30 ม.ค. 2566 | 17:30 น.
“แม่ไม่เคยคิดจะทิ้งสกายไฮ… แม่รู้สึกผิดกับลูกค้าที่สุดวันที่ประกาศร้าน เพราะลูกค้าส่งข้อความมาแสดงความเสียใจ ความเสียดาย ให้กำลังใจเยอะมาก ๆ”
เป็นเวลา 46 ปีแล้วที่ ‘ห้องอาหารสกายไฮ’ เสิร์ฟความอร่อยบนถนนเส้นประวัติศาสตร์อย่างราชดำเนิน แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ห้องอาหารผู้บุกเบิกเมนู ‘ข้าวต้มเตาถ่าน’ ไม่อาจต้านทานกระแสแห่งกาลเวลา จนต้องจำใจ ประกาศปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ
เป็ดพะโล้ ซุปเปอร์ขาไก่ ข้าวอบหนำเลี๊ยบหมูสับ ข้าวต้มเตาถ่าน คือเมนูขึ้นชื่อที่เราเชื่อว่าใครมาลองเป็นต้องติดใจ เพราะรสมือเชฟที่ไม่เคยเปลี่ยน แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สกายไฮไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ จึงต้องแจ้งข่าวร้ายออกไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
และนี่คือบทสนทนาเคล้าน้ำตาของ ‘ณภัชนันท์ จงมั่นคง’ ทายาทรุ่น 2 ผู้มาร่วมถ่ายทอดความผูกพันตั้งแต่ร้านแห่งแรกที่อยู่คู่ถนนราชดำเนิน จนมาถึงวันตัดสินใจย้ายร้านมาลงหลักปักฐานใหม่ที่ The Sense ปิ่นเกล้า ก่อนที่ห้องอาหารแห่งนี้จะปิดตัวไปตลอดกาล...
จากครอบครัวนักตรวจสอบบัญชี สู่กุ๊กประจำถนนราชดำเนิน
ณภัชนันท์ จงมั่นคง คือลูกสาวคนโตของครอบครัวจงมั่นคง พ่อเป็นนักตรวจสอบบัญชี ส่วนแม่คือผู้ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทุกความฝันของลูก ๆ เริ่มจากการเช่าตึกแถวทิ้งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เปลี่ยนพื้นที่ด้านบนเป็นสำนักบัญชี ส่วนด้านล่างเว้นว่างเอาไว้ โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง พื้นที่ตรงนี้จะถูกเติมเต็มด้วยความฝัน และนำมาซึ่งความสำเร็จของครอบครัว
การเติบโตมาในครอบครัวที่พร้อมมอบอิสระและเสรีภาพในการใช้ชีวิต ทำให้ณภัชนันท์มีความคิดความอ่านที่เสรี เธอชอบฟังเพลงสากล หลงรักในภาษาต่างประเทศ ชื่นชอบวัฒนธรรมตะวันตกอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ห้องอาหารแห่งนี้จึงมีชื่อว่า ‘สกายไฮ’ (Sky High) ตั้งตามเพลงที่เธอชื่นชอบ จาก Jigsaw วงดนตรีที่เธอยกให้เป็นที่หนึ่งในใจ
“ตอนที่ตั้งชื่อจำได้ว่าอายุแค่ 18 – 19 เอง ยังเรียนหนังสืออยู่เลย แล้วหมอดูเขาก็บอกว่าให้ตั้งชื่ออะไรก็ได้ที่ขึ้นต้นด้วย ส.เสือ เราก็เลยเอาเป็น ‘สกายไฮ’ เลยแล้วกัน เพลงเพราะดีตั้งแบบโง่ ๆ เลยนะ (หัวเราะ) มันไม่ได้เข้ากับร้านเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะร้านนี้เป็นร้านข้าวต้ม แล้วมันก็ติดปากลูกค้าไปแล้ว เราจะเปลี่ยนก็คงไม่ได้ ก็ได้แต่คิดไปว่า เออ เรานี่ทำไมตั้งชื่ออย่างนี้นะ ไม่ได้เข้ากับธีมร้านเลย”
ณภัชนันท์ เล่าพลางหัวเราะร่วน เพราะใครจะไปคิดว่าชื่อร้านที่เธอตั้งขึ้นมาด้วยความไร้เดียงสา จะกลายเป็นร้านระดับตำนาน แหล่งรวมตัวของผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง มานานถึง 46 ปี
“ห้องอาหารสกายไฮ เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2519 ตอนนั้นที่เปิดครั้งแรก เราเปิดที่ถนนราชดำเนินกลาง ตรงข้ามกับกองสลาก แล้วก็ติดกับโรงพิมพ์สยามรัฐ ก็นับว่าเราได้รับอานิสงส์จากโรงพิมพ์สยามรัฐมาก ๆ
