07 ธ.ค. 2565 | 16:30 น.
- ลาณี เร้สซิเดนซ์ (Lanee’s Residenz) คือหมู่บ้านสำหรับชาวต่างชาติที่อยากจะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอยู่ประเทศไทย
- หลังจากทำงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาเกือบ 20 ปี ลาณี เยเกอร์ เลือกระบบบางอย่างมาปรับใช้ที่บ้านพักแห่งนี้ ทำให้พนักงานทุกคนซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่จะได้สวัสดิการไม่ต่างจากชาวสวิส
ลาณี เยเกอร์ สาวอีสานผู้ตัดสินใจทิ้งชีวิตเกือบ 20 ปีที่สวิตเซอร์แลนด์ กลับบ้านมาใช้ชีวิตเรียบง่าย ที่บ้านนาแพง ตำบลบ้านดู่ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ‘บ้านเกิด’ ซึ่งได้หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นสาวสุดแกร่งพร้อมต่อกรกับทุกถ้อยคำใส่ร้ายที่โหมกระหน่ำเข้ามาไม่ยั้ง นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เธอประกาศว่าจะสร้าง ‘Lanee’s Residenz’ หมู่บ้านเพื่อชาวต่างชาติที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ ดินแดนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้
เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเธอจะสร้างหมู่บ้านด้วยเจตนาดี แต่กลับปักใจว่านี่คือสถานที่หาคู่ให้ชาวต่างชาติ แต่ลาณีไม่ได้เก็บคำเหล่านั้นมาใส่ใจมากนัก เธอขอใช้เวลาและการกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ดีกว่าต้องมานั่งอธิบายยืดยาวให้คนที่ตัดสินการกระทำของเธอไปตั้งแต่แรกเห็น
ตลอดระยะเวลา 11 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นมา ความพยายามของเธอได้ผลิบานอย่างงดงาม ลาณี เร้สซิเดนซ์ เติบโตอย่างมั่นคงรายล้อมไปด้วยผู้คนที่เข้าใจ ทั้งคนในชุมชนที่เปิดใจรับ ผู้เข้าพักเองก็รู้สึกอบอุ่นใจและวางใจที่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของเธอ
มาถึงตอนนี้ลาณียังคงดูแลตายายราวกับเป็นคนสำคัญ ซึ่งเธอบอกกับเราว่านี่ไม่ใช่แค่ธุรกิจบ้านพัก แต่ทุกคนคือ ‘ครอบครัวลาณี’ ไม่ว่าตายายจะมาจากที่ไหนหรือมีสัญชาติอะไร เมื่อมาอยู่ที่นี่จากสถานะคนนอกก็จะเปลี่ยนเป็นคนในครอบครัวทันที
ลาณี เร้สซิเดนซ์ จึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่แห่งความอบอุ่นใจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นศูนย์รวมความสุข สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน เพราะนี่คือความคาดหวังแรกและความคาดหวังเดียวที่ทำให้เธอตัดสินใจกลับบ้านมาเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นหมู่บ้านแสนสุข
สาวอีสานผู้ขอทำตามเสียงหัวใจ
“ตอนคุณย่าซึ่งเป็นคุณแม่ของสามีเขามาอีสาน เขาก็ชอบมาก เพราะอยู่สวิตฯ เขาเห็นแต่ภูเขา ทะเลสาบ แต่อีสานมันมีวัว มีควาย มีท้องไร่ท้องนา พอคุณย่ามาบ่อย ๆ ก็ติดใจแล้วเขาก็บอกว่าถ้าฉันเกษียณอายุ ฉันอยากจะอยู่ที่นี่จังเลย เพราะว่าที่นี่เป็นกันเอง เดินไปไหนคนก็ทักทายเรียกไปกินข้าว แต่ฉันไม่อยากมาอยู่คนเดียว ฉันอยากมีเพื่อนที่พูดภาษาสวิส-เยอรมันเหมือนกับฉันมาด้วย ไม่งั้นฉันเหงาแย่เลย...”
