08 ธ.ค. 2565 | 18:25 น.
- ชมพู่ - กาญจนา ชนาเทพาพร’ ผู้ก่อตั้งกระเป๋าไก่แบรนด์ BWILD ISAN เริ่มจากไอเดียสื่อสารวิถีคนอีสานผ่านงานแฟชั่น
- 'กระเป๋าไก่' เป็นที่มาของการใช้ชีวิต วิธีคิด และรูปแบบสังคมของชาวอีสาน
- กลยุทธ์การทำแบรนด์ดิ้งสไตล์ ชมพู่ - กาญจนา ต้องแบตัวตน ไม่สร้างภาพลักษณ์
การทำธุรกิจในสมัยก่อนกับยุคสมัยใหม่เรียกว่าต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคเห็นเพียงด้านเดียว แต่ในปัจจุบันต้องพูดว่า “ใช้ความจริง ความเรียลในการแข่งขันกัน” ซึ่งแนวคิดตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้นึกถึงผู้ประกอบการสายแฟชั่นคนหนึ่ง สาวมั่นที่เติบโตในจ.อุดรธานี เธอมี passion อย่างมากกับความเป็นอีสาน และเชื่อในรากเหง้าของแต่ละคนว่าสามารถสร้างคุณค่าที่ดีได้ในแบบของตัวเองได้
‘ชมพู่ - กาญจนา ชนาเทพาพร’ ผู้ก่อตั้ง BWILD ISAN เจ้าของแบรนด์กระเป๋าไก่ที่เคยไปเฉิดฉายบนเวที VersaThai ที่ประเทศมาเลเซียมาแล้ว เธอพูดกับ The People ถึงจุดเริ่มต้นก่อนมาเป็น ‘กระเป๋าไก่’ กระเป๋าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นอีสานสูงมาก จนใครต่อใครพูดถึง ซึ่งเธอบอกว่าเกิดเป็นไอเดียที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน
สาวการเงินที่รักในแฟชั่น
ชมพู่ – กาญจนา จบการศึกษาด้านการเงินและบริหารธุรกิจ และเธอก็เป็นคนที่สนใจเรื่องแฟชั่น งานคราฟต์ งานแฮนด์เมดตั้งแต่เด็ก เธอเล่าว่า “เราเติบโตมาในจ.อุดรธานี แต่ครอบครัวของพ่ออยู่ที่กรุงเทพฯ และครอบครัวของแม่อยู่ที่ฉะเชิงเทรา ดังนั้น ช่วงเวลาที่ปิดเทอม เราจะได้มาเยี่ยมญาติที่กรุงเทพฯ ได้อยู่กับพ่อแม่ ก็จะสนุกทุกครั้งเพราะแม่พาไปเที่ยว เดินดูของ ไปห้างฯ ตลาดนัด สวนจตุจักร เราได้เห็นอะไรมากมาย คิดว่ามีส่วนอย่างมากที่ทำให้เราชื่นชอบงานคราฟต์เป็นพิเศษ”
“สำหรับงานคราฟต์แค่ได้เห็นก็ตื่นตาตื่นใจ มีความสุขแล้ว เราคิดว่ามันส่งผลมาถึงตอนที่เราโต พอเรายิ่งได้เห็นงานคราฟต์จากทั่วโลกก็ยิ่งหลงรักในสิ่งนี้ เรารู้สึกพิเศษเวลาที่เห็นงานที่คนทำเอง พี่ว่ามันเป็นศิลปะ และปกติเราก็ไม่ได้สนใจเรื่องแบรนด์เนม เป็นคนที่มีแบรนด์เนมน้อยมาก แต่เราจะชอบงานของดีไซเนอร์ ชอบสไตล์ ชอบความรู้สึกที่ได้ใส่เสื้อผ้าที่ไม่เหมือนคนอื่น”
ความชอบและความหลงใหลเหล่านั้นหล่อหลอมให้เป็นตัวตนของ ชมพู่ – กาญจนา อย่างทุกวันนี้ เธอเลือกและตัดสินใจนำสิ่งที่ตัวเองรักมาทำเป็นธุรกิจ เหตุผลเพราะว่าเธอจะทำมันได้อย่างมีความสุขในทุกวัน และยังมี passion ที่ไปต่อเรื่อย ๆ เดินหน้าต่อได้ไม่สะดุด เพราะนั้นเป็นสิ่งที่เธอรัก แต่ก่อนที่เธอจะมาเป็น ชมพู่ – BWILD ISAN เธอมีอีกหนึ่งธุรกิจด้านแฟชั่นอยู่ก่อนแล้ว
จุดเริ่มต้นก่อนเป็น ‘BWILD ISAN’