“เพราะไม่ว่าจะเป็นดาราหรือนางงาม พอได้รางวัลแล้วก็จะมาเยี่ยมที่โรงพิมพ์สยามรัฐ เพราะฉะนั้นลูกค้าเราส่วนใหญ่ก็คือจะเป็นดาราเป็นนางงาม คือได้รับอานิสงส์จากโรงพิมพ์สยามรัฐเยอะเลย แล้วตรงนั้น มีสะพานปิ่นเกล้า ใครกลับบ้าน ก็ต้องผ่านร้านเรา
“อีกอย่าง เมื่อก่อนมันมีเหตุการณ์การทางการเมืองเยอะ เดี๋ยวก็มียิงกันบ้างอะไรบ้าง เราก็ปิด ๆ เปิด ๆ ร้าน แต่ตอนนั้น ไม่กลัวนะ เพราะว่ามันเปิดปิด 2 วันน่ะ อีกวัน 2 วันก็เปิดได้แล้ว คืออยู่ที่นั่นมันมีชีวิตชีวา เนื่องจากว่ามีนักการเมืองมีคนดัง ๆ อะไรอย่างนี้มากันเรื่อย
“อย่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงเขาตีกันข้างนอกอย่างนี้ แต่ถึงเวลาเขาหิวเขาก็เข้ามานั่งทานอาหารคนละโต๊ะก็เรียบร้อย ไม่เห็นทะเลาะกันเลย ก็น่ารักค่ะ ถึงแม้จะอยู่คนละข้างกันฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน มานั่งทานอาหาร ก็ต่างคนต่างทานอะไรกันไม่ได้มีทะเลาะกัน ไม่ได้มีอะไรเรื่องอะไรเขม่นอะไรกันเลย”
ส่วนเหตุผลอะไร ที่ดลใจให้ครอบครัวจงมั่นคง ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ด้านล่างของตึก ให้กลายเป็นห้องอาหาร ณภัชนันท์เล่าว่า เริ่มมาจากตระกูลหงษ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นนามสกุลเดิมของแม่ก่อนแต่งงาน ทั้งสองเป็นนักชิมตัวยง ที่ไม่ว่าจะหยิบจับหรือชิมอาหารชนิดไหน ก็แยกได้ทันทีว่าอาหารจานนั้นประกอบด้วยวัตถุดิบอะไรบ้าง
หลังจากทำงานเพื่อดำรงชีพมาหลายปี หัวหน้าครอบครัวก็ถึงคราวเอ่ยปากออกมาว่า คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง!
“บ้านเรามีความเชี่ยวชาญในเรื่องการทำอาหาร เพราะฉะนั้นอาหารแต่ละอย่างเนี่ย มันมีหลายสูตรเยอะแยะเลย แต่ว่าสูตรของบ้านเราอย่างเป็ดพะโล้ ซุปเปอร์ขาไก่ ข้าวต้มเตาถ่าน พวกนี้เป็นสูตรที่มาจากบ้านเรา ตอนแรกก็ไม่คิดนะว่าเมนูแซ่บ ๆ อย่างซุปเปอร์ขาไก่ จะกลายเป็นที่นิยม เพราะร้านเราขายข้าวต้ม อาหารรสจัดคงไม่เหมาะเท่าไหร่ แต่เราก็ลองทำดู แล้วก็กลายเป็นเมนูขายดีขึ้นมาได้ยังไงก็ไม่รู้ (หัวเราะ)
“เมนูร้านเราเหมือนกับเมนูง่าย ๆ นะ แต่จริง ๆ แล้วเรามีเทคนิคในการทำ อาหารมันถึงออกมาหอม อร่อย อย่างคุณพ่อจะรู้เลยทันทีว่าจานนี้ใช้ได้ น้ำจิ้มอันนี้ใส่อะไรบ้าง ส่วนคุณป้าก็เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเราเลยนะ ท่านเป็นคนที่ให้สูตร สอนกุ๊ก ไม่ว่ากุ๊กคนนั้นจะเก่งมาจากไหน คุณป้าก็จะคอยบอกเขาว่าอาหารต้องทำอย่างนี้นะถึงจะอร่อย ท่านก็วางรากฐานไว้แน่นเลย”
ความหนักใจของทายาทรุ่นสอง
หลังจาก ณภัชนันท์ ตั้งชื่อร้านสกายไฮเล่น ๆ จนกลายเป็นร้านประจำของใครหลายคน ความหลงใหลด้านภาษาทำให้เธอเลือกเข้าเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วต่อระดับปริญญาโทด้านภาษาที่อเมริกา เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เธอลองใช้ชีวิตในโลกใบใหญ่อยู่ราว 2-3 ปี จากนั้นจึงตัดสินใจหวนกลับสู่สถานที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’
“จริง ๆ แม่(ณภัชนันท์)ไม่เคยคิดจะกลับมาทำร้านอาหารเลย เพราะร้านอาหารเป็นงานที่จุกจิกนะ งานยาก ต้องไปซื้ออาหาร ต้องเข้าครัว ต้องอะไรหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานที่จุกจิกมากเลย แต่เนื่องจากว่าเราชอบกิน ครึ่งนึงมันก็เลยยังโอเค แล้วเวลาเขาทำอะไรมาให้ชิม แม่(ณภัชนันท์)ก็แยกออกวิจารณ์ได้
