07 ม.ค. 2566 | 21:52 น.
- AstraZeneca ดำเนินการในประเทศไทยกว่า 40 ปี ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักเพียงวัคซีนแต่ความจริง AstraZeneca มีการรักษามากกว่านั้น
- เจมส์ ทีก’ ประธาน AstraZeneca คนปัจจุบัน เชื่อในความสำเร็จที่มาจากความเข้าใจ และกระหายการเรียนรู้
‘เจมส์ ทีก’ ประธาน AstraZeneca ผู้คว่ำหวอดในอุตสาหกรรมยากว่า 10 ปี แชร์เรื่องราวและมุมคิดเรื่องการบริหาร สู่คนที่ประสบความสำเร็จในวงการนี้ว่าหลักคิดง่าย ๆ มีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
The People มีโอกาสได้พูดคุยกับ เจมส์ ทีก เขาได้บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสไตล์การบริหาร และหลักคิดที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้
คลุกคลีในวงการยา 13 ปี
เจมส์ ทีก นั่งเป็นประธานบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จนปัจจุบันเป็นระยะเวลา 3 ปี เขาได้เล่ากับ The Peopel ว่าหากพูดถึงประสบการณ์ทำงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมยา สะสมมาแล้วกว่า 13 ปี
“ก่อนที่ผมจะเข้ารับตำแหน่งที่ประเทศไทย ผมรับหน้าที่ดูแลธุรกิจกลุ่มยาระบบทางเดินหายใจของตลาดทั่วโลก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทยาสูดพ่นสําหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หรือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยมุ่งเน้นที่ตลาดหลัก อย่างสหรัฐอเมริกา จีน และตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ด้วย”
“ผมได้รับโอกาสดีที่ได้ทำงานในประเทศต่าง ๆ ที่ผ่านมาผมเคยทํางานอยู่ในสหราชอาณาจักรเป็นเวลาประมาณ 8 ปี ซึ่งรับหน้าที่ดูแลสายงานต่าง ๆ เช่น งานขาย การตลาด และการบริหาร ทั้งระดับ First-line และ second-line”
นอกจากนี้ เจมส์ ทีก เคยบริหารจัดการผลิตภัณฑ์วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งเขายังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย
วัฒนธรรมองค์กร - ความเข้าใจ
มีหลายครั้งที่ผู้บริหารที่เป็นชาวต่างชาติต้องเผชิญกับความท้าทายหลาย ๆ ปัจจัยเมื่อเข้ามาบริหารงานที่ไทย สำหรับ ‘เจมส์ ทีก’ มองเรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง
“ตั้งแต่ที่เข้ามาบริหารงานที่ไทยรูปแบบในการบริหารงานค่อนข้างเปลี่ยนไปอย่างมาก รวมถึงต้องก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนี้ โดยบทบาทของผมในการทำงานที่บริษัทสาขาในประเทศไทยค่อนข้างจำเพาะอยู่สักหน่อย เมื่อเทียบกับบทบาทที่ผมเคยทํามาก่อนหน้านี้”
“เพราะตำแหน่งที่ไทยผมต้องรับหน้าที่บริหารจัดการ พร้อมทำงานร่วมกับกลุ่มคนหลากหลายแผนกภายในองค์กร ทั้งในส่วนการขาย การตลาด การแพทย์ รวมถึงการวิจัยทางคลินิก”
สำหรับ เจมส์ ทีก เขามองว่า คนที่จะมาทำงานตำแหน่งนี้ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับฟังก์ชัน ความแตกต่างกันของงานในแต่ละภาคส่วน และต้องพร้อมถอยออกมาเพื่อให้เห็นและเข้าใจภาพใหญ่ของธุรกิจได้ดีขึ้น
ด้วยความที่ส่วนใหญ่ เจมส์ ทีก ทำงานในอังกฤษซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา ดังนั้น ความเข้าใจและการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ในเมืองไทยเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการบริหารงานของเขา
“ในฐานะผู้นําองค์กร เมื่อคุณเข้ามาทำงานในประเทศใหม่ โดยพื้นฐานแล้วคุณต้องเข้าใจจริง ๆ ว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนในประเทศนั้นก้าวไปข้างหน้า โดยมองจากทั้งมุมมองส่วนตัว และมุมมองทางธุรกิจ พร้อมทั้งต้องไม่ด่วนสรุปว่าวิธีที่คุณทํางานกับผู้คนในสหราชอาณาจักรและในยุโรป จะเหมือนกับวิธีการทำงานในเอเชียและประเทศไทย”
เจมส์ ทีก แนะนำด้วยว่า คุณต้องใช้เวลาในการฟัง เข้าใจ และเรียนรู้ จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่าจะมีแนวทางในการบริหารอย่างไรในฐานะผู้นำ หรือจะนำประสบการณ์การทำงาน วัฒนธรรม หรือจริยธรรมที่ตนเองยึดถือมาปรับเปลี่ยนหรือประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง
“ผมคิดว่า สิ่งที่ยากที่สุดหรือน่าสนใจที่สุดในการทำงานคือ การเข้าใจวัฒนธรรม เพราะสิ่งนี้มีรากฐานมาอย่างยาวนาน ผ่านประวัติศาสตร์และบ่มเพาะสืบต่อกันมาในแต่ละครอบครัว”
“ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการทําความรู้จักและการสังเกต ซึ่งคุณต้องการคนที่จะมาทํางานร่วมกับคุณและอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้นให้คุณเข้าใจ เจ้านายเก่าของผมเคยบอกผมก่อนที่จะมารับตำแหน่งนี้ว่า ผมต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมของประเทศ จากนั้นจึงค่อยหาแนวทางในการนําสองสิ่งนี้มารวมกัน”
มุมคิดที่น่าสนใจที่ เจมส์ ทีก ย้ำบ่อย ๆ ก็คือ หากคุณอยากประสบความสำเร็จ 2 สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและตระหนัก ก็คือ ความอยากรู้อยากเห็น และความกระหายที่จะเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจที่มากยิ่งขึ้น
ถ้าไม่มีโควิด-19 คน(อาจ)ไม่รู้จัก AstraZeneca?
เมื่อถามถึงความนิยมของแบรนด์ AstraZeneca หลายคนมองว่า หากไม่มีโควิด-19 เราจะรู้จักวัคซีนของบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่ง เจมส์ ทีก อธิบายกับเราว่า AstraZeneca ได้ดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 40 ปี และมีพนักงานมากกว่า 300 คน ทั้งยังมีการศึกษาวิจัยทางคลินิก การตลาด ข้อมูลทางการแพทย์ และฐานการผลิตในประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ องค์กรของ AstraZeneca ได้ดำเนินงานใน 4 กลุ่มการรักษา ที่รวมถึงด้านระบบทางเดินหายใจและภูมิคุ้มกัน และได้อยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ไต และเมแทบอลิซึม (CVRM) เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และในปี 2564 ได้เข้าสู่ธุรกิจในกลุ่มโรคหายาก (Rare diseases) ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่อาจเพิ่งรู้จักกับ AstraZeneca นั่นเป็นเพราะว่า หากคนเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หรือมีอาการหัวใจวาย ก็ไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะไม่รู้จัก
หากย้อนไปดูเส้นทางธุรกิจของ AsreaZeneca จะเห็นว่า เกี่ยวข้องกับการรักษาที่ครอบคลุมหลายประเภท นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับด้านการวิจัย นอกจากนี้ยังมีศูนย์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ทำมานานแล้ว และยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่น่าสนใจ ที่ดำเนินการอยู่ ณ ปัจจุบัน
ถือว่า AstraZeneca ก็ยังอยู่ในสปอร์ตไลท์มานานแล้ว และเฉิดฉายมากขึ้นอีกตั้งแต่ที่มีโควิด-19 ขณะเดียวกันการบริหารสไตล์ เจมส์ ทีก ที่น่าสนใจเพราะว่า เขาก็ยังถือว่าอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดน่าสนใจ และเป็นนักปฏิบัติจริงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้