แบรนด์ BWILD ISAN ไม่ใช่ธุรกิจแรกที่ ชมพู่ ตัดสินใจทำ เพราะเธอมีธุรกิจ ‘ห้องเสื้อ by Heart’ อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2007 อยู่ที่ จ.ขอนแก่น โดยจะรับตัดเสื้อผ้าชุดแต่งงาน ชุดออกงานต่าง ๆ แต่ก่อนจะเป็นห้องเสื้อ by Heart เธอเคยต้องไปเรียนทำแพทเทิร์นเสื้อผ้า เรียนการตัดเย็น เพื่อที่จะเข้าใจธุรกิจนี้มากขึ้น หลังจากที่เธอเรียนจบระดับปริญญาโทและแต่งงาน ซึ่งครอบครัวสามีของ ชมพู่ ทำธุรกิจขายเสื้อผ้าผู้ชายอยู่ก่อนแล้ว
“ตอนนั้นแต่งงานใหม่ ๆ อายุประมาณ 25 - 26 ปี หลังจากที่แต่งงานก็เข้าไปเรียนรู้ธุรกิจร้านขายผ้าของสามี ซึ่งเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเพราะมันเป็นเสื้อผ้าผู้ชาย พวกสูทประมาณนี้ จำได้ว่าคุณพ่อของสามีพาเราไปสำเพ็ง เราได้เห็นเสื้อผ้าผู้หญิงเลยคิดว่า ผู้ชายจะไปซื้อเสื้อผ้าเพื่อมาตัดอะไรนักหนา มันต้องผู้หญิงสิ สุดท้ายเราก็ศึกษา ไปเดินดูตลาดค้าผ้าที่ใหญ่ที่สุด และเอาตัวเองไปเรียน”
“จริง ๆ วัตถุประสงค์ตอนที่เราไปเรียน พี่แค่อยากรู้ว่าในอุตสาหกรรมนี้คนที่เป็นลูกค้าเราคือใคร ร้านตัดเสื้อผ้าเขาใช้ผ้ากาวยี่ห้ออะไรเพราะมันมีหลายแบบมาก เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้น จากนั้นเราก็มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนจากร้านเสื้อผ้าผู้ชายเป็นร้านผู้หญิง ซึ่งการเรียนรู้ครั้งนั้นทำให้เข้าใจว่า จริง ๆ แล้วเสื้อผ้าผู้หญิงเองก็มีของแบบไม่ใช่ของแฟชั่น แต่เป็นของที่ต้องใช้ประจำวัน เช่น อะไหล่ของช่าง ซับใน กาว ซึ่งของแบบนี้มันไม่มีล้าสมัย”
สิ่งเหล่านั้นที่ ชมพู่ เรียนรู้และศึกษา ทำให้ย้อนกลับไปในวัยเด็กว่าจริง ๆ แล้วเธอเป็นเด็กที่ชอบวาดรูป ชอบการออกแบบเสื้อผ้า มีความสนใจในเสื้อผ้าตั้งแต่จำความได้ อย่างเวลาที่มีกิจกรรมโรงเรียน ชมพู่ ก็เลือกจะไปร้านเสื้อผ้าเพื่อนำผ้ามาตัดเย็บเองตั้งแต่ประถม พูดง่าย ๆ ก็คือมีเลือดการเป็นดีไซเนอร์ ชอบในความแฟชั่นตั้งแต่เด็ก
จุดกำเนิดแบรนด์กระเป๋าไก่
ชมพู่ เล่าว่า “ไอเดียของ BWILD Isan เริ่มจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงปลายปี 2019 เราคิดแค่ว่าน่าจะรวมนักออกแบบ และช่างฝีมือของอีสาน เพื่อทำงานอะไรสักอย่างที่ห้องเสื้อ by Heart ก็ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำเพราะตัวเราเองก็มีธุรกิจอื่นที่ต้องดูแล”
“ตอนนั้นเราก็คิดว่า ตัวเราทำอะไรได้บ้าง แม้ว่าจะไม่มีแผนอะไรชัดเจน แต่สิ่งที่เรากังวลคือมีคนเกือบ 10 ชีวิตก็คือ 10 ครอบครัวที่เราต้องพาเขาไปต่อให้ได้ จึงตัดสินใจเริ่ม BWILD ISAN อย่างจริงจังในช่วงต้นปี 2020 คิดว่าอย่างน้อยถ้าความสามารถของทุกคนมารวมกันคิด และร่วมกันทำ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เรามีมาสร้างงาน ก็อาจจะข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้ โดยไม่ต้องทิ้งใคร คิดแค่นั้น เราก็เริ่มเลย”
ซึ่งที่มาของชื่อแบรนด์ BWILD ISAN มาจากคำว่า ‘B-WILD’ ที่มีความหมายว่า ‘กล้า’ ชมพู่ กล้าที่จะคิดกล้าที่จะทำกล้าที่จะออกจากกรอบเดิม ๆ และสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ส่วนคำว่า ‘ISAN’ ต่อท้ายก็เพื่อให้รู้ว่า จุดประสงค์ของแบรนด์ที่เกิดมาเพื่อสร้างคุณค่ากลับไปให้แผ่นดินอีสานของเรา