ลาณี เยเกอร์ เล่าจุดเริ่มต้นของการเดินทางกลับบ้าน หลังจากทำตามเสียงหัวใจเก็บเสื้อผ้าไปใช้ชีวิตคู่ร่วมกับ ‘ฮันส์ เยเกอร์’ สามีที่เธอพบรักระหว่างทำงานที่เมืองไทย
“ตอนนั้นเรามีโอกาสได้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ไปลงเรียน Shipping แล้วเราก็จบเร็ว หลังจากนั้นก็ได้งานทำอยู่แถวคลองเตย เป็น Shipping อยู่แถวนั้น ทำไปสักพักเพื่อนก็แนะนำว่าอยากลองไปทำแถวน้ำลึกดูไหมไปแถวแหลมฉบัง แถวอ่าวอุดม ที่นี่แหละทำให้เราได้เจอกับคุณฮันส์ เยเกอร์”
จากนั้นเรื่องราวความรักของทั้งคู่ก่อตัวขึ้นราวกับต้องมนต์ หากวางลาณีเป็นนางเอก เธอคงเป็นนางเอกสุดแก่น ส่วนพระเอกอย่างคุณฮันส์ก็คงเป็นชายหนุ่มที่เฟี้ยวไม่ต่างกัน “ลาณีชอบขี่มอเตอร์ไซค์มาก แล้วลาณีก็จะมีมอเตอร์ไซด์เหมือนชอปเปอร์แต่ว่าเป็น 150 ของ Honda อยู่คันนึง เราก็ชอบขี่ไปทำงาน ทีนี้สามีเขาเป็นคนรักมอเตอร์ไซด์อยู่แล้ว พอเขาเห็นรถเราก็สนใจว่าใครขับมาทำงาน เขาอยากรู้มากเลยว่าใครเป็นเจ้าของ
“แกก็ให้ลูกน้องตามสืบดูไปดูมาก็รู้ว่าเป็นรถเรา หลังจากนั้นพอแกรู้จักเรามากขึ้น รู้ว่าเราชอบขี่มอเตอร์ไซด์ผาดโผน แล้วยังต้องทำงานส่งเงินไปให้ครอบครัว เขาก็เริ่มชอบเราเลยตกลงคบหาดูใจกัน แต่กว่าจะพาคุณสามีเข้าไปเจอที่บ้านใช้เวลานานอยู่นะ เพราะว่าสมัยนั้นพาฝรั่งเข้าบ้านมันก็ยังไงอยู่ เลยไม่กล้าพาไป จนสุดท้ายเขาใกล้หมดสัญญาจ้างงานต้องกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เราถึงได้พาเขาไปเจอพ่อแม่ แล้วก็แต่งงานกัน”
เรื่องราวชวนฝันของลาณีไม่ได้ถูกฉาบเคลือบด้วยความหวานเท่านั้น เพราะการแต่งงานกับเธอมาพร้อมเงื่อนไขบางอย่าง
“ลาณีบอกเขาไปตรง ๆ ว่าถ้าคุณจะแต่งงานกับฉันคุณต้องแต่งกับทั้งครอบครัวนะ ฉันไม่ได้ตัวคนเดียว ฉันเป็นคนมีภาระต้องเลี้ยงดูพี่น้องเลี้ยงดูครอบครัว เพราะถึงเขาจะเป็นวิศวกรแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยมีเงินเยอะอะไรมากมาย เพียงแต่ว่าเขาเป็นคนขยัน พอเราแต่งงานกันเลยตกลงกันว่างั้นลาณีย้ายไปสวิตฯ ไปทำงานที่นู้นเลย”
ความโชคดีของลาณีไม่ได้มีเพียงการเจอรักแท้เท่านั้น แต่เธอยังได้เริ่มงานทันทีที่แลนด์ดิ้งลงสู่ดินแดนแห่งยอดเขาสูง “เขาดูที่ทำงานไว้ให้เราหมดแล้ว เพราะว่าลาณีเคยเรียนพยาบาลมา เลยพอมีความรู้ด้านนี้ ตอนแรกทำวิจัยอยู่ที่ห้องแล็บ จากนั้นก็ได้ย้ายไปทำงานรับราชการที่ศูนย์วิจัยเนื้องอกมะเร็งอยู่อีกสิบกว่าปี”
ความรัก ความมั่นคง และการรายล้อมไปด้วยเพื่อนฝูงที่มีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน รวมถึงการอยู่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเจริญแล้ว ทำให้ความสุขของเธอเอ่อล้นออกมาจนแทบควบคุมไม่อยู่ เธอมีความสุขชนิดที่ว่าอยากจะอยู่ที่นี่ไปจนตาย แต่เจ้าของหัวใจอย่างคุณฮันส์กลับมองต่างออกไป เขา ‘รัก’ เมืองไทยมากกว่าประเทศที่มีแต่ความหนาวเหน็บแห่งนี้
“เมื่อเราแต่งงานแล้ว เราก็ต้องยอมไปกับเขา ยอมที่จะเป็นคนของเขา เหตุผลที่เรายอมเพราะว่าเรามั่นใจว่าคนคนนี้จะไม่ทิ้งเราไปไหน และเขาก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เขาไม่เคยทิ้งเราเลยให้เกียรติเรามาก พอเขาบอกว่าอยากกลับเมืองไทย ลาณีก็ต้องทำตาม ถึงเราจะมีความสุขและสนุกกับงานแค่ไหนก็ตาม”
เธอจึงต้องยอมทำตามเสียงของหัวใจอีกครั้ง โดยการเก็บกระเป๋ากลับบ้านเกิดที่บุรีรัมย์ จึงทำให้เกิด ลาณี เร้สซิเดนซ์อย่างในทุกวันนี้
Lanee’s Residenz ระบบสวัสดิการที่ไม่ต่างจากสวิตเซอร์แลนด์