“อีกอย่างทางคุณพ่อคุณแม่วางรากฐานไว้ให้ดีแล้ว แม่(ณภัชนันท์)ก็เลยกลับมาทำต่อ ทำตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ซึมซับมาเรื่อบ ๆ เพราะหลังเรียนจบเราไปเป็นลูกจ้างเขา ทีนี้เราก็มาลองเป็นลูกจ้างพ่อแม่ดู ตอนแรกก็ทะเลาะกันอยู่เหมือนกัน ร้องห่มร้องไห้ แต่ก็อยู่มาจนเราทำเป็นอัตโนมัติ เราก็ต้องช่วยต้องทำให้ถึงที่สุดในเมื่อมันยังพอขายได้ ทำได้ ก็ทำไป”
แต่ความสุขตลอดสี่สิบกว่าปีกลับถูกแทนที่ด้วยความทุกข์ระทม เมื่อมีการประกาศให้ห้องอาหารสกายไฮ เร่งย้ายไปจากพื้นที่ถนนราชดำเนินโดยด่วน เธอในฐานะทายาทรุ่นสอง ‘จำใจ’ ต้องมองหาทำเลใหม่ จนมาพบกับสถานที่ที่พอเหมาะพอเจาะ นั่นคือ The Sense ปิ่นเกล้า
ห้องอาหารสกายไฮที่อยู่คู่ถนนสายประวัติศาสตร์อย่างราชดำเนิน จึงต้องโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
“ที่เก่าเรามีปัญหาเรื่องพื้นที่จอดรถ เราก็เลยหาที่ใหม่ให้ไม่ไกลจากจุดเก่ามากนัก จนมาเจอ The Sense ปิ่นเกล้า เราไม่เคยเข้าห้างฯ เลย แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าจะต้องทำยังไง ประจวบกับมีโควิด-19 เข้ามา ทุกคนได้รับผลกระทบกันหมด พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน ลูกค้าสูงวัยของเราก็ไม่ออกจากบ้าน หายไปเลย 3 ปี
“เราก็เลยรู้สึกผิด แต่ไม่อยากโทษใคร จนมันไม่ไหวแล้ว แม่(ณภัชนันท์)ก็เลยตัดสินใจประกาศปิดร้าน
“แม่ไม่เคยคิดจะทิ้งสกายไฮเลย เพราะว่านี่เป็นกิจการที่คุณพ่อคุณแม่รักมาก แล้วแม่ก็คิดว่าแม่อยากจะทำต่อเหมือนกันนะ...
ณภัชนันท์ กล่าวพลางทิ้งช่วง น้ำตาของเธอรื้นมาล้นขอบตา จนทำให้เราในฐานะผู้นั่งฟังอดเศร้าใจไปกับการตัดสินใจครั้งนี้ของเธอไม่ได้ ก่อนที่เธอจะเล่าต่อด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ทุกอย่างมีเกิดก็ต้องมีดับเป็นเรื่องปกติของชีวิต
“เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันนี้ แต่ทุกคนก็ปลอบว่ามันมีเกิดตั้งอยู่แล้วก็ต้องมีดับไป แม่ก็รู้สึกผิดกับทุกคนนะ ไม่อยากให้เป็นแบบนี้เลย”
คำกล่าวอำลาครั้งสุดท้ายจาก ณภัชนันท์ จงมั่นคง
“แม่รู้สึกผิดกับลูกค้าที่สุดวันประกาศร้าน ถึงแม่จะอยากทำธุรกิจนี้ให้มันรอด แต่มันก็ไม่รอดนะ แม่รู้สึกผิดกับลูกค้าที่สุดวันที่ประกาศร้าน เพราะลูกค้าส่งข้อความมาแสดงความเสียใจ ความเสียดาย ให้กำลังใจเยอะมากๆ แล้วก็มาที่ร้านก็เยอะมาก ผู้สูงวัยท่านก็นั่งวีลแชร์มา ถือไม้เท้ามา อายุ 70 - 80 - 90 ก็ยังมา เราตกใจมากๆ เลยว่า โอโห ท่านอุตส่าห์มาหาเรา
“ความรู้สึกตอนนี้ของแม่ เหมือนคนที่รักมากมีบุญคุณกับเรามากเนี่ยจากไป แล้วตอนนี้ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแต่ว่าอยากจะทำจัดงานให้ดีที่สุด ให้คนที่จากเราไปแล้วไม่มีหนี้สินติดตัว ให้การจากไปนี้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ติดค้างใครทั้งสิ้น แค่นั้นเอง
“ตอนนี้อยากจะทำให้ทุกอย่างมันให้งานนี้จบไปอย่างราบรื่น คือให้เขาจบไป ทุกคนจะต้องคิดถึงสกายไฮในแง่ที่ดี เราจะต้องทำอาหารให้อร่อยที่สุด ให้ทุกคนคิด นี่คือสกายไฮ ที่อร่อย จนวันสุดท้ายของเรา ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำแล้ว ก็ให้คนคิดถึงเราในแง่ที่ดี”