ทั้งนี้ เหตุที่เริ่มดีไซน์ให้เป็น ‘กระเป๋าไก่’ ชมพู่ บอกกับเราว่า “กระเป๋าไก่ เกิดขึ้นระหว่างที่เราได้เข้าไปเรียนรู้การทำธุรกิจในโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ เป็นโครงการเพื่อนักธุรกิจสอนผู้ประกอบการ และให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy)”
“โครงการนี้เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของ BWILD ISAN ในการเจอจุดสมดุล ความพอดีในการทำธุรกิจที่ไม่ได้คิดแต่เรื่องการหากำไร ยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่ผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้”
“ชมพู่ เรียนรู้ว่าตัวตนของเรา passion อิคิไก ของเรานั้นคืออะไร เพื่อเปลี่ยนจาก passion มาเป็น purpose (จุดประสงค์) ของแบรนด์ เรียนรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร เพื่อที่จะออกแบบสินค้าได้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้น เมื่อแบรนด์ชัด กลุ่มลูกค้าชัด ก็จะทำให้เราเจอจุดที่พอดีในการทำธุรกิจ ไม่ทำแบบเกินกำลังตัวเอง”
“ข้อดีก็คือ พอเราหาจุดสมดุลของตัวเองของธุรกิจได้ ก็จะมีเวลามากพอในการพัฒนาสินค้าและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้พร้อมกัน ดังนั้น จากการรู้จักตนและความรู้ที่ได้มาจากโครงการนี้ ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของความตั้งใจครั้งใหม่ที่จะสร้างงานที่มาจากวิถีชีวิตของคนอีสาน สร้างสิ่งบ้าน ๆ ที่คนมองข้ามและนำมาเล่าใหม่ให้พิเศษและน่าจดจำกว่าเดิม”
ขณะที่ ชมพู่ ยังอธิบายเพิ่มว่า “เหตุผลที่เลือกเป็น ‘กระเป๋าไก่บ้าน’ ก็เพราะว่ามีแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตคนอีสาน ที่ผูกพันกับการเลี้ยงไก่มาตั้งแต่โบราณ และจริง ๆ แล้วไก่บ้านจากทั่วโลกมีการค้นพบว่า ต้นกำเนิดมาจากภาคอีสานของไทย ดังนั้น ไก่บ้าน หรือไก่พื้นบ้าน ที่เก่งผ่านการคัดเลือกและฝึกฝนคนอีสานจะเรียกกันว่า ‘ไก่ชน’ ซึ่งชาวบ้านจะเลี้ยงไก่ชนตัวที่เก่งไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อให้ลูกหลานที่เก่ง เป็นนักสู้ ได้เป็นเจ้าของและดูแลต่อ ซึ่งไก่บ้านหรือไก่ชนถือว่าสะท้อนวิถีชีวิตคนอีสานอย่างมาก เพราะมีความเป็นนักสู้อยู่ในสายเลือดและอดทน”
สำหรับกลยุทธ์การตลาดของ BWILD ISAN ค่อนข้างน่าสนใจเพราะเชื่อว่า “ลูกค้าที่ใช่ จะมาหาเราเอง” ดังนั้น น้อยมากที่จะเห็นแบรนด์นี้ไปออกบูธหรือขายตามงานอีเวนท์ต่าง ๆ
“เราเน้นการพึ่งพาตนเอง จึงตั้งใจที่จะขายของผ่านเว็บไซต์ของเรา หนึ่งคือต้นทุนต่ำสุดไม่ต้องเฝ้าร้านขายของ และสองคือ ทีมงานทุกคนจะได้มีเวลาใช้ชีวิต สร้างอนาคตของตนเอง มีเวลาในการสร้างฝันของตัวเอง ได้อยู่กับครอบครัว”
อย่างไรก็ตาม การปิดยอดขายผ่านเว็บไซต์ของ BWILD ISAN ที่ผ่านมาถือว่าไม่ธรรมดา เพราะมีทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี แคนาดา ไต้หวัน สวีเดน และอังกฤษ
ไอดอลการทำธุรกิจ
