแฟรนไชส์ อย่างน้อย ๆ ผู้ร่วมก่อตั้งก็ยังมีแผนที่จะเปิดรูปแบบนี้ เพียงแต่เปิดในวันที่พร้อมแล้ว เพื่อไม่ให้ธุรกิจแบบ DotLimited กลายเป็น waste อีกตัวหนึ่งในระบบ
สำหรับคนที่สนใจอยากฟังเรื่องราวของ 'ร้าน DotLimited' เพิ่มเติม สามารถมาพบกันได้บนเวที Talk 'เว่าถึงแก่น' ทอล์กโชว์เพื่อให้เข้าใจภาคอีสานมากขึ้น
เวทีเว่าถึงแก่น คือส่วนหนึ่งของงาน Isan BCG Expo 2022 มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้แนวคิด Collaboration : ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ จัดขึ้นในวันที่ 9-12 ธันวาคม 2565 ณ Khon Kaen Innovation Centre (KKIC) จังหวัดขอนแก่น
พบกับการบรรยายของ ดุษฎี สุ่มมาตย์ จากร้าน DotLimited ได้ในงาน ISAN BCG EXPO 2022 ในวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2565 ในหัวข้อ “ที่ราบสูงแห่งความยั่งยืน (Clean Energy & Circular Economy)” : ภารกิจฉบับคนรักษ์โลกเวลา 16.30 - 17.30 น. ที่ Srichan Creative Stage ตึกคอม ขอนแก่น
คลิกดูรายละเอียดงานและ Speakers ในเวที เว่าถึงแก่น เพิ่มเติมที่นี่
ภาพ: Facebook/dotlimited