“เท่าที่ลาณีทราบในเรื่องสวัสดิการของสวิตเซอร์แลนด์ ก็คือไม่ว่าคุณจะเป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือว่าแม่บ้าน คนกวาดถนน ทุกคนที่ทำงานเขาจะมีการหักเงินของคุณ พูดง่าย ๆ ประมาณ 12% ฝากเข้าไว้กับรัฐ เป็นค่า pension ของเราตอนที่เราอายุเยอะ คือรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เขาไม่ได้มองว่าคุณจะต้องเป็นข้าราชการหรือว่าอะไร”
ลาณีเราให้เราฟังคร่าว ๆ ว่าหลังจากเธอเห็นระบบนี้ เธอเลยคิดที่จะนำกลับมาใช้ที่บ้าน เพราะสวัสดิการคือสิ่งที่ลาณีเชื่ออย่างสุดใจว่าจะทำให้บั้นปลายชีวิตของคนทำงานมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเก่า โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินเหลือเก็บตอนเกษียณ
“พี่ก็เลยเอามาปรับใช้ที่ Lanee’s Residenz เวลาลูกน้องทำงานมาพี่ก็จะหักเงินของเขาเก็บไว้ 9% ฝากเอาไว้ แล้วก็จะฝากให้เขาอีก 1% เวลาเขาออกจากงาน เขาก็จะได้มีเงินประกันตรงนี้เก็บไว้
“พี่อยากให้เมืองไทยเราลองทำระบบแบบนี้ดู ไม่ใช่ได้แต่ราชการ ตำรวจ ทหาร หรือว่าคุณครู แต่คนที่ทำงานบริษัทไม่ได้อะไรเลย อาจจะมีเงินเก็บที่ได้จากโบนัส ซึ่งเงินตรงนี้ของเขาอาจจะเป็นเงินก้อนสุดท้ายก็ได้”
นอกจากเงินที่ถูกนำไปฝากในระบบตามที่ลาณีวาดฝันอยากจะให้พนักงานทุกคน เธอยังบอกอีกว่าทุกปลายปีจะมีการประเมินพนักงานเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป และมอบโบนัสให้กับคนที่ตั้งใจมากที่สุด
“โบนัสของที่บ้านอาจจะไม่ได้เยอะเท่าที่โรงงาน แต่โบนัสของพี่จะประเมินจากความเอาใจใส่งาน จริง ๆ พี่ไม่ได้มองว่ามันเป็นโบนัส แต่มันเป็นสินน้ำใจของเราที่จะตอบแทนเขามากกว่า
ส่วนเกณฑ์การประเมินพี่ก็จะดูว่าเขาพูดภาษาได้เยอะขนาดไหน เราก็จะขีดเขียวเก็บแต้มไว้ เพิ่มขีดนึงก็อาจจะได้ 20 - 30 บาท พอสิ้นปีเขาก็อาจจะมีเงินสัก 2,000 – 3,000 บาท พาลูกไปกินข้าวหรือว่าทำบุญปีใหม่ก็แล้วแต่ว่าเขาจะนำเงินตรงนี้ไปทำอะไร”
ปัจจุบัน ลาณี เร้สซิเดนซ์มีตายายวัยเกษียณมาอาศัยอยู่ประมาณ 10 หลัง จากทั้งหมด 13 หลัง ซึ่งแต่ละบ้านก็มีเรื่องราวแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกบ้านจะต้องทำร่วมกันคือ การทานข้าวร่วมกัน
“นี่คือวัฒนธรรมที่พี่อยากรักษาไว้ อย่างน้อยเวลากินข้าวพี่ก็อยากให้เขาได้มีเวลาตรงนี้ร่วมกัน เราเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว เราไม่ทิ้งใคร พอคนอื่นมาเห็นความใส่ใจของเราตรงนี้ ประมาณ 99% เขาจะมองว่าทำไมที่นี่น่าอยู่จัง แต่อีก 1% เขาอาจจะไม่อินก็ไม่ได้ว่าอะไร อันนี้เลยเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของบ้านลาณีเป็นเสน่ห์ที่ใครมาเห็นก็หลงรัก”
สำหรับคนที่สนใจอยากฟังเรื่องราวของ 'ลาณี เยเกอร์' เพิ่มเติม สามารถมาพบกันได้บนเวที Talk 'เว่าถึงแก่น' ทอล์กโชว์เพื่อให้เข้าใจภาคอีสานมากขึ้น
เวทีเว่าถึงแก่น คือส่วนหนึ่งของงาน Isan BCG Expo 2022 มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้แนวคิด Collaboration : ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ จัดขึ้นในวันที่ 9-12 ธันวาคม 2565 ณ Khon Kaen Innovation Centre (KKIC) จังหวัดขอนแก่น
พบกับการบรรยายของ ลาณี เยเกอร์ ได้ในงาน ISAN BCG EXPO 2022 ในวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2565 ในหัวข้อ "อีสานสร้างสรรค์ (Creative Economy)” : Soft power ใหม่แห่งดินแดนอีสาน" เวลา 14.30 - 15.30 น. ที่ Srichan Creative Stage ตึกคอม ขอนแก่น
คลิกดูรายละเอียดงานและ Speakers ในเวที เว่าถึงแก่น เพิ่มเติมที่นี่