สำหรับ ชมพู่ เธอยกให้ ‘ดร.ศิริกุล เลากัยกุล’ หรือ พี่หนุ่ย ผู้ก่อตั้งโครงการพอแล้วดี The Creator เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ เพราะมองว่ามีแนวคิดที่คล้ายกัน ก็คือเป็นผู้ที่รักในแผ่นดินไทยอย่างสุดหัวใจ ทั้งยังใช้ความรู้ความสามารถในการพัฒนาผู้อื่นที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศด้วย
“พี่หนุ่ย ให้สติและเป็นกำลังใจสำคัญของเรา เป็นผู้ที่คอยสอนหาสมดุลในการทำธุรกิจรวมถึงการใช้ชีวิต พี่หนุ่ย เป็นผู้ที่ให้ความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหนก็สามารถสร้างคุณค่าได้เสมอ ซึ่งเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักธุรกิจเพื่อสังคมหลายท่าน ไม่ใช่เป็นนักธุรกิจที่มุ่งหาแต่กำไร แต่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม สร้างคุณค่าต่อชีวิตผู้อื่นได้”
ซึ่งสำหรับ BWILD ISAN ถึงแม้จะเป็นกระเป๋าแบบพรีเมียม แต่ก็มีโครงการช่วยเหลือสังคมอยู่มาก อย่างล่าสุดที่มีโครงการแบ่งกำไรจาก ‘กระเป๋าไก่’ ให้มาเป็นมื้ออาหารไก่จริงที่ส่งมอบให้แก่เด็ก ๆ ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
“เราหวังแค่เพียงการมีอยู่ของ BWILD ISAN ช่วยสร้างอนาคต สร้างความอยู่ดีกินดี สร้างโอกาสให้ลูกหลานชาวอีสานได้ ให้พวกเขามองเห็นอนาคตและมีชีวิตที่ดีขึ้นที่อีสานที่บ้านของเรา”
แฟชั่นที่ (ไม่) ควร mass
มีหลายครั้งที่ธุรกิจแฟชั่นแข่งขันกันที่ความพรีเมียมแต่ก็อยากให้คนเข้าง่ายด้วย ซึ่งในมุมของ ชมพู่ – BWILD ISAN เธอกลับมองว่า “เรื่องแฟชั่นมันเป็นเรื่องของครีเอทีฟ ถ้าคุณต้องออกแบบอย่างมีอัตลักษณ์ อิสระไร้กรอบด้วย แต่จะต้องทำให้งานออกมา mass ได้ด้วย มันจะพัง สุดท้ายเราจะไม่เป็นอะไร ของใครเลย ทุกอย่างเป็นเงินทั้งนั้น ทำสินค้าที่ไม่ใช่ออกมา ก็คือขยะทางแฟชั่น ถ้าต้องไปจ้าง Influencers มาถือกระเป๋าเพื่อให้ขายได้ แล้วต้องจ่ายไปครั้งละแสน พี่ไม่เห็นด้วย ไม่เชื่อว่ามันจะยั่งยืนได้ด้วยสิ่งนี้ BWILD ISAN จึงไม่เคยจ้างเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากคนที่รักเราจริงๆ คือ Earned Media ของแบรนด์”
นอกจากนี้ ชมพู่ ยังพูดถึงการสร้างแบรนด์ในสมัยนี้ที่เปลี่ยนไป เธอมองว่ายุคนี้เป็นเรื่องของการเอาเนื้อแท้ตัวเองออกมาโชว์ มันเป็นยุคเปลี่ยนถ่ายแล้ว หากเทียบกับสมัยก่อนที่การทำแบรนด์ดิ้งต้องไปให้เอเจนซี่คิดให้ ถ้าเขากำหนดมาให้ เราต้องเป็นคนใจดี รักเด็ก เราจะต้องเป็นคนที่ไม่โมโห และภาพของแบรนด์ก็จะสื่อมาตามที่ถูกกำหนดไว้แบบนั้น
แต่ในยุคนี้ไม่ใช่ ถ้าเนื้อแท้ของเราเป็นคนที่ไม่รักเด็ก ต่อให้เขาบอกว่าเราต้องรักเด็ก มันก็จะดูปลอม ดูออกว่าไม่จริง สู้โชว์ตัวตนจริง ๆ ของเราที่อาจจะเป็นคนที่ไม่เพอร์เฟค แต่ตั้งใจและสามารถทำเรื่องนี้ได้ดีมาก อาจจะไม่สมบูรณ์แบบแต่เราแค่เป็นตัวเอง ลูกค้าจะสัมผัสได้ว่าเราพูดจริง เราคือคนจริง และนี่คือมาร์เก็ตติ้งของคนยุคใหม่ที่ใครๆก็มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จได้